วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

นักเรียน จ.ยะลา สุดเจ๋ง!! ประดิษฐ์เครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติต้าน COVID–19

          การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID–19)ได้ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วในพื้นที่จังหวัดยะลา และกระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศสั่งปิดโรงเรียนของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง



         โรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา​ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ตระหนักถึงความปลอดภัยของครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองในชุมชน จึงมีนโยบายให้ครูคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการ พร้อมทั้งได้จัดทำประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID–19) ในโรงเรียน โดยรณรงค์ให้ครูสวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งเจลล้างมือบริเวณตามจุดต่างๆที่กำหนดในโรงเรียน พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียนเข้าใจถึงวิธีการ ขั้นตอนการป้องกันตนเอง



         นายจำลอง จันทรโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง​ บอกกับทีมงานของเราว่า​ มีนโยบายให้ครูคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม พบว่าฝ่ายอนามัยโรงเรียน ร่วมกับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำองค์ความรู้ การใช้ STEM ศึกษาเข้ามาพัฒนา สร้างนวัตกรรมเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติขึ้น ในสถานการณ์การที่มีโรคระบาดกระจายไปทั่วโลกและชุมชนใกล้ตัว ทำให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนวิชาการเขียนโปรแกรมร่วมกันพัฒนาเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติขึ้นเพื่อป้องกันการสัมผัส ภายใต้จุดยืนที่ว่า "#เราจะรวมสู้โควิด-19 ไปด้วยกัน" อะไรที่สามารถช่วยได้เราก็ช่วยกัน ใครทำอะไรเป็น ใครทำอะไรได้ เราก็นำมาต่อยอดรวมสู่โควิด-19 ไปด้วยกัน แบบบูรณาการบนพื้นฐาน พื้นที่นวัตกรรมกรรมการศึกษา #เครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ต้านไวรัส COVID–19 มีหลักการทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุ ที่ทำหน้าที่ตรวจวัตถุที่ผ่านเซ็นเซอร์ เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจเจอวัตถุเครื่องก็จะสั่งคำสั่งให้มอเตอร์กดเจลแอลกอฮอล์ไหลออกมาให้ผู้ที่มาใช้บริการเจลแอลกอฮอล์ โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสหรือกดไปยังขวดเจลแอลกอฮอล์ทำให้ไม่มีเชื้อโรคปะปนอยู่บนหัวขวดเจลแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการรายอื่นๆ มีความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัส



         ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่พบจากการผลิตเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ เป็นเครื่องต้นแบบรุ่นทดลองใช้ ต้านไวรัส COVID–19 ใช้เวลาทำเพียง 1 วัน บุคคลสามารถใช้บริการประมาณ 15-20 คนเครื่องก็จะปิดตัวเอง ทำให้ต้องมาเปิดเครื่องใหม่ และขณะนี้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง กำลังเร่งพัฒนาเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ตัวที่ 2 ภายใต้การควบคุมดูแลของ​ นายมะยูกี บือโต ครูผู้ฝึกสอน เพื่อแก้ปัญหาจากเครื่องต้นแบบ ลดเรื่องงบประมาณให้ถูกลงและแก้ปัญหาเรื่องการปิดเครื่องเองของเครื่องหลังจากใช้งานไปประมาณ 15-20 คน หากเครื่องกดแอลกอฮอล์สามารถใช้งานได้เป็นปกติ ทางโรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวงจะนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ของโรงเรียนเพื่อบริการครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียนที่มารับบริการและเปิดแหล่งเรียนรู้ให้ชุมนุมได้ศึกษาไปผลิตต่อยอดสู่ชุมชนต่อไป



         สำหรับเด็กชาย อิบรอเฮม สาเมาะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า เครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ผมใช้องค์ความรู้จากวิชาต่างๆที่ได้เรียนมาไม่ว่าจะเป็นวิชาคอมพิวเตอร์ เรื่องการเขียนโปรแกรมควบคุม วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรง ไฟฟ้า วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง หน่วยวัด องศาของการกดวัตถุ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมา ผมรู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและคิดค้นเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ และขอให้เราทุกคนได้พ้นจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 หายจากประเทศเราให้เร็วที่สุดครับ เด็กชายอิบรอเฮง บากา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า หลังจากที่ผมได้ดูข่าวทางทีวี และจากอินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับเรื่องไวรัสโคโรนา 2019 ผมรู้สึกกลัวมาก เพราะโรคนี้ติดต่อกันเร็วมากครับ เห็นใจคุณหมอและพี่พยาบาล ที่ต้องช่วยกันรักษาคนที่ติดเชื้อไวรัส ผมจึงปรึกษาเพื่อนร่วมห้อง และครูที่ปรึกษาว่าอยากจะสร้างอะไรสักอย่างที่จะช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาดได้เร็ว ผมจึงได้ร่วมกับเพื่อนๆและครูคิดค้นเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัตินี้ขึ้นมาครับ.

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

การเว้นระยะห่างของเมืองชายแดน อ.ไหงโก-ลก เป็นมาตรการลดการแพร่ระบาดโควิส-19

        ใครจะคิดว่าเมื่อถึงวันหนึ่งความเงียบเหงาและการเว้นระยะห่างของประชาชนในพื้นที่เมืองชายแดนอย่างอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส คือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และอยากให้เกิดขึ้น ด้วยความหวังที่จะทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19



           นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) จังหวัดนราธิวาสจึงได้นำมาบังคับใช้ประกอบกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาสได้ออกคำสั่งเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมพื้นที่เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การกำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 การใช้มาตรการฉุกเฉินระงับการเดินทางเข้าออกของพาหนะต่างๆในจังหวัดนราธิวาส ไม่เพียงเท่านั้นการเดินทางเข้าออกทางบก ผ่านด่านถาวรริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก จุดผ่อนปรน และท่าข้าม ช่องทางธรรมชาติตลอดแม่น้ำสุไหงโก-ลกที่เชื่อมโยงทั้ง3อำเภอก็ถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายอย่างเข้มงวดทำให้การเดินทางเข้าออกทั้งเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวปิดตายมาตลอดหลายวันติดต่อกัน



        ขณะที่การค้าขายในพื้นที่ก็ต้องมีข้อจำกัด ที่ทำให้สถานประกอบการที่มีมวลชนมารวมตัวกัน หรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ถูกปิดตัวลง ส่วนร้านอาหารก็รับได้เพียงลูกค้าที่มาซื้ออาหารและสินค้าต่างๆไม่สามารถนั่งพบปะสังสรรค์กันอย่างที่เป็นมา

         นางกัญญาลักษณ์ ทองพันช่าง ร้านน้องแก้มโอดิบกล่าวว่า ยอดจำหน่ายหายไปมากกว่า 50เปอร์เซ็นต์ ทางร้านจึงต้องปรับตัว ลดจำนวนวัตถุดิบลง และเพิ่มบริการส่งถึงบ้าน ซึ่งแม้ได้รับผลกระทบหนักแต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ทุกคนจะปลอดภัย



     ขณะที่นางพิมพ์ผกา นกเส้ง ร้านครัวนายพล ระบุ ทางร้านยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยอมรับว่ายอดจำหน่ายลดลงเกิน50เปอร์เซ็นต์ เพราะหากนั่งที่ร้านอย่างน้อยต่อโต๊ะประมาณ 300บาทขึ้นไป แต่เมื่อสั่งกลับบ้านก็จะสั่งเป็นแกวถุง หรือ อาหารเพียงชุดเดียว ซึ่งราคาจำหน่ายอยู่ที่ 100-200บาทเท่านั้น

          ด้านนายแวอาลี แวดือรามันห์ บังลีวินเทจ ที่มักมีลูกค้าหลายกลุ่มวัยมารับประทานโรตีกับชาร้อน พร้อมกับชมบรรยากาศการจัดวางของเก่าที่มีคุณค่าทางจิตใจของสะสมของทางร้าน ก็ให้ความร่วมมือปิดร้านทันทีที่มีคำสั่งออกมา พร้อมระบุว่า รู้ว่าเปิดขายเฉพาะหน้าร้านยอดจำหน่ายจะหายไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่การให้ความร่วมมือ เพื่อให้ควบคุมการแพร่ระบาดมีประสิทธิภาพ และพื้นที่จังหวัดนราธิวาสปลอดภัยสำหรับทุกคนโดยเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งทางร้านรู้สึกภูมิใจที่ได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการ แม้เป็นเพียงส่วนเล็กๆแต่ก็คาดหวังว่าพลังความร่วมมือจากทุกคนจะช่วยปกป้องพื้นที่ได้




        ในวันที่ 28 มี.ค.63 ยอดผู้ป่วยสะสมที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 8 ราย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 6 ราย กลับบ้านแล้ว 1 รายและเสียชีวิต1 ราย ไม่พบเชื้อ 166 ราย หากเทียบกับพื้นที่จังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้านยังถือว่าน้อยมาก แต่เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข โรคและภัยสุขภาพจังหวัดนราธิวาส และคณะทำงานของอำเภอสุไหงโก-ลก และ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ปฏิบัติตามมาตรการที่นำมาใช้ควบคุมพื้นที่อย่างเข้มงวด ความเงียบเหงาที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นเหมือนความหวังของทุกคนว่านี่คือแนวทางที่ดีที่สุดที่พวกเราจะปกป้องพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลกให้ปลอดภัยของไวรัสโควิด-19

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

ศูนย์ไร่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านฮูแตทูวอ จังหวัดนราธิวาส

         เนื่องจากสภาพพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านฮูแตทูวอ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส มีสภาพเป็นดินทราย และประสบปัญหาเรื่องน้ำ หลายหน่วยงานจึงได้เข้ามาช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุนและน้อมนำแนวพระราชดำริ มาปรับใช้ จนกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย นำไปสู่ชุมชนมีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้

          นายสมาน ผ่านพรม ปราชญ์ชาวบ้าน เล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่ศูนย์ไร่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 4 บ้านฮูแตทูวอแห่งนี้ ไม่จัดอยู่ในโซนนิ่งของการทำการเกษตรทุกรูปแบบ เนื่องจากเป็นดินทราย มีปัญหาเรื่องน้ำ เมื่อมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาเมื่อปี 2559 คณะกรรมการหมู่บ้านจึงเปิดรับสมาชิก เริ่มต้น 14 ราย ทำเกษตรประมง ปศุสัตว์



          แต่เนื่องด้วยยังคงมีปัญหาเรื่องน้ำ ต่อมาในปี 2560 มูลนิธิปิดทองหลังพระ เล็งเห็นความสำคัญว่าถ้าจะเดินต่อต้องมีน้ำเป็นตัวตั้ง และได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1 ล้านบาท เพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล ประกอบกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ช่วยดำเนินการตรวจสอบให้น้ำใช้ได้จริง ค่า pH น้ำ อยู่ที่ 5.5-5.6 ซึ่งเหมาะกับการเพาะปลูก

          "...โชคดีมากที่มูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญ ทำให้วันนี้ พื้นที่ 20 ไร่ แปลงเกษตร 11 ไร่ พืชที่ปลูกปลูกได้หลากหลายมาก พืชผลเด่นที่นี่คือเมล่อน ใช้กองทุนเมล็ดพันธุ์ที่ทางศูนย์ตั้งขึ้นมาเอง และพืชที่ปีนี้เด่น คือฟักทองลายทอง สายพันธุ์นำเข้าจากไต้หวัน คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 4 ตัน..."



          จุดเด่นของฟักทองลายทอง รสชาติดี สรีระสวย เนื่องจากไม่ได้ปลูกลงดิน ยกระดับขึ้นปลูกลอยฟ้าทั้งหมด เหมาะกับปลูกในดินทราย ทนกับสภาพแล้ง โรคแมลง พืชผลที่นี้ปลอดสารเคมี ส่วนหนึ่งใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา เหมาะแก่การอารักขาพืชตั้งแต่เริ่มต้น และสามารถทำเองได้ รวมถึงการนำวัสดุในท้องถิ่นอย่างเศษปาล์มมาทำปุ๋ยหมัก

          "...เน้นปรับปรุงดินอย่างถูกต้อง และเหมาะสมตามศาสตร์พระราชา ใช้ระยะห่างการปลูกอย่างเหมาะสม และถูกต้องการทำเกษตรผสมผสาน ไม่ควรเน้นตัวใดตัวหนึ่ง ขณะที่ พืชผลที่นี่เหมาะกับผู้บริโภค ไม่มีสารเคมี ใช้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ ปลาทะเล และการให้น้ำอย่างเหมาะสม แม่นยำ โดยใช้ระบบน้ำหยด เพื่อต่อสู้กับภัยแล้งตามนโยบายของรัฐบาล และมูลินิธิปิดทองหลังพระ..."



          นอกจากนี้ ทางจังหวัดนราธิวาส ได้สนับสนุนโรงเรือน เหมาะกับการปลูกพืชได้ทุกชนิด เพิ่มมูลค่าพืชได้ แมลงไม่สามารถเข้าไปทำลาย ดีต่อการทำเกษตรช่วงหน้าแล้ง

          อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ฯ อยากขอรับการสนับสนุนติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จากทางจังหวัด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือหน่วยงานอื่น เพื่อลดทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าน้ำ เมื่อขยายพื้นที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ไม่เน้นเฉพาะที่ศูนย์เรียนรู้ ได้ขยายไปยังพื้นที่หลังบ้าน เพื่อให้เกิดรายได้ทั้ง 2 ด้าน เพราะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องแทรกซึมเข้าไปทุกจุด ไม่ใช่มาเรียนรู้เฉพาะที่ศูนย์เท่านั้น ต้องนำไปปฏิบัติที่บ้าน องค์ประกอบคือได้กิน ได้ขาย กำไร คือ การได้ให้ความรู้แก่ผู้อื่น สิ่งเหล่านี้คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



          โดยจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ คือ ความสามัคคีของคนในชุมชน พุทธ-อิสลาม อยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การจัดพื้นที่เกษตรไม่ได้แบ่งโซนพุทธ-มุสลิม ทำด้วยกันแบบน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยนางรอมละ นิดิง หนึ่งในเกษตรกรของศูนย์ฯ กล่าวว่า เดิมทีตนเองปลูกที่บ้านจนกระทั่งมารวมกลุ่ม ช่วยกันขาย สร้างรายได้

          "...ปลูกที่บ้าน ปลูกแบบเล่น ๆ พอได้มาเข้าร่วมกลุ่ม ก็ได้ปลูกพืชหลากหลาย ช่วยกันปลูก เพื่อน ๆ มูลนิธิปิดทองฯ น้าสมาน ช่วยกันขายผลผลิต ถ้าทำคนเดียวก็คงไปไม่ได้ เพราะไม่รู้เรื่องการตลาด..."

          สำหรับใครที่สนใจสั่งซื้อเมล่อน ซึ่งมีพันธุ์คิงเรด แสนหวาน หยกสวรรค์ ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ขณะนี้ ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ฟักทองลายทอง ราคากิโลกรัมละ 40 บาท เริ่มเก็บผลผลิต วันที่ 4 เมษายน 2563 ส่วนค่าส่งบวกเพิ่มคิดตามจ่ายจริง ติดต่อได้ที่ คุณสมาน ผ่านพรม โทร.09-3795-4224


วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

หลีกหนีความวุ่นวาย ชวนมาทิ้งตัวที่ “อ่าวมะนาว” จ.นราธิวาส ในวันหยุดสุดสัปดาห์

         หลังจากที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเริ่มขาดรายได้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวลดน้อยลง จากที่มีการเก็บเงินค่าเข้าชม หรือทำกิจกรรมต่างๆได้เงินครั้งละมากๆก็ขาดหายไป สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะคลี่คลายได้เมื่อไหร่ แต่..ไม่ใช่ปัญหาทุกที่ไปเพราะส่วนใหญ่มักจะกระทบเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงตลาด เชิงธุรกิจ ไม่ได้ส่งผลกระทบบ้านเราชายแดนใต้มากนัก อย่างล่าสุดที่อ่าวมะนาว จ.นราธิวาส นักท่องเที่ยวยังคงมาเที่ยวกันไม่ขาดสาย


         อ่าวมะนาว อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว เขาตันหยง จ.นราธิวาส เป็นอ่าวที่มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น มีชายหาดที่ไม่เหมือนที่ไหน ด้วยโขดหินแปลกตาอยู่กระจัดกระจายริมชายหาดไม่เหมือนที่ใด อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนราธิวาส ทางกรมป่าไม้ ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น วนอุทยานอ่าวมะนาว เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2536 มีเนื้อที่ประมาณ 720 ไร่ ต่อมาทางกรมป่าไม้ได้ส่งมอบให้อุทยานแห่งชาติทางทะเลทำการสำรวจพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติม พบว่าสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทางบกและทางน้ำ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว - เขาตันหยง


         อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นชายหาดที่ยาวต่อเนื่องจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดปัตตานี เป็นโค้งอ่าวเชื่อมต่อกันยาว 4 กิโลเมตร มีโขดหินคั่นสลับโค้งหาดเป็นระยะๆ ด้านหนึ่งติดพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บริเวณริมหาดมีสวนรุกขชาติ และทิวสนร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าชายหาด (beach forest) ระยะทาง 1 กิโลเมตรด้วย


        บริเวณด้านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว เขาตันหยง เป็นเขตท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาโดยสะดวก ไม่เก็บค่าชมนักทักท่องเที่ยวสามารถจอดรถแล้วเดินตามพื้นที่ปูด้วยแผ่นคอนกรีตตลอดเส้นทางไปยังหาดทรายขาวที่มีแนวทิวสนเรียงรายตลอดชายฝั่งได้ในทันที บริเวณนี้อุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามตลอดเวลา พร้อมทั้งยังมีการจัดบริเวณเป็นโต๊ะที่นั่งไว้บริการนักท่องเที่ยว เพื่อความสะดวกสบายขณะนั่งพักรับประทานอาหาร หรือใช้ทำกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี


          เอกลักษณ์เฉพาะตัวของอ่าวมะนาว คือ จะเป็นหาดทรายขาวสลับกับโขดหิน มีรูปร่างแตกต่างกันไป อยู่เป็นหย่อมๆ กระจัดกระจายรอบๆหาด เป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์  โดยในวันธรรมดา หรือในช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนกันเป็นประจำ บ้างก็มากางเต็นท์นอนค้างคืน หรือไม่ก็ใช้เวลาสบายๆกับครอบครัวริมหาด บางคราก็จับคันเบ็ดตกปลาหน้าหาด ได้ปลามามากมาย บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลแห่งนี้


วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

Kick Off โคกหนองนาโมเดล ที่นราธิวาส

         Kick Off โคก หนอง นา โมเดล ตามแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นระบบการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร เป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก หนอง นา โมเดล จึงเป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จขึ้นอย่างเป็นระบบ



          กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายส่งเสริมการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับที่ 2 (โคก หนอง นา โมเดล)โดยมีนโยบายให้การดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิดดังกล่าวอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดทั่วประเทศ เพื่อใช้โมเดลดังกล่าวดำเนินกิจกรรมตามศาสตร์พระราชาในรูปแบบศูนย์เรียนรู้ชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจังหวัดนราธิวาสมีหมู่บ้านทั้งสิ้น 591 หมู่บ้าน จากการสำรวจความต้องการเข้าร่วมโครงการ ครั้งที่ 1 มีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 594 ครัวเรือน




         โดยได้มีการ Kick Off ที่อำเภอยี่งอเป็นที่แรกของจังหวัดนราธิวาส มีนายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิด​ ชุมชนปากัตขับเคลื่อนโคก หนอง นา โมเดล ณ บ้านกูแบบาเดาะ ตำบลลุโบะบายะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ที่มีการพิจารณาจากที่ดิน และเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีความพร้อม ทำให้มีครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 18 ครัวเรือน ถือเป็นจุดนำร่องในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งได้จัดกิจกรรมปลูกหญ้าแฝก ทำความสะอาดบริเวณสระน้ำ และเกี่ยวข้าวในนาข้าวบริเวณเดียวกัน



         สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มาจากการเริ่มต้นที่ดีของ​นายอาเรส หะมะ ที่ได้ทำกิจกรรมเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในหมู่บ้าน ได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของผู้นำและประชาชนทั้งบ้านกูแบบาเดาะ และหมู่บ้านใกล้เคียง โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอยี่งอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

กริชรามันสุดยอดหัตถศิลป์ จากภูมิปัญญาแห่งสามจังหวัดชายแดนใต้

         กริชรามันงานหัตถศิลป์ที่สืบทอดมายาวนาน​ เรามีโอกาสได้มาเยือน ชุมชนตะโละหะลออ.รามัน จ.ยะลา อีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ที่มีความน่าสนใจ เพราะจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ยังคงสืบทอด กริชรามันห์ศิลปะชั้นสูงนี้ไว้จนถึงปัจจุบันนี้


         ชุมชนตะโละหะลอ หมู่ที่ 5 บ้านบึงน้ำใส ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา มีช่างทำกริชสืบทอดมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยมี ตีพะลี อะตะบูเป็นผู้สืบทอดสายเลือดช่างกริชรามันห์ และถือเป็นครูภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ชำนาญการเรื่องกริชโบราณพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องราวของกริชให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สืบทอดรักษามรดกนี้ไว้​ "กริชรามันห์ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน กำเนิดขึ้นเมื่อ 200-300 ปีก่อน โดยเจ้าเมืองรามันประสงค์ให้มีกริชเป็นอาวุธคู่บ้านคู่เมือง จึงได้เชิญช่างทำกริชจากอินโดนีเซียมาสร้างที่เมืองรามัน และสืบทอดภูมิปัญญามาจนปัจจุบัน


         " หัวกริช" เป็นศิลปะรูปนกพังกะ​ ส่วนเล่มกริช เป็นรูปแบบศิลปะปัตตานี หรือที่เรียกกันว่า กริชตายง ซึ่งเป็นกริชที่ทำมาในปัจจุบันนี้ โดยมีบรมจารย์คือ ช่างหลวงของเจ้าเมืองรามัน กริชในตระกูลของท่านปันไดสาระ ซึ่งได้รับการยอมรับในกลุ่มคนทำกริช หรือกลุ่มผู้นิยมกริชทั่วโลก เพราะเป็นกริชที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ​ โดยเฉพาะเล่มและหัวกริช เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นศิลปะรูปนกปือกา หรือนกพังกะ เป็นนกในวรรณคดีท้องถิ่น ที่มีความหมายว่า ผู้คุ้มครอง เป็นนกที่มีลำตัวสีเขียว ปากยาวมีสีแดงอมเหลือง คอมีสีขาวสลับสีแดง กริชรามันจึงเป็นรูปนกแทบทั้งสิ้น


          นอกจากนั้นความแข็งแกร่งยังเป็นจุดเด่นอีกประการ ของกริชรามันห์จากตระกูลปันไดสาระอีกด้วย โดยมีเรื่องเล่าขานกันว่า ในการประกวดความแข็งแกร่งของกริช ซึ่งผู้เข้าประกวดจะต้องใช้กริชแทงโอ่งบรรจุน้ำให้แตก มีเพียงกริชจากตระกูลปันไดสาระเท่านั้นที่สามารถแทงโอ่งได้ เนื่องจากเป็นกริชชนิดเดียวที่มีสันตรงกลางใบกริช เพราะมีสูตรการผสมเนื้อเหล็ก ที่เน้นความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ​ กริชรามันห์มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวที่โดดเด่นงดงาม มีจิตวิญญาณของความเชื่อและ ตำนานไม่แพ้กริชของพื้นที่ใดในแหลม มลายู จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้ยังมีคนนิยมเก็บสะสมกริชรามันเป็นของที่ระลึก นอกจากการสาธิตทำกริชแล้วที่นี่ยังมีการโชว์การแสดงรำกริชรามันห์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย โดยการแสดงนี้ผู้แสดงจะโชว์ลีลาลวดลายการรำกริชอย่างอ่อนช้อยและดุดันเข้มแข็ง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก


วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563

ชมวิวเกาะยอของเมืองสองทะเล สงขลา

        จุดเช็คอินแห่งใหม่บนยอดเขากุฎิ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา คาเฟ่บรรยากาศดี จุดชมวิวของเมืองสองทะเล งดงามท่ามกลางธรรมชาติ ร้านคาเฟ่ อาหาร พร้อมเครื่องดื่ม จิบกาแฟ นั่งรับลมเย็น ๆ จากมุมสูง สามารถเห็นทั่วทั้งเกาะยอ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจหาที่พักผ่อน ชมวิว ถ่ายรูปมุมดีๆ



        บรรยากาศสวยๆ หรือผ่อนคลายความเครียดจากงาน จุดนี้นับว่าเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของสงขลาร้านคาเฟ่สงขลา ตั้งอยู่ที่ เกาะยอ ท็อป วิว ขับขึ้นมาถึงร้านจะนั่งตาก ลม หรือเป็นห้องกระจกก็สามารถถ่ายรูปวิวสวยๆ มีระเบียงยื่นออกไปด้านหน้า สามารถนั่งด้านในร้านและมองออกไปเห็นวิวเกาะยอแบบฟินๆ สูดอากาศดีๆ ดื่มน้ำเย็นๆ เมนูก็มีให้เลือก ทั้งอาหารจานเดี่ยว ของทานเล่น ขนมขบเคี้ยว เค้ก ถือว่าถ้ามาที่นี่ก็จะครบ จบในที่เดียว ทั้งคาว หวาน แถมรสชาติยังอร่อย ที่สำคัญ ช่วงเย็นๆ ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน จะมีบรรยากาศ​สุดสวยให้เราได้ดื่มด่ำเก็บภาพ



        สำหรับผู้ที่สนใจจะหาแลนด์มาร์ค ใช้เป็นจุดพักผ่อน นั่งเล่น หรือเช็คอิน สามารถเดินทางมาได้ที่ คาเฟ่สงขลา ตั้งอยู่บนยอดเขากุฎิ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา จะได้รับวิวแบบ 360 องศา ทั้งวิวทะเล วิวภูเขา ต้นไม้สีเขียว อากาศเย็นสบาย ได้ทั้งฟีลโรแมนติก หรือฟีลกลุ่มเพื่อน ที่นี่ก็จะเหมาะเป็นที่สุด