วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ท่องเที่ยวปัตตานี กับ 10 สถานที่ต้องห้ามพลาด


ท่องเที่ยวปัตตานี ปัตตานี คือจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพียบพร้อมด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เช่น มัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฯลฯ และพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งผืนป่า สายน้ำ และท้องทะเล นับเป็นอีกจังหวัดที่งดงามด้วยวิถีชีวิตของผู้คนและสภาพภูมิประเทศ สมกับความยิ่งใหญ่ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นอดีตอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์


1 } สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว : ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง ใกล้มัสยิดกรือเซะ มีตำนานเล่าว่าลิ้มกอเหนี่ยวได้ลงเรือสำเภามาตามพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งมาแต่งงานกับธิดาพระยาตานี และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามกลับประเทศจีนไม่สำเร็จ จึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงได้ฝังศพลิ้มกอเหนี่ยวไว้ที่นี่ ต่อมาชาวปัตตานี นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้าขึ้น


2 } มัสยิดกรือเซะ : ตั้งอยู่ริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาสหรือทางหลวงแผ่นดินสาย 42 บริเวณบ้านกรือเซะ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ ๗ กิโลเมตร ลักษณะการก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้เป็นแบบเสากลมก่ออิฐปูนแบบศิลปะทางตะวันออกกลาง ส่วนที่สำคัญที่สุดคือหลังคาโดมซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จมัสยิดเก่าแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสาปแช่งไว้ไม่ให้สร้างเสร็จ บริเวณใกล้เคียงนั้นมีฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.21212136)


3 } หาดวาสุกรี (ชายหาดบ้านปาตาตีมอ) : อยู่ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน การเดินทางจากตัวเมืองปัตตานี ใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส หรืออา จเลือกเดินทางผ่านหาดแฆแฆไปจนถึงอำเภอสายบุรีหรือเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าสู่อำเภอสายบุรีโดยตรงก็ได้ ลักษณะของหาดทรายเป็นแนวยาวขนานไปกับทิวสน


4 } วังหนองจิก : ตั้งอยู่ที่บ้านตุยง ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก เจ้าเมืองหนองจิกคนสุดท้าย คือ พระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์วาปีเขตมุจลินท์นฤบดินทร์ สวามิภักดิ์ (พ่วง ณ สงขลา ) เป็นผู้อยู่อาศัยในวังนี้ ประวัติการก่อสร้างสันนิษฐานว่าอาจสร้างมาตั้งแต่เจ้าเมืองหนองจิกคนก่อน (ทัด ณสงขลา) ก่อนปี พ.ศ.2437 ตัววังที่เหลืออยู่ประกอบด้วยอาคารบริวาร 2 หลังเป็นอาคารชั้นเดียว แต่ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร สำหรับอาคารที่เป็นตัววังนั้น ถูกรื้อถอนไปในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา วังหนองจิกล้อมรอบด้วยกำแพงวัง แถบซุ้มประตูแบบสถาปัตยกรรมจีนภายในบริเวณวังมีบ่อน้ำ แผ่นอิฐปูพื้นขนาด 1*1 ฟุต สภาพยังสมบูรณ์ ส่วนอาคารบริวารที่เหลืออยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก กรมศิลปากรมีโครงการบูรณะในปีงบประมาณ 2543


5 } สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ : ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสวนสาธารณะที่จัดสร้างขึ้นบริเวณริมทะเลสาบแม่น้ำปัตตานีฝั่งซ้าย ไปจนติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสวนป่าชายเลนที่ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับทิวทัศน์สวยงามร่มรื่นจึงมีผู้นิยมไปพักผ่อนกันมาก


6 } วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม : ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไร่ ตำบลทุ่งพลา ริมทางรถไฟสายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระหว่างสถานีนาประดู่กับสถานีป่าไร่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสาย 42 (ปัตตานี-โคกโพธิ์) ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 409 (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชนเทศบาลนาประดู่และศูนย์ฝึกอาชีพ (วัดช้างให้) ไปจนถึงทางแยกเพื่อเข้าสู่วัดช้างให้อีกประมาณ 700 เมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีมาแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของสถูป เจดีย์ มณฑป อุโบสถ และหอระฆัง ที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง


7 } วัดมุจลินทวาปีวิหาร : ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ริมเส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ในเขตสุขาภิบาลอำเภอหนองจิก เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจิกจากที่เก่า มาอยู่ที่ตำบลตุยง เมื่อ พ.ศ. 2388 เดิมมีชื่อว่า วัดตุยงต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองหนองจิก และมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดมุจลินทวาปีวิหารปัจจุบันเป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม

จุดเด่นของวัด คือ วิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ซึ่งประชาชนที่เคยได้ยินคุณความดีของหลวงพ่อ ต่างเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมานมัสการสักการะบูชาอยู่เสมอ


8 } หาดตะโละกาโปร์ : ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอยะหริ่ง ข้ามคลองยามูตามสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ ผ่านพื้นที่สวนป่าชายเลนและหมู่บ้านไปจนถึงทางแยกเข้าสู่หาด รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานี เคยประกวดแหล่งท่องเที่ยว 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ได้ที่ 2 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ประจำปี 2529 หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดทรายขาวสะอาดขนานกับชายฝั่งทะเล มีเรือกอและของชาวประมงจอดอยู่เป็นจำนวนมาก หาดทรายแห่งนี้งอกยาวออกไปเรื่อยๆ เพราะเกิดจากกระแสน้ำพัดเอาตะกอนทรายมาทับถมพอกพูน เหมาะแก่การไปนั่งพักผ่อนชมความสวยงาม มีทิวสนและต้นมะพร้าวให้ความร่มรื่นสวยงาม


9 } มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี : ตั้งอยู่ที่ถนนยะรัง เส้นทางยะรัง-ปัตตานี ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2497 ใช้เวลาดำเนินการสร้างประมาณ 9 ปี และทำพิธีเปิดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบ ศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมีรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลของอินเดีย ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้าง บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้างภายในห้องโถงด้านในมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบ


10 } หาดรัชดาภิเษก : ตั้งอยู่ที่บ้านสายหมอ ตำบลสายหมอ ห่างจากตัวจังหวัดปัตตานีประมาณ 15 กิโลเมตรหรือห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองจิกประมาณ 2 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสนเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน


---------------------

3 ความคิดเห็น:

  1. ที่เด่นๆคือ วัดช้างให้ มัสยิดกลาง และ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แต่ทำไมไม่มีศาลเจ้าแม่ฯน้ำตกทรายขาวอีก ศาลหลักเมืองด้วย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ๆเห็นด้วยน้ำตกทรายขาวถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานีเลย

      ลบ
  2. จริง ๆ แล้วยังมีอีกมากมายนะครับ สถานที่ท่องเที่ยว อาทิ แหลมตาชี(แหลมโพธิ์) อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง สุสานพญาอินทิรา หาดแฆแฆ ศาลหลังเมือง วังเก่าจะบังติกอ วังยะหริ่ง ฯลฯ

    ตอบลบ