วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แหล่งปะการังเขากวางที่สมบูรณ์ที่สุดในไทยที่ “โลซิน ปัตตานี”

สืบเนื่องมาจากช่วงนี้เห็น ทริป Scuba ไปโลซินเยอะมากๆ เลยขอเล่าถึงโลซินที่พึ่งไปมาเมื่อปลายเดือน สิงหาคมปีที่แล้วเพื่อให้เพื่อนๆ นักดำน้ำที่กำลังตัดสินใจจะเดินทางไปดำน้ำที่โลซิน ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

โลซินเกาะเล็กๆ ปลายด้ามขวานทอง ที่ติดกับชายแดนมาเลเซียเพียงนิดเดียวที่ดูๆ แล้ว จะเรียกว่าเกาะก็ไม่เหมาะนักน่าจะเรียกว่ากองหินมากกว่า แต่ใครจะไปรู้ว่ากองหินกองนี้ เหมือนขุมทรัพย์ใต้ทะเลของเหล่านักดำน้ำทั้งหน้าใหม่และเก่า ที่ครั้งในชีวิตต้องหาโอกาสมาดำน้ำที่โลซินให้ได้ และเมื่อปลายเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จขกท. ก็มีโอกาสได้ไปเยือนที่ โลซิน เกาะเล็กๆ แห่งนี้ด้วย เรือ Liveaboad ที่มีชื่อว่า Mv วีนัสมารีน่า โดยเดินทางจาก สนามบินดอนเมือง มาลงที่หาดใหญ่ และมาขึ้นเรือที่ จ.สงขลา เพื่อเดินทางต่อ อีก 11 ชม. เพื่อไปที่โลซิน เกาะเล็กๆ แห่งนี้

ซึ่งทันที่ที่ลงไปใต้น้ำ ที่กองหินโลซิน จขกท. ก็ได้พบกันดินแดนที่เป็นเหมือนฝันซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่า ประเทศไทยจะมีแหล่งปะการัง ที่สวยงามที่สุด และสมบรูณ์ขนาดนี้ แนวปะการังเขากวางที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา สีเขียวสดสลับแดงที่ธรรมชาติจัดวางได้อย่างลงตัว ซึ่งประกอบไปด้วย เหล่าปะการังเขากวาง โต๊ะ ฟองน้ำไห ฯลฯ


และเนื่องจาก โลซิน อยู่ห่างจากฝั่งถึง 11ชั่วโมง จึงทำให้น้ำทะเลที่นี้ใสมากๆ ใสจนถึงขนาดแค่โดดลงจากเรือก็สามารถ เห็นพื้นน้ำได้ด้วยระยะ 20-30 เมตรเลยทีเดียว น้ำทะเลสีน้ำเงินเข้ม ตัดกับสีปะการัง แดง สลับ เขียวมันช่างเป็นอะไรที่เข้ากันเสียยิ่งกะไร


แต่สำหรับนักดำน้ำที่จะมาดำที่ไดร์ไซร์นี้ก็ขอแนะนำให้เป็นระดับ ADV ขึ้นไปนะครับ เพราะเนื่องจาก โลซินเป็นเพียงกองหินเล็กๆ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะบังกระแสน้ำได้เท่าไหร่นัก จึงมีบางช่วงที่ต้อง สับ Fin สวนกระแสน้ำอยู่บ่อยๆ และด้วยความลึกของ โลซิน ซึ่งมากกว่า 30เมตร ในช่วงกองทราย ที่สามารถลุ้นสัตย์หายาก อย่างโรนันอยู่ด้วยนั้น ก็ถือว่าอันตรายสำหรับ open อยู่พอสมควรทีเดียว ซึ่ง จขกท. ก็มีโอกาสได้เห็น โรนันที่กองทรายอยู่ 2 ครั้ง แต่เนื่องจากความเร็วของโรนันและความลึกที่เค้าอยู่จึงทำให้ไม่สามารถ ถ่ายรูปกลับมาได้
และที่กองใหญ่ ก็มีความลึกระดับ 8-12 เมตรที่มีแนวปะการังที่เรียกว่า สวยงามและลงตัวที่สุดของ โลซินอยู่ด้วยในความคิดของผม ซึ่ง มุมๆ นี้ถือเป็นมุมที่ผมชอบมากที่สุดมุมหนึ่งของโลซินเลยทีเดียว



และอีก 1 ไฮไลท์ ของโลซินที่มีโอกาสพบเห็นมากกว่า 80% ก็คือพี่จุดยักษ์ใหญ่ใจดี หรือ ฉลามวาฬ ขวัญใจของนักดำน้ำที่มักจะออกมาต้อนรับเหล่านักดำน้ำที่กองเล็ก อยู่บ่อยๆ ซึ่งหากใครไปโลซินแล้วไม่เจอ พี่จุด ก็ถือว่าเป็นปีชงของคนนั้นๆ เลยทีเดียวเชียว ซึ่ง จขกท. ได้มีโอกาสเจอในวันที่ 3 ที่โลซิน ถึง 2 dive เลยทีเดียวเรียกได้ว่าเจอพี่จุดจนเบื่อกันไปข้างหนึ่งเลยก็ว่าได้

สำหรับ จขกท. แล้ว จขกท. ขอยกโลซินถือเป็น ไดร์ไซร์ที่ดีที่สุดของประเทศไทยเลยทั้งเรื่องความ สมบูรณ์ของแนวปะการัง โอกาสในการพบเจอสัตย์ระดับหายากอย่าง โรนัน และ พี่จุด ซึ่งปกติค่าทริปในการมาโลซินจะอยู่ที่ราคาประมาณ 18,000-25,000 บาทแล้วแต่เรือ Liveaboad ที่นั่งไป การเดินทางถือว่าโหดพอสมควร จขกท. ซึ่งไม่เคยเมาเรือแต่ที่นี้เป็นที่แรกที่ทำให้ จขกท. สามารถผูกขาดห้องน้ำ บนเรือได้ ขาไปหากเจอคลื่นสูงจะเรียกได้ว่าเป็น ฝันร้ายของคนเมาเรือเลยก็ว่าได้ แต่ครั้งหนึ่งในชีวิตของนักดำน้ำ ขอแนะนำเลยครับ ว่าต้องมาที่โลซินให้ได้ เพราะว่า โลซินถือเป็นแหล่งปะการังเขากวางสีสดที่สมบูรณ์ที่สุดแหล่งสุดท้ายของไทยแล้วครับและสำหรับนักดำน้ำที่ 2 จิต 2 ใจอยู่ว่าจะไปเยือนโลซินดีมั้ย แนะนำครับ ว่าซักครั้งในชีวิตต้องไปเยือนโลซินให้ได้ครับ และเหนือสิ่งอื่นใด ทุกครั้งที่ดำน้ำขอให้ดำอย่างมีสติและอย่าใช้ชีวิตในความเสี่ยงครับ




ที่มา: http://pantip.com


ปลาพลวงชมพู (อีแกกือเลาะห์) ปลาน้ำจืดชายแดนใต้ เลี้ยงได้...กิโลละ 2 พัน


จะถือเป็นปลาน้ำจืดราคาแพงที่สุดในโลกหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ถ้าบอกว่าแพงที่สุดในอาเซียนน่าจะได้ ราคาซื้อขายในบ้านเราอยู่ที่ กก.ละ 2,000 บาท แต่ถ้าในฮ่องกง 8,000 บาท

 ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวถึง ปลาพลวงชมพูที่กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้ศึกษาจนสามารถขยายพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ได้แล้ว

เป็นปลาน้ำจืดประจำท้องถิ่น จ.ยะลา และ นราธิวาส มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า อีแกกือเลาะห์ หรือปลากือเลาะห์ อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน มีความโดดเด่นในสีของเกล็ดที่มีลักษณะเป็นสีชมพู ครีบหลังและครีบหางสีแดง เป็นปลาพลวงชนิดเดียวที่รับประทานทั้งเกล็ด

นิยมบริโภคในประเทศแถบอินโดจีน โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่ยังไม่สามารถวิจัยเพาะขยายพันธุ์ได้ และมีกฎหมายห้ามจับจากธรรมชาติมารับประทาน



สาเหตุที่มีราคาสูงลิ่ว เพราะเป็นปลารสชาติดี หาได้ยากอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

เราเริ่มทดลองเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2515 และมาศึกษาหาวิธีการขยายพันธุ์อย่างจริงจังเมื่อปี 2548 การเลี้ยงจะต้องเป็นพื้นที่มีน้ำไหลตลอดเวลา น้ำต้องมีปริมาณออกซิเจนสูงอย่างน้อย 6 ppm ขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านี้จะตายทันที ในขณะที่ปลาน้ำจืดชนิดอื่นยังสามารถมีชีวิตรอดได้ นอกจากนั้น ยังเป็นปลาที่ให้ไข่น้อย แค่ 500-1,000 ฟอง ต่างกับปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ ให้ไข่ตั้งแต่หมื่นฟองขึ้นไปจนถึงแสนฟอง เลยเป็นเหตุให้เสี่ยงสูญพันธุ์ได้ง่ายในธรรมชาติ และการนำมาผสมเทียมเพื่อขยายพันธุ์ยังยากกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่น เนื่องจากระยะไข่สุกพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ ไข่ที่มีอยู่น้อยแล้ว ยังสุกแก่ไม่พร้อมกันอีก
นายนภดล จินดาพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา อธิบายถึงความยากของการขยายพันธุ์ เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ สังเกตระยะที่มีไข่สุกพร้อมมากที่สุด ถึงจะทำได้สำเร็จ และส่งเสริมให้เกษตรกร 50 ราย ในพื้นที่ อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา เลี้ยงในบ่อดิน ต่อท่อตรงมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติและปล่อยให้ไหลผ่านระบายออกไป



โดยปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 นิ้ว หนัก 20 กรัม ในอัตรา 1-5 ตัวต่อพื้นที่บ่อ 1 ตร.ม. ให้อาหารปลาปลาดุกวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น มื้อละ 2-3% ของน้ำหนัก ตัว...ใช้เวลาเลี้ยง ปีครึ่งถึงสองปี ถึงจะมีน้ำหนัก 2.3 กก. ได้ขนาดตรงความต้องการของตลาด

และจากการคำนวณต้นทุนค่าอาหาร ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา บอกว่า ปลาพลวงชมพูให้ผลตอบแทนสูง มีอัตราแลกเนื้ออยู่ที่ 2-3 : 1 ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ขนาด 2.3 กก. ใช้อาหารไม่เกิน 7 กก.

ฉะนั้นจะมีต้นทุนค่าอาหารแค่ตัวละ 210 บาท...แต่สามารถขายได้สูงถึง 4,600 บาท
เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลากำลังอยู่ระหว่างศึกษาการเลี้ยงปลาพลวงชมพูในบ่อซีเมนต์ ด้วยระบบน้ำหมุนเวียน...สนใจสอบถาม รายละเอียดได้ที่ 0-7329-7042.






---------------------


วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สัมผัสโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์จังหวัดชายแดนภาคใต้และชมพหุวัฒนธรรม “จีน-พุทธ-มุสลิม”


เมื่อเอ่ยถึง จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายๆ คนมักจะโยงไปถึงภาพเหตุการณ์ไม่สงบ เสียงระเบิด และกระสุนปืน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งพื้นที่นี้กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาท่ามกลางความเชื่อหลากหลาย เกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม จีน-พุทธ-มุสลิม ที่อยู่ร่วมกันมาอย่างช้านาน



ด้วยสังคมพหุวัฒนธรรม และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงมีโบราณสถานและสถานศักดิ์สิทธิ์หลากหลายศาสนา อยู่อย่างเคารพเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งแต่ละแห่งมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจผูกมัดอย่างกลมเกลียวบนบนพื้นฐานของความศรัทธาของกันและกัน














อัลบั้มชุดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโบราณสถานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดชายแดนใต้ หากมีโอกาสมาชายแดนใต้ลองแวะเยี่ยมชมสักครั้งครับ

----------------
ภาพ.Sea Slow

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

จังหวัดยะลา เชิญดินพระราชทานฝังศพ รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรลำใหม่ ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่


วันนี้ (24 พ.ย. 59) ที่กูโบว์บาโงฮารอ หมู่ที่ 6 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธีพระราชทานดินฝังศพ ร้อยตำรวจโท มะลาเซ็ง เซะบิง รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรลำใหม่ จังหวัดยะลา ซึ่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 59 หลังถูกคนร้ายซุ่มยิงในขณะที่ ขับขี่รถจักรยานยนต์ กลับจากพบปะผู้นำศาสนา และหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่รับผิดชอบ เหตุเกิดที่บนถนนภายในหมู่บ้านลูกา หมู่ที่ 5 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีผู้บังคับบัญชาตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ส่วนราชการ ผู้นำศาสนา ครอบครัว ญาติพี่น้อง และประชาชนในพื้นที่ร่วมในพิธี



ในการนี้ ประธานในพิธียังได้มอบธงชาติ เหรียญบางระจัน และใบประกาศให้กับทายาทของ ร้อยตำรวจโท มะลาเซ็ง เซะบิง เพื่อแสดงถึงความกล้าหาญในการปฎิบัติหน้าที่ และเป็นขวัญกำลังใจให้กับครอบครัว ซึ่งการได้รับพระราชทานดินฝังศพครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ผู้วายชนม์และวงศ์ตระกูลหาที่สุดมิได้
ร้อยตำรวจโท มะลาเซ็ง เซะบิง รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรลำใหม่ จังหวัดยะลา เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2501 ณ บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 6 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นบุตรของนายมะมิง เซะบิง และนางแลฮอ เซะบิง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา เดียวกัน จำนวน 3 คน สถานภาพทางครอบครัว ร้อยตำรวจโท มะลาเซ็ง เซะบิง สมรสกับนางรอบีเย๊าะ เซะบิง มีบุตรธิดา จำนวน 3 คน


รับราชการบรรจุ และแต่งตั้งดำรงตำแหน่งลูกแถว กองร้อยที่ 3 โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา เมื่อปี 2525 และรับราชการตำรวจได้เลื่อนชั้นยศตามลำดับเรื่อยมา โดยเมื่อปี 2548 ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.ลำใหม่ จังหวัดยะลา ได้รับการแต่งตั้งและเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจตรี ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรงานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธร ลำใหม่ จังหวัดยะลา เมื่อปี 2557 และเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโท จนถึงปัจจุบัน

การปฎิบัติหน้าที่ในภาวะปกติ เป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชา เป็นที่เคารพของผู้ใต้บังคับบัญชา และเป็นที่รักของผู้ร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นผู้เอาใจใส่ดูแล และเลี้ยงดูบิดา มารดา ภรรยา และบุตร ด้วยความรักและห่วงใย ตลอดถึงเป็นผู้มีความเลื่อมใส ศรัทธา ในศาสนา มีกิริยา อัธยาศัย เป็นผู้มีความสุขุม อ่อนโยน อยู่เสมอ เป็นที่เมตตาของผู้บังคับบัญชา และเป็นที่รักใคร่นับถือของญาติมิตรโดยทั่วหน้า



----------------

แหล่งที่มา : สทท.ยะลา

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พิพิธภัณฑ์ริบลีส์ “เชื่อหรือไม่” (Ripley’s Thailand) มอบเกียรติบัตรรับรองบันทึกสถิติโลก “กวนอาซูรอ” ในกระทะที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริเวณโรงเรียนศรีชีวันวิทยา อ.รามัน จ.ยะลา


วันนี้ (23 พ.ย.) ที่โรงเรียนศรีชีวันวิทยา บ้านเจาะกาโป หมู่ที่ 6 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้เดินทางมาเป็นประธานในกิจกรรมอาซูรอสัมพันธ์ ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นการกวนอาซูรอ ในกระทะที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมี นายมะซุบรี สะอุโซะ ผอ.โรงเรียนศรีชีวันวิทยา, นายพงพันธ์ ยมมาศ นายอำเภอรามัน, นายเจษฎา จิตรัตน์ ปลัดจังหวัดยะลา, พ.อ.สิทธิศักดิ์ เจนบรรจง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องประชาชนนับหมื่นคนเข้าร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ ตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ริบลีส์ เชื่อหรือไม่” (Ripley’s Thailand) พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของโลก ได้มอบเกียรติบัตรรับรองว่า กระทะที่ใช้กวนอาซูรอในครั้งนี้ เป็นกระทะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่มีการจดบันทึกสถิติ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10.2 เมตร


นายมะซุบรี สะอุโซะ ผอ.โรงเรียนศรีชีวันวิทยา เปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมอาซูรอสัมพันธ์ ประจำปี 2559 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรำลึกถึงวันสำคัญทางศาสนาอิสลามคือ วันอาซูรอ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือนมูฮัรรอม ในฮิจเราะห์ศักราชของทุกๆ ปี เพื่อแสดงถึงความรักความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อร้อยรวมดวงใจทุกดวงของประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมแสดงความรักสมัครสมานสามัคคี และอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงของเรา โดยการรวบรวมเครื่องอุปโภคบริโภคมาร่วมกิจกรรมกวนอาซูรอ ในกระทะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แสดงถึงการรวมหัวใจทุกดวงที่มีความรัก และอาลัยแด่พระองค์ท่านด้วย


ด้าน นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ประเพณีกวนอาซูรอ เป็นการจัดกิจกรรมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันนี้เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม และถือว่าเป็นการรวมร้อยดวงใจที่มีความรัก และอาลัยยิ่งแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องต้องกันระหว่างวิถีวัฒนธรรม และความรู้สึกร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อบุคคลที่รัก เคารพและศรัทธา ต่อพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตร ซึ่งสอดคล้องกับวิถีศาสนาอิสลามที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อประชาชนชาวไทยมาตลอดชีวิต การจัดงานในวันนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรัก และอาลัยต่อพระองค์ท่าน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการกวนอาซูรอ เป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาวมุสลิม จะจัดขึ้นในช่วงเวลาตรงกับวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีของศาสนาอิสลาม (ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี) การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) ก็เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอเป็นภาษาอาหรับ แปลว่าการผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอ จะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคี และสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดุอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน


การกวนข้าวอาซูรอ เริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่า จะมีการกวนข้าวอาซูรอ กันที่ไหน เมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมายชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น เผือกมัน ฟักทอง มะละกอ กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่น ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้น นำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสม โดยหั่นตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ เช่นเดียวกัน สำหรับกะทิ จะคั้นเฉพาะน้ำมาผสม


ส่วนวิธีการกวน นำกระทะใบใหญ่ตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับคนขนมอาซูรอ หลังจากตั้งกระทะบนเตา คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว คนด้วยไม้พาย จนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแห้งได้ที่แล้วตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นบางๆ หรืออาจโรยหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่นฝอย แล้วแต่รสนิยมของท้องถิ่น แล้วตัดเป็นชิ้นๆ แจกจ่ายกันรับประทาน



---------------------


ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการ Online

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

มายะลา...เยี่ยมชมความสวยงามวัดถ้ำศิลป์


บางครั้งการเดินทางที่ยากลำบากก็นำมาซึ่งรางวัลแห่งปลายทางอันแสนคุ้มค่า เช่นเดียวกับวินาทีที่คุณต้องเดินเท้า ขึ้นบันไปสู่ถ้ำศิลป์ที่สูงจากพื้นดิน 28 เมตร จากนั้นต้องฝ่าความมืดภายในถ้ำ เพ่งผ่านแสงที่เหลืออันน้อยนิด เพื่อชื่นชมจิตรกรรมเก่าแก่บนผนังถ้ำที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนสมัยศรีวิชัยตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำศิลป์แห่งนี้ได้รับการยกย่องว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นงานศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยชิ้นเดียวที่เป็นภาพจิตรกรรมให้เราได้ชื่นชม ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปูชนียบุคคลแห่งโลกศิลปะ พร้อมกับอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ นักโบราณคดี ได้ร่วมกันสันนิษฐานว่า ภาพเหล่านี้น่าจะเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบของภาพโดยตรงจากอินเดีย ภาพที่พบทั้งภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นภาพคนล่าสัตว์ เขียนขึ้นด้วยสีดำ และจิตรกรรมฝาผนังภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่ง เป็นแถวเบื้องซ้ายและขวา มีสาวกหรืออุบาสกอุบาสิกานั่งประนมมืออยู่ ภาพพระพุทธเจ้าปางลีลาและมีรูปผู้หญิงยืนเป็นหมู่สามคน ส่วนสีที่เขียนนั้นใช้สีดินเหลืองเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยสีน้ำตาลและแดง เพื่อแยกน้ำหนักอ่อนแก่แล้วตัดเส้นด้วยสีดำ อย่างไรก็ตาม สภาพของจิตรกรรมฝาผนังภายในถ้ำค่อนข้างลบเลือนไปมากแล้วตามกาลเวลา หากก็เป็นคุณค่าที่คุณควรมีโอกาสแวะมาชมกันสักครั้ง


แม้ว่าจังหวัดยะลาไม่ติดทะเล แต่ยะลาก็มีถ้ำให้เที่ยวชม สัมผัสความงดงามของหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกตาอย่างน่าชม พร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน และการอยู่ร่วมกันของพี่น้องไทยพุทธ-มุสลิม ของชุมชนที่นี่ หากมาเยือนจังหวัดยะลาลองแวะมาเที่ยวถ้ำกันที่ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งไมไกลจากตัวเมืองมากนัก แล้วจะรู้ว่า ยะลา..ก็มีถ้ำงามๆเชยชม


การชมถ้ำควรนำตะเกียงหรือไฟฉายติดตัวไปด้วย สามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยสามารถแจ้งความจำนงกับครูใหญ่โรงเรียนบ้านบันนังลูวาที่อยู่ใกล้ถ้ำ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจประตูถ้ำไว้




ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา ตัวถ้ำอยู่ในภูเขาเดียวกันกับถ้ำพระนอน ไม่ไกลจากวัดคูหาภิมุข แต่ห่างจากถ้ำพระนอนไปทางหัวเขาทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร


การเดินทาง : จากตัวเมืองยะลา ไปตามทางหลวงหมายเลข 409 แยกเข้าถ้ำศิลป์ประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพถนนลาดยางจนถึงเชิงเขา มีบันไดให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปยังปากถ้ำได้โดยสะดวก 





------------------------
ภาพสวยๆจาก Sea Slow