วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

โรตีพิซซ่าเบตง เมนูอาหารฟิวชั่นกับสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงโควิด 19

         ในยามเศรษฐกิจย่ำแย่ ใครที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ จะถือว่าเดินแต้มเหนือกว่า อีกทั้งยุคที่โซเชียลกำลังมีอิทธิพลกับทุกคน รวมทั้งธุรกิจต่างๆ ความไวและไอเดียที่บรรเจิดกว่า จะทำให้ธุรกิจนั้นๆดูโดดเด่น ส่งผลให้บรรดาร้านค้าร้านอาหารต่างพากันหาวิธีสร้างสีสันเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่นเดียวร้านโรตีพิซซ่า ในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เป็นอีกหนึ่งร้านที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับ สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีโควิด 19


        นางซัมเราะ วาเลาะ อายุ 55 ปี แม่ค้าขายโรตีพิซซ่า เปิดเผยว่า โรตีพิซซ่าได้สูตรจากญาติๆที่อยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นแผ่นโรตีอาหรับ แป้งบางๆ ไม่อมน้ำมัน ก่อนจะโรยหน้าเครื่องแน่นๆ กรอบ นุ่ม สไตล์อิตาเลียน ที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา เพราะเมนูนี้สามารถประยุกต์ใส่วัตถุดิบต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ โดยวัตถุดิบทุกอย่าง ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและพิถีพิถัน ส่วนซอสที่ใช้ก็ปรุงสดใหม่วันต่อวัน สามารถเลือกหน้าพิซซ่าได้ 2 หน้า คือ หน้าซีฟู้ด Seafood และหน้าฮาวายเอี้ยน Hawaiian ขายในราคา 25 บาท ที่ใคร ๆ ก็สามารถซื้อได้ เป็นราคาที่จับต้องได้ โดยจะขายตามงานและตามตลาดนัดในพื้นที่ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ได้ลิ้มลองโรตีพิซซ่าอดไม่ได้ต้องหิ้วกลับบ้านทุกราย




วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"ห้องอาหารตำรับสองเล" อาหารพื้นถิ่นสงขลา

         วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา เดินหน้ายกระดับสถานศึกษาในการขับเคลื่อนอาหารพื้นถิ่นสงขลา สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ่านศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นสงขลา " #ตำรับสองเล" ขานรับนโยบาย " #สงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก" มาฝากกันค่ะ

         นายมนัสฌาน์ ชูเชิด ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กำหนดนโยบายในการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) โดยมุ่งเน้นยกระดับการเรียนการสอนวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษา ระดับอาชีวศึกษา จึงได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของครู นักเรียนและนักศึกษา สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ที่ตอบโจทย์นโยบายในการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยจัดตั้ง "ศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นสงขลา" และ "ห้องอาหารตำรับสองเล" เพื่อพัฒนาหลักสูตรอาหารพื้นถิ่นสงขลา โดยการสร้างมูลค่าและความโดดเด่นให้กับอาหารพื้นถิ่นสงขลา นำมาบริการในรูปแบบ Chef’s Table ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาครู ผู้เรียน ตลอดจนประชาชนที่สนใจให้มีศักยภาพในการสรรค์สร้างมนูอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับสถานศึกษาในการขับเคลื่อนอาหารพื้นถิ่นสงขลามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สอดรับกับนโยบาย "สงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก"


         โดยเฉพาะเมนูอาหารพื้นถิ่น (The Local of Singora Set) ประกอบด้วย 4 เมนู ได้แก่ 1.ยำแตงกวาปลาฟู 2.ซุปแกงเลียงยอดมะพร้าวปลาย่าง 3.ครีมพูเร่จำปาดะ และ 4.ข้าวหุงดอกดาหลาแกงปักษ์ใต้ โดยศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อหารพื้นถิ่นสงขลา จะเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติวิชาชีพในสาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาการตลาด และสาขาอื่น ๆ



วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ล่องยะลา...พากิน..พาเช็คอินที่ร้าน De Mango Restaurant

         วันนี้มีร้านเด็ดที่ต้องเม้าท์แรงๆว่าพลาดไม่ได้ อร้ายยย....อะไรกันเนี่ยะ ร้านอาหารหรูใจกลางเมือง แอร์เย็นฉ่ำ มีมุมสบายๆ มุมถ่ายรูปเก๋ๆ อาหารอร่อยมาก ย้ำว่าอร่อยจริงๆ ไม่เม้าท์ไม่ได้เพราะขายดีเว่อร์ ตกเดือนละ 300,000 บาท ย้ำว่า 3 แสนบาทต่อเดือน!! อยากรู้ใช่ไหม งั้นอย่ารอช้า!! เพราะวันนี้ล่องใต้ชายแดนพามาล่องยะลาอีกครั้ง มาอัพเดตร้านอาหารกับช่วง พากิน สนองความอยากที่ร้าน De Mango Restaurant (เดอ แมงโก้ เรสเตอรอง) ร้านอาหารสไตล์โมเดิร์น ชวนมาลิ้มลองรสชาติอาหารที่อร่อยแบบนุ่มลึก มาด้วยมุมเซลฟี่ที่ได้ทุกตารางเมตร


         ร้าน De Mango Restaurant ตั้งอยู่ที่ผังเมือง 4 ซอย 5 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ร้านอาหารสไตล์โมเดิร์น บรรยากาศอบอุ่นที่รายล้อมไปด้วยความรักแบบครอบครัว โดยสามารถเลือกเมนูอาหารทั้งไทย อิตาเลี่ยน และเมนูปักษ์ใต้บ้านเรา โดยเฉพาะอาหารอัตลักษณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมนูอาหารพื้นบ้านที่เป็นเมนูเด็ดประจำร้าน อาทิ นาซิกาบูดาระ เนื้อทอดตูมิลาดอ ต้มส้มปลากระบอก ต้มขมิ้นปลากระบอก บูดูทรงเครื่อง เป็นต้น หรือจะเป็นอาหารขึ้นชื่อทั่วไปทั้งเมนูลาบ เมนูยำ เมนูแกง เมนูผัด เมนูทอด เมนูเส้น และ เมนูตำ หรือจะเลือกประเภทเครื่องดื่มสดชื่น ชื่นใจ ทั้งแบบร้อนและแบบเย็นก็เลือกดื่มได้อีกมากมาย บรรยากาศดี ร้านน่านั่ง ยกมาทั้งครอบครัว ชวนเพื่อนมาเม้าท์ หรือชิลล์กันสองคนก็ได้ หลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่าทำไม De Mango Restaurant (เดอ แมงโก้ เรสเตอรอง) ถึงได้มีอาหารหลากหลายให้เลือก ล่องใต้ชายแดน...ช่วงพากิน....ลัดเลาะเข้าครัวพูดคุยกับ กะนุช เจ้าของร้าน De Mango Restaurant ทันที


        คุณนูไอนี เสมอภพ หรือ กะนุช เจ้าของร้าน De Mango Restaurant กล่าวว่า เป็นคนที่ชอบทำอาหารและมีความสุขทุกครั้งที่ทำไปแล้วคนทานชอบ การได้ทำอะไรที่ชอบและทำให้อร่อยก็สามารถสร้างความสุขได้แล้ว ซึ่งก่อนที่จะเปิดร้าน De Mango Restaurant กะนุช เคยทำงานบริษัทมานานนับสิบปี และเคยทำงานโรงงานขนมไทยมาก่อนด้วย ระหว่างทำงานก็มักจะมีเพื่อนร่วมงานหรือคนที่รู้จักจะสั่งให้ทำอาหารทั้งอาหารกล่อง ขนมไทยต่างๆ และเมื่อลูกค้าได้ทานก็จะได้รับเสียงชมมาทุกครั้งว่าอร่อย ต่างคนต่างเชียร์ว่าเปิดร้านเถอะหากจะทำอร่อยขนาดนี้ จนเกิดเป็นแรงผลักดันทำให้เกิด De Mango Restaurant ขึ้นมา


        
กะนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะเริ่มเปิดร้านก็ได้ไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหาร การปรุงแต่งอาหารให้มีรสชาติอร่อย ในรูปแบบต่างๆเพื่อพัฒนาฝีมือให้ดีมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็ได้ไปตรวจสอบและลองชิมเมนูต่างๆของร้านอาหารแต่ละที่ ผลปรากฏว่าร้านอาหารในพื้นที่ จ.ยะลา เปิดเป็นจำนวนมากแต่ก็ยังไม่มีร้านอาหารแบบสไตล์โมเดิร์นจึงได้ผุดไอเดียนี้ขึ้นมา โดยเมื่อก่อนนั้นร้านนี้เป็นบ้านหลังเก่าๆ จนได้มีการรีโนเวทใหม่ทั้งหมดให้เป็นร้านใหม่สไตล์โมเดิร์น ให้ทุกมุมภายในร้านสามารถถ่ายรูปได้ ส่วนการออกแบบและตกแต่งร้านนั้นออกแบบโดยคุณรุสสลัน เสมอภพ ซึ่งเป็นสามีของกะนุชเป็นคนออกแบบเองทั้งหมด งบประมาณที่ใช้ในการสร้างร้านทั้งหมด 1,000,000 บาท การจัดร้านก่อนหน้านั้นจะแบ่งเป็นโซนอาหารแบบติดแอร์ และแบบ open แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการปรับปรุงให้เป็นโซนแบบติดแอร์ทั้งร้าน ส่วนมุมที่ดึงดูดลูกค้าและเป็นที่มุมโปรดสำหรับเซลฟี่จะอยู่ด้านหน้าของร้าน ในช่วงกลางคืนจะมีความโดดเด่นมาก แสงไฟตกกระทบเกิดความสวยงามที่มองเห็นตั้งแต่ไกล เหมาะสำหรับในการถ่ายรูปเป็นอย่างมาก ร้านที่นี่เน้นออกแบบมาให้ดูหรูหรา ส่วนความพิเศษของร้านนี้คือเป็นร้านอาหารฮาลาล มีอาหารอัตลักษณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญการบริการของพนักงานมีความเป็นกันเอง ลูกค้าแต่ละท่านจะประทับใจเพราะว่าทางร้านได้ใส่ใจในการบริการเป็นอย่างดี การแต่งกายของพนักงานนั้นจะแต่งกายเรียบร้อยแบบชุดไทยสไตล์มลายู จะแต่งกายทุกๆวันจันทร์กับวันศุกร์


       สำหรับอาหารของทางร้านทุกเมนูจะประดับตกแต่งด้วยดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำร้าน ลูกค้าที่จะมาทานอาหารส่วนมากจะเป็นระดับหน่วยงานต่างๆจะมาเป็นแบบครอบครัว แบบวัยทำงาน และยังมีลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาทานอาหารด้วย ตั้งแต่เปิดร้านมาลูกค้าเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย สร้างรายได้ต่อเดือนประมาณ 300,000 บาท หากใครอยากจะลิ้มลองความอร่อยแบบหรู แวะมาได้ที่ร้าน De Mango Restaurant ร้านจะเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 21.00 น. ต้องการสั่งซื้ออาหารกลับบ้านที่นี่ก็มีบริการด้วยเช่นเดียวกัน โดยร้านจะหยุดทุกๆวันพุธ หากใครไม่อยากพลาดก็กดเข้าไปติดตามได้ที่ facebook เพจ De Mango หรือใครจะจัดเลี้ยง ประชุม สัมมนาเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป ก็สามารถจองโต๊ะล่วงหน้าได้ สอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 088-273-5310


        เป็นยังไงกันบ้างคะ คิดว่าหลายคนเริ่มจะจดรายการอาหารแล้วแน่ๆ ถ้าไม่อยากพลาดต้องไปเช็คอินแล้วมาบอกกันบ้างน๊าเอาเป็นว่าเรื่องงานเม้าท์ งานกิน ขอให้บอกล่องใต้ชายแดน.....พากิน ....มีให้ติดตามได้ตลอด คราวหน้าเราจะพาไปที่ไหน ร้านอะไร ของเด็ด ของดี ซอกซอยไหน ต้องติดตามกันต่อไป บ๊ายยยยย

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สุไหงโกลก...มาที่เดียวเหมือนได้เที่ยวจุดเช็คอินสำคัญทั้งจังหวัด

       ช่วงนี้มาตรการผ่อนคลายของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาเยือนสุไหงโก-ลก เพื่อพบกับบรรยากาศของเมืองสุไหงโก-ลกและมาเที่ยวชมศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาคารแสดงสินค้าและโอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก หน้าด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพราะที่นี่ได้ปรับโฉมใหม่โดยเปิดนิทรรศการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านภาพวาดสื่อถึง ชาติ ศาสนาและ พระมหากษัตริย์ และสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดนราธิวาส อาทิ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล อำเภอระแงะ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ เรือกอและจำลอง และที่ พลาดไม่ได้คือการเดินข้ามสะพานสาคูที่จำลองลักษณะเด่นของระบบนิเวศน์วิทยาที่สมบูรณ์ที่สุดของป่าพรุสิรินธรมาไว้ที่นี่ ทั้งนี้สามารถเข้าเที่ยวชมได้ฟรีทุกวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น.โดยมีบริการให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว, สอบถามเส้นทางการเดินทางในพื้นที่, เช็คอินถ่ายภาพ,ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว,ให้บริการห้องน้ำ/ห้องละหมาด และน้ำดื่ม 



         การเข้ามาเยือนและถ่ายภาพคู่กับสถานที่สำคัญๆของจังหวัดนราธิวาสที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาคารแสดงสินค้าและโอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ถือเป็นความคุ้มค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะภาพ 1 ภาพสื่อถึงคุณค่าทางจิตใจล้านความรู้สึก



        นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบจึงเตรียมทำแพ็คเกจสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะแบบOne Day Trip ที่พานั่งรถรางเที่ยวชมเมืองสุไหงโก-ลก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาคารแสดงสินค้าและโอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก พร้อมอาหารท้องถิ่นในราคาสุดประหยัด ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการพาไปเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนและสินค้าโอทอปในพื้นที่ อาทิ โรงงานโรตีแช่แข็งอาสฮาโรตี ที่มีโรตีน้ำแกงรสเด็ด โรงงานน้ำพริกแห้งฮานาซามา ที่มีน้ำพริกแห้งตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ กับบ๋วยหลุมพีผลไม้ขึ้นชื่อของท้องถิ่น ผ้าปาเต๊ะพิมพ์มือหนึ่งเดียวที่ยังคงเอกลักษณ์การทำผ้าปาเต๊ะโบราณ เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอีกทางหนึ่ง หรือหากต้องการแพ็คเกจท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆก็สามารถแจ้งความประสงค์มาได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โทร.073-611006 ในวันและเวลาราชการ โดยห้วงนี้ขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เช็คอินแอปพลิเคชั่นไทยชนะ หรือลงทะเบียนในสมุด เว้นระยะห่างทางสังคมขณะอยู่ภายในอาคาร






วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เฉาก๊วยสูตรดั้งเดิมเจ้าเก่าเมืองเบตง

       อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถือเป็นใต้สุดแดนสยาม ด้วยความที่เป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิต ที่สำคัญคืออำเภอเบตง เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งเด่นเรื่องวิถีการกินอยู่ อย่างมีคุณภาพ สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้เมื่อได้มาเยือน ก็คือการได้ชิมขนมหวานที่ขึ้นชื่อควบคู่กับเมืองเบตงมายาวนาน นั่นก็คือเฉาก๊วยเบตง กม.4 หรือวุ้นดำ เจ้าแรกบ้านไม้ เป็นเฉาก๊วยสูตรดั้งเดิม จากการดำเนินกิจการสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นร้านเฉาก๊วยเจ้าเก่าเบตงตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 25 - 26 ม. 1 ต. ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ห่างจากตัวเมืองเบตงมาตามถนนสาย 410 ยะลา เบตง ประมาณ 4 กิโลเมตร ตรงสามแยกปากทางเข้าบ้านบ่อน้ำร้อนเบตงเป็นร้านเฉาก๊วยเจ้าเก่าเจ้าแรกของเมืองเบตงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะจริงๆที่ยังคงครองความโบราณไว้ให้นักท่องเที่ยวผู้ที่มาเยียนเบตงได้แวะเยี่ยมชมและรับประทานเฉาก๊วยซึ่งเป็นเฉาก๊วยที่ขึ้นชื่อลือนามและมีชื่อเสียงที่ควบคู่กับเมืองเบตงมายาวนานแสนนานเกือบ 40 ปีเลยที่เดียวและเป็นที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลายที่เป็นอีกหนึ่งของดีที่อยู่คู่กับเมืองเบตงเมืองในหมอกดอกไม้งาม มาเป็นเวลานาน

         สุมิตรา อนันตสิทธิกุล เจ้าของร้านเผยว่าร้านเฉาก๊วย (วุ่นดำ) เป็นร้านดั้งเดิม (จะสังเกตได้จากความดำของไม้ที่เกิดจากการจุดเตาต้มหญ้าเฉาก๊วย) ตั้งแต่รุ่นแรกมาจนถึง รุ่นที่ 3 ปี 2527 นายวู่หมิ่น แซ่ลิว ผู้เป็นพ่อ ได้สืบทอดตำนานความอร่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นธุรกิจของครอบครัว ที่แสดงให้เห็นถึงความรักความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ทำให้รุ่นลูก ส่งผ่านกิจการ ในรูปแบบของอาหารการกินได้อย่างยอดเยี่ยม และสร้างชื่อเสียงสร้างรายได้ ให้แก่ตัวเองและครอบครัว ด้วยความมุ่งมั่นตนและสามีพร้อมพี่สาวสนใจกับสิ่งที่ได้เรียนรู้เรื่องทำเฉาก๊วยมาจากคุณพ่อมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน วิธีการทำเฉาก๊วยก็จะนำเอาไม้เฉาก๊วยที่นำเข้ามาจากเมืองจีนเอามาใส่ถังต้มวันละสองถัง ต้มนานประมาณ 5 ชม. จากนั้นก็จะคั้นเอาน้ำอีก 1 ชม. และเมื่อได้น้ำที่คั้นแล้วก็นำมาเคี่ยวต้มกวนในกระทะใบใหญ่พร้อมใส่แป้งมันที่ผสมน้ำไว้เรียบร้อยแล้วต่อมาก็ทำการกวนอีก 1 ชม. รวมแล้วประมาณ 7 ชม. ต่อน้ำเฉาก๊วย 1 กระทะ ทำวันละ 2 กระทะจนกว่าจะได้เนื้อเฉาก๊วย (วุ่นดำ) ประมาณ 200 กิโลกรัม ต่อวันก็จะใช้เวลากวนนานหลายชั่วโมง🎗️📌กว่าจะได้ออกมาเป็นเฉาก๊วยที่อร่อยพร้อมนำออกจำหน่ายในวันต่อไป ส่วนสรรพคุณของเฉาก๊วย ก็จะช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้คลื่นไส้ เบื่ออาหารช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อน ร้อนใน ลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ อาการตับอักเสบ ลดอาการไขข้ออักเสบ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้หากนำต้นเฉาก๊วยมาต้มให้เดือดแล้ว นำน้ำเฉาก๊วยมาดื่มเป็นประจำจะช่วยลดอาการของความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานได้อีกด้วย


          สุวณีย์ จันทร์ปิตุจาก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ บอกว่าตนพร้อมเพื่อนได้มาเที่ยวที่ อ.เบตงได้รู้จักขนมหวานเฉาก๊วยเจ้าเก่าบ้านไม้ กม.4 จากการแนะนำจากเพื่อนร่วมงานพามาทานเฉาก๊วยเจ้าเก่าดั้งเดิมที่ อ.เบตง ยอมรับว่าเฉาก๊วยเจ้าเก่าของเค้าอร่อยมากจริง ๆ เคยทานเฉาก๊วยที่อื่น ๆ ที่ไหน ๆ ก็สู้เฉาก๊วยของเบตงไม่ได้ อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่ อ.เบตง แล้วลองแวะทานเฉาก๊วยเจ้าเก่า กม.4 บ้านไม้อร่อยจริง ๆ


         ผู้ที่สนใจต้องการเฉาก๊วยโทรสั่งจองได้โดยตรงกับทางร้าน โทร.063-9659499 ในราคาปลีกถุงละ 1กิโล 60 บาทพร้อมน้ำเชื่อม 1 ขวด ไม่รวมค่าจัดส่ง

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“ปลากะพง 3 น้ำ ทะเลสาบสงขลา” อัตลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก

          สำหรับ ปลากะพง 3 น้ำขึ้นชื่อว่า เป็นปลากะพงที่มีเนื้อดี รสชาติอร่อยที่สุด เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ และมีกระแสน้ำไหลเวียนทำให้ปลาว่ายน้ำออกแรงอยู่ตลอด นั่นคือ ทะเลสาบสงขลา ที่พิเศษ มี 3 น้ำคือน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย ทำให้มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับปลากะพงสงขลาเลี้ยงด้วยอาหารสด จึงทำให้ปลาที่นี่เนื้อแน่น น้ำหนักเนื้อมาก เนื้อมีความหวานฉ่ำปลากะพง มีคุณค่าทางอาหาร และมีรสชาติที่ยอดเยี่ยมที่สุด สามารถทำเมนูอาหารได้หลากหลายทั้งแกงส้ม ต้มยำ นึ่งมะนาว ต้มเผือก ทอดน้ำปลา ผัดคื่นช่าย ผัดเครื่องแกง ฯลฯ




          ส่วนหนังปลากะพงขาว สามารถนำมาแปรรูปโดยนำมาตากจนแห้ง ก่อนที่จะนำมาทอดกรอบ ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงเพิ่มรสชาติ ให้อร่อยกว่าเดิม ด้วยรสชาติดั้งเดิม รสมันเค็ม และรสเผ็ด หนังปลากะพงขาวทอดกรอบ มีคุณค่าทางโภชนาการ กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ร่างกายของมนุษย์ย่อยได้ ให้สาร DHA และ โอเมก้า 3 อีกด้วยค่ะ


วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“หินล้านงาม ตาชี” สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ จ.ยะลา

        กลุ่มรักบ้านเกิด บูเกะโต๊ะบีแด  กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ พร้อมด้วย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เนชั่นทีวี เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชน ได้ร่วมกัน ปลูกต้นไม้ทำดีเพื่อแม่ เนื่องในวันแม่ 12 สิงหาคมแห่งชาติ


กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น สืบเนื่องจาก พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มอบพันธุ์กล้าไม้สะตอ ยางนา พะยอม มะฮอกกานี กฤษณา และมะขาม 1,000 ต้น แก่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา และประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปปลูกบนเขาบูเกะโต๊ะบีแด ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชมวิว ดูทะเลหมอกยามเช้าแห่งใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้


          สำหรับเขาโต๊ะบีแด ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.ตาชี เป็นเขาที่มีลานหินกว้าง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ฝั่งอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีจุดไฮไลท์ที่สำคัญ คือ ในช่วงกลางวันจะได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ช่วงเย็นจะได้เห็นดวงตะวันลับขอบฟ้า และในส่วนภาคกลางคืนจะได้เห็น แสงจันทร์ แสงดาว และแสงไฟระยิบระยับจากชุมชนเชิงเขา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งใหม่ของเยาวชนในพื้นที่ และ มีนักท่องเทียวจากในพื้นที่และต่างพื้นที่รวมถึงจากเพื่อนบ้าน เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมาก


         น.ส.รอกีเยาะ อาบู ประธานกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบูเกะโต๊ะบีแด ม.5 ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้ ทางกลุ่ม ร่วมกับ ชุมชน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และกลุ่ม ผู้สื่อข่าว ร่วมกันปลูกต้นไม้ นอกจากนี้ ทางชุมชนยังได้รับ ถุงบรรเทาความเดือดร้อนจาก พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกด้วย ทางชุมชน จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรมทำดีเพื่อแม่ ในครั้งนี้ รวมทั้ง ทาง ศอ.บต. ที่เห็นความสำคัญ กลุ่มเล็กๆที่มีสมาชิก 100 กว่าคน ที่ร่วมพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความสงบสุข 

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2563

แปรรูปสมุนไพรท้องถิ่นเป็นของใช้ลดรายจ่ายในช่วงโควิด-19

        สมุนไพรที่ปลูกได้ในท้องถิ่น ล้วนสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลายวิธี นอกจากจะหาได้ง่ายและราคาถูกแล้ว ที่สำคัญยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา หันมาปลูกสมุนไพรและใช้สมุนไพรที่มีในการแปรรูปผลิตภัณฑ์มาเป็นของใช้เพื่อการอุปโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ สบู่ก้อนสมุนไพร สบู่เหลวอาบน้ำ ครีมบำรุงผิวสมุนไพร แชมพูสมุนไพร และน้ำยาล้างจาน เป็นต้น

        นางสุธี เทพสุริยวงศ์ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยชุมชนสงขลา กล่าวว่า จากเดิมวิทยาลัยชุมชนสงขลา ได้ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรตำบลบ้านโหนด ในการศึกษาข้อมูลการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรภายในชุมชน และนำไปสู่การแปรรูปสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรค จากนั้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการลดรายจ่ายภายในครัวเรือน ถึงแม้รายได้จะลดลงแต่รายจ่ายยังคงมีเพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีแนวคิดตรงกันในการนำเอาสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ ประโยชน์ในครัวเรือน โดยทางวิทยาลัยชุมชนสงขลาได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ และเน้นในเรื่องความปลอดภัยไร้สารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย


        นางปราณีต ไชยม่อม สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรตำบลบ้านโหนด กล่าวว่า ได้ใช้เวลาว่างหลังเสร็จจากกรีดยางพารา มารวมกลุ่มกับชาวบ้านที่มีความสนใจการแปรรูปพืชสมุนไพร ในครัวเรือนให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตที่สำคัญของกลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านโหนด นั้นคือ การนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ใบย่านาง ใบบัวบก ใบเตยหอม ว่านหางจระเข้ ตะไคร้ ขมิ้นชัน ผิวมะกรูด อัญชัน เข้ามามีบทบาทในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการพัฒนาและนำไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพ ออกสู่ท้องตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกอีกช่องทางหนึ่ง ก่อให้เกิดความเข็มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป