วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

การเลี้ยงแพะนม ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

           แบฟา เกษตรกรชาวตำบลตะโละ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เริ่มทดลองเลี้ยงแม่แพะนมเพียง 2 ตัว เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เพื่อหาประสบการณ์รวมทั้งช่องทางการตลาด และเมื่อเริ่มเห็นลู่ทางว่า อาชีพนี้น่าจะสดใส จึงได้สั่งพ่อแพะพันธุ์ชาร์มี่เข้ามาผสม พร้อมกับพัฒนาสายพันธ์ภายในฟาร์มแพะของตนเอง จนกระทั่งปัจจุบันภายในฟาร์มของแบฟา มีแม่แพะที่พร้อมให้รีดนมถึง 15 ตัว สามารถรีดนมส่งตลาดได้วันละประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดสำหรับรายได้จากการเลี้ยงแพะนั้น แบฟาบอกว่า มีรายได้หลักๆคือ จากการขายน้ำนมแพะวันละประมาณ 700 – 800 บาท นอกจากนั้นก็จะมีรายได้จากการขายลูกแพะเพศผู้ โดยตัวที่มีอายุประมาณ 1 เดือนจะขายให้สำหรับผู้สนใจนำไปเลี้ยงตัวละประมาณ 2,000.-บาท และรายได้จากการขายมูลแพะซึ่งเกษตรกรจะนำไปทำปุ๋ยคอก ประมาณสัปดาห์ละ 300 -400 บาท

 


           นี่คืออาชีพทางการเกษตรอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะการเลี้ยงแพะนม สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี อย่างเช่นแบฟา ซึ่งมีแพะนมเพียง 15 ตัว ก็สามารถมีรายได้เกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือนเลยทีเดียวครับ เกชา โสภาวะนัส ทีมข่าว NBT ยะลา รายงาน


วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ขนมกุยช่ายเบตง

         นางธนัดอร ทองทาทิพย์ หรือเจ๊ปู เล่าวว่า ตนเป็นแม่บ้านที่ผันตัวเองมาเป็นแม่ค้าขายขนมกุยช่าย เริ่มจากทำขนมกุยช่ายให้คนรอบข้างชิม สักพักได้รู้จักกับคุณยายท่านหนึ่งประกอบอาชีพขายผักที่ตลาด นำกุยช่ายมาให้เนื่องจากผักล้นตลาดขายไม่ได้ เจ๊ปูจึงมีความคิดว่า ถ้านำกุยช่ายพันธ์ุพื้นเมืองเบตงมาทำขนมน่าจะไปได้ดี ด้วยความโดดเด่นเรื่องของรสชาติ กลิ่นของกุยช่าย หลังจากนั้นไม่นานเริ่มขายตามตลาดนัด  ได้ออกบูธงานประจำปีของอำเภอเบตง เทศกาลไก่เบตงที่ผ่านมาๆ ทำให้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จึงคิดว่าในอนาคตจะสามารถสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเบตง นำผักมาให้ตนแปรรูป  เป็นขนม จนลงตัวได้เป็นสูตรของตัวเอง ที่ใช้แป้งบาง ไส้เยอะ กับน้ำจิ้มที่เข้ากัน จากนั้นมีหน่วยงานราชการ พัฒนาชุมชนอำเภอเบตง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ทำให้ขนมสามารถเก็บได้ไว้นาน โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่ผู้คนมักจะอยู่บ้าน ทำอาหารกินกันเองภายในบ้าน ทำให้ขนมกุยช่ายเบตงมียอดสั่งซื้อทางออนไลน์ เป็นจำนวนมาก ทำให้วัตถุดิบอย่างผักกุยช่ายมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะกุยช่ายไม่ได้ปลูกกันอย่างแพร่หลาย จึงได้หากลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการขยายพันธ์เป็นอาชีพเสริมจากการกรีดยาง ให้เกษตรกรได้มีการเรียนรู้ในเรื่องของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ให้ผลผลิตเพียงพอ   กับการตลาด และทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากเดิมอีกด้วย  ซึ่งความโดดเด่นของกุยช่ายเบตงนั้น มีลำต้นที่เรียวเล็ก  ใบค่อนข้างที่จะเยอะกว่าก้าน มีรสชาติหวาน มีกลิ่นที่โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น



         เจ๊ปู เล่าอีกว่า ในส่วนของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ขนมกุยช่ายที่ทำขายมี 4 ไส้คือ ผักกุยช่าย หน่อไม้ เผือก  และมันแกว โดยไส้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ถือเป็น ซิกเนเจอร์ของทางร้าน คือผักกุยช่าย คือกุยช่ายสำเร็จรูป เป็นกุยช่ายพันธ์ุพื้นเมืองเบตงที่นำมาทำเป็นขนม โดยผ่านกระบวนวิธีการนึ่งแพ็คใส่ถุงสุญญากาศ จะสามารถเก็บรักษาได้เป็นเดือน ปกติยอดขายเดือนหนึ่งอยู่ที่หลักหมื่น แต่ในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 รายเดือนเกือบ 2 แสนบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์กับการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สะดวกในการรับประทาน นำออกจากช่องฟรีส สามารถทอดทานได้เลย 1 แพ็ค จำหน่ายในราคา 50 บาท และผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งอย่างที่รองรับหากวัตถุดิบล้นตลาด คือ ข้าวเกรียบกุยช่าย ซึ่งอยู่ในช่วงของการทดลอง ให้กลุ่มลูกค้าได้ลองชิม ปรากฏว่าตอบโจทย์ เราจึงคิดว่าจะทำเป็นสินค้าอีกหนึ่งอย่างในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากข้าวเกรียบกุยช่ายจะสามารถเก็บได้เป็นปี ไม่มีสารกันบูด และจะต่อยอดไปเรื่อย ๆ โดยการเพิ่มรสชาติ



           สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากลิ้มลองความอร่อยขนมกุยช่าย เชิญได้ที่ร้านเจ้ปูราชาไก่ตุ๋๋นมะระ กุยช่ายเบตง กม.2 ถ.สุขยางค์ ทางออกไป จ.ยะลา ขวามือ ก่อนถึงป้อม ศอร. สามารถนำกลับไปเป็นของฝาก ที่สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน โดยที่รสชาติยังคงเดิมไม่เปลี่ยน ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร หรือสั่งออนไลน์ได้ทางเพจ กุยช่ายเบตง โทร.081-0991983

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

จุดเช็คอินชายแดนใต้สุดประทับใจ ที่หาดปะนาเระ จ.ปัตตานี

          คำว่า "ปะนาเระ" มาจากภาษายาวีหรือภาษามลายูท้องถิ่น 2คำมารวมกัน คือ คำว่า "ปาตา" ชายหาด กะบะห คำว่า "ตาเนะ" แปลว่าอวนตาปลา เมื่อนำมารวมกันเข้าเป็น "ปาตาเระ" ซึ่งหมายถึง ชายหาด ที่ตากอวน อันเป็นสัญลักษณ์ ของชาวประมงโดยทั่วไป ต่อมาทำว่า "ปาตาตาเระ" เมื่อใช้ไปนานๆเข้าก็มีการกร่อนคำกลายเป็น "ปะนาเระ" จวบจนปัจจุบันนี้



อาณาเขตตำบล:

    - ทิศเหนือ จวดทะเลหลวง ( อ่าวไทย )

      - ทิศใต้ จวดอำเภอมายอ และ อำเภอสายบุรี

      - ทิศตะวันออก จวดอำเภอสายบุรี

.     - ทิศตะวันตก จวดอำเภอยะหริ่ง

จำนวนประชากรของตำบล:

  จำนวนประชากรทั้งสิ้น 8255 คน เป็นชาย 4119 คน เป็นหญิง 4136 คน

ข้อมูลอาชีพของตำบล:

   - อาชีพหลัก ประมงขนาดเล็กๆ

   - อาชีพเสริม รับจ้าง ค้าขาย



ข้อมูลสถานที่สำคัญของตำบล:

   1.วัดสำเภาเชย

   2.ที่ว่าการอำเภอ

   3.ที่ทำการไปรษณีย์

   4.สำนักงานการไฟฟ้า

   5.ศูนย์บริการศึกษานอกโรงเรียน

   6.หาดปะนาเระ - หาดชลาลัย

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ซุ้มไฟประดับ “หลาดบ้านร่ม” สร้างสีสันเมืองยะลา

        ประชาชนในพื้นที่ อ.เมืองยะลา และพื้นที่ใกล้เคียงแห่เช็คอิน เที่ยวตลาดชุมชน "หลาดบ้านร่มยะลา คึกคัก โดยเฉพาะการเดินไปถ่ายรูปเซลฟี่ ที่บริเวณซุ้มจัดแสดงไฟ 3 ซุ้มหลัก ไม่ว่าจะเป็นประตูสู่บ้านร่ม เจ้าสาวแห่งยะลา และสีสันบ้านร่ม โดยจะมีทั้ง ผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือ ก็จะยกโทรศัพท์ออกมาโพสท่าถ่ายรูปกับเพื่อนๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึก และส่งให้เพื่อน ครอบครัว ในกลุ่มไลน์ รวมถึงผู้ที่มีกล้องถ่ายรูปก็จะมาถ่ายรูปแสงไฟที่มีสีสันสวยงามเก็บไว้ สร้างความคึกคักให้กับตลาดบ้านร่มเป็นอย่างยิ่ง



 
      ประชาชนที่มาเที่ยวบอกว่า มาจากพื้นที่บ้านโสร่ง ปัตตานี มาเที่ยวตลาดบ้านร่มโดยเฉพาะ เพิ่งจะมาครั้งแรกมาซื้ออาหารพื้นบ้าน ก็จะแวะมาถ่ายรูป ที่ซุ้มไฟต่างๆ สวยงามมากและดีใจที่ยะลามีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่อีกแห่ง นอกจากนี้ มุมอื่นๆ ของตลาด ไม่ว่าจะเป็น ทางเข้าตลาดบ้านร่ม ต้นไม้ บริเวณริมน้ำ ก็ได้มีการตกแต่งไฟประดับไว้อย่างสวยงาม ซึ่งมีประชาชนไปถ่ายรูปกันอย่างคึกคักเช่นกัน



        หลาดบ้านร่ม เริ่มต้นจากเสียงสะท้อนของพี่น้องชุมชนบ้านร่ม ที่มีความต้องการที่จะจัดตลาดชุมชนเพื่อสร้างรายได้และเชิญชวนให้ประชาชนชาวยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้เข้ามาเที่ยวที่ชุมชน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปัตตานีที่มีภูมิทัศน์สวยงาม และเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้แสดงออกถึงความสามารถในการทำอาหารดั้งเดิม ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ในอดีต ทางเทศบาลนครยะลาจึงได้จัดทำ โครงการจัดทำผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ การปรับปรุงภูมิทัศน์และการออกแบบตลาดชุมชนบ้านร่มเพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดย หลาดบ้านร่มที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2563 เป็นการจัดตลาดทดลอง ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายในตลาดเป็นการออกร้านของชาวบ้านชุมชนบ้านร่มและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งได้นำอาหารดั้งเดิมที่ได้ผ่านการพัฒนาเมนู ในด้านการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์มามากว่า 6 เดือนออกจำหน่าย




       นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบการบริหารจัดการตลาด ทั้งด้านการพัฒนาความสะอาดคุณภาพอาหาร การจัดการร้านค้า การจัดการขยะ การจัดการพื้นที่จอดรถ และการจัดกิจกรรมการแสดงต่างๆ ขึ้น ภายในตลาด และการพัฒนากายภาพและเพิ่มพื้นที่ กิจกรรมภายในตลาดหลายจุด เช่น การเพิ่มพื้นที่นั่งบริเวณบันไดเขื่อนริมแม่น้ำปัตตานี การจัดตำแหน่งพื้นที่ร้านค้า การจัดซุ้มแสดงไฟบริเวณทางเดินริมสันเขื่อน เพื่อส่งเสริมการเดินและสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ให้กับเทศบาลนครยะลา รวมถึงการจัดซุ้มแสดงไฟ อีกด้วย

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ทำไมทหารเข้า รร - ฉบับแปลภาษายาวี

 

--------------------------------









ชาวบาโงย จ.ยะลา ร่วมสืบสาน ดำนา ประเพณีดั้งเดิมตามรอยพ่อ วิถีพอเพียง

        จากการที่คนในพื้นที่ตำบลบาโงย อ.รามัน จ.ยะลา มีอาชีพดั้งเดิมเป็นเกษตรกร ทำนา ทำสวน และมีชีวิตที่เรียบง่าย องค์การบริหารส่วนตำบลบาโงย จึงได้จัดโครงการดำนาตามรอยพ่อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ชื่อ คนบาโงยไม่ทอดทิ้งกัน "ลงแขกเกี่ยวข้าว อนุรักษ์วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน เสริมสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ในชุมชนขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนในพื้นที่ตำบลบาโงย ทำนาด้วยตนเอง ลดพื้นที่นาร้างให้น้อยลง และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวกับการเกี่ยวข้าว ให้ดำรงอยู่ รักษา ศิลปวัฒนธรรมภูปัญญาอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ถูกกลืนไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยปราศจากดุลยภาพ ทางปัญญาและความรู้ที่จะอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ รวมถึง ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนและความปรองดองสมานฉันท์ในชุมชน สืบทอดวิถีชุมชนตั้งเดิมที่มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลร่วมมือกันในการทำกิจกรรมต่างๆของเพื่อนบ้านและของชุมชน


        ซึ่งในวันนี้ (15 ต.ค 63) ได้มีพิธีเปิดโครงการขึ้น ที่บริเวณแปลงนาข้าว ม.4 บ้านบาโงย ต.บาโงย อ.รามัน จ.ยะลา โดยมี นายสุกิจ พัฒนพงศ์ นายอำเภอรามัน จ.ยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมนำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร สมาชิก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานส่วนตำบล ทหารในพื้นที่ และชาวบ้านบาโงย ร่วมกิจกรรมดำนาในแปลงข้าว ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ได้สร้างความสนุกสนาน ให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยนอกจากการดำนาแล้ว ยังมีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องพันธุ์ข้าว และวิธีการดำนา รวมไปถึงการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ การดูแลต้นข้าว และกิจกรรมการแข่งขัน ถอนต้นกล้า แข่งการไถนา และอื่นๆ อีกหลายกิจกรรม

        นายยาการียา ซิมะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงย กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรม ที่ อบต.บาโงย จัดขึ้น อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำนา ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีทำนา ซึ่งชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรทำนาอยู่แล้วเป็นนาปี มีเนื้อที่นารวมกว่า 400 ไร่ ทั้ง 4 หมู่บ้านของตำบลบาโงย


        ในอดีตที่นี่จะเป็นที่ทำนาที่สมบูรณ์ ต่อมาความเจริญเข้ามา การทำนาลดลงรวมทั้งเกษตรกรบางคน ยังไม่กลับมาสู่สภาพวิถีการปลูกข้าวดั้งเดิม อันเนื่องจากภาวะค่าใช้จ่าย ต้นทุน เรื่องปุ๋ย และอื่นๆ ซึ่งทาง อบต.ได้หาวิธีการแนวคิดที่จะส่งเสริม และดึงชาวบ้านให้กลับมาทำนาปลูกข้าวตามวิถีดั้งเดิม เพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง อยู่ในวิถีพอเพียง เมื่อทำขึ้นมา ชาวบ้านก็ได้นำความรู้ จากการจัดการนา ไปพัฒนาปลูกข้าวของตนเอง ทำให้เกิดผลผลิต ดีขึ้นกว่าเดิม 

        สำหรับแนวคิดนี้จะดำเนินการไปตลอด หมุนเวียนไปทั้ง 4 หมู่บ้าน เพื่อรณรงค์ให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนหันมาปลูกข้าวตามวิถีดั้งเดิม อย่างน้อยก็มีข้าวไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

หนุ่มสตูล สนใจกาแฟยะลา ถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้าน มีอาชีพ สร้างรายได้

         กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดซึ่งได้จาก ต้นกาแฟ หรือมักเรียกว่า เมล็ดกาแฟคั่ว มีการปลูกต้นกาแฟมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก กาแฟเขียว (กาแฟซึ่งยังไม่ผ่านการคั่ว) เป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตร   ซึ่งมีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก กาแฟมีส่วนประกอบของคาเฟอีน ทำให้มีสรรพคุณชูกำลังในมนุษย์ ปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก


          นายคอลิด วาลีดง หนุ่มชาว จ.สตูล/ผู้เชี่ยวชาญด้านคั่วกาแฟโบราณ เปิดเผยว่า  ตนเองเป็นคนพื้นเพจังหวัดสตูล เกิดมาในครอบครัวการทำกาแฟโบราณ  ซึ่งสืบทอดกันมา ประมาณ 100 ปี  และได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ได้ร่วมงานกับบริษัทกาแฟบราวน์คอฟฟี่ที่ประเทศลาว  และทำงานอยู่ที่นั่นนานถึง 10 ปี ในระหว่างนั้น ได้เดินทางเข้า-ออกหลายพื้นที่และหลายประเทศ  เพื่อดูกระบวนการผลิตกาแฟ  อีกทั้งได้ไปดูการทำกาแฟในเวียดนาม  อินโดนีเซีย พม่า  และมาเลเซีย  ซึ่งลักษณะการปลูกกาแฟในแต่ละพื้นที่มีคุณภาพที่ไม่เหมือนกัน  ด้วยเหตุผลของภูมิอากาศ  แร่ธาตุในดิน  ซึ่งทำให้กาแฟแต่ละที่จึงมีรสชาติและกลิ่นที่รับรสที่ต่างกัน  หลังจากนั้นได้มีโอกาสกลับมาอยู่บ้าน  ด้วยความที่เรามีความรู้ของกาแฟอยู่แล้วก็เลยตัดสินใจทำสวนกาแฟ


       นายคอลิด วาลีดง ยังกล่าวด้วยว่า การที่สนใจจะปลูกกาแฟนั้น เกษตรกรต้องมั่นใจในเรื่องของสายพันธุ์ด้วยว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นดิน  และสภาพอากาศของพื้นที่นั้น ๆ ส่วนเรื่องของคุณภาพในรสชาติและการให้ผลผลิตนั้น จากการเดินทางเก็บเกี่ยวสายพันธุ์เพื่อที่จะมาคัดพันธุ์เป็นเวลาประมาณ 3 ปี  ตนเริ่มเก็บพันธุ์กาแฟตั้งแต่จังหวัดชุมพร  ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ยะล นราธิวาส และพัทลุง จึงได้สายพันธุ์แล้วจึงนำไปเพาะในแปลงเดียวกันเพื่อที่จะมีการผสมข้ามสายพันธุ์  ดูว่ายีนเด่นผสมกับตัวไหนได้บ้าง เพื่อให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาโดยใช้ระยะลาเวลา 3 ปีจึงได้ผลผลิตขึ้นมา ส่วนตัวมองว่ากาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองเหมาะสมกับพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้หมายว่าว่า พื้นที่แห่งนี้จะปลูกกาแฟสายพันธุ์อื่นไม่ได้ เพียงแต่ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรสชาดหรือแม้กระทั่งโรคต่างๆ



          อย่างไรก็ตาม ผลผลิตเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างสายพันธุ์อาราบิก้ากับโรบัสต้าที่ได้ต่อต้น อาราบิก้า จะได้ต้นละประมาณ 5 กก.ส่วนโรบัสต้า จะได้ผลผลิตต้นละประมาณ 15 กก.และจะขายกิโลกรัมละ 80 บาท รายได้ เฉลี่ยต่อปี ได้ประมาณไร่ละ 32,000 ต่อปี ซึ่งหากเกษตรท่านใดที่ต้องการจะแปรรูปเป็นสินค้าท้องถิ่นหรือสินค้าชุมชนตนพร้อมที่จะไปให้ความรู้ยังพี่น้องเกษตรกรทุกคน สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-515-3368

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปลาส้ม-น้ำพริกส้มแขก ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพสร้างรายได้

         ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากปลาส้มต่อยอดสู่ น้ำพริกส้มแขก สร้างอาชีพ-รายได้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร อ.ธารโต จ.ยะลา จากปลาส้มคอกช้าง ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาว จ.ยะลา ที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติอร่อย สะอาด ถูกสุขอนามัย มานานนับ 10 ปี จนถึงปัจจุบัน กลุ่มฯ ได้ต่อยอด ทำผลิตภัณฑ์ น้ำพริกส้มแขก ขาย ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทางกลุ่มและสมาชิก อีกทางหนึ่ง


       นางดาวรงค์ พิทักษ์ ประธานกลุ่ม ได้เล่าให้ฟังว่า ทำปลาสัมมานานกว่า 10 ปี แล้ว จนถึงปัจจุบัน ปลาส้ม ก็ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชน ซื้อไปเป็นของฝาก จาก จ.ยะลา  การทำปลาส้มครั้งหนึ่งก็จะเป็นพันกิโล  และจะทำเพียง 4 วัน จากนั้น ก็จะว่าง โดยตนเองจะเป็นคนที่ชอบทานน้ำพริก ก็เลยมีแนวคิดที่จะนำสิ่งที่มีในท้องถิ่น มาทำน้ำพริก ครั้งแรก ก็เริ่มต้นที่ทำน้ำพริกดอกดาหลา เพราะเป็นสัญลักษณ์ของ อ.ธารโต พอเริ่มทำได้ระยะหนึ่ง ดอกดาหลาก็เริ่มหายาก วัตถุดิบมีไม่เพียงพอ ที่จะนำมาทำ  ก็ได้ปรับมาเป็นน้ำพริกส้มแขกแทน  เท่าที่เห็นก็จะมีเฉพาะน้ำส้มแขก ส้มแขกแช่อิ่ม ก็เลยได้คุยกับทางสมาชิก ว่าจะทำน้ำพริกส้มแขกเพิ่มอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์  สำหรับพื้นที่บ้านเรามีชาวมุสลิม จำนวนมาก ก็จะเน้นใช้ปลาป่น มาเป็นส่วนประกอบ ผสม กับพริก หอม กระเทียม ปรุงรสตามสูตรปลาป่น  เริ่มแรกลองทำ แถมให้ลูกค้าได้นำไปชิมทานกับปลาส้ม ข้าวเหนียว  หลังจากนั้น ก็ได้ทำขาย ขายมาได้ 3 เดือน เสียงตอบรับจากลูกค้าดีมาก ขายดี เราก็พอใจ ดีใจที่สินค้าเราตรงกับความต้องการของลูกค้า เป็นน้ำพริกสุขภาพ   ราคาขายก็จะขาย 3 กระปุก 100 บาท  ส่วนราคาขายปลีก มีทั้งกระปุกละ 20 บาท และกระปุกละ 35 บาท ต่อไป ก็จะพัฒนาเป็นน้ำพริกส้มแขกกุ้งเสียบ ด้วย  แต่ทั้งนี้ หลักๆ ของทางกลุ่มก็ยังทำผลิตภัณฑ์ปลาส้มอยู่


         ด้าน สมาชิกกลุ่ม ซึ่งได้ทำปลาส้มมานานกว่า 10 ปี บอกว่า  ในส่วนของขั้นตอนการทำปลาส้มนั้น ก็จะจัดเตรียมปลายี่สก หมักปลาไว้ในถัง 1 วัน นำปลามาใส่กะละมัง ขูดเกล็ด กัน ผ่าซีก สับครีบออก ล้างให้สะเด็ดน้ำ คลุกเกลือ 1 คืนพอรุ่งเช้า ก็เปลี่ยนน้ำ 3 ครั้ง ให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาคลุกข้าวคั่ว ใส่ถังหมัก 1 อาทิตย์ ก็เริ่มใส่ บรรจุภัณฑ์ ปลาส้ม



         การทำปลาส้ม ในสมัยก่อนจะเป็นสูตรชาวบ้านหมักแบบน้ำ แต่ปัจจุบันทำหมักแบบแห้ง โดยจะใช้ไม้ ซึ่งทำเป็นพิเศษ เป็นรูๆ รองที่ก้นถังหมักก่อนถึงจะนำปลาไปวาง น้ำก็จะหยดลงที่ก้นถัง สำหรับปลาส้ม จะอยู่ได้นานเป็นเดือนๆ เมื่อจะรับประทานก็จะต้องนำไปทอดให้สุกทานคู่ได้ทั้งกับข้าวสวย ข้าวเหนียว ร้อนๆ รับลองว่ารสชาติอร่อย    ก็อยากจะให้ลองมาชิม หรือ ซื้อไปเป็นของฝากได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลาส้มคอกช้าง เลขที่ 51/1 ถนนสุขยางค์ ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา โทร 087-2987206 , 073-280232

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เปิดบ้าน”เลี้ยงด้วง” สร้างรายได้เสริม ชาวสะเตงนอก ยะลา

          ชาวตำบลสะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ได้ใช้เวลาในช่วงว่าง หันมาเพาะเลี้ยงด้วง กว่า 200 กะละมัง ขายให้กับผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานด้วง ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท  สร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว เดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท อยู่ได้อย่างสบายไม่ต้องมีความเดือดร้อนค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ



         นายสิทธิโชค ทองชุม ชาวบ้านหลังวัดตรีมิตร ซอย 9 บอกว่า เพาะเลี้ยงด้วงมาได้ 2 ปีแล้ว เรียนรู้มาจากลุงที่เลี้ยงด้วงมาก่อน ปัจจุบัน ก็มีอยู่ประมาณ 200 กะละมัง ที่หมุนเวียนกันเลี้ยง  โดยจะใช้เวลาว่างหลังค้าขายมาเลี้ยง พอเพาะเลี้ยงจนโตเต็มที่ก็จะนำไปขายที่ตลาดสด บางทีลูกค้า ก็มาสั่งซื้อที่บ้าน บ้าง ขายกิโลกรัมละ 200 บาท ก็จะได้ประมาณ 180-190 ตัว เดือนหนึ่งจะมีรายได้เสริมให้ครอบครัว ประมาณ 20,000 บาท


          สำหรับการเลี้ยงด้วง ลงทุนไม่มาก ไม่ยุ่งยาก และดูแลง่าย ขั้นตอนแรกก็จะต้องจัดหา กะละมัง หาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ด้วงต้นสาคู กาบมะพร้าว  ก่อนจะผสมก็จะต้องให้กินกล้วยก่อน  จากนั้นก็นำไปใส่กะละมัง ที่มีสาคูอยู่   1 กะละมัง จะใส่พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ด้วงสาคู 5 คู่ 10 ตัว หลัง 15 วัน ก็จะได้ตัวอ่อนประมาณ 200 ตัว  แยกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ออก นำตัวอ่อนไปขุน ให้หัวอาหาร กับสาคู 45 วัน ก็สามารถเก็บขายได้


          ปัจจุบันปัญหาของการเลี้ยงด้วง คือ ต้นสาคูนับวันจะหาได้ยาก โดยพ่อค้าที่หาต้นสาคูขายบอกว่า มีน้อย ต้องเข้าป่าไปไกล ไม่เหมือนเมื่อก่อนมีมาก  รวมถึง ตลาดมีน้อย ความนิยมการกินด้วงจะมีเฉพาะกลุ่ม  แต่อย่างใดก็ตาม ตราบใดที่มีคนกิน ก็ยังขายได้ เรื่อยๆ และสามารถเพาะขายได้ตลอดปี ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อด้วงสาคู ได้ที่ Facebook สิทธิโชค ทองชุม หรือทางโทรศัพท์ 083-1962447