วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

จ.ปัตตานี จัดกิจกรรม “จัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศ พื้นที่หาดรูสะมิแล”



เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 61 ที่พื้นที่ชายหาดรูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในการดำเนินกิจกรรม “จัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญแบบมีส่วนร่วม พื้นที่หาดรูสะมิแล” มีหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ผู้ประกอบการร้านค้า นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมกว่า 350 คน


สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาขยะทะเล ที่นับวันจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นทั้งต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตในทะเลและคุณภาพชีวิตของผู้คน จึงได้จัดทำกิจกรรม “จัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญแบบมีส่วนร่วม พื้นที่หาดรูสะมิแล” เพื่อเน้นการจัดการขยะอย่างเป็นระบบในพื้นที่ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ


ปัจจุบันหาดรูสะมิแลมีขยะที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก โดยนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มประชาชนที่มาพักผ่อนไม่ได้นำขยะทิ้งตามสถานที่ที่จัดเตรียมให้ ทำให้มีขยะเป็นจำนวนมากอยู่ตามต้นไม้และชายหาด จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่ในการบริหารจัดการกำจัดขยะเหล่านั้น ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากมายทุกวัน ส่งผลให้มีขยะตกค้างเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบด้วย ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำลายทัศนียภาพทางทะเลที่สวยงาม ทำให้คุณค่าแหล่งท่องเที่ยวลดลง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งของสัตว์ทะเลและมนุษย์ที่ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณชายหาด และผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก โดยพบว่าร้อยละ 2-5 ของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ตาย สาเหตุมาจากการกินขยะทะเล













วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

จ.ยะลา เตรียมจัดงาน “ย๊ะล๊า ยะลา แฟร์” กระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว



วันที่ 28 มี.ค. 61 ที่ห้องประชุมศรีญาลอ องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา นายเจษฎา จิตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ได้ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “ย๊ะล๊า ยะลา แฟร์” ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2561 ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา โดยมีส่วนราชการ ผู้ประกอบกา ประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลา เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวครั้งนี้


นายเจษฎา จิตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดยะลา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดผ่านโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเงินในจังหวัดยะลา และเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ การจัดงาน “ย๊ะล๊า ยะลา แฟร์” ซึ่งในปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้การตอบรับโครงการเป็นอย่างดี และหอการค้าทำหน้าที่ของตนเองได้เต็มศักยภาพ ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “หอการค้าจังหวัดยะลา เป็นสถาบันผู้นำภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง และมีความน่าเชื่อถือ มีเครือข่ายที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดยะลา”


นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า ทางหอการค้าจังหวัดยะลาตระหนักถึงความสำคัญของสภาพเศรษฐกิจในจังหวัดยะลา และมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมพัฒนาสภาพเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นการช่วยเหลือพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย และเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค การจัดงาน “ย๊ะล๊า ยะลา แฟร์” ใน 6 ครั้งที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าจากปีแรก 100 กว่าร้านค้า จนถึงปัจจุบันมากกว่า 300 ร้านค้า ซึ่งครั้งนี้เป็นปีที่ 7 ที่ทางหอการค้าได้จัดอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา


สำหรับกิจกรรมในงาน คืนวันที่ 3 เมษายน 2561 จะมีพิธีเปิดงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และการแสดงของวงราชสีห์ และศิลปินกล้วย คลองหอยโข่ง คืนวันที่ 4 เมษายน 2561 มีการแสดงของน้องๆ บีบอย การแสดงดนตรีวงเพื่อนเพ และการแสดงของศิลปิน ลูลู่-ลาล่า และคืนสุดท้ายวันที่ 5 เมษายน 2561 มีการประกวดหนุ่ม-สาวสยาม การแสดงดนตรีวงปักหลัก ริมคลอง และศิลปินบิว พงศ์พิพัฒน์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและประชาชนจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานดังกล่าว และยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้แม่ค้า-พ่อค้าที่ออกร้านให้เข้าถึงการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (QR CODE) และพร้อมที่จะก้าวสู่ Thailand 4.0
นายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าวว่า ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน “ย๊ะล๊า ยะลา แฟร์” ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ให้สามารถประกอบการและเพิ่มมูลค่าทางด้านการจำหน่ายสินค้า กระจายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทั้งในอำเภอเมืองยะลา ต่างอำเภอ จังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นช่องทางด้านการตลาด เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าชุมชนและสินค้า OTOP ส่งเสริมการค้าประชาคมอาเซียน (AEC) และเพิ่ม GDP ให้กับจังหวัด
สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ได้ให้การสนับสนุนกับหอการค้าจังหวัดยะลาโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบัน ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว ถือเป็นสายสัมพันธ์ที่ยาวนานที่สองภาคส่วน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาให้การสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 800,000 บาท ให้กับหอการค้าจังหวัดยะลาเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความตั้งใจของภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับจังหวัดยะลา โดยผ่านการจัดกิจกรรม “ย๊ะล๊า ยะลา แฟร์” จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจพร้อมที่จะมาลงทุน ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ผ่อนคลายกับเหตุการณ์ความไม่สงบ เศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของจังหวัดยะลาดีขึ้นต่อไ

การแข่งกีฬาพื้นบ้าน “วิ่งกาบหมาก” พัฒนาชุมชนยะลา สร้างความสัมพันธ์ชายแดนใต้



วันที่ 28 มี.ค. 61 การแข่งขันกีฬาสร้างความสัมพันธ์ชายแดนใต้ ระดับจังหวัด ประจำปี 2561 ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม 2561 ณ สนามกีฬาศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา ได้จัดให้มีการแข่งขันวิ่งกาบหมาก ซึ่งเป็นกีฬาพื้นบ้านของไทย เพื่อสร้างความรัก ความสมานฉันท์ สามัคคี ให้กับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร และเครือข่ายที่มาจากทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดยะลา รวมทั้ง สร้างทัศนคติที่ดีต่อกันระหว่างประชาชน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ ซึ่งบรรยากาศการแข่งขันเป็นไปอย่างคึกคักและสนุกสนาน โดยมีบรรดากองเชียร์จากอำเภอต่างๆ มานั่งชมรอลุ้น ให้กำลังใจ รวมทั้งนายวิชาญ เศรษฐพงศ์ พัฒนาการจังหวัดยะลา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของพัฒนาชุมชน


นอกจากการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน วิ่งผลัดกาบหมาก วิ่งผลัดกระสอบ วิ่งผลัด 3 ขา แล้ว ยังมีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลชาย วอลเลย์บอลหญิง อีกด้วย ซึ่งการแข่งขันกีฬาสร้างความสัมพันธ์ชายแดนใต้ ครั้งนี้จะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนกระบวนการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้มากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรสตรีและองค์กรเยาวชน เพื่อเป็นพลังสร้างสันติสุขและเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้มแข็ง ประชาชนพึ่งตนเองได้ ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสังคม ชุมชน ในระดับฐานราก มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป



วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

เที่ยวป่า บาลา-ฮาลา Amazon 0f Asia จังหวัดยะลา



ป่า บาลา-ฮาลา เป็นป่าสมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และ อำเภอศรีสาคร อำเภอสุคีริน อำเภอ จะแนะ และ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อ ที่ทั้งหมด 836,000 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประมาณ 687,500 ไร่ถือเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ รวมทั้งถือเป็นป่าที่ยังคงสมบูรณ์ เป็นธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่ง


ป่าบาลาฮาลา หรือ สวนป่าพระนามาภิไธย ส่วนที่ 2 เป็นป่าดิบชื้น ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของภาคใต้ ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ป่าดิบชื่นแห่งนี้ ยังคงรักษาความอุดสมบูรณ์ของทรัพยากรทางชีวภาพ ผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าดิบชื้นแบบมาลายัน ที่มี ลักษณะแตกต่าง จากป่าดงดิบอื่นที่พบในประเทศไทย


ในป่าบาลา-ฮาลา เราจะพบสัตว์ป่าหากยากมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กระทิง จำนวนมากเกือบ 100 ตัว ที่จะออกจากป่ามาให้พบเห็นกันเป็นประจำ นอกจากนั้นยังพบฝูกนกเงือกอีกเป็นจำนวนมาก หลายสายพันธุ์ ที่จะบินมาโชว์ตัวให้กับนักท่องเที่ยงได้พบเห็นกันด้วย


       นอกจากนั้นเรายังพบ วิถีชีวิตคน บาลา-ฮาลา ที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ยังคงดำเนินไปตามปกติ ท่ามกลางธรรมชาติของป่า ที่ถูกขนานนามว่า Amazon 0f Asia โดยทางจังหวัดยะลา ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ได้จัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำนักท่องเที่ยวที่หลงไหลในความดิบของป่า เข้าไปเที่ยวป่า บาลา-ฮาลา โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน



วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

ชาวหน้าถ้ำ สืบทอดการทำข้าวเหนียวหลามจากรุ่นบรรพบุรุษ มาเป็นอาชีพหลัก “ขายเหนียวหลาม”



ข้าวเหนียวหลามในตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวเหนียวหลามที่มีรสชาติอร่อยและเป็นของดั้งเดิม ซึ่งชาวยะลา ต่างก็จะรู้จักกันดี และจะพากันไปหาซื้อรับประทานกันอย่างต่อเนื่อง ตามตลาดที่แม่ค้าข้าวหลามนำไปวางขาย รวมทั้งสถานที่จัดเทศกาลงานต่างๆ โดยแต่ละครั้งที่แม่ค้านำข้าวเหนียวหลามมาวางขาย ก็จะขายหมดทุกครั้ง ลูกค้าจะมาเลือกซื้อทั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ราคาตั้งแต่ 30 บาท ไปจนถึง 60 บาท โดยลูกค้าบอกว่าข้าวเหนียวหลามหน้าถ้ำรสชาติอร่อย ข้าวเหนียว เหนียวอร่อย หวานมัน เค็ม ไม่แฉะ และไม่ติดเจี๊ยะ ( เยื่อไผ่ ส่วนที่ติดผิวข้าวเหนียวหลาม) รับประทานแล้วอยากรับประทานอีก


นางอุไรวรรณ แสงจัน แม่ค้าข้าวหลาม กล่าวว่า ตนเองได้รับการสืบทอดการทำข้าวเหนียวหลามจากพ่อ แม่ ซึ่งสืบทอดมาจากปู่ย่าตายายอีกทอดหนึ่ง เป็นข้าวหลามโบราณแบบดั้งเดิมสมัยโบราณ โดยตนเองจะทำร่วมกับนายเพลิน อนุรักษ์กวิน นางละมัย อนุรักษ์กวิน ผู้เป็นน้า ทำกันเป็นครอบครัว ลูกๆ หลานๆ เนื่องจากการทำข้าวเหนียวหลามจะมีวิธีทำที่ค่อนข้างยาก เริ่มจากขึ้นไม้ไผ่ตัดเป็นกระบอกนำมาบรรจุข้าวเหนียว ซึ่งผสมกับหัวกะทิแล้วเทใส่ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วอุดที่ปากกระบอกไม้ไผ่ จากนั้น ก็ต้องนำไปย่างกับไฟถ่านอ่อนๆ พลิกไปมา ไม่ต้องรีบร้อน ถ้าไฟแรงเกินจะทำให้ข้าวเหนียวเดือดกะทิไม่มัน รอจนประมาณ 4 ชั่วโมง ข้าวเหนียวหลามก็จะสุก จากนั้น ก็ต้องนำมาริดเปลือกออกก่อนและขายได้เลย โดยจะทำขายตามเทศกาล ต่างๆ รวมทั้งที่ตลาดสด ตลาดหน้าถ้ำ (วัดคูหาภิมุข) ขายในราคาตั้งแต่ 30 บาท จนถึง 60 บาท มีทั้งกระบอกเล็ก กระบอกใหญ่ แล้วแต่คนชอบ


สำหรับความอร่อยของข้าวเหนียวหลามนั้น ก็จะอยู่ที่กะทิ ข้าวเหนียว ซึ่งจะมีสูตรเฉพาะที่ต้องมีรสชาติ เค็ม หวานมัน โดยจะมีทั้งข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว ผสมถั่ว ตามปกติก็จะใช้ข้าวเหนียว ทำประมาณ 8 กิโลกรัมต่อวัน ขายหมดทุกวัน ส่วนรายได้แต่ละครั้งที่ทำขายก็จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท พออยู่ได้เลี้ยงครอบครัวได้กับอาชีพในการทำข้าวเหนียวหลามขาย


ด้าน นายเพลิน อนุรักษ์กวิน บอกว่า ข้าวเหนียวหลามหน้าถ้ำเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมา เรื่องรสชาติความอร่อยก็จะเป็นมาตรฐานเดียวกันตลอด ถึงแม้ว่าบางช่วงมะพร้าวจะมีราคาแพงก็ตาม ก็ไม่ได้ปรับลดหรือใส่กะทิน้อยลง จะยึดการทำที่มีคุณภาพเป็นหลัก และขายในราคาเดิมมาโดยตลอด











คลายร้อน!! เที่ยว "น้ำตกบูตง" ลำพะยา จ.ยะลา กันอย่างคึกคัก



ในช่วงหน้าร้อนของทุกปีและช่วงปิดเทอม บรรดาพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ชาวบ้านใน ต.ลำพะยา และพื้นที่ใกล้เคียง จะนำครอบครัว บุตรหลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เดินทางไปนั่งพักผ่อนคลายร้อน พร้อมร่วมวงรับประทานอาหาร กันที่น้ำตกบูตง ซึ่งอยู่ที่บ้านลำพะยา ม.4 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา กันอย่างคึกคัก โดยเด็กๆ จะลงไปเล่นน้ำตกกับเพื่อนๆ ด้วยความชื่นชอบและสนุกสนาน ซึ่งน้ำไม่ลึกมาก เด็กๆ สามารถเล่นได้อย่างสนุกและปลอดภัย อีกทั้งยังมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง คอยนั่งดูแลอย่างใกล้ชิด


ชาวบ้าน ต.ลำพะยา บอกว่า ช่วงนี้เด็กๆ ปิดเทอม ประกอบกับอากาศร้อนอบอ้าว จึงพาครอบครัวมาพักผ่อน ให้เด็กๆ ได้เล่นสนุกสนานและน้ำไม่ลึกมาก เนื่องจากอากาศร้อนทำให้น้ำลดลงไป นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความอบอุ่น ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ซึ่งได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน พูดคุยและร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน อีกด้วย


สำหรับน้ำตกบุตง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่ในพื้นที่ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา อยู่ห่างจาก อ.เมืองยะลา ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งน้ำตกบุตง เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดปี มีสายธารที่ยาว ประกอบด้วย วังบูตง สไลเดอร์ ถ้ำกฤชชวา เนินกินรี และเขื่อนลำพะยา ซึ่งประชาชนสามารถลงไปเล่นน้ำได้เป็นระยะๆ เนื่องจากมีแอ่งที่ไม่ลึกและน้ำใสสะอาด


       ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี จะมีประชาชนในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ต.ลำพะยา และพื้นที่ใกล้เคียง มาเที่ยวน้ำตกบูตง กันจำนวนมาก เนื่องจากระยะทางไม่ไกลมากนัก ออกจากตัวเมืองยะลา จะใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม ไปจนถึงเทศบาลตำบลลำใหม่ ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากนั้น เลี้ยวซ้ายที่ตลาดลำใหม่ เข้าสู่ตำบลลำพะยา ใช้ระยะทางอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกบูตง นอกจากนี้ยังมีความสะดวกเพราะน้ำตกอยู่ติดริมถนน สามารถจอดรถลงไปนั่งพักผ่อนเล่นน้ำกันได้ทันที







วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

อ.บันนังสตา เปิดตลาดพหุวัฒนธรรม เสริมสร้างความสมานฉันท์ สันติสุข กระตุ้น เศรษฐกิจในพื้นที่



สะพานยีลาปัน หมู่ที่ 11 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ร่วมกับอำเภอบันนังสตา สภาวัฒนธรรมอำเภอบันนังสตา สภาวัฒนธรรมตำบลทุกแห่งในพื้นที่อำเภอบันนังสตา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการจัดงานพหุวัฒนธรรมอำเภอบันนังสตา ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ เพื่อสร้างความสมานฉันท์และความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา ส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มคุณค่าทางสังคม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับผู้ดำเนินงานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์จังหวัดยะลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้


ซึ่งในพิธีเปิดงาน มีนายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นประธาน พร้อมด้วยนางวาสนา นิสโร นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการอำเภอบันนังสตา ส่วนราชการ ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ส่วนกิจกรรมในงานมีการประกวดอาหารพื้นบ้าน การสาธิตและจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน การแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการจำหน่ายสินค้าตลาดประชารัฐ


นายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอบันนังสตา กล่าวว่า การจัดงานตลาดวัฒนธรรมครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาในพื้นที่ กระตุ้นให้พี่น้องประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของ โดยจุดที่สะพานยีลาปันแห่งนี้จะมีประชาชนแวะเวียนมาเที่ยวในช่วงเย็นๆ ของทุกวันอยู่แล้ว ก็ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ผ่านไปมาสามารถแวะเวียนตลาดจับจ่ายซื้อของได้ ซึ่งจะมีการเปิดตลาดในทุกวันศุกร์


ขณะที่ ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ดีใจที่มีการเปิดตลาดครั้งนี้ จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการค้าขาย มีประชาชนมาเที่ยวจำนวนมาก และดีใจที่เห็นพี่น้องทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่มาร่วมมือกัน นำสินค้า อาหาร มาค้าขาย จะได้มีรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว









สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ ในพื้นที่ จ.ยะลา “น้ำตกไอตาโลร์”



จากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงนี้ ทำให้หลายคนเลือกไปเที่ยวเล่นน้ำคลายร้อนที่น้ำตกกันจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ผู้ปกครองต่างพาบุตรหลานมาเป็นครอบครัวใหญ่ ลงเล่นน้ำที่ใสสะอาดบริเวณจุดเล่นน้ำของน้ำตกไอตาโลร์กันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เด็กนักเรียนปิดภาคเรียน ทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นจุดเล่นน้ำใกล้บ้านที่สามารถมากันได้เป็นครอบครัวใหญ่ เพื่อเล่นน้ำและรับประทานอาหารใต้ร่มไม้ริมลำธารท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น เหมาะแก่การผักผ่อนในช่วงฤดูร้อนและสานรักในครอบครัวให้เกิดความอบอุ่นมากยิ่งขึ้น


นายหาซัน หะระตี กำนันตำบลกาลอ กล่าว่า สำหรับน้ำตกไอตาโลร์ ซึ่งเป็นสถาที่ท่องเที่ยวแห่งหนีงที่มีชื่อเสียงในอำเภอรามัน อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลกาลอ มี 4 ชั้นด้วยกัน ซึ่งในแต่ละชั้นจะความสวยงามที่แตกต่างกัน โดยทางเข้าน้ำตกนั้นจะอยู่ห่างจากถนนสายใหญ่ ประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ไปได้ และต้องเดินทางด้วยเท้าเข้าไปยังตัวน้ำตกอีกประมาณ 250 เมตร ก็จะสัมผัสน้ำใสที่เกิดจากป่าที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ก่อเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม พร้อมขอความร่วมมือชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติแห่งนี้ ควรรักษาความสะอาดให้มาก เมื่อนำอาหาร หรือขนมเข้าไปกินในบริเวณน้ำตก ควรเก็บและทำความสะอาดก่อนออกไปด้วย อย่าทิ้งไปในน้ำตก หรือตั้งไว้ให้เป็นภาระของคนอื่น "สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เราควรปลูกจิตสำนึกช่วยกันดูแลรักษาให้อยู่กับเราไปนาน โดยการช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะ"