วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ซอบรี นักกีฬาปันจักสีลัต คว้าเหรียญทองซีเกมส์ที่มาเลย์...นักกีฬามือดีจากชายแดนใต้





ขอแสดงความยินดีน้องซอบรี เจะนิ นักกีฬาปันจักสีลัต ทีมชาติไทย ชาวตำบลสะดาวา อำเภอยะรัง ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย, จังหวัดปัตตานี, และพี่น้องชาวอำเภอยะรัง ที่ชนะเลิศคว้าเหรีญทองเหรียญแรก ประเภทกีฬาปันจักสีลัต ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ณ ประเทศมาเลเซีย

บุกไปร่วมกันแสดงความยินดีกับครอบครัวน้องซอบรีที่ บ้าน ม.6 ต.สะดาวา อ.ยะรัง สำหรับน้องซอบรีฯ จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันนี้ 31 ส.ค.60 และมีโปรแกรมจะต้องไปแข่งขันกีฬารายการอื่นต่อที่ จ.สุพรรณบุรี  โดยจะเดินทางกลับมาบ้านที่ ต.สะดาวาอำเภอยะรังในวันที่ 11 ก.ย.60 ที่จะถึงนี้ 







ประวัติของน้องซอบรี มีพี่น้องทั้งหมด 13 คน เรียนจบประถมฯที่ ร.ร.บ้านบากง ม.6 ต.สะดาวา อ.ยะรัง
จ.ปัตตานี แล้วก็ไปเรียนสายพลศึกษาต่อที่ จ.ยะลา

ประวัติด้านกีฬาเก่งมากๆ เคยชนะการแข่งขันมามากมาย ได้เหรียญทอง ได้ใบประกาศ จำนวนมาก
ก่อนจะมาคว้าเหรียญทอง กีฬาปัจจักสีลัต  ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซีย ครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นแบบที่ดีที่สุดยอดมากให้กับเยาวชนลูกๆหลานๆ ทุกคนค่ะ

OTOP เทพา วอคกิ้งสตรีท

ในพื้นที่ อ.เทพา ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ได้แก่การทำสวนยาง การทำสวนผลไม้ นาข้าว พื้นที่เกษตรเชิงอนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งที่ติดกับอ่าวไทย พื้นที่เกษตรเชิงอนุรักษ์นี้ จะรวมพื้นที่ที่เป็นเขตพัฒนาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์และเขตพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ชาวประมงขนาดเล็กในบริเวณหมู่บ้านชาวทะเลและเป็นหมู่บ้านยากจน เกณฑ์เฉลี่ย จปฐ. ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น พาณิชยกรรมส่วนใหญ่เป็นการค้าขายแบบปลีก สินค้าอุปโภค บริโภค และผลิตผลทางการเกษตร
อาชีพการจักรสานเป็นอาชีพหนึ่งที่ชาว อ.เทพา สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรษ สร้างรายได้รุ่นต่อรุ่นจนมาถึงปัจจุบัน


นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชจังหวัดสงขลา เยี่ยมเยียนกลุ่มหัตถกรรมก้านจาก บ้านนาเกาะ หมู่ที่ 4 ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็น กลุ่มแม่บ้านที่ได้รวมตัวกันนำก้านจากที่เหลือจากผลิตใบจาก ซึ่งปกติจะเผาทิ้ง นำมาจักสานประดิษฐ์เป็นภาชนะต่างๆ โดยมีวิทยาลัยชุมชนสงขลา เข้ามาให้ความรู้และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ แนะนำให้ไปลงทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และประสานให้นำผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสาน และผลิตภัณฑ์อื่นจากต้นจากไปทดลองจำหน่ายในงานหาดใหญ่ วอคกิ้งสตรีท ในนามผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่ม



        พื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา นั้น เป็นป่าชายเลน มีต้นจากขึ้นจำนวนมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนยาง และอาชีพประมง อาชีพเสริม คือ การลอกใบจากขาย ในการขายใบจากนั้นชาวบ้านจะขายเฉพาะใบจากส่วนดีซึ่งนำไปห่อยาสูบใช้สูบ ส่วนก้านจากเป็นส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทิ้งเป็นขยะ บางครั้งก็นำไปซ้อนทับกันรองเป็นทางเดินในบริเวณที่น้ำทะเลขึ้น การประกอบอาชีพทำสวนยางจะใช้เวลาช่วงเช้าจนเที่ยงก็เสร็จภารกิจ ช่วงบ่ายมีเวลาว่าง ประกอบกับมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านมีความรู้ด้านการจักสานก้านจาก ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ



       นางวันนิดา หมะหมุ ประธานกลุ่มก้านจากบ้านนาเกาะ กล่าวว่า พื้นที่ หมู่ที่ 4 มีต้นจากจำนวนมาก กลัวว่าภูมิปัญญาการจักสานก้านจากจะสูญหาย จึงรวมกลุ่มกันเรียนรู้การจักสานก้านจาก เริ่มแรกก็เรียนการจักสานเสวียนหม้อซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยชุมชนจัดหาวิทยากรมาจาก จังหวัดตรังเข้ามาสอน ในการจักสานก้านจากในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระจาด เสวียน ตะกร้าก้นลึก ตะกร้าก้นตื้น กล่องเช็ดชู่ แจกันดอกไม้ จนถึงปัจจุบัน







อ.กาบัง จ.ยะลา จัดเทศกาลพืชผลทางการเกษตรและวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ยกระดับราคาไม้ผล


อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา เปิดพื้นที่ให้คนภายนอกได้รู้จัก จัดงานเทศกาลพืชผลทางการเกษตรฯ ยกระดับราคาไม้ผล กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว พร้อมสร้างความปรองดองสมานฉันท์

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ (30 ส.ค. 60) ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอกาบัง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ปลัดจังหวัดยะลา เปิดงานเทศกาลพืชผลทางการเกษตรและวัฒนธรรม อำเภอกาบัง ประจำปี 2560 พร้อมมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดประเภทต่างๆ ซึ่งกิจกรรมงานเทศกาลพืชผลทางการเกษตรฯ อำเภอกาบัง โดยนายมนูญ พรหมน้อย นายอำเภอกาบัง ร่วมกับทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี และความปรองดองสมานฉันท์ของคนในพื้นที่อำเภอกาบัง เป็นการยกระดับคุณภาพไม้ผลและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ให้เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนในการระบายผลไม้ และประชาสัมพันธ์ของดีอำเภอกาบัง อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างความสุข ความบันเทิงให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้สนุกสนาน และสามารถจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญยังเป็นการผลักดันงานเทศกาลพืชผลทางการเกษตรและวัฒนธรรม อำเภอกาบัง เป็นเทศกาลประจำปีของอำเภอกาบัง ทุกปีตลอดไป






สำหรับกิจกรรมในงานมีการประกวดพืชผลทางการเกษตร การประกวดไม้กวาดดอกหญ้า การประกวดกระเช้าผลไม้ การประกวดการทำตูปะ การประกวดซุ่มของแต่ละหมู่บ้าน ฯลฯ รวมทั้งการประกวดขูดมะพร้าว ประกวดส้มตำลีลา การแสดงดีเกฮูลู การแสดงซีละ การแสดงมโนราห์ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การประกวดธิดาชาวสวน สีสันชายแดนใต้ จ.ยะลา



บรรยากาศการประกวดธิดาชาวสวน ภายในงานมหกรรมผลไม้และของดีเมืองยะลา ประจำปี 2560 ในรอบชิงชนะเลิศ มีสาวงาม 19 คน ที่ผ่านเข้ารอบ จากผู้สมัครทั้งหมด 40 คน ได้ร่วมประชันความงาม เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 27 ส.ค. 60 ซึ่งผลการประกวด ชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวพิมพ์วลัญช์ จันพิริยะ ผู้เข้าประกวดหมายเลข 5 หอการค้าจังหวัดยะลา ส่งเข้าประกวด ได้รับเงินรางวัลชนะเลิศ จำนวน 40,0000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล มงกุฎ สายสะพาย รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวสกาวรัตน์ สนิทชาติ ผู้เข้าประกวดหมายเลข 28 อำเภอบันนังสตา ส่งเข้าประกวด ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล สายสะพาย รองชนะเลิศ อันดับ 2 นางสาวนารีรัตน์ รสหวาน ผู้เข้าประกวดหมายเลข 22 องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ส่งเข้าประกวด ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล สายสะพาย




      ผู้มอบรางวัลให้กับสาวงามที่ได้รับตำแหน่ง นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนางนฤมล พัฒนรัฐ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา/ประะธานกรรมการ การตัดสินการประกวดธิดาชาวสวน ประจำปี 2560 โดยมีส่วนราชการ เอกชน และพี่เลี้ยงสาวงาม สร้างสีสัน และบรรยากาศภายในงานเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ธิดาชาวสวนและรองทั้ง 2 ตำแหน่ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี โดยทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์จังหวัดยะลา พร้อมทั้งการช่วยเหลืองานสาธารณกุศล และงานสังคม ในโอกาสต่างๆ ของจังหวัดยะลา 








แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความเป็นไทย

    ประเทศไทยมีวิวัฒนาการในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลายาวนาน 
มีเอกลักษณ์ของสังคมไทยเป็นลักษณะเด่นแตกต่างจากสังคมอื่น เพราะคติธรรมในการพูดการกระทำ รักสงบ อ่อนน้อมถ่อมตนความมีน้ำใจ จนได้รับความชื่นชมจากต่างชาติ ถึงแม้มีอธิพลของต่างชาติเข้ามาผสมผสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแต่ก็ได้เลือกสรรมาใช้กับวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบไทยก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่มีพระมหากษัตริย์ ศาสนา ภาษา ศิลปกรรม อาหาร การแต่งกาย ฯลฯ 





เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 60 ที่ ห้องประชุมเซอรา ชั้น 2 อาคารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดร.ไพฑูรย์ สงค์แก้ว กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู นำคณะเยาวชนมาเลเซียเชื้อสายไทย (ชาวสยาม) เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ และศูนย์การสอนภาษาไทย พุทธศาสนา และวัฒนธรรมไทยในรัฐกลันตัน ได้มาศึกษาดูงานตามโครงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมไทย – มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 27 – 30 สิงหาคม 2560 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมศักดิ์ ด่านเดชา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวต้อนรับพร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพร สุนทรนนท์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณาจารย์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บุคลากร และนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา


สำหรับการเดินทางของคณะศึกษาดูงานโครงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมไทย – มาเลเซียครั้งนี้ ได้มาศึกษาดูงาน รับฟังการบรรยาย และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยอันดีงาม รวมทั้งรับชมการแสดงทางวัฒนธรรมไทยของนักศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อีกด้วย


แม้เราจะมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ต่างภาษา แต่เราก็ได้มิตรภาพและประสบการณ์ดี ๆจากการเข้าร่วมโครงการ การได้ทำหน้าที่สื่อสารให้เพื่อนๆชาวต่างชาติได้เข้าใจและเข้าถึงวัฒนธรรม ประเพณี กันอย่างเต็มที่ ซึ่งเปรียบเสมือนการเป็นทูตวัฒนธรรมของประเทศไทย ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำให้อาจจะไม่ยิ่งใหญ่มากมาย แต่กิจกรรมเหล่านี้ปลูกฝังให้เรามีจิตสาธารณะ มีจิตอาสาต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญต่อสังคมโลกในยุคปัจจุบัน 



















วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ถูกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ชาวสวนทุเรียนยะลา นำผลผลิตส่งขาย ขายดี รับกำไรไปเต็มๆ





พืชผลทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะผลทุเรียนของชาวสวนในพื้นที่ หลังจากมีพ่อค้ามารับซื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มีค่อนขั้นสูงอยู่ในขณะนี้ ยิ่งปีนี้ผลผลิตทุเรียนในพื้นที่มีจำนวนน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา จากภาวะฝนตกชุก และตกตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ชาวสวนต่างก็ดีใจเพราะจะทำให้ชาวสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสดีสำหรับชาวสวนในอนาคต ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก


ณ ตลาดรับซื้อผลไม้ สี่แยกมลายูบางกอก ถนนสาย 15 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เริ่มคึกคัก หลังผลผลิตทุเรียนในพื้นที่อำเภอบันนังสตาและพื้นที่ใกล้เคียง ทยอยออกผลผลิต และชาวสวนเริ่มเก็บผลทุเรียน นำบรรทุกรถยนต์กระบะมาส่งขายกันอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากในปีนี้ทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ผลผลิตออกปริมาณน้อย ทำให้จำนวนพ่อค้า แม่ค้า ที่เดินทางมารับซื้อผลไม้ทั้งจากพื้นที่จังหวัดยะลาและพื้นที่อื่นๆ ลดลงไปกว่าครึ่ง ส่วนราคาทุเรียนทั้งพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี และพันธุ์ก้านยาว สูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวสวนทุเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้น



ด้าน นายอับดุลรอแม มะหลี พ่อค้ารับซื้อทุเรียนจังหวัดยะลา กล่าวว่า เริ่มมารับซื้อทุเรียนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พร้อมกับพ่อค้า แม่ค้า รายอื่นๆ ที่มาจากจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส แต่เนื่องจากปีนี้ผลผลิตทุเรียนมีจำนวนน้อย ทำให้มีพ่อค้ามารับซื้อลดลงจากปีที่แล้วเหลือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วงเย็นๆ ก็จะมารอดักเรียกรถที่ชาวสวนนำทุเรียนออกมาขาย โดยจะมีการต่อรองราคากันก่อนที่จะรับซื้อ ซึ่งปีนี้ทุเรียนพันธุ์ชะนีราคาดี รับซื้ออยู่ที่ 55-58 บาท ก้านยาว หมอนทอง ก็อยู่ที่ 50-60 บาท และจะแยกตามเกรด A , B เบอร์ใหญ่ เบอร์เล็ก ซึ่งเกษตรกรก็จะต้องตัดทุเรียน ขนาด 75 เปอร์เซ็นต์ มาขาย แต่ละวันก็จะใช้เวลารับซื้อตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงดึก แล้วแต่ผลผลิตมีมากน้อยด้วย วันหนึ่งก็จะรับซื้ออยู่ที่ประมาณ 7-8 ตัน หลังรับซื้อเสร็จก็จะจ้างรถมาขนส่งไปยังอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร บางส่วนก็ส่งไปยังประเทศมาเลเซีย ส่วนรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะเหลือประมาณ 3,000-4,000 บาท ในแต่ละวัน






สำหรับใครที่แวะผ่านก็อย่าลืมอุดหนุนกันด้วยนะคะ ราคาถูก รสชาติอร่อย สี่แยกมลายูบางกอก ถนนสาย 15 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จ.ยะลา ส่งมอบรถยนต์ “ช่วยน้องพิการจากบันไดบ้านสู่ศูนย์การเรียนรู้” สนองแนวพระราชดำริ


จังหวัดยะลา ส่งมอบรถยนต์ “ช่วยน้องพิการจากบันไดบ้านสู่ศูนย์การเรียนรู้” ให้ 8 ศูนย์เรียนรู้ฯ พร้อมวีลแชร์ สนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ

วันนี้ (28 ส.ค. 60) ที่หน้าอาคาร 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานส่งมอบรถยนต์ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามโครงการ “ช่วยน้องพิการจากบันไดบ้านสู่ศูนย์การเรียนรู้” และมอบกายอุปกรณ์ (รถวีลแชร์) ให้แก่ผู้พิการในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา จัดขึ้นเพื่อดำเนินการโครงการตามแนวกระแสพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการดูแลคนพิการทางสมอง ส่งเสริมการดูแล การให้ความช่วยเหลือทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยมีส่วนราชการ ประชาชนเข้าร่วม จำนวน 150 คน



นางสุดา สุหลง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา กล่าวว่า ตามที่จังหวัดยะลาได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้สืบสานแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 16-17 มิถุนายน 2559 และมีพระราชดำริฯ เรื่องการดูแลคนพิการทางสมอง โดยมอบหมายให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เป็นหน่วยงานหลัก โดยได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในการดำเนินการจัดทำโครงการช่วยน้องพิการจากบันไดบ้านสู่ศูนย์การเรียนรู้ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากงบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ประจำปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเติมเป็นเงินจำนวน 6,568,000 บาท (หกล้านห้าแสนหกหมื่นแปดพันบาทถ้วน) เพื่อจัดซื้อรถยนต์ จำนวน 8 คัน





โดยวันนี้ได้ส่งมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นยานพาหนะสำหรับรับ-ส่ง เด็กพิการสู่ศูนย์การเรียนรู้ ทั้ง 8 อำเภอ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอ ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอเบตง ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านใหม่ (วันครู 2503) ผู้รับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง , ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอธารโต ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านนิคมสร้างตนเองธารโต ผู้รับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลธารโต , ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอยะหา ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านกาตอง ผู้รับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลกาตอง , ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอกาบัง ตั้งอยู่ที่โรงเรียนลาแล ผู้รับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลบาละ , ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอกรงปินัง ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านตะโละซูแม ผู้รับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลกรงปินัง , ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอรามัน ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านนาเตย ผู้รับผิดชอบ เทศบาลตำบลโกตาบารู , ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอบันนังสตา ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. ผู้รับผิดชอบ เทศบาลตำบลบันนังสตา และศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอเมืองยะลา ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านตลาดลำใหม่ ผู้รับผิดชอบ เทศบาลตำบลลำใหม่
นอกจากนี้ยังมีการมอบรถเข็นนั่งให้แก่ผู้แทนคนพิการ จำนวน 10 คัน จากจำนวนรถเข็นที่ได้รับสนับสนุนจากสถานีวิทยุ จส. 100 จำนวน 35 คัน และได้รับสนับสนุนเป็นค่าขนส่งรถเข็นจากนายวารินทร์ สุคนธชาติ ช้างทองการพิมพ์ หสม. อีกด้วย