วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

ทำความรู้จักกับ “น้ำตกพระไม้ไผ่ หรือน้ำตกห้วยบอน”



       น้ำตกแห่งนี้มีต้นกำเนิดจากยอดเขานางจันทร์ เทือกเขาสันกาลาคีรี พ่อท่านอ่อน สาชาโต อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านโหนดเป็นผู้ค้นพบ และได้ชักชวนราษฎรจัดทำถนนขึ้นสู่น้ำตก รวมทั้งได้สร้างพระพุทธรูป นามว่า "พระเวฬุวัน" ประดิษฐานไว้

       และเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวที่ ทข.2 (น้ำตกพระไม้ไผ่) น้ำตกนี้มีลานแกรนิตขนาดใหญ่ มีรอยสลักบนลานหินเป็นรูปสัตว์ต่างๆ  มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า หากไปคนน้ำในบ่อแล้วจะบันดาลให้เกิดฝนตกได้ ที่ตั้ง หมู่ 2 บ้านห้วยบอล ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 




  





------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562

บ้านทุ่งสองวิถี “ปะนาเระ” สร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน



        บ้านทุ่งสองวิถี ใครจะเชื่อว่าที่ปะนาเระ ปัตตานี จะมีทุ่งนา? ที่สำคัญคนที่นี่เขามีงานอะไรก็ช่วยกันทั้งลงแขก หรือกวนอาซูรอ น่ารักอย่างนี้สิ ชีวิตดี๊ดีที่ชายแดนใต้

        ชาวบ้านทุ่ง ตำบลท่าข้าม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีอาชีพหลักคือการทำนาปีและนาปรัง เว้นว่างจากการทำนา ก็จะมีอาชีพอีกหลายอย่างเช่นการเก็บน้ำตาลโตนด การจัดตั้งกลุ่มทำน้ำตาลแว่น กลุ่มทำเครื่องจักรสาน และการปลูกพืชผัก ซึ่งพี่น้องทั้งไทยพุทธและมุสลิมก็อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจในแต่ละวิถีของศาสนา เมื่อมีงานต่างๆเช่น การลงแขกดำนา การกวนอาซูรอ ทุกคนก็จะพร้อมใจช่วยเหลือกันอย่างพร้อมเพรียง

        นางสมปอง อัดอินโหม่ง ประธานกลุ่มจักสานบ้านทุ่ง บอกว่าชาวบ้านทุ่งรู้จักกันทุกครอบครัวทั้งพุทธทั้งมุสลิม ทุกคนอยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ใครมีปัญหา หรือข้อข้องใจ ก็จะมีการจัดประชุม เพื่อรับฟังและหาทางออกร่วมกัน เมื่อได้พูดคุยก็จะทำให้เข้าใจกัน ร่วมกันสอดส่องดูแลชุมชน สิ่งเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนรั้ว ที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับทุกคนในชุมชน การอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีและเข้มแข็ง คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับรากหญ้า โดยหลายหน่วยงานได้นำโครงการต่างๆ เข้ามาในชุมชน เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปะนาเระ ที่เข้ามาส่งเสริมกลุ่มและหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ จากการผนึกกำลังของชาวชุมชนบ้านทุ่ง ก็เหมือนกับอีกหลายๆ ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ร่วมกันสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน 

--------------------------------

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

ปัตตานี..ก็มี “Sky Walk”



      กระแส Sky walk กำลังมาแรง ทั่วโลกมองหาสถานที่สวยๆ มุมดีๆ ที่สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามแบบ 360 องศา เพื่อทำการก่อสร้าง Sky walk ให้นักท่องเที่ยวได้หลั่งไหลเข้ามาชื่นชมความสวยงามเหล่านั้นได้อย่างไร้ขีดจำกัด เป็นการบันทึกความประทับใจได้อย่างไร้รูปแบบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีกระแสการก่อสร้าง Sky Walk เช่น ที่จุดชมทะเลหมอก ตำบลอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา และอีกหนึ่งสถานที่คือที่จังหวัดปัตตานี ที่การก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้เที่ยวชมอย่างเป็นทางการ

       Sky Walk สไตล์ปัตตานีนั้น จัดสร้างโดยเทศบาลเมืองปัตตานี ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 10 ล้านบาท โดยออกแบบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงผจญภัย "Pattani Adventure Park" หรือ ที่รู้จักกันในนาม ทางเดินชมธรรมชาติ Sky walk ซึ่งเป็นการก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่เรียกกันว่า สวนแม่สวนลูก โดยนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับการผจญภัยแบบใหม่เป็นแห่งแรกของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับ Sky walk Pattani นี้สร้างด้วยโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ความสูงประมาณตึก 3 ชั้น ระยะทาง 400 เมตร มีบันไดขึ้น-ลง 2 จุด และมีศาลาพัก 5 จุด มีที่นั่งรับลมเย็นๆ เป็นที่นั่งพักเหนื่อย พูดคุยกันตามอัธยาศัย สิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นเมื่อขึ้นไป คือ มองออกไปทางทิศตะวันตกจะเห็นทะเลอ่าวไทยหรือปากอ่าวปัตตานี เมื่อมองลงไปข้างล่างจะเห็นป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยป่าโกงกางน้อยใหญ่ เห็นบรรยากาศการทำกิจกรรมภายในสวนสมเด็จฯโดยรอบ เห็นบรรดาตึกสูงๆสวยๆของเมืองปัตตานี ถือเป็นการรับลมชมวิวเมืองปัตตานีแบบ 360 องศากันเลยทีเดียว และที่สำคัญคือเราจะเห็นรอยยิ้ม และได้ยินเสียงหัวเราะที่ดังกึกก้องจากผู้คนที่ได้มาเดินบน Skywalk แห่งนี้ นักท่องเที่ยวนักเซลฟี่ทั้งหลายห้ามพลาดที่จะเก็บภาพสวยๆ บนที่สูงๆ โดยเฉพาะในยามที่พระอาทิตย์ใกล้จะตกดินเป็นบรรยากาศที่แสนจะอบอุ่น แสงอาทิตย์สีทองสาดมายังผืนน้ำเห็นเป็นประกายระยิบระยับ ท้องฟ้ามีสีที่สวยงามเสมือนได้จ้องมองงานศิลปะที่สวยที่สุด หลังจากเดินชมวิวข้างบนจนสุดทางเดินแล้ว เมื่อเดินลงบันไดก็จะได้พบกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์สวยงามของพรรณไม้และสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนนานาชนิด ตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตร นับเป็นภาพความประทับใจที่ไม่อาจลืมเลือน

      นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ยืนยันถึงโครงสร้างทางเดินชมธรรมชาติแห่งนี้ว่า "ได้ผ่านการรับรองจากวิศวกรว่าเป็นโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง เราจะมีการตรวจตราดูแลแก้ไขปรับปรุงอยู่เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้อยู่ใกล้กับทะเลซึ่งมีอากาศเค็ม วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ก่อสร้างก็เป็นเหล็ก ในอนาคตก็อาจมีการศึกหรอเพราะฉะนั้นทางทีมงานต้องหมั่นสำรวจตรวจสอบดูว่ามีตรงส่วนไหนบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวก็คอยสอดส่องแก้ไขปรับปรุงทันที แต่ในขณะนี้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์"

        สำหรับแผนการก่อสร้างในระยะที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อก่อสร้างเพิ่มเติมในส่วนของหอกระโดดสูง เชือกปีนป่าย ทางเดินริมน้ำ ฯลฯ หากการก่อสร้างทุกๆจุดเสร็จสมบูรณ์ตามที่วางแผนไว้ สถานที่แห่งนี้ “Pattani Adventure Park” ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงผจญภัยอย่างเต็มรูปแบบ



-------------------------------------

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

มัสยิด 300 ปี ศิลปไทยพื้นเมืองประยุกต์ จีน ไทย มลายู



         ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เพียง 4 กิโลเมตร ทางเข้ามัสยิดแยกจากเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 42 (สายเอเชีย 18) เส้นทางนราธิวาส-ปัตตานี ตรงทางแยกบ้านบือราแง ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ หมู่ที่ 1 ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มัสยิดวาดิลฮูเซ็น เป็นมัสยิดเก่าแก่และมีประวัติอันยาวนาน ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่ามัสยิด 200 ปีบ้าง มัสยิด 300 ปีบ้าง มัสยิดวาดิลฮูเซ็น (มัสยิดตะโละมาเนาะ : 200 ปี) ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะจังหวัดนราธิวาสเพียง 4 กิโลเมตร ทางเข้ามัสยิดแยกจากเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 42 (สายเอเชีย 18) เส้นทางนราธิวาส-ปัตตานี ตรงทางแยกบ้านบือราแง ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ หมู่ที่ 1 ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

         มัสยิดวาดิลฮูเซ็น เป็นมัสยิดเก่าแก่และมีประวัติอันยาวนาน ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่ามัสยิด 200 ปีบ้าง มัสยิด 300 ปีบ้าง ตามประวัติโดยหะยีอับดุลฮามิ อูเซ็น อายุ 89 ปี ชาวบ้านเรียกว่าปะดอดูกู ได้เล่าให้ฟังว่ามัสยิดแห่งนี้ได้สร้างมาแล้ว 3 ชั่วอายุคน โดยท่านหะยีซายฮูซึ่งเป็นครูสอนศาสนาเป็นผู้ก่อสร้าง มีนายแซมะเป็นนายช่าง สันนิษฐาน ว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.231 ลักษณะการก่อสร้าง ก่อสร้างจากไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้สลักไม้แทนตะปูหรือสกรู การก่อสร้างในสมัยนั้นไม่มีเลื่อย ขวาน สิ่วแต่จะใช้บือจือตา(รูปร่างคล้ายขวาน) ตัดไม้ ใช้บันลีโยง(ลิ่ม) ผ่าไม้ ใช้บายิ (รูปร่างคล้ายจอบ) ถากไม้ให้เรียบ เสาไม้มีจำนวน 26 ต้นสี่เหลี่ยมขนาด 10 X 10 นิ้ว พื้นหนา 2 นิ้ว ฝาประกบหน้าต่างทำด้วยไม้ทั้งแผง แกะสลัก เป็นลวดลายต่าง ๆ ตัวมัสยิดสร้างเป็นอาคาร 2 หลังติดกันมีขนาด 14.20 X 6.30  เมตร เฉพาะหลังที่เป็นมิหรอบ (บริเวณที่อิหม่ามนั่งละหมาด) มีขนาด4.60 X 5.60 เมตร

      มัสยิดแห่งนี้สร้าง แบบศิลปไทยพื้นเมืองประยุกต์กับศิลปแบบจีน และศิลปแบบมลายู ส่วนที่เด่นที่สุดของมัสยิดนี้จะอยู่ที่หลังคาอาคารหลังแรกส่วนที่เป็นมิหรอบ หลังคามี 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้นที่ 3 มีโดมเป็นเก๋งจีนอยู่บนหลังคา เป็นศิลปะแบบจีนแท้ เสาจะแกะสลักเป็นรูปดอกพิกุล ในสมัยนั้นเก๋งจีนจะใช้เป็นหออาซาน(สำหรับตะโกนเรียกคนมาละหมาด) ส่วนหลังที่ 2 จะมีหลังคา 2 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้นที่ 2 จะมีจั่วอยู่บนหลังคาชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่ง มีรูปแบบทรงไทย แบบหลังคา โบสถ์วัดทั่ว ๆ ไปรอบ ๆฐานดอกพิกุลหงายจะแกะสลักเป็นลายเถาว์ก้านมุมหลังคาด้านบนของอาคารทั้ง 2 หลัง ใช้ปูนปั้นเป็นลายกนก ลายเถาว์ก้าน มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ ประกอบศาสนกิจของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามมาหลายชั่วอายุคนซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อชุมชนมาก


----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

“ถ้ำคูหาภิมุขยะลา​” ประวัติศาสตร์น่าค้นหาความเป็นมาของชุมชน พุทธ – มุสลิม



        วัดถ้ำคูหาภิมุข ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา แหล่งโบราณคดีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติความเป็นมาของชุมชนชาวพุทธ มุสลิม ที่ผูกพันธุ์กันมาเกือบสองร้อยปี นายชัชพงศ์ เพชรกล้า ประธานสภาวัฒนธรรม ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลาบอกว่าวัดถ้ำแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดยะลา อายุ 172 ปี โดยสร้างเมื่อ พ.ศ. 2390 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีเรื่องเล่าว่าชาวเมืองเมืองยะหริ่ง ซึ่งนับถือศาสนาพุทธได้เข้ามาขอเจ้าเมืองยาลอ คือพระยาณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองยาลอคนที่สี่ เพื่อตั้งรกราก สร้างบ้านเรือนที่บริเวณหน้าถ้ำ ซึ่งท่านเจ้าเมืองก็อนุญาตไม่ขัดข้องและชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวพบว่าภายในถ้ำมีพระนอนเก่าแก่สมัยอาณาจักรศรีวิชัยประดิษฐานอยู่ จึงขออนุญาตเจ้าเมือง สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งเจ้าเมืองยาลอก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด และโดยเดิมทีแล้วในชุมชนแห่งนี้ก็มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่มาก่อน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พื้นที่แห่งนี้จึงเกิดเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม อยู่กันสองวิถีมาตลอด สำหรับตำบลหน้าถ้ำมี 4 หมู่บ้าน นับถือศาสนาอิสลาม 2 หมู่บ้าน และนับถือศาสนาพุทธ 2 หมู่บ้าน โดยจุดเด่นของตำบลหน้าถ้ำก็คือ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลายแห่ง เช่น วัดถ้ำคูหาภิมุข ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่บนฐานยาว 25 เมตร โดยคาดว่ามีความเก่าแก่กว่า 1,300 ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เป็นสถานที่ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะต้องมาสักการะเมื่อมาเที่ยวที่นี่

      นอกจากนี้ยังมี ถ้ำมืด” โดยที่บริเวณหน้าผาได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์เสด็จประทับแรมที่ถ้ำแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2472 อีกจุดหนึ่งก็คือ ถ้ำศิลป์ ที่ตั้งอยู่สูงขึ้นมาจากถ้ำพระนอน คาดว่าเป็นที่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์ โดยมีร่องรอยของภาพเขียนฝาผนัง แสดงถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลป์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางกรมศิลป์ได้มีแผนในการบูรณะปรับปรุงให้เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อไป

       คุณสุนันท์ มหาสุวรรณ นักท่องเที่ยวจากจังหวัดสงขลา บอกว่า ตนเองและคณะเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดยะลา และ ได้เข้ามาชมวัดถ้ำแห่งนี้ ซึ่งเมื่อมาเที่ยวแล้วพบว่าบรรยากาศไม่เหมือนกับที่เป็นข่าว พอมาสัมผัสที่แห่งนี้จริงๆแล้ว ไม่ความน่ากลัวอย่างที่คิด ประทับใจในสถานที่แห่งนี้ และคิดว่าต้องกลับมาเที่ยว นี้อีกแน่นอน พร้อมฝากเชิญชวนชาวไทยทั้งประเทศเลย ให้มาสัมผัสด้วยตนเอง ว่ายะลายังเป็นเมืองที่น่าอยู่ และคนยะลาอัธยาศัยดีและน่ารักมากด้วย

          สำหรับวัดถ้ำคูหาภิมุขแห่งนี้ ปัจจุบันเป็นแหล่งเที่ยว OTOP นวัติวิถี และเป็นสถานที่ประกอบพิธีในวันสำคัญต่าง ๆ เช่นพิธีห่มผ้าพระนอน และ ห่มผ้าพ่อท่านบรรทม ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ซึ่งจะมีบรรดาลูกหลานและญาติๆ ของชาวตำบลหน้าถ้ำ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนที่สนเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ประเพณีเดือนสิบ ชิงเปรต ประเพณีแก้บน 100 ปี ประเพณีตักบาตรเทโว หากนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สามารถเดินทางได้สะดวกสบายเพราะวัดถ้ำคูหาภิมุข อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาเพียง 7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์เพียง 10 นาที เท่านั้น

-------------------------------

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

อเมซซิ่ง สุไหงโก-ลก ที่คุณต้องสัมผัส!!



      หนีฝุ่นควัน Pm.2.5 มาสัมผัสเสน่ห์ธรรมชาติเมืองชายแดน สูดโอโซนให้ชุ่มปอด แล้วจะรู้ว่า ชีวิตดี๊ดี @ชายแดนใต้ หลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือกรุงเทพ และอีสานกำลังเผชิญปัญหามลพิษจากหมอกควันที่ปกคลุมเป็นบริเวณกว้างซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจการอยู่กับวิกฤตหมอกควันเป็นเวลานานๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคนในครอบครัว ในช่วงปิดเทอมแบบนี้จึงอยากชวนทุกท่านมาเที่ยวจังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง โดยครั้งนี้จะพามาเที่ยวที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส สถานีปลายทางของขบวนรถไฟสายใต้ ที่โดดเด่นในหลายด้าน

        เดินทางไกลสักหน่อยเพราะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ กว่า1,000 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันสามารถเดินทางโดยเครื่องบินทั้งสายบินไทยสไมล์ จากสุวรรณภูมิ และแอร์เอเชียจากดอนเมือง มาลงที่ท่าอากาศยานนราธิวาส จากนั้นต่อรถตู้มาลงที่อำเภอสุไหงโก-ลก หรือหากมีเวลาสักหน่อยก็นั่งรถไฟมากับขบวนรถด่วนหรือรถเร็วกรุงเทพฯ - สุไหงโก-ลก เมื่อสุดปลายทางชายแดนใต้ เสียงประชาสัมพันธ์แจ้งว่า "ที่นี่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลกท่านผู้โดยสารกรุณานำสัมภาระของท่านลงจากขบวนรถไฟให้ครบถ้วน” ท่านก็เพียงแค่หิ้วกระเป๋าแล้วเตรียมสัมผัสความเป็นเมืองสุไหงโก-ลกกันได้เลย จุดแรกขอต้อนรับด้วยบะกุ๊ตเต๋ ที่เป็นหมูต้มเครื่องยาจีนหอมกรุ่นของร้านอ้วน บะกุ๊ตเต๋ เจ้าอร่อยระดับตำนาน ที่เสิร์ฟมาในหม้อดิน ครบเครื่องด้วยหมูชิ้น เครื่องใน และผัก รับประทานกับน้ำจิ้มพริกซีอิ้ว แลปาท่องโก๋ รับรองว่าอิ่มอร่อยจนจุกเพราะให้เยอะมาก รับประทานอิ่มแล้วก็เดินทางต่อไปยังจุดหมายสำคัญของเราที่อยากให้ทุกท่านมาเยือน คือ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีเนื้อที่ประมาณ 120,000ไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอเมือง เพื่อไปสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ด้วยการเดินบนเส้นทางที่เป็นสะพานไม้ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะได้สัมผัสกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์รอบป่าพรุที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หลากหลายพันธ์ กว่า 500ชนิด ทั้งต้นหมากแดงที่มีต้นกำเนิดที่ป่าพรุแห่งนี้เป็นที่แรกของอำเภอสุไหงโก-ลก กะพ้อแดง รวมทั้งสาคู และหลุมพี ที่ปัจจุบันนำมาทำเป็นขนมและเครื่องดื่มไว้ตอนรับผู้มาเยือน และหากโชคดีก็จะได้พบสัตว์ป่าจำพวกนกเงือก ค่างกระรอกสามสี พังพอนกินปู ตะโขง ลิ่น หรืองูหลากหลายสายพันธุ์ หรือแม้กระทั่งหมีหมา ที่มีการบอกเล่ากันว่าเมื่อไม่นานมานี้มีลุงคนหนึ่งได้เข้ามาหาของป่าพรุแล้วหลงอยู่ในป่าถึง 5 คืน 6 วันจนได้มีโอกาสพบกับหมีหมา และระหว่างประจันหน้ากันลุงก็ตะโกนสั่งหมีหมาว่า ไป ไปทางโน้น หลังสิ้นเสียงคุณลุงหมีหมาก็เดินไปตามทางที่ลุงบอก ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ป่าพรุโต๊ะแดงว่าเป็นเรื่องจริงเพราะได้ฟังมาจากลุงด้วยตัวเอง แต่อย่าเพิ่งตกใจหมีหมาอยู่ในป่าลึกที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก เมื่อเดินทางเข้าไปภายในผืนป่าแห่งนี้ท่านจะถูกโอบล้อมด้วยป่าพรุโต๊ะแดง ป่าเดียวน้ำเดียวในแดนดิน หรือ ป่าพรุสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบที่น้ำท่วมขัง และมีการทับถมของใบไม้กิ่งไม้จนแน่นมีสภาพคล้ายผิวดินแต่จะมีความนุ่ม ซึ่งเมื่อลงไปยืนก็อาจยวบตัวลงไปถึงระดับเอวถึงหน้าอก ภายในเขตป่าพรุโต๊ะแดง แม้มีแสงแดดสาดส่องเข้ามา แต่กลับร่มรื่นด้วยร่มเงาของพันธุ์ไม้ที่สูงตระหง่านอายุนับร้อยปี และยังสัมผัสได้ถึงสายลมเย็นที่พัดพาความสดชื่นมาให้ตลอดเวลา จึงสามารถนั่งพักผ่อนอยู่บนที่นั่งบริเวณศาลาที่พักและอาจเผลองีบหลับไปโดยไม่รู้ตัวกับอากาศที่แสนสบายและสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลพิษใดๆเหมือนได้ฟอกปอดให้สะอาดยาวไปหลายปี ซึ่งต้องมาสัมผัสเองจะได้ทราบว่า "เมื่อฉันเดินเข้าป่าเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ ดีต่อใจและปอดอย่างไร" ดังนั้นปิดเทอมนี้ลองเปลี่ยนแผนมาเที่ยวที่ชายแดนใต้อำเภอสุไหงโก-ลก แล้วเข้าสูดอากาศบริสุทธิ์ที่ป่าพรุโต๊ะแดงสักครั้งแล้วจะรู้ว่าต่อไปคงต้องจัดเวลาเพื่อหาโอกาสมาฟอกปอดในผืนป่าแห่งนี้ปีละหลายๆ ครั้ง สำหรับการเข้ามาเที่ยวชมป่าพรุโต๊ะแดงหากเป็นบุคคลทั่วไปสามารถแลกบัตรประชาชนเข้ามาเดินชมได้เลยเพราะตลอดเส้นทางจะมีฐานความรู้และป้ายศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของป่าพรุอย่างครบถ้วน แต่หากมาเป็นหมู่คณะ สามารถแจ้งมาที่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร เพื่อให้น้องๆ วัยใสไกค์ธรรมชาติพาเที่ยวชมพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์วิทยาที่นี่ซึ่งอาจได้ชมการสาธิตการแปรรูปสาคูเป็นขนม หรือได้ลิ้มรสน้ำหลุมพีที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานฝีมือของคนในท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายเพื่อนชาวพรุก็เป็นได้





-------------------------------------

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

เที่ยว “เมอนารา” ได้อะไร (มากกว่าที่คิด)



      ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึกใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน

      จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดที่หลายคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและความเรียบง่ายของประชาชนในท้องถิ่น นราธิวาสมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ เมอนารา ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวมุสลิมเรียกกันติดปาก หากจะกล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาสนั้นมีมากมายที่หลายคนในภูมิภาคอื่นยังไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น พระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ มัสยิด 300 ปี ตะโละมาเนาะ น้ำตกปาโจ มัสยิดกลางจังหวัดนราธิวาส วนอุทยานอ่าวมะนาว ชายหาดนราทัศน์ หมู่บ้านทอน ป่าพรุสิริธร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง วัดเชิงเขาหรือวัดหลวงแดง ฯลฯ นราธิวาสถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณสถาน ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของแต่ละศาสนาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม รวมทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามตระการตา เมื่อคุณได้มาเยือนนราธิวาสบ้านเรา ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใด เราพร้อมใจดูแลคุณได้มาผ่อนคลายกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่สวยงาม


        สถานที่ท่องเที่ยวแรกที่จะแนะนำให้รู้จักนราธิวาสมากขึ้น นั้นคือ หาดนราทัศน์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม หากจะมีคนกล่าวว่า ถ้ามานราธิวาสแล้วไม่มาเที่ยวหาดนราทัศน์ก็เหมือนมาไม่ถึงนราธิวาส ก็ไม่แปลกนักเพราะหาดนราทัศน์เป็นชายฝั่งทะเลที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำบางนรา ทำให้เห็นคลื่นเป็นระรอกๆ เห็นเรือกอและติดเครื่องยนต์มุ่งหน้าไปสู่ทะเลอันกว้างใหญ่ บริเวณหาดนราทัศน์จะเป็นชายหาดที่สวยงามตามธรรมชาติ มีร้านอาหารให้คุณได้ลิ้มรสชาติอีกมาก นอกจากนี้หาดนราทัศน์ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เราจะได้เห็นความสุขของลูกๆหลานๆ ที่กำลังเล่นบนชายหาดหรือกำลังเล่นว่าวลอยบนฟ้า มีชายฝั่งทะเลที่สวยงามมากจังหวัดหนึ่ง ความสุขตรงนี้มันจะทำให้คนหลายคนที่อยู่รอบๆตัวเรามีความสุขไปด้วย สำหรับดิฉันแล้วหาดนราทัศน์ถือเป็นสถานที่ที่ชอบไปแวะ ไปผ่อนคลายอารมณ์หรือยามว่าง เดินเล่นบนชายหาด มองฟ้า มองน้ำ มองเด็กๆ มองทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา สิ่งเหล่านั้นมันทำให้เราได้สติ มีกำลังใจอีกครั้ง


         สถานที่ท่องเที่ยวแหล่งที่สองที่จะแนะนำคือ มัสยิด 300 ปี ( มัสยิดตะโละมาเนาะหรือมัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น) สาเหตุที่เรียกว่า "มัสยิด 300 ปี เพราะเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุด" มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็นเป็นผู้เริ่มก่อสร้างมัสยิดคนแรก และมัสยิดตะโละมาเนาะเพราะนายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี แล้วมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่หมู่บ้านตะโละมาเนาะ เลยเรียกตามที่ตั้งของมัสยิดจนถึงปัจจุบัน ลักษณะเด่นมัสยิดตะโละมาเนาะคือ การผสมผสานสถาปัตยกรรมสามชาติที่แตกต่างจากมัสยิดทั่วไป เป็นอาคาร2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียน  ทั้งหลัง ใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงอาคารเป็นแบบไทยเข้ากับศิลปะจีนและมลายูที่ได้รับการออกแบบอย่างลงตัว มัสยิดตะโละมาเนาะเป็นสถานที่ที่แสดงถึงสถาปัตยกรรม 3 วัฒนธรรมที่เห็นชัดเจนและ ดึกเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมทั้งยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ที่คนนราธิวาสให้ความเคารพนับถือ ปัจจุบันยังใช้เป็นที่แสดงถึงศาสนกิจของชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา ต่างถิ่นหรือต่างประเทศโดยเฉพาะชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ให้ความสนใจและประทับใจกับมัสยิดแห่งนี้


         นอกจากนราธิวาสมีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณสถานแล้ว ยังมีอาหารที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสคือ ขนมอาเกาะเป็นสูตรดั้งเดิมของคุณทวดที่มีความหอมจากเต่าถ่าน ข้าวยำยาโงะที่ชาวนราธิวาสพูดเต็มปากว่า อร่อยจริง ด้วยความอร่อยของข้าวยำยาโงะอยู่ที่เครื่องปรุงที่คัดสรรเป็นอย่างดี สำหรับของฝากที่หลายๆคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือ ข้าวเกรียบปลา(กือโปะ) ติดไม้เป็นของฝากเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น นอกจากขนมของทานเล่นและข้าวยำแล้ว ก็ยังมีลองกอง ลองกองเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องของจังหวัดนราธิวาส ลองกองที่ติดปากผู้บริโภคมากที่สุดคือ ลองกองตันหยงมัสหรือลองกองซีโป เพราะมีรสหวาน หอม อร่อย เราอยากชวนคุณลิ้มลอง รสชาติและคุณจะติดใจ ลองกองบางนราบ้านเรา



------------------------------