ปัจจุบันตำบลภูเขาทอง
(มี 8 หมู่บ้าน) เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอสุคิริน ประชากรชาวตำบลภูเขาทอง
นอกจากชาวนราธิวาส ชาวใต้แล้ว
ก็ยังมีราษฎรที่อพยพมาจากที่อื่นๆโดยเฉพาะจากภาคอีสาน
ซึ่งได้นำประเพณีวัฒนธรรมติดตัวมาด้วยโดยเฉพาะประเพณีบุญบั้งไฟที่มีการจัดขึ้นเพียงหนึ่งเดียวในภาคใต้ที่
อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
หลายคนทราบกันดีว่าบุญบั้งไฟเป็นงานประเพณีเอกลักษณ์ของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาช้านานจัดขึ้นเพื่อบูชาพญาแถน
เทพเจ้าแห่งฝน ขอให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตกลงมาเพื่อที่จะได้ทำนาปลูกข้าว
ชาวอีสานจึงจัดงานบุญบั้งไฟขึ้นในช่วงเดือน 6 ก่อนเข้าฤดูฝน เช่นเดียวกับชาวอีสานที่เข้ามาอยู่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้จังหวัดนราธิวาส
ใน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน ก็ได้มีการจัดงานประเพณี “บุญบั้งไฟภูเขาทอง”
ขึ้น
ซึ่งปัจจุบันถือเป็นงานประเพณีบุญบั้งไฟหนึ่งเดียวแห่งดินแดนด้ามขวาน
“ชาวอีสานที่เข้ามาอยู่ใน ต.ภูเขาทอง ส่วนใหญ่ มาจากอีสานใต้ โคราช (นครราชสีมา)
บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ วันนี้มี 3 พันกว่าคน ประมาณ 80% ของประชากรในพื้นที่
คนอีสานที่มาอยู่ที่นี่ก็นำประเพณีของตัวเองติดตัวมา โดยเฉพาะกับงานแห่บุญบั้งไฟ
ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล แล้วก็จัดเป็นประเพณีต่อเนื่องเรื่อยมา” พันธ์
ตั้งอยู่ หนึ่งในชาวอีสานที่อพยพมาอยู่ที่บ้านภูเขาทองจนได้เป็นกำนันแห่งบ้านภูเขาทอง
เล่าให้ฟัง
ประเพณีบุญบั้งไฟภูเขาทอง
แรกเริ่มเดิมทีจัดขึ้นในช่วงปี 2522 ที่บ้านไอบาโจ
หลังจากนั้นแต่ละหมู่บ้านก็เวียนกันจัดเรื่อยมา กว่า 30 ครั้งแล้ว
ปัจจุบันประเพณีบุญบั้งไฟใน ต.ภูเขาทอง มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงกลางปี
ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายนของทุกปี
งานบุญบั้งไฟภูเขาทองแม้จะไม่ได้จัดใหญ่อลังการอย่างงานบุญบั้งไฟหลายๆแห่งในภาคอีสาน
แต่ก็เป็นงานประเพณีที่สนุก คึกคัก
ดูแล้วยังคงเสน่ห์ของความเป็นประเพณีดั้งเดิมเอาไว้มากกว่างานบุญบั้งไฟใหญ่ๆในหลายพื้นที่ที่ขณะที่ถือเป็นความพิเศษก็คือภาพความร่วมมือร่วมใจ
กลมเกลียวปรองดองกัน ทั้งระหว่างคนในพื้นที่ คนอีสาน - คนใต้, ไทยพุทธ - ไทยมุสลิม, ชาวบ้าน - เจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าไปช่วยดูแลความสงบเรียบร้อย
ซึ่งแต่ละปีนอกจากจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาเที่ยวชมงานบุญบั้งไฟภูเขาทองแล้ว
ก็ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวมาเลเซียเดินทางร่วมงานกันไม่น้อยเลย
--------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น