วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

การจักสานเครื่องใช้จากไม้ไผ่ งานฝีมือของชาวบ้านท่าสาป จ.ยะลา

การจักสานเครื่องใช้จากไม้ไผ่ เป็นงานฝีมือที่ชาวบ้านในตำบลท่าสาป อำเมือง จังหวัดยะลา  เคยฝึกฝนสืบทอดกันมาหลายชั่วคน แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ภายหลังจากความเจริญและเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆมีมากขึ้น ทำให้การผลิตข้าวของเครื่องใช้ขึ้นมาเองถูกหลงลืมจนเกือบจะหายไปจากชุมชน ด้วยเหตุนี้ อิสมะแอ  เลาะแม เด็กหนุ่มรุ่นใหม่ที่มองเห็นว่าหากปล่อยไว้ ไม่มีการส่งเสริมสืบทอด ภูมิปัญญาการจักสานเหล่านี้ ก็อาจสูญหายไปได้ ดังนั้นเขาจังริเริ่มจัดตั้งกลุ่มจักสานงานไม้ไผ่ขึ้นมา โดยมีนายเจ๊ะอาแซ เลาะแม พ่อของเขาซึ่งเป็นเพียงคนเดียวที่ยังคงสืบทอดงานจักสานนี้อยู่ เป็นครูผู้สอนสำหรับคนในชุมชนที่สนใจ 


ภายหลังจากที่รวบรวมเป็นกลุ่มฝึกสอนกันเองในชุมชนแล้ว ทางหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล  ตำบลท่าสาป หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ก็ได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์และสถานที่ โดยขณะนี้มีชาวบ้านในชุมชนที่สนใจเข้ามาฝึกเป็นอาชีพกว่ายี่สิบคน เนื่องจากมองเห็นว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว 


ในช่วงเวลาที่หลายคนว่างงานจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 หากเราสามารถหาอาชีพเสริมไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าของที่ระลึก หรือการจักสานอุปกรณ์เครื่องใช้และงานฝีมือ อย่างเช่นชาวบ้านในตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา กลุ่มนี้ ก็จะสามารถลดภาระความเดือดร้อนจากการว่างงานอีกทางหนึ่ง และนอกจากจะมีรายได้แล้วยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญางานฝีมือที่มีมาของบรรพบุรุษอีกด้วย



--------------------------------------------

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

กล้วยหินฉาบ ขนมสร้างชื่อถิ่นบันนังสตา จ.ยะลา

กล้วยหินบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นกล้วยพื้นเมืองที่เนื้อแข็งและเมื่อสุกรสชาติจะออกเปรี้ยวเล็กน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยโดดเด่นอยู่บนลุ่มน้ำปัตตานี 2 ฝั่งแม่น้ำในเขต ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จากที่เคยเป็นกล้วยป่า แต่ปัจจุบัน ขึ้นแท่นเป็นโอทอปของ จ.ยะลา ที่มีกลุ่มแม่บ้านหลายกลุ่มผลิตออกจำหน่าย หลายรูปแบบ อย่างเช่น กลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ต.บันนังสตา ซึ่งมี คุณรุสนี มานะแตหะ เป็นประธานกลุ่ม และคุณไซนะ กามะ รองประธานกลุ่มที่คอยช่วยบริหารงานของกลุ่ม ที่ผลักดันให้ กล้วยหินบังนังสตา ภายใต้การค้าว่า “บาตูวัน” คว้าโอทอป 4 ดาว




คุณไซนะ เล่าว่า จากที่แต่ละบ้านมีกล้วยหินอยู่แล้ว เพราะเป็นกล้วยดั้งเดิมของพื้นที่รู้กันอยู่ว่าจะถนอมอาหารกันอย่างไร ตอนแรกก็ทำกินกันในครัวเรือน บางขายให้คนนอกบาง จนกระทั่งเมื่อปี 2544 คิดร่วมกลุ่มกัน ชื่อกลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ตั้งเป้ากันไว้ว่าจะทำกล้วยฉาบหินออกขายรวบรวมแม่บ้านในหมู่บ้านได้ประมาณ 25 คนตอนนั้นร่วมหุ้นกันคนละ 100 บาท ช่วยกันทำผลิตกันเรื่อยๆ กลุ่มของเราจะมีการหมุนเวียนประธานกลุ่ม 4 ปีครั้ง สับเปลี่ยนให้สมาชิกท่านอื่นได้ขึ้นมาเป็นประธานกันบาง โดยใช้วิธีโหวตเสียงและดูผลงานที่ผ่านมาช่วงดำรงตำแหน่งประธานจะมีหน้าที่ ในการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการที่เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อหาช่องทางการตลาด





“กระทั่งปี 2547 ทางกลุ่มซื้อที่ดินประมาณ 100,000 บาท แต่ซื้อเงินผ่อน เพื่อมาสร้างโรงเรือนสำหรับผลิตกล้วยฉาบ ส่งขาย ทุกวันนี้กลุ่มเราสามารถปันผลให้สมาชิกได้อย่างล่าสุดได้ผลกำไรมา ประมาณ 60,000 กว่าบาท เราก็มาปันผลให้สมาชิกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็ไปใช้หนี้ที่ซื้อที่ดิน ทุกวันนี้สมาชิกจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน” นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย และวิสาหกิจชุมชนจังหวัดปัตตานี ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อที่จะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศ ทุกวันนี้ส่งไปจำหน่ายสงขลา ยะลา ปัตตานี เดือนละ 2 ครั้ง ประมาณเดือนละ 15,000 ถุง ราคาถุงละ 20 บาท และตลาดในกรุงเทพ ลูกค้าจะสั่งมาเราก็จะส่งให้ทางรถไฟจะสะดวกกว่าถ้าส่งทางอื่นจะแตกสินค้าจะเสียหาย เพราะกล้วยเมื่อนำมาฉาบแล้วจะแตกหักง่าย ไม่สวย แต่รสชาติยังคงเดิม ที่ขายดีจะเป็นรสเค็ม กับรสหวาน


“หีบห่อจะมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือดั้งเดิมใส่ถุงพลาสติกแข็ง กลุ่มจะทำกันเอง ส่วนอีกแบบเป็นถุงสวยงามที่หน่วยงานราชการในพื้นที่ ที่ให้สนับสนุนออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ จะดีตรงที่กันแตกหักของสินค้า แต่ราคาก็จะสูงกว่าที่บรรจุแบบเก่า” นอกจากนี้ยัง ขายหน่อกล้วย ราคาหน่อละ 25 บาท  ในช่วงฤดูฝนเนื่องจากผลผลิตจะน้อย ราคาจะขยับอยู่ที่ 40-50 บาท กลุ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุก ชอบซื้อไปให้นกกิน สำหรับท่านใดต้องการชิมกล้วยหิน ของกลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ภายใต้ชื่อการค้าว่า “บาตูวัน” สามารถติดต่อได้ที่ 20/2 หมู่ที่ 11 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา โทร.084-8997707

--------------------------




วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565

"พลิกกะลามะพร้าวให้เป็นเงิน" วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวบ้านทอนอามาน จ.นราธิวาส

🌴ขึ้นชื่อว่ากะลามะพร้าว หลายคนคงสงสัยว่าเราจะนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ไม่น่าเชื่อว่าที่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวบ้านทอนอามานแห่งนี้ เค้าแปรรูปกะลามะพร้าว มาเป็นถ่านอัดแท่ง ส่งขายไปยังผู้ประกอบการในพื้นที่ ทำเงินได้รายเดือนเกือบ 2 แสน บาทต่อเดือน




ศูนย์วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวบ้านทอนอามานเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่บ้านทอน ที่มีความยากจนและไม่มีงานประจำ ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน มีสามีเป็นชาวประมง และหากเป็นช่วงมรสุมก็จะขาดรายได้
จากปัญหาดังกล่าวนั้น ทางศูนย์ฯจึงคิดและริเริ่มแปรรูปมะพร้าวที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “ถ่านอัดแท่ง” ที่ไม่ใช่แค่การตากแห้งในที่โล่งแจ้งเพียงอย่างเดียว แต่เค้ามีตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดนราธิวาส ได้มาส่งเสริมเพื่อเพิ่มสมรรถนะการจัดการพลังงานในชุมชนแบบครบวงจร หรือ ที่เราเรียกกันติดหูว่า “พลังงานทดแทนนั่นเองค่ะ”นางเจะปูรอ บินหะมะ. หรือที่ใครๆเรียก กะละห์ หญิงแกร่งคนนี้ เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ จากเงินทุนจำนวนไม่มาก และมีสมาชิกเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ร่วมด้วยช่วยกันพยุงให้กิจการของศูนย์ฯผ่านไปได้ จนทำให้มีวันนี้




🙏🙏และอยากขอบคุณพลังงานจังหวัดนราธิวาส ที่มอบตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถลดเวลาตากถ่านให้แห้งเพียงแค่ 2 วัน จากเดิม 3-4 วัน เคลื่อนย้ายได้ง่าย และไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพอากาศ ขณะที่คุณภาพถ่านดีเยี่ยม ไร้ฝุ่นไร้ควันติดอาหาร ที่ได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการร้านค้าที่รับซื้อถ่านไปอุปโภค เห็นได้ว่า ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถลดการปนเปื้อนจากฝุ่นละออง และแมลงรบกวน ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

---------------------------------

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565

“ปลากะพงในกระชัง” ปลาเศรษฐกิจแนวชายฝั่งเกาะยอ ทะเลสาบสงขลา

 

ปลากะพง 3 น้ำ ขึ้นชื่อว่าเป็นปลากะพงที่มีเนื้อดี รสชาติอร่อยที่สุด เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ และมีกระแสน้ำไหลเวียนทำให้ปลาว่ายน้ำออกแรงอยู่ตลอด นั่นคือทะเลสาบสงขลาที่พิเศษ มี 3 น้ำคือน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย ทำให้มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ประกอบกับปลากะพงสงขลาเลี้ยงด้วยอาหารสด จึงทำให้ปลาที่นี่เนื้อแน่น น้ำหนักเนื้อมาก เนื้อมีความหวานฉ่ำปลากะพง มีคุณค่าทางอาหาร และมีรสชาติที่ยอดเยี่ยมที่สุด สามารถทำเมนูอาหารได้หลากหลายทั้งแกงส้ม ต้มยำ นึ่งมะนาว ต้มเผือก ทอดน้ำปลา ผัดคื่นช่าย ผัดเครื่องแกง ฯลฯ 



ส่วนหนังปลากะพงขาว สามารถนำมาแปรรูปโดยนำมาตากจนแห้ง ก่อนที่จะนำมาทอดกรอบ ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงเพิ่มรสชาติ ให้อร่อยกว่าเดิม ด้วยรสชาติดั้งเดิม รสมันเค็ม และรสเผ็ด หนังปลากะพงขาวทอดกรอบ มีคุณค่าทางโภชนาการ กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ร่างกายของมนุษย์ย่อยได้ ให้สาร DHA และ โอเมก้า 3 อีกด้วย






-------------------------------


วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

นมแพะชายแดนใต้ "ทำได้จริง สร้างรายได้คุ้มค่า”


นายนิสมาน บูงอซายู หรือ มัง เจ้าของฟาร์มนมแพะอารมณ์ดี  ฟาร์มนมแพะทายาทเกษตรคนรุ่นใหม่ กล่าวว่าฟาร์มแพะที่นี่เป็นฟาร์มแพะนม ซึ่งแพะที่เลี้ยงคือแพะสายพันธุ์ซาแนน โดยแพะสายพันธุ์ดังกล่าวนี้หากพร้อมให้น้ำนมสามารถให้น้ำนมเฉลี่ยตัวละกิโลครึ่งต่อวัน ปัจจุบันที่ฟาร์มมีแพะเลี้ยงจำนวนทั้งหมด 20 กว่าตัว มีแพะที่พร้อมให้น้ำนมได้แล้วสามารถให้น้ำนมได้ประมาณวันละ 5 – 6 กิโลกรัม 

 

เจ้าของฟาร์มนมแพะอารมณ์ดี  เปิดเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ฟาร์มนมแพะอารมณ์ดี มีแปลงปลูกหญ้า ประมาณ 1 ไร่  ซึ่งเป็นแปลงหญ้าหวานจากประเทศอิสราเอล โดยหญ้าหวานเป็นหญ้าที่ตอบโจทย์สำหรับแพะนมเป็นอย่างมากอีกทั้งยังเป็นหญ้าที่ให้โปรตีนสูง เมื่อแพะได้กินหญ้าหวานแล้ว จะทำให้ได้น้ำนมที่ดีที่สุด มีความหวาน หอม อร่อย ผู้บริโภคดื่มนมแพะอารมณ์ดีอย่างง่ายดายอีกด้วย หากแต่ว่าปัจจุบันในประเทศไทยยังคงมีการปลูกหญ้าหวานเป็นจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกหญ้าเนเปียร์มากกว่า นายนิสมาน เปิดเผยอีกด้วยว่าแปลงปลูกหญ้าหวานของฟาร์มนั้นยังควบคุมทุกขั้นตอนการปลูกอย่างเข้มงวดไม่มีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน เพื่อแพะทุกตัวจะได้กินหญ้าที่ดี มีคุณภาพและปลอดภัย นอกจากนั้นฟาร์มนมแพะอารมณ์ดี ยังเน้นให้อาหารเสริมแพะด้วยผิวถั่วเหลือง เนื่องจากว่า ผิวถั่วเหลืองนั้นให้โปรตีนสูง ให้มีความหวานในน้ำนม เพิ่มน้ำนม และช่วยให้น้ำนมแพะไม่มีกลิ่นคาว 


ในด้านการทำการตลาดนั้นมีทั้งในรูปแบบการขายตรงจากฟาร์มนมแพะอารมณ์ดีสู่ผู้บริโภคในทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ ของทุกสัปดาห์ ที่ ศอ.บต รวมทั้งการส่งตรงถึงลูกค้าที่โทรศัพท์สั่งซื้อเป็นประจำในทุกวัน และยังมีการทำการตลาดออนไลน์ผ่านทางช่องทางเฟสบุ๊ค นมแพะอารมณ์ดี shabaab farm เพื่อทำให้สามารถสื่อสารตรงกับลูกค้า ตัดปัญหาพ่อค้ากลางได้อีกด้วย สำหรับอนาคตได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะมีการต่อยอดขยายฟาร์มเพิ่มเติม และจะขยายพันธุ์แพะอีก ประมาณ 100 แม่ เพื่อที่จะให้เยาวชน เกษตรกร ที่สนใจทางด้านการเลี้ยงแพะนมสามารถนำแพะสายพันธุ์ซาแนนจากฟาร์มไปเลี้ยงได้ เพื่อเพิ่มจปริมาณน้ำนมแพะให้มากกว่ากว่านี้ โดยหากได้ผลผลิตก็สามารถนำมาขายที่ฟาร์มนมแพะอารมณ์ดีได้ หรือจะบรรจุขวดเองก็ได้อีกด้วย 


สำหรับผู้ที่สนใจจะสั่งนมแพะอารมณ์ดี สามารถสั่งจองล่วงหน้า 1 วัน ติดต่อได้ที่ นายนิสมาน บูงอซายู หรือ มัง เจ้าของฟาร์มนมแพะอารมณ์ดี  บ้านเลขที่ 53/4 ม.3 ต.บันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา หรือทาง Facebook : Shababb Farm หมายเลขโทรศัพท์ 086 - 2879359, 081 - 0986433


-----------------------------------

 

                         



วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565

"ผ้าปะลางิง" คุณค่าแห่งงานศิลปวัฒนธรรมบนผืนผ้าชายแดนภาคใต้

ภูมิปัญญาชาวปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยแสดงออกผ่านผืนผ้าและแพรพรรณ ในนามผ้าปะลางิง ปัญญาที่ทรงคุณค่าในด้านศิลปวัฒนธรรมที่ควรแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่ ลวดลายบนพื้นผ้าปะลางิงและเส้นไหมรวมถึงเส้นดิ้นเงินดิ้นทองที่ใช้ทักทอผ้าชนิดนี้ คือเครื่องแสดงฐานะและบรรดาศักดิ์ของผู้สวมใส่ยกตัวอย่างเช่น ขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์สูงจะสวมใส่ผ้าปะลางิงที่ทอด้วยไหมแท้และอาจจะมีการผสมแล่งเงินแล่งทอง และมีลวดลายวิจิตร แต่สำหรับชนชั้นสามัญชนจะใช้ผ้าปะลางิงที่ทอด้วยฝ้าย ส่วนสีสันและลวดลายก็จะเป็นลายพื้นบ้าน ที่ไม่ใช้ในราชสำนักหรือใช้สำหรับขุนนางชั้นสูง




แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วง 70 ถึง 80 ปีที่ผ่านมานี้ผ้าปะลางิงได้ถูกหลงลืมไปจากสังคมของชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สาเหตุที่ผ้าชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยม อาจเป็นเพราะผลิตได้ยาก รวมถึงอาจจะไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาในการผลิตผ้าชนิดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องนับว่าเป็นข่าวดีที่ในปัจจุบันมีผู้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าไว้ได้แล้ว กระบวนการผลิตผ้าปะลางิงมีความซับซ้อนมากเมื่อเทียบกับการทำผ้าบาติกทั่วไป เพราะการทอผ้า การทำลวดลายและการมัดย้อมต้องใช้ความพิถีพิถันมากกว่า ลวดลายของผ้าปะลางิงแบบดั้งเดิมจะมีดังต่อไปนี้ ลายของกระเบื้องเคลือบโบราณ ลายช่องลมเหนือกรอบหน้าต่างบ้าน ลวดลายของขนมพื้นบ้านโบราณและลวดลายของการละเล่น อย่างเช่นการเล่นว่าว เป็นต้น




เสน่ห์ของผ้าปะลางิงอยู่ที่ลวดลายโบราณและสีสันที่จับคู่กันอย่างเป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่น สีที่ใช้ต้องเป็นสีตัดกัน เช่น สีเขียวตัดกับสีม่วงหรือสีเขียวตัดกับสีแดง การผลิตผ้าปะลางิงหนึ่งผืน ซึ่งมีความยาวประมาณ 2 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร 20 เซนติเมตร ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเกือบสองเดือน แต่ถ้าเป็นภาพที่มีลวดลายโบราณแท้จริง และสีหลายสี จะต้องใช้เวลาการผลิตที่นานขึ้น ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน นับเป็นรากเหง้าของขนบประเพณีและวัฒนธรรมที่สมควรจะได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่ให้กระจายออกไปในวงกว้าง เพราะมิฉะนั้นแล้วรากเหง้าของชุมชนและภูมิปัญญาของบรรพชนจะเลือนหายไปจากสังคมของเรา


--------------------------------


วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

วิสาหกิจชุมชนบ้านบาโงย ลูกหยีกวนรสเด็ด - สร้างงานสร้างรายได้

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปลูกหยีบ้านบาโงย ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 79 หมู่ 2 บ้านยือโร๊ะ ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยมีนางสาวอุสนา  การี ประธานกลุ่มฯ และสมาชิกอีก 7 คน ร่วมกันดำเนินการ โดยการนำวัตถุดิบอย่างลูกหยีที่มีในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้แก่สมาชิกในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ


จุดเด่นผลิตภัณฑ์ลูกหยีแปรรูปของกลุ่มบาโงย คือ รสชาติที่กลมกล่อม หวาน เปรี้ยว เค็ม และเผ็ด โดยการเลือกใช้ผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นอย่างลูกหยีบวกกับน้ำสะอาด เกลือ น้ำตาลปี๊บ พริกสด แบะแซ และน้ำตาลทราย มาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป ทำให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้คนในชุมชน


อีกทั้งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ทั้งนี้สามารถแปรรูปลูกหยีผลสดที่มีปริมาณมากในพื้นที่ ให้เป็นลูกหยีฉาบ และลูกหยีกวน ได้ครั้งละ 100 กิโลกรัม ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน โดยจำหน่ายในราคาถุงละ 20, 30, 50 และ 100 บาท ผู้ที่สนใจสั่งซื้อสามารถจะติดต่อสอบถามได้ที่ นางสาวอุสนา  การี หมายเลขโทรศัพท์ 09 - 3635 - 0782

 ---------------------------------

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565

วิถีชุมชน วิถีเศรษฐกิจพอเพียง “ลงแขกเกี่ยวข้าว สานสัมพันธ์ความสามัคคี”

เมื่อ 4 มี.ค.65 เวลา 09.00 น. พ.อ.ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผบ.ฉก.ทพ.45 พร้อมด้วย พ.ท.บำเพ็ญ คชเวช เสธ.ฉก.ทพ.45 ร้อย.ทพ.4506 ชป.กร.หญิง ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน บ.นิบง ต.มะรือโบตก ร่วมจัดกิจกรรมพหุวัฒนธรรม การเก็บเกี่ยวข้าว ช่วยเหลือชาวบ้านหลังจากน้ำท่วมนาข้าวได้รับความเสียหาย และเพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีประจำท้องถิ่น 


และเป็นการพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และ ประชาชนในพื้นที่ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ผู้นำท้องที่ และประชาชนชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ในพื้นที่ร่วมกิจกรรมร่วมกัน โดยดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้มารักษา ต่อยอด การเก็บเกี่ยวข้าวตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และสืบสานภูมิปัญญา ณ บ.นิบง ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส



---------------------------------