วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

เปิดแล้ว "ทุ่งปอเทือง ธารโต" แหล่งท่องเที่ยวใหม่ จังหวัดยะลา


วันนี้ (31 ม.ค. 60) ทุ่งปอเทือง เมืองธารโต ที่โรงเรียนธารโตวัฑฒนวิทย์ ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ได้เริ่มออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่ง แล้ว ในช่วงนี้ หลังจากที่ครูและนักเรียนได้ร่วมกันปลูกปอเทือง ที่บริเวณริมถนนเส้น 410 ยะลา-เบตง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะแวะชม และถ่ายภาพเก็บความสวยงามของทุ่งปอเทืองไว้เป็นที่ระลึก


โดยผู้อำนวยการโรงเรียนธารโตวัฑฒนวิทย์ นายนพปฎล มุณีรัตน์ กล่าวถึงที่มาของการปลูกทุ่งปอเทือง ว่า สิ่งสำคัญก็อยากจะให้นักเรียนได้ศึกษา เรียนรู้วิธีการปลูก รู้จักประโยชน์และคุณค่าของต้นปอเทือง ซึ่งนอกจากปอเทืองจะมีความสวยงาม และสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เมืองธารโต แล้ว ยังมีประโยชน์อีกหลายอบ่าง เนื่องจากต้นปอเทือง เป็นพืชในตระกูลถั่วที่นิยมปลูกมาก สำหรับเป็นอาหารโค กระบือ รวมทั้งเป็นปุ๋ยพืชสด ซึ่งจะนิยมปลูกในช่วงของต้นฤดูฝนก่อนที่จะไถ กลบหรือเก็บเกี่ยวก่อนที่จะปลูกพืชหลัก รวมทั้งยังสามารถปลูกเพื่อป้องกันหน้าดินพังทลาย อีกด้วย


ทั้งนี้ ประชาชนที่เดินทางสัญจรไปมา โดยใช้เส้นทางสาย 410 ยะลา-เบตง สามารถแวะชม และมาสัมผัสความสวยงาม เก็บภาพทุ่งปอเทืองเมืองธารโต ไว้เป็นที่ระลึกได้ ที่ทุ่งปอเทืองโรงเรียนธารโตวัฑฒนวิทย์ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา




เชิญแวะชม แหล่งท่องเที่ยวใหม่ รับรองมาที่แห่งนี้แล้วจะติดใจในบรรยากาศเย็นสบายที่ล้อมด้วยหุบเขา ป่าไพรและผู้คนที่เป็นมิตรครับ.

-------------------

ขุนจรรยาวิธาน (ยูโซะ มะโรหบุตร) ผู้บุกเบิกการเรียนภาษาไทยให้กับเด็กไทยมุสลิม


ขุนจรรยาวิธาน มีนามเดิมว่า ยูโซะ มะโรหบุตร เกิดเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ.2442 ที่บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นบุตรนายหวัน อับดุลลาห์ กับนางฟ้อ อับดุลลาห์ ปู่ของขุนจรรยาวิธาน เป็นบุตรบุญธรรมของตนกูบอซู เจ้าเมืองปัตตานี ดังนั้นขุนจรรยาวิธานจึงมีศักดิ์เป็นหลานบุญธรรมของเจ้าเมืองปัตตานีด้วย
เด็กชายยูโซะ มะโรหบุตร เป็นหนึ่งในสามคนไทยมุสลิมชุดแรกที่เรียนหนังสือไทยในโรงเรียนไทยพุทธ ที่วัดตานีนรสโมสร พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน คือเด็กชายเจ๊ะมุ (ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนจารุวิเศษศึกษากร) และเด็กชายนิมา (ต่อมามีอาชีพเป็นครู คนทั่วไปเรียกว่า ครูนิมา)
นายยูโซะ มะโรหบุตร เรียนจบครูมูลโรงเรียนประจำมณฑลปัตตานี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ) แล้วไปเรียนฝึกหัดครูประถมที่กรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ได้เดินทางกลับปัตตานีเมื่อจบการศึกษาใน พ.ศ. 2461 เข้ารับราชการที่โรงเรียนประจำมณฑลปัตตานี (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ) ในตำแหน่งครู
ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดสายบุรี และที่นี่เองครูยูโซะ มะโรหบุตร เป็นผู้กระตุ้นจูงใจให้เด็กทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมเข้าเรียนหนังสือไทยมากขึ้น จนทางราชการต้องสร้างโรงเรียนเพิ่มเพื่อให้พอกับจำนวนนักเรียน ในการสร้างโรงเรียนครั้งนี้ต้องอาศัยแรงงานจากนักโทษ และใช้ชื่อโรงเรียนที่สร้างใหม่ว่า "โรงเรียนแจ้งประชาคาร" (โดยได้ชื่อมาจากนามของนายแจ้ง สุวรรณจินดา ปลัดจังหวัดปัตตานีสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนภักดี และได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในสมัยต่อมา)
ครูยูโซะ มะโรหบุตร ได้รับการเจาะจงตัวจากทางราชการให้ไปเป็นศึกษาธิการอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งสอนหนังสือนักเรียน ทั้งทำบัญชีเงินฝากและอื่นๆ อีกมากมายหลายหน้าที่ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนจรรยาวิธาน"
หลังจากรับราชการอยู่ที่เบตงนาน 3 ปี จึงได้ย้ายไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดสตูล ต่อมาย้ายไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดหลังสวน (จังหวัดชุมพร ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นย้ายเข้าประจำกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และต่อมาได้มาเป็นศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส แล้วจึงได้โอนไปประจำกระทรวงอุตสาหกรรม
หลังจากลาออกเนื่องจากสุขภาพไม่ดี ก็ยังถูกเรียกตัวกลับไปช่วยราชการอีกครั้งที่กระทรวงมหาดไทย ให้ทำหน้าที่สอนภาษามลายูและอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองของคนไทยมุสลิมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก่ข้าราชการที่จะต้องไปทำงานใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเปิดอบรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คราวละ 4 เดือน ขุนจรรยาวิธานทำหน้าที่นี้ได้อย่างดียิ่งตลอดระยะเวลา 4 ปี
ภรรยาของขุนจรรยาวิธาน ชื่อนางขนิษฐ์ เป็นอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอาชีวศึกษาปัตตานี มีบุตรธิดาด้วยกัน 8 คน ดังนี้
1.  นางตีเยาะ เอี่ยมอิทธิพล
2.  นายวชิระ มะโรหบุตร
3.  นางแอเซาะ อาลีอิสหาด
4.  นายปรีชา มะโรหบุตร
5.  นางณัฐา มะโรหบุตร
6.  นายเจษฎา มะโรหบุตร
7.  ทันตแพทย์หญิงนัยนา แพร่ศรีสกุล
8.  นายเกษม มะโรหบุตร
ผลงานทางด้านงานเขียนที่สำคัญของขุนจรรยาวิธานได้แก่ หนังสือคู่มือสนทนาภาษามลายู ซึ่งได้เขียนขึ้นในช่วงที่ทำงานประจำกรมวิชาการ ตามความประสงค์ของพระยาเมธาธิบดี อธิบดีกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาภาษามลายูท้องถิ่นภาคใต้ได้ด้วยตนเอง
และอีกเล่มก่อนเกษียณอายุราชการของท่าน คือหนังสือชื่อ "ปลีตาบาจาอัน" ซึ่งเป็นแบบเรียนภาษามลายูเล่มแรกสำหรับใช้สอนในโรงเรียน ตามนโยบายของทางราชการในสมัยนั้นที่ต้องการให้โรงเรียนประชาบาลสอนภาษาพื้นเมือง (ภาษามลายูปัตตานี) ด้วย
ขุนจรรยาวิธานเป็นบุคคลสำคัญในวงการศึกษา มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเป็นแรงจูงใจให้เด็กไทยมุสลิมนิยมเรียนหนังสือไทยมากขึ้น เพราะท่านเป็นนักเรียนไทยมุสลิมรุ่นแรกของมณฑลปัตตานี

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

เป็นที่ฮือฮา!! งานแต่งมุสลิม เจ้าบ่าวจัด สามล้อซาเล้ง 13 คัน แห่ขอเจ้าสาว


สร้างความฮือฮาอย่างมาก สำหรับงานแต่งไทยมุสลิม ที่เจ้าบ่าวจัด สามล้อซาเล้ง 13 คัน แห่ขบวนขันหมากขอเจ้าสาว...

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.60 จากเฟสบุ๊ก ระนอง นิวส์ รายงานว่า มีเรื่องฮือฮาเกิดขึ้นที่หน้าตลาดกำพวน ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เมื่อมีขบวนพิธีแห่ขันหมาก ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ โดยฝ่ายเจ้าบ่าว คือ นาย ศราวุธ พินิจ วัย 36 ปี อาชีพเกษตรกรสวนยางพาราและพนักงานลูกจ้างเทศบาลกำพวน ได้จัดขันหมากขึ้นรถจักรยานยนต์ซาเล้งพ่วงข้าง ที่ชาวบ้านใช้งานบรรทุกพืชผลทางเกษตรเช่นยางพาราและผลปาล์มน้ำมัน จากสวน มาตกแต่งผูกผ้าให้ดูสวยงาม และนำเก้าอี้ตั้งใส่ไว้ตรงกลาง เพื่อไปขอเจ้าสาว น.ส.นัฐกาญจน์ กำพวน แม่ค้าขายข้าวแกง วัย 22 ปี หลังจากคบหาดูใจกันมากว่า 3 ปี

โดยการแต่งกาย ผู้ชายจะสวมเสื้อแขนยาวลายพื้นเมืองมลายู ผู้หญิงจะสวมชุด บานุง กุรงกากา คลุมผมด้วย ผ้ากุรง สีสันต์สวยงาม และช่วยกันยกขันหมากและสินสอด มาขึ้นรถซาเล้ง จากนั้นได้เคลื่อนตัวออกจากหน้าตลาดกำพวน ไปตามถนนเพชรเกษม ระยะทางประมาณ 1 ก.ม. จนไปถึงบ้านฝ่ายเจ้าสาว หลังเทศบาลตำบลกำพวน ทุกคนต่างฮือฮาเป็นอย่างมาก ที่ขบวนขันหมาก ครั้งนี้ถูกแห่กันมาด้วยรถซาเล้ง เพราะยังไม่มีใครในพื้นที่เคยจัดขบวนขันหมากแบบนี้กันมาก่อน


จากนั้นขบวนขันหมากได้เดินเท้าไปบ้านฝ่ายเจ้าสาว โดยมี นายอดุลย์ กิจการ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 เป็นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว ต้องถูกดักกั้นด่าน ประตูเงิน ประตูทอง ตามธรรมเนียมไทยๆ ก่อนจะแจกซองถึงขบวนขันหมากจะผ่านเข้ามาได้ ซึ่งทั้งเจ้าบ่าวนาย ศราวุธ พินิจ หรือ หวี และ เจ้าสาว น.ส.นัฐกาญจน์ กำพวน หรือ นา ต่างยิ้มแย้มอย่างมีความสุข


ผู้ใหญ่มนตรี สาลี หมู่2 ต.กำพวน ได้สอบถามถึงที่มาที่ไปสาเหตุที่ใช้รถสามล้อซาเล้ง มาจัดเป็นพาหนะในการแห่ขันหมาก นาย นพดล มาโนช ข้าราชการครูบำนาญและเป็นน้าชายเจ้าบ่าว ตอบว่า เนื่องจากในพื้นที่ ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีสวนยางพารา มีสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งการจะนำรถยนต์เข้าไปในสวนยางหรือสวนปาล์มนั้น ค่อนข้างที่จะลำบาก ประเพณีในพื้นที่ก็จะใช้รถพ่วงข้างกัน เพื่อขนสินค้าทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้สะดวกกว่ารถยนต์


-----------


"ระนองนิวส์รู้ ชาวระนองรู้"

สังคมพหุวัฒนธรรมและโบราณสถาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลากหลายศาสนาของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ด้วยสังคมพหุวัฒนธรรม และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงมีโบราณสถานและสถานศักดิ์สิทธิ์หลากหลายศาสนา อยู่อย่างเคารพเข้าใจซึ่งกันและกัน  ซึ่งแต่ละแห่งมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจผูกมัดอย่างกลมเกลียวบนบนพื้นฐานของความศรัทธาของกันและกัน

อัลบั้มชุดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโบราณสถานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดชายแดนใต้ หากมีโอกาสมาชายแดนใต้ลองแวะเยี่ยมชมสักครั้งครับ



















ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก นักเล่าเรื่อง นักสื่อสารอิสระ
เพจ sea.show 
https://www.facebook.com/sea.slow.7?hc_ref=NEWSFEED

ประวัติตาลโตนด ของดีเมืองสทิงพระ จ.สงขลา



คนไทยรู้จักตาลโตนดมาครั้งปู่ย่าตายาย หลายคนคุ้นเคยกับต้นตาลโตนดตั้งแต่เล็กจนโตเห็นตาลโตนดยืนต้นอยู่หลายชั่วอายุคนมาแล้ว ต้นตาลโตนดให้ผลผลิตติดต่อกันถึง 80 ปี
บนคาบสมุทรสทิงพระตอนล่าง  ( อำเภอกระแสสินธุ์  อ. สทิงพระ อ.สิงหนคร)  ประชาชนส่วนใหญ่ทำนาน้ำฝนปีละครั้งหลังจากนั้นคนจะว่างงาน ในช่วงนี้เองต้นตาลโตนดจะให้ผลมาก ทั้งลูกทั้งน้ำ จะให้ผลผลิตน้อยในฤดูฝนชาวบ้านก็หันไปทำนาต่อเป็นการเติมช่วงวัฎจักรของอาชีพในรอบปีของชาวบ้าน ตาลโตนดเป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกปีติดต่อกันหลายชั่วอายุคนหรือประมาณ 80 ปี มีสารพัดประโยชน์ ให้ผลผลิตสม่ำเสมอและมั่นคงก่อให้เกิดอาชีพหลากหลายในชุมชน ทั้งอาชีพโดยตรงและอาชีพเสริมได้แก่  เกษตรกรผู้ดำเนินกิจกรรมการเพาะเมล็ดเพื่อให้ได้จาวตาล อาชีพปาดตาล อาชีพทำน้ำตาลโตนด อาชีพขายน้ำตาลโตนด อาชีพเกี่ยวของกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนด เช่นน้ำผึ้ง น้ำตาลปึก น้ำตาลแว่น  หรือขนมต่างๆ เช่นขนมตาล จาวตาลเชื่อม หัตถกรรมจากใยตาล ใบตาล ไม้ตาล ฯลฯ ทำให้มีรายได้สม่ำเสมอผลผลิตและรายได้ไม่ผันผวนมากนัก สามารถผลิตและดำรงชีพอยู่ได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลารายงานว่าในปี 2542 เกษตรกรในจังหวัดสงขลามีรายได้จากการประกอบอาชีพจากตาลโตนดเป็นรายได้เสริมรวมประมาณ 394.7 ล้านบาท / ปี



ต้นตาลโตนดสามารถใช้ทำประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งราก ถึงยอด ซึ่งสามารถสรุปได้ดั่งนี้
         ลำต้น   ใช้ทำเครื่องเรือน   ก่อสร้าง  เชื้อเพลิง  แปรรูปเป็นงานหัตถกรรมไม้ตาล
         ทางตาล  ใช้ทำรั้ว คอกสัตว์เลี้ยง เชื้อเพลิง  ทำเส้นใยงานจักสาน  ทำขะเน็ด ( เชือก )  ผูกพะอง ไม้ไผ่หรือใช้เย็บใบจากสำหรับมุงหลังคา  ทำเก้าอี้
         ใบตาล  ใช้มุงหลังคา เชื้อเพลิง  เถ้าถ่านให้ธาตุโปรแตสเซื่ยม ลิ้นขลุ่ย  หมวก  กระเป๋า  และภาชนะต่างๆ
         ใยตาล ใช้ในงานหัตถกรรม  เช่นทำ  หมวก   กระเป๋า   กล่องทีชชู่  ที่ครอบผม   โคมไฟ
          ผลตาล  ใช้ผลอ่อนบริโภค ผลสุก ใช้




การทำแว่นจากตาลตโหนด



น้ำตาลโตนด  นำมาบริโภค ในรูปของน้ำตาลสด  น้ำส้มสายชูหมัก  น้ำตาลเมา ที่เรียก หวาก หรือกระแช่  เคี่ยวเป็นน้ำผึ้งเหลว  (น้ำตาลเข้มข้น ) สำหรับทำน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลแว่น น้ำตาลผง ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (  เหล้าพื้นบ้าน )






วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

มัสยิด 300 ปี (มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ)

          ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เพียง 4 กิโลเมตร ทางเข้ามัสยิดแยกจากเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 42 (สายเอเชีย 18) เส้นทางนราธิวาส-ปัตตานี ตรงทางแยกบ้านบือราแง ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ หมู่ที่ 1 ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มัสยิดวาดิลฮูเซ็น เป็นมัสยิดเก่าแก่และมีประวัติอันยาวนาน ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่ามัสยิด 200 ปีบ้าง มัสยิด 300 ปีบ้างมัสยิดวาดิลฮูเซ็น (มัสยิดตะโละมาเนาะ : 200 ปี) ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะจังหวัดนราธิวาสเพียง 4 กิโลเมตร ทางเข้ามัสยิดแยกจากเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 42 (สายเอเชีย 18) เส้นทางนราธิวาส-ปัตตานี ตรงทางแยกบ้านบือราแง ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ หมู่ที่ 1 ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส



        มัสยิดวาดิลฮูเซ็น เป็นมัสยิดเก่าแก่และมีประวัติอันยาวนาน ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่ามัสยิด 200 ปีบ้าง มัสยิด 300 ปีบ้าง ตามประวัติโดยหะยีอับดุลฮามิ อูเซ็น อายุ 89 ปี ชาวบ้านเรียกว่าปะดอดูกู ได้เล่าให้ฟังว่ามัสยิดแห่งนี้ได้สร้างมาแล้ว 3 ชั่วอายุคน โดยท่านหะยีซายฮูซึ่งเป็นครูสอนศาสนาเป็นผู้ก่อสร้าง มีนายแซมะเป็นนายช่าง สันนิษฐาน ว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.231 ลักษณะการก่อสร้าง ก่อสร้างจากไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้สลักไม้แทนตะปูหรือสกรู การก่อสร้างในสมัยนั้นไม่มีเลื่อย ขวาน สิ่วแต่จะใช้บือจือตา(รูปร่างคล้ายขวาน) ตัดไม้ ใช้บันลีโยง(ลิ่ม) ผ่าไม้ ใช้บายิ (รูปร่างคล้ายจอบ) ถากไม้ให้เรียบ เสาไม้มีจำนวน 26 ต้นสี่เหลี่ยมขนาด 10X10 นิ้ว พื้นหนา 2 นิ้ว ฝาประกบหน้าต่างทำด้วยไม้ทั้งแผง แกะสลัก เป็นลวดลายต่าง ๆ ตัวมัสยิดสร้างเป็นอาคาร 2 หลังติดกันมีขนาด14.20X6.30 เมตร เฉพาะหลังที่เป็นมิหรอบ (บริเวณที่อิหม่ามนั่งละหมาด) มีขนาด4.60X5.60 เมตร


        มัสยิดแห่งนี้สร้าง แบบศิลปไทยพื้นเมืองประยุกต์กับศิลปแบบจีนและศิลปแบบมลายู ส่วนที่เด่นที่สุดของมัสยิดนี้จะอยู่ที่หลังคาอาคารหลังแรกส่วนที่เป็นมิหรอบ หลังคามี 3 ชั้น มุงด้วยกระเบี้องดินเผา หลังคาชั้นที่ 3 มีโดมเป็นเก๋งจีนอยู่บนหลังคา เป็นศิลปแบบจีนแท้ เสาจะแกะสลักเป็นรูปดอกพิกุล ในสมัยนั้นเก๋งจีนจะใช้เป็นหออะซาน(สำหรับตะโกนเรียกคนมาละหมาด) ส่วนหลังที่ 2 จะมีหลังคา 2 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้นที่ 2 จะมีจั่วอยู่บนหลังคาชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่ง มีรูปแบบทรงไทย แบบหลังคา โบสถ์วัดทั่ว ๆ ไปรอบ ๆฐานดอกพิกุลหงายจะแกะสลักเป็นลายเถาว์ก้านมุมหลังคาด้านบนของอาคารทั้ง 2 หลัง ใช้ปูนปั้นเป็นลายกนก ลายเถาว์ก้าน มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ ประกอบศาสนกิจของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามมาหลายชั่วอายุคนซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อชุมชนมาก

       ประวัติมัสยิดวาดี อัล ฮูเซ็นมัสยิดวาดี อัล ฮูเซ็น หรือ มัสยิด ตะโละมาเนาะ หรืออีกชื่อหนึ่งคือมัสยิด ๓๐๐ ปี เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบาเจาะเพียง ๔ กิโลเมตร ทางเข้ามัสยิดแห่งนี้แยกจากเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๒ (สายเอซีย๑๘ ) เส้นนราธิวาส ปัตตานี ตรงทางแยก บ้านบือราแง รถยนต์สามารถเข้าถึงมัสยิด มัสยิดแห่งนี้สร้างโดย วันฮูเซ็น อัส ซานาวี ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาอพยพมาจากบ้านสะนอ จังหวัดปัตตานี ตามบัญชาของราชาซาลินดงบายู หรือ ราชาตะลูบันเมื่อครั้งอพยพหนีการรุกรานของกองทัพสยามแต่ความจริงแล้วกองทัพสยามไม่ได้ยกทัพมาตีเมืองปัตตานี



ผู้บุกเบิกมัสยิดวาดี อัล ฮูเซ็น (มัสยิดตะโละมาเนาะ)
 
         มัสยิด วาดี อัล ฮูเซ็น ได้ริเริ่มสร้างโดย วันอูเซ็น อัส-ซานาวี เป็นอิหม่ามคนแรกของมัสยิด หลังจากที่ท่านเสียชีวิตผู้ครอบครองมัสยิดก็ยังคงเป็นบรรดาลูกหลานของท่านจนถึงทุกวันนี้

 
วันฮุเซ็น อัส-ซานาวี คือใคร
 
        วันฮุเซ็น อัส-ซานาวี คือผู้ริเริ่มก่อสร้างมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือ มัสยิดวาดี อัล ฮูเซ็น หรืออีกชื่อหนึ่งคือ มัสยิด ๓๐๐ ปี มัสยิดเรือนไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในแถบนี้ คำว่า อัส-ซานาวีคือ ชื่อเรียกตามภูมิลำเดิมของท่าน คือ ท่านมาจากหมู่บ้านสะนอญัณญาร์ จังหวัดปัตตานี ท่านและภรรยานางกัลซุม(ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านม่วงหวาน จังหวัดปัตตานี)พร้อมด้วยลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นผู้บุกเบิกหมู่บ้านตะโละมาเนาะ

         รายงานกล่าวว่า อิหม่ามวันฮุเซ็น อัส-ซานาวี เป็นอิหม่ามใหญ่แห่งบ้านสะนอ ญันญาร์ ได้ผลิตอูลามะอฺ (นักปราชญ์หรือผู้รู้ในด้านศาสนา)ของเมืองปัตตานี ท่านเป็นศิษย์ของ ท่านสุนัน อัมเปล อูลามะอฺที่ไปเปิดสถาบันปอเนาะ ณ เกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย และมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่าน


        อิหม่ามวันฮุเซ็น อัส-ซานาวี เป็นอูลามะอฺที่สามารถท่องจำภัมคีร์อัลกรุอานได้หมดทุกบทอย่างลึกซึ้ง(ฮาฟิส)ทั้งยังสามารถเขียนอัลกุรอานด้วยลายมือตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามากมายต่อชาวไทยมุสลิมและตำราด้านศาสนาอิสลามให้ลูกศิษย์ได้ศึกษา ซึ่งปัจจุบันนี้อัลกุรอานที่ท่านเขียนไว้ยังคงอยู่และอยู่ในความดูแลของหะยีอับดุลฮามิด บินหะยีอับดุลยูโซะ(ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว) เชื้อสายตระกูลวันฮุเซ็น ลำดับที่ ๖


          วันฮุเซ็น มีพี่น้องหลายคน รายงานระบุว่าท่านมีพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน คนโตมีชื่อว่าวันสนิหรือวันอิดริส กระทั่งนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองปัตตานีที่มีนามว่า เชคดาวุด อับดุลเลาะ อัล ฟาตอนี ก็คือหลานคนหนึ่งของวันฮุเซ็น บิดาของวันฮุเซ็นมีชื่อว่า สุลต่าน ก็อมบุล หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า สัยยิดอะลี นูรุล-อาลัม มีประวัติที่พิสดารมาก และมีความสัมพันธ์กับวาลี(ผู้มีญานวิเศษ)ทั้ง ๙ ของอินโดนีเซีย



นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวมาเลเซียแห่เซลฟี่ในงานมหกรรมสีสันโคมไฟเบตง 2560


นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียแห่เซลฟี่ความสวยงามของการประดับประดาโคมไฟภายในงานมหกรรมสีสันโคมไฟเบตง 2560
เมื่อค่ำวันที่ 28ม.ค.60 ที่บ้านบ่อน้ำร้อน ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา นายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสีสันโคมไฟเบตง 2560 ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างสีสัน สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมเมืองเบตง ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ของชาวไทยเชื้อสายจีน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่ สร้างรายได้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดยะลาให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักและแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียต่างแห่กันมาเซลฟี่ถ่ายภาพความสวยงามของการประดับประดาโคมไฟรอบๆ งาน กันอย่างไม่ขาดสาย

นายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าวว่า การประดับประดาโคมไฟรอบๆ สถานที่จัดงานเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ได้เน้นในเรื่องของสีสันและรูปแบบการจัดแต่งให้มีความสวยงามมากกว่าปีก่อนๆ อีกทั้งอยากให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวงาน สามารถถ่ายภาพ เก็บไว้เป็นที่ระลึกได้เกือบทุกมุมของงานด้วย จึงได้มีการเนรมิตให้เป็นอุโมงค์ไฟ การตกแต่งให้เต็มไปด้วยโคมไฟจีนกลางบ่อน้ำร้อน และสถานที่จัดงาน ไว้ให้ นักท่องเที่ยวได้มาได้มาถ่ายรูปเก็บความสวยงาม นอกจากนี้ภายในงานมีการแสดงแสง สี เสียง ชมการแสดงจากม้า และแกะ การนวดสมุนไพรเพื่อสุขภาพ การจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ การจำหน่ายสินค้า OTOP การจำหน่ายอาหารพื้นถิ่นเบตง การแสดงนิทรรศการเรื่องบ่อน้ำพุร้อนเบตง และเทศการตรุษจีน เป็นต้น


วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

รือเสาะจัดตรุษจีน อยู่กันได้แม้ต่างวัฒนธรรม


วันที่ 25 มกราคม 2560 ที่อาคารมูลนิธีรือเสาะประชานุเคราะห์ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลรือเสาะร่วมกับมูลนิธีรือเสาะประชานุเคราะห์ ได้จัดกิจกรรมรับเทศกาลตรุษจีน โดยมีนายจักรพันธ์ บันฑรเศรษฐ์ประธานมูลนิธิรือเสาะประชานุเคราะห์ กล่าวต้อนรับ หลังจากนั้นได้ทำพิธีเปิด นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้เกียรติมาเป็นประธาน นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ มี นายยะห์ยา ปะนาฆอ นายอำเภอรือเสาะ พ.อ.พสิษฐ์ ชาญเลขา ผบ.ทพ.46 พ.ต.อ.เรืองศักดิ์ บัวแดง ผกก.สภ.รือเสาะ และประชาชนชาวอำเภอรือเสาะมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ในงานได้จัดให้มี เชิดสิงโตรอบตลาดรือเสาะ ของมูลนิธีกู้ภัยแม่ก่อเหนี่ยว ยะลา ภายใต้การนำของนายพีระเทพ สุวรรณเภสัช
นอกจากนี้ในงานจัดให้มีพิธีร่วมผัดหมี่ การแสดงกิจกรรมต่างๆ บนเวทีของนักเรียน การเชิดสิงโตและการขับร้องเพลงจีน และการเสวนาเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอรือเสาะ
สำหรับบรรยากาศในเขตเทศบาลตำบล.รือเสาะ อ.รือเสาะ ในช่วงของวันนี้ ยังคงไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากส่วนใหญ่ประชากรจะเป็นชาวไทยมุสลิมประมาณ 90% เชื่อสาย จีน ที่ยังคงปักหลักไม่ทิ้งถิ่นฐานอยู่จำนวน 160 ครัวเรือน ด้วยความหลากหลายต่างศาสนาต่างเชื้อชาติ ต่างประเพณี ต่างวัฒธรรม แตกต่างแต่ไม่แตกแยก ประชาชนชาวรือเสาะ อยู่ด้วยความรัก สามัคคี