วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ปัตตานีบาซาร์ Community mall แห่งเเรกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

          บนเนื้อที่ 12 ไร่ ของ "ปัตตานี บาซาร์" คอมมูนิตี้มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แลนด์มาร์คใหม่ที่รองรับผู้คนได้นับหมื่น ด้วยสไตล์โมเดิร์นลอฟท์ รวมทุกบริการไว้พร้อมสรรพเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว



           "ปัตตานี บาซาร์" เปิดให้บริการ สวนทางภาวะเศรษฐกิจ โครงการนี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ด้วยที่ตั้งในทำเลทองของปัตตานี มีการวิจัยความต้องการของคนในพื้นที่และลูกค้า บริหารโครงการโดยไซนุดดีน นิมา ซึ่งเจ้าตัวบอกเล่าที่มาของการก่อเกิดโครงการนี้ว่า อยากให้มีตลาดที่เป็นจุดพักผ่อนที่ใหญ่ที่สุดของพื้นที่ชายแดนใต้ "ใครมาปัตตานีต้องมาที่นี่" คือประโยคสั้นๆ ง่ายๆ แต่กินความหมายและทรงพลัง



         "เราต้องการความเป็นหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวในความคิด ซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ ความหวังของทุกคนที่ร่วมผลักดันโครงการเป็นไปในทางเดียวกันคือให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์คของปัตตานี เป็นตลาดที่แปลก มาแล้วต้องติดใจ มีร้านค้า ร้านอาหาร ทั้งด้านในด้านนอก เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น นักท่องเที่ยวที่รองรับด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย



           "ปัตตานี บาซาร์" ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างภายใต้หลักคิดที่ว่า ต้องการให้มีพื้นที่ที่ลูกค้าสามารถนั่งได้สบายๆ มี space หรือที่ว่างมากกว่าพื้นที่ขายของ ไม่ใช่แบ่งพื้นที่เพื่อให้ได้ล็อคจำหน่ายสินค้ามากที่สุด เป็นการทำพื้นที่ให้น่าสนใจด้วยการออกแบบภาพรวม คิดวิเคราะห์หาข้อมูลความเป็นไปได้ จากนั้นจึงจัดพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 20,000 ตารางเมตรให้ตรงตามคอนเซปท์มากที่สุด สถาปนิกโครงการ เล่าว่า ออกแบบโดยใช้สัจจวัสดุ โชว์อิฐและเนื้อไม้ กระจก รวมถึงอลูมิเนียม คุมโทนด้วยสีดำและน้ำตาล ฉีกกฎเดิมๆ ของตลาดทั่วไป



         ขณะที่วิศวกรควบคุมของโครงการ บอกว่า มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ลำคลอง​ ฉะนั้นจะไม่ก่อผลกระทบ และไม่ส่งกลิ่นภายในโครงการรวมถึงสิ่งแวดล้อม หากฝนตกหนักสามารถระบายน้ำได้ทัน ห้องน้ำรองรับลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้เป็นพันคน มีกล้องวงจรปิดเพียงพอ และทุกคนจะปลอดภัยจากสายไฟฟ้า เพราะใช้ระบบฝังสายไฟไว้ใต้ดิน




              "ปัตตานี บาซาร์" มี 5 โซนคือ โซนอาหารและเครื่องดื่ม โซนจำหน่ายสินค้า แบรนด์ชอป ซุ้มกลางแจ้ง และลานกิจกรรมรอบน้ำพุโครงการยังมีการวิจัยที่มั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงและบริการลูกค้าได้ทุกกลุ่มบนทำเลทองด้านเศรษฐกิจติดถนน 4 ช่องจราจรของเมืองปัตตานี มีที่จอดรถขนาด 5 ไร่ น้ำพุเต้นระบำกลางลานกิจกรรม จัดซุ้มเช็คอินกังหันฮอลแลนด์ ระบบคิวอาร์โค้ดในการชำระเงิน บริการไปรษณีย์เพื่อแม่ค้าออนไลน์ งดใช้โฟมในร้านอาหารทุกวัฒนธรรม รวมถึงมีกิจกรรมทุกสัปดาห์ นอกจากนั้นยังมีแอพพลิเคชั่นบริการรับส่งฟรีเข้ามาในโครงการ และบริการอื่นๆ อีกจำนวนมาก "ปัตตานี บาซาร์" #ใครมาปัตตานีต้องมาที่นี่ ความสุขที่อยากให้ทุกคนมาสัมผัส แล้วคุณจะรัก ที่นี่ ปัตตานี

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

แคมป์ปิ้งริมแม่น้ำปัตตานี บ้านปายอ ท่าสาป จ.ยะลา

         บ้านปายอ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ที่นี่นอกจากจะเป็นมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานแล้ว ก็ได้มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งนัดรวมตัวขึ้นเพื่อ แคมป์ปิ้งกันริมแม่น้ำปัตตานี



        "ปายอ" หมายถึง พรุซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นสวนยาง เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ในอดีตส่วนหนึ่งของหมู่บ้านจะมีพรุอยู่ ซึ่งชาวบ้านจะนำสัตว์มาเลี้ยงบริเวณนี้ ในฤดูแล้ง เนื่องจากที่อื่นไม่มีน้ำ​ และน้ำจะท่วมในฤดูฝน แต่หมู่บ้านนี้พื้นที่อีกส่วนหนึ่งน้ำท่วมไม่ถึง หมู่บ้านปายอเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2295 หรือประมาณ 300 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีเทศบาลตำบลท่าสาปรับผิดชอบดูแล



          นายมะสดี หะยีปิ นายกเทศบาลตำบลท่าสาป บอกว่า ชื่อเดิมจริงๆแล้ว ชาวบ้านที่นี่จะเรียกว่า ลูโบ๊ะดีแยหรือ พรุ นั่นเอง มี ครัวเรือนอาศัยอยู่ 147 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 810 คน นับถือศาสนาอิสลาม 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำสวนผลไม้ และมีศูนย์การเรียนรู้การผลิตนมแพะอีกด้วย ส่วนอนาคตนั้น หลังจากที่มีกลุ่มเยาวชนได้มารวมตัวกันจัดกิจกรรมกันกัน ก็มองว่า พื้นที่แห่งนี้ควรได้รับการต่อยอดในอนาคต โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ







วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

น่ารัก “อีแมะ” จ๋อแสนรู้ เก็บหมากขายช่วยเจ้าของสวน

         ช่วงนี้เกษตรกรตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจจากการกรีดยางในช่วงเช้า ก็จะมาหารายได้เสริมโดยการรับจ้างแกะหมาก ผ่าหมาก กันเป็นจำนวนมาก ทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างขะมักเขม้นในการทำงาน เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูผลหมากสุก โดยราคาจ้างแกะหมากอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาท ถ้าผ่าหมากเป็นซีกกิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งรายได้ของแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าใครทำได้มากหรือน้อย โดยพ่อค้าจะรับซื้อหมากกิโลกรัมละ 30-40 บาท สร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรตำบลตาชีกันถ้วนหน้า



         แต่การเก็บหมากนั้นแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากต้นหมากมีความสูง ฉะนั้นการเก็บหมากแต่ละครั้งจึงจำเป็นที่ต้องใช้ตัวช่วย ซึ่งก็ขาดไม่ได้ นั่นก็คือ ลิง ตัวช่วยสำคัญในภารกิจเก็บหมาก เพราะคนอย่างเราๆก็ไม่สามารถปีนไปเก็บได้ในจำนวนครั้งละมากๆแบบนี้แน่



        นายควง พลูสวัสดิ์ หรือ ลุงควง อายุ 80 ปี เจ้าของสวนหมาก ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา พาทีมข่าวภาคใต้ชายแดน ลงพื้นที่เก็บภาพบรรยากาศการเก็บหมากที่สวนลุงควง โดยมี อีแมะจ๋อคู่ใจ มาสาธิตวิธีการเก็บหมากในครั้งนี้ ลุงควงบอกว่าเวลาเข้าไปในสวนทุกครั้งจะมี อีแมะ จ๋อคู่ใจ ติดตามด้วยเสมอ  อีแมะเป็นลิงที่เชื่อง สามารถปีนได้ทุกต้นในสวน เวลาปีนเก็บหมากก็จะได้ครั้งละมากๆ  ลุงควงบอกว่าเบาแรงไปเยอะเพราะลุงก็อายุมากแล้วได้อีแมะมาช่วยก็ทำให้เหนื่อยน้อยลง เรียกว่าลุงควงอยู่ไหนอีแมะจะอยู่ที่นั่น  ใครผ่านไปผ่านมาเห็นเป็นคุ้นตาเรียกอีแมะเหมือนคนในครอบครัว


วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รับจ้าง "แกะหมาก" รายได้เสริม ผู้สูงอายุ-ชาวบ้านเจาะกลาดี จังหวัดยะลา

       ในช่วงฤดูที่หมากกำลังให้ผลผลิตจำนวนมาก ชาวบ้านในพื้นที่บ้านเจาะกลาดี หมู่ที่ 8 ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ทั้งที่ว่างงาน ว่างจากทำสวนยาง รับจ้างกรีดยาง ก็จะมารับจ้างแกะหมากที่ร้านรับซื้อหมาก เพื่อหารายได้เสริมไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ถึงแม้รายได้จะไม่มาก วันละ 30-40 บาท แต่ก็ยังสามารถมีเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารในแต่ละวันได้ ซึ่งฤดูหมากก็จะมีเพียงปีละครั้ง และเพียงประมาณเดือนสองเดือนเท่านั้น



        นางสาปีนะ มา ผู้สูงอายุวัย 65 ปี บอกว่า ปกติไม่ได้ทำอะไร รับเงินประชารัฐ ผู้สูงอายุ กรีดยางไม่ไหวแล้ว อยู่ว่าง ๆ พอช่วงฤดูหมากก็จะรับจ้างแกะหมาก ซึ่งจะมีปีละครั้ง โดยจะมีรายได้ วันละ 20-30 บาท ทางเจ้าของให้ค่าแกะ กิโลกรัมละ 3 บาท แล้วแต่แกะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับเรา ส่วนเงินที่ได้ 2 วัน ก็จะเบิกสักครั้งนำไปใช้จ่ายเป็นค่ากินในครอบครัว



        ขณะที่ นางสาวรุสดา เฮมเปีย ผู้รับซื้อหมาก บอกว่า หมากที่รับซื้อก็ซื้อมาจากชาวบ้านแถวตำบลตาชี บ้านเจาะกลาดี ซึ่งนำมาส่งให้โดยจะคัดเป็นลูกแห้ง แกะแล้วดูที่เปอร์เซ็นต์แห้งประมาณไหน หลังจากรับซื้อนำมาแกะ อบ ตากแห้งแล้วก็จะส่งขายได้ราคาประมาณ กิโลกรัมละ 30 บาท มีผู้ซื้อจากอำเภอรามัน มารับถึงที่บ้าน ช่วงนี้หมากมีจำนวนมาก ราคาดี อาจเป็นเพราะราคายางถูก นอกจากจะรับซื้อหมากในช่วงฤดูหมากแล้ว ก็จะรับซื้อส้มแขก ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ตามฤดูกาล อีกด้วย สำหรับหมากนี้ก็จะมีมากตั้งแต่เดือนมกราคม ไปจนถึงเมษายน ถ้าชาวบ้านมาส่งให้ที่บ้านก็จะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 4-6 บาท ถ้าไปขึ้นเองที่ต้นก็จะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 3 บาท



        ส่วนวิธีการทำหมากตากแห้ง ช่วงแรกก็จะต้องนำมาแกะเปลือกออกและผ่า แล้วนำไปตากแดดก่อนจะมาเข้าอบก็เป็นอันเสร็จ ในส่วนของรายได้ก็ดีกว่ายาง ซึ่งตามปกติก็จะทำสวนยางด้วย เช้ากรีดยางแล้วก็มาเปิดร้านรับซื้อหมาก ทำหมากตากแห้งส่งขายเป็นรายได้เสริมในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ก็อยากให้หมากราคาดีตลอดไป เพราะยางตอนนี้ไม่สามารถพึ่งอะไรได้มาก ต้องหาอาชีพเสริมทำ




         นางสาวรุสดา เฮมเปีย ยังบอกอีกว่า นอกจากจะเป็นผู้รับซื้อหมากแล้ว ก็ยังได้ช่วยเหลือให้ชาวบ้านในละแวกนี้ ที่อยู่ว่าง ๆ ต้องการหารายได้เสริมหลังกรีดยางมารับจ้างแกะหมากด้วย ก็จะมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ ๆ กรีดยางไม่ไหวก็จะมารับจ้างนั่งแกะหมาก ผ่าหมาก ราคาจ้างค่าแกะ กิโลกรัมละ 3 บาท ถ้าผ่าหมากเป็นซีกจะให้ กิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนรายได้ของแต่ละคนจะไม่ท่ากัน แล้วแต่ใครทำได้มากได้น้อย

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ล่องเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน ชุมชนบางปูจังหวัดปัตตานี

          ชุมชนบ้านบางปู หมู่ที่ 3 ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านที่ติดกับอ่าวปัตตานี ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง โดยอาศัยบริเวณป่าชายเลนเป็นแหล่งทำกิน ปัจจุบันมีการทำอาชีพค้าขาย และรับจ้างทั่วไปเพิ่มขึ้น ชุมชนยังมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการท่องเที่ยวล่องเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน ลอดอุโมงค์โกงกาง ตกปลา และเก็บหอย ชมนกนานาชนิดที่บินกลับรัง ในยามเย็น และในคืนเดือนแรม นักท่องเที่ยวจะพบเห็นหิ่งห้อยบินว่อนบริเวณชายป่าเป็นภาพธรรมชาติ ที่หากพบเห็นจะรู้สึกถึงความสุขอย่างแท้จริง นอกจากความเป็นธรรมชาติที่มีความสวยงาม สิ่งที่เป็นจุดเด่น คือ ผู้คนในชุมชน มีความใสบริสุทธ์ มีความมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตน ตามแนวคิดเชิงสร้างสรรค์



        โดยชุมชน คำนึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี ความเท่าเทียมและเป็นธรรม ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในเชิงสร้างสรรค์ มีกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในชุมชน มีกระบวนการทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ยึดความพึงพอใจ ของผู้มาเยี่ยมเยือนเป็นสำคัญ  ชุมชนบางปูวันนี้ มีจุดยืนที่แน่วแน่ ในการรักษาธรรมชาติที่สวยงาม มุ่งมั่นพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน สัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้านรสเด็ด ตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนเป็นระบบ เพื่อสร้างอาชีพรายได้ให้ชาวบ้านเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายและสื่อมวลชนที่จะนำเรื่องราวดี ๆข้อมูลทางประเพณีวัฒนธรรม ชีวิตของชุมชน และความรู้สึกหวงแหนพื้นที่ เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ



         เฉลิมศิลป์ ปิ่นเพ็ชร์ นักท่องเที่ยว ที่ได้ไปที่บ้านบางปู​ บอกว่าตอนแรกมาก็มีความรู้สึกเหมือนคนอื่น ๆ มีความรู้สึกเกร็ง ๆ ว่ามันจะเป็นอย่างไร มีอะไรตามภาพข่าวหรือเปล่า แต่พอมาแล้วรู้สึกประทับใจ  ภาพที่เราคิดกับที่เราได้ยินตามภาพข่าวมันคนละเรื่องกันเลย มีความแตกต่างกันมาก รู้สึกอบอุ่น การต้อนรับของชาวบ้านดี สถานที่ท่องเที่ยวสวยมาก เป็นอันซีนจริง ๆ พวกเราเพิ่งรู้ว่า ที่นี่สวยงามขนาดนี้ ไม่เคยเห็นมาก่อน ตื่นตาตื่นใจกันมาก อยากจะบอกว่าน่าเสียดายมาก สำหรับคนที่พลาดโอกาสไป มาเถอะสุดยอดจริง ๆ






วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สะพานข้ามกาลเวลา​ เขตข้ามกาลเวลาหินสองยุค จ.สตูล

         สะพานข้ามกาลเวลา หรือเขตข้ามกาลเวลา ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นแหล่งที่มีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยา คือเป็นบริเวณที่พบรอยสัมผัสของหินที่มีอายุแตกต่างกัน สองยุค คือหินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน อายุประมาณ 541-485 ล้านปี และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน อายุประมาณ 485-444 ล้านปี


          โดยรอยสัมผัสของหินดังกล่าวเกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลก มีความชัดเจนมาก สามารถ สังเกตเห็นได้ง่าย มีคุณค่าทางวิชาการสมควรที่จะอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา และจากการ ดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา​ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตข้ามกาลเวลา ณ ปัจจุบันเขตข้ามกาลเวลาได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เชิงธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดสตูล นอกจากสตอรี่เรื่องของกาลเวลาแล้ว ทัศนียภาพของเขาโต๊ะหงาย ยังสวยงาม เป็นหน้าผาสูงชันและท้องทะเลสุดลูกหูลูกตา ทางอุทยานหมู่เกาะเภตราจึงได้สร้างสะพานเดินรอบเขาโต๊ะหงายด้านที่ติดทะเล มีจุดชุมวิว และมุมถ่ายรูปสวยๆ หลายจุด ที่สำคัญเป็นแลนด์มาร์คชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามอีกด้วย


          นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อเข้าพัก หรือกางเต็นท์ ในบริเวณอุทยานได้อีกด้วย สามารถสัมผัสทั้งธรรมชาติอันสวยงาม และได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ไปพร้อมกัน


        สะพานข้ามกาลเวลาตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีพื้นที่เป็นภูเขาที่อยู่ติดกับทะเลอันดามัน เนื่องจากเป็นเขตอุทยาน การเข้าไปจึงมีค่าบริการเข้าอุทยาน ดังนี้
นักท่องเที่ยวชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท และเด็ก 10 บาท
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท และเด็ก 100 บาท
ยานพาหนะ (รถยนต์) 20 บาท รถจักรยานยนต์ไม่คิดค่ายานพาหนะ
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุทยานธรณีสตูล โทรศัพท์: 063 465 4924 เว็บไซต์: satun-geopark.com