วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“ม.อ.โพล” สำรวจความเชื่อมั่น โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง 3 เมืองหลัก



คณะทำงานการสำรวจความคิดเห็น ม.อ.โพลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับประเด็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแผนงาน ต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาชายแดนใต้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนดกรอบการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจ 3 เมือง คือ เมืองหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมืองเบตง จังหวัดยะลา และ เมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ภายใต้แนวคิด สานพลังประชารัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของธุรกิจเอกชน พัฒนาให้มีความโดดเด่นทั้งด้านเอกลักษณ์และด้านเศรษฐกิจ

โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจำนวน 580 กลุ่มตัวอย่างในทุกตำบล ของอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเบตง และอำเภอหนองจิก โดยคำถามประกอบด้วยข้อมูลการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการ ความเชื่อมั่นต่อโครงการและข้อเสนอแนะต่อโครงการ
ในด้านการรับรู้ข้อมูลโครงการดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่เมืองต้นแบบได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการ ถึงร้อยละ 80.10 โดยผ่านสื่อสารมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 51.90 และประชาชนอายุ 60 ปี ขึ้นไปมีการรับรู้มากที่สุด โดยประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการฯ มากที่สุด


จากการสำรวจพบว่า ค่าคะแนนความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมของโครงการต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาชายแดนใต้ อยู่ที่ระดับค่าคะแนน 3.79 โดยประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด อันดับแรกคือ เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่ มีระดับค่าคะแนน 3.86 อันดับที่สอง คือ เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำพาอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศซึ่งจะมีการจับจ่ายใช้สอยของคนทุกระดับทั้งในและนอกประเทศ มีระดับค่าคะแนน 3.85 และประเด็นที่สาม คือ เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำพาอำเภอเบตงเป็นเมืองต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีระดับค่าคะแนน 3.83

นอกจากนั้นยังพบว่า อำเภอเบตง เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีระดับค่าคะแนนความเชื่อมั่นต่อโครงการสูงที่สุด โดยมีระดับค่าคะแนน 3.82 รองลงมาคือ อำเภอหนองจิก ส่วนอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งมีการรับรู้โครงการมากที่สุด กลับมีระดับความเชื่อมั่นน้อยที่สุด คือ 3.75

ผู้ทำแบบสอบถาม ยังให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การพัฒนาอยากให้คำนึงถึงความเป็นจริงในพื้นที่ให้มากที่สุด อยากให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ครอบคลุมในทุกศาสนา และอยากให้แผนดังกล่าวมีการดำเนินการได้อย่างจริงจังดังที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ เพื่อสันติสุขและเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ




-----------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"ทุกครั้งที่เกิดเหตุ..สิ่งที่ตามมาคือ ความสูญเสีย


กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แถลงการณ์ประณามคนร้ายกรณีคนร้ายวางระเบิดตลาดโต้รุ่งเมืองปัตตานี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 59 กลุ่มก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดที่บริเวณร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าตลาดโต้รุ่ง ถนนพิพิธ เทศบาลเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี จนทำให้ประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินเกิดความเสียหาย

น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวอีกว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง ละเมิดต่อสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงในการดำรงชีวิตของบุคคล ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2539 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2540



สำหรับสาระสำคัญของกติกาฯ ดังกล่าว เป็นการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็น สิทธิในการเลือกตั้ง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานภายใต้กติกาฯ ดังกล่าว น.ส.ปิติกาญจน์กล่าว


น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมข้อมูลและสถานการณ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อรายงานต่อสหประชาชาติและในเวทีระดับโลกทุกปี จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะไม่เป็นผลดีและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยและความน่าเชื่อถือทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ดังนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จึงขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอประณามการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งจะนำพาให้เกิดความสงบสุขและสันติสุขในประเทศไทย





-------------------------

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ชาวลำพะยา อ.เมืองยะลา ปลื้มใจ! โครงการ ฝายลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ชาวลำพะยา อ.เมืองยะลา ปลื้มใจ! พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำริสร้างฝายกักเก็บน้ำ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้ได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรแบบยั่งยืน พร้อมเผยจะหากษัตริย์พระองค์ใดเปรียบเสมือน ในหลวง รัชกาลที่ 9” มิได้อีกแล้ว

ที่ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรฝายกักเก็บน้ำ ที่ได้ทรงดำริให้สร้างขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้ได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรแบบยั่งยืน
โดยมีภาพถ่ายขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเสด็จมาเยี่ยมพสกนิกร เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2523 โดยครั้งนั้นการเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรฝายกักเก็บน้ำ ที่ได้ทรงดำริให้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของพสกนิกร ในพื้นที่ ต.ลำพะยา ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวน จากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรที่เฝ้ารอรับเสด็จ ที่วัดสิริปุณณาราม หรือวัดลำพะยา ตามภาพถ่ายที่ได้บันทึกเอาไว้

นายยูโซะ สาและ อายุ 70 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ลำพะยา ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านหนุ่น เล่าให้ฟังว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ได้ทรงดำริให้มีการจัดสร้างฝายเก็บน้ำ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ โดยเมื่อตอนที่พระองค์ได้เสด็จมาทอดพระเนตรที่ฝาย ก็รู้สึกดีใจที่พระองค์จะเสด็จมา เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเป็นไปได้ที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จไปยังพื้นที่ต่างๆ

โดยตนเองก็ได้เข้ารับเสด็จในครั้งนั้นด้วย ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จมายังฝายเก็บน้ำ ก็ทรงได้ทอดพระเนตรภูมิศาสตร์โดยรอบ พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสให้ทางชลประทานยะลา ดำเนินการสร้างฝายกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้นอีก เพราะทรงเล็งเห็นผลประโยชน์แล้วว่า ฝายที่ทรงดำริให้จัดสร้างขึ้นในครั้งนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านอีกนับร้อยชีวิต


ซึ่งหลังจากที่ฝายกักเก็บน้ำบ้านหนุ่น ได้สร้างเสร็จ ประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ก็ได้รับประโยชน์มากมาย เพราะเมื่อก่อนนั้นตอนที่ยังไม่มีฝาย การทำนา ทำการเกษตรในแต่ละปีชาวบ้านเองต้องไปทำนบกั้นน้ำตามมีตามเกิด แต่ภายหลังจากพระองค์ท่านดำริให้จัดสร้างฝายแห่งนี้แล้ว ประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกรก็ได้รับประโยชน์อย่างล้นหลาม แต่ ณ ตอนนี้ก็เกิดปัญหาน้ำขาดแคลนจากความแห้งแล้งจากการตัดไม้ทำลายป่า

นายยูโซะ สาและ กล่าวอีกว่า ตนเองรู้สึกเสียใจต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่อยากให้พระองค์ท่านจากไป ตนเองมองว่าไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดที่มีชีวิตอย่างในหลวง พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างเสมอภาค ถือว่าประชาชนเป็นคนของในหลวงทุกคน แต่กลุ่มคนบางกลุ่มกลับลืมคิดว่า เราเองเป็นคนของในหลวง แม้พระองค์ท่านจะทรงดำริสอนอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้นำมาคิดทบทวน จะหากษัตริย์พระองค์ใดเปรียบเสมือนพระองค์ในโลกนี้ไม่ได้อีกแล้ว

ทั้งนี้ โครงการฝายพระราชดำริ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ได้มีการสำรวจพื้นที่เมื่อปี 2515 โดยใช้พื้นที่ราชพัสดุ หมู่ที่ 2 ต.ลำพะยา ซึ่งเคยเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ จัดสร้างเป็นฝายเก็บน้ำ โดยให้ชลประทานยะลา เป็นผู้รับผิดชอบ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ได้ใช้สอยน้ำไม่น้อยกว่า 550 ไร่


แต่หลังจากสร้างฝายเสร็จ เมื่อปี 2523 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จมาทอดพระเนตรโครงการ ก็ทรงดำริให้จัดสร้างฝายเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้นอีก 1 แห่ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการเริ่มก่อสร้าง เนื่องจากปัญหาการครอบครองที่ดินในพื้นที่ โดยในปัจจุบันฝายเก็บน้ำลำพะยา มีเกษตรกรได้รับประโยชน์มากถึง 4,600 ไร่





----------------------

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แถลงการณ์ด่วนพิเศษ กรณีระเบิดโต้รุ่งปัตตานี



คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคม

25 ตุลาคม 2559 ณ ตลาดโต้รุ่ง อ. เมือง จ. ปัตตานี

_______

ขอแสดงความเสียใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ กับครอบครัวผู้เสียชีวิต _ป้าสมพร ขุนทะกะพันธ์ และน้องนริศรา มากชูชิต และขอวิงวอน ภาวนาให้ผู้บาดเจ็บนับสามสิบคน ปลอดภัย และมีจิตใจที่เข้มแข็ง จากการประสบเหตุการณ์ระเบิดในตลาดโต้รุ่ง เมื่อคืนนี้

การกระทำความรุนแรงที่ไม่คำนึงถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่กระทำการอันโหดร้าย ต่อ เด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนที่ไม่มีอาวุธและไม่ใช่เป็นคู่ต่อสู้. ถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีสิทธิ์ มีชีวิตรอด เป็นการกระทำการยกเข่ง เหมารวมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีคนหลากหลายศาสนา เพศ วัย จำนวนมาก ไปใช้ประโยชน์ กลุ่มคนที่กระทำจึงเป็นกลุ่มคนที่ควรถูกประณามจากสาธารณะอย่างยิ่ง

เราทั้งหลายขอวิงวอน ภาวนา ร้องขอให้

1. ผู้ก่อเหตุยุติการกระทำเยี่ยงนี้เสีย

2. ขอให้ละเว้นการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง คน แก่ และคนที่ไม่มีอาวุธ

3. ขอให้พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน วัด มัสยิด โบถส์คริสต์ และ พื้นที่ อื่น ๆ ที่มิใช่สนามรบหรือจุดตั้งกองกำลัง ถูกละเว้นจากการทำความรุนแรงและมีความปลอดภัย 

4.ขอให้รัฐเร่งจับกุมคนกระทำในครั้งนี้และทำความกระจ่างให้แก่ประชาชนโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการไม่ให้มีการก่อเหตุซ้ำในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ

5. ขอให้โต๊ะพูดคุยสันติสุข สันติภาพ ที่มาเลเซีย ในวันนี้ เร่งพูดคุยและ ได้ร่วมกันทำเรื่องพื้นที่สาธารณะ ปลอดภัย ตามข้อเสนอขององค์กรผู้หญิงที่ท่านรับในการพูดคุยเมื่อ 2 กันยายน 2559 ให้เป็นข้อตกลงสำคัญที่จะร่วมกันทำให้เป็นจริง เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน ที่ ท่าน บอกว่า สำคัญต่อท่าน

6. ขอให้กลุ่มก่อการอื่น ๆ ในพื้นที่ ยุติการทำรุนแรงต่อพลเรือน และพื้นที่สาธารณะ 

7. ขอเรียกร้องให้พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศร่วมลงนามในแถลงการณ์ของเรา เพื่อแสดงพลังพลเมืองไม่เอาความรุนแรง เราจึงขอลงนามเพื่อข้อเรียกร้องทั้งหมด

คณะทำงานวาระผู้หญิง ทั้ง 23 องค์กรสมาชิก 

1. กลุ่มเซากูน่า

2. กลุ่มด้วยใจ

3. กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้

4. กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี

5. เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women)

6. เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

7. เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ

8. เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้

9. เครือข่ายชุมชนศรัทธา

10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี

11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก

12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้

14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส

15. ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 

16. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า 

17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) 

18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา

19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้

20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 

21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา

22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า 

23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 

24. ชุมชนคูหามุข เทศบาบนครยะลา

25. เครือข่ายสตรีชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

26. ชมรมพุทธรักษา

27. กลุ่มสตรีพุทธเพื่อสังคม 


28. เครือข่ายสานเสวนาพุทธ_มุสลิม


----------------------------

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เพลงสรรเสริญพระบารมี เวอร์ชั่น ภาษาอาหรับ


เมื่อวันที่ ( 23 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา เพจเฟชบุ๊กของสำนักจุฬาราชมนตรี ได้โพสต์คลิปเป็นเสียงร้อง #เพลงสรรเสริญพระบารมีภาคภาษาอาหรับ พร้อมกับข้อความระบุว่า " เสียงขับร้องอนาชีด ทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี ภาคภาษาอาหรับ ซึ่งถูกนำมาเรียบเรียงทำนองประสานเสียงใหม่ ให้เนื้อหาตรงกับบทเพลงสรรเสริญพระบารมี โดย อ.อาลี เสือสมิง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัจลิซุดดีนี โดยแปลงเป็นเนื้อร้องภาษาอาหรับจากเนื้อหาเพลงสรรเสริญพระบารมี โดย อาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทางชลมารค ผ่านตรอกโรงภาษีเก่า ตั้งอยู่บริเวณมัสยิดฮารูณ ถ.เจริญกรุง กรุงเทพฯ






--------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สาวยะลาจากเบตง!! หอบลูกร่วมร้องเพลงสรรเสริญฯ น้ำตาคลอตัวเองไม่มีพ่อ-ขอยึดคำสอนในหลวง


สาวอิสลาม หัวใจรักในหลวง อุ้มลูกน้อย เดินทางจากเบตง จ.ยะลา มาแสดงความอาลัยและทำความดีถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสนามหลวง พระบรมมหาราชวัง นางเฟีย ประทาน ชาวไทยมุสลิม พร้อมด้วยลูกสาว 3 คน เดินทางจาก อ.เบตง จ.ยะลา มาแสดงความอาลัยและเป็นจิตอาสาทำความดีถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นางเฟีย กล่าวว่า เรามาจาก อ.เบตง จ.ยะลา ตอนแรกตั้งใจพาลูกๆมาลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงปิดเทอมที่ รพ.ศิริราช แต่พอมาถึงเขาปิดให้ลงนาม เราก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็บอกให้นั่งรออย่าเพิ่งไปไหน แล้วก็มีประกาศว่าท่านสวรรคต รู้สึกเสียใจมาก ถึงตอนนี้ก็ยังทำใจไม่ได้หลังทราบข่าวพระองค์สวรรคต เห็นพระบรมฉายาลักษ์เห็นรอยยิ้มของท่านแล้วใจหายคิดว่าคงไม่ได้เห็นอีกแล้ว

นางเฟีย กล่าวต่อว่า "เด็กๆเขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าในหลวงคือใคร พวกเรารักในหลวง ถึงแม้เราเป็นอิสลาม" เราก็สอนให้เขามีความรักต่อพระเจ้าแผ่นดิน ให้ลูกได้เรียนรู้พระราชกรณียกิจของพระองค์ บางทีลูกถามว่า ในหลวงขับรถผ่านน้ำขนาดนั้นเลยเหรอ เข้าไปในป่าลึกมากเหรอ เราก็จะสอนจะบอกเขาว่าพระองค์ท่านทำอะไรบ้าง เวลาไปสวนยางบางทีเด็กๆบอกว่าเหนื่อย เราก็จะบอกว่าลูกรู้ไหมทางที่เรามามันสบาย แต่ในหลวงไปลำบากกว่า สอนให้เขารู้จักอดทน ทุกวันนี้นำพระราชดำรัสของท่านมาปรับใช้ในชีวิต อย่างเรื่องยาสีฟันของพระองค์เราจะจำขึ้นใจว่าต้องใช้หมด ถึงจะหมดแต่ก็ยังมีอีกให้เขาใช้จนหมด ไม่เหลือแล้วจริงๆ ทุกวันนี้เด็กๆ เริ่มเก็บเงินเอง ของที่เรานำมาบริจาคส่วนหนึ่งเป็นเงินเก็บของน้องๆ ตอนแรกมาห้าคนมีพ่อด้วย กลับไปเบตงไปเอาลองกองมาแจกอีก ตั้งใจจะอยู่จนถึงวันที่ 30 ต.ค. ขอเข้าไปแสดงความอาลัยต่อหน้าพระบรมศพ


บางคนถามว่าทำไมต้องมาไกลขนาดนี้ พาลูกมาไกล มาลำบากทำไม แต่เราอยากให้ท่านรู้ว่าเรามา ถ้าไม่พาเด็กมา เด็กจะรับรู้เหรอว่าคนไทยรักในหลวงขนาดไหน และสอนให้เขารู้จักการให้ ทำความดี ขอสักครั้งหนึ่งในชีวิตครอบครัวเล็กๆ ของเราได้มีส่วนร่วม เหมือนมาเป็นตัวแทนของบ้านเรา เพราะจะมาแต่ละทีก็ลำบากมาไกล อยากให้เด็กมีส่วนร่วมจึงพากันมาทุกวันเอาของมาแจกมะม่วงแซนด์วิชตามกำลังที่หามาได้ พอแจกเสร็จเด็กๆ เขาจะรู้หน้าที่ ไปขอถุงขยะจากพี่ๆ กทม.มาเดินเก็บขยะกัน

นางเฟีย กล่าวต่อว่า พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านเป็นห่วงพวกเรา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ท่านก็ยิ่งเป็นห่วง เราทราบว่าท่านเป็นห่วง ส่งทหารมาดูแลช่วยอำนวยความสะดวกมาช่วยเหลือเด็กๆ ช่วยเหลือชาวบ้าน เวลาชาวบ้านเดือดร้อนก็ช่วยเหลือ รู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย อยากทำหน้าที่มุสลิมชาวไทยคนหนึ่งให้ดีที่สุด และมาให้กำลังใจทุกพระองค์


ด.ญ.ดารียา อาฟียะ อายุ 8 ขวบ ลูกสาวคนโต กล่าวว่า หนูรักพ่อหลวงค่ะ รักมากๆเลยค่ะ วันนี้มาเก็บขยะ หนูไม่เหนื่อยเลย

ที่มา:https://www.khaosod.co.th

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เดินตามรอยเท้า “พ่อ” ใช้ชีวิต อยู่อย่างพอเพียง


ชาวบ้านยะลายึดอาชีพเกษตรกรเดินตามรอย พ่อหลวง นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิต อยู่อย่างพอเพียง มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

โดยใช้แนวทางของ ในหลวง ที่ให้ความรู้กับประชาชน ได้นำตรงนี้มาเป็นแบบอย่าง ทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงใช้กับตนเอง พร้อมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชาวบ้าน และคนนอกได้มาศึกษาดูงาน นี่คือคำพูดหนึ่งของเกษตรกรชาวบ้านตาสา หมู่ที่ 3 ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อาสาสมัครเกษตรและสหกรณ์ระดับตำบลบ้านตาสา ซึ่งใช้ชีวิตการเป็นเกษตรกร อยู่อย่างพอเพียง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยการปรับพื้นที่ใช้สอยบริเวณบ้านของตนเอง ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งพริก มะเขือ ผักบุ้ง ผักคะน้า ต้นหอม โหระพา ตะไคร้ ถั่วพู มะนาว และเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เพื่อใช้รับประทานในครอบครัว โดยไม่ต้องใช้เงินไปซื้อหา เหลือจากรับประทานก็จะนำไปขาย และแจกจ่ายให้กับชาวบ้านใกล้เคียง มีรายได้อย่างพอเพียงเลี้ยงครอบครัว


นายมูฮำหมัดบัดรี เจ๊ะเล๊าะ กล่าวว่า ความดีของ ในหลวงสอนให้เรารู้จักความพอเพียง ใช้ชีวิตแบบพอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือย ตนเองได้นำบทๆ นี้ของท่านสอนมาใช้และจำจนขึ้นใจ ต้องทำแบบไหนให้เรามีความสุข รวมทั้งให้เพื่อนบ้าน คนรอบบ้าน มีความสุขด้วย ใช้แนวทางของท่านสอนเรามา และเราก็ได้ถ่ายทอดให้ความรู้กับคนอื่นๆ จากที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เดิมเป็นคนฟุ่มเฟือยใช้เงินไม่รู้จักพอ แต่พอได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ ได้ลดรายจ่าย มีของกิน ผักปลอดสารพิษ เป็ด ไก่ และไข่ ส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี โดยยึดอาชีพเกษตรกรมาโดยตลอด เพราะรู้แจ้งว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ตนเองสามารถเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนได้โดยไม่ติดขัด


ซึ่งตนเองก็จะดำเนินชีวิตเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะไม่มีแรงทำ และจะถ่ายทอดความรู้จุดนี้ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้นำแนวทางของในหลวงที่สอนเรามาไปใช้ด้วย







------------------

แหล่งที่มา : สทท.ยะลา

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“ลองกองซีโป” ของดีเมืองนราธิวาส

“ลองกองซีโป” ของดีเมืองนราธิวาส พร้อมเชิญชวนชิม
             “ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน” คือ คำขวัญประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากจะหมายถึงสถานที่ตั้งของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประชาชนเคร่งครัดในศาสนา และการร่ำรวยความงามตามธรรมชาติแล้ว ยังจะบ่งบอกว่า ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดผลไม้รสหวาน หอมและเย็นตามธรรมชาติ ที่มีชื่อมากที่สุด นั่นก็คือ “ลองกองซีโป” ในอำเภอระแงะ นั่นเอง
              จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีการปลูกลองกองมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นถิ่นกำเนิดลองกองคุณภาพดีที่มีชื่อเสียง คือ “ลองกองซีโป” ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ เพราะมีคุณสมบัติเด่น คือ เมื่อผลสุกจะมีรสชาติหวานหอม โดยลองกองต้นแรกที่ปลูกอยู่ที่บ้านซีโป ปัจจุบันยังคงยืนต้นอยู่ แต่ไม่มีใบ มีเพียงลำต้นอย่างเดียวเท่านั้น และมีอายุกว่าร้อยปี
                ต่อมา เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการนำลองกองซีโปมาปลูกที่บ้านตันหยงมัส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟตันหยงมัส อำเภอระแงะ และเนื่องจากการขนส่งลองกองในสมัยก่อนนิยมส่งทางรถไฟ ผู้บริโภคจึงรู้จักลองกองรสชาติดีว่า มาจากตันหยงมัส จึงเรียกกันว่า ลองกองตันหยงมัส แต่แหล่งผลิตสำคัญยังคงอยู่ที่บ้านซีโป ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ   ลองกอง (longkong) เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับลางสาด มีเปลือกหนา และไม่มียางเหมือนลางสาด มีเนื้อน้อยกว่า แต่มีรสหวานกว่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lansium domesticum Corr ซึ่งพืชที่อยู่ในชนิดเดียวกันนี้คือ ดูกู (duku) ส่วนลังสาด (ลางสาด) แยกเป็นชนิดหนึ่งต่างหาก โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า A. Domesticum Pelleg ส่วนชื่อ ลองกอง มาจากภาษายาวีว่า ดอกอง

 ลองกอง ดูกู และลางสาด เป็นไม้ผลในสกุลเดียวกัน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
 
       1.กลุ่มลองกอง เป็นกลุ่มที่ผลผลิตมีคุณภาพดีที่สุด มีเมล็ดน้อย หรืออาจจะไม่มีเมล็ดเลย ใบมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก คือ มีสีเขียวเข้ม และมีร่องใบลึก ทำให้ดูเหมือนกับว่า ใบหยักเป็นคลื่น ซึ่งกลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
     
       - ลองกองแห้ง ผลสุกจะมีเนื้อใสเป็นแก้ว เนื้อแห้ง หวาน และมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ส่วนเปลือกหนามีสีเหลืองคล้ำ และไม่มียาง
       - ลองกองน้ำ ผลสุกจะมีเนื้อค่อนข้างฉ่ำน้ำ สีเปลือกเหลืองสว่างกว่า
       - ลองกองปาลาแม หรือลองกองแปร์แมร์ ผลสุกจะมีเนื้อนิ่ม กลิ่นไม่หอมเหมือนลองกองน้ำ เปลือกบางและมียางบ้าง
     
       2.กลุ่มดูกู หรือลูกู ลักษณะใบค่อนข้างหนา และมีสีเขียวเข้มคล้ายลองกอง แต่หยักเป็นคลื่นน้อยกว่า ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ และมีเปลือกหนากว่าลองกอง มีเมล็ดมาก และมีเนื้อฉ่ำน้ำ ที่พบมี 2 ชนิด คือ
     
       - ดูกูแปร์แมร์ มีผลค่อนข้างรี ก้นผลแหลม ผิวย่นเล็กน้อย
       - ดูกูน้ำ มีผลค่อนข้างกลม มีผิวสดใสกว่าดูกูแปร์แมร์
     
       3.ลางสาด ใบบางกว่าลองกอง คลื่นใบไม่เด่นชัด ผลเล็กกว่าลองกอง ผลสุกมีสีเหลืองนวล เปลือกบางมียางเหนียว มีเมล็ด 2-3 เมล็ดต่อผล
       ลองกองเป็นไม้ผลเศรษฐกิจเขตร้อนชื้น ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตลองกองที่มีคุณภาพดีที่สุด
           เนื่องจากลองกองมีความต้องการสภาพพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้น มีความชื้นในอากาศสูง พื้นที่การปลูกลองกองจึงถูกจำกัดโดยสภาพแวดล้อม ผลผลิตของลองกองจึงมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ราคาผลผลิตจึงสูง ทำให้การปลูกลองกอง ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกไม้ผลอื่นๆ หลายชนิด
            โดยผลของลองกอง จะมีลักษณะเป็นช่อสวยงาม เปลือกผลนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เนื้อล่อนออกจากเปลือกได้ทั้งผล เมล็ดน้อย หรือไม่มีเลย มีกลิ่นหอม และมีรสหวานชื่นใจ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินบี และฟอสฟอรัส มีสรรพคุณในการลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ตัวร้อน ลดอาการร้อนในช่องปาก จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดภายใน และตลาดต่างประเทศ

แต่ในปีนี้ ปรากฏว่า ลองกองมีราคาตกต่ำมาก โดยมีราคารับซื้อหน้าสวนประมาณ 5-10 บาทต่อ กิโลกรัม ขณะที่ราคาจำหน่ายในท้องตลาด เกรดเอ อยู่ที่กิโลกรัมละ 25-30 บาท เกรดบี กิโลกรัมละ 15-20 บาท และเกรดซี กิโลกรัมละ 10 บาทขึ้นไป ซึ่งถือว่าราคาลองกองในปีนี้ตกต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา จังหวัดนราธิวาส จึงเตรียมนำนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตลองกอง มาแนะนำให้แก่กลุ่มเกษตรกร ทั้งการแปรรูปด้วยการแช่อิ่ม แยม และผลิตภัณฑ์ดูแลหน้า เพื่อส่งเสริมการแปรรูปหารายได้เพิ่มแก่ครอบครัว
     
       การแปรรูปลองกอง จึงน่าจะเป็นการสร้างตลาดให้แก่กลุ่มผู้ปลูกลองกองอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการแปรรูปแล้วส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเสริมสร้างรายได้ และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนเท่านั้น แต่ยังช่วยเปิดโอกาสให้มีการนำผลผลิตที่เลื่องชื่อของจังหวัดมาพลิกวิกฤตราคาที่ตกต่ำในอีกทางด้วย
     
       จากการสำรวจตัวเลขการปลูกลองกองในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส พบว่า ปลูกใน 13 อำเภอ จำนวน 40,458 ราย คิดเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น 75,881 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ 66,172 ไร่ ขณะที่ส่วนลองกองขนานแท้ในตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ มีเพียง 15,219 ไร่ ให้ผลผลิตเพียง 14,360 ไร่ แต่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างดี
เครดิต : http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9560000126147

7 เรื่องราวน่ารู้...พ่อของแผ่นดินกับพสกนิกรชาวไทยมุสลิม


#เสด็จลงพื้นที่สามจังหวัดหลายครั้ง - โดยจะเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งในการเสด็จแต่ละครั้ง จะมีประชาชนมายืนรอรับเสด็จท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวอย่างล้มหลาม

#ทรงเข้าใจภาษาของชาวไทยมุสลิม - ในขณะที่พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนในสามจังหวัดชายแดนนั้น ทรงได้ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ แต่ไม่มีใครกล้าตอบคำถามของในหลวงเลย เพราะกลัวว่าจะใช้คำศัพท์ไม่ถูกต้อง ในหลวงจึงรับสั่งให้ตอบเป็นภาษาท้องถิ่น และให้ล่ามแปลภาษาให้


#สนับสนุนให้มีการสร้างมัสยิด - ในปีพ.ศ. 2533 ในหลวงทรงแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านชาวไทยมุสลิม ณ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยที่นั่นมีชุมชนมุสลิมเล็กๆ อยู่ แต่ยังไม่สามารถจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามได้เนื่องจากที่ดินไม่ใช่ที่ของมัสยิด ในหลวงได้พระราชทานตามคำกราบทูล และยังมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเพิ่มให้อีก 5 ไร่ พร้อมทั้งมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินการให้เป็นของมัสยิดอย่างถูกต้องเรียบร้อยด้วย


#เป็นผู้ดำริให้มีการแปลอัลกุรอ่านเป็นภาษาไทย - ก่อนปีพ.ศ. 2505 จะเป็นปีใดไม่แน่ชัด ท่านกงสุลแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เข้าเฝ้าถวายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับที่มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อในหลวงทอดพระเนตรและทรงศึกษาดู ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ให้ปรากฏเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ เมื่อจุฬาราชมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้นำผู้แทนองค์การ สมาคม และกรรมการอิสลามเข้าเฝ้าถวายพระพรในนามของชาวไทยมุสลิมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น ในหลวงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จุฬาราชมนตรี แปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จากพระมหาคัมภีร์ฉบับภาษาอาหรับโดยตรง สิ่งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อศาสนาอิสลาม และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริง



#จัดพิมพ์อัลกุรอ่านมอบให้ตามมัสยิด - ในปีพ.ศ. 2511 อันเป็นปีครบ 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ประเทศมุสลิมทุกประเทศต่างก็จัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างสมเกียรติ ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอานขึ้น ณ สนามกีฬากิตติขจร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นวันเดียวกันกับการจัดงานเมาลิดกลาง ในปีนั้นในหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และในวันนั้นเป็นวันเริ่มแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ได้พิมพ์ถวายตามพระราชดำริและได้พระราชทานแก่มัสยิดต่างๆ ทั่วประเทศ


#สนับสนุนให้เด็กนักเรียนมุสลิมมีโอกาสเรียนวิชาสามัญ - ในปีพ.ศ. 2512 พระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมการศึกษาของชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมเยาวชนไทยมุสลิมจะมีการศึกษาภาคสามัญอย่างสูง เพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นภาคบังคับแล้วจะเข้าเรียนภาคศาสนา เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าลูกหลานของตนจะไม่รู้ศาสนา ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้  ในหลวงทรงเป็นห่วงใยในเรื่องนี้ จึงมีพระกระแสรับสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ หาหนทางส่งเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอนภาคสามัญให้ดีขึ้นทั้งยังจัดให้มีการดูงานการศึกษาในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงด้วย ปอเนาะต่างๆจึงเริ่มมีการพัฒนาปรังปรุงดีขึ้น ปอเนาะใดที่มีการพัฒนาปรับปรุงถึงเกณฑ์ ก็จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่มีการบริหารการเรียนการสอนดีเด่นด้วย


#ส่งเสริมให้มุสลิมมีงานทำ - ในหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทยมุสลิมด้านการส่งเสริมอาชีพ ทรงให้มีโครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ฯที่ชาวไทยมุสลิมได้รับประโยชน์ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส ทำให้ชาวไทยมุสลิมที่เคยยากจนเพราะไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นจนสามารถยกระดับฐานะครอบครัวให้ดีขึ้นเหมือนกับชาวไทยภาคอื่นๆ

บทความพิเศษที่ทีมงาน Halalize ตั้งใจรวบรวมเขียนขึ้นมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อมุสลิมชาวไทยทั่วประเทศครับ * หากว่ามีจุดไหนที่ทีมงานใช้คำศัพท์ไม่เหมาะสม ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

เรียบเรียงจาก บทความเรื่อง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิมโดยท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์


----------------------


ข้อมูล https://www.halalize.com/blog/long-live-the-king

สถาบันการศึกษาปัตตานีร่วมทำแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน ปี 60-64


คณาจารย์และผู้แทนสถาบันการศึกษาจังหวัดปัตตานี ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน พ.ศ.2560-2564 เพื่อเป็นกรอบพัฒนาการศึกษาในจังหวัดปัตตานี

วันที่ 19 ตุลาคม 2559 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท จ.ปัตตานี นางมัสนะ สารี รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี ในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน จ.ปัตตานี พ.ศ.2560-2564

โดยในที่ประชุมมีนางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้แทนสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จ.ปัตตานี อาทิ ผู้แทนสถาบันปอเนาะ ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ผู้แทนวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี ผู้แทนศูนย์การศึกษาอิสลาม ประจำมัสยิด (ตาดีกา) และผู้แทนโรงเรียนเอกชนในระบบ ร่วมประชุมด้วย

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน จังหวัดปัตตานี พ.ศ.2560-2564 ครั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานีและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการศึกษาเอกชน และเพื่อเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาการศึกษา สามารถนำไปสู่การแก้ไขเพื่อตอบสนองความต้องการของสถานศึกษาเอกชน

ทั้งนี้ที่ประชุมมีการสรุปและเปรียบเทียบผลการสอบของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนเอกชน เพื่อให้ที่ประชุมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อไปด้วย


 --------------------


สำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภาพเก่า..เล่าเรื่อง ของพระเศวต ช้างเผือกคู่บารมี “รัชกาลที่ ๙” พลายน้อยเมืองยะลา


หลายๆ คน คงจะมีภาพเก่า ๆ ที่ประทับใจเก็ยไว้ที่บ้านกัน แต่นี่ก็น่าจะเป็นอีกภาพหนึ่งที่หลาย ๆ บ้านที่จังหวัด ยะลามีกัน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าภาพนี้เป็นภาพถ่ายต้นฉบับเองเลย หรืออัดสำเนามาจากที่ไหน

แต่ที่แน่ๆ ที่มุมภาพเป็นลายนูน "ห้องภาพ 07 ยะลา"

ภาพนี้เป็นภาพคราวในหลวงเสด็จมาในพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก ณ จังหวัดยะลา  รายละเอียดของช้างช้างนี้มีดังนี้ น่าสนใจเลยทีเดียว


พระเศวตสุรคชาธารฯ หรือ คุณพระเศวตฯ เล็ก เป็นช้างพลายเผือก เกิดในป่าตำบลการอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวาง ที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2511 พระราชทานนามว่า

"พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ศุภลักษณเนตราธิคุณ ทศกุลวิศิษฏ พรหมพงศ์อดุลยวงศ์ตามพหัตถี ประชาชนะสวัสดี วิบุลยศักดิ์อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า ๚ "

หม่อม ราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกว่า คุณพระเศวตเล็ก ถูกพบโดยนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ โดยโขลงช้างเดินทางเข้ามาใกล้หมู่บ้านในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็พบเห็นลูกช้างพลัดฝูงอยู่ใต้ถุนบ้าน สันนิษฐานว่าแม่ช้างจะรู้ว่าลูกช้างตัวนี้เป็นช้างสำคัญ และนำมาส่งที่หมู่บ้าน เพื่อเข้ามาสู่พระบารมีตั้งแต่ยังไม่หย่านม


เมื่อนายเจ๊ะเฮงได้เลี้ยงดูลูกช้างนั้นไว้ วันหนึ่งมีสุนัขตัวเมียป่วยหนักใกล้ตาย ได้กระเสือกกระสนมาบริเวณที่คุณพระเศวตเล็กกำลังอาบน้ำอยู่  ได้กินน้ำที่ ใช้อาบตัวคุณพระอาการป่วยก็หายไป คงเหลือเพียงอาการปากเบี้ยว และกลายเป็นสุนัข ที่คอยคลอเคลียติดตามคุณพระเศวตเล็กตลอดมา ได้ชื่อว่า "เบี้ยว"


ทางสำนักพระราชวัง โดยพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) เจ้ากรมช้างต้นได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์ อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง 10 หมู่ ชื่อ ดามพหัตถี  พระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลปัจจุบัน


พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 หลังจากพิธีสมโภชขึ้นระวาง และย้ายไปยืนโรงที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต  นางเบี้ยวก็ได้ติดตามมาด้วย และออกลูกหลานติดตามคุณพระเศวตเล็ก อยู่ภายในพระราชวังดุสิตอีกหลายสิบตัว

พระเศวตสุรคชาธาร เคยเป็นพระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่เสมอ



พระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้นเมื่อ พ.ศ. 2520





--------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจากและรูปภาพจาก: http://th.wikipedia.org/wiki/พระเศวตสุรคชาธาร