วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ปัตตานี “เมืองงามสามวัฒนธรรม”



เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้
.... กระแสสังคม ข่าวหรืออะไรต่างๆ พัดพาให้เขต3จังหวัดสุดปลายด้ามขวานของประเทศไทย กลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามให้ไปสัมผัส ถูกนิยามว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่อ่อนโยนจากใครก็ไม่รู้ เราไม่อยากตัดสินใครไม่ดีด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เราอยากไปสัมผัสทุกวิถีชีวิตในเมืองนั้น โยนอะไรที่ได้ยินมาทิ้งไป แล้วมาสัมผัสพื้นที่นี่พร้อมๆๆกัน

...ครั้งนี้เราได้มาเยือนเมืองลังกาสุกะหรือปัตตานีที่เรารู้จักกัน หลังจากที่เราได้สัมผัสปัตตานีในครั้งนี้ มุมมองภาพในหัวและทุกอย่างที่ได้เสพย์ข้อมูลมา มันช่างแตกต่างออกไปอย่างมากมาย วิถีการใช้ชีวิตของผู้คนที่ยังถ้อยที ถ้อยอาศัย อาหารการก็ดีงาม วัฒนธรรมผสมผสานที่หลากหลาย สถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์ และธรรมชาติมากมาย มันทำให้ปัตตานีน่าอยู่อย่างบอกไม่ถูก
เสียดายที่เวลาเรามีเวลาเพียงแค่3วัน การสัมผัสอาจยังไม่คลุมทุกพื้นที่ แต่เราก็ได้ไปเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนที่นั้น ได้เห็นปัตตานีด้วยตาตัวเองทำให้รู้ว่าพื้นที่นี้ "สีชมพู" ตามแพลนเราได้เลย กิจกรรมเกร๋ๆมีทุกวัน

...วันแรกเริ่มต้นด้วยมัสยิดกรือเซะ ซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่ของปัตตานี จากนั้นเราก็เดินทางไปยังบ้านปาเระ อดีตที่พีกอาศัยของเจ้าเมืองปัตตานี เมื่อหลายร้อยปีก่อนและยังมีสุสานของอดีตเจ้าเมืองอยู่ที่นี่อีกด้วย นอกจากนี้ที่นี่ยังใช้สัญลักษณ์ในสุสานราชินีมาออกแบบผลิตที่เป็นมีลวดลายเก๋ๆ และอีกหนึ่งไฮไลท์คือการนั่งเรือไปดูสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกลางทะเล ชมอุโมงค์ป่าโกงกางและดูฝูงนกนานาพันธุ์ที่บางปูแห่งปัตตานี จอดเรือพระอาทิตย์ตกยามเย็นและทานมื้อค่ำกับอาหารพื้นถิ่นเป็นอะไรที่ดีงามมากๆ

...วันที่สองเราได้ไปเดินตลาดเช้าสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่นี่ซึ่งมันก็เรียบง่ายไม่วุ่นวาย ใกล้ๆตลาดก็มีมุมสตรีทอาร์ทเล็กๆ ให้ได้ถ่ายรูปเท่ๆอีกด้วย จากนั้นเราก็เดินทางไปยังสายบุรีซึ่งที่นี่เองเราได้ไปดูวิธีการทำเรือกอเเละ และการวาดลวดลายบนเรือเป็นอะไรที่เราชอบมากๆ ซึ่งลวดลายก็ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและที่นี่ยังมีกลุ่มทำข้าวเกรียบปลาหรือที่เรียกกันว่ากรือโป๊ะอีกด้วย ต้องบอกเลยว่าเราได้เห็นทุกขั้นทุกตอนได้ลองทำ และที่สำคัญได้กินแบบทอดสดๆใหม่ๆ จากนั้นเราก็เดินทางไปยังบ้านคลองต่ำที่ปานาเระไปดูเกษตรอินทรีย์ที่นั้น ต่อด้วยบ้านตรังหมู่บ้านไทยพุทธที่อำเภอมายอ ที่นี่มีไม้แกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและลายแกะสลักที่สวยงามมากๆ ค่ำๆหน่อยก็มาลองโรตีหลายคนบอกว่าปัตตานีต้องโดนโรตีถ้าไม่ได้กินก็จะถือว่าพลาด เราเลยไปจัดชุดใหญ่ที่ร้านโรตีเเวมะถือเป็นการปิดจ๊อบวันนี้ได้อย่างลงตัว
...วันที่สามวันนี้ก็จะชิลๆหน่อยไปไหว้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งใครไปใครมาก็ไม่พลาดที่จะมากราบไหว้ จากนั้นก็เดินชิลๆถ่ายรูปย่านเมืองเก่า ก่อนกลับแวะวัดช้าง ขอความสิริมงคลแด่ชีวิต และเดินทางขึ้นเครื่องบินที่หาดใหญ่ การไปเยือนปัตตานีของเราในครั้งนี้ก็จะประมาณนี้



































----------------------------
#ที่นี่ชายแดนใต้

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

นราธิวาส เตรียมจัดงานมหกรรม “กองทุนแม่ของแผ่นดิน พัฒนาคนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”



       จังหวัดนราธิวาส เตรียมจัดงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดินนราธิวาส กองทุนแม่ของแผ่นดิน... พัฒนาคนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในวันที่ ธันวาคม 2561 เพื่อสนองพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
         นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า เนื่องจากวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนากองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งปีนี้ มีการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มาแล้ว 14 ปี ทางจังหวัดนราธิวาส โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จึงกำหนดจัดงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดินนราธิวาส กองทุนแม่ของแผ่นดิน... พัฒนาคนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อสนองพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน ด้วยกองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่สำคัญจะเป็นช่องทางและกิจกรรมที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ภายใต้แนวคิดและการดำเนินโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน
       ในส่วนของกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมมอบเงินพระราชทานขวัญถุง จำนวน 20 กองทุน กิจกรรมมอบพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จำนวน 20 กองทุน กิจกรรมมอบเข็มกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 24 คน และกิจกรรมมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับกองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่น ประจำปี 2561 จำนวน 13 กองทุน
        สำหรับกองทุนแม่ของแผ่นดิน กระทรวงหมาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการขยายพลังแห่งความดีของคนในชุมชน หมู่บ้าน เสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดความรู้ร่วมกัน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาตนเอง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านอย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนทั้งภายในและระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งจังหวัดนราธิวาส มีกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 285 หมู่บ้าน มีศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 43 ศูนย์ ซึ่งมีการส่งเสริและพัฒนากองทุนแม่ของแผ่นดินในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และในปีงบประมาณ 2561 จังหวัดนราธิวาส มีการขยายผลหมู่บ้าน ชุมชน กองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 20 หมู่บ้าน
------------------------------------

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ยะลา รวมพลังเดินหน้ารณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ในพื้นที่



       เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 61 ที่หอประชุมโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิยะลา สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล และเดือนพฤศจิกายน เป็น เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี” ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนของตนเอง โดยมีนายนิมะ มะกาเจ เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนางสุภาพร วุฒิศาสตร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา และปล่อยขบวนรถรณรงค์ ออกจากโรงเรียนธรรมวิทยา ผ่านแหล่งชุมชน และรณรงค์ประชาสัมพันธ์บริเวณตลาดสดเมืองใหม่ และสนามโรงพิธีช้างเผือก เพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวในปัจจุบัน ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีนักเรียนและผู้เกี่ยวของเข้าร่วม จำนวน 350 คน

     สำหรับกิจกรรมนอกจากจะมีการปล่อยขบวนรถ รณรงค์ยุติความรุนแรงฯ แล้ว ยังมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 การบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียน หัวข้อ รู้เท่าทันความรุนแรงในสังคมยุคปัจจุบันอีกด้วย

       นายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี เป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็ก สตรี รวมถึงผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งมีสถิติปรากฏให้เห็นและมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้คนในครอบครัว สังคม มีความเครียด ประกอบกับสังคมส่วนรวมขาดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี 2560 มีจำนวน1,309 ราย (ด้านร่างกาย 61.7 เปอร์เซ็นต์ ด้านเพศ 5.4 เปอร์เซ็นต์ ด้านจิตใจ 28.6 เปอร์เซ็นต์) ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของบุคคลใกล้ชิด ซึ่งความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ยังเป็นปัญหาที่อยู่ในความเงียบ เพราะผู้ที่ตกอยู่ในสภาพปัญหาส่วนใหญ่จะต้องจำทนรับสภาพ และหลายรายถูกกระทำซ้ำ ๆ จึงขอเรียกร้องทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวในทุกรูปแบบ

       ดังนั้น การบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงควรเริ่มต้นที่ครอบครัวเพราะเป็นสถาบันแรกที่ให้ความรัก ความอบอุ่น และตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ รวมทั้งการถ่ายทอดการเรียนรู้ ปลูกฝังเจตคติค่านิยม พฤติกรรมของบุคคล และทำหน้าที่หล่อหลอมบุคคลให้เป็นไปตามความคาดหวัง ดังนั้น ชุมชนต้องเข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวตลอดจนการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น โดยถือว่าการยุติความรุนแรงเป็นเรื่องของทุกคน ทุกฝ่าย จำเป็นต้องเชื่อมโยงกันทำงานด้วยความตระหนักมีความเข้าใจอย่างแท้จริง สามารถนำไปจัดการดูแลคนในชุมชน และส่งเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งอบอุ่น เช่น ใช้เวลาร่วมกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถานภาพอันดีของครอบครัว ต่อไป



------------------------------------------------