วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

มรย. เปิดค่ายรักบ้านเกิด ภายใต้แนวคิด “ความหลากหลายทางชีวภาพสร้างสรรค์ให้โลกสวย”



สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการค่ายรักบ้านเกิดพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “ความหลากหลายทางชีวภาพสร้างสรรค์ให้โลกสวย” โดยมีนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นพี่เลี้ยง เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวัลย์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนร่วมอนุรักษ์และพัฒนาการนำทรัพยากรในท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีภารกิจในด้านการส่งเสริมให้เยาวชนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เนื่องจากการดำเนินชีวิตมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ


เยาวชนจึงควรจะเรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติ ร่วมอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างมีคุณค่า จึงเกิดแนวคิดที่จะดำเนินการให้นักเรียนที่มีความสนใจทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้นในระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2561 ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพให้กับนักเรียนและเยาวชนชายแดนภาคใต้ รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสร้างความตระหนักและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และสร้างความสมัครสมานสามัคคีแก่นักเรียน เยาวชน และบุคลากรที่เข้าร่วม


      นอกจากนี้ ยังเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว จึงเป็นสื่อที่สำคัญที่สามารถนำมาบูรณาการกับการจัดประสบการณ์ และการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้ง ยังส่งเสริมให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการทำกิจกรรมกลุ่มการช่วยเหลือตนเอง และการพัฒนาความเป็นผู้นำ อีกด้วย





เยาวชนยะลา ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอม เสริมสร้างประสบการณ์ทำงาน



เด็ก ๆ และเยาวชน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครยะลา จำนวน 180 คน ได้เข้าร่วมโครงการ "ค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม" รุ่นที่ 13 ประจำปี 2561 ซึ่งทางเทศบาลนครยะลาได้จัดขึ้นทุก ๆ ปี ช่วงปิดเทอม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่ศึกษาอยู่ภายในเขตเทศบาลนครยะลา ได้ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย ทำความสะอาดสวนสาธารณะ บริการสิ่งแวดล้อม ทาสีริมฟุตบาท งานด้านการจราจร ทำความสะอาด ปรับภูมิทัศน์ สถานที่ราชการ เส้นทางเท้า และงานบริการประชาชน


นายพิชญุตม์ วัชรปิยานันทน์ นักเรียน ชั้น ม.6 โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่ทำงานบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ได้รู้จักเพื่อใหม่ และที่สำคัญได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์
ด้าน นางสาวพรทิรา แซ่จื้อ นักเรียนโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สนุกที่ได้พบกับสิ่งใหม่ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แบ่งเบาภาระค่ายใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ฝากถึงเพื่อน ถึงจะปิดเทอมแล้ว แต่เราก็ไม่ควรอยู่เฉยที่บ้าน ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เมื่อได้เข้าร่วมโครงการนี้ตามที่ผู้ปกครองแนะนำมา ก็ทำให้สนุกและมีความสุข


         สำหรับโครงการ "ค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม" เป็นโครงการที่ทางเทศบาลนครยะลา ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน ลดช่องว่างทางด้านความคิดด้านสังคมพหุวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ สร้างจิตสาธารณะให้เกิดแก่เยาวชนส่งเสริมเยาวชนให้มีรายได้จากช่วงปิดภาคเรียน โดยมาปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทศบาลนครยะลา เช่น ทาสีป้ายสัญญาณจราจร ทางม้าลาย ขอบทางเท้า การดูแลต้นไม้ สวนสาธารณะ การบริการประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เยาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของท้องถิ่น เกิดความตระหนักในความรักและหวงแหนถิ่นเกิด พร้อมสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

ปัตตานี กำหนดจัดงาน “วันพบปะมุสลีมะห์” ครั้งที่ 13 ประจำปี 2561



ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และนายเศรษฐ์ อัยยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันพบปะมุสลีมะห์ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2561 ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้การจัดงานฯ ในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2561 ณ บริเวณโครงการมะดีนะตุสสลาม (ปัตตานีจายา) อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เกิดความเรียบร้อย


ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ร่วมกับวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยฟาฎอนี สภาความร่วมมือองค์การสตรีมุสลิมเพื่อสันติภาพ และสมาคมสตรีไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี ร่วมจัดขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนัก และให้ความสำคัญถึงบทบาทและศักยภาพของสตรีมุสลิม ที่จะช่วยเสริมสร้างให้สังคมเกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยส่งเสริมให้กลุ่มสตรีมุสลิม ได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง จากกิจกรรมที่จัดนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต รวมถึงอบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัว ให้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข โดยใช้อัลกุรอาน เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต


โดยภายในงานทั้ง 2 วัน มีกิจกรรมบริการตรวจสุขภาพ การแสดงนิทรรศการความรู้ จำหน่ายสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ณ บริเวณโครงการมะดีนะตุสสลาม (ปัตตานีจายา) อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ สตรีมุสลิมในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มสตรีมุสลิม ซึ่งภายในกิจกรรมจะมีการเสาวนาจากวิทยากรด้านการสตรีมาให้ความรู้ และรู้จักกับโลกความเป็นสตรีในอนาคต


       นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมเกิดความสมานฉันท์ระหว่างสตรี อันจะนำพาความสันติสุขให้เกิดกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา





วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดอบรมโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนใต้



ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมปฏิบัติการ การพัฒนาครูสอนไม่ตรงสาย 9 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนใต้ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ "การพัฒนาครูเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาชายแดนใต้" และมีการเสวนาเรื่อง "การพัฒนาศักยภาพครูไม่ตรงสายในพื้นที่ชายแดนใต้" โดยมีผู้ร่วมเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นายภิรมย์ จีนธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 นายวิทยาศิลป์ สะอา ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา นายอำพล พลศร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาเทศบาลนครยะลา และอาจารย์นูรีดา จะปะกียา เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในวันนี้ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ และครูสอนไม่ตรงสาย 9 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระภาษาอังกฤษ กลุ่มสาระภาษาไทย กลุ่มสาระสังคมศึกษา กลุ่มสาระศิลปะ กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา และกลุ่มการศึกษาปฐมวัย จำนวนทั้งสิ้น 757 คน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้


       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนใต้ จัดอบรมปฏิบัติการการพัฒนาครูสอนไม่ตรงสาย 9 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในวันนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตอบโจทย์ของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมขนาดใหญ่ ทั้งในระดับภูมิภาคและสังคมโลก เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการจัดทำฐานข้อมูลสภาวการณ์ด้านการศึกษา รวมทั้งพัฒนาศักยภาพครูที่อยู่ในพื้นที่ ให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถคิดวิเคราะห์เรียนรู้ด้วยตนเอง มีลักษณะที่พึงประสงค์และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนพัฒนาครูสอนไม่ตรงสาย 9 กลุ่มสาระให้มีความมั่นใจ สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาที่ยกฐานะครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง และจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอย่างต่อเนื่อง










เรียนรู้ศิลปะแม่ไม้มวยไทย สืบสานมวยไทย มรดกไทย มรดกโลก





          เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดยะลา กว่า 40 คน ต่างสนุกสนานกับการได้ออกกำลังกายและเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้มวยไทย ซึ่งทางสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ได้จัดโครงการ "ร้อนนี้พลศึกษา มีกีฬาเพื่อลูกรัก" ในช่วงปิดภาคเรียน ระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึง 10 พฤษภาคม 2561 ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนยะลา ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หันมาสนใจการเล่นกีฬา และได้ฝึกทักษะกีฬาที่ตนเองชื่นชอบ นอกจากนี้ ยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานกีฬามวยไทย มรดกไทย มรดกโลก ให้คงอยู่สืบไป โดยมี 3 ชนิดกีฬาเด่นของทางสถาบันฯ คือ กีฬา ว่ายน้ำมวยไทยและปันจักสีลัต ซึ่งในแต่ละชนิดกีฬามีเด็กและเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างคึกคัก


นายซุฟญาณ นีโกบ เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์แม่ไม้มวยไทย สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา วิทยากรครูฝึก กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการที่ทางสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา จัดขึ้นทุกปีในช่วงปิดเทอมของน้อง ๆ เพื่อให้น้อง ๆ ได้มาเล่น มาฝึกกีฬา และมีความรู้ ทักษะทางด้านกีฬา ที่ตนเองถนัด ชื่นชอบ ทั้ง การฝึกเรียนว่ายน้ำ ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปเล่นน้ำแล้วเกิดอันตราย นอกจากนี้ ก็ยังมีมวยไทยและปันจักสีลัต ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ทั้งในระยะสั้นให้เด็กได้ฝึกกีฬา ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และในระยะยาว ฝึกฝนในการเป็นนักกีฬาที่ตนเองชอบ โดยจะเป็นการปูพื้นฐานตั้งแต่ยุวชน เยาวชน ก่อนที่จะไปเล่นกีฬาอย่างจริงจัง


        สำหรับกีฬามวยไทย นี้ ในปีแรก ๆ ที่ทางสถาบันฯ เปิดสอน มีเด็กให้ความสนใจน้อยมาก ประมาณ 10 คน แต่ปัจจุบันกีฬามวยไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีเด็กและเยาวชนเข้ามาเรียนถึง 50 คน ทั้ง เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ซึ่งจะรับเด็กตั้งแต่อายุ 6 ขวบถึง 15 ปี สอนในระดับพื้นฐาน ทักษะมวย แอโรบิค เกมส์ ส่วนบางคนที่เรียนในปีที่แล้ว ปีนี้มาเรียนอีก ก็จะมีการต่อยอดเรียนขั้นต่อไป


การเรียนก็จะเน้นให้เด็ก ๆ ได้สนุกกับกีฬามวยไทย เพื่อสืบทอด สืบสานกีฬามวยไทยไว้ต่อไป ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะได้ผ่อนคลายไปในตัว ได้ความแข็งแรง หลัก ๆ คือ ต้องการให้เด็กมีความสุข ได้ออกกำลังกาย ได้มีความรู้เกี่ยวกับกีฬามวยไทย ด้วย


เด็กชายอธิยุต โหดสุบ นักเรียน ป.4 วัย 9 ขวบ จากโรงเรียนสาธิตพัฒนาวิทยา และ เด็กหญิงยลระตี จันทร์ตรี นักเรียน ป.3 วัย 8 ขวบ จากโรงเรียนอนุบาลยะลา ต่างบอกว่า ได้เรียนมวยไทย ชอบ และสนุกมาก และมีความแข็งแรงด้วย ได้ใช้ประโยชน์ในการป้องกันตัวเอง และยังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย


   ขณะที่ นางสาวนิรอมละ กาลอ ผู้ปกครอง กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก เด็ก ๆ จะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียน มาเรียนรู้ทักษะกีฬา ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง รวมทั้งยังได้รู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่น มีความรัก ความสามัคคี ซึ่งกีฬามวยไทยก็เป็นกีฬาที่ลูกชื่นชอบ และเลือกที่จะมาเรียนเอง





วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน มีความสำคัญอย่างไร



        รอมฎอน เดือนแห่งการถือศิลอด ช่วงนี้เข้าสู่เดือนรอมฎอน ตามปฏิทินอิสลาม การถือศิลอดเป็นมุขบัญญัติ 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือที่มุสลิมเรียกว่ารุก่นอิสลาม ศิลอด หรือที่เรียกว่า “การถือบวช” ตามการเรียกที่คนไทยนิยมเรียกกัน เป็นศีลคล้ายๆศีล 5 ของพี่น้องชาวพุทธ แต่ศีลของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะแล้วจำเป็น (วายิบ) ต้องปฏิบัติศีลข้อนี้โดยเคร่งครัด ยกเว้นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ คนเดินทาง เหล่านี้ยกเว้น การถือศีลอด นั้นก็หมายความว่า บังคับกับผู้ที่มีความสามารถเท่านั้นในหนึ่งปีจะมีการถือศีลอดบังคับนี้เพียงหนึ่งเดือนคือเดือนรอมฎอน เดือนในอิสลามนับทางจันทรคติ ค่ำจึงมาก่อนวัน และเป็นไปตามข้อเท็จจริง กล่าวคือตะวันลับขอบฟ้าคือค่ำ ตรงกับวันอะไรก็เป็นค่ำคืนของวันนั้น หนึ่งเดือนจะมี 29 กับ 30 วันฉะนั้นการกำหนดเดือนจึงอาศัยการดูดวงจันทร์เป็นสำคัญ การเห็นจันทร์เสี้ยวแรกนั้นหมายถึงค่ำนั้นเป็นค่ำของวันใหม่และขึ้นเดือนใหม่ด้วย ปัจจุบันความรู้ทางดาราศาสตร์ก้าวหน้ามาก เราสามารถคำนวนการมีของจันทร์เสี้ยวได้อย่างแม่นยำ การดูจันทร์เสี้ยวจึงกำหนดองค์ศาและมุมได้อย่างชัดเจน เมื่อมีการคำนวนอายุของดวงจันทร์ กำหนดมุมและองค์ศาได้ การดูจึงไม่ยากอีกต่อไป
          การถือศิลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณ(ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น)ไปจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตลอดช่วงกลางวัน ผู้ที่ถือศิลอดจะกินหรือดื่มสิ่งใดๆไม่ได้เลย ยกเว้นน้ำลาย จะเป็นน้ำสักหยดก็ไม่ได้ ฟังดูแล้วเป็นเรื่องยากมากๆ เพราะเราแค่อดข้าวมื้อเดียวก็ดูเหมือนจะไม่ไหวเสียแล้ว มีคำถามว่าทำไมมุสลิมอดได้ ถ้าจะตอบแบบไม่ต้องให้ถามต่อ ก็ตอบว่า “เพราะศรัทธา” มีมุสลิมไม่ถือศีลอดหรือไม่? ตอบว่ามี ถ้าไม่ถือศิลอดด้วยข้อยกเว้น ก็ไม่ใช่ปัญหา บางท่านก็อดไม่ได้ อาจจะด้วยศรัทธาหย่อนยาน เบาความนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าท่านไม่ถือศิลอดด้วยเหตุใดก็ตาม ในช่วงเดือนรอมฎอน ศาสนาก็ไม่อนุญาตให้ท่านมาเดินกินดื่มโชว์ชาวบ้านเขา ถ้าเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลาม คนนี้ถูกจับแน่ๆ อย่างเช่น ประเทศไทยถ้าใช้กฎหมายพุทธ คนดื่มเหล้าถูกจับแน่นอน สมมุติ เบดูอินไปกินข้าวจนอิ่ม นึกขึ้นได้ว่า กำลังถือศิลอด อย่างนี้เสียหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่เสีย แต่ต้องหยุดกินทันที การกระทำที่ไร้สติ หลงลืม ไม่มีเจตนา ไม่ถือเป็นความผิด แต่แกล้งลืมไม่ได้นะครับ ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน บทความเดือนรอมฎอน รอมฎอนมีความสำคัญอย่างไร   
         การถือศีลอด ไม่ได้หมายความว่า ไม่กิน ไม่ดื่มเท่านั้น แต่หมายถึงการงดเว้น ในอบายมุขทุกประเภท ถือศีลอดแต่นั่งนินทาชาวบ้าน อันนี้ผิดการถือศิลอดเขามีปัญหาแน่ ฉะนั้น การมีเพศสัมพันธ์ การลักขโมย ฯลฯ เป็นสิ่งต้องห้าม  เป้าหมายของการถือศีลอดนั้น พระผู้เป็นเจ้า อัลเลาะฮ์(ซ.บ.) ได้กล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์ว่า “เพื่อให้เกิดความยำเกรง” จึงสรุปได้ว่า หากมุสลิมไม่ถือศีลอด ด้วยกับไม่มีเหตุจำเป็น นั้นหมายความว่า มุสลิมคนนั้นไม่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าเลยเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่พระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน ได้ถูกประทานลงมาเป็นครั้งแรก ซึ่งคัมภีร์นี้มุสลิมถือว่าเป็นพระดำรัสของพระเจ้า(กาลามุลลอฮ์) มิใช่เป็นคำของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) และในค่ำคืนหนึ่งในเดือนรอมฎอนเป็นค่ำคืนแห่งเกียรติยศ(ลัยละตุลก็อดรฺ) ที่หากทำความดีตรงกับคืนนั้นจะมีความดีเท่ากับได้ทำเป็นพันเดือน(หรือประมาณ 80 ปีกว่า)   การทำความดีอาสา (สุนัต) ได้ผลบุญเท่ากับทำความดีภาคบังคับ (ฟัรดู) ฉะนั้นเดือนนี้ศาสนาจึงสนับสนุนให้ทำความดี บริจาคทาน ช่วยเหลือคนยากจน ขัดสน เด็กกำพร้า หญิงหม้าย คนที่ด้อยกว่านอกจากนี้การอ่านพระมหาคัมภีร์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ เราจึงเห็นมุสลิมโดยทั่วไปจะอ่านคัมภีร์ เรื่องการอ่านคัมภีร์นี้เป็นสิ่งที่จำเป็น คนมุสลิมแม้จะแปลคัมภีร์ไม่ได้แต่จะอ่านคัมภีร์ได้เป็นส่วนมาก เด็กๆทุกคนจะมีการเรียนการสอนในเรื่องนี้ที่เรียกว่าฟัดูอีนหรือตาดีกา ในภาคใต้  ฉะนั้นมุสลิมเกือบทุกคนจะอ่านพระคัมภีร์ได้นี่คือความสำคัญของเดือนนี้ นี่คือคำตอบว่าทำไมมุสลิมจึงให้ความสำคัญกับเดือนนี้มาก ความจริงเมื่อถึงเดือนรอมฎอน มุสลิมทุกคนน่าจะหลีกหนี ไม่อยากให้เดือนนี้มาถึงเพราะต้องอด แต่ตรงกันข้ามมุสลิมทุกคนกลับรอคอยเดือนนี้ด้วยความยินดี จะสังเกตุว่าในชุมชนมุสลิมจะคึกคัก ค่ำคืนจะสว่างไสว ในมัสยิด(สุเหร่า)จะมีคนมาทำความดี(อิบาดะฮ์) กันอย่างมากมาย ดึกดื่นแต่ว่าวิถีชีวิตก็เป็นไปตามปกติ ใครทำงานอะไรก็ทำอย่างนั้น มิใช่ว่าพอถือศีลอดแล้ว นั่งงอมืองอเท้า ไม่ทำมาหากิน อย่างนี้ก็ถือว่าผิดการถือศีลอดได้ฝึกและสอนให้มีความอดทน มีเมตตา เห็นอกเห็นใจ คนยากจนหิวโหย ความหิวที่เกิดจากการถือศิลอดจะทำให้ระลึกถึงคนยากจนที่หิวโหย เมื่อก่อนที่เราอิ่มเราจะนึกถึงคนที่หิวไม่ได้ว่ามันทรมานอย่างไร แต่เมื่อเราได้อดอย่างนี้เราจะเข้าใจได้ทันทีว่า คนที่หิวนั้นทรมานเช่นไร?ท่านศาสดากล่าวว่า “ท่านจงถือศีลอด แล้วท่านจะสุขภาพดี” มีแพทย์หลายท่านได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้ ยอมรับว่าการที่ร่างกายได้หยุดพักแบบจริงๆอย่างนี้ทำให้โรคบางอย่างหายไป ร่างกายได้มีโอกาสซ่อมแซม เฉกเช่นเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องมาตลอดไม่เคยหยุดพักเลย ได้หยุดเสียบ้างก็จะดี การหยุดไม่กินไม่ดื่มเลยจริงๆ ทำให้กระเพราะอาหารได้พักผ่อน โรคบางโรคหายได้เช่นโรคกระเพาะอาหารคนเรากินอาหาร 3 มื้อก็จริง แต่เอาเข้าจริงๆแล้วกินตลอดวัน กระเพาะอาหารต้องทำงานตลอดเวลา เป็นต้นเหตุให้ร่างกายเกิดโรคสารพัด อย่างในปัจจุบัน การหยุดกินเสียบ้างก็จะทำให้ร่างกายได้พักผ่อนในช่วงกลางคืนก็ไม่ได้ห้ามการกินการดื่ม แต่ก็ไม่ได้กินมากมายแบบกลางวัน ใช่ไหมครับ?ในโอกาสแห่งเดือนอันเป็นเกียรติยศนี้ ผมใคร่ขอพรอันประเสร็ฐ จากพระผู้เป็นเจ้า ขอได้ทรงโปรดประทานทางนำ ความดี สุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ ขอให้ประสพโชคดีตลอดไป




จ.ปัตตานี จัด “ปั่นสองน่อง ท่องทุ่งยางแดง 2” อนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตในชุมชน



ที่ตลาดนัดชุมชนนัดฆอมิส อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานปล่อยขบวนนักปั่นจักยานที่เข้าร่วมกิจกรรม “ปั่นสองน่อง ท่องทุ่งยางแดง 2” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตชาวทุ่งยางแดง พร้อมรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีสุขภาพที่ดีด้วยการปั่นจักรยาน โดยมีนายสุชาติ ชายมัน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการท่องเที่ยว และกีฬา ศอ.บต. นายอาฮมัดไฟซอล มาปะ ประธานชมรม (TYD-BC) หัวหน้าส่วนราชการ และนักปั่นจักรยานเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก


สำหรับกิจกรรม “ปั่นสองน่อง ท่องทุ่งยางแดง 2” จัดขึ้นเพื่อระดมทุนเป็นเงินช่วยเหลือผู้ยากจน ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือที่ดินวอกัฟ ช่วยเหลือศูนย์การศึกษาประจำมัสยิด (ตาดีกา) ช่วยเหลือเด็กกำพร้า รวมถึงช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาวาตภัย อัคคีภัยในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง อีกทั้งเป็นการบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในการขับเคลื่อนวาระปัตตานี “ร่วมสร้างปัตตานีให้เจริญรุ่งเรือง” อีกด้วย


     ทั้งนี้ เส้นทางในการ “ปั่นสองน่อง ท่องทุ่งยางแดง 2” ได้กำหนดเส้นทางทั้ง 4 ตำบลของอำเภอทุ่งยางแดง ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ ข้าราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ชมรมตาดีกาอำเภอทุ่งยางแดง และชมรมจักรยาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 500 คน และแบ่งเป็นประเภทของการแข่งขันประกอบด้วย 1.ประเภทเสือภูเขา ชาย รุ่นอายุไม่เกิน 50 ปี 2. รุ่นอายุไม่เกิน 45 – 49 ปี 3. รุ่นอายุไม่เกิน 39 ปี 4. รุ่นอายุไม่เกิน 29 ปี และ 5. ประเภทเสือภูเขาทั่วไป หญิง โดยผู้ชนะจะได้รับถ้วยเกียรติยศจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้








วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

ชาวยะลาจัดพิธีแก้บน “สืบสานประเพณีสัมยอดีต” ตามความเชื่อ และความศรัทธา


ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และพื้นที่ใกล้เคียงกว่าหนึ่งพันคน ได้เข้าร่วมพิธีแก้บนพ่อท่านบรรทมวัดคูหาภิมุขยะลา (วัดหน้าถ้ำ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวตำบลหน้าถ้ำ ชาวจังหวัดยะลาและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต่างเคารพนับถือ ตามประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี
ซึ่งในพิธีมีการทำบุญทางศาสนาพุทธ การเล่นหนังตะลุงตัดเหมยแก้บน และการจุดประทัดเกือบแสนนัด เพื่อเป็นการแก้บนตามความเชื่อและความศรัทธาของชาวตำบลหน้าถ้ำ และประชาชนในจังหวัดยะลา


นางจรวย บุญมาศ ชาวตำบลหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา กล่าวว่า พิธีนี้เป็นการทำบุญแก้บนของคนหน้าถ้ำ ที่แก้บนพ่อท่านบรรทม หรือพระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข ที่เป็นประเพณีสืบทอดมากว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งพ่อท่านบรรทม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับชาวบ้านหน้าถ้ำ ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือ ถ้ามีความทุกข์อะไรไปบนบานท่าน ความทุกข์ก็จะหายไป ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าทุกคนที่บนบานก็เหมือนเป็นหนี้บุญคุณของพ่อท่าน ก็จะร่วมกันทำพิธีแก้บน โดยวันแก้บนลูก ๆ หลาน ๆ ที่ไปอยู่พื้นที่อื่น ก็จะกลับมาร่วมพิธีแก้บนอย่างพร้อมเพรียง


โดยพิธีแก้บนก็จะเริ่มกันตั้งแต่ช่วงเช้ามีการเซ่นไหว้ 4 แห่ง คือ ไหว้เจ้าคุณพุทธไสยารักษ์ ไหว้พ่อทวด ไหว้พ่อท่านเจ้าเขา และไหว้พ่อท่านบรรทม หรือ พระพุทธไสยาสน์ พอในช่วงค่ำก็จะมีพิธีสงฆ์ รับหนังตะลุงมาเล่นกัน 3 คืน ในสมัยก่อนจะมีทั้งมโนราห์และหนังตะลุง ราคาไม่แพง หนังตะลุงแค่พันสองพัน แต่ปัจจุบันจะเป็นการเล่นหนังตะลุงอย่างเดียว เนื่องจากการจ้างหนังตะลุงในแต่ละคืนจะมีราคาสูงถึง 3 หมื่นบาท ส่วนการแก้บนก็จะทำกันปีเว้นปี ในช่วงข้างขึ้นของเดือน 6 อธิกมาส
        ซึ่งหลังทำพิธีสงฆ์เสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านก็จะนำธูปเทียนดอกไม้มาปักไว้ที่บริเวณด้านหน้าเขา เพื่อประกาศว่าวันนี้ทุกคนได้มาแก้บนแล้ว จากนั้น หนังตะลุงก็จะเริ่มเล่นตัดเหมยแก้บน เพื่อให้สิ่งที่บนบานหายไป โดยนำหนังตะลุงมาแก้แล้ว และจะมีการจุดประทัด รวมทั้งการยิงปืนแก้บนนับพันนัด ซึ่งสมัยก่อนจะใช้อาวุธสงครามในการยิง เสียงดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งเขา ใช้เวลานานมาก ปัจจุบันได้มีมาตรการไม่ให้นำอาวุธปืนสงครามมายิง ชาวบ้านก็ได้แก้ไขโดยจะใช้ปืนสั้น ปืนลูกซอง 5 นัดมายิง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จัดสถานที่จุดยิงปืนแก้บน และคอยดูแลเพื่อความปลอดภัย โดยจะใช้เวลาในการยิงปืนแก้บนประมาณ 30 นาที ถึงจะเสร็จ


        หลังจากครบ 3 คืน ที่นำหนังตะลุงมาเล่นแก้บนแล้ว ชาวบ้านก็จะขึ้นไปบนบานพ่อท่านบรรทมใหม่อีก โดยปีถัดไปก็จะนำหนังตะลุงมาเล่นแก้บนอีก จะสลับกันไปปีเว้นปี ทั้งนี้ สิ่งที่ทำวันนี้ คือ สิ่งที่ดีของคนหน้าถ้ำที่คิดและยึดถือปฎิบัติสืบทอดประเพณีกันมา เป็นสิ่งซึ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธในพื้นที่ ทั้งชาวตำบลหน้าถ้ำ ชาวจังหวัเยะลา ช่วยบรรเทาความทุกข์ด้านจิตใจในทางที่ถูกต้อง และยึดถือปฎิบัติมาจนถึงปัจจุบัน





วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

“แต้มสีเมืองด้วยสองมือ” เยาวชนรักท้องถิ่น สร้างระเบียบจราจรให้ชาวยะลา



เจ้าหน้าที่เทศบาลนครยะลา ได้นำเยาวชน 30 คน จากโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น เสริมสร้างความสมานฉันท์ เทศบาลนครยะลาลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ ที่บริเวณถนนภายในเขตเทศบาลนครยะลา โดยนำถังใส่สีแดงและสีขาวพร้อมแปรงไปทาสีขอบทาง เครื่องหมายจราจรขาว-แดง ตามฟุตบาท เพื่อให้สีเส้นจราจรที่จาง สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เกิดความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนชาวยะลา ปฎิบัติตามกฎระเบียบ ห้ามหยุด และจอดรถอย่างเคร่งครัด


         โดยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่างบอกว่า ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น ช่วยให้ตนเองและเพื่อน ๆ มีจิตสาธารณะ ทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม รู้จักรับผิดชอบ อดทน รู้จักค่าของเงิน การทำงาน และยังเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ทั้งพุทธ มุสลิม และได้เรียนรู้งานบริการด้านต่าง ๆ ของเทศบาลฯ ทำให้ทุกคนรู้สึกสำนึกรักท้องถิ่นของตนเอง และพร้อมที่จะเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป นอกจากนี้ ก็ยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ ได้นำเงินที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปใช้จ่ายในการเรียนช่วงเปิดเทอม อีกด้วย


         สำหรับโครงการค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น เสริมสร้างความสมานฉันท์ เทศบาลนครยะลา ได้จัดอย่างต่อเนื่องในช่วงภาคฤดูร้อน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากสถานศึกษาในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของเทศบาลนครยะลา เกิดความสมานฉันท์และมีจิตสำนึกรักท้องถิ่น ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนให้เยาวชนมีรายได้ช่วงปิดภาคเรียน ห่างไกลจากยาเสพติดแหล่งอบายมุข โดยรุ่นนี้เป็น รุ่นที่ 13 จำนวน 180 คน ดำเนินงานระหว่างวันที่ 14 มีนาคม ถึง 4 พฤษภาคม 2561


       ส่วนกิจกรรมจะมีทั้งการปฏิบัติงานภาคสนาม ตามภารกิจสำนัก กองต่าง ๆ การฝึกอบรมทักษะเรียนรู้ บทบาทอำนาจหน้าที่ของเทศบาลในการบริการประชาชน การพัฒนาทักษะการคิด การสร้างภาวะผู้นำ การปลุกจิตสำนึกรักท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นอันเป็นกลไกไปสู่เยาวชนจิตอาสาดูแลพัฒนาชุมชน สังคม และกิจกรรมฝึกกระบวนการทำงานเป็นหมู่คณะ ยอมรับความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ เคารพในสิทธิของผู้อื่น และรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน