ปัจจุบันเราอาจจะรู้จักแต่ประเพณีของชาวตะวันตก
ไม่ค่อยได้ใส่ใจกับพิธีไทยมากเท่าไรนัก ยิ่งชื่อพิธีสารท
บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อแต่ "วันสารทจีน" ไม่เคยได้ยินชื่อ
"สารทไทย" มาก่อน สำหรับวันสารทไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นเทศกาลทำบุญเดือน
10 ของไทย
ความหมายของ
"สารท"
พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า
"สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู"
ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "ออตอม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง
ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น
ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติ และผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู
ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง
จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า"Seasonal
Festival"
โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า
"ผลแรกได้" นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ
เพื่อความเป็นสิริมงคล
และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้
เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า
ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
สำหรับในพจนานุกรมไทย "สารท"
มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10
โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์
จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ
ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
ต้นกำเนิดของ "สารทไทย"
ในประเทศไทย
การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ
เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย
คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน
ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เหตุใดต้องมีพิธีสารทไทย
สาเหตุที่ต้องมีการจัดพิธีสารทไทยขึ้น
ก็เพื่อจุดมุ่งหมายต่อไปนี้
เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า
ญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่
และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข
ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน
เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน
บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกันเป็นการแสดงความเคารพ
และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด
ม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภขจัดความตระหนี่ได้
เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
เป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่
ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี
เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้
ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก
จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
กิจกรรมในวันสารทไทย
กิจกรรมหลัก ๆ ของวันสารทไทย คือ
การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท ไปทำบุญตักบาตรที่วัด
โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น
ตักบาตรน้ำผึ้งที่มีเฉพาะชาวไทยมอญ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น
มีความเชื่อว่า เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนกปล่อยปลา
ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
ในเดือน 10 เป็นสองวาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ
เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย
และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น
จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10
และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระ
ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้
มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ
1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ
โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
2. ประเพณีทำบุญวันสารท
โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความ สัมพันธ์กับอินเดีย
เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า
ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ
ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
3. ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ
แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่
การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้
แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด
พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล
จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
4. ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้น
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ
ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้
ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต
โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่
แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง โดยหมายจะให้เป็นแพฟ่อง
ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ, ขนมลา
ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม, ขนมกง
หรืองบางทีก็ใช้ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ, ขนมดีซำ
ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย และขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร
เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรตมีสายสิญจน์วงรอบ
โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล
ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหาร
และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต แล้วนำมากิน
ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล
การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลอง
หมรับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
ประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับส่งตายาย
โดยถือคติว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10
และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ
เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น