วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"กระเป๋าสานท้องถิ่นด้วยเส้นพลาสติก" กลุ่มแม่บ้านเบตงฮูลู จ.ยะลา

จากฝีมือของ กลุ่มแม่บ้านเบตงฮูลู ที่ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองเบตง และต้องการจะต่อยอดผลิตภัณฑ์เส้นพลาสติกสาน ให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยการดีไซน์ที่ดูทันสมัย ซึ่งการใช้เส้นพลาสติกสามารถทำได้ง่ายกว่าเพราะมีความอ่อนนิ่ม เหนียว ยืดหยุ่นได้ดี สามารถหักพับได้ วัสดุมีความคงทน ทำให้สานได้ง่ายและรวดเร็ว น้ำหนักเบา สะดวกแก่การใช้สอย ดูแลรักษาง่าย ไม่เกิดเชื้อรา มีสีสันสวยงาม ซึ่งคนในชุมชนสามารถนำมาพัฒนาเป็นอาชีพเสริม เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้เป็นอาชีพให้แก่ครัวเรือนได้อย่างมั่นคงแท้จริง



และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์พลาสติกสานของเบตงฮูลู เป็นสินค้าที่ผลิตด้วยมือล้วนมีรูปแบบมากมาย สามารถทำตามแบบที่ลูกค้าต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าของสุภาพสตรีในรูปทรงต่างๆ , กระเป๋าใส่แก้วเยติ , ที่ใส่ของอเนกประสงค์ ฯลฯ ซึ่งล้วนใช้ฝีมือในการสานที่ประณีต จนทำให้กลุ่มแม่บ้านเบตงฮูลู ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดชุดตะกร้าสานพลาสติก ในงานมหกรรมผลไม้และของดีเมืองยะลา ประจำปี 2562 (ที่ผ่านมา)



ตัวผลิตภัณฑ์แฝงไว้ซึ่งงานฝีมือของภูมิปัญญาท้องถิ่น มีรูปแบบที่หลากหลายสามารถ ผลิตตามความต้องการของผู้ใช้งานจึงเป็นที่นิยมซื้อเป็นของฝากของนักท่องเที่ยว โดยผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์เส้นพลาสติกสาน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณรอเมาะ บือโต (ประธานกลุ่มแม่บ้านเบตงฮูลู) โทร.082-2656912






--------------------------------------


วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

“ส้มแขกแปรรูป” ของดี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส้มแขกใช้สำหรับปรุงอาหารจำพวกแกงส้ม หรือแกงเหลือง ต้มส้มปลา แต่หลังจากที่มีผลงานวิจัยพบว่า ส้มแขกมีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วยลดความอ้วน ทำให้มีการนำส้มแขกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด อย่างที่กลุ่มแม่บ้านกาแป๊ะกอตอนอก ได้นำส้มแขกมาแปรรูปเป็นส้มแขกแช่อิ่ม น้ำส้มแขก และส้มแขกกวน ซึ่งสภาพของหมู่บ้านกาแป๊ะกอตอนอก มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และอาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนจะประกอบอาชีพเกษตร ส่งผลให้มีผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นยางพาราและผลไม้ ซึ่งคนในชุมชนมักจะปลูกส้มแขก แซมในสวนผลไม้และมีการปลูกส้มแขกแทบทุกบ้านด้วย



ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากส้มแขกนั้น จะมีเอกลักษณ์โดดเด่น สินค้าที่แปรรูปมาจากส้มแขกในพื้นที่ชุมชนมีความสดใหม่ เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทไม่เน้นผลิตในปริมาณมาก เพราะต้องการจำหน่ายให้หมด และมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้บริโภคหรือลูกค้าจะได้ลิ้มรสของอร่อยที่ผลิตใหม่อยู่ตลอดเวลา



ส้มแขกของกลุ่มแม่บ้านกาแป๊ะกอตอนอก นับว่าเป็นผลผลิตที่น่าสนใจ นอกจากจะให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เสริมจากการทำสวนยางพาราแล้ว ผู้บริโภคก็ยังได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากส้มแขกมีสรรพคุณหลายอย่าง หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มแม่บ้านกาแป๊ะกอตอนอก โทร.091-7974055


--------------------------------------

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

โรงเรียนต้นแบบสืบสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา สนองแนวพระราชดำริ



ย่านลิเภาเป็นพืชตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง ภาษาทางภาคใต้เรียกเถาวัลย์ว่าย่าน ขณะที่ชาวพื้นเมืองนราธิวาสเรียกว่าลิบู เป็นภาษามลายูแปลว่าตีนจิ้กจง จากลักษณะใบของย่านลิเภาที่หยัก ๆ คล้ายตีนจิ้งจก มีคุณสมบัติที่ดี คือ ลำต้นเหนียว ชาวบ้านจึงนำมาจักสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ หัตถกรรมย่านลิเภามีแพร่หลายแทบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงจังหวัดนราธิวาส โดยว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ทรงทราบว่าย่านลิเภาเป็นเถาวัลย์ที่หาได้ง่ายและขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์และพัฒนางานจักสานย่านลิเภาให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎรในเขตภาคใต้

 

ด้านนางนลิณี สาและ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านคลอแระ อำเภอบาเจาะ กล่าวว่า อย่างในพื้นที่ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในโครงการศิลปาชีพ ประกอบกับย่านลิเภามีอยู่มากในพื้นที่ หาได้ทั่วไป ทางโรงเรียนบ้านคลอแระ จึงมีแนวคิดดำเนินโครงงานอาชีพหัตถกรรมการจักสานย่านลิเภา โดยนำครูศิลปาชีพมาเป็นวิทยากรสอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 เรียนทุกวันศุกร์ ครั้งละ 2 ชั่วโมง โครงงานจักสานย่านลิเภา เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เมื่อได้สอนนักเรียนผลที่ได้ทำให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะต้องใช้ความคิดในการออกแบบลวดลาย แต่ละคนจะมีลวดลายไม่เหมือนกัน ที่สำคัญเป็นการสืบสานงานตามแนวพระราชดำริ อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป...

 

ว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ กล่าวเสริมว่า การจัดการเรียนการสอนยังสามารถสอดแทรกองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ประสบการณ์จากการเฝ้าฯ รับเสด็จ จากพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นสมาชิกในโครงการศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นการปลูกจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กับเด็ก เยาวชน ด้วยเรื่องใกล้ตัว สำหรับที่บ้านคลอแระ ยังเป็นที่ตั้งของศาลาทรงงาน ซึ่งสมเด็จฯ จะเสด็จทรงงานทุกปี ชาวบ้านได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิด นำผลิตภัณฑ์ถวาย ส่วนใครเจ็บป่วยก็ได้พบหมอหลวง และบ้านคลอแระ ยังมีครูสอนลิเภาและสมาชิกมากที่สุดของจังหวัดนราธิวาสด้วย

 

“...โรงเรียนบ้านคลอแระ จัดการเรียนการสอนหัตถกรรมย่านลิเภามากว่า 10 ปีแล้ว และได้ขยายผลไปยัง 4 โรงเรียน ในปัจจุบันทางอำเภอบาเจาะได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาวัตถุดิบอุปกรณ์ และค่าวิทยากร ทั้ง 5 โรงเรียน สิ่งที่พัฒนาต่อไปเป็นเรื่องของการออกแบบที่จะให้ลวดลายหรือเส้นลิเภาไปปรากฎอยู่บนวัตถุสิ่งของอื่น ๆ ได้บ้าง ที่สามารถจะจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ไม่จำเป็นว่าสิ่งของนั้นต้องทำด้วยลิเภา 100%...นอกจากนี้เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ได้จัดทำแปลงอนุรักษ์ย่านลิเภาบนพื้นที่สาธารณะบ้านคลอแระ จำนวน 30 ไร่ ซึ่งเป็นแห่งเดียวของจังหวัดนราธิวาส ส่วนในปี 2564 ทางอำเภอบาเจาะ ได้รับงบประมาณจากจังหวัดนราธิวาส เพื่อจัดทำแปลงอนุรักษ์ย่านลิเภาในพื้นที่พรุสาธารณะ ประมาณ 20 ไร่ เพื่อให้มีวัตถุดิบทั้งในเรื่องการเรียนการสอน และให้กับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในโครงการศิลปาชีพผลิตภัณฑ์ของนักเรียน มีกำไล จานรองแก้ว พวงกุญแจ เข็มกลัด ของตกแต่ง ได้นำไปจัดแสดงในงานศิลปหัตกรรมนักเรียน ระดับประเทศ อีกทั้งจำหน่าย และโรงเรียนบ้านคลอแระ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมการจักสานย่านลิเภา ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและสร้างความมีชื่อเสียงให้เกิดแก่จังหวัดนราธิวาส



-----------------------------

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้


การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลบาเจาะ จากที่มีหนี้ค้างชำระกองทุนสูงเป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัด แต่อาศัยการทำงานแบบครอบครัวสามารถแก้ไขปัญหา ได้รับรางวัลดีเด่น ระดับจังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2563 รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้และส่งเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ จึงได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นมา นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีมีการจัดสรรเงินให้ 2 ประเภท คือ เงินอุดหนุน และเงินหมุนเวียน คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ต่อมาในปี 2559 ถ่ายโอนกองทุนฯ ให้กรมการพัฒนาชุมชนเข้ามาดูแล



ในส่วนของจังหวัดนราธิวาส ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนฯ ครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ โดยนางยินดี บุญเตชพิทักษ์ พัฒนาการอำเภอบาเจาะ กล่าวว่า อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้ขับเคลื่อนกองทุนโดยเริ่มปล่อยให้เงินกู้ให้กับกลุ่มสตรีในปี 2556 จำนวน 49 โครงการ งบประมาณกว่า 9 ล้านบาท อยู่ในตำบลบาเจาะ จำนวน 32 โครงการ นำเงินทุนไปประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ค้าขาย แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น แต่เกิดปัญหามีหนี้ค้างชำระสูง ว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ สะท้อนความคิดเห็นว่า อำเภอบาเจาะมีจุดเริ่มต้นที่ยากกว่าอำเภออื่น ๆ เพราะมีหนี้ค้างชำระเป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัด ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาต้องทำงานแบบครอบครัว เน้นการช่วยเหลือ

“...กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ไม่ใช่แค่เม็ดเงินที่มาให้กลุ่มสตรี ต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูลโดยคณะอนุกรรมการที่มีความรู้อย่างเรื่องปศุสัตว์ เกษตร ประมง การทำงานเน้นการช่วยเหลือมากกว่าการบังคับชำระหนี้ ที่สำคัญคือการใช้กลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน บรรยากาศของสภาพแวดล้อมมีส่วนในการทำให้คนที่กู้ยืมไปแล้ว ต้องทำงานให้สำเร็จ มาชำระเงินได้ เพื่อให้คนอื่นได้ใช้เงินกองทุนต่อไป...การใช้แนวทางดังกล่าว ส่งผลให้คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลบาเจาะ ได้รับรางวัลตามโครงการเชิดชูเกียรติคนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดีเด่นระดับจังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2563 นางวิลาวัลย์ ลามะทา หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล บาเจาะ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยของความสำเร็จเกิดจากการทำงานแบบครอบครัวพัฒนาชุมชน เน้นการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ต่อยอดความสำเร็จ ทำให้มีการชำระเงินคืน จากหนี้คงค้างเดิมกว่า 6 ล้านบาท คงเหลือประมาณ 3 ล้านบาท ปัจจุบันในพื้นที่ตำบลบาเจาะ มีสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 12,000 คน 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเพื่อป้องกันปัญหาการมีหนี้ค้างชำระเกิดขึ้นอีก ต้องมีระบบการกลั่นกรองในระดับตำบล ระดับอำเภอ ตลอดจนมีคณะกรรมการติดตามประเมินผล โดยเชิญคนนอกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญอำเภอบาเจาะมีศักยภาพในเรื่องการคมนาคมขนส่ง จะร่วมกับภาคเอกชนอย่างบริษัท ปตท. โดยนำสินค้าของกลุ่มสตรีไปจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท และใช้ทุนทางเศรษฐกิจ มาพัฒนากลุ่มสตรีที่ใช้เงินจากกองทุนฯ ให้เกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต




--------------------------