้่่้้่้่hjghjgj

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

12ปี แห่งความหวัง สันติสุขยังไม่สิ้นแผ่นดินใต้


นับจากปี 2547 ถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 12 ปีเต็มแล้วที่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง แทบมองไม่เห็นหนทางในการยุติหรือแก้ไขปัญหา และไม่รู้ว่าความสงบสุขร่มเย็นดังที่เคยเป็นในอดีตจะมีโอกาสหวนกลับคืนมาอีกหรือไม่ และสถานการณ์จะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกยาวนานเท่าไหร่


สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ปัจจุบันยังคลุมเครือและดูไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กระนั้นคนในพื้นที่ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งทำหน้าที่ประสานงานรวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ยังมีประกายแห่งความหวังที่รอการจุดติดให้ปลายสุดด้ามขวานทองกลับมามีสันติอีกครั้ง หากทุกๆ ฝ่ายร่วมไม้ร่วมมือกัน เอาใจใส่และสานต่องานที่ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปลูกฝังรากแก้วไว้ในผืนดิน



สิ่งที่เป็นความหวังและสัญญาณที่ดีขึ้น เป็นความร่วมมือระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในการอยู่ร่วมกันตามแนวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งมีทั้งโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างให้ชาวบ้านใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสได้ศึกษา เรียนรู้ และเป็นแหล่งจ้างงานทำให้เกิดรายได้ในการดำรงชีพ โดยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าวมี พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานโครงการ

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นำโดย สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการ และ เกษม มูลจันทร์ รองเลขาธิการ ร่วมกับ พล.อ.ณพล บุญทับ นำคณะสื่อมวลชนลงเยี่ยมเยียนพื้นที่ใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมทั้งเห็นถึงความคืบหน้าของโครงการพระราชดำริที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ทุกข์ร้อนจากความไม่สงบ

นอกเหนือจากการเยี่ยมเยียนชาวบ้านในพื้นที่และมอบยารักษาโรค เครื่องอุปโภคบริโภคแก่ชาวบ้านแล้วยังได้เข้ากราบมนัสการพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ เพื่อมอบยาและปัจจัยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้วันเข้าพรรษาที่จำเป็นต้องมีพระสงฆ์อยู่จำวัด ซึ่งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสมีวัดถึง 100 วัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ไม่ครบองค์ ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ เช่น สวดปาฏิโมกข์ เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าว พล.อ.ณพลและสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จึงร่วมกันไปให้กำลังใจพระภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งมีโครงการนำพระภิกษุสงฆ์จากภาคอื่นๆ ไปจำพรรษาที่ชายแดนภาคใต้ก่อนวันเข้าพรรษา 20 กรกฎาคม 2559 เพื่อให้มีพระสงฆ์ครบหมู่ คือ 5 รูปในแต่ละวัด จะได้ปฏิบัติศาสนกิจและสวดปาฏิโมกข์ได้ตามพระธรรมวินัย


พล.อ.ณพลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในทางพุทธศาสนา ไม่ว่าสำหรับวัดเองหรือพุทธศาสนิกชนในภาคใต้ สามารถประกอบศาสนกิจและกิจกรรมทางพุทธศาสนาในวันเข้าพรรษาได้ เช่น การทำบุญตักบาตรตามประเพณี การถวายเทียนเข้าพรรษา เป็นต้น ซึ่งโครงการจัดส่งพระสงฆ์ไปจำพรรษาที่ภาคใต้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ละปีมีจำนวนมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละวัดเสนอขอมา บางปี 30 รูป บางปีมากถึง 400 รูป โดยทางเจ้าคณะจังหวัดแต่ละจังหวัดในส่วนกลางจะเป็นผู้สอบถามความสมัครใจของพระสงฆ์ที่อาสาไปจำพรรษาที่ภาคใต้ จากนั้นส่งรายชื่อพร้อมทั้งใบรับรองว่าเป็นพระในปกครองของเจ้าคณะจังหวัดนั้นๆ ให้กับทางโครงการ เพื่อไปจัดสรรลงไปในแต่ละวัด

ที่ต้องมีใบรับรองและตรวจสอบ เนื่องจากว่าบางปีตรวจสอบพบพระปลอมแอบอ้างเข้ามาในโครงการ สำหรับพระสงฆ์ที่สมัครใจไปจำพรรษาที่วัดในภาคใต้ มีกติกาว่าจะต้องอยู่ตลอดระหว่างฤดูเข้าพรรษา เมื่อออกพรรษาและรับกฐินแล้วจึงจะกลับวัดเดิมหรือจังหวัดบ้านเกิดได้ แต่ถ้าพระสงฆ์รูปใดสมัครใจจะอยู่ต่อ ทางโครงการจะดูแลและจัดส่งทหารในพื้นที่เข้าไปให้การช่วยเหลือพล.อ.ณพลอธิบาย

ก่อนจะมีการจัดส่งพระภิกษุสงฆ์ลงไปในพื้นที่แต่ละวัด คณะทั้งหมดเดินทางเข้ากราบนมัสการพระครูสุนทรธรรมประดิษฐ์ เจ้าอาวาสวัดบุราณประดิษฐ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งวัดแห่งนี้มีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันมาแล้ว เป็นเหตุการณ์พระสงฆ์ในวัดถูกยิงระหว่างออกบิณฑบาต มีทั้งบาดเจ็บและมรณภาพ

วัดบุราณประดิษฐ์ตั้งอยู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีพระสงฆ์จำพรรษาในวัดทั้งหมด 9 รูป พระสุชาติ เตชธัมโม เป็นพระลูกวัด หนึ่งในภิกษุสงฆ์ที่ถูกยิงในเหตุการณ์วันที่ 5 มีนาคม 2554 ระหว่างออกบิณฑบาต พระสุชาติสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดนคนร้ายไม่เห็นหน้ายิงปืนเข้าใส่ พอจะหันไปดูเห็นมีพระรูปหนึ่งโดนยิงล้มลงไปแล้ว ตนเองจะเดินบิณฑบาตต่อ ปรากฏว่าไปไม่ได้ล้มฟุบลงตรงนั้นเลย

ปกติแล้วช่วงนั้นหากพระจะออกบิณฑบาตจะมีทหารเดินไปด้วย แต่เห็นว่าเหตุการณ์วันนั้นไม่น่ามีอะไร จึงไม่ได้ขอกำลังทหาร หลังออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องนั่งรถเข็นไปไหนต่อไหน เพราะช่วงล่างพิการเดินไม่ได้ ลำบากมากทีเดียว ออกบิณฑบาตไม่ได้อีก ต้องอาศัยโยมแม่นำอาหารมาให้ และชาวบ้านละแวกนี้นำมาถวาย ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก อยากให้ทุกคนอยู่กันอย่างสงบสุขเช่นก่อนปี 2547 หลัง 2547 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้เหตุการณ์แรงขึ้น ไม่ว่าพระสงฆ์หรือชาวบ้าน ทำศาสนกิจทุกอย่างต้องให้เสร็จก่อน 6 โมงเย็น

พระสุชาติบอกว่าบวชและจำพรรษาที่วัดนี้มาถึง 19 ปีแล้ว ดังนั้นแม้จะมีเหตุการณ์แต่ไม่เคยคิดจะย้ายหนีไปไหน ต้องทำหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ ถ้าถามว่าอยากได้อะไรมากที่สุด ก็ต้องบอกว่าอยากให้เหตุการณ์ภาคใต้กลับมาสงบสุขเหมือนเดิม การที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานสิ่งของมาช่วยเหลือนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระที่อาพาธ มีความยินดีและมีกำลังใจอย่างยิ่ง ที่ยังมีความห่วงใยไม่ว่าพระหรือประชาชนในพื้นที่

สำหรับวัดไทยใน อ.โคกโพธิ์ เดิมมีจำนวน 28 วัด แต่ปัจจุบันมีไม่ถึง บางวัดกลายเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา บางวัดมีพระสงฆ์ไม่ถึง 4 รูป ไม่สามารถสวดปาฏิโมกข์ได้

จากวัดบุราณประดิษฐ์ คณะทั้งหมดมุ่งหน้าไปยังวัดมะกรูด ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก ที่วัดแห่งนี้เดิมมีพื้นที่เล็กๆ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชทานเงินซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อทำเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างแก่ราษฎรในละแวกนี้ โครงการวัดมะกรูดอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นแปลงเกษตรปลูกพืชผักสวนครัว พริก มะนาว มะกรูด และผลไม้ ส่วนฟาร์มตัวอย่างเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ มีชาวบ้านรวมกลุ่มกันเข้ามาทำและจัดการบริหาร

ที่บ้านไอร์บือแต ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เป็นอีกโครงการที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงได้เข้าไปช่วยเหลือสร้างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ทั้งยังจัดสร้างบ้านให้ราษฎรอยู่อาศัย หลังละ 2.5 แสนบาท

บ้านไอร์บือแตเดิมเป็นที่ดินสวนยางของนายทุนคนจีน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบได้ประกาศขาย สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ซื้อไว้แล้วนำมาพัฒนาเป็นที่ทำกินสำหรับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบ มีเนื้อที่ประมาณ 1,700 ไร่ แบ่งออกเป็นส่วนของฟาร์มตัวอย่าง แปลงปลูกพืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ เป็นต้น ขณะนี้มีชาวบ้านหนีร้อนมาพึ่งเย็นอาศัยอยู่ 150 ครอบครัวจากหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งราษฎรที่ยากจนด้วย


สมเด็จพระบรมราชินีนาถ รับสั่งเกี่ยวกับโครงการว่า “..ที่ฉันทำฟาร์มตัวอย่างขึ้น เพื่อสอนชาวบ้านให้สะสมอาหารเพิ่มขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องอาหารการกิน และทำโครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้องการให้ทุกๆ คนที่ข้าพเจ้าพบปะ ได้มีอาชีพ ได้มีทางทำมาหากิน..

 ในฐานะประธานโครงการ พล.อ.ณพลกล่าวถึงงานที่ดูแลว่า ชาวบ้านที่มาอยู่เป็นพวกได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าไม่รู้จะไปไหนแล้ว ขอตายที่นี่ ทุกวันนี้นอกจากโครงการพระราชดำริแล้ว ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา ซึ่งถึงตอนนี้มีเงินทุนหมุนเวียน 150 ล้านบาท

เหตุการณ์ที่ผ่านมาเราไม่ไปโทษใคร ปีนี้ดูแล้วดีขึ้น และมีแนวโน้มจะดีไปเรื่อยๆ สิ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะตัวแทนของกองทัพ คือการใช้งบประมาณให้ถูกต้องเพื่อมาพัฒนาปากท้องของประชาชน ดูแลความเป็นอยู่ ความปลอดภัยในพื้นที่นี้ ทุกวันนี้เราหมุนเวียนกันจัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ ที่สำคัญ แล้วทำมาหากินไป ใครว่างก็มาเข้าเวรยาม ทำให้ลดกำลังทหารลงได้

ภาพโดยรวมของชาวบ้านจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าไทยพุทธหรือมุสลิม หากได้รับความใส่ใจดูแล ทำให้อยู่ดีกินดี มีการศึกษา มีอาชีพ ชาวบ้านก็จะช่วยกันดูไม่ให้มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น

เชื่อว่าความหวังที่อยากให้สันติสุขกลับมา คงมีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น