วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เปิดแล้วจุดเช็คอินใหม่ ยะลา เมืองเก่าสองแผ่นดิน โกตาบารู - รามันห์



         ที่บ้านดาโต๊ะมูลียอ โกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ดร.กูมัจดี บินกูมูหัมมัดนูร์ ยามิรูเด็ง ประธานดีเอ็ม ดีไอ แห่งประเทศไทย ได้เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองโกตาบารู แหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถี โดยมีนายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายจรัญ จันทรปาน นายอำเภอรามัน ส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนชาวตำบลโกตาบารู ร่วมให้การต้อนรับ


สำหรับเมืองโกตาบารู-รามันห์ ในอดีตเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งในบรรดา 1 ใน 7 หัวเมืองมลายูในชายแดนใต้ เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อันทรงคุณค่าที่ดีงาม และเป็นเมืองที่เป็นมหกรรมที่หล่อหลอมจากความรัก ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งน้ำใจเดียวกัน ของชาวเมืองรามันห์ อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายเชื้อชาติพันธ์ได้อย่างสันติสุข
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองโกตาบารู เป็นพิพิธภัณฑ์จัดก่อสร้างโดยครอบครัวดาโต๊ะมูลียอ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว โอทอป นวัตวิถี ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่นแห่งใหม่ในพื้นที่ และร่วมกันอนุรักษ์เมืองเก่าโกตาบารู เมืองรามันห์ เป็นอนุสรณ์เมืองเก่าสองแผ่นดิน ในฐานะเป็นเมืองอัญมณีแห่งวัฒนธรรมที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีต
พื้นที่การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ อาศัยมุมเล็ก ๆ บริเวณรอบบ้านดาโต๊ะมูลียอ มีมุม 5 มุมเรียนรู้ ที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับเมืองโกตาบารูในอดีต ประกอบด้วย เรือต่วนจรือนิห์ หลวงศรีราชบดินทร์ เป็นเรือนรับรองและแนะนำพิพิธภัณฑ์ ต่วนจรือนิห์ เป็นธิดา ต่วนลือเบะฮ์ เจ้าเมืองรามันห์องค์สุดท้าย ท่านเป็นผู้บริจาคที่ดินส่วนตัวให้กับทางราชการ เพื่อสร้างสถานที่ราชการในการจัดตั้ง อำเภอโกตาบารู ศาลาลงซัน เป็นมุมเรียนรู้ครัวจำลองวิถีดั้งเดิม “ลงซัน” เป็นนามสกุลของตระกูลเจ้าเมืองโกตาบารู หรือรามันห์เดิม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนเดียวในสมัยการปกครองมณฑลปัตตานี ศาลาซูงา โต๊ะหนิ เป็นมุมแสดงวัตถุพื้นบ้านโบราณในท้องถิ่น ชื่อคลองโต๊ะหนิในอดีต เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สำคัญของเมืองโกตาบารูสำหรับทำนาข้าว เป็นอู่ข้าวอู่น้ำใหญ่สามารถเลี้ยงดูราษฎรได้ทั้งเมืองโกตาบารู เรือนโกตารามัย เป็นมุมเรียนย่อยทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โกตารามัย หรือโกตาบารูแม เป็นเมืองแห่งความสนุกสนานร่าเริง ชาวโกตาบารูเป็นคนที่มีความสุข สบายใจไม่เครียด เพราะมีการละเล่นการแสดงพื้นเมืองทุกหนทุกแห่ง นับตั้งแต่ในวังเจ้าเมืองถึงชุมชน หมู่บ้าน สวนรัตนภักดี เป็นมุมเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ เมืองเก่าโกตาบารู เมืองรามันห์ ยุค 7 หัวเมือง และมณฑลเทศาภิบาล พระยารัตนภักดี เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานให้กับพระยาเมือง หรือเจ้าเมืองรามันห์ นับตั้งแต่ ต่วนตีมุน และต่วนบาลาแลยาวอ ลงซัน


       ทั้ง 5 มุมเรียนรู้นี้ ได้จัดแสดงวัตถุโบราณของจริง ภาพถ่าย เอกสารเก่า ภาพวาด และของจำลอง โดยมีบอร์ดนิทรรศการ นำเสนอข้อมูลที่ได้รับการศึกษาค้นคว้าอย่างถี่ถ้วน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจศึกษา เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองโกตาบารู สามารถติดต่อไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองโกตาบารู แหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถี ได้ในช่วงเช้าที่บ้านดาโต๊ะมูลียอ โกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา















วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ความสำคัญ 'วันอาสาฬหบูชา' 7 ข้อที่พุทธศาสนิกชนควรรู้!




        อาสาฬหบูชา ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของพุทธศาสนิกชน เพราะนอกจากจะเป็นวันหยุดยาวแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่สมาชิกในครอบครัวจะได้ไปเข้าวัด-ทำบุญร่วมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล
ดังนั้น ก่อนที่พวกเราจะไปวัด-ทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ไปรู้จักกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา ว่ามีที่มาอย่างไรกับพุทธศาสนิกชนคนไทย
1. คำว่า อาสาฬหบูชา มีคำย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งในปฏิทินของแต่ละปีก็จะแตกต่างกันออกไป บางปีก็ตกอยู่ในเดือนกรกฎาคม บางปีตกอยู่ในเดือนสิงหาคม
2. วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรกแก่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คน ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
3. การแสดงธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ เกิดขึ้น ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตน เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย
4. ธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกนี้มีชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" มีความหมายว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร 
5. อีกหนึ่งความสำคัญของวันนี้คือ เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น "วันพระรัตนตรัย" อีกด้วย
6. สำหรับในประเทศไทย วันอาสาฬหบูชา ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พร้อมทั้งยังกำหนดพิธีขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพิธีปฏิบัติที่ว่านี้จะมีลักษณะเดียวกับวันวิสาขบูชา
7. ในวันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายมักจะไปทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญ
กุศลความดีอื่น ๆ อาทิ ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น





วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ชาวยะลาร่วมปลูกต้นไม้ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา



      นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2561 เทศบาลนครยะลา กำหนดจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2561 โดยจัดกิจกรรมในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561 ช่วงเช้าเวลา 07.30 น. จัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร บริเวณสวนศรีเมือง บริเวณสถานีสูบน้ำปั๊ม C และในช่วงเย็นจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะ และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ ศูนย์เยาวชน เทศบาลนครยะลา เวลา 17.00 น. โดยภาคเอกชน กลุ่มมวลชน สมาคม มูลนิธิ สโมสร ชมรม ชุมชนต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป


ทั้งนี้ เทศบาลนครยะลา และประชาชนชาวเทศบาลนครยะลา มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่มีต่อพสกนิกรมาโดยตลอด และเพื่อจะสืบสานพระราชประสงค์ที่จะรักษา ต่อยอดพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ฟื้นฟูพื้นที่แหล่งน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับท้องถิ่น และชุมชน พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมให้ประชาชนตระหนัก รู้คุณค่าความสำคัญของป่าไม่และน้ำ จึงได้จัดกิจกรรม “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” (ปลูกต้นไม้) โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ จำนวน 1,067 ต้น (ต้นพะยอม ต้นเหลืองเชียงราย)
เนื่องจากเทศบาลนครยะลา เป็นองค์กรที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีทิศทางการพัฒนายะลาสู่การเป็นเมืองแห่งอนาคต ซึ่งมีต้นทุนด้านความสะอาดทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่อากาศสะอาด น้ำสะอาด การบริหารบ้านเมืองสะอาด และสิ่งแวดล้อมสะอาด ด้วยการรณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง การทำโครงการ Low Carbon City ซึ่งนับเป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวยะลา ที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันสร้างให้นครยะลาเป็นนครแห่งสวน ที่มีสิ่งแวดล้อมดีได้อย่างยั่งยืน











กิจกรรมค่ายจริยธรรมสองศาสน์สัมพันธ์ สร้างสันติสุขสู่ชายแดนภาคใต้




       ที่ โรงเรียนวัดท่าประดู่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา สภาวัฒนธรรมอำเภอนาทวี และโรงเรียนวัดท่าประดู่ ร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายคุณธรรมจริยธรรมความสัมพันธ์เชิงบูรณาการสู่สันติสุข โดยนำนักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้ง ครูและบุคลากรโรงเรียนวัดท่าประดู่ เข้าค่ายทำกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบันทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่และค่านิยมของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในวัยเรียน เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งสภาวัฒนธรรมอำเภอนาทวี และโรงเรียนวัดท่าประดู่ ต่างตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมพหุวัฒนธรรมค่ายคุณธรรมจริยธรรมสองศาสน์สัมพันธ์เชิงบูรณาการสู่สันติสุขขึ้น  


สำหรับกิจกรรมค่ายคุณธรรมจริยธรรมสองศาสน์สัมพันธ์เชิงบูรณาการสื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ หลักศาสนาที่ถูกต้องทั้งหลักศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ในการอยู่ร่วมกัน ในสังคมพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม ฐานเรียนรู้ด้าน ต่างๆ เช่นเรื่องความขยันประหยัด ซื่อสัตย์มีวินัยสะอาด สุภาพ สามัคคีมีน้ำใจ และมีจิตสาธารณะ เรียนรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยการป้องกันยาเสพติด รวมถึงฐานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกกิจกรรมจะสอดแทรกความรู้ความสนุกสนานเพื่อให้เด็กๆ มีความเข้าใจ สามารถอยู่ร่วมในสังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องและมีความสุข มีภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด มีจิตสาธารณะ ใช้ชีวิตอยู่ในความพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต





วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ยะลา “สมโภชเทียนพรรษา” สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย



        ที่ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีสมโภชเทียนพรรษา จำนวน 83 ต้น กิจกรรมประเพณีวันเข้าพรรษา ปี 2561 ซึ่งเทศบาลนครยะลา ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ ศูนย์ประชาสังคมจังหวัดยะลา และพุทธศาสนิกชนทุกภาคส่วน จัดขึ้นเพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชน พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่น ได้ร่วมกันทำนุบำรุงประเพณีวัฒนธรรมอันดีให้คงอยู่สืบไป และส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความสัมพันธ์ ระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีมีนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่เทศบาลนครยะลา ส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
สำหรับกิจกรรมในพิธีสมโภชเทียนพรรษา นอกจากมีพิธีทางศาสนาแล้ว ยังมีการประกวดเทียนพรรษา และมอบรางวัลการประกวดเทียนให้กับหน่วยงานราชการ สถานศึกษา และวัดในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการประดับตกแต่งต้นเทียน จำนวน 17 ต้น โดยประเภทความคิด รางวัลชนะเลิศเป็นของวัดสิริปุณณาราม (ลำพะยา) ประเภทสวยงาม รางวัลชนะเลิศเป็นของวัดเฉลิมนิคมลำใหม่


นอกจากนี้ ยังมีการรำวงมาตรฐานโดยกลุ่มสตรี และกลุ่มรวมพลังสตรีภาคประชาชน เทศบาลนครยะลา ขบวนแห่กลองยาว รวมทั้งการแสดงมหรสพมโนราห์ไข่เหลี้ยม วิเชียรศรชัย ตลอดค่ำคืนนี้ และในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค. 61) ก็จะมีขบวนแห่เทียนพรรษารอบเมืองยะลา และนำเทียนไปถวายวัดในเขตเทศบาลนครยะลา จำนวน 17 วัด และ 66 ต้นเทียนพรรษา ถวาย 66 วัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเทียนพรรษาที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศอ.บต. ก่อนจะแยกย้ายนำไปถวายวัดต่าง ๆ














วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จังหวัดยะลา จัดงานถนนสายวัฒนธรรม และการแสดงสินค้า OTOP นวัตวิถี เฉลิมพระเกียรติฯ


      เวทีการจัดงานถนนสายวัฒนธรรม และการแสดงสินค้า OTOP นวัตวิถี เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2561 สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา วัฒนธรรมจังหวัดยะลา และพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ได้จัดการแสดงแบบเครื่องแต่งกายจากภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา โดยนางแบบ และนายแบบ จำนวน 40 คน ซึ่งมีทั้งผ้าสีมายา ผ้าบาละงิง ผ้าบาติก ที่ล้วนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของลายผ้าพื้นถิ่น และการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะลายผ้า


      ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ภูมิปัญญาผ้าเกิดการพัฒนาลวดลายผ้าตามความต้องการของตลาด เพิ่มรายได้ให้กับภูมิปัญญาผ้า ผู้ประกอบการด้านการออกแบบ และการตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ในพื้นที่จังหวัดยะลา และยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้หันมาแต่งกายด้วยผ้าไทย หรือผ้าพื้นถิ่น กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมชมการแสดงแบบอย่างคึกคัก




วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ชาวบ้านใน จ.ยะลา รวมตัวแข่ง “กีฬาชุมชนสัมพันธ์ต้านภัยยาเสพติด”



      เทศบาลนครยะลา โดยกองสวัสดิการสังคม ได้จัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ต้านภัยยาเสพติด ประจำปี 2561 ขึ้นที่ อาคารพระเศวตสุรคชาธาร สนามโรงพิธีช้างเผือก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรักความสมานฉันท์ เกิดความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างความตระหนักในการร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึง การรักษาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการสร้างเครือข่ายบูรณาการทำงานทั้งใน และระหว่างชุมชน
สำหรับการแข่งขันจัดให้มีขึ้น 2 วัน ในระหว่างวันที่ 21 ถึงวันที่ 22 ก.ค 61 โดยมีการแข่งขันกีฬาสากล การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และแข่งขันแชร์บอล เสริมสร้างความสมานฉันท์ร่วมกันระหว่างผู้บริหารกับประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการเดินพาเหรด ภายใต้แนวคิด”สวย ประหยัด รักษาสิ่งแวดล้อม” ซึ่งทุกชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น และการประกวดกองเชียร์ โดยแบ่ง สี เป็น 4 สี คือ สีเขียว สีส้ม สีชมพู และสีเหลือง สีละ 10 ชุมชน รวม 40 ชุมชน


ขณะที่ บรรยากาศการประกวดกองเชียร์ ของชุมชนแต่ละหน่วยสี เป็นไปอย่างคึกคัก สร้างความสนุกสนาน ให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยในแต่ละชุมชน เป็นอย่างยิ่ง ต่างส่งเสียงปรบมือ และเสียงเชียร์ กันอย่างพร้อมเพรียง เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งแต่ละสี ก็จะส่งเสียงเชียร์ทีมของตนเองกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี









วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จังหวัดปัตตานี เปิดงาน "ของดี อำเภอยะรัง" ประจำปี 2561



       ที่โรงเรียนประตูโพธิ์วิทยา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ของดี อำเภอยะรัง" ประจำปี 2561 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางเกษตร สินค้า OTOP ตลอดจนของดี อำเภอยะรัง ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อีกทั้ง อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามไว้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของอำเภอยะรัง โดยมีนายโอฬาร บิลสัน นายอำเภอยะรัง หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยกำลังในพื้นที่ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก


ทั้งนี้ งาน "ของดี อำเภอยะรัง" ประจำปี 2561 ซึ่งอำเภอยะรัง และทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ร่วมมือกันจัดงานขึ้น ระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2561 (3 วัน 2 คืน) มีการออกร้านแสดงของดีต่าง ๆ ในเขตพื้นที่อำเภอยะรัง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 12 แห่ง และ 1 เทศบาลตำบล มีการแสดงการขับร้องอนาซิส จากเด็กนักเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอยะรังทั้ง 12 ตำบล และการแสดงของชุดการแสดงที่มีชื่อเสียง ทั้งจากในและนอกพื้นที่ กิจกรรมการแสดงบนเวที การออกร้าน หนังตลุงเดะเลาะ
       นอกจากนี้ ยังมีการจับสลากรางวัลฉลากหางบัตรให้แก่ประชาชนผู้โชคดีที่มาร่วมงาน ร่วม 100 รางวัล อาทิ ตู้เย็น รถจักรยาน เตาไมโครเวฟ พัดลม และของใช้ต่าง ๆ อีกด้วย















วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“ปลากุเลา” ของดีปัตตานี เพิ่มรายได้บนวิถีประมงพื้นบ้าน



      หนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจ ที่ชุบชีวิตชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี จากความยากจนสู่ความรุ่งเรือง ก็คือปลากุเลาเค็ม โอรังปันตัย สินค้านี้มีความหมายอย่างไรกับชาวประมงชาวแดนใต้บ้าง
ปลากุเลา เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ด้วยปลากุเลานั้นเป็นสัตว์น้ำที่ชอบหากินหน้าดินโคลน ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร พบมากบริเวณปากอ่าวปัตตานี และปากคลองต่างๆ ปลากุเลาเป็นสัตว์น้ำที่ชอบล่าเหยื่อโดยเฉพาะสัตว์น้ำตัวเล็กๆ เช่น ปลาหลังเขียว ปลากะตัก กุ้งเคย ฯลฯ ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีมักจะจับปลากุเลาในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี


นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มตันหยงเปาว์ จังหวัดปัตตานี เล่าให้ฟังว่ากลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี มีสมาชิกมากกว่า 76,000 คน มีเรือประมาณ 2,900 ลำ แต่เดิมเป็นกลุ่มประมงที่ขึ้นชื่อว่ายากจนที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอาชีพจับปลาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา หรือยางพารา เมื่อถึงฤดูมรสุมก็ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ต้องพึ่งพาแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ
เราพยายามทำเรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2535 ด้วยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ชาวบ้าน เครือข่ายประมงพื้นบ้านทั้ง 6 อำเภอ ของจังหวัดปัตตานี ตอนนี้เรากล้าประกาศได้ว่าเราสามารถฟื้นฟูทรัพยากรจนอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่เราพบคือชาวประมงพื้นบ้านยังยากจนอยู่เหมือนเดิม เป็นเพราะว่าการที่เราเป็นประมงพื้นบ้านเราต้องจับสัตว์น้ำในช่วงที่มันเยอะที่สุด ในขณะที่ความต้องการของตลาดโดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานีมีน้อย ราคาก็เลยตกต่ำ วัฏจักรนี้ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีต้องประสบเจอมาตลอด


นายมูหามะสุกรี เล่าต่อว่า ชาวประมงพื้นบ้านจึงคิดตั้งกลุ่มขึ้นมาในชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย” โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เริ่มจากการสืบค้นภูมิปัญหาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการวิจัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย พบว่าในชุมชนมีต้นทุนและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ท้องทะเลปัตตานี เป็นทะเลที่สะอาดปราศจากมลพิษ นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีความรู้ มีเครือข่าย จึงนำต้นทุนเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอด เป็นสินค้าแปรรูปทั้งปลากุเลาและปลาหมึกศอก
เดิมทีปลากุเลาในจังหวัดปัตตานีมีเยอะมาก และจับได้เยอะมาก ราคาที่รับซื้ออยู่ในหมู่บ้านกิโลกรัมละ 170 บาท หลังจากที่ตั้งกลุ่มขึ้นมา ณ ตอนนี้ทางกลุ่มรับซื้ออยู่ 230-250 บาท และเราสามารถที่จะสร้างมูลค่าหลังจากการแปรรูป ที่ขายอยู่ตตอนนี้ 1,300 บาท จากปลา 1 กิโลกรัมใช้เวลา 45 วัน เรานวดมันทุกวัน เราทำปลากุเลาโดยเอาใจของเราใส่เข้าไปในปลากุเลา เราถึงได้ปลากุเลาที่มีรสชาติอร่อย ไม่ใช่แค่ปลากุเลา เรายังมีปลาหมึกศอก ตอนนี้ขายกิโลกรัมละ 1,700 บาท กิโลกรัมหนึ่งได้ปลาหมึก 10-12 ตัว เรามีผลิตภัณฑ์ที่พรีเมียม
เอกลักษณ์ของปลากุเลา ที่จังหวัดปัตตานี ยังแตกต่างจากจังหวัดนราธิวาส ก็ด้วยรสชาติที่เค็มน้อยกว่า และอยู่ในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งจำหน่ายใหญ่ไปสู่จังหวัดนราธิวาสด้วย
โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี หนึ่งในโรงแรมที่สนับสนุนปลากุเลาเค็มจากบ้านตันหยงเปาว์ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หรือปลากุเลาเค็มตันหยงเปาว์ โอรังปันตัย ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีตามภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิธีกางมุ้ง ไม่ใช้สารเคมีเพื่อการรักษาสภาพปลา ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่เจือสี ไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ และใช้เกลือหวานปัตตานีเป็นส่วนผสมหลักในการทำเค็ม ได้ดึงเสน่ห์ปลากุเลาเค็ม ไปนำเสนอเป็นเมนูเลิศรสอย่างหลากหลาย เช่น ข้าวผัดปลากุเลาเค็ม ไก่สับทอดมันปลากุเลาเค็ม สปาเก็ตตี้ปลากุเลาเค็ม หลนปลากุเลาเค็มผักสด คะน้าปลากุเลาเค็ม ผัดผักบุ้งปลากุเลาเค็ม กุ้งสับผัดปลากุเลาเค็ม และยำปลากุเลาเค็มทอด ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถสั่งปลากุเลาไปลองทำอาหารต่างๆ หรือเลือกเดินทางไปลิ้มลองสินค้าเศรษฐกิจที่ผลิตขึ้นจากใจชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี