วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไซร่า มิเรอร์ สาวมุสลิมที่สวยที่สุดในผ้าคลุมฮิญาบ


เล่าประวัติ "ไซร่า มิเรอร์" สาวมุสลิมที่สวยที่สุด ที่กำลังโด่งดังในโลกโซเชียล แม้คลุมฮิญาบ แต่ก็ยังคงความสวยใส ออร่ากระจาย คนแห่ฟอลโลเพียบ!!




"ฮิญาบ" คือ ผ้าคลุมศีรษะของหญิงมุสลิม ซึ่งศาสนาอิสลามระบุให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมผมจนปิดหน้าอก เพื่อเป็นการปกปิดร่างกายให้มิดชิด การคลุมผ้า ของสตรีมุสลิมนั้นไม่ใช่ประเพณีของอาหรับ แต่เป็นบทบัญญัติของศาสนา ฮิญาบ แปลว่า ปิดกั้น




10 เรื่องราวที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ "ไซร่า มิเรอร์ "  และสาเหตุที่กลายเป็นเน็ตไอดอลมุสลิม ที่โด่งดังมากในขณะนี้

1. ชื่อจริงของไซร่า คือ ไซร่า มงคลดี
2. มีชื่อเล่น ว่า ไซร่า
3. ไซร่า เป็นสาวมุสลิม ลูกครึ่งไทย-ปากีสถาน
4. ไซร่า เกิดและโตที่จังหวัดขอนแก่น
5. ไซร่านับถือ ศาสนาอิสลาม
6. ด้านการศึกษาของไซร่า เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) เมื่อย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ได้เข้าเรียนโรงเรียนพระหฤทัย จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 และดร็อปเรียนไว้เนื่องจากเข้าพิธีแต่งงาน เพราะนับถือศาสนาอิสลามไม่มีระบบการคบเป็นแฟน
7. ด้านครอบครัวของไซร่า ไซร่าแต่งงานมา 3 ปี แล้ว แต่ยังไม่ได้วางแผนมีลูก ซึ่งหนุ่มคู่ใจของไซร่ามีนามว่า ศรัณย์ วงษ์สุวรรณ
8. ที่มาของความโด่งดังของไซร่าบนโลกโซเชียล คือ โดยเริ่มจำหน่าย ผ้าคลุมฮิญาบนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเราจะเป็นคนเลือกสีและแบบเอง จากนั้นออเดอร์ให้ทางโรงงานที่ประเทศจีนผลิตครั้งละจำนวน มากๆ และส่งมาให้เราที่เชียงใหม่เพื่อจำหน่ายผ่านทางไอจี และเฟซบุ๊ก จึงเป็นที่มาของการแชร์ภาพของ ไซร่าออกไป เนื่องจากไซร่าเป็นนางแบบใช้ผ้าคลุมฮิญาบเอง และให้แฟนถ่ายภาพเพื่อโพสต์ขายทางโซเชียล
9. ไซร่า เผยเคล็ดลับการคลุมผ้าฮิญาบง่ายๆ สำหรับสาวๆ ที่มีรูปหน้ากลมให้เรียวเล็ก ว่าพันผ้าปิดให้ถึงตรงช่วงหางตาจะช่วยปิดบังแก้มป่องๆ ได้ค่ะ
10. ส่องภาพ ฟอลโล หรือ ติดตามไซร่า มิเรอร์ ได้ใน IG: 
sairamirror  และ facebook : Saira Mirror





ปัตตานีบ้านฉัน

ที่มา: sairamirror, dailynews

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่พบปะผู้นำศาสนานราธิวาส


เมื่อวันที่ (28 ส.ค. 59) ที่ห้องประชุมโกสุมพิสัย โรงแรมตันหยง อ.เมือง จ.นราธิวาส นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ร่วมพบปะผู้นำศาสนา พร้อมปิดกิจกรรมเวทีเสวนาผู้นำศาสนาเพื่อส่งเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2559 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อิหม่ามจากอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนราธิวาส จำนวน 100 คน เข้าร่วม



สำหรับกิจกรรมเวทีเสวนาผู้นำศาสนาเพื่อส่งเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจัดการปัญหาความขัดแย้งด้วยหลักสันติวิธี เพื่อลดความรุนแรงของพื้นที่และเป็นดำริของท่านเลขาธิการ ศอ.บต. ที่จะให้มีการรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายว่า เราจะมาร่วมกันให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เดินหน้าและบรรลุผลกันได้อย่างไร เพราะปัจจัยแห่งความสำเร็จของกระบวนการพูดคุย สิ่งที่สำคัญคือความร่วมมือของทุกฝ่ายโดยเฉพาะพี่น้องผู้นำศาสนา ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพี่น้องประชาชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุย


นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า โครงการจัดเสวนาในครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มที่ จ.นราธิวาสเป็นที่แรก เพื่อเป็นตัวอย่างในการบอกเล่าแก่เวทีที่จะจัดขึ้นครั้งต่อไป เป็นโอกาสดีที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้นำศาสนา เคารพในความคิดเห็นของทุกคน สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือความหวังและเป็นความหวังที่นำไปสู่ความสำเร็จ เชื่อว่าความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะเป็นเหมือนการทำลายโอกาสในการดำเนินชีวิต ขอขอบคุณความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้ร่วมกันเสนอแนะและสะท้อนออกมา ที่สำคัญคืออยากให้ใช้วิจารณญาณในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งสับสนแก่พี่น้องประชาชนทำให้สังคมเกิดฟิตนะห์ จึงเป็นบทบาทของผู้นำศาสนาที่ต้องขจัดฟิตนะห์ เพื่อสร้างสังคมแห่งสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็ว และอีกหน้าที่หนึ่งคือการได้เห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และนำมาบอกมาแจ้งต่อซึ่งถือเป็นอามานะห์ที่จะต้องปฏิบัติอีกด้วย


---------------------

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

(เรื่องดีๆจากอำเภอตากใบ) อำเภอสันติสุข หลากวัฒนธรรม


ผมได้มีโอกาสมาเยือนอำเภอตากใบ จ.นราธิวาสอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าทุกท่านคงทราบว่า ตากใบเป็นอำเภอสุดชายแดนด้านทิศตะวันออกระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย  โดยมีแม่น้ำตากใบและแม่น้ำโกลก เป็นแนวเขตแดนน่ะครับ  วันนี้ผมจะไปท่านผู้อ่านเข้าชมวัดชลธาราสิงเห ซึ่งได้สมญานามว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย มีความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อำเภอตากใบเป็นหนึ่งใน 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ประมาณ 253.457 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดออกไปทางทิศใต้ประมาณ 33 กิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 ตำบล  49 หมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ.2540 มีประชากร 59,381 คน นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 60 ศาสนาพุทธประมาณร้อยละ 40 (ทราบว่า ปัจจุบันมีคนไทยพุทธน้อยลง) คนท้องถิ่นพูดภาษาถิ่นโบราณซึ่งมาคำไทยภาคเหนือปนอยู่ เนื่องจากชุมชนโบราณอพยพมาจากภาคเหนือ เรียกว่า ภาษาเจ๊ะเห

จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า ตากใบ เป็นชุมชนโบราณของไทย นับถือศาสนาพุทธ มีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต ปรากฏหลักฐานอยู่แล้วที่โคกอิฐ  ตำบลพร่อน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองตากใบประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นฐานโบราณสถาน ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ ( พุทธศตวรรษที่ 11-15) จนถึง  ราชวงศ์หมิง ( พุทธศตวรรษที่ 19-20) แสดงถึงการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชน

คำว่า “ตากใบ” สันนิษฐานว่ามาจากชื่อ “ตาบา” ซึ่งเป็นคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานจึงเรียกหมู่บ้านดังกล่าวว่า บ้านตาบา อยู่ในเขตตำบลเจ๊ะเห เดิมขึ้นอยู่กับรัฐกลันตัน ในปีพ.ศ. 2452 รัฐบาลไทยได้ประกาศแต่งตั้งตำบลเจ๊ะเหขึ้นเป็นอำเภอตากใบ ในปี พ.ศ.2458 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเจ๊ะเห หลังจากนั้น เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ ได้กลับมาเรียกว่า”อำเภอตากใบเหมือนเดิม” และขึ้นกับจังหวัดนราธิวาสจนถึงปัจจุบัน

สภาพภูมิอากาศของอำเภอตากใบส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีป่าละเมาะปกคลุมอยู่ทั่วไป เนื่องจากอำเภอตากใบอยู่ติดฝั่งทะเล อากาศจึงอบอุ่นสบาย มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน และฤดูร้อน ฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม อาชีพสำคัญมี การเกษตร การประมง การค้าชายแดน และอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่การทำไม้ไผ่ จักสาน การทำเสื่อกระจูด และการทำผ้าบาติก

ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวตากใบมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลามและคตินิยมพื้นบ้านดั้งเดิมเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย วัดพระพุทธและโคกอิฐที่ตำบลพร่อน สถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ท่าเรือ และตลาดตาบา เกาะยาวและหาดเสด็จซึ่งเป็นที่หาดทรายสะอาด สวยงาม



ประวัติการสร้างวัดชลธาราสิงเห

ตามที่ได้สืบสวนค้นคว้า และเล่าต่อเนื่องกันได้ความว่า ผู้ที่ได้สร้างวัดนี้ เดิมชื่อ ท่านพุด หรือพระครูโอภาสพุทธคุณ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2403  บริเวณป่าช้องแมวและป่าจากระหว่างพรุบางน้อยกับแม่น้ำตากใบ  จึงเรียกว่า วัดท่าพรุหรือวัดเจ๊ะเห   ในครั้งนั้นท่านพุดได้เดินทางมาถึงบริเวณดังกล่าว เห็นว่า พื้นที่เป็นป่ากว้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัย ที่ดินติดริมแม่น้ำตากใบมีทิวทัศน์สวยงาม อากาศดี   ต่อมาท่านก็เดินทางไปขอที่ดินต่อพระยาเดชานุชิต  ผู้ปกครองรัฐกลันตัน เพราะในสมัยนั้นอำเภอตากใบตกอยู่ในความปกครองของรัฐกลันตัน มลายู โดยมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมืองโกตาบารู  และพระยารัฐกลันตันได้อนุญาตให้ท่านสร้างวัด   แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อวัด เพียงแต่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า วัดเจ๊ะเห หรือวัดท่าพรุ  เพราะเดิมก่อนที่สร้างวัดมีท่าเรืออยู่ก่อนแล้ว  ชาวบ้านเล่ากันว่าเมื่อมาจากบ้านจะไปท่าเรือ ต้องข้ามพรุนาก่อนถึงท่าเรือ จึงเรียกว่าท่าพรุ บางพวกเรียกว่า วัดเจ๊ะเห ก็เพราะว่าแม่น้ำหน้าวัดต่อเนื่องมาจากหน้าหมู่บ้านเจ๊ะเห  เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  การสร้างวัดในระยะแรกเข้าใจว่า มีอาคารสร้างด้วยไม้ เช่น กุฏิ ศาลา และอุโบสถ  ต่อมาปี พ.ศ.2416 ท่านได้สร้างอุโบสถใหม่ โดยได้มอบหมายให้พระชัย วัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างและพระวินัยธรรมกับทิดมี ร่วมเขียนภาพในอุโบสถ พร้อมกับสร้างพระประทานและกำแพงแก้วล้อมรอบอุโบสถ



สมญานาม วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย

เหตุการณ์ตอนปักเขตแดน ระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2452 ว่าด้วยการจัดอำนาจของศาลกงสุลในการให้คนในบังคับของอังกฤษ ทั้งที่เป็นชาวฝรั่งและเอเซียขึ้นศาลไทย เพราะในสมัยก่อนหากประชาชนมีถ้อยความคดีกัน ต้องไปว่าความกันที่เมืองโกตาบารู ไทยจึงยอมเสียสละดินแดน 4 รัฐมลายู ให้แก่อังกฤษ ได้แก่ รัฐกลันตัน,ตรังกานู,ไทรบุรี(เคดาห์) และรัฐเปอร์ลิส พร้อมด้วยหมู่เกาะใกล้เคียง  แต่เขตแดนรัฐกลันตันในสมัยนั้นอยู่ที่บ้านสะปอม (ซึ่งอยู่เลยวัดชลธาราสิงเหระยะทาง ๒๕ กม.ไปในทิศทางเขตอำเภอเมืองนราธิวาส) เป็นจุดที่อังกฤษใช้ลากเส้นเขตแดน โดยใช้สันเขา และแม่น้ำเป็นแนวตามหลักสากล ซึ่งถูกพ่วงอำเภอตากใบ, อำเภอแว้ง, อำเภอสุไหงปาดี, อำเภอสุไหงโก-ลก เข้าไปด้วย นับว่าไทยเราเสียเปรียบมากเกินไป แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงทักท้วงและให้เหตุผลว่า  วัดชลธาราสิงเห เป็นวัดไทยคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอตากใน มีอาคารสถานที่และถาวรวัตถุเป็นแบบไทย ที่สร้างมาอย่างวิจิตรพิสดารทรงคุณค่าในเชิงศิลป์ ยากยิ่งที่คนต่างชาติสร้างสรรค์ได้  ประกอบกับท้องที่อำเภอตากใบมีวัด และคนไทยพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก   ดังนั้นดินแดนแถบนี้ควรอยู่ใต้การพิทักษ์รักษาของสยาม  ผลปรากฏว่า ฝ่ายอังกฤษยอมรับในเหตุผลนี้ โดยให้เอาแม่น้ำตากใบ-โกลก เป็นเขตแดน จึงนับว่า วัดชลธาราสิงเห ได้ช่วยพิทักษ์แผ่นดิน 4 อำเภอชายแดนไทยเอาไว้ ไม่ต้องตกเป็นของชาวต่างชาติมาตราบเท่าทุกวันนี้


ภาพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์โรปการ ผู้แทนฝ่ายไทย และนายราลฟี แปซยิด ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ  ลงนามในสนธิสัญญาไทย – อังกฤษ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2451 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

สนธิสัญญาไทย – อังกฤษ

ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451

สัญญาที่มีสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐบาลไทย ยกสิทธิการปกครองและการบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ
การโอนดินแดนดังกล่าวจะกระทำให้เสร็จภายใน 30 วัน หลังจากวันแลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน
รัฐบาลอังกฤษรับรองว่าเกี่ยวกับหนี้สินที่รัฐต่างๆมีต่อรัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้แทนให้อังกฤษยอมผ่อนคลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และอำนาจศาลกงสุลในไทย ซึ่งอังกฤษจะยกเลิกให้ทั้งหมดเมื่อไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้วเป็นเวลา 5 ปี
คนในบังคับอังกฤษจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนพื้นเมือง

สนธิสัญญาฉบับนี้มีภาคผนวกว่าด้วยการยกเลิกสนธิสัญญาลับ พ.ศ.2440 และว่าด้วยการสร้างทางรถไฟสายใต้ไว้ด้วย สนธิสัญญาฉบับ พ.ศ.2451 นี้ ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนประเทศราชมลายู 4 รัฐ อันประกอบด้วยรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเปอร์ลิส รวมเนื้อที่ประมาณ 15,000 ตารางไมล์ และพลเมืองกว่าห้าแสนคน   แต่ไทยสามารถยกเลิกสนธิสัญญาลับ พ.ศ. 2440 และผ่อนคลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้   นอกจากนี้ยังยุติความทะเยอทะยานของอังกฤษในแหลมมลายู และเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างไทยกับอังกฤษได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเทศไทยไม่ต้องกังวลต่อการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตกอีกต่อไป


ศาลาริมน้ำตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นศาลาโถงทรงมณฑปที่มีลักษณะงดงาม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคถึงอำเภอตากใบ แล้วเสด็จขึ้นประทับ ณ ศาลาริมน้ำหลังนี้เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันเรือและถวายปัตตุปัจจัยบำรุงวัด

พระอุโบสถ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2416 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด หันหน้าไปทางแม่น้ำตากใบซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา หลังคาเป็นชั้นซ้อนทางด้านหน้าและหลังคาของอุโบสถ มีชายคาปีกนกลดหลั่นกันลงมา 3 ชั้น มีเสานางเรียงทรงสี่เหลี่ยมรองรับเชิงชาย เครื่องบน ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประตูและหน้าต่างก่อเป็นซุ้มมงกุฎ มีกำแพงแก้วและใบเสมาล้อมรอบจำนวน 8 ซุ้ม

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นรูปปางมารวิชัยภายในซุ้มเรือนแก้ว นอกจากนี้ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องไตรภูมิ พุทธประวัติตอนต่างๆ เช่น เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และพระพุทธเจ้าโปรดพระพุทธบิดา เป็นต้น ภาพเทพชุมนุมและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนท้องถิ่นในอำเภอตากใบ



ภาพอุโบสถปัจจุบัน



ป้ายทางเข้าหน้าวัด



ศาลาริมน้ำปัจจุบัน



อาคารพิพิธภัณฑ์วัดปัจจุบัน


ภาพสุดประทับใจชาวบ้านในพื้นที่ตากใบช่วยกันตั้งเสาธงชาติไทยแสดงความจงรักภักดีที่ต่อประเทศชาติ

ภาพประทับใจ ชาวบ้านไทยมุสลิม ช่วยกันตั้งเสาธงชาติไทย ที่ปลายสุดด้ามขวาน ที่เกาะยาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อีกหนึ่งความประทับใจ ปลายสุดด้ามขวานทองที่ชาวบ้านรวมตัวกันยกเสาธงไตรรงค์ที่ทำจากไม้ต้นใหญ่ ถูกยกขึ้นพร้อมผืนธงชาติไทยเด่นสง่าบนชายหาด สร้างสีสันให้กับพื้นที่และยังเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีที่ต่อประเทศชาติ ที่เกิดขึ้นโดยลูกหลานชาวไทยปลายด้ามขวาน…





บทสรุป จะเห็นได้ว่า ดินแดนปลายสุดด้ามขวานของเราในเขต จ.นราธิวาส มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีตอย่างน่าสนใจ  จนเกือบจะต้องเสียดินแดน 4 อำเภอจากการปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามและนำมาสู่การลงนามในสนธิสัญญาเมื่อปี พ.ศ.2451   แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราชในการเจรจาต่อรองด้วยการยกเหตุผลของความสำคัญของพระพุทธศาสนา  โดยเฉพาะความเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะอย่างประณีตของวัดชลธาราสิงเห ซึ่งเคียงคู่กับชุมชนไทยที่ตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน  จนทำให้อังกฤษยอมปักปันเขตแดนตามลำน้ำตากใบ-โกลกตั้งแต่นั้นมา  พวกเราในฐานะอนุชนรุ่นหลังที่ได้รับมรดกที่มีคุณค่าของปลายด้ามขวานแห่งนี้  จึงสมควรที่จะต้องปกป้องรักษาอธิปไตยดินแดนแห่งนี้ไปตลอดกาล…….

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

= ที่นี่นราธิวาส =


เครื่องบินของสายการบินพาณิชย์ลดระดับเพดานบินลงบริเวณชายทะเลบ้านทอนจังหวัดนราธิวาส ที่ละลานตาด้วยเรือกอและของชาวประมงพื้นบ้าน ก่อนลงแตะรันเวย์เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานนราธิวาส ที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก 


ปัจจุบันการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะเดินทางไป-กลับ จากกรุงเทพมหานครโดยทางเครื่องบิน สู่จังหวัดนราธิวาส ได้เพิ่มเป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน เนื่องจากมีผู้ใช้บริการอย่างมาก ซึ่งจังหวัดนราธิวาสเป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นประตูสู่อาเซียน 


เพราะมีด่านชายแดนไทย-มาเลเซียถึง 3 ช่องทางเข้าออก นอกจากจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญแล้ว จังหวัดนราธิวาสยังอุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางธรรมชาติสวยงามอีกจำนวนมาก ที่คอยการเจียรนัยควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 


ทำให้การเดินทางโดยทางเครื่องบินจึงมีความสำคัญเพราะสะดวกทั้งระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก

 ------------------------

ภาพ จรูญ ทองนวล (Charoon Thongnual)

#จรูญทองนวล #NationPhoto

เหตุบึ้มปัตตานีคนร้ายมุ่งดิสเครดิตรัฐ ทำลายชีวิตและระบบเศรษฐกิจ


กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ชัดเหตุบึ้มปัตตานีโยงป่วน 7 จว.ใต้ รอสอบ เชื่อคนร้ายมุ่งดิสเครดิตรัฐ ทำลายชีวิตและเศรษฐกิจ

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 สน.) เปิดเผยกับสำนักข่าวว่า จากกรณีเหตุระเบิดรุนแรง 3 จุด ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบหาตัวคนร้าย ในเบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ว่าการกระทำดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับเหตุก่อกวนใน 7 จังหวัดภาคใต้หรือไม่เพราะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรสำหรับสืบหาหลักฐาน


แต่ทั้งนี้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคนร้ายมีเป้าหมายต้องการทำลายมากกว่าก่อกวน เพราะได้พลิกแพลงบริบทวิธีก่อเหตุด้วยการขโมยรถของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาใช้ เมื่อผู้ไม่หวังดีได้จุดระเบิดลูกแรกขึ้น ก็นำรถของ รพ.สต.เข้ามาในบริเวณดังกล่าว เพื่อลวงให้เจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนเข้าใจผิดว่า รถของโรงพยาบาลเข้ามาช่วยอพยพคนเจ็บ ก่อนจะจุดระเบิดซ้ำ ถือเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม



อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป้าประสงค์ของการทำลายครั้งนี้ คนร้ายมีความมุ่งหวังใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 
1.ต้องการทำลายชีวิตของผู้บริสุทธิ์ 
2.ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของอำนาจรัฐ 
3.ต้องการทำลายเศรษฐกิจ

การกระทำของคนร้ายในครั้งนี้ ที่มุ่งทำการก่อเหตุด้วยการลอบระเบิดคาร์บอมบ์ เป็นการกระทำที่ไม่แยกแยะเป้าหมาย จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะมีเด็กและสตรีจำนวนหลายรายที่ได้รับบาดเจ็บ และสตรี 1 รายที่ต้องมาสังเวยชีวิตจากการกระทำที่สุดโต่งของคนร้ายในครั้งนี้.

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“สองเท้าปั่นไป สองใจเดียวกัน”สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ลดความขัดแย้งในพื้นที่



วันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี นายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอโคกโพธิ์ เปิดกิจกรรมโครงการ สองเท้าปั่นไป สองใจเดียวกัน โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีนโยบายการปฏิบัตงาน ตามแผนปฏิบัติการ 4598 เพื่อต้องการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และส่งเสริมให้ประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา อยู่ด้วยกันด้วยความรัก ความเข้าใจ และสร้างความสมัคสมานสามัคคีภายใต้ความหลากหลาย ตลอดทั้งเป็นการส่งเสริมคุณค่าและการยอมรับ การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรมและป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อเหตุนแรง ใช้สังคมวัฒนธรรมที่มีลักษณะแตกต่างเป็นเงื่อนไขสร้างความรุนแรง


เป็นกิจกรรมในการส่งเสริมคุณค่าและการยอมรับการอยู่ด้วยกัน อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีโดยเท่าเทียมกัน สร้างกระบวนการการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ให้กับทุกฝ่ายเกิดความตระหนัก มีความเข้าใจลึกซึ้ง ยอมรับและเห็นคุณค่าของอัตลักษ์ทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่



รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติให้ประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นทางออกจากความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ได้จัดกิจกรรม สองเท้าปั่น สองใจเดียวกันขึ้น มีประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน ระยะทางการปั่น 18 กิโลเมตร เยี่ยมชมภูมิทัศน์ และสถานที่สำคัญในเขตพื้นที่รอยต่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และเขตอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา






------------------------

เดินหน้า “พูดคุยสันติสุข” ฝ่ายไทย-มาราปาตานีเห็นชอบ"ทีโออาร์" นัดหารือ 2 ก.ย.นี้


การพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทยและกลุ่มมาราปาตานีที่หยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในวันที่ 2 กันยายน2559 นี้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบเนื้อหาของกรอบการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ (ทีโออาร์)
วันที่ 22 สิงหาคม 2559 สำนักข่าวเบอร์นามารายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายไทยกับกลุ่มมาราปาตานีว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหารือกันอีกครั้งในต้นเดือนกันยายน หลังจากที่เห็นชอบในกรอบการพูดคุย (ทีโออาร์) ร่วมกันแล้ว
"ไทยพีบีเอส" ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในคณะพูดคุยสันติสุขของฝ่ายไทยที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นประธานเช่นกันว่า ฝ่ายไทยและมาราปาตานีเห็นชอบทีโออาร์ร่วมกันแล้ว และจะพบกันในวันที่ 2 ก.ย.นี้ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
การพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายไทยกับมาราปาตานีหยุดชะงักไปหลังการพูดคุยเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการที่ประเทศมาเลเซียครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ซึ่งฝ่ายไทยไม่ลงนามรับรองกรอบการพูดคุย ทำให้กลุ่มมาราปาตานีออกมาแสดงความผิดหวังต่อท่าทีของฝ่ายไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ฝ่ายไทยมีความกังวลซึ่งนำมาสู่การไม่ยอมลงนามในกรอบการพูดคุยหรือทีโออาร์ คือ ฝ่ายไทยต้องการเรียกกลุ่มมาราปาตานีว่า "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" ขณะที่กลุ่มมาราปาตานีต้องการให้ฝ่ายไทยยอมรับชื่อนี้ อีกประเด็นหนึ่งคือการที่ทีโออาร์ระบุถึง "สิทธิ์คุ้มกัน" (immunity) เพื่อรับรองว่าคนที่เข้ามาเป็นตัวแทนการพูดคุยของฝ่ายมาราปาตานีต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกดำเนินคดีอาญาระหว่างที่มีการพูดคุย
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากการพูดคุยเต็มคณะหยุดชะงักลงเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเพื่อปรับทีโออาร์ โดยฝ่ายไทยเสนอให้เขียนระบุไว้ต่างหากว่า "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย" หมายถึงกลุ่มมาราปาตานี ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิ์คุ้มกัน หรือ immunity สำหรับผู้แทนฝ่ายมาราปาตานีนั้น ฝ่ายไทยได้อธิบายให้มาราปาตานีเข้าใจแล้วว่า เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจร่วมกันแต่ฝ่ายไทยไม่สามารถบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เพราะจะหมายถึงฝ่ายบริหารก้าวล่วงอำนาจตุลาการ
สำนักข่าวเบอร์นามารายงานว่า นายอาบู ฮาฟิซ โฆษกมาราปาตานีเชื่อมั่นว่าการพูดคุยสันติสุขจะเดินหน้าต่อไปได้ในประเด็นสำคัญๆ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบทีโออาร์ร่วมกันแล้ว
ที่มา http://news.thaipbs.or.th/content/255090

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน กองทัพเรือ รดน้ำศพทหารกล้าชายแดนใต้...


นราธิวาส - ผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน กองทัพเรือ รดน้ำศพทหารกล้า ที่ จ.นราธิวาส ก่อนกลับบำเพ็ญกุศลบ้านเกิด พร้อมมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัว กว่า 1 ล้านบาท

วันนี้ 19 ส.ค. 59 เวลา 11.00 น ที่วัดโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พลเรือโท รัตนะ วงศ์ศาลโรจน์ ผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน กองทัพเรือ เป็นประธานพิธีรดน้ำศพพันจ่าเอก องอาจ สีหบุตร เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 32 เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดขณะปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทางพร้อมกำลังพล 8 นาย ด้วยการเดินเท้าในพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านดูกู ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยพันจ่าเอก องอาจ สีหบุตร ได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกสะเก็ดระเบิดเข้าบริเวณศรีษะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังจากเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์



โดยในพิธีรดน้ำศพเป็นไปอย่างโศกเศร้ามีการวางพวงหรีดจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ และของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมี พลตรี ชินวัตร แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พลตรี เอกรัตน์ ช้างแก้ว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส นาวาเอก นพดล ฐิตวัฒนะสกุล ผู้บังคับหน่วยนาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ นราธิวาส

นอกจากนี้ในพิธีรดน้ำมีการอบเหรียญบางระจันทร์ ประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ และมอบเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ เงินช่วยเหลือเยียวยาจากสถานการณ์ความไม่สงบ เงินช่วยเหลือจากกองทัพเรือ เงินช่วยเหลือจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เงินช่วนเหลือจากภาคเอกชนเพื่อผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสิ้น กว่า 1 ล้านบาท



อย่างไรก็ตามหลังจากเสร็จสิ้นพิธีรดน้ำศพจะมีการเคลื่อนศพ พันจ่าเอก องอาจ สีตบุตร กลับไปบำเพ็ญกุศลที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อไป.








------------------

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทุเรียนจากปัตตานีติดอันดับ 1 ในมหกรรมประกวดสุดยอดทุเรียนทั่วประเทศ


วันพุธที่ (17 สิงหาคม พ.ศ. 2559) นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมเกษตรจังหวัดปัตตานี และเกษตรกรชาวสวน จ.ปัตตานี นำทุเรียนคุณภาพ คัดเกรดชั้นเยี่ยม ผลักดันสู่ตลาดสูง โดยส่งทุเรียนคัดเกรดชั้นเยี่ยม (พรีเมียม) มาเข้าร่วมในมหกรรมงาน "บางกอกอะเมซิ่งทุเรียนเฟส 2016" ที่ Central Food Retail Group ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ ที่จัดให้มีการประกวดสุดยอดทุเรียนชั้นเยี่ยม จากสวนทุเรียนที่ดีที่สุดใน 4 ภาคทั่วประเทศ มาเพื่อประชันรสชาติและคุณภาพ

ซึ่งนับเป็นข่าวดีของชาวสวนจังหวัดปัตตานี หลังจากทุเรียนจากปัตตานี ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากนักชิม และผู้บริโภคชาวไทย และชาวจีน ว่ามีคุณภาพติดอันดับ 1 ใน 5 อันดับ เพราะมีสีทองสวย มีรสชาติที่กลมกล่อม หวานนุ่ม แป้งน้อย กลิ่นหอมหวาน อร่อยละมุนลิ้น ได้อรรถรส

ชาวปัตตานีมั่นใจว่าเกิดจากเพราะเน้นการปลูกตามธรรมชาติ จากแหล่งผลิตเฉพาะของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนบ้านทรายขาวออก ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งบริเวณที่ชาวสวนปลูก เป็นพื้นที่เชิงเขา มีแร่ธาติอย่างดี เหมาะสมกับ สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมของป่าเขา จึงทำให้ทุเรียนที่นี่มีรสชาติ และเนื้อดีไม่เป็นรองใคร

ขณะที่ รัฐพร้อมที่จะปรับระดับเกษตรกร ให้ความรู้เพิ่ม ดูแลกลไกการตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต และกระจายผลผลิตให้เป็นที่ต้องการสู่ตลาดทั่วไปมากขึ้น


นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การนำทุเรียนปัตตานีดันขึ้นสู่ตลาดในครั้งนี้ เป็นการนำของดีจากปัตตานีไปเสนอให้ตลาดชั้นบนได้รับรู้ เป็นที่รู้จักพร้อมวัดคุณภาพว่า เป็นของดีอย่างหนึ่งของปัตตานี ปรากฏว่า เป็นที่ถูกใจได้รับผลตอบรับอย่างดี จากนักชิม ให้รสชาติอยู่ในลำดับต้น ติดอันดับ 1 ใน 5

หลังจากนี้ จะนำไปดำเนินสู่การพัฒนา ส่งเสริมเกษตรกร จัดการสวนเกษตรให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยมีโครงการเพื่อให้เกิดเป้าหมาย 4 ทาง คือ การเพิ่มรายได้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การผลักดันกลไก การตลาด การควบคุมราคาให้ความสำคัญกับเกษตรกร ไม่ถูกเอาเปรียบ  ส่งเสริมการเกษตรเรื่องให้องค์ความรู้เพื่อดูแล ควบคุม การจัดการ สวยงาม ทั้งด้านรสชาติ ผลผลิตให้ได้มาตรฐานและ ผลักดันเกษตรกรชาวสวนทุเรียนของปัตตานี และเป็นแบรนด์ที่รู้จักเปิดตลาดให้ทั่วถึงต่อไปในอนาคต


นักปอกทุเรียนจาก บ้านทรายขาว จ.ปัตตานี ร่วมปอกทุเรียนให้กับลูกค้า และนักชิมทุเรียนจากประเทศจีน (เบนาร์นิวส์)

ดีใจมากที่ทุเรียนบ้านเราติดอันดับไม่เป็นรองใคร มั่นใจว่า หลังจากนี้ ตลาดต้องการทุเรียนจากปัตตานีอีกจำนวนมาก สำหรับทุกเรียน บ้านทรายขาวออก ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ในอดีต นายเลื่อน อภิวัฒนางกูร อายุ 83 ปี ชาวสวนทรายขาวเคยนำทุเรียนถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาแล้วด้วย มั่นใจว่าพวกเราจะสามารถพัฒนารสชาติให้ดีเช่นนี้ตลอดไปได้ นายอารอฟัต อาบะ ชาวอำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์


ในอดีต ทุเรียนบ้านเราไม่ค่อยเป็นที่สนใจนัก ตลาดส่วนใหญ่จะสนใจทุเรียนจากภาคอื่น ทำให้ทุเรียนที่นี่ไม่มีตลาดที่ต้องการ ชาวสวนทุเรียนต้องทิ้งให้เน่าเสียมาตลอด ขาดทุนทุกปีเพราะราคาไม่ดี จึงเกิดการพัฒนาและผลักดัน จนทำให้ติดอันดับที่ 1 ก็รู้สึกไม่น้อยหน้าใครแล้ว และมั่นใจว่าเป็นที่ต้องการของตลาดแน่นอนนางแมะซง คาเดร์ ชาว อ.โคกโพธ์ จ.ปัตตานี กล่าว


----------------------

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ภาพสุดประทับใจ‬ ชาวบ้านในพื้นที่ตากใบ ช่วยกันตั้งเสาธงชาติไทย แสดงความจงรักภักดีที่ต่อประเทศชาติ


#ภาพประทับใจ ชาวบ้านไทยมุสลิม ช่วยกันตั้งเสาธงชาติไทย ที่ปลายสุดด้ามขวาน ที่เกาะยาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อีกหนึ่งความประทับใจ ปลายสุดด้ามขวานทองที่ชาวบ้านรวมตัวกันยกเสาธงไตรรงค์ที่ทำจากไม้ต้นใหญ่ ถูกยกขึ้นพร้อมผืนธงชาติไทยเด่นสง่าบนชายหาด สร้างสีสันให้กับพื้นที่และยังเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีที่ต่อประเทศชาติ ที่เกิดขึ้นโดยลูกหลานชาวไทยปลายด้ามขวาน







Cr.ภาพ : Ratchata HJ Manood