วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ทะเลหมอก “ไต้ต๋ง” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชาวเบตง



         นายอมร นิลรัตน์ เทศบาลตำบลธารน้ำพิทพ์ อ.เบตง จ.ยะลา ผู้ประสานงานทะเลหมอกไต้ต๋ง กล่าวว่า ทะเลหมอกไต้ต๋ง หรือ ทะเลหมอกสองแผ่นดิน เป็นการค้นพบทะเลหมอกแห่งใหม่ของอำเภอเบตง แม้ว่า เบตง สามารถชมหมอกได้ตลอดปี แต่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า พื้นที่ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเบตงมากอย่างตำบลธารน้ำทิพย์ จะสามารถชมทะเลหมอกและมองเห็นวิวประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียได้สวยมากขนาดนี้

           โดยเจ้าของพื้นที่คือ นายอำนวย เอียดทองใส เป็นเจ้าของที่บริเวณชมทะเลหมอกไต้ต๋ง เป็นผู้ค้นพบ แต่เก็บไว้ไม่ได้บอกใคร เพราะเป็นพื้นที่สวนของครอบครัวได้ ผมเป็นเพื่อนกับพี่อำนวย เมื่อเราได้มาเห็นทะเลหมอกก็ตกใจมาก ประกอบกับผมอยู่เทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ มีหน้าที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจึงได้คุยกับพี่อำนวยที่เป็นเจ้าของ และพี่ประเสริฐ เจ้าของทางเข้าชมทะเลหมอก รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ โดยในอนาคตเตรียมพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนที่คนในชุมชนได้ประโยชน์ร่วมกันด้วย

ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เข้ามาชมทะเลหมอกไต้ต๋ง หรือทะเลหมอกสองแผ่นดิน เป็นอาจารย์จากม.ราชภัฎยะลา เป็นผู้บุกเบิกที่เข้ามาเป็นกลุ่มแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 และเราทางเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ มีหน้าที่ในการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงได้มีการพูดคุยกับทางอาจารย์ราชภัฎยะลา ในการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
มีการพูดคุยกันเสร็จ ทางราชภัฎยะลาก็ขึ้นเขาไปถางหญ้า กางเต้นท์นอนกันบนเขาไต้ต๋ง เพื่อลองชมทะเลหมอกไต้ต๋ง หลังจากนั้นชาวบ้านก็มาช่วยกันสร้างแคร่ไม้ไผ่ไว้ให้นักท่องเที่ยวชมทะเลหมอก จากวันนั้นจึงกลายเป็นความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนให้เกิดที่ไต้ต๋งนายอมร กล่าว

            ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การลงนาม MOU เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแกรนด์แมนดาริน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้มี คุณนาซิร สนิ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา คุณสุวิทย์ นาคเป้า ปลัดอาวุโสอำเภอเบตง คุณพิริยา ชินารมยานนท์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ อำเภอเบตง คุณสมยศ เลิศลำยอง นายกเทศมนตรีเมืองเบตง และคุณมะอูโซะ สาลัง นายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ ได้ร่วมลงนาม MOU โครงการหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมรอยต่อที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์จังหวัดยะลา คุณภาพชีวิตมั่นคง เกษตรมั่งคั่ง ท่องเที่ยวยั่งยืนและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้อีกทั้งเพื่อร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โครงการตามนโยบายของรัฐบาล และโครงการตามพระบรมราโชบายร่วมกัน และเพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม ร่วมกัน
ตั้งแต่ต้นที่เราลงมาทำที่ธารน้ำทิพย์ เราใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งได้มีการจัดเวทีมาหลายครั้ง ซึ่งเราได้ฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ร่วมทั้งผู้นำท้องถิ่น และเทศบาลว่า เราจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ตรงนี้อย่างไร และแน่นอนว่า เราจะไม่ใช้การพัฒนาที่วุ่นวาย หรือทำลายทรัพยากรที่มีอยู่
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวต่อว่า โดยการพัฒนาเรามีเป้าหมายคือ ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขในทรัพยากรของเขา ได้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และมองเห็นคุณค่า นอกจากคุณค่าทางจิตใจแล้ว เม็ดเงินต่างๆต้องให้พื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งการเข้ามาศึกษาพื้นที่ของธารน้ำทิพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เราได้มีการพูดคุยไปจนถึงการตั้งชุมชนจีนกวางไสที่เป็นคนจีนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในอำเภอเบตง และถือเป็นกลุ่มคนจีนดั้งเดิมที่มีจำนวนมาก และมีความเป็นไปได้ที่ทาง ม.ราชภัฎยะลาจะมีการจับมือกับประเทศจีนให้เป็นบ้านพี่เมืองน้อง โดยเราได้ไปประเทศจีนมาแล้ว และนักศึกษาที่จะมาอยู่ที่นี้ก็เป็นกลุ่มคนจีนกวางไส ซึ่ง ผศ.แวอาซีซะห์ ดาหะยี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาได้มีการทำวิจัยดังกล่าวด้วย
เพราะฉะนั้นการทำให้ เบตงมีอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และสินค้าต่างๆจากฝีมือพี่น้องประชาชน มหาลัย แค่เจียระไนเพชรที่อยู่ในตมที่ยังไม่คนดึงออกมาขัดเกลา ราชภัฎยะลามีหน้าที่ขัดเกลาเพชรตรงนี้ให้มันสว่างไสวและประดับได้ เราคงไม่ไปเอาเพชรที่อื่นมา แต่เรากำลังเอาเพชรที่อยู่ในพื้นที่ตำบลธารน้ำทิพย์ขึ้นมา โดยราชภัฎและทุกภาคส่วนร่วมกันเจียระไนตรงนี้ให้งาม คงทน ถาวร และมีเสน่ห์ของความยั่งยืนต่อไปผศ.ดร.สมบัติ กล่าว

           นายสมยศ เลิศลำยอง นายกเทศมนตรีเมืองเบตง กล่าวว่า การผลักดันการท่องเที่ยวชุมชนที่ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถือเป็นนิมิตรหมาย และนวัตกรรมที่ดี ในการที่ทุกภาคส่วนได้มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อธิการบดี และคณาอาจารย์ทุกท่าน ที่เข้ามาพัฒนาที่นี้
เรามีจุดเด่นร่วมกันในการดึงจุดเด่นของแต่องค์กร มาร่วมกันบูรณาการเพื่อพัฒนาเมืองเบตงในการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รับกับสนามบิน ซึ่ง ม.ราชภัฎยะลา ช่วยทำหน้าที่เป็นคลังวิชาการ ในการเป็นคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ ร่วมกับทุกภาคส่วนเข้ามาพัฒนาท่องเที่ยวที่นี้

นายสมยศ กล่าวต่อว่า การที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาลงมาทำวิจัยในเบตงถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการทำวิจัยออกมายืนยันก่อน ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ ยั่งยืน เช่น พื้นที่เบตงควรมีการพัฒนาด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่สอดคล้องกับพื้นที่ของเบตงด้วย นายไกรกร แซ่ลก หรือป๋า เรารักเบตง ชาวเบตง กล่าวว่า ไต้ต๋ง ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติและอยากชมทะเลหมอก เพราะที่นี้ยังเป็นธรรมชาติมากๆ ยังไม่มีการปรุงแต่ง คนยังรู้จักน้อย ไม่วุ่นวาย และที่สำคัญ ถ้าตรงกับคืนพระจันทร์เต็มดวง ช่วง 15 ค่ำ ทะเลหมอกที่นี้สวยมาก
ทะเลหมอกไต้ต๋ง ที่นี้พัฒนายากมาก เพราะพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์และยังเป็นพื้นที่แหล่งต้นของเขตป่าสงวน ทำให้การสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่นี้ ไม่สามารถสร้างได้เหมือนกับทะเลหมอกอัยเยอรเวง ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักท่องเที่ยวที่ชอบความเป็นธรรมชาติมากๆของที่นี้

นายไกรกร กล่าวต่อว่า การเดินทางเข้าไปชมทะเลหมอกสองแผ่นดิน หรือ ไต้ต๋ง เดินทางจะตัวเมืองเบตง ไปยังตำบลธารน้ำทิพย์ ระยะทางไม่ถึง 20 กิโล ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่ขณะเดียวกันถ้านักท่องเที่ยวจะไปชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ระยะทางจากตัวเมืองเข้าไปประมาณ 40 กว่ากิโล ซึ่งถือว่า ค่อนข้างไกล
        ทั้งนี้ในอนาคตทะเลหมอกไต้ต๋ง จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากเข้ามาสัมผัสทะเลหมอก ที่มีความเป็นธรรมชาติมากๆ รวมถึงอยู่ไม่ใกล้กับตัวเมืองเบตงด้วย นอกจากชมทะเลหมอกแล้ว นักท่องเที่ยวยังได้มองเห็นวิวของประเทศเพื่อนบ้านบนเขาไต้ต๋งด้วย
-------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น