วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563

ตลาดรอมฎอนสุไหงโก-ลก กับการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน

       จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับทุกสาขาอาชีพ และพฤติกรรมของประชาชนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดประสิทธิภาพสูงสุด



         เช่นเดียวกับช่วงเดือนรอมฎอน ที่จากเดิมประชาชนสามารถไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ในทุกห้วงเวลา เพื่อสะสมผลบุญในเดือนอันประเสริฐ แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาละหมาดที่บ้านโดยยังได้รับผลบุญที่ครบถ้วนตามที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศ ไม่ต่างจากตลาดรอมฎอนที่ยังมีความจำเป็นต้องเปิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวไทยมุสลิม แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเพื่อให้ไม่กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด19 จากคนหนึ่งไปสู่อีกหลายคน หากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเดินตลาด



          เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จึงกำหนดให้เปิดตลาดรอมฎอน จากเดิมที่ตั้งอยู่บริเวณตลาดเก็นติ้ง และตลาดสดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาอยู่ที่ลานอเนกประสงค์สนามกีฬามหาราช หรือถนนคนเดิน ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางสะดวกต่อการบริหารจัดการร้านค้าและพื้นที่จอดรถ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนร้านค้าได้มีมาตรการควบคุมเข้มงวดด้วยการวางล็อคร้านค้าให้มีระยะห่างร้านละประมาณ 2 เมตร แม่ค้าต้องสวมหน้ากากอนามัย อาหารต้องสะอาดถูกสุขลักษณะและจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม โดยมีราคาตั้งแต่ 10-60 บาท กับคุณภาพ ส่วนอาหารยังคงมีความหลากหลาย ทั้งอาหารท้องถิ่น อาหารปิ้งย่าง แกงถุงที่มีให้เลือกหลากเมนู ขนมหวาน และเครื่องดื่มมากมาย



          หากมีโอกาสขอเชิญมาเที่ยวตลาดรอมฎอนที่สุไหงโก-ลก ที่เต็มไปด้วยสีสันของอาหารที่คงเอกลักษณ์ความเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกคนสามารถมั่นใจในมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะดำเนินการภายใต้มาตรการของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ที่มีกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ดูแลควบคุมอย่างเข้มงวดทุกวันตลอดเดือนรอมฎอน

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563

โครงการทหารพันธุ์ดีนราธิวาส ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

        โครงการทหารพันธุ์ดีนราธิวาส ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้นำผลผลิตของโครงการฯ นำมา จำหน่ายบริเวณ ตลาดชุมชนมะรือโบออก เพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องในพื้นที่ใกล้เคียงในห้วงเวลา (0800-1000) ของทุกวันอังคาร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส covid-19 ให้ได้รับประทานผักสดที่ปลอดภัย



รายงานการจำหน่ายผลผลิต ประจำวันที่ 21 เม.ย.63
1. ผักบุ้งน้ำ
2.ไข่เป็ด
3.ผักเชียงดา
4.มะนาว จำนวน
5.ผักหูหนาน
6.ใบกระเพรา
7.ยอดทานตะวัน
8.ผักก้านแดง



         ประชาชนได้ให้ความสนใจและขอบคุณโครงการฯที่นำผลผลิตที่ดีและราคาถูก มาจำหน่ายทำให้พี่น้องประชาชน ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นอย่างดี มีประชาชนสนใจขอรับเมล็ดพันธุ์พระราชทานไปปลูกที่บ้านตามโครงการ บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเองหลายครัวเรือน



วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563

ผู้ว่าฯ จ.นราธิวาส นำร่องปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน เชิญชวนชาวนราธิวาส ปลูกพืชผัก สร้างความมั่นคงทางอาหาร

         ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำรงชีวิต ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 พร้อมนำร่องปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน เชิญชวนชาวนราธิวาส ปลูกพืชผัก สร้างความมั่นคงทางอาหาร



          นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนาวาตรีหญิง โนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส นายไกรวุฒิ ช่วยสถิตย์ พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส ร่วมกันปลูกผักที่แปลงเกษตร ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส ตาม โครงการ "ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร" ภายใต้ตามปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน ของกรมพัฒนาชุมชน เพื่อลดรายจ่ายให้แก่ครัวเรือน และสร้างรายได้ในภาวะวิกฤตต่อสู้ COVID-19 เป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำรงชีวิต ในช่วงสถานการณ์ COVID-19



          นาวาตรีหญิง โนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ก็ได้จัดให้มีแปลงผักสวนครัว เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตนำมาประกอบอาหารได้อย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้เป็นการปลูกพันธุ์พืชเพิ่มเติม ให้มีหลากหลายมากขึ้น และร่วมเป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อน และรณรงค์ให้ครัวเรือนปลูกผักสวนครัวทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครอบครัวและชุมชน โดยเน้นการพึ่งตนเองให้รอดพ้นจากวิกฤต เป็นการช่วยชาติในการลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากประชาชนไม่ต้องไปซื้อผักที่ตลาด สถานที่ ที่มีคนเยอะ ๆ และลดรายจ่ายให้แก่ครัวเรือน




วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563

ร่วมส่งกำลังใจให้นักรบชุดขาว โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือทีมแพทย์จังหวัดภูเก็ต เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID– 19

          นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นางกัญจนา เกลี้ยงเกลา นายกเหล่ากาชาด​จังหวัดสงขลา​ พร้อมคณะ​ได้ ร่วมส่งทีมนักรบชุดขาวจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ไปเปิดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โรงพยาบาลสนาม 2 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย COVID – 19 ในจังหวัดภูเก็ต โดยสายการบินบางกอก แอร์เวย์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


          หลังจากที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยCOVID – 19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนักจากโรงพยาบาลอื่นๆ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ และเปิดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 ณ ศูนย์บ่มเพาะคนดี สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์และศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยหลังจากได้รับการรักษาและต้องพักฟื้นร่างกายให้ปลอดภัย ซึ่งจากการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยจากการทำหน้าที่ใน 2 พื้นที่ดังกล่าวแล้ว ทางคณะแพทยศาสตร์ ได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในด้านอื่นๆ ไปทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ภูเก็ต (รพ.สนาม 2)


          รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ทำหน้าที่ผลิตแพทย์ และมีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคCOVID -19 ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่มีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในพื้นที่ต้องทำงานหนักเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการช่วยเหลือครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเพื่อนแพทย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยอีกด้วย


          การสร้างโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (รพ.สนาม 2) ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานในหลายๆฝ่าย นับตั้งแต่ผู้บริหารของจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่สนับสนุนเครื่องบิน 1 ลำ เที่ยวบิน PG8401 นำทีมแพทย์ พยาบาล และทีมงานเดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ต รวมถึงผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของศูนย์กีฬา ภายในมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งศูนย์กีฬา เมื่อปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนาม จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 140 เตียง โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล ให้การดูแลรักษา ประมาณ 50 คน ทำการรักษาผู้ป่วยโรคCOVID – 19 ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด เพื่อให้ทุกคนปลอดเชื้อก่อนที่จะกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัวต่อไป
นอกจากนี้ ทางคณะทำงานได้นำต้นแบบและประสบการณ์การทำงานที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 ได้รับการปรับปรุงอย่างเป็นระบบ มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563

ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา Kick Off 90 วัน ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารช่วงโควิด-19

         ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Kick Off 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่จัดขึ้นโตยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ร่วมกับสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดยะลา และลำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยะลา
   
         ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องชะงักงัน การท่องเที่ยวที่เป็นเส้นเลือดสำคัญถูกกระทบ ธุรกิจโรแรมและการท่องเที่ยวต้องปิดตัวไป สินค้าอุปโภคบริโภคกระทบหนัก หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ประกอบกับความตื่นตระหนกของผู้คนที่เกรงว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะขาดแคลน ดังปรากฏการณ์ประชาชนแย่งกันซื้อของเพื่อไปกักตุน

          "...พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางการสร้างพื้นฐานความพอมีพอกิน พอใช้ ของประชาชน เพื่อให้พึ่งตนเองได้ ซึ่งจะเป็นทางออกสำหรับวิกฤตโรคระบาด และปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่..."

          จึงได้แปลงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติระดับครัวเรือน โดยณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนหัวประทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอหารในระดับครอบครัวและชุมชน โดยเน้นการพึ่งตนอง และความสามัคคีของคนในชุมชน เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ และปัจจัยที่สำคัญ ที่จะทำให้กิจกรรมนี้ประสบผลสำเร็จ คือ "ผู้นำต้องทำก่อน" จึงได้เกิดกิจกรรมในวันนี้ขึ้น เพราะฉะนั้นต้องขอความร่วมมือและเชิญชวนไห้หัวหนส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำ และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัว เพื่อให้กิจกรรมนี้ประสบผลสำเร็จและเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

          ด้าน นายกิติพล เวชกุล พัฒนาการจังหวัดยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมขน-จังหวัดยะลา ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน รวม 80 ราย ได้ปลูกมักสวนครัว อย่างน้อยคนละ 10 ชนิด เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในระดับบุคคล ก่อนลงไปส่งเสริมให้ประชาชนในทุกหมู่บ้านของจังหวัดยะลา รวม 355 ณ หมู่บ้าน ซึ่งกำหนดไว้หมู่บ้านละ 20 ครัวเรือน โดยเฉพาะในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตันแบบ และถือว่าเป็นการช่วยชาติไนการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และลดรายจ่ายให้แก่ครัวเรือนได้ ซึ่งในวันนี้ได้ดำเนินการมอบเมล็ดพันธุ์ผักและต้นกล้าให้กับอำเภอได้นำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563

กศน.ยะลา“ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” สู้วิกฤตภัย Covid-19

          จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19  ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ธุรกิจ รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค  นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการ จังหวัดยะลา จึงได้มีนโยบายให้หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดยะลา หันมา ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เน้นการพึ่งตนเองและสร้างความสามัคคี เพื่อให้รอดพ้น จากภาวะวิกฤตในช่วงการแพร่ระบาดโรค Covid-19
  


        กศน.จังหวัด ได้พลิกฟื้น พื้นที่ว่างเปล่า จำนวน 1 งาน หลังอาคารสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา พร้อมกับนำทีมงานจาก 3 หน่วยงาน ทั้ง กศน. วัฒนธรรม สถิติ มาร่วมกัน ขุดดิน ยกร่องเป็นแปลง นำเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆซึ่งมีทั้งผักบุ้ง ผักกาด แตงกวา มะเขือ พริก ลงปลูก พร้อมติดตั้งระบบน้ำ ให้กับแปลงผัก



        นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา บอกว่า เจ้าหน้าที่ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ได้มาร่วมปลูกผักบุ้ง น้อมนำศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง มาสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในโรคไวรัสโควิด-19 เพื่อให้น้องๆ ส่วนราชการ มีรั้วกินได้ไว้รับประทาน



        นางศิริรัตน์ ตัณฑศิริ สถิติจังหวัดยะลา บอกว่า วันนี้ได้เห็นถึงความสามัคคีของหน่วยงานใน จ.ยะลา มาร่วมกันปลูกผัก เพื่อให้น้องๆ ในที่ทำงาน 3 หน่วย คนรู้จักได้รับประทาน เชื่อว่าเราจะผ่าน โควิด-19 ไปด้วยกันได้



        ขณะที่ นางขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา บอกว่า สำหรับพื้นที่ในการจัดโครงการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตามนโยบายผู้ว่าฯยะลา  ทาง กศน.จังหวัดยะลา ได้ใช้พื้นที่ ที่ว่างเปล่า มาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พัฒนาเป็นแปลงปลูกผักเล็กๆ ขึ้นมา ให้น้องๆ ทีมงาน ได้มีผักทานกัน เหลือก็แจกจ่าย ถ้ามีมากก็จะจำหน่ายให้ประชาชน ในราคาย่อมเยา จะได้มีผักปลอดสารพิษรับประทาน


        ทั้งนี้ ก็ฝากทุกหน่วยงานทางการศึกษา ส่วนราชการต่างๆ ให้หันมาปรับพื้นที่ว่างเปล่า นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ถ้าไม่มีพื้นที่ก็สามารถปลูกใส่กระถาง หรืออื่นๆ ก็ได้

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563

โรงพยาบาลบันนังสตา ศูนย์รวมที่พึ่งพาของพี่น้องประชาชน

        ซึ่งแม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หลายหน่วยงานขณะนี้ได้ออกมาตรการในการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด


         โรงพยาบาลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่พบผู้ติดเชื้อยืนยันในบุคลากรทางการแพทย์และได้หยุดให้บริการเป็นชั่วคราว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ได้ทำการเปิดให้บริการแล้ว


           นายแพทย์วิกฤตนนากรณ์ คงแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบันนังสตา เปิดเผยกับทีมงานว่า ภาพรวมของการเปิดให้บริการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทางโรงพยาบาลมีการแยกโซนผู้ป่วยไว้อย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่เองเราก็จะแยกไม่ให้ปะปนกัน เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยวันนี้เริ่มมีผู้มารับบริการ แต่อาจจะยังไม่มากเหมือนที่ผ่านมา 


         ขณะนี้ เรามีความพร้อมประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะมีเจ้าหน้าที่บางคนที่ยังถูกกักตัวเพื่อดูอาการอยู่เพียง 1 ราย คาดว่าน่าจะให้บริการครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันถัดไป ส่วนกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์ขณะนี้ หลังจากที่ได้ทำการปิดโรงพยาบาลไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้มีผู้ใหญ่หลายท่านก็เข้ามาให้กำลังใจ 😍😁ซึ่งขณะนี้ทุกคนมีกำลังใจที่ดีเยี่ยม นี่เป็นหนึ่งของความรู้สึกที่อยากถ่ายทอดออกมา เพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญคือ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยังคงเป็นมาตรการที่จะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563

"หน้ากากอนามัยแบบผ้า"​ วิสาหกิจชุมชนแฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

         โครงการวิสาหกิจชุมชนแฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และในชุมชน ผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะนี้ และยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน


         ในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน ทางโครงการวิสาหกิจชุมชน แฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ได้เข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหา โดยได้จัดทำหน้ากากอนามัย แบบผ้า จำหน่ายในราคาถูก เพื่อประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วย ไว้ใช้สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยและทั่วโลก


          นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ในฐานะผู้จัดการโครงการวิสาหกิจชุมชน แฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะ บอกว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ทั้งในพื้นที่ ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร อาทิ สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สั่งซื้อเป็นจำนวนมาก กำลังการผลิต จากเดิม 3,000 ชิ้น ต่อวัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ


       ...ทางวิสาหกิจชุมชน แฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะ ได้หารือกับภาคีเครือข่าย และนำผู้มีประสบการณ์การตัดเย็บเสื้อผ้าในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมโครงการ เพื่อเสริมสร้างรายได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำด้วย มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ซึ่งได้ให้ความรู้ในเรื่องการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า และนำวัสดุกลับไปทำที่บ้าน...
         ทั้งนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นทันที โดยคำนวณจากถ้าคน 100 คน นำกลับไปเย็บที่บ้านคนละ 100 ชิ้น ต่อวัน ก็จะได้ 10,000 ชิ้น ต่อวัน ผนวกกับกำลังการผลิตของโครงการแฮนด์อินแฮนด์ฯ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว แต่ปริมาณงานที่มีเข้ามามากจำเป็นต้องมีเครื่องจักรมารองรับจึงได้กู้เงินตามโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย


       “...สืบเนื่องจากปริมาณงานที่มีเข้ามามาก สิ่งที่ควบคู่กับการจ้างงานคือการจะมีเครื่องจักรมารองรับให้เกิดการทำงานในโครงการแฮนด์อินแฮนด์ฯ ถือเป็นจังหวะที่ดีที่ทางรัฐบาลได้มีธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยมีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 0.01 ต่อปี ซึ่งถูกมาก ๆ หรือ 1 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยเพียง 100 บาท ได้ประสาน ธ.ก.ส.สาขารือเสาะ เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ขอขอบคุณทางรัฐบาลที่ได้มีโครงการดี ๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งของพลังกลุ่มการทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ...


          อย่างไรก็ตาม จากเดิมหน้ากากอนามัยมีราคาจำหน่ายต่อชิ้น 10 บาท เพราะต้องการช่วยเหลือสังคมด้วย แต่เมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้นและต้องจ้างบุคคลภายนอกเข้ามา จึงขอปรับราคาเป็นชิ้นละ 15 บาท เพื่อจ่ายเพิ่มเป็นค่าตอบแทน สร้างรายได้ และเพิ่มผลผลิตได้ตามที่กำหนดไว้
ขณะที่​ นางสาวมินตรา หว่าหลำ นักศึกษาระดับ ปวส.ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยอาชีวะศึกษาปัตตานี สาขาเทคโนโลยีแฟชั่นและสิ่งทอ กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาฝึกงานที่นี่ นอกจากได้รับความรู้และประสบการณ์แล้ว ยังได้จัดทำหน้ากากอนามัย พร้อมฝากทุกคนดูแลสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโรคโควิด-19
“...ได้มาฝึกประสบการณ์ ได้เรียนรู้การทำเสื้อต่าง ๆ และในช่วงนี้ก็ได้มีโอกาสทำหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยเหลือสังคม ก็รู้สึกภูมิใจ...


         สำหรับหน้ากากอนามัยที่ผลิตในโครงการแฮนด์อินแฮนด์ฯ ใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์แบบทอแน่น สามารถระบายอากาศได้ดี สวมใส่แล้วไม่อึดอัดในการหายใจ และซักก่อนใส่ทุกครั้ง โดยผสมน้ำยาฆ่าเชื้อลงไปได้ ตากแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้งาน ผู้สนใจสั่งซื้อหน้ากากอนามัยติดต่อได้ที่คุณโด่ง โทร.081-6097322 หรือเฟซบุ๊ก แฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะ

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2563

แลนด์มาร์คแห่งใหม่สวรรค์บ้านนาเทพา จ.สงขลา

         สถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ของอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนภาคใต้กันนะคะ นั่นคือ ทุ่งเกาะครกซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแดนสวรรค์บ้านนาที่ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา



         โดยช่วงเย็น ๆ บรรยากาศจะคึกคักเป็นพิเศษ มีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นมารับลมชมวิวกันอย่างล้นหลาม ยิ่งช่วงฤดูเกี่ยวข้าวท้องนาจะเต็มไปด้วยเมล็ดข้าวเหลืองอร่าม มีพ่อค้าแม่ค้าขายของกันอย่างเรียงราย ไม่ว่าเป็นข้าวยำ ลูกชิ้น ขนมหวาน และอาหารพื้นบ้านต่าง ๆ อีกมากมาย ราคาเป็นกันเองสามารถจับต้องได้ ห้าบาทสิบบาทขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าที่เข้าไปขายของจะเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้านเกาะ โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และคนในชุมชนในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน บางคนมาเป็นครอบครัว นั่งชิวบนศาลากลางทุ่งนา บางคนมากับเพื่อนแก๊งค์ถ่ายรูปสวย ๆ ลงโซเชียล และบางคนมาเป็นคู่รักสร้างความหวานแหววกลางทุ่งนา เพราะฉะนั้นเหมาะกับทุกวัยที่อยากมาสัมผัสกับบรรยากาศบริสุทธิ์ รับลมดี ๆ จากธรรมชาติ



           อยากให้ทุกท่านได้ลองเปลี่ยนบรรยากาศการท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตชนบท ด้วยต้นข้าวใบเรียวยาว ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย เดินเล่น ถ่ายรูป สูดอากาศสดชื่น พร้อมนั่งห้อยขาจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ บนสะพานไม้ที่ทอดยาวไปตามท้องนา บรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้เขียวขจีรายล้อม สำหรับใครที่สนใจจะมาชมบรรยากาศชิว ๆ แนะนำให้มาช่วงเย็น ๆ ได้ชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าพร้อมกับแสงท้องฟ้ายามเย็นสวย ๆ พร้อมสูดบรรยากาศไอดินกลิ่นรวงข้าว