วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

จ.ยะลา เปิดตัว “ตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ” ตลาดท่องเที่ยว 3 วัฒนธรรม แห่งใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว



        พลิกฟื้นนำอดีตกลับคืนสู่ชาวหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา แถลงเปิดตัว “ตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ” แห่งที่ 3 รวม 3 วัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “กินเพลิน เดินถ้ำ แลธรรมชาติ” ชมวิถีชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวจังหวัด เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพให้ประชาชน


        เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (28 ก.พ. 61) ที่ตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ (วัดคูหาภิมุข) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อำเภอธารโต จังหวัดยะลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย ผศ.ดร.จุฑามณี ตระกูลมุทุตา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา นายจักรพงษ์ พันธุ์โชค ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองยะลา นายนิอันนุวา สุไลมาน พาณิชย์จังหวัดยะลา นายอาซิ อะแซ กำนันตำบลหน้าถ้ำ นายคีรีรัตน์ ทองเชื้อ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “ตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ” ภายใต้แนวคิด “กินเพลิน เดินถ้ำ แลธรรมชาติ” โครงการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเน้นความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ที่จะพัฒนาเชื่อมโยงไปสู่ตลาดเพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดยะลา เพื่อเพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดยะลา โดยมีส่วนราชการ สื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ตำบลหน้าถ้ำและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟังกันจำนวนมาก


นายนิอันนุวา สุไลมาน พาณิชย์จังหวัดยะลา กล่าวว่า ความเป็นมาของตลาดต้องชม แลผา หน้าถ้ำ นี้ เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สิ่งที่ได้มาสำคัญที่สุด คือ การผสมผสานระหว่างชาวบ้านไทยพุทธและมุสลิม ซึ่งช่วยกันพัฒนา จากอดีตถึงปัจจุบันตั้งแต่ลังกาสุกะมาถึงศรีวิชัย จนปัจจุบันเป็นความภาคภูมิใจของชาวตำบลหน้าถ้ำ ซึ่งวัดถ้ำแห่งนี้เมื่อในอดีตมีนักท่องเที่ยวทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และที่อื่นๆ มาเที่ยวกันมาก แต่ปัจจุบันได้ลดน้อยลง วันนี้ทุกคนทั้งพุทธ มุสลิม ในชุมชนทุกหมู่บ้านก็ได้มาร่วมกันพัฒนา เริ่มต้นด้วยอัตลักษณ์ อาหารท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านที่หายไป ในวันนี้ได้มีการเปิดตัวตลาดเพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวมารู้จักแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดยะลา ซึ่งต่อไปการท่องเที่ยวก็จะมาเลี้ยงตลาดและเลี้ยงชุมชนให้เติบโตยิ่งขึ้น


สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยากจะได้ คือ แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ ในอดีตคนยะลาเองก็ไม่เคยรู้ว่ามีอะไรบ้าง หลังจากพัฒนาร่วมกันก็จะเห็นว่าจะมีช่องเดินถ้ำต่างๆ มี พปร สมัย รัชการที่ 7 ลานด้านบนจะเป็นลานกว้าง มีกล้วยไม้ป่า สามารถมองเห็นเมืองยะลาทั้งเมือง ซึ่งคนยะลาไม่เคยรู้ ตนเองรู้จากผู้หลัก ผู้ใหญ่ เล่าให้ฟัง การร้อยเรียงมาตั้งแต่ปัตตานี มายะรัง ท่าสาป ท่าแพ ตลาดต้องชม มาถึงหน้าถ้ำมีตลาดคลองทราย ที่สำคัญจะมีสตรีทอาร์ตเป็นการเชื่อมโยงคนในเมือง เป็นชุมชนโบราณ


ในช่วงต้นจะเริ่มเปิดในวันที่ 4 มีนาคมนี้ ในช่วงเช้าถึงค่ำและอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะที่นี่ช่วงเย็นถึงค่ำบรรยากาศดีมาก โดยเน้นอาหารพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง อาหารท้องถิ่น เกษตรสมรม มีแตออ แบบบ้านๆ แบบเดิมๆ น้ำต้องร้อนกลิ่นจะต้องไม่มีสาบมากินที่นี่ได้ มีโรตี ขาวหลาม มีผ้าห่อไข่ ลองมาชมว่าคืออะไร ห่อไข่เค็ม ราคาไม่แพง ไม่ถึง 1 ร้อยบาท ทำเป็นของฝาก
สำหรับตลาดแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นตลาดต้องชมแห่งที่ 3 ต่อจากตลาดต้องชมสวนปาล์มธารโต เมื่อปี 2559 และตลาดต้องชม ท่าแพ ท่าสาป และน่าจับตามองมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นตลาดที่ร่วม 3 วัฒนธรรมไว้ด้วยกัน และตำบลหน้าถ้ำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดยะลา


นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการพลิกฟื้นนำอดีตที่ทรงคุณค่ากลับคืนมาสู่ชาวหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา อย่างเป็นรูปธรรม และในวันนี้ตลาดดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยชาวหน้าถ้ำ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างมาก จนถือได้ว่าเป็นตลาดต้องชมประชารัฐเต็มรูปแบบ ซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา ได้นำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนและวิถีชาวบ้านขึ้นมาพัฒนาให้มีความโดดเด่นเพิ่มมากขึ้น ตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ จึงนับได้ว่าเป็นตลาดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวดยะลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จุดเด่นในการประสานความร่วมมือของชุมชน การเรียงร้อยออกมาเป็นร้านค้าประจำหมู่บ้าน จำนวน 45 ร้านค้า เพื่อนำของดี อาหารเด่น สินค้าเด่นในชุมชน ออกมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้ลิ่มลอง เป็นของดีของเด่นประจำถิ่น เช่น ผ้าสีมายา ข้าวเหนียวหลาม การนวดแบบ 3วัฒนธรรม สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ร้านชา-โรตี วิถีจิบชา ชมนกกรงหัวจุก ขนมลาแซ หมี่กะทิขนมเจาะหู ไก่กอและ ข้าวยำโบราณ เป็นต้น อาหารอร่อยๆ บรรยากาศดีๆ ริมผา ริมน้ำ ภายในตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ ซึ่งภายในตลาดมีจุดถ่ายรูปที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน มีกิจกรรมการแสดงของชาวหน้าถ้ำอีกมากมาย มาให้นักท่องเที่ยวได้ตื่นตาตื่นใจ โดยจากนี้ไปตลาดจะเปิดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือ วันอาทิตย์ เวลา 09.00-19.00 น. จึงขอเชิญชวนประชาชน มาเที่ยวชม “กินเพลิน เดินถ้ำ แลธรรมชาติ” ตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ
และในพิธีเปิดตลาดต้องชมแลผา หน้าถ้ำ ก็ขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง ภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ให้มาร่วมเปิดตลาดอย่างพร้อมเพียง และขอความร่วมมือให้ทุกท่านแต่งกายในชุดพื้นเมืองประจำถิ่น แนวคิด “นุ่งผ้าถุงตะลุยตลาดต้องชม” เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับพื้นที่และวัฒนธรรม ซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในอดีตเคยเป็นชุมชนโบราณที่อุดมสมบูรณ์เจริญด้านการค้าขายชุมชนโบราณ 3 วัฒนธรรม คือ ชาวไทยพุทธ จีน และมุสลิม เข้าไว้อย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และถูกถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ออกมาอย่างสวยงาม ผ่านเรื่องราวเมืองโบราณ ศาสนสถานต่างๆ เทวรูปสำริด กำแพงเมือง พระพิมพ์ดินดิบแบบทวารวดีศรีวิชัย ภาพเขียนสีพระพุทธรูปฉาย ภาพเขียนสีราชรถมีสัตว์เทียม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-17





แวะชมเที่ยว “ตลาดนัดนานาชาติ” ปัตตานี



เปิดทุกเย็นวันพุธ หลายคนก็เรียกว่าตลาด "พม่า" จริงๆแล้วตลาดไม่ใช่มีแค่คนพม่าที่ มาทำงานมาหลายประเทศร่วมทั้งคนไทยด้วย


เมื่อถึงวันพุธของแต่ละสัปดาห์ บรรดาพี่น้องในอ.เมืองปัตตานีจะรับรู้กันว่า เป็นวันที่มีตลาดนัดนานาชาติ บริเวณด้านข้างและด้านหลังของอบ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่คลาคล่ำไปด้วยพี่น้องชาวกัมพูชา พม่า ลาว ชาวไทยพุทธและมุสลิม ต่างมาจับจ่ายซื้อหาของ กินของใช้กันหนาตา เซ็งแซ่ไปด้วยหลากหลายภาษา ให้รับฟังกันในอดีตไม่นานก่อนหน้านี้ ตลาดนัดแห่งนี้อยู่ติดถนนใหญ่บริเวณที่ตั้งอบต.บานา


ปัจจุบัน
จนเมื่อมีการก่อสร้างที่ทำการอบต.บานาใหม่ ที่ดินส่วนนั้นจึงมีรั้วรอบขอบชิด ตลาดจึงต้องขยับขยายไปตั้งในที่ปัจจุบัน แต่ไม่ได้ทำให้พ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าหดหายไป แต่อย่างใดตลาดนัดนานาชาติที่นี่มีทั้งเสื้อ กางเกง หมวก รองเท้ามือสอง และอีกสารพัดข้าวของให้เลือก


          ส่วนใหญ่ราคาตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป สินค้าใหม่ก็มีให้เลือกกันมากเช่นกัน สิ่งสำคัญของตลาดนัดนานาชาติแห่งนี้คือ สารพันของกินทั้งสดและแห้ง ผัก ผลไม้ ข้าวสาร อาหารทะเล ของใช้ในครัวเรือน
ตลาดแห่งนี้นับว่าเป็นที่น่าจับตามองทีเดียว

















วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

จ.ปัตตานี จัดเสวนาประชารัฐรวมใจเสริมสร้างสันติสุขชายแดนใต้



ที่ฟาร์มตัวอย่างบ้านลุตง ตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี นายวิชิต เพชรยอด ประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี ร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดปัตตานี จัดเสวนาประชารัฐรวมใจเสริมสร้างสันติสุขชายแดนใต้ หัวข้อ “เกษตรอินทรีย์ นำปัตตานีรุ่งเรือง” สืบเนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกสู่สาธารณชน โดยผ่านสื่อชนิดต่างๆ ในกำกับดูแล ซึ่งมีทั้งสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อสารสนเทศ สื่อบุคคล และเครือข่ายสื่อมวลชนของรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามภารกิจสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนด้วยความถูกต้องและกว้างขวาง


ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางประชารัฐ โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยาการที่มีประสบการณ์ ทั้งนายอำเภอ เกษตรจังหวัด ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน และตัวแทนประชาชน ได้เข้ามาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ สู่กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมเสวนา และประชาชนทางบ้านที่ติดตามรับฟังผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดปัตตานี ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมเสวนา











เรื่องเล่าจากลังกาสุกะ ว่าด้วย (ปาตานี) ชื่อนี้มีตำนาน…




ปาตานี คือชื่อรัฐๆหนึ่งอยู่บนแผ่นดินด้ามขวานที่เรียกว่าแหลมมลายู แซะห์ อาหะหมัด บินวันมูฮัมหมัดเซ็น อัลฟาตอนี ได้กล่าวไว้ว่า “ปาตานี คือรัฐหนึ่งในหลายๆรัฐของชาวมลายู ได้เป็นสถานที่ก่อกำเนิดบุรุษที่ดี เฉลียวฉลาด รักสงบและเก่งกล้า เป็นรัฐที่มีเอกราช และอยู่ภายใต้ปกครองของบุคคลเหล่านั้นมาแต่อดีต”
วันหนึ่ง เวลาบ่ายสามโมง (ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พศ.2445 ) เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารูดดีน เจ้าเมืองปัตตานี ก็ถูกตามไปพบกับพระยา ศรีสหเทพ ณ สถานที่แห่งหนึ่งในปัตตานี ที่รายล้อมด้วยกำลังทหารและตำรวจประมาณ 100 นาย พระยาศรีสหเทพ ได้ยื่นเอกสารให้เต็งกูอับดุลกอเดร์ลงนาม แต่ท่านไม่ยอม พระยาศรีสหเทพ จึงสั่งตำรวจและทหารจับกุมตัวเต็งกูอับดุลกอเดร์ พาลงเรือและนำไปควบคุมที่เมืองสงขลา ต่อมาก็ถูกส่งเข้าสู่บางกอก
วันนั้นเป็นวันอันสิ้นสุดของอาณาจักรปาตานีดารุสสาลามที่ปกครองโดยชาวมลายูปาตานีที่มีที่มานานกว่า 600 ปี นับจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลานาน 100 ปี ปัตตานีนั้นเคยเป็นรัฐที่มีเอกราช ก่อนหน้านั้นหรือ ?


ก่อนที่จะมาเป็นปาตานีนั้น ลังกาสุกะ เป็นชื่อที่ถูกเรียกมาก่อนของดินแดนแห่งนี้ ลังกาสุกะ เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรมลายูมาก่อน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ โกตามาหาลิไกย
การไปล่าสัตว์ป่าของพญาตูนักปา เดวาวังสา จนกระทั่งพบกระจงขาววิ่งหนี หายไปในระหว่างหาดทรายริมชายหาด พบผู้เฒ่าที่มีนามว่าโต๊ะตานี เป็นเหตุให้พระองค์ต้องย้ายเมืองหลวงจากโกตามาหาลิไกย มาตั้งที่กรือเซะ แล้วเปลี่ยนเป็นเมืองปาตานี
         การเข้ามาของแซะห์ซาอีดในปาตานี เพื่อรักษาอาการป่วยของพญาตูนักปา จนพระองค์เข้ามารับนับถือศาสนาอิสลาม แล้วเปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่านอิสมาแอล ชาห์ ซิลลุลลอฮ์ ฟิลอาลาม และการเรียกชื่อเมืองปาตานีเป็น ปาตานีดารุส สาลาม ได้มีการสืบทอดการปกครองอาณาจักรปาตานีดารุส สาลาม จนสิ้นสุดราชวงศ์ศรีมหาวังสา เนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระนางกูนิง แทบจะเรียกได้ว่าในระหว่างการปกครองของกษัตริย์ที่เป็นหญิงในปาตานีนั้นได้สร้างความเจริญรุ่งเรือง เทียบเท่ากับเมืองอัมสเตอร์ดัมในสเปนก็ไม่ปาน
ปาตานีได้เปลี่ยนผู้ปกครองอีกหลายต่อหลายท่าน สมัย สุลต่านอะหมัด เป็นสุลต่าน ถึงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2329 ปาตานีก็ถึงกาลอวสาน โดยการเข้าโจมตีของกองทัพสยามทั้งทางบกและทางเรือ สุลต่านอะหมัด สิ้นชีพในการต่อสู้กับศัตรู บ้านเมืองถูกเผาทำลาย ชาวมลายูปาตานีถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ทีสามารถหลบหนีได้ก็แยกย้ายกันไปอาศัยเมืองข้างเคียงอื่นๆ ส่วนหนึ่งก็ถูกจับตัวไปเป็นเชลยพร้อม ปืนใหญ่ศรีปาตานีที่ถูกยึดไปบางกอก เป็นการทำสงครามครั้งที่หกและเป็นครั้งแรกที่ปาตานีต้องสูญเสียอำนาจแก่สยาม


เต็งกูลัมมีเด็น ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองปาตานี แต่ก็ต้องสังเวยชีวิตในการทำสงครามเพื่อกอบกู้เอกราชจากสยามที่เขาลูกช้างในเมืองสงขลา เมื่อปี ค.ศ.1791
          หลังจากนั้นไม่นาน ดาโต๊ะปังกาลันก็ตกชะตากรรมคล้ายกับเต็งกูลัมมีเด็น ศีรษะของท่านได้ถูกตัดนำไปถวายแก่แม่ทัพสยามที่ปากน้ำปาตานี เมื่อ ปี ค.ศ.1810 นายกวงไส ชาวจีนจากจะนะก็ได้มีโอกาสเป็นเจ้าเองปาตานี หลังจากนั้นอีก 5 ปี
         กระทั่ง พ.ศ.2359 สยามได้ปฏิรูปหัวเมืองประเทศราชโดย แบ่งแยกปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง เพื่อลดทอนอำนาจของปาตานีลง และให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสงขลา แต่งตั้งให้ต่วนสุหลง เป็นเจ้าเมืองปาตานี ต่วนนิ เป็นเจ้าเมืองหนองจิก ต่วนมันโซร์ เป็นเจ้าเมืองรามัน ต่วนยาลอ เป็นเจ้าเมืองยะลา ต่วนนิดะห์ เป็นเจ้าเมืองระแงะ ต่วนนิเด๊ะ เป็นเจ้าเมืองสายบุรี และนายพ่าย (ชาวสยาม)เป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง 


สงครามระหว่างมลายูกับสยามในปี 2375 นั้นเกิดจากการขึ้นมากอบกู้เอกราชของชาวมลายูเคดะห์ โดยเต็งกูเด็น แม่ทัพของสุลต่านอาหมัด ตายูดดีน แห่งรัฐเคดะห์ จากเหตุการณ์นี้เมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆของปาตานีต่างก็ถูกเกณฑ์ไปร่วมกับสยามโดยหัวเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราช ต่อสู้กับเคดะห์ แต่การณ์กลับตาลปัดที่บรรดาเจ้าเมืองมายูกลับเข้าร่วมกับกองทัพของเต็งกูเด็น แม่ทัพเคดะห์ เข้ารบพุ่งกับกองทัพสยามต้องล่าถอยไป จวบจนกระทั่งกองทัพจากกรุงเทพฯลงมาร่วมกับนครศรีธรรมราช สงขลา เข้าตีกองทัพเคดะห์และปาตานี แตกล่าถอยไป ต่อมา ต่วนกูสุหลง เจ้าเมืองปัตตานี ต่วนกูโน เจ้าเมือง ยะลา และต่วนกือจิเจ้าเมืองหนองจิก สามพี่น้องถูกจับกุมตัวและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา
         หลังจากนั้นเจ้าเมืองสงขลาได้แต่งตั้งเจ้าเมืองปกครองหัวเมืองปัตตานีต่างๆเสียใหม่ คือ นายนิยูโซ๊ะ เป็นเจ้าเมืองปัตตานี นายมิ่ง เป็นเจ้าเมืองหนองจิก ต่วนมันโซร์ เป็นเจ้าเมืองรามัน นายยิ้มซ้ายหรือเหมใส เป็นเจ้าเมืองยะลา นายนิดะห์ เป็นเจ้าเมืองสายบุรี นายนิบอซู เป็นเจ้าเมืองระแงะ และ นายพ่าย เป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง ภายใต้การควบคุมของเมืองสงขลาเช่นเดิม เจ้าเมืองที่ได้รับการแต่งตั้ง ตกทอดแก่ชาวมลายูบ้างชาวสยามบ้างตามสถานการณ์

วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาชนร่วมใจ “ปันน้ำใจ ให้กาชาดยะลา” เดิน-วิ่งการกุศล ออกกำลังกาย



เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 61 ที่หน้าบริษัท ยะลาฮอนด้าคาร์ส์ จังหวัดยะลา ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เทศบาลนครยะลา และบริษัท ยะลาฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด ได้จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล “ปันน้ำใจ ให้กาชาดยะลา” กับยะลาฮอนด้าคาร์ส์ ขึ้นเพื่อสนับสนุนและจัดหารายได้มอบให้เหล่ากาชาดจังหวัดยะลา ส่งเสริมกิจกรรมออกกำลังกาย ให้ประชาชนมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคภัย ตลอดจนส่งเสริมเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา โดยมีนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิด-ปล่อยขบวนเดินวิ่งการกุศล พร้อมด้วย ผศ.ดร.จุฑามณี ตระกูลมุทุตา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา นางการเกด อัครพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยะลาฮอนด้าคาร์ส์ คณะผู้บริหาร บริษัท ยะลาฮอนด้าคาร์ส์ และส่วนราชการเข้าร่วม


ซึ่งการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรม กว่า 1,000 คน ทั้งนี้รายได้จากค่าสมัคร จำนวน 350 บาท และการจำหน่ายเสื้อที่ระลึก จะนำไปสนับสนุนกิจกรรมกาชาดจังหวัดยะลา เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วไปที่ประสบปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ส่วนการวิ่งครั้งนี้เป็นประเภทการวิ่ง Fun Run ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางการเดิน-วิ่ง ภายในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งตลอดเส้นทางเดิน-วิ่ง มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองยะลา คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ความปลอดภัย กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม








เชิญชวน ท่องเที่ยวมหกรรม ตลาดจีนไชน่าทาวน์ปัตตานี




@กือดาจีนอ ภายในงาน มหกรรมท่องเที่ยวปัตตานี "กตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี" ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2561 ณ ถนนอาเนาะรู จังหวัดปัตตานี
โคมไฟ และโคมไฟตุ๊กตา 12 นักษัตร เป็นส่วนหนึ่งของงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปี 61 ซึ่งสรรค์สร้างจากชาวชุมชนหัวตลาด เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน สวยงามมากๆ