วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

“ตูปะซูตง” ของหรอยตานี


ล่องใต้เยือนเมืองปัตตานีกันอีกครั้ง ที่ ถ.ปากน้ำ ซอย 14 มีร้านอาหารเล็กๆ อยู่ในซอย บรรยากาศดี อาหารอร่อย คุณภาพคับจานทุกอย่าง เพราะทางร้านมีผักสวนครัวปลูกเองในสวนหลังบ้าน และคัดปลาสดๆ จากทะเลทุกวัน หาความสุขใส่ปากให้อิ่มท้องได้ที่ ร้านร่ำรวย สำหรับใครที่ชอบดูดวงด้วยละก็ เชิญไปด่วนเลยค่ะ!!

เมนูเด็ดแดนใต้มีอาหารมาแนะนำ โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองของ จ.ปัตตานี จะเรียกว่าเป็นของหวานก็ไม่ใช่ของคาวก็ไม่เชิง น่าจะเหมาะกับเป็นจานอาหารว่างมากกว่า นั่นคือ ปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวหรือ ตูปะซูตง


ปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวหรือ ตูปะซูตงเมื่อนำข้าวเหนียวยัดใส่ในตัวปลาหมึกเรียบร้อยแล้วก็นำไปต้มกับกะทิ รอจนข้าวเหนียวสุกจึงค่อยปรุงรสด้วยน้ำตาล เกลือ รสชาติจะออกไปทางหวานๆ เหมือนกับปลาหมึกต้มหวาน แต่เมื่อนำข้าวเหนียวมายัดไส้ก็อร่อยลงตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ หอมหวานกลิ่นกะทิ เหนียวแน่นด้วยเนื้อปลาหมึกและข้าวเหนียว

สูตรอาหารพื้นเมืองปัตตานี"ตูปะซูตง"จัดเป็นอาหารหวานหรือเป็นอาหารคาวก็ได้ ใช้รับประทานเป็นของหวานหลังอาหารมื้อกลางวัน หรือใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง บางครั้งใช้รับประทานแทนอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งก็ได้ การทำตูปะซูตงต้องเลือกปลาหมึกสด ๆ และตัวสวย ๆ ยาว ๆ จึงจะน่ารับประทาน


**ส่วนผสม
          1. ปลาหมึก
          2. กะทิ
        3. น้ำตาล (มะพร้าวแท้ หรือนํ้าตาลตะโหนด) (ใช้นํ้าตาลนี้ จะเพิ่มกลิ่นที่หอมยิ่งขึ้น หากไม่มี จะใช้นํ้าตาลทรายก็ได้ )
          4. ข้าวเหนียว
          5. ไม้กลัด
          6. เกลือ
          7. น้ำตาลทราย

**วิธีการปรุง
         1. นำข้าวเหนียวไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาผสมกับกะทิคลุกเคล้าเข้าด้วยกันเติมเกลือนิดหน่อยให้ออกรสเค็ม ๆ
     2. นำส่วนประกอบจากข้อ 1 มาใส่ในตัวปลาหมึกที่ล้างสะอาดแล้วจนเต็ม แล้วใช้ไม้กลัด ๆ หัวปลาหมึกกับปลาหมึกให้ติดกัน เพื่อกันข้าวเหนียวล้นออกมา
      3. เมื่อกรอกข้าวเหนียวใส่ปลาหมึกแล้วก็นำไปต้มกับน้ำกะทิใส่น้ำตาล มะพร้าว หรือนํ้าตาลตะโหนด เพื่อให้ออกรสหวาน ต้มจนสุก
        4. ยกลงจากเตาก็จะได้ ตูปะซูตงที่หวานมัน น่ารับประทาน

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

น้ำบูดูสายบุรี ‘ข้าวยำ’ วัฒนธรรมการกิน ณ ถิ่นใต้


น้ำบูดู” เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นเพื่อเป็นวิธีการเก็บรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นที่เหลือใช้ ให้เก็บไว้ บริโภคได้ยาวนาน เนื่องจากในอดีตยังไม่มีเทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บรักษาอาหารสดไว้ใช้เป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะอาหารทะเลประเภทปลาจึงนำมาผสมเกลือหมัก ไว้ใช้รับประทานซึ่งมีลักษณะการทำคล้ายน้ำปลา น้ำบูดูสายบุรีมีชื่อเสียงมายาวนาน และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเนื่องจากหมักด้วยปลาไส้ตัน


(ปลากะตัก) และปลาเล็กผสมกับเกลือในอัตราส่วนที่เหมาะสม และใช้ระยะเวลาการหมักที่พอเหมาะ เพื่อให้ได้น้ำบูดูที่ใส รสชาดหอมอร่อย ใช้รับประทานกับผักต่างๆ ปัจจุบันได้ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศคือ มาเลเซีย มีทั้งขายส่ง และปลีก
เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (one Tambon one Product) ของหมู่ 2 ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี หมู่ 4 ตำบลไม้แก่น อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี


ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี คือ การผลิตบูดู บูดูเป็นอาหารพื้นเมืองประเภทหมัก เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ประกอบกับองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าของคนรุ่นหลังเพื่อที่จะพัฒนาให้อาหารประเภทนี้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค และถูกต้องตามหลักโภชนาการ กลุ่มผู้พัฒนาผลงานจากโรงเรียนสายบุรี "แจ้งประชาคาร" เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีความคิดที่จะรวบรวมความรู้เกี่ยวกับบูดูออกเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจนำไปศึกษาค้นคว้า และพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป นอกจากนี้เป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าในชุมชนให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

น้ำบูดู เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป จากปลาทะเล นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อ ใช้เป็นวิธีการเก็บรักษาทรัพยากร ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ในท้องถิ่น ให้สามารถเก็บไว้บริโภค ได้ยาวนาน ชาวบ้านจึงนำปลา มาคลุกเกลือ หมักไว้รับประทาน

น้ำบูดู มีลักษณะคล้ายน้ำปลา มีน้ำข้นปานกลาง นำมารับประทานเป็นเครื่องปรุงรส ใช้เป็นเครื่องจิ้ม


น้ำบูดูที่มีชื่อเสียง คือ น้ำบูดูสายบุรี เป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพทำน้ำบูดูปะเสยะวอ อ. สายบุรี จ. ปัตตานี ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดบูดูที่สะอาด วัตถุดิบในการผลิตใช้ปลาไส้ตันผสมเกลือในอัตราส่วนที่เหมาะสม ใช้เวลาที่พอเหมาะ จึงทำให้ได้น้ำบูดูที่มีรสชาติอร่อย
น้ำบูดูเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวทะเลปักษ์ใต้และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิมและใช้เป็นวิธีการแปรรูปอาหาร คือ ปลาทะเลที่เหลือจากการจำหน่ายหรือการบริโภคให้สามารถเก็บไว้บริโภคได้เป็นเวลานาน น้ำบูดูมีลักษณะคล้ายน้ำปลา แต่น้ำข้นกว่าน้ำปลา สมบัติที่แตกต่างจากน้ำปลา คือ น้ำบูดูบางชนิดจะมีเนื้อของปลาที่ยังย่อยสลายไม่หมดผสมอยู่ด้วยแต่น้ำบูดูบางชนิดก็จะนำไปผ่านความร้อนและกรองส่วนที่เป็นเนื้อปลาออก ทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นน้ำสีน้ำตาลเข้มและข้นเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีการปรุงรสโดยการเติมส่วนผสมอื่น เช่น น้ำตาลทำให้น้ำบูดูมีรสหวาน กรรมวิธีการผลิตน้ำบูดูจะใช้ปลาทะเลขนาดเล็ก เช่น ปลาไส้ตัน ปลากะตัก นำมาหมักกับเกลือ ต่อมามีการค้นพบว่าการใช้ปลากะตักทำน้ำบูดูนั้นจะทำให้ได้น้ำบูดูที่มีรสชาติดีกว่าปลาชนิดอื่น ๆ


คำว่าบูดูนั้นไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจนว่ามาจากไหน แต่จากการค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่งอาจสรุปได้ดังนี้
น้ำบูดูมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบโฮเดรต และวิตามิน รวมทั่งแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก น้ำบูดู เป็นผลิตภัณฑ์ปลาหมักของคนใต้คล้ายกับ ปลาร้าของคนอีสานซึ่งต่างกันตรงวัตถุดิบที่ใช้ แต่เหมือนกันที่คุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจากอดีตถึงปัจจุบัน 

ประวัติของน้ำบูดู

ประวัติการทำบูดูจากการศึกษาค้นคว้าถึงที่มาของการผลิตบูดูนั้น ไม่พบหลักฐานที่อ้างถึงการผลิตบูดูเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จากการสอบถามผู้ผลิตบูดูทั้งที่ผลิตเพื่อจำหน่าย และผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน มักจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยในสมัยก่อนนั้นชาวอำเภอสายบุรี มีอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ชายมีหน้าที่ออกทะเลไปหาปลา ส่วนผู้หญิงเป็นแม่บ้าน เมื่อผู้ชายกลับมาจากทะเลก็ได้ปลาทะเลมาเป็นจำนวนมาก จนบางครั้งบริโภคไม่หมดจึงได้คิดวิธีการถนอมอาหารโดยการนำปลามาหมักกับเกลือ ซึ่งจะใช้ปลาทุกชนิดที่บริโภคไม่หมด ต่อมามีการค้นพบว่า การนำปลากะตักมาหมักกับเกลือนั้นจะทำให้ได้บูดูที่มีรสชาติดีกว่าปลาชนิดอื่น

ส่วนคำถามที่ว่า "ทำไมถึงเรียกว่า บูดู" ก็ไม่พบหลักฐานอ้างอิงเช่นกัน แต่จากการสอบถามผู้ผลิตได้คำตอบที่หลากหลาย ดังนี้
    1.อาจมาจากคำว่า "บูด" เพราะในการหมักบูดูปลาจะมีลักษณะเน่าเละ คล้ายของบูด ซึ่งต่อมาอาจจะออกเสียงเป็น บูดู
    2.อาจมาจากคำว่า "บูบู๊" ซึ่งเป็นอุปกรณ์จับปลาตัวใหญ่ เรียกว่า ปลาฆอ
    3.เป็นคำที่มาจากภาษามลายูหรือภาษายา
รายงานว่า คำว่า บูดูเป็นคำที่ยืมมาจากาษามลายู หรือภาษายาวี ตามเกณฑ์ที่ 1 คือ เป็นคำที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ในภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี และเป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทยทั่วไป หรือไม่ใช่ศัพท์เฉพาะถิ่นของภาษาไทยทั่วไป
    4.เป็นคำที่มาจากภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า ปลาหมักดอง

กระบวนการผลิตบูดู

        กระบวนการผลิตบูดูนั้นเริ่มด้วยการนำปลาทะเลสด ซึ่งอาจจะใช้ปลาชนิดใดก็ได้ แต่ผู้ผลิตบูดูในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีจะนิยมใช้ปลากะตัก เพราะจะได้บูดูที่มีกลิ่น และรสชาติดี โดยผู้ผลิตจะซื้อปลากะตักจากชาวประมงที่กลับเข้าฝั่งในตอนเช้า หลังจากนั้นจึงนำปลากะตักมาล้างให้สะอาด (ผู้ผลิตบางรายจะไม่ทำการล้างปลา โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้รสชาติและกลิ่นของบูดูเสียไป และกระบวนการหมักจะช่วยให้บูดูสะอาดเองตามธรรมชาติ นอกจากนี้ผู้บริโภคก็จะนำบูดูไปปรุงก่อนบริโภคอยู่แล้ว) ใส่กระบะไม้ขนาดประมาณ 0.5 x 2 เมตร แล้วเติมเกลือสมุทรประเภทหยาบลงไป โดยใช้อัตราส่วน ปลากะตักต่อเกลือ 3:1 โดยน้ำหนัก หลังจากนั้นจะทำการคลุกให้เข้ากันโดยใช้ไม้พาย เมื่อคลุกปลากะตักกับเกลือให้เข้ากันได้ที่ดีแล้ว ก็จะนำไปใส่ในโอ่งดินหรือบ่อซิเมนต์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "บ่อบูดู" มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 1 เมตร แล้วใช้กระสอบปุ๋ยหรือผ้าคลุมปิดไว้ เพื่อคอยให้ปลานั้นยุบตัวลงไปอีก (สาเหตุที่ต้องคอยให้ปลายุบตัวลงไป เพราะว่าในการหมักจะต้องพยายามให้มีอากาศเข้าไปในบ่อบูดูน้อยที่สุด) แล้วจึงเติมปลาและเกลือที่คลุกแล้วลงไปอีก จนเกือบเต็ม โดยจะเว้นปริมาตรบางส่วนของบ่อบูดูไว้เพื่อเผื่อก๊าซที่เกิดจากการหมักดันฝาปิดบ่อบูดู เมื่อปลาในบ่อบูดูอัดแน่นดีแล้วจึงทำการปิดบ่อบูดูให้มิดชิดด้วยกระสอบเกลือ แล้วไม้ไผ่สาน หรือกระเบื้องหลังคาปิดทับอาจใช้วัตถุหนักทับไว้ ระยะเวลาการหมักจะใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน โดยในช่วงระหว่างการหมักจะไม่มีการเปิดบ่อบูดูเลย และจะต้องพยายามไม่ให้น้ำเวลาฝนตกเข้าไปในบ่อบูดู จะทำให้บูดูมีสีดำ และมีกลิ่นเหม็น

เมื่อครบกำหนดเวลาผู้ผลิตจะเปิดบ่อบูดูซึ่งจะมีน้ำบูดูและเนื้อบูดูปะปนกันอยู่ในบ่อบูดู ในการนำบูดูออกจากบ่อบูดูจะทำโดยการเปิดฝาที่ครอบบ่อบูดู และเอาไม้ไผ่ที่สานออก ตักเกลือที่อยู่บนกระสอบเกลือออก แล้วนำกระสอบเกลือออก นำแกลอนพลาสติกที่เปิดหัวเปิดท้าย ใส่ลงไปในเนื้อบูดูในบ่อบูดู ตักเนื้อบูดูที่อยู่ในแกลอนพลาสติกออกเพื่อให้เหลือแต่น้ำบูดู และน้ำบูดูจะไหลเข้ามาภายในแกลอนพลาสติก โดยมีเนื้อบูดูปะปนเข้ามาบ้างเล็กน้อย แล้วจึงใช้ภาชนะตักน้ำบูดูในแกลอนพลาสติกขึ้น เพื่อนำไปบรรจุในภาชนะ ส่งต่อให้ผู้จัดจำหน่ายต่อไป โดยบูดูที่มีน้ำบูดูเป็นส่วนใหญ่จะเรียกว่า "บูดูใส" ส่วนน้ำบูดูที่มีเนื้อบูดูที่เหลือปะปนในบ่อจะนำไปผลิตเป็น"บูดูข้น" ในการหมักปลากะตัก 450 กิโลกรัมจะได้บูดูประมาณ 400 ลิตร นอกจากนี้เนื้อบูดูที่เหลือจะเอาไปผสมกับน้ำเกลือเพื่อทำบูดูที่มีคุณภาพรองลงมา

การบรรจุบูดูใส่ขวดนั้น จะใส่ขวดสองขนาดคือ ขวดกลมและขวดแบน โดยการนำบูดูใส่ขวดที่สะอาด ปิดฝาให้สนิท และนำไปล้างอีกครั้ง แล้วนำพลาสติกมาปิดปากขวดแล้วนำน้ำร้อนราดเพื่อให้พลาสติกปิดสนิท สุดท้ายนำไปปิดฉลาก และส่งจำหน่ายต่อไป
จากการสังเกตพบว่า สถานที่ในการผลิตบูดูนั้น จะทำการผลิตในสวนมะพร้าว ซึ่งผู้ผลิตบอกว่าเนื้อบูดูที่เหลือ และน้ำคาวปลาที่หกระหว่างการผลิตบูดูนั้น จะช่วยทำให้มะพร้าวมีลูกดกและรสชาติดีขึ้น


ในกระบวนการผลิตบูดู วัตถุดิบสำคัญที่ใช้คือปลา ซึ่งปลาที่ชาวอำเภอสายบุรีนิยมนำมาทำบูดูมากที่สุดคือ ปลากะตัก เนื่องจากเมื่อทำการหมักแล้วจะได้บูดูที่มีสี กลิ่น รส เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ปลากะตักเป็นปลาชนิดหนึ่งที่จัดเป็นพวกปลาผิวน้ำเนื่องจากชอบอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำ มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น ปลาไส้ตัน , ปลาหัวอ่อน , ปลามะลิ ชาวจีนในประเทศไทยมักจะเรียก ยิ่วเกี๊ยะ หรือจิ๊งจั๊ง ส่วนชาวมุสลิมจะเรียกว่า "อีแกบิลิส".

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

‘ยุทธการพิทักษ์เขาตะเว’ 2 เดือน ฉก.ทหารพรานที่ 48 ตรวจยึดอาวุธปืน 25 กระบอก


หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 โดย พ.อ.สฐิรพงษ์ อาจหาญ ผบ.ฉก.ทพ.48 ได้ปฏิบัติยุทธการพิทักษ์เขาตะเว มุ่งปฏิบัติทำการลาดตระเวนจรยุทธ เพื่อตรวจสอบ “x–ray” ทำการค้นหาพิสูจน์ทราบแหล่งซุกซ่อนอาวุธปืน และแหล่งประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง ในพื้นที่รับผิดชอบได้แก่ บ้านโต๊ะอีแต ต.บองอ อ.ระแงะ, บ้านไอร์กิส ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ,  บ้านใหม่ บ้านย่อยบ้านช้างเผือก ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ และบ้านไอบาตู ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

จากการขยายผลการพิสูจน์ทราบค้นหาแหล่งซุกซ่อนอาวุธของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 ในรอบ 2 เดือน (พ.ค., มิ.ย.) สามารถทำการตรวจยึดอาวุธปืนได้ทั้งสิ้น 25 กระบอก ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบปรากฎว่าเป็นอาวุธปืนที่กลุ่มคนร้ายปล้นจากกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อต้นปี 2547


ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.59 บ้านโต๊ะอีแต ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน M16 A1 จำนวน 2 กระบอก

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.59 บ้านโต๊ะอีแต ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน M16 A1 จำนวน 2 กระบอก

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.59 บ้านโต๊ะอีแต ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน .38 ซุปเปอร์ จำนวน 1 กระบอก

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.59 บ้านไอร์กิส ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน M16 A1 จำนวน 2 กระบอก, อาวุธปืน AK47 จำนวน 3 กระบอก, อาวุธปืน HK33 จำนวน 1 กระบอก และอาวุธปืนลูกซองยาว จำนวน 1 กระบอก

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.59 บ้านไอร์กิส ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน M16 A1 จำนวน 3 กระบอก

ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.59 บ้านไอร์กิส ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน M16 A1 จำนวน 2 กระบอก

ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.59 บ้านใหม่ บ้านย่อยบ้านช้างเผือก ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน M16 A1 จำนวน 1 กระบอก

ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.59 บ้านไอบาตู ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธ M16 A1 จำนวน 3 กระบอก และปืนอัดลม จำนวน 1 กระบอก

ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.59 บ้านไอบาตู ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดอาวุธปืน M16 A1 จำนวน 2 กระบอก

ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.59 บ้านไอบาตู ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำการตรวจยึดโครงปืน M16 A1 จำนวน 1 กระบอก


นอกจากอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจยึดได้ จำนวน 25 กระบอกแล้ว เจ้าหน้าที่ยังทำการยึดกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. จำนวน 36 นัด, กระสุนปืน ขนาด 7.62 มม. (AK 47)จำนวน 4 นัด, กระสุน ปลซ. จำนวน 16 นัด, เชื้อประทุ จำนวน 1 ชุด, ซองกระสุนปืน M 16 ขนาดบรรจุ 30 นัด     จำนวน 1 ซอง, ซองกระสุนปืน M 16 ขนาดบรรจุ 20 นัด จำนวน 2 ซอง, กล่องเหล็กโทรศัพท์จำนวน 1 กล่อง และตะปูเรือใบ จำนวน 10 กก.


ความสำเร็จของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติยุทธการพิทักษ์เขาตะเว มุ่งปฏิบัติทำการลาดตระเวนจรยุทธ เพื่อตรวจสอบ “x–ray” ทำการค้นหาพิสูจน์ทราบแหล่งซุกซ่อนอาวุธปืน และแหล่งประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง มาจากความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสของแหล่งข่าว ซึ่งอาวุธปืนทั้งหมดที่ทำการตรวจยึดมีการซุกซ่อนด้วยการฝังดินในบริเวณสวยยางพารา ซึ่งคาดว่าเป็นของกลุ่ม ผกร.ที่ทำการเคลื่อนไหวก่อเหตุในพื้นที่ อ.ระแงะ, อ.จะแนะ และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส.


ที่มา: http://www.southernreports.com/

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

“ของดีเมืองนรา” ขนมอาเกาะ ขนมโบราณเลื่องชื่อบ้านบาโง



ขนมโบราณในตำนาน ยังคงทำด้วยวิธีแบบดั้งเดิม น่าลิ้มลอง ขนมอาเก๊าะเป็นขนมโบราณของชนพื้นเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสค่ะ ขนมอาเก๊าะจะมีลักษณะเหมือนคัสตาร์ดที่มีเนื้อแน่น กลิ่นหอม มักมีรูปทรงเป็นทรงรีและแบน ซึ่งเราอาจพบขนมอาเก๊าะในหลายสูตรซึ่งจะทำให้ขนมมีเนื้อสัมผัสและรสสัมผัสที่แตกต่างกันไป


ร้านอาเก๊าะบ้านบาโง หรือที่ใครๆ เรียกว่าเจ้ายะกังนั้นเป็นอาเก๊าะที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในอำเภอเมืองนราธิวาสค่ะ ใครอยากจะกินก็ต้องโทรศัพท์มาสั่งไว้ก่อน หรือว่าถ้ามาซื้อเองก็อาจจะรอกันนานหน่อยค่ะ
ลักษณะของร้านเป็นอาคารชั้นเดียวที่เป็นทั้งครัวและหน้าร้านไปในตัวค่ะ ร้านนี้อาจจะหายาก (มากกกกก) เพราะขนาดตัวเราเองที่กินอาเก๊าะร้านนี้มาสิบปีก็เพิ่งจะได้มาที่ร้านเองเป็นครั้งแรกก็คราวนี้แหละ เราเริ่มต้นเดินทางจากยะกัง ในกรณีที่เดินทางจากทางอำเภอระแงะเข้ามาในอำเภอเมืองนราธิวาส ร้านจะอยู่ซอยทางซ้ายมือ ขับรถตรงเข้ามาเรื่อยๆ โดยซอยนี้จะทะลุไปถึงปลักปลาค่ะ ขับมาไกลพอสมควรจะพบว่าด้านซ้ายมือมีโรงยาง ให้เลี้ยวขวาเข้าซอยเล็กๆ แล้วจะพบกับสถานที่ขายอาเก๊าะ ...เอาเป็นว่าโทรศัพท์ไปสั่งเลยค่ะ เค้ามีส่งให้ด้วย หรือจะเข้าไปที่เพจ "ขนมอาเกาะ - เจ้ายะกัง บาโง" ในเฟซบุ๊คก็ได้นะคะ


เนื่องจากวันนี้สั่งกันทั้งหมด 30 กล่อง กล่องละ 5 ชิ้น และแม่ค้ายังทำขนมไม่เสร็จ เราเลยขอไปวนเวียนในครัวขนมเค้าค่ะ ซึ่งทางร้านใจดีมาก นอกจากจะให้ดู ให้ถ่ายรูปแล้ว บนฝาผนังยังคงมีบอร์ดจัดแสดงวิธีทำขนมอาเก๊าะให้อ่านอีกด้วย เท่าที่อ่านมาก็พบว่าขนมนี้มีส่วนประกอบเป็นไข่เป็ด น้ำตาลแว่น แป้ง กะทิ ตะไคร้เป็นหลักค่ะ นำส่วนผสมมาผสมกัน จากนั้นนำใส่พิมพ์แล้วจุดไฟด้วยกาบมะพร้าวสุมด้านบน รอจนขนมสุกแล้วจึงกลับด้านให้สุกทั้งสองด้าน


ขนมอาเก๊าะตอนออกจากเตาจะดูแห้งๆ ค่ะ แต่พอวางไว้สักพักจะมีความฉ่ำเยิ้มออกมา รสชาติเหมือนคัสตาร์ดแต่เนื้อแน่นกว่า ภายนอกนั้นมีกลิ่นหอมของควันจากกาบมะพร้าวผสมกับกลิ่นคาราเมล รสออกหวานค่อนข้างมากค่ะ ต้องค่อยๆ กินไปเรื่อยๆ ทีละน้อย และภายในเดือนรอมฎอนจะขายดีเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามร้านนี้มีขายขนมอาเก๊าะทั้งปีค่ะ ไม่ได้ขายเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น โดยตอนนี้ราคาอยู่ที่ชิ้นละ 9 บาท ถ้ากินไม่หมดจำเป็นต้องใส่ตู้เย็นเอาไว้ค่ะ แล้วค่อยนำมาอุ่นสักนิดก่อนจะกิน ไม่งั้นเนื้อจะแข็งไปหน่อย.

ร้อยเรียงเรื่องราว ‘รัฐฟ้อง 3 NGOs’ เวที“สันติภาพจอมปลอม” หวิดล่มกล่าวหาทหารแทรกแซง

ลมใต้ สายบุรี


กลับกลายเป็นเรื่องราวดราม่าต้อนรับเดือนรอมฏอน เมื่อจุดเล็กๆ ความเห็นต่างนำไปสู่ความไม่เข้าใจ ระหว่างหน่วยงานความมั่นคงกับกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าทำงาน เพื่อสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ที่มีการทำรายงานสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการ ซ้อมและ ทรมาน

เมื่อฝ่ายความมั่นคงกลับมองเห็นว่าการจัดทำรายงานสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของ การซ้อม และ ทรมานของ 3 นักสิทธิเป็นเท็จเกินความจริงที่ไม่สามารถยอมรับได้ มีการเปิดโอกาสให้หันหน้ามาพูดคุยหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ในขณะที่ฝ่ายนักสิทธิผู้จัดทำรายงานกลับไม่ให้ความร่วมมือ ผลในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถที่จะ พูดคุยกันรู้เรื่อง สุดท้ายลงเอยด้วยการพึ่ง กระบวนการยุติธรรมในการ พิสูจน์ความจริงให้ปรากฏด้วยการ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในเมื่อผู้เสียหายที่ถูกกล่าวหาได้ให้โอกาสในการ พูดคุยหาทางออก แต่อีกฝ่ายกลับ หันหลังหนี เมื่อมาถึงทางตัน กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นคือทางออก เพื่อหาข้อพิสูจน์กันในชั้นศาลว่าสิ่งที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนจัดทำรายงาน และได้มีการเผยแพร่ไปนั้นเป็น เรื่องจริง หรือ เท็จ

จากการแถลงข่าวของโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวถึงมูลเหตุการณ์ฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชนว่า รัฐได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการประสานความร่วมมือกับองค์กรที่จัดทำรายงานเพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏแต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูลโดยใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำรายงาน มิใช่การนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเยี่ยวยา และหาแนวทางแก้ไขตามที่กล่าวอ้าง

และในขณะเดียวกันองค์กรที่จัดทำรายงานได้นำเอกสารดังกล่าวออกไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิ และความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นอกจากยังนี้มีบางประเด็นที่สำคัญเช่น โดนให้เปลือยกายในห้องเย็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิงและโดนทหารพรานหญิงเอาหน้าอกมาแนบที่ใบหน้าถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีอย่างร้ายแรง

เพื่อธำรงและรักษาไว้ซึ่งการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาลด้วยการเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน โดยเชื่อมั่นว่าหากพยานหลักฐานมีอยู่จริงผู้จัดทำรายงานต้องนำมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล แต่หากข้อมูลไม่มีอยู่จริงหรือมีเจตนาบิดเบือนผู้จัดทำรายงานก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละและหน่วยงานของรัฐที่พยายามมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อลดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรงพร้อมทั้งขอยืนยันว่ารัฐจะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม แต่รัฐไม่สามารถเพิกเฉยหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายได้


การนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะของ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ในฐานะ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีความจงใจที่จะทำลายภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่จากกระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัย ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงยื่นข้อเสนอพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบหาความจริง แต่ทั้งสามคนกลับไม่ให้ความร่วมมือในการช่วยกันตามหาความจริง ซึ่งถ้าเป็นจริงตามข้อกล่าวหาในรายงาน รัฐยินดีดำเนินการต่อกำลังพลที่ไปทรมานอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย ไม่มีการปกป้องผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

หลังหน่วยงานความมั่นคงฟ้องร้องดำเนินคดีสามนักสิทธิมนุษยชน กลุ่มแนวร่วมไม่ยอมรับความจริง โดยกลุ่ม LAMPAR และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ กลับออกแถลงการณ์กดดันให้หน่วยงานความมั่นคงถอนฟ้อง อีกทั้งได้กล่าวหารัฐแบบข้างๆ คูๆ ว่าเป็นการทำลายบรรยากาศสันติสุขชายแดนใต้ แล้วการเอาข้อมูลที่ยังไม่พิสูจน์ความจริงไปทำการโฆษณากล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐในสายตาของกลุ่ม และองค์กรเหล่านี้เป็นการ สร้างสรรค์หรืออย่างไร?

ในเวลาต่อมาได้มีการเชิญชวนรับฟังเสวนาสาธารณะ หัวข้อ สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิโดยมี นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.LAMPAR อีกทั้งเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย PERMATAMAS น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒธรรม น.ส. อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ร่วมอภิปราย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้สมาชิกขององค์กรทั่วโลกส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยขอให้ล้มเลิกความพยายามที่จะดำเนินคดีกับนักสิทธิ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ไปแจ้งความว่านักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน 3 คน คือ นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ กรณีหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ การเผยแพร่ข้อมูลยังทำให้มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิด พ.ร.บ.ทางคอมพิวเตอร์อีกด้วย

เว็บไซท์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เชิญชวนให้สมาชิกทั้งในไทยและต่างประเทศส่งจดหมายไปยังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกความพยายามดังกล่าวอย่างทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนยุติการข่มขู่คุกคามใดๆ และกระตุ้นให้ทางการไทยสอบสวนตามข้อมูลเรื่องของการซ้อมทรมานในรายงาน รวมทั้งให้นำตัวผู้กระทำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเยียวยาผู้เสียหาย

ทำไม? แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้สมาชิกขององค์กรทั่วโลกส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยขอให้ล้มเลิกความพยายามที่จะดำเนินคดีกับนักสิทธิ โดยไม่มีเงื่อนไขตลอดจนยุติการข่มขู่คุกคามใดๆ ต่อนักสิทธิทั้งสาม
อย่าลืมว่า น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังสวมหมวกอีกใบคือการดำรงตำแหน่ง ประธานแอมแนสตี้ international ประจำประเทศไทย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเดียวกันเอง ย่อมออกมาเคลื่อนไหว ปกป้องกันเองด้วยการยืมมือองค์กรทั่วโลกกดดันรัฐบาลไทย

ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศออกมารณรงค์เพื่อปกป้องนักสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ การแจ้งความดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวก็กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันเรื่องการขาด พื้นที่กลางในการทำงานด้านสิทธิในภาคใต้
ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ม.อ.ปัตตานี ขอยืนยันการเป็นพื้นที่กลางเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

เนื้อหาของแถลงการณ์ จากกรณี ม.อ.ปัตตานี ขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดการเสวนาวิชาการของกลุ่มเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมานั้น และได้มีการรายงานข้อมูลจากผู้จัดการเสวนา โดยระบุว่าได้มีนายทหารระดับสูงเข้าพบ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอธิการบดีได้แจ้งคณะวิทยาการสื่อสาร ซึ่งเป็นผู้อนุญาตการขอใช้สถานที่ให้ยกเลิกการเสวนาดังกล่าวนั้น ม.อ.ปัตตานี และคณะวิทยาการสื่อสาร ขอชี้แจงให้ทราบว่า ไม่มีนายทหารระดับสูงเข้าพบอธิการบดีแต่อย่างใด

อธิการบดีมิได้ขอให้มีการยกเลิกการใช้สถานที่ เพียงแต่ได้แสดงความกังวลใจต่อ ชื่อของการเสวนา ที่สื่อความหมายรุนแรง จึงได้ประสานไปยังผู้จัดงานเพื่อขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดเสวนาดังกล่าวออกไปก่อน รวมทั้งพิจารณาการปรับชื่อการเสวนาที่มีการสื่อความหมายเชิงลบ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในภาพรวม

ม.อ.ปัตตานี ขอแสดงจุดยืนในการเป็น พื้นที่กลางในกระบวนการสันติภาพโดยไม่เลือกข้าง เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่มีบทบาทเป็น คนกลางได้หยิบยกประเด็นความขัดแย้งหรือประเด็นความอ่อนไหวสู่วงพูดคุยให้มากขึ้น และเพื่อเปิดโอกาสในการค้นหาแนวทางก้าวพ้นความขัดแย้งในวิถีที่ไม่ใช้ความรุนแรง และมุ่งมั่นร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมที่พร้อมยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความคิด และอุดมการณ์

พื้นที่กลาง ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดที่ผ่านมีอยู่บ่อยครั้งที่กลุ่มและองค์กรได้ใช้พื้นที่กลางเป็นสัญลักษณ์ในการจัดเสวนาหรือแสดงสัญลักษณ์การแสดงออกบางอย่างเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของรัฐ ซึ่งเป็นมิติที่ดีที่ ม.อ.ปัตตานี ได้แสดงจุดยืนปฎิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใดและขอเรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการใช้ พื้นที่กลางแห่งนี้ทุกฝ่าย ได้ร่วมกันรักษายึดมั่นหลักการสำคัญดังกล่าวร่วมกัน ในการก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งของสังคมในทุกมิติ การเปิด พื้นที่กลางของมหาวิทยาลัยให้มีบทบาทในการเอื้อให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่มีเสรีภาพและเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น เสนอความต้องการ หรือเสนอทางออกของปัญหาในประเด็นสาธารณะอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยการใช้ สถานที่ราชการกล่าวหาด่าทอรัฐ
***********
ที่มา:http://www.southernreports.com/


วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรือกอและภูมิปัญญาแห่งศาสตร์และศิลป์ ถิ่นดินแดนปลายด้ามขวาน

ความหมายของเรือกอและ


หมายถึงเรือประมงที่ใช้ใบในการขับเคลื่อนมีรูปพรรณสัณฐานเพียวลม  ไม่ต้านลม  แต่เป็นเรือที่อยู่ในอาการโคลงเคลงเมื่อลงในน้ำ  เพราะมีลักษณะของท้องเรือที่อยู่ใต้น้ำกลม  และกาบเรือจะผายออก  จึงล่มยาก  เมื่อถูกคลื่นลมจะโคลงเคลงเท่านั้น

เรือกอและเดิมเป็นเรือที่ชาวพื้นเมืองปัตตานีใช้เป็น พาหนะในการเดินทางและทำการประมงยามว่างจากการประกอบอาชีพในยามคลื่นลมสงบ และเวลามีงานนักขัตฤกษ์ของท้องถิ่นชาวเมืองปัตตานี จะนำเรือกอและเข้ามาใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ โดยนำมาจัดแข่งขันพายเรือ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านความเร็ว


ที่จังหวัดปัตตานีในสมัยโบราณ มีหมู่บ้านหนึ่งเป็นหมู่บ้านที่ต่อเรือกอและและมีเรือกอและมากที่สุด จนชาวบ้านทุกคนเรียกว่าหมู่บ้านกำปงกอและ ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านเรือกอและ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้าน สะบารังหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กดาอาเนาะญอแปลว่า ตลาดมะพร้าวซึ่งเป็นชื่อที่ได้ใหม่เมื่อภายหลังจากความนิยมในการต่อเรือกอและลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะในหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ติดแม่น้ำปัตตานีจึงมีต้นมะพร้าวมากพอๆ กับมีเรือที่จอดอยู่ตามชายฝั่งตลอดแนวแม่น้ำ

สมัยก่อนที่จังหวัดปัตตานีมีการแข่งขันเรือกอและในวันฮารีรายอ และวันรายอฮัจยี เป็นประจำทุกปี  ต่อมาความนิยมในการต่อเรือกอและขยายไปเกือบทุกจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเลนับ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย บริเวณอำเภอหัวไทร เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชเรื่อลงมายังอำเภอเทพาจังหวัดสงขลา และอำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี ของจังหวัดปัตตานี ตลอดอีกหลายอำเภอในจังหวัดนราธิวาส (มัลลิกา คณานุรักษ์. 2544, 71 )

เรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อ ด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและท้ายสูงขึ้นจากลำเรือให้ดูสวยงาม นิยมทาสีแล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซีย ซึ่งนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับลำเรือ เรือกอและมี ๒ แบบคือ แบบหัวสั้นและแบบหัวยาว ขนาดของเรือแบ่งเป็น ๔ ขนาด โดยยึดความยาวของลำเรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง คือ ขนาดใหญ่ยาว ๒๕ ศอก ขนาดกลางยาว ๒๒ ศอก ขนาดเล็กยาว ๒๐ ศอก และขนาดเล็กมากเรียกว่า "ลูกเรือกอและ" ยาว ๖ ศอกโดยประมาณ และด้านนอกซึ่งค่อนขึ้นไปทางขอบเรือ ทำเป็นขอบนูนออกมาข้างนอก ลักษณะเป็นกันชนของเรือยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "ปาแปทูวอ" ที่ตอนล่างของปาแปทูวอทำรอยแซะเนื้อไม้ด้วยกบให้เป็นแนวยาวตลอดลำเรือเรียก ว่า "กอมา" เรือทั้งลำ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ลูแว" ส่วนท้ายเรียกว่า "บูเระแต" ถ้าแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ปาลอ" ส่วนกลาง (ลำเรือ) เรียกว่า "ตือเราะ" ส่วนท้ายเรียกว่า "ปูงง"


ประโยชน์กอและ

เรือ กอและส่วนใหญ่ใช้ในการประมง โดยนำออกไปทำการประมงในทะเลและนิยมทำเป็นพวก ๆ พวกละ ๕-๖ ลำ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับแข่งขันโดยใช้ฝีพายหรือใช้ใบก็ได้ทุกครั้งที่จะออก เรือก่อนขึ้นเรือชาวประมงจะให้ความเคารพเรือกอและของตนโดยการถอดรองเท้าทุก ครั้ง และเมื่อเรือจอดอยู่บนฝั่งก็ห้ามผ่านใกล้ ๆ หรือเล่นบริเวณหัวเรือ ไม่พูดจาเชิงอวดดี หรือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นมงคล เพราะเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือ

สิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองเรือสิงสถิตอยู่ที่หัวเรือบริเวณ "จาปิ้ง" นับได้ว่าเรือกอและเป็นเรือในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งใช้ในการประมงทางทะเลของชาวประมงมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ นับว่าเป็นเรือที่แปลกตาและหาดูได้ยากในจังหวัดอื่นๆ

*************

รวมภาพสวยๆ ชายแดนใต้

..การอยู่ร่วมสังคมแแบพหุวัฒนธรรม..
..บนความหลากหลายด้านเชื้อชาติและศาสนา..
..ความสงบสันติสุขเมื่อครั้งอดีต..
..ที่ทุกคนต่างใฝ่ฝันหา..
..เมื่อไหรจะกลับมา..ให้ลูกหลานเราได้ชื่นชม..









เดซี มาร์ลินา อามิน หญิงสาวมุสลิม อุทิศเวลาและเงินส่วนตัวดูแลสัตว์จรจัด แต่กลับถูกคุกคามทางสื่อออนไลน์อย่างหนัก


เมตตาต่อสัตว์ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง น้ำใจเธอช่างงามแท้ ประเสริฐยิ่งนัก

เดซี มาร์ลินา อามิน หญิงชาวมุสลิมคนนี้ ได้อุทิศเวลาและเงินส่วนตัวของเธอ ในการหาอาหารให้สัตว์เลี้ยงจรจัดที่อยู่ใกล้บ้านของเธอในลอมบ็อก ประเทศมาเลเซีย เธอทำอย่างนี้มาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว แม้จะมีกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนความพยายามของเธอ แต่เธอก็ไม่เคยเลิกล้มความตั้งใจเช่นกัน 

อามินต้องเผชิญกับการคุกคามทางออนไลน์อย่างหนัก เมื่อเธอได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการช่วยเหลือสุนัขจรจัดลงในเฟซบุ๊กของเธอซึ่งมีคนติดตามกว่า 14,000 คน ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะให้กำลังใจในการทุ่มเทเพื่อสัตว์ไร้บ้านเหล่านี้ แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยและพยายามต่อต้านการกระทำของเธอ หรือแม้กระทั่งคุกคามชีวิตเธอ อามินบอกว่าเธอได้รับข้อความทางอินบ๊อกซ์เฟซบุ๊กจากคนที่ต่อต้านเธอเยอะมาก มีทั้งคนที่พูดไม่ดี และคนที่บอกว่าจะทำร้ายเธอถึงชีวิต เพียงเพราะเธอช่วยสัตว์เหล่านี้



ในการตีความข้อบัญญัติบางข้อของคนที่ต่อต้านอามิน สุนัขถือเป็นสิ่งสกปรกสำหรับชาวมุสลิม ทุกคนต้องหลีกเลี่ยงและไม่สัมผัส เขาบอกว่าเธอได้ทำผิดต่อพระเจ้าด้วยการกระทำเช่นนั้น แต่อามินไม่คิดเช่นนั้น เธอไม่ได้สนใจว่าใครจะพูดอย่างไร เธอไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องกลัวสุนัข หากคิดว่าสุนัขเป็นสิ่งสกปรก ก็เพียงแต่ทำความสะอาดตัวเอง เหมือนที่เธอล้างมือทุกครั้งก่อนปฏิบัติศาสนกิจหลังทำงานนี้เสร็จ
เธอบอกว่าสำหรับคนที่รักสัตว์ การช่วยสัตว์ที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นไม่ใช่การผิดสัญญาต่อพระเจ้า ตรงกันข้ามกลับเป็นการเติมเต็มมากกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่ทุกเช้าก่อนออกไปทำงานขับรถแท็กซี่ เธอต้องเตรียมอาหาร (ที่ดีต่อสุขภาพด้วยนะ) ไว้ให้หมาและแมวจรจัดที่มีรวมๆ กว่า 60 ตัว ได้กินกันอย่างเพียงพอ อามินเชื่อว่าพระเจ้าพอใจในสิ่งที่เธอทำและเข้าใจเธอ เธอบอกว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างเพียงมนุษย์เท่านั้น แต่สร้างสัตว์ทั้งหมด การช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้ จึงเป็นการดูแลสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน


บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ได้แก่ คนเจ็บป่วย หญิงที่มีประจำเดือน หญิงที่ให้นมบุตร แต่หากมีความสามารถก็สามารถถือศีลอดได้ หญิงตั้งครรภ์ และคนแก่ชราที่ไม่มีความสามารถเพียงพอ

1. คนป่วยมากจนไม่สามารถถือศีลอดทั้งวัน ต้องชดใช้ภายหลัง
2. หญิงมีประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร ต้องชดใช้ภายหลัง
3. คนเดินทางไกล ต้องชดใช้ภายหลัง
4. หญิงที่มีครรภ์ การถือศีลอดนั้น ถือเป็นข้อบังคับสำหรับนาง หากว่าการถือศีลอดนั้นไม่ทำให้เกิดความยากลำบากเกินไปสำหรับนาง และการถือศีลอดนั้นไม่ทำให้นางกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อบุตรของนาง ซึ่งในกรณีนี้ นางจะต้องทำการถือศีลอดและไม่อนุญาตให้นางงดเว้นจากการถือศีลอด



สำหรับกรณีที่การถือศีลอดนั้น ทำให้นางกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อบุตรของนาง และทำให้นางได้รับความยากลำบาก ในกรณีนี้ นางได้รับอนุญาตให้งดถือศีลอด แต่นางจำเป็นจะต้องถือศีลอดชดใช้ตามจำนวนวันที่นางขาดไป

ซึ่งในกรณีหลังนี้ เป็นการดีกว่าสำหรับนาง ที่จะละเว้นจากการถือศีลอดและเป็นการไม่เหมาะสมต่อนางที่จะทำการถือศีลอด เนื่องจากได้มีนักวิชาการบางท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า ในกรณีที่การถือศีลอดจะทำให้นางกังวลต่อผลกระทบที่จะมีต่อบุตรของนาง เป็นความจำเป็นที่นางจะต้องงดเว้นจากการถือศีลอด และไม่เป็นที่อนุญาตให้นางทำการถือศีลอด (Al-Mirdaawi กล่าวไว้ใน al-Insaaf (7/382))

สตรีที่ตั้งครรภ์หรือเป็นผู้ที่กำลังให้นมบุตรอยู่นั้น จัดเป็นผู้เจ็บป่วยหากนางกังวลว่าการถือศีลอดจะส่งผลกระทบต่อบุตรของนาง ก็ให้นางงดเว้นจากการถือศีลอด และทำการชดใช้ตามจำนวนวันที่ขาดไป ต้องชดใช้ภายหลัง และแจกอาหารตามจำนวนวันที่ขาดไป วันละ 1 ลิตร ถ้าหากไม่ชดใช้จนล่วงเข้าปีที่ 2 ต้องแจกอาหารวันละ 2 ลิตร และทวีขึ้นเรื่อย ๆ ไป

5. คนแก่มากหรือป่วยจนรักษาไม่หาย ไม่ต้องชดใช้การถือศีลอด แต่ต้องแจกอาหารในอัตราเดียวกับหญิงมีครรภ์
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของเดือนรอมฎอน คือเพื่อเพิ่มความยำเกรงพระเจ้าให้มากขึ้น ต้องการให้เราทำทานมากขึ้น รวมถึงยังให้ฝึกฝนตนเองไว้ให้พร้อมสำหรับการญิฮาด (เสียสละ) ตลอดชีวิต สุดท้ายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคัมภีร์กุรอานให้มากยิ่งขึ้น

ทำไม? เดือนรอมฏอน จะต้องกินอินทผลัม....


เดือนรอมฎอนจะมีการบริโภคอินทผลัมจำนวนมากและถูกเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกินอินทผลัมในช่วงละศีลอด

แต่ทั้งนี้ควรที่จะรับประทานตลอดทั้งปีเพื่อให้บุคคลที่รับประทานอินทผลัมสามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาและการป้องกันโรค
อินทผลัมเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับการละศีลอด เนื่องจากว่าผู้ถือศีลอดหลังจากได้อดอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงจึงรู้สึกหิวอย่างรุนแรงและด้วยการกินอินทผลัมแล้วจะสามารถชดเชย พลังงานวิตามิน สารอาหารและลดน้ำตาลในเลือดที่ขาดแคลน


อินทผลัมอุดมไปด้วยสารอาหารและมีประโยชน์ สามารถย่อยง่ายและดูดซึมน้ำตาลได้อย่างดี สามารถชดเชยพลังงานเกลือแร่ในร่างกายอย่างรวดเร็ว และจะสร้างความสดชื่นให้กับร่างกายและขจัดความเหนื่อยล้าออกไป

เนื่องจากอินทผลัมมีธาตุเหล็กจำนวนมากจึงสามารถรักษาโรคโลหิตจางและมีคุณประโยชน์ในการต้านมะเร็งอีกด้วย
ประโยชน์ของอินทผลัม

เนื่องจากในอินทผลัมมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูงจึงสามารถเสริมสร้างกระดูกและฟัน และจะเพิ่มพลังของการมองเห็นอันเนื่องมาจากมีวิตามินเอ และป้องกันโรคตาบอดกลางคืน

เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเส้นประสาทและการได้ยิน สามารถผ่อนคลายและขจัดความเมื่อยล้า รักษาโรคตับและโรคดีซ่าน และป้องกันการแตกของริมฝีปาก ผิวแห้งและเล็บแตก


รักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักแสบและการอักเสบของกระเพาะอาหาร และเนื่องจากมีเส้นใยอาหารที่จะสามารถช่วยระบบการย่อยอาหาร และเนื่องจากมีแร่ธาตุเช่นแคลเซียมจึงสามารถป้องกันไม่ให้การอักเสบของกระเพาะอาหาร

อินทผลัมเป็นหนึ่งในสารอาหารที่ทรงพลังที่เป็นเครื่องป้องกันและทำลายเชื้อโรคและแบคทีเรียที่จะเข้าสู่ร่างกาย และยังสามารถที่จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดโรคเซลล์เดียว “อะมีบา”
จะเกิดอะไรขึ้น ! เมื่อคุณทาน อินทผลัม ติดต่อกัน 3 วัน ส่งผลลัพธ์ต่อร่างกายแบบไม่น่าเชื่อ !! 


คุณรู้หรือไม่ !! ว่า ผลไม้อย่าง “อินทผลัม” ที่มีรสชาติอร่อยแล้ว มันยังมีคุณค่ามหาศาลทางอาหาร เมื่อทานแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพแบบไม่น่าเชื่อ มันให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากเพียงคุณกินมันเพียง 3 วันติดต่อกัน และ นี่คือความจริงบางอย่างเกี่ยวกับอินทผลัมที่คุณไม่เคยรู้ ที่จะส่งผลลัพธ์ต่อร่างกายที่อัศจรรย์มาก ๆ 
สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อทาน “อินทผลัม” ติดต่อกัน 3 วัน

– ทานแล้วมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งจะอุดมไปด้วย แมงกานีส แมกนีเซียม ไฟเบอร์ วิตามินบี 6 โพแทสเซียม และ ทองแดง 

– เมื่อคุณทาน อินทผลัม ไปแล้ว ดีต่อเรื่องของระบบย่อยอาหารของคุณ กินอินทผลัมเป็นประจำ ป้องกันอาการท้องผูก ท้องเสีย (IBS) และ ท้องอืด มันมีไฟเบอร์สูง และยังใช้ในการรักษาโรคริดสีดวงทวารอีกด้วย

– เป็นยาแก้ปวดที่ดีมาก ๆ เพราะ อินทผลัมอุดมไปด้วย แมกนีเซียม ช่วยลดอาการอักเสบ เป็นที่รู้กันว่าใช้บรรเทาอาการบวมและปวดที่เกิดจากโรคข้ออักเสบ มันยังมีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบของหลอดเลือด และ ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ

– หญิงตั้งครรภ์ควรกินอินทผลัม มันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า อินทผลัมมีประโยชน์สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการลดน้ำหนักในระหว่างการคลอดบุตร แสดงให้เห็นว่าในการวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบกับผู้หญิงประมาณ 69% พวกเขาบอกว่าผู้หญิงที่บริโภคอินทผลัมใน 4สัปดาห์สุดท้ายของระยะใกล้คลอด พวกเขามีอาการเจ็บปวดน้อยลงในการคลอดบุตร

– อินทผลัมช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง และ โรคหลอดเลือดสมอง คุณสามารถควบคุมความดันโลหิตของคุณได้ เมื่อคุณกินอินทผลัม เพราะมันมีแมกนีเซียมอยู่ในนั้น และโพแทสเซียมยังช่วยป้องกันหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นอินทผลัมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพหัวใจที่ดีของคุณ

– แมกนีเซียม ใน อินทผลัม ส่งผลดีในการป้องกันความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Nutritionของอเมริกัน

– อินทผลัมช่วยบำรุงการทำงานของสมองให้ดีขึ้น การวิจัยได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มันมีวิตามิน B6 ที่ช่วยให้การทำงานของสมองทำงานได้อย่างสมบูรณ์ อินทผลัมอุดมไปด้วยวิตามินที่จำเป็นที่ช่วยเพิ่มหน่วยความจำ และ ทำให้คุณมีสมาธิในการทำงาน ถ้าคุณกินมันอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เหมาะสม


เห็นมั้ยล่ะคะ ว่า ผลไม้อย่าง “อินทผลัม” จะมีประโยชน์มากมายเหลือเกิน ใครชอบทาน ก็ขอสนับสนุน ใครที่ยังไม่เคยทาน ก็ รีบ ๆ หามาทานนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุก ๆ คน ค่ะ