วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชทานถุงยังชีพ เพื่อเยี่ยมบำรุงขวัญและให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อ 27 ก.ย. 60 เวลา 1340 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเยี่ยมบำรุงขวัญและให้กำลังใจ พร้อมกับมอบถุงพระราชทานฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ณ ฉก.นย.ทร.32 อ.บาเจาะ จว.นราธิวาส ในการนี้ น.อ.เลอศักดิ์ คชนันทน์ ผบ.ฉก.นย.ทร./ผบ.ฉก.นย.ภต. พร้อมด้วย น.ท.ปริญญา แตงพลับ ผบ.ฉก.นย.ทร.32, น.ท.ธีรวิทย์ ศิริวัลลภ ผบ.ฉก.นย.ทร.33, ว่าที่ ร.ต.จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ และเข้ารับถุงพระราชทานฯ





สำนักงานชลประทานที่ 17 จัดกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่  28 ก.ย. 60 สำนักงานชลประทานที่ 17 จัดกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 30 ปีประตูระบายน้ำบางนราตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันที่ 28 กันยายน 2560 รวมถึงเพื่อน้อมรำลึกครั้นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์ประตูระบายน้ำบางนราตอนบน และในโอกาสเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งมอบอาคารหัวงาน และอาคารประกอบโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนราให้กับรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 บริเวณ ประตูระบายน้ำบางนราตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธี







วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

"ร่วมใจถวายความจงรักภักดี" ตกแต่งดาวเรืองสีเหลือง เป็นเลข 9 ไทย


เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองยะลา จัดเรียงต้นดาวเรืองที่ออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่ง เป็นเลข 9 ไทย แสดงความจงรักภักดีในหลวงรัชกาลที่ 9
วันนี้ (27 ก.ย. 60) เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร อำเภอเมืองยะลา ได้ช่วยกันนำต้นดาวเรืองที่ออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่งอย่างสวยงาม มาประดับตกแต่งที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน เพื่อแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ




โดยการจัดเรียงต้นดาวเรืองที่ออกดอกสีเหลือง เป็นเลข 9 ไทย และนำต้นดาวเรืองที่ยังไม่ออกดอกมาวางเรียงด้านหน้าให้สวยงาม เพื่อแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ซึ่งในเดือนนี้ทุกหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดยะลารวมทั้งบ้านเรือนประชาชน ต่างนำต้นดาวเรืองที่ออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่ง มาประดับตกแต่งกันทั้งบริเวณด้านหน้า และตกแต่งภายในกันอย่างสวยงาม โดยการปลูกดาวเรืองก็จะทำอย่างต่อเนื่องไปตลอดในช่วงงานพระราชพิธีในเดือนตุลาคม 2560

วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

หนุ่มเบตงเลิกเป็นลูกจ้างหันเพาะ “เห็ดถั่งเช่า” ขาย สร้างรายได้นับแสนบาทต่อเดือน


นายสมชาย เชี่ยวชาญศิลป์ อายุ 45 ปี บัณฑิตสาขาวิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในมนุษย์ออฟฟิศแห่งยุคที่ลาออกจากตำแหน่งพนักงานส่งเสริมการขายเคมีเกษตร หลังจากจบปริญญาตรี นายสมชาย ก็ทำงานไม่ต่างจากเพื่อนๆ ร่วมคณะอีกหลายคน นั่นคือ เป็นพนักงานส่งเสริมการขายเคมีเกษตรในบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างชาติ หรือบริษัทคนไทย แต่สำหรับ นายสมชาย หลังจากเรียนจบ และทำงานได้เพียง 8 ปี ก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ อ.เบตง จ.ยะลา



       นายสมชาย ได้หันมาสนใจเรื่องเห็ดถั่งเช่า โดยบอกว่า เริ่มต้นมาจากการที่มองว่า กระแสสุขภาพขณะนี้มาแรง ก็เข้าไปค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าควรจะทำตัวแบบไหนดี ดูไปดูมาก็มาจบที่เห็ดถั่งเช่า ซึ่งที่ผ่านมา มีงานวิจัยรองรับค่อนข้างมาก และชัดเจน จากนั้นจึงไปซื้อน้ำเชื้อชุดแรก นำมาขยายพันธุ์เอง ทั้งนี้ ก็ได้มีความรู้ด้านโรคพืชอยู่แล้ว ขั้นตอนนี้จึงไม่มีปัญหา ประกอบกับด้วยภูมิประเทศของ อ.เบตง ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง จึงทำให้ อ.เบตง มีอากาศดี เหมาะที่จะมาเริ่มต้นการเพาะเห็ดถั่งเช่า

      ซึ่งเริ่มต้นโดยการนำน้ำเชื้อถั่งเช่าชุดแรกมาขยายพันธุ์ และเก็บเชื้อ โดยในระยะ 3 เดือน จะเก็บได้ 1 รุ่น นายสมชาย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเชื้อเห็ดถั่งเช่านั่น ถั่งเช่ามันเป็นเห็ด เห็ดตัวนี้จริงๆ แล้วเกิดจากตัวหนอนที่มีอยู่มากแถวทิเบต หรือที่ภูฏาน คือ เริ่มต้นหนอนตัวนี้ ช่วงหนาวมันจะมีการฟักตัว ช่วงฟักตัวนี้เองที่จะมีเชื้อราชนิดหนึ่งเข้าไปโจมตีตัวหนอน ด้วยการไปเจริญเติบโต และดูดสารอาหารจากตัวหนอน จนเชื้อราเดินเต็ม เมื่ออากาศอุ่นขึ้น เชื้อราตัวนี้ที่ว่าก็เริ่มแทงดอกออกเป็นเห็ดขึ้นมาที่เราเรียกว่า “เห็ดถั่งเช่า” นั่นเอง



นายสมชาย บอกอีกว่า เชื้อราที่ว่านี้มีหลายสายพันธุ์ ถ้าเป็นของดีจะหายาก กิโลกรัมละเป็นล้านบาท ที่มีการซื้อขายกันที่เมืองจีน แต่ที่ นายสมชาย ทำอยู่นี้ก็เป็นสายพันธุ์ใกล้เคียง ที่มีสารออกฤทธิ์คล้ายกัน ซึ่งการทำในห้องปฏิบัติการก็สามารถควบคุมเรื่องธาตุอาหารให้ได้ผลที่ดีกว่า
สำหรับการเลี้ยงเชื้อราในห้องปฏิบัติการ จะเลี้ยงบนอาหารแข็ง (ที่ทำขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้หนอนแบบในธรรมชาติ) เมื่อเส้นใยเดินเต็ม แล้วแทงเป็นดอกได้ดอกออกมา ก็นำไปอบแห้ง ทำเป็นชาถั่งเช่า ซึ่งจริงๆ แล้วนำไปใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น เครื่องสำอาง หรือจริงๆ ก็มีโครงการนำไปผสมในอาหารไก่ เพื่อลดการใช้สารปฏิชีวนะไก่ เป็นต้น






ในส่วนนี้เราจะรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มบ้านเห็ดเบตง มีสมาชิก 17 คน ซึ่งกลุ่มเราจัดเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง จนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 2 กลุ่มของทั้ง จ.ยะลา ทางภาครัฐ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา และสำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่ององค์ความรู้ใหม่ๆ และการบรรจุภัณฑ์ โดยตอนนี้เราทำเป็นในรูปแบบของชา และมีขายเป็นแคปซูลอาหารเสริม และทำเป็นชา เราใช้เห็ดราว 3-4 เส้นต่อซอง ขายซองละ 50 บาท บรรจุกล่องละ 10 ซอง ราคา 500 บาท ส่วนแคปซูลใน 1 กระปุก มี 60 แคปซูล ราคา 1,500 บาท ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าเราจะมีสินค้าทำนองนี้ขายลูกค้าต่างชาติ ไม่ว่าจะมาจากสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ที่ตอนนี้นักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้เข้ามาเที่ยวที่ อ.เบตง เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล และวันหยุดสุดสัปดาห์ หากเราทำได้ต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปเราจะเหมือนเกาหลี หรือจีน ที่มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยว และต้องซื้อโสม หรือบัวหิมะกลับไป” นายสมชาย กล่าว

กำลังใจให้แนวหน้า จากนางฟ้าชุดขาว


กำลังใจให้แนวหน้า จากนางฟ้าชุดขาว น้องวิวทำงานในพื้นที่3 จว.ใต้เช่นกัน น้องบอกว่าเห็น จนท.บาดเจ็บ เกือบทุกวัน มาที่ รพ.ที่น้องทำงาน น้องได้เห็นความเสียสละของพวกพี่ๆ ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร น้องประทับใจและดีใจมากที่ได้มีส่วนช่วยพี่ๆเหล่านั้น




น้องวิวจึงเขียนบทความให้กำลังใจ จนท.เรา สู้ๆ เพื่อคนไทย น้องเป็นกำลังใจให้พี่ๆทุกคนนะคะ เราจะสู้ไปด้วยกัน เพื่อรอวันนั้น วันที่คนไทยกลับมารักกัน..น้องวิว สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก

ชาวบ้านสีคง จ.ยะลา เตรียมต่อยอด "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ" หลังประสบผลสำเร็จ สร้างฟาร์มชุมชน เพิ่มรายได้ในสวนยางพารา


วันนี้ (26 ก.ย. 60) ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนลำใหม่ 2 บ้านสีคง อำเภอมือง จังหวัดยะลา จำนวน 10 ครัวเรือน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการนำร่องด้านฟาร์มชุมชน ส่งเสริมเพิ่มรายได้ในสวนยางพารา ภายใต้ "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ" ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการเลี้ยงเป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง ไก่เบตง ปลาในกระชัง ปลาในบ่อดิน และเลี้ยงกบ เพื่อเพิ่มรายได้เสริมให้กับครอบครัว ชุมชน
หลังเริ่มดำเนินการในพื้นที่สวนยาง จำนวน 10 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2560 ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทางกลุ่มมีรายได้วันละ 500-600 บาท จากการขายไก่ ขายเป็ด ไข่ และปลาบางส่วน สามารถนำไปแปรรูปเป็นปลาส้ม เตรียมขยายผลต่อยอดไปยังสวนยางของชาวบ้านบ้านสีคง เพื่อเพิ่มรายได้เสริมให้กับชาวสวนยางต่อไป

นางสมใจ ทองวิเศษ เกษตรอำเภอเมืองยะลา กล่าวว่า "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ" ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ในอำเภอเมืองยะลา ดำเนินการในพื้นที่ 14 ชุมชน 67 กลุ่ม 67 โครงการ ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ ปัจจัย จ้างแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2560 โดยคณะกรรมการติดตามระดับอำเภอ ได้ออกติดตามและเยี่ยมเยียนการดำเนินงานทั้ง 67 กลุ่มแล้ว ขณะนี้ผลการดำเนินงานบางกลุ่มก็เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว เช่น การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ก็ได้ขายไข่ในชุมชน เป็นรายได้ เป็นอาหารในครอบครัว เช่นเดียวกับพืชผักก็เริ่มเก็บจำหน่ายแล้วบางส่วน ส่วนการบริหารจัดการแต่ละกลุ่มก็จะมีการบริหารจัดการ โดยจะจัดแบ่งรายได้จากการขายผลิต เพื่อมาเป็นทุนต่อยอดการดำเนินโครงการ ส่วนผลกำไรก็จะแบ่งให้สมาชิกที่เข้าร่วม เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจะมีหน่วยงานสำนักงานเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าไปติดตาม แนะนำ ให้ความรู้ในด้านต่างๆ กับเกษตรกรตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ





ด้านนายบุญนิตญ์ สองแก้ว ประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า หลังโครงการส่งเสริมเพิ่มรายได้ในสวนยางพารา ในพื้นที่บ้านสีคงประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อไปก็จะขยายไปพื้นที่สวนยางอื่นๆ โดยจะใช้พื้นที่ชุมชนลำใหม่ 2 บ้านสีคงนี้เป็นพื้นที่นำร่อง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ ในสวนยาง ให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มาศึกษาดูงาน และนำกลับไปใช้ประโยชน์กับชุมชน ครอบครัวของตนเอง นอกจากนี้ทางกลุ่มก็จะต่อยอดด้วยการปลูกมะละกอเพื่อให้ครบวงจร ซึ่งจะมีทั้งการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ปลูกพืช ผัก และแปรรูปต่อไป
ซึ่งปัจจุบันถ้าเกษตรกรชาวสวนยางไปมุ่งเน้นกับราคายาง ก็จะทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้เนื่องจากยางพารามีราคาตกต่ำ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็ต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับชาวสวนยาง เพื่อเป็นรายได้เสริมให้ชาวสวนยางสามารถอยู่ได้ เป็นอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านสีคง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพหลักในการทำสวนยาง โครงการนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เราในฐานะพสกนิกร ก็จะทำให้ดีที่สุด ส่วนที่นำมาใช้ก็จะใช้ประโยชน์กับชุมชนให้ได้มากที่สุด จะดำเนินการเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อในหลวงทั้ง 2 พระองค์
และต้องขอขอบคุณทางเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เข้ามาให้ความรู้ แนะนำในการลดต้นทุน โดยนำวัตถุดิบในพื้นที่ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย อีกทางหนึ่ง





ขณะครอบครัว นายแสนสฤษดิ์ จัตวาคุณ สมาชิกโครงการฯ กล่าวว่า "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ" เป็นโครงการที่ดีมาก ตามรอยพ่อหลวง ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นกิจกรรมที่จะทำร่วมกันในชุมชน หลังจากได้มาร่วมดำเนินการที่นี่ก็จะนำกลับไปต่อยอดเลี้ยงไก่เพื่อเป็นรายได้เสริมที่บ้านด้วย
สำหรับโครงการที่พ่อหลวงให้มาเป็นเรื่องที่ดี ที่เราจะดำเนินการต่อและอยากให้ทุกคนคิดถึงพ่อหลวง ทำตามพ่อหลวงที่ให้ไว้ รู้สึกตื้นตันใจที่ได้เข้าร่วม "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ" ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ และจะทำตรงนี้ให้สุดความสามารถเท่าที่จะทำได้

วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

จังหวัดนราธิวาส จัดริ้วขบวนแห่ 16 ริ้วขบวน ถ่ายทอดประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ในพิธีเปิดงานของดีเมืองนรา ครั้งที่ 42


วันที่ (21 กันยายน 2560) จังหวัดนราธิวาส จัดริ้วขบวนแห่เนื่องในของดีเมืองนรา จาก 13 อำเภอและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่รวม 16 ริ้วขบวน เริ่มตั้งแต่เวลา 14.09 น. บริเวณสนามกีฬาเทศบาลเมืองนราธิวาส ไปตามถนนสุริยะประดิษฐ์ จนถึงบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ศูนย์ราชการ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า การจัดงานของดีได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งงานของดีเมืองนรา ประจำปี 2560 นั้นได้กำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2560 จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2560
สำหรับขบวนแห่ในงานของดีเมืองนรานั้น จะมีการจัดประกวดริ้วขบวนแห่ทั้งประเภทสวยงามและความคิด ซึ่งแต่ละขบวนได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรมไทยพุทธ มลายู และจีน โดยผสมผสานกลมกลืนอย่างลงตัว ริ้วขบวนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ หรือของดีของแต่ละอำเภอ บรรยากาศในการชมริ้วขบวนแห่ในงานของดีเมืองนรา เป็นไปอย่างคึกคัก ประชาชนทั้งในพื้นที่เขตอำเภอเมือง ตลอดจนต่างอำเภอเดินทางเข้ามาชมริ้วขบวนแห่กันจำนวนมาก

และเมื่อริ้วขบวนทั้งหมดเดินทางมาถึงบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ศูนย์ราชการ นายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีเปิดงานของดีเมืองนรา ครั้งที่ 42 ประจำปี 2560 อย่างเป็นทางการ







งานของดีเมืองนรา ครั้งที่ 42 จัดขึ้นตั้งวันที่ 19-25 กันยายน 2560 กำหนดจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีงาม และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนราธิวาส ในงานประกอบด้วยพร้อมกองงานริ้วขบวนแห่ทางบก และพิธีเปิดงานของดีเมืองนรา , กองงานวันลองกอง , กองงานประชันนกเขาชวาเสียงชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , กองงานศิลปาชีพและกระจูดจัดนำเสนอนิทรรศการ , กองงานแข่งขันเรือกอ เรือยอกอง และเรือคชสีห์ ชิงถ้วยพระราชทานหน้าพระที่นั่ง ณ พลับพลา หาดนราทัศน์ โดยในทุกๆ ปี ประชาชนในพื้นที่ต่างให้ความสนใจเข้าร่วมงานของดีเมืองนราเป็นจำนวนมาก พร้อมเข้าร่วมชมในกิจกรรมต่างๆ

สืบทอดการทำ “สะเตไก่” อาหารพื้นบ้านภาคใต้


แข่งทำ ”สะเตไก่” อาหารพื้นบ้าน วชช. อนุรักษ์อาหารพื้นถิ่น ในสังคมพหุวัฒนธรรม จังหวัดยะลา

วิทยาลัยชุมชนยะลา ได้จัดให้มีการแข่งขันการทำสะเตไก่ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้าน ภายใต้โครงการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารพื้นบ้านในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ขึ้น โดยมีกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ครู นักเรียน รวมทั้งนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนให้ความสนใจส่งทีมเข้าร่วมทำการแข่งขัน จำนวน 6 ทีม 18 คน

ซึ่งการแข่งขันเป็นไปอย่างคึกคัก สนุกสนาน แต่ละทีมก็จะช่วยกันคนละไม้ละมือ ในการทำสะเตไก่ ในส่วนของน้ำแกงซึ่งมีน้ำตาลทราย หัวหอม กระเทียม ลูกผักชี ยี่หร่า ถั่ว กะทิ พริกแดง น้ำตาลแว่น ตะไคร้ ก็จะนำมาปั่นและนำไปปรุง ส่วนเนื้อไก่ก็จะหั่นเป็นชิ้นและนำมาเสียบไม้ก่อนนำไปย่าง พร้อมกับนำข้าวอัดมาหั่นเป็นชิ้น หั่นผัก ทำอาจาด และจัดตกแต่งประดับประดาลงในจานอย่างสวยงาม ภายในเวลา 3 ชั่วโมง ตามที่คณะกรรมการกำหนด




ส่วนการตัดสินก็จะมี คณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นางสาวนิฟาตีฮาห์ สนิ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอยะหา , นางนินุสรา มินทราศักดิ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และนางสุภาพรรณ คลล้ายมณี ข้าราชการบำนาญ เป็นผู้ให้คะแนน จากรสชาติ การจัดตกแต่งอาหารและภาชนะใส่อาหาร ความสะอาด และคุณลักษณะ ความคิดสร้างสรรค์ และความพร้อมของทีม โดยผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ก็จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 4,000 บาท , อันดับ 2 จำนวน 3,000 บาท , อันดับ 3 จำนวน 2,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 1,000 บาท
นางสาวนุชไนลา ลายี ชาวบ้านตำบลบันนังสาเร็ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ผู้เข้าร่วมแข่งขันซึ่งมาพร้อมกับนางมะรุณี ลายี มารดา กล่าวว่า ตามปกติก็จะทำสะเตขายอยู่แล้ว สืบทอดมาจากแม่ซึ่งเป็นผู้สอนให้ โดยตนเองก็เป็นศิษย์เก่าของวิทยาลัยชุมชน สาขาพัฒนาชุมชน จบมาได้ 2 ปี แล้ว พอทราบข่าวว่าวิทยาลัยฯ จะมีการแข่งขันการทำอาหารพื้นบ้าน ก็อยากมาแข่งขัน ด้วยจะได้นำไปพัฒนาฝีมือตนเอง เป็นมือใหม่หัดแข่ง นอกจากนี้ก็ยังได้ช่วยอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านของท้องถิ่นที่เกือบจะสูญหายไปให้คงอยู่ ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก ได้เรียนรู้วิธีการทำ เป็นการสืบต่อวัฒนธรรมภาคใต้ อีกด้วย
สำหรับสะเตเริ่มแรกก็มาจากชาววังที่จังหวัดปัตตานี สืบทอดต่อๆ กันมา ส่วนในจังหวัดยะลาทราบว่าร้านขายสะเตไก่มีเหลือเพียง 2-3 ร้าน สะเต จะมาจากสเต๊กในภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นสเต๊กเนื้อไม่มีข้าว สะเตก็จะเพี้ยนมาจากสเต๊ก แต่สเต๊กจะไม่นิยมทานกับข้าว ทานเนื้อกับผัก ส่วนสะเตจะเน้นทั้งข้าว เนื้อ น้ำแกง อาจาด ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่จะทำรับประทานกันในงานประเพณีต่างๆ




ส่วนความอร่อยของสะเตไก่ก็จะอยู่ที่รสชาติของน้ำแกง ที่จะต้องกลมกล่อมหวานนำเค็มเล็กน้อย และจะต้องมีความหอมของเครื่องเทศ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสะเตไก่ ขณะที่กลุ่มแม่บ้าน บ้านบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งได้มาร่วมทำการแข่งขัน ก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดภูมิปัญญาให้กับเด็กๆ รุ่นหลังได้สืบทอด
ส่วนครู นักเรียน โรงเรียนบ้านบาละ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ก็เช่นกัน ทุกคนดีใจที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันทำอาหารพื้นบ้าน โดยครูบอกว่าเด็กๆ ต่างมีความสุขที่จะได้มาเรียนรู้นอกห้องเรียน ช่วยให้เกิดความรัก ความสามัคคี จะแพ้หรือชนะก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้ก็ยังได้สืบทอดการทำอาหารพื้นบ้าน อีกด้วย