วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565

"ผ้าปะลางิง" คุณค่าแห่งงานศิลปวัฒนธรรมบนผืนผ้าชายแดนภาคใต้

ภูมิปัญญาชาวปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยแสดงออกผ่านผืนผ้าและแพรพรรณ ในนามผ้าปะลางิง ปัญญาที่ทรงคุณค่าในด้านศิลปวัฒนธรรมที่ควรแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่ ลวดลายบนพื้นผ้าปะลางิงและเส้นไหมรวมถึงเส้นดิ้นเงินดิ้นทองที่ใช้ทักทอผ้าชนิดนี้ คือเครื่องแสดงฐานะและบรรดาศักดิ์ของผู้สวมใส่ยกตัวอย่างเช่น ขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์สูงจะสวมใส่ผ้าปะลางิงที่ทอด้วยไหมแท้และอาจจะมีการผสมแล่งเงินแล่งทอง และมีลวดลายวิจิตร แต่สำหรับชนชั้นสามัญชนจะใช้ผ้าปะลางิงที่ทอด้วยฝ้าย ส่วนสีสันและลวดลายก็จะเป็นลายพื้นบ้าน ที่ไม่ใช้ในราชสำนักหรือใช้สำหรับขุนนางชั้นสูง




แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วง 70 ถึง 80 ปีที่ผ่านมานี้ผ้าปะลางิงได้ถูกหลงลืมไปจากสังคมของชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สาเหตุที่ผ้าชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยม อาจเป็นเพราะผลิตได้ยาก รวมถึงอาจจะไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาในการผลิตผ้าชนิดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องนับว่าเป็นข่าวดีที่ในปัจจุบันมีผู้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าไว้ได้แล้ว กระบวนการผลิตผ้าปะลางิงมีความซับซ้อนมากเมื่อเทียบกับการทำผ้าบาติกทั่วไป เพราะการทอผ้า การทำลวดลายและการมัดย้อมต้องใช้ความพิถีพิถันมากกว่า ลวดลายของผ้าปะลางิงแบบดั้งเดิมจะมีดังต่อไปนี้ ลายของกระเบื้องเคลือบโบราณ ลายช่องลมเหนือกรอบหน้าต่างบ้าน ลวดลายของขนมพื้นบ้านโบราณและลวดลายของการละเล่น อย่างเช่นการเล่นว่าว เป็นต้น




เสน่ห์ของผ้าปะลางิงอยู่ที่ลวดลายโบราณและสีสันที่จับคู่กันอย่างเป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่น สีที่ใช้ต้องเป็นสีตัดกัน เช่น สีเขียวตัดกับสีม่วงหรือสีเขียวตัดกับสีแดง การผลิตผ้าปะลางิงหนึ่งผืน ซึ่งมีความยาวประมาณ 2 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร 20 เซนติเมตร ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเกือบสองเดือน แต่ถ้าเป็นภาพที่มีลวดลายโบราณแท้จริง และสีหลายสี จะต้องใช้เวลาการผลิตที่นานขึ้น ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน นับเป็นรากเหง้าของขนบประเพณีและวัฒนธรรมที่สมควรจะได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่ให้กระจายออกไปในวงกว้าง เพราะมิฉะนั้นแล้วรากเหง้าของชุมชนและภูมิปัญญาของบรรพชนจะเลือนหายไปจากสังคมของเรา


--------------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น