วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ตลาดนัดสะพานยาว ห้อยขา กินลม ชมทุ่ง @นราธิวาส

       “ห้อยขา กินลม ชมทุ่งสโลแกนที่ให้ความรู้สึกได้ถึงความเรียบง่าย ชิลๆ สบายๆของที่นี่ ตลาดนัดสะพานยาวตลาดนัดใกล้ตัวเมืองนราธิวาส ที่พาดผ่านกลางทุ่งนาบริเวณริมถนนเส้นทางจากหมู่ที่หนึ่งไปหมู่ที่แปดความยาวประมาณ 480 เมตรตามโครงการสะพานยาวร่วมใจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สถานที่สำคัญในท้องถิ่นให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดทั้งเพิ่มสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่



         แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าจากเดิมที่สะพานไม้ทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านภายหลังการปรับปรุงแล้วเสร็จจะได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมากมาใช้พื้นที่บริเวณสะพานยาวแห่งนี้ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งเป็นสถานที่ที่ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ และนับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการต่อยอดเป็นตลาดนัดสะพานยาวเพื่อให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า มีการคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพเข้าร่วมจำหน่ายในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ด้วยราคาที่เป็นธรรม ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่มาจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งนับว่าเป็นผลดีในการกระจายรายได้สู่ชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง



         สำหรับผู้คนในนราธิวาสแล้วที่นี่ถือได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ด้วยมนต์เสน่ห์ของบรรยากาศสีเขียวสบายตาของธรรมชาติที่แวดล้อม ตัดกับสะพานเดินเท้าที่มีความยาวไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวที่อื่นๆ  จัดเป็นอีกหนึ่งสถานที่เที่ยวชมวิวพักผ่อนสบายๆของจังหวัดนราธิวาสที่เราอยากให้คุณได้มีโอกาสแวะไป และโดยเฉพาะช่วงตลาดนัดจะมีอาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นเมือง ผักสด สินค้าจากชาวบ้าน ชาวสวนมาวางจำหน่ายกันเพียบ ราคาติดดินอิ่มกันได้ทั้งครอบครัวแบบสบายกระเป๋า ทั้งเมนูไทยพุทธ - มุสลิม

ตลาดนัดเปิดวัน เสาร์ - อาทิตย์ 16:30 น. - 20:00
ที่ตั้ง : หมู่ที่ 8 บ้านโคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส (หลังหอประชุม สำนักงานอธิการ มนร.)
พิกัด : https://goo.gl/maps/pfwpcThm5XF8pinR6




วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

มนต์เสน่ห์แห่งอาหาร รสชาติ บรรยากาศ และความประทับใจ” ร้าน Once Eatery จังหวัดยะลา

        หากพูดถึงจังหวัดยะลานอกจากจะเลื่องชื่อในเรื่องของผังเมืองซึ่งสวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว อาหารท้องถิ่นพื้นบ้านก็นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ตรึงตราตรึงใจให้กับผู้คนที่มีโอกาสแวะเยือนเมืองยะลา รีวิวนี้เราจึงมีความภูมิใจนำเสนอร้านอาหารร้านหนึ่งในตัวเมืองจังหวัดยะลาที่รวบรวมมนต์เสน่ห์อาหาร รสชาติ ความเป็นอัตลักษ์แห่งอาหารเมืองยะลา ซึ่งใครได้มีโอกาศมาสัมผัสเป็นต้องร้องว้าว ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ อาคาร สถานที่ รูปแบบการตกแต่งร้าน และโดยเฉพาะรสชาติของอาหารในทุกเมนู สำหรับที่ร้านแห่งนี้  “ONCE EATERY by ประเทือง



         ร้าน  ONCE EATERY by ประเทือง  มีที่มาจากร้านอาหารชื่อดังดั้งเดิมของเมืองยะลาที่ชื่อว่า ร้านประเทืองจากรุ่นคุณแม่ที่เปิดมาแล้วกว่า 30 ปีจนถึงรุ่นลูกในปัจจุบันที่บริหารงานโดย คุณนิว กรวิทย์ จงกลพืช และ คุณแนน  ปัญญาภัสส์ จงกลพืช 2พี่น้องที่ช่วยกันสานต่อร้านอาหารของคุณแม่ และนำเอาแนวคิดการรีโนเวทร้านปรับโฉมใหม่ให้มีความน่าสนใจโดยผสมผสานระหว่างความสมัยใหม่ สอดแทรกมนต์เสน่ห์ความเป็นเมืองยะลาลงไปในทุกรายละเอียดของร้าน โดยยังคงเมนูอาหารรสชาติดั้งเดิมที่ขึ้นชื่อไว้เป็นหลักพร้อมเสริมเมนูอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่เพื่อรองรับลูกค้าคนรุ่นใหม่ไว้เช่นกัน



         ผนังด้านหน้าร้านที่กรุด้วยวัสดุพื้นสีน้ำตาลอ่อนรองรับโลโก้สัญลักษณ์ร้าน “ONCE EATERY by ประเทืองนับเป็นสัมผัสแรกที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เมื่อมาถึงบริเวณด้านหน้าร้านแห่งนี้ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของอารมณ์ความรู้สึกที่คุณจะต้องว๊าว!! ในทุกสัมผัสเมื่ออย่างกรายเข้าสู่บรรยากาศด้านในร้าน ที่สุดแสนจะประทับใจ นับตั้งแต่อาคารด้านหน้าซึ่งถูกจัดเป็นมุมเบเกอรี่และกาแฟสด รวมทั้งขนมไทยในบรรยากาศที่ดูทันสมัยหรูหราน่านั่งสุดๆ และสำหรับลูกค้าที่มากันเป็นคณะใหญ่ๆที่นี่ก็ยังมีส่วนบริการชั้นสองที่กว้างขวางโอ่โถงไว้รองรับอีกด้วย เมนูแนะนำสำหรับโซนนี้ที่มาแล้วต้องสั่งให้ได้ก็คือ  เค้กหม้อแกงเผือก น้ำมะม่วงเบาปั่น และชาเขียวถั่วแดง ที่สำคัญเตรียมกล้องไปให้พร้อมเพราะมุมถ่ายรูปเยอะมากๆการตกแต่งที่นำเอาผังเมืองยะลามาตกแต่งติดผนังโดยการนำเอาเหล็กดัดทำเป็นรูปผังเมืองยะลาสวยงามมาก และรวมไปถึงโคมไฟกรงนกที่บ่งบอกถึงความเป็นยะลาเบิร์ดซิตี้ ที่ตกแต่งแล้วดูลงตัว สายโซเชี่ยลห้ามพลาด



        ตอนกลางของร้านซึ่งเป็นพื้นที่อีกโซนหนึ่งที่มีความโดดเด่นน่านั่งมากๆ ด้วยลักษณะเป็นลานกว้างเปิดโล่งบริเวณด้านหน้าเรือนไม้ มุมนี้เป็นมุมที่เหมาะกับการทานอาหารช่วงเย็นๆฟังเพลงคลอเบาๆ ทานมื้อเย็น กับครอบครัวคนรักคนรู้ใจได้อารมณ์อบอุ่นดื่มด่ำกับธรรมชาติไปอีกแบบ และโซนสุดท้ายของร้านก็คือโซนใต้ถุนอาคารเรือนไม้โบราณ โซนนี้จะตกแต่งโต๊ะด้วยผ้าปาเต๊ะ ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ และประดับประดาฝาผนังร้านไปด้วย ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับเมืองยะลาในอดีตและพระฉายาลักษณ์ของราชวงศ์ไทยที่เคยเสด็จเยือนจังหวัดยะลาในอดีตที่หาดูได้ยาก และการตกแต่งแบบวินเทจ ซึ่งโซนนี้จะเป็นอีกโซนที่ให้ลูกค้าจะได้อิ่มเอมกับทั้งอาหารตา พร้อมเมนูอร่อยและความประทับใจในทุกสัมผัสของที่นี่ เรียกได้ว่าสำหรับร้านนี้ ถ้าจะให้คะแนนก็ต้อง 10 บวกๆไปเลย



        ในส่วนของเมนูอาหารขึ้นชื่อของร้านระดับ Signatureก็คือ เมนู ซุปเป็ดซึ่งเป็นเมนูที่สูตรสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ รวมทั้ง แกงเทโพ เซทบูดูทรงเครื่องผักสด/ผักลวก  และอาหารพื้นถิ่นที่หากินได้เฉพาะพื้นที่ เช่น ไก่กอและ นาซีดากังหรือ นาซิดาแฆ ตูปะซูตงหรือปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียมต้มกะทิน้ำตาลปี๊บ ซึ่งเป็นเมนูที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน พร้อมเมนูอาหารอร่อยตำหรับเมืองใต้อย่างแกงส้ม ต้ม ผัด แกง ทอดครบเครื่องเรื่องอาหารคาว-หวาน-เครื่องดื่ม จึงไม่แปลกที่ถ้าบอกว่าหากคุณมายะลาแล้วไม่ได้มาทานร้านนี้เหมือนมาไม่ถึงยะลา พลาดด้วยประการทั้งปวงนะจ๊ะ... แนะนำพกกล้อง พกมือถ่ายภาพเตรียมเมม เคลียร์พื้นที่เก็บภาพสวยๆ เผื่อไว้เยอะๆด้วย


วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

แหลมตาชี ปัตตานี อัญมณีแห่งปลายด้ามขวาน

       "ในวันที่ท้องฟ้าโปร่งใสไร้เมฆหมอกมาบัง สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ดวงโตโผล่จากใต้ท้องทะเลขึ้นมาตัดเส้นขอบฟ้ากว้าง และตกลงอีกฝั่งในยามเย็น โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปไหน"



      จังหวัดปัตตานี ได้มีการจัดกิจกรรมสำคัญที่แหลมตาชี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายกเทศบาลเมืองปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน พลังมวลชนชาวปัตตานี ร่วมกิจกรรมเปิดตัวแหลมตาชี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ในกิจกรรม แสงแรกฟ้าที่แหลมตาชีเพื่อพัฒนาแหลมตาชีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และนักลงทุนเข้าสู่ จ.ปัตตานี



        โดยมีกิจกรรมการเดิน-วิ่ง แหลมตาชี มินิมาราธอน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกว่า 1 พันคน บนระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกสาขาอาชีพ รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการมาสัมผัสบรรยากาศความสวยงามของแหลมตาชี ตามที่มีการประชาสัมพันธ์ และยังมีกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ



       การแข่งขันฟุตบอลชายหาด โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันจากทั้ง 12 อำเภอ และกิจกรรมประกวดภาพถ่ายแหลมตาชี มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดแล้วกว่า 70 ผลงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยภาพแต่ละภาพบ่งบอกถึงความสวยงามของธรรมชาติ รวมไปถึงวิถีชีวิตชาวประมงแห่งท้องทะเลแหลมตาชี


          นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า แหลมตาชี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ถือเป็นความมหัศจรรย์บนปลายด้ามขวาน เป็นจุดชมพระอาทิตย์แสงแรก และแสงลับขอบฟ้า ณ แห่งเดียวของประเทศ และมีชายหาดที่สวยงาม ถือเป็นอัญมณีแห่งท้องทะเลอ่าวไทย จึงได้ส่งเสริมการรับรู้ให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามวาระจังหวัดให้ประชาชนชาวปัตตานี มีอาชีพ และรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จึงขอเชิญชวนประชาชน และนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสมหัศจรรย์ แสงแรกฟ้า...ที่แหลมตาชี

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กลุ่มประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส จังหวัดนราธิวาส

         วิถีของกลุ่มประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส ที่ได้เป็นตัวอย่างในการจัดตั้งสหกรณ์ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันเองของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมมือกับภาครัฐในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง และขจัดปัญหา IUU Fishing จนสามารถพัฒนาต่อยอดจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประเภทประมงแห่งเดียวของจังหวัดนราธิวาส



           นายมุสตอปา เซ็ง ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส จำกัด เล่าให้ฟังว่า ชาวประมงพื้นบ้านใน 2 หมู่บ้าน คือบ้านเขาตันหยงกับบ้านตือลาฆอปาลัส ได้รวมกลุ่มกันเองเมื่อปี 2553 ภายใต้แนวคิดว่าทำอย่างไรให้มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ คือต้องไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย และไม่ให้คนอื่นเข้ามาทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ ประกอบกับเมื่อปี 2558 รัฐบาลได้ออกมาตรการการขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ส่งผลดีต่อทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นตัวกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสหกรณ์ประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส จำกัด อยู่ที่เลขที่ 33/2 หมู่ที่ 11 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส ปัจจุบันมีสมาชิก 58 ราย “…ที่ผ่านมามีการทำประมงอวนลาก เมื่อรัฐบาลมีการปราบปรามโดยเฉพาะเครื่องมืออวนลากและอวนรุน ทำให้จนถึงวันนี้สัตว์น้ำมีอุดมสมบูรณ์ มีการตั้งกฎของหมู่บ้านหยุดทำประมงเป็นบางวัน ยกเว้นเรือพาย เรือเล็ก ๆ ออกได้ ส่วนที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยพี่น้องชาวประมงและตั้งเป็นสหกรณ์ให้มีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพประมง...



          ขณะที่นายประพัฒน์พงศ์ ทักษิณสัมพันธ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมงสำนักงานประมงจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ทางกลุ่มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการช่วยขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการระเบิดจากข้างในมาปรับใช้ มีการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวประมงในพื้นที่แล้ว ทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงประโยชน์ด้านอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ประมงพื้นบ้านขึ้น

         นายอับดุลรอยะ อาแว รองประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส จำกัด กล่าวเสริมว่า การที่ชาวประมงพื้นบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ส่วนการจัดตั้งสหกรณ์ประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส จำกัด มองว่าจะช่วยทำให้กลุ่มชาวประมงมีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้



        โดยนายชนะ อมรวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า สหกรณ์ประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส จำกัด ในขณะนี้เป็นสหกรณ์ประเภทประมงแห่งเดียวของจังหวัดนราธิวาส จัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อช่วยเหลือกันในการประกอบอาชีพทำการประมง ทั้งการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ รวบรวมผลิตภัณฑ์ กุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก ไปจำหน่าย “...ไม่เฉพาะชาวประมง เกษตรกรไม่ว่าจะทำสวน ทำไร่ ทำนา ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันทำให้มีอำนาจในการต่อรอง ทั้งการซื้อและขาย ซึ่งการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ดีกว่ากลุ่มรูปแบบอื่น เพราะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สามารถดำเนินกิจกรรมได้หลากหลาย มีหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยดูแล สนับสนุน ส่งเสริม...



           สหกรณ์ประมงพื้นบ้านตือลาฆอปาลัส จำกัดแห่งนี้ มีจุดเด่นหลายอย่าง แต่ทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาต่อยอด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ที่สำคัญต้องสนับสนุนให้กลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่อีก 12 แห่ง ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์เช่นเดียวกับที่นี่ เพราะสหกรณ์ส่งเสริมให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ให้สมาชิกรู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กฐินมหากุศล แห่งเมืองพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้

         ความงดงามแห่งเมืองงามสามวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี ในช่วงหลังจากวันออกพรรษา ซึ่งในระยะเวลา ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ หรือจำง่าย ๆ ว่าตั้งแต่วันตักบาตรเทโวจนถึงวันลอยกระทง เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า " กฐิน " และช่วงนี้เองพุทธศาสนิกชนในจังหวัดปัตตานี ก็พร้อมใจกันจัดพุ่มกฐิน เพื่อร่วมทำบุญ สืบสานพุทธศาสนา สืบสานประเพณีอันดีงามร่วมกัน เพราะบุญกฐิน ถือว่าเป็นบุญใหญ่ที่ต้องทำร่วมกันให้ได้ เพราะแค่ปีละ 1 ครั้ง



        คุณกัลยา ชัยณรงค์ เป็นหนึ่งศาสนิกชน ผู้ที่รวมกลุ่มเพื่อนๆ ทั้งชาวบ้านและจากหน่วยงานที่ได้รวมตัวกันจัดพุ่มกฐิน สรรหาจตุปัจจัย กระทั่งร่วมกันจัดทำอาหาร เพื่อจะนำมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาส และนำมาจัดเลี้ยงแก่พุทธศาสนิกชนที่พร้อมใจกันมาร่วมถวายกฐิน ที่จะเข้ามากันเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมกันทำมหากุศลให้ได้ ณ วัดขจรประชาราม อำเภอเมืองปัตตานี



         การทอดกฐินถือเป็นการทำบุญพิเศษที่ทำได้เพียงปีละครั้ง โดย อานิสงส์ หรือผลดีจึงมีหลายประการ คือได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่ ได้ชื่อว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างกุศลจิตแก่ผู้ทำบุญเพราะทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งการทอดกฐินยังก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาศาสนสถานและศาสนวัตถุให้ยั่งยืนต่อไป



        วัดในจังหวัดปัตตานี มี 83 วัด มีพระอารามหลวง 2 วัด วัดราษฏร์ 81 วัด วัดขจรประชาราม อำเภอเมืองปัตตานี เป็นวัดเล็กๆ ที่อยู่ห่างออกจากตัวเมืองมาเล็กน้อยและมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมปฏิบัติธรรมอยู่เนืองๆ อีกทั้งโดยรอบวัด มีชุมชนพี่น้องชาวไทยมุสลิม อยู่รายรอบ ซึ่งเป็นความงดงามที่ลงตัวของการอยู่ร่วมกันในความเป็นเมืองงามสามวัฒนธรรม เมืองแห่งพหุวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี





วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

๒๓ ตุลาคม “วันปิยมหาราช” พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย



        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในเวลาต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ตามลำดับ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ เสด็จสวรรคต ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓




          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน อาทิ ทรงยกเลิกระบบไพร่ ระบบทาส ทรงยกเลิกธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย ส่งเสริมการศึกษา โดยจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ให้ราษฎรได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน ทั้งทรงปฏิรูปการปกครองการบริหารแบบใหม่ แบ่งงานต่างๆ ออกเป็นกระทรวง จัดการปกครองหัวเมืองให้มีประสิทธิภาพ ทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเกษตร การอนามัย การสาธารณูปโภค มีการสร้างถนน ทางรถไฟ การใช้โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา





         ตลอดรัชสมัยได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ประเทศและประชาชนชาวไทย ทำให้ทรงเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนยิ่ง



         ในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ ๔๐ พรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ประชาชนจึงร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และถวายพระราชสมัญญานามว่า พระปิยมหาราชหรือ พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์



         เมื่อเสด็จสวรรคตไปแล้ว ประชาชนยังคงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี รัฐบาลและประชาชนได้พร้อมใจกันให้เป็น วันปิยมหาราชเพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์