วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

ลูกหยีกวนยะรัง “ต้นตำรับของความอร่อยที่ชายแดนใต้”

ต้นหยีเป็นเป็นพืชพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดใหญ่สูงใหญ่คล้ายต้นยางนา มีอายุยืนนับร้อยปีและสามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ในอดีตการปลูกต้นหยีมักปลูกเพื่อแสดงแนวเขตที่ดินหรือที่สวน ของตนเอง หรือนำไม้มาสร้างบ้าน ในอำเภอยะรังมีต้นหยีอายุเกินร้อยปีอยู่เกือบร้อยต้น มีต้นหยีรุ่นลูกรุ่นหลานรวม 3 พันกว่าต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีต้นที่ออกผลอยู่พันกว่าต้น ความพิเศษของต้นหยีก็คือ นับจากวันที่เริ่มปลูกจนถึงวันที่ออกผลนั้นต้องใช้เวลายาวนานราว 30 ปี ต้นหยีเกือบทั้งหมดที่ออกผลจึงเป็นรุกขมรดกที่บรรพบุรุษหลายรุ่นปลูกไว้ให้ การเก็บลูกหยีก็ต้องให้ผู้ชำนาญการปีนขึ้นไปถึงยอด แล้วตัดกิ่งที่มีผลลงมา ตัดกิ่งด้านไหน ปีหน้า ด้านนั้นก็จะไม่ออกผลอีก ต้องรอปีถัดไป เพราะต้นหยีจะออกผลตามกิ่งที่มีอายุเท่านั้น

จากบันทึกและเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาพบว่า เรื่องราวของลูกหยีปรากฏ ในเพลงกล่อมเด็กเป็นภาษามลายูท้องถิ่น ดังนี้ “โต๊ะแซยาแลยัยลีมอ ยาแงลูปอเวาะกายี” แปลว่า “ผู้เฒ่า ไปเที่ยวเมืองยะรัง ตอนกลับอย่าลืมลูกหยีนะ” จากบันทึกดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานได้ว่าลูกหยียะรังมีอยู่ใน พื้นที่มาแต่ดั้งเดิม และจากความชำนาญของคนในพื้นที่ในการปีนป่ายเก็บผลลูกหยีสุก ประกอบกับ ภูมิปัญญาของการเก็บรักษาผลลูกหยีและวิธีการแปรรูป พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ลูกหยียะรังในรูปแบบ ต่างๆ การแปรรูปลูกหยีคุณภาพดีที่สุดในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวคือ ลูกหยีเชื่อม จากนั้นก็จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำลูกหยี น้ำพริกลูกหยี เยลลี่ลูกหยี สบู่ลูกหยี และสินค้าที่คนคุ้นเคยกันดีอย่าง ลูกหยีกวน และลูกหยีฉาบ ปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสลูกหยีอีกด้วย

บ้านปูลาตะเยาะฆอ หมู่ที่ 5 ต.ระแว้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเรียกว่า ชุมชนดงต้นหยี แหล่งที่มีต้นหยีมากที่สุดในพื้นที่ อ.ยะรัง และชาวบ้านได้ทำการแปรรูปลูกหยีกันมาหลายชั่วอายุคน และเข้าร่วมโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ที่นี่มีต้นหยียักษ์โบราณอายุถึง 400 ปี ซึ่งน่าจะมีอายุมากที่สุดในประเทศไทย ความสูงก็ไล่เลี่ยกับตึก 10 ชั้น ความลับของความยาวนานของต้นหยีที่นี่นั่นก็คือการส่งต่อให้ลูกหลานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์ต้นหยี และกำหนดกฎในการดูแลรักษา โดยการเก็บลูกหยีนั้นที่นี่เขาจะเก็บปีเว้นปี

ทางด้านเศรษฐกิจที่นี่จะมีการทำในรูปแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บริหารการจัดการควบคุมตั้งแต่จุดเริ่มต้นการผลิตไปสู่การจำหน่าย โดยผลผลิตนั้นจะเก็บได้ในช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายนเท่านั้น ช่วงนี้ผลผลิตอยู่ในช่วงออกดอก แต่ในปีนี้มีการออกดอกน้อยมากทำให้ผลผลลิตมีจำนวนน้อย อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางด้านการส่งออกและจำหน่ายทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต่างประเทศ คือถ้าหากมีผลผลิตจำนวนน้อยเป็นที่ต้องต้องการทางตลาด ราคาก็จะสูงตามไปด้วย





----------------------


วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2565

กปิเยาะห์ และผ้าคลุมผม ...อาชีพบนฐานวัฒนธรรม

กปิเยาะห และ ผ้าคลุมผม เป็นองค์ประกอบสำคัญในวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมุสลิมที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งความต้องการนี้ได้กลายเป็นช่องทางใน การสร้างอาชีพ-สร้างรายได้ ให้กับพี่น้องมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มผลิตผ้าคลุมผมสตรี จำนวน ๑๐๙ กลุ่ม สมาชิก ๒,๘๒๖ คน และมีผู้ผลิตหมวกกปิเยาะห์จำนวน ๑๘๘ กลุ่มสมาชิก ๒,๑๖๗ คน โดยมีตลาดรองรับทั้งในและตลาดต่างประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ พบว่ามีการส่งออกกปิเยาะห์สูงถึง ๒๗๕ ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมาก แต่ชุมชนกลับไม่ได้ประโยชน์จากโอกาสนี้

ตำบลกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิต “กปิเยาะห์” แหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัด มีจำนวนผู้ผลิตกปิเยาะห์มากถึง ๗๘ กลุ่ม แต่ด้วยต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างขาย ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ส่งผลให้ราคาของกะปิเยาะห์ต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งที่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาเนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตขาดเงินทุนหมุนเวียนไม่สามารถกักตุนสินค้าไว้จนถึงฤดูกาลตลาดได้ หรือบางรายที่ใช้วิธีฝากกปิเยาะห์ไปกับกลุ่มผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ แล้วถูกโกงกลายเป็นหนี้สินนับล้านบาท ซึ่งปัญหาของผู้ผลิตกปิเยาะห์ส่วนใหญ่มักจะวนเวียนอยู่เช่นนี้...



อับดุล เล่าว่า จากการทบทวนสภาพปัญหาอาชีพการผลิตกปิเยาะห์ร่วมกัน ทำให้พบว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มไม่เข้มแข็งก็คือ “ความไม่รู้” กลุ่มผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตลาดอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร เพราะไม่รู้จึงคอยแต่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ที่จะคอยบงการว่าต้องผลิตรูปแบบใด จำนวนเท่าไหร่ และที่สำคัญคือ การกำหนดราคา แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่กลุ่มได้เรียนรู้ก็คือการที่หมวกกปิเยาะห์ถูกตีราคาต่ำ เป็นเพราะคุณภาพการตัดเย็บไม่ได้มาตรฐาน สมาชิกขาดทักษะด้านฝีมือ ขาดระบบการบริหารจัดการที่ดี ด้วยที่ผ่านมาประธานกลุ่มจะเป็นผู้จัดการทุกอย่างเพียงผู้เดียวแก้ไขอย่างเท่าทัน



         เมื่อรู้ถึง “เหตุแห่งปัญหา” ที่ชัดเจนการแก้ไขจึงทำได้ “ตรงจุด” จุดอ่อนต่างๆ ค่อยๆ ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นจุดแข็ง เริ่มการจัดทำฐานข้อมูลการผลิตกปิเยาะห์ในตำบลทั้งหมดศึกษารูปแบบ ระบบตลาดและเส้นทางการค้าของกปิเยาะห์ทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาทางเลือกในการเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับอำเภอ และจังหวัด พร้อมทั้งแสวงหารูปแบบการรวมกลุ่ม แหล่งทุน และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยศึกษาดูงานรูปแบบการบริหารจัดการของกลุ่มออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง


กระบวนการศึกษาเรียนรู้ทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้กลุ่มค้นพบข้อด้อยของกลุ่มเท่านั้น แต่ยังพบ “ศักยภาพ” หรือ “ทุน” ที่มีอยู่ในชุมชนหลายอย่างที่เอื้อให้กลุ่มผู้ผลิตสามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายด้วยตัวเอง เช่น รู้ว่า มีบุคลากรที่มีทักษะ มีความรู้ มีประสบการในการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีแหล่งทุน ที่พร้อมจะให้การสนับสนุน และมีภาคีที่จะช่วยหนุนเสริมในส่วนที่ขาด เป็นต้น

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตาลแว่น - ตาลเหลวของดีกะมิยอ เมืองปัตตานี

พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีต้นตาลจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูก แต่เป็นตาลที่ขึ้นตามธรรมชาติ และธรรมชาติของต้นตาล จะมีอายุยืนยาวเกินร้อยปี ให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องบำรุงรักษาเหมือนพืชชนิดอื่น ตำบลกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำตาลแว่น และ น้ำตาลเหลว ตำบลกะมิยอ มีทั้งสิ้น 7 หมู่บ้าน ในทุกหมู่บ้านมีชาวบ้านที่อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น เก็บน้ำตาลจากตาลโตนด นำมาแปรรูปเป็นตาลแว่น และน้ำตาลเหลว สร้างรายได้ 

คุณปาตีเมาะ มีฮะ เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนด และวิทยากรทำน้ำตาลแว่น หมู่ 4 ตำบลกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เล่าว่าเธอและสามี มีลูกทั้งหมด 14 คน ซึ่งทั้งคู่มีอาชีพเพียงการทำนา 10 ไร่ และการเก็บน้ำตาลโตนดมาผลิตเป็นน้ำตาลแว่นและน้ำตาลเหลวจำหน่าย และรายได้จากการผลิตน้ำตาลโตนดนี้ก็สามารถเลี้ยงดูครอบครัว ลูกเรียนจบปริญญาตรีไปแล้วหลายคน 


คุณปาตีเมาะ บอกว่าตาล เป็นพืชที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ตลอดทั้งลำต้น น้ำตาลนำมาแปรรูปจำหน่าย ผลนำไปขาย ใบนำมาทำเป็นภาชนะใส่น้ำตาลกวนเพื่อตากเป็นน้ำตาลแว่น และยังนำไปใช้มุงหลังคาได้ด้วย ส่วนเนื้อไม้ เมื่อต้องตัดโค่นหรือตาย ก็เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงและทนทานมาก ตาลให้ผลและน้ำตาลต่อเนื่องตลอดปี แต่ในฤดูที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพคือ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เมื่อเก็บน้ำตาลมาแล้ว ช่วงนั้นผลผลิตที่ได้จากตาลจะมีคุณภาพดีที่สุด น้ำตาลได้มาจากงวงหรือดอกของต้นตาล


คุณปาตีเมาะ เล่าว่า ต้องเลือกงวงที่ยาวที่สุดของต้น เมื่อติดผลเล็กๆ จะนวดที่ผลและงวง 4-6 วัน ผู้นวดจะพิจารณาเอง เมื่อเห็นว่านวดได้ที่แล้ว จะใช้มีดปาดตาลปาดลูกออกหมดเหลือเฉพาะแกนงวง แล้วทำน้ำหมักที่ทำจากน้ำโคลนหรือน้ำหมักสูตรของแต่ละครัวเรือน นำไปหมักกับแกนงวงไว้ โดยใช้กระบอกขนาดใหญ่แช่ น้ำหมักหรือน้ำโคลนนี้จะช่วยเร่งน้ำตาลออก ระยะเวลาหมัก 3-6 วัน เมื่อผ่านช่วงการหมักแล้ว ให้ลองปาดเป็นรอยนิดเดียว แล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อดูว่าน้ำตาลออกมากน้อยเท่าไหร่โดยยังไม่รองน้ำตาลตอนนั้น จากนั้น 2-3 วันที่ทิ้งไว้รอดูปริมาณน้ำตาลที่ไหลออกมา จึงนำกระบอกไปแขวนรองน้ำตาลที่หยด

ส่วนการทำน้ำตาลแว่น เคี่ยวด้วยวิธีเดียวกับการทำน้ำตาลเหลว แต่ใช้เวลาเคี่ยวนานกว่า ประมาณ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำไปหยอดใส่แว่น (ภาชนะทำจากใบตาล ขดเป็นแว่นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว) ตากทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วเก็บไปจำหน่าย โดยไม่แกะออกจากแว่น การเคี่ยวน้ำตาลไม่ควรใช้แก๊ส เพราะความร้อนจะไม่สม่ำเสมอและควบคุมความร้อนไม่ได้ ไม่เหมือนการใช้ฟืน เตา ถูกเรียกภาษาท้องถิ่นว่า นม วัสดุที่ใช้ปั้นเป็นเตา คือ ดิน และแต่ละครัวเรือนที่ผลิตน้ำตาล จะปั้นเตาให้มีขนาดตามแต่สูตร เรียกว่า นมโต นมเล็ก นมสูง นมต่ำ ตามภาพที่เห็น  ราคาจำหน่ายน้ำตาลแว่น ขายกิโลกรัมละ 80 บาท น้ำตาลเหลว ขายกิโลกรัมละ 100 บาท  

คุณปาตีเมาะ วางจำหน่ายที่หน้าบ้านในชุมชน หากต้องการน่าจะต้องเข้าไปซื้อถึงที่ หรือลูกค้าที่อยู่ต่างถิ่น ต้องการน้ำตาลแว่น น้ำตาลเหลว ไม่เจือปน 100 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถสั่งล่วงหน้าได้ อาจต้องรอนิดหน่อย เพราะคุณปาตีเมาะ ไม่ได้ทำสต๊อกไว้ เป็นการผลิตวันต่อวันเมื่อมีออเดอร์เข้ามาเท่านั้น สนใจติดต่อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่แปรรูปจากภูมิปัญญาชาวบ้าน คุณภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดปัตตานี โทรศัพท์ (073) 460-097


---------------------------