วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“ใบไม้สีทอง” หรือ “ย่านดาโอ๊ะ” ไม้มีเสน่ห์ของชายแดนใต้


ใบไม้สีทอง 
หรือ ย่านดาโอ๊ะ รูปร่างคล้ายกับใบกาหลงหรือชงโค แต่ขนาดใหญ่กว่า ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดงหรือทองแดงเป็นมันคล้ายเส้นไหม นิยมเก็บใบไม้สดมาทำให้แห้งตามธรรมชาติ ด้วยการใส่ถุงจนแห้ง ใช้เวลา ๔-๕ เดือนและอัดรีดให้เรียบใช้เวลา ๓ เดือน ก่อนนำมาใส่ซองบรรจุหรือใส่กรอบรูป เป็นของแต่งบ้าน เชื่อว่าเป็นใบไม้มงคล 

 



ร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง 

ใบไม้มงคลสีทอง ๑๘๘ ถนนพิชิตบำรุง อำเภอเมือง โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๓๕๘๑, ๐๘ ๙๒๙๘ ๓๔๐๒ เปิด ๐๙.๐๐–๑๖.๐๐ น. (หยุดวันอาทิตย์) งานฝีมือทำจากใบไม้สีทองประดับลงกรอบรูป สมุดบันทึก ผ้าบาติกภาพวาด

ใบไม้สีทอง ถนนวิจิตรไชยบูรณ์ อำเภอเมือง โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๒๘๗๕, ๐๘ ๙๔๖๕ ๓๕๓๓ เปิด ๐๙.๐๐ –๑๗.๐๐ น. จำหน่ายงานฝีมือที่ทำจากใบไม้สีทอง



-----------------------------------------

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"ว่าววงเดือน" อัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตท้องถิ่นเสน่ห์บนผืนฟ้าชายแดนใต้

ว่าววงเดือน คือ ศิลปะพื้นเมืองที่มีความสวยงาม และแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของพื้นถิ่นชายแดนภาคใต้ เป็นว่าวโบราณที่ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ รวมไปจนถึงรัฐกลันตันทางตอนเหนือ ประเทศมาเลเซียนิยมเล่นกันมาก ว่าววงเดือนมีความแตกต่างจากว่าวทั่วไป โดยมีลักษณะคล้ายกับพระจันทร์ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งจันทร์ซีก จันทร์เสี้ยว และจันทร์เต็มดวง ว่าวจะถูกตกแต่งด้วยลวดลายที่แตกต่างกันไป ทั้งลายไทย ลวดลายมลายู และลวดลายแบบชวา แต่งเติมสีสันสวยงาม มีส่วนประดับที่เรียกว่า แอก ที่ตรงส่วนหัว และพู่อยู่ตรงส่วนหัว และปีกทั้งสองข้าง       ว่าววงเดือน ในภาษามลายู เรียกว่า “วาบูแล” มีตำนานเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาล มีเจ้าชายซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของกษัตริย์ วงศ์อสัญแดหวา ตกหลุมรักเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ ได้อาศัยว่าววงเดือนเป็นพาหนะขึ้นไปหาเทพธิดา ครั้นถูกจับได้ว่าลอบเข้าหาเทพธิดาอันเป็นลูกสาวสวรรค์ ระหว่างหลบหนี ได้ถูกยิงด้วยธนูสิ้นพระชนม์ ศพของเจ้าชายก็ได้รับการพากลับมายังโลกมนุษย์ โดย 2 องครักษ์ที่เดินทางไปด้วย ช่วยพาขึ้นว่าวกลับสู่โลกมนุษย์ และในขณะทำพิธีศพของเจ้าชายนั้นเอง เจ้าหญิงจากสรวงสวรรค์ได้แปลงกายเป็นหญิงชรานำสมุนไพรมาถวาย โดยใช้ว่าวเป็นพาหนะ ส่งผลให้เจ้าชายฟื้นคืนชีพ ทำให้ทั้งคู่กลับมาครองรักกันได้เหมือนเดิม อัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตถิ่นแดนใต้


ในอดีตหลังจากชาวบ้านทำนาทำสวนเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เข้าสู่ห้วงฤดูลมว่าวช่วงรอยต่อเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านในพื้นถิ่นชายแดนภาคใต้ก็มีการละเล่นคล้ายคลึงกับท้องถิ่นอื่น ๆ ของประเทศไทย คือการเล่นว่าว สอนเด็ก ๆ ลูกหลานให้รู้จักการละเล่นที่สอดคล้องธรรมชาติ ภาพที่เห็นบนท้องฟ้าในยามนั้น คือว่าววงเดือนหลากสีที่ลอยเด่น งดงาม สดใส จวบจนถึงปัจจุบันลูกหลานชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงนิยมเล่นการละเล่นชนิดนี้ และมีการสืบทอดภูมิปัญญาการทำว่าว การเล่นว่าว และการแข่งขันว่าววงเดือนอันเป็นอัตลักษณ์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านพื้นถิ่น การเล่นว่าววงเดือนนอกจากเป็นการละเล่นในครอบครัวแล้ว ยังมีประเพณีการละเล่นแข่งขันว่าววงเดือน ซึ่งจากแต่เดิมมีการจัดกิจกรรมแยกกันตามแต่ละหมู่บ้าน ต่อมาได้มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมในระดับตำบลเป็นประจำทุกปีหลังฤดูทำนา ทางเทศบาลกะลุวอเหนือ ได้ให้ความสำคัญกับการสืบทอดประเพณีการเล่นว่าว โดยจัดขึ้นที่ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ในการจัดการแข่งขันการแข่งว่าว ชาวบ้าน 13 หมู่บ้านจะมีตัวแทนที่มีความรู้เรื่องว่าวมาร่วมกันทำงาน ร่วมกันวางแผนงานจัดกิจกรรม


ในแต่ละบ้านเรือน เมื่อพ่อแม่ไปหาไม้มาทำว่าวลูกก็มีโอกาสได้เรียนรู้ไปด้วย เด็ก ๆ จะได้ใช้เวลาหัดทำว่าวกับพ่อแม่ ได้เรียนรู้ว่าต้องใช้ไม้ไผ่ประเภทใดได้บ้าง การทำว่าวจะใช้ไม้ไผ่ที่แก่มาเหลาเป็นโครงว่าว ทำให้เหนียวเมื่อเจอลมแรงก็ไม่หักง่าย การดัดให้เข้ารูปทรงโครงว่าว การติดกระดาษ ตกแต่งลวดลาย จนไปถึงการขึ้นว่าว ทำยังไงให้ขึ้นได้สูงอยู่ได้นาน เด็ก ๆ ได้เล่นว่าวด้วยกันยามเย็น ใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า และห่างไกลจากวงจรยาเสพติด เสน่ห์บนผืนฟ้า ประเพณีอันทรงคุณค่า


สถานที่จัดการแข่งขันว่าววงเดือน ตำบลกะลุวอเหนือ เป็นลานกว้างใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่วัดไทยพุทธ เป็นศูนย์กลางให้คนทุกศาสนามาเล่นว่าวร่วมกัน ซึ่งการแข่งขันว่าวไม่ได้จัดอยู่แค่ในพื้นที่ตำบลกะลุวอเหนือเท่านั้น แต่ยังมีการจัดในหลายพื้นที่ และมีผู้เข้าร่วมจากต่างถิ่นมาร่วม หมุนเวียนกันไป แสดงถึงความเป็นอยู่ที่กลมเกลียวบนความแตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้ผลพลอยได้อีกประการสำหรับคนท้องถิ่นคือการสร้างรายได้พิเศษจากการประดิษฐ์ว่าววงเดือนเพื่อจำหน่ายเป็นว่าวแข่ง และของที่ระลึกที่สวยงามประเพณีการแข่งขันว่าววงเดือนหรือว่าววาบูแล จึงเป็นสื่อสำคัญที่ให้คุณค่าทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความแตกต่างทางศาสนา. และวัฒนธรรม สืบสานภูมิปัญญาทางศิลปหัตถกรรม ประเพณีการละเล่นอันผูกพันกับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิม และไทยพุทธ และมีมาอย่างยาวนานในพื้นที่ชายแดนใต้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และสืบทอด นับเป็นกิจกรรมความร่วมมือของผู้นำท้องถิ่นกับชุมชนที่อบอุ่น และทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

---------------------------------

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“พิมเสนน้ำ” กลุ่มอาชีพชมรมผู้พิการเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา

พืชสมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานับพันปี สรรพคุณและคุณค่าของสมุนไพรเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่ามีคุณค่าใช้ประโยชน์ได้จริง และใช้ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการยอมรับในประสิทธิภาพของสมุนไพรไทยหลายๆชนิดเองก็ได้รับการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แล้วว่าช่วยในการรักษาหรือช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆได้เช่นเดียวกับยาที่ผลิตมาจากการใช้สารเคมี


เฉกเช่นเดียวกับ “พิมเสนน้ำ” ที่ทางกลุ่มอาชีพชมรมผู้พิการ เทศบาลเมืองเบตง ได้มีการนำประโยชน์จาก เมนทอล การบูร ยูคาลิปตัส และดอกกานพลู มาสกัดทำเป็นพิมเสนน้ำ เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสร้างรายได้ เป็นที่นิยมสำหรับกลุ่มคนทั่วไป อีกทั้งพิมเสนน้ำ ยังมีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะช่วยทำให้ชื่นใจ แก้เป็นลม แก้หวัดคัดจมูก หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ แก้เคล็ด ขัดยอก แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดท้อง จุกเสียด ท้องอืด ฯลฯ ใช้ทาถูนวดบรรเทาอาการปวด อาการอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยาสูดดมแก้หวัด แก้วิงเวียน เป็นลม แก้แมลงกัดต่อยได้ดี อีกด้วย แต่ไม่ควรดมมาก เพราะอาจทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบ หรือประสาทการรับรู้กลิ่นเสียได้ โดยผู้ที่สนใจ “พิมเสนน้ำ” สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มอาชีพชมรมผู้พิการ เทศบาลเมืองเบตง โทร.090-4794598



--------------------------

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ขนมไข่ชุมชนกาแป๊ะ กม.3 เมนูคู่น้ำชา - กาแฟยามเช้า


ขนมไข่ เป็นขนมที่ทำจากไข่ที่ตีจนขึ้นฟู ผสมกับแป้งเค้ก แล้วอบจนสุกเหลืองทอง หน้ากรอบนิด ๆ เนื้อในนุ่มหอมกลิ่นไข่ กินคู่กับน้ำชา กาแฟ หรือนมร้อน ๆ ซักแก้ว รับรองฟินสุด ๆ และเป็นขนมที่คนในชุมชนกาแป๊ะ กม.3 ทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทำกินกันในบ้าน ทำเวลามีงานต่างๆ และด้วยวิถีของชาวไทยมุสลิมที่ชอบดื่มน้ำชาหรือกาแฟตอนเช้า


และมีขนมมาทานคู่กันจึงได้สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ "ขนมไข่" มีรสชาติโดดเด่นที่กรอบนอกนุ่มใน ทำแบบสูตรชาวบ้านใส่ไข่เยอะจึงทำให้มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในชุมชนชาวไทยมุสลิมตามร้านน้ำชาต่างๆ ขนมจะขายดีมาก


สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ "ขนมไข่" ไม่ว่าจะสั่งซื้อไปรับประทาน หรือใช้ในงานเลี้ยงต่างๆ สามารถสั่งตรงที่กลุ่มแม่บ้านกาแป๊ะ กม.3 โทร 082-8346960 , 062-2626604 รับรองว่าอร่อยถึงใจไม่ผิดหวังแน่นอน


--------------------------------

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ขนมดอกจอก" กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมุสลีมะห์พัฒนา ชุมชนบูเก็ตโกร อ.เบตง จ.ยะลา

ขนมดอกจอกเป็นขนมที่นิยมตั้งแต่สมัยก่อน แต่ในปัจจุบันเริ่มจะหาทานยาก เด็กๆ สมัยนี้อาจจะไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไรนัก เนื่องจากไม่ค่อยเป็นที่นิยมจากเด็กรุ่นใหม่ ขนมดอกจอกเป็นขนมที่มีรูปทรงคล้ายดอกจอกที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในน้ำ รูปทรงสวยงามน่ารับประทาน แต่เนื่องจากขนมดอกจอกเป็นขนมที่ต้องใช้น้ำมันพืชปริมาณมากในการทอดจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมกับคนสมัยนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เน้นเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ อาจเป็นเพราะว่ามีคอเลสเตอรอลสูงเเละทำให้อ้วนได้ ขนมดอกจอกในสมัยก่อนเป็นที่นิยมมากจะเป็นหนึ่งในขนมที่จัดขึ้นในงาน และพิธีการสำคัญต่างๆเช่นงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ทำให้ขนมดอกจอกไม่แพ้ขนมไทยอย่างทองหยิบ ทองหยอด หรือฝอยทองที่เป็นที่นิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน 



กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมุสลีมะห์พัฒนา (บูเก็ตตักโกร) ได้มองว่าขนมดอกจอก กำลังจะหายไปจากสังคมไทยเรื่อยๆ เพราะไม่ค่อยมีคนขายกันเท่าไหร่ เด็กรุ่นใหม่ก็จะไม่เคยได้กิน และคิดว่าขนมดอกจอกทำยาก แต่แท้ที่จริงแล้วเราแค่มีแม่พิมพ์รูปดอกจอกก็สามารถทำได้แล้ว จึงได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำขนมดอกจอก ถือว่าเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านฯ อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจ "ขนมดอกจอก" สามารถสั่งได้ที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมุสลีมะห์พัฒนา (บูเก็ตตักโกร) โทร 095-5719686




----------------------------------------

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กระเป๋าผ้าปาเต๊ะ ชุมชนจาเราะกางา ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชายแดนใต้

ด้วยสีสันและลวดลายที่สดใสสวยงาม บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างดี ผ้าปาเต๊ะมีลวดลายที่ประณีตซับซ้อน และมีมากกว่าสองลายขึ้นไปบนผ้าผืนเดียว จึงทำให้ผ้าปาเต๊ะมีความโดดเด่นสะดุดตา ผสมผสานกับฝีมือการเล่นสีอะคริลิก ผสมสีกากเพชร แต่งแต้มลวดลายตามจินตนาการ ปัจจุบันได้มีการนำ ผ้าปาเต๊ะมาประยุกต์ใช้ให้มีความหลากหลาย ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า ผ้าพันคอ และอื่นๆ ยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผ้าปาเต๊ะยิ่งดูมีคุณค่า กลายเป็นผ้าที่มีราคา และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป



กลุ่มสตรีจาเราะกางา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากทางเทศบาล เมืองเบตง ที่ได้ส่งเสริมความรู้และทักษะด้านอาชีพการทำผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะให้กับกลุ่มอาชีพจาเราะกางา เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพ เป็นการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มสตรีจาเราะกางา ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ร่วมกันพัฒนาก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน พึ่งพาตนเองตลอดจนมีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐาน แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้นำผ้าปาเต๊ะมาเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าผ้า,หมวก,พวงกุญแจ,แมส ฯลฯ เนื่องจากเป็นผ้าปาเต๊ะมีลวดลายสวยงามอยู่ในตัว และนำมาออกแบบให้ทันสมัย สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้


โดยผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณมีนา ดือมาลี (ประธานกลุ่มแม่บ้านจาเราะกางา) โทร.098-0366925


---------------------------

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565

โกปี๊ 100 ปี (โกปี๊วังเก่า) ต้นตำรับกาแฟโบราณ รสชาติเข้มข้น ของดีคู่เมืองเบตง จ.ยะลา


โกปี๊ 100 ปี (โกปี๊วังเก่า) ของดีเบตง รสชาติเข้มข้น ต้นตำรับกาแฟโบราณเป็นที่ทราบกันดีว่า “กาแฟ” เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาอย่างช้านาน ที่สำคัญได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถือว่าเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมตลอดกาล ซึ่งชาวเบตงเองก็นิยมดื่มกาแฟกันในช่วงเช้า และช่วงค่ำ โดยแกล้มกับข้าวเหนียว (ปูโล๊ะ) และข้าวยำ (นาซิกาบู) เลยทำให้เป็นการจุดประกายทางความคิดให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกาแป๊ะกอตอใน ในการรวมตัวกันยามว่างจากการประกอบอาชีพหลักจากการทำสวนยางพารา และกลุ่มแม่บ้านในชุมชนได้มองเห็นปัญหาที่เกษตรกรในพื้นที่มีการปลูกกาแฟและมีผลผลิตกาแฟจำนวนมาก แต่ราคาตกต่ำ ไม่มีการแปรรูปผลผลิตเพื่อจำหน่าย มีเพียงการแปรรูปเพื่อบริโภคกันในครัวเรือนเท่านั้น สมาชิกในกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะรวมกลุ่มกันแปรรูปเมล็ดกาแฟที่มีในชุมชนเพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน โดยนำเมล็ดกาแฟมาแปรรูปเป็นผงกาแฟโบราณเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านและชุมชน





โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกาแป๊ะกอตอใน ได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแปรรูปเมล็ดกาแฟมาเป็นจุดตั้งต้นในการผลิต โดยเป็นการผลิตผงกาแฟโบราณ (โกปี้) แบบดั้งเดิมด้วยการคั่วเมล็ดกาแฟกับน้ำตาลจนได้ความเข้มที่พอเหมาะ บดด้วยครกไม้แบบโบราณ โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมและสืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งกรรมวิธี และกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมที่สะอาด และถูกสุขลักษณะผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอาหารและยารวมถึงการได้รับเครื่องหมายฮาลาลด้วย ทำให้รสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟผงโบราณเบตง เมื่อยามชงดื่มเป็นที่ถูกใจของคอกาแฟโบราณทั้งหลายเป็นอย่างมาก ปัจจุบันได้พัฒนาในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ทั้งแบบพร้อมชง (ชนิดซอง) , แบบพร้อมชง (ชนิดผง)และแบบขวด (พร้อมดื่ม) มีเลขทะเบียนการค้าถูกต้อง ทำให้กาแฟโบราณเบตง กลายเป็นสินค้าของฝากสำคัญอีกชิ้นหนึ่งจากการเยือน เมืองเบตงและยิ่งไปกว่านั้นขณะนี้กาแฟโบราณเบตงก็ได้ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในรายชื่อของ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ของจังหวัดยะลาอีกด้วย


สำหรับผู้ที่สนใจกาแฟโบราณโกปี้วังเก่า สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกาแป๊ะกอตอใน (กลุ่มผู้ผลิตโกปี๊วังเก่า) โทร.093-7202410 , 098-7421435


ขอขอบคุณ ร้านชาพะยอม และ ZOO Berger 


------------------