วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

ลูกหยีกวนยะรัง “ต้นตำรับของความอร่อยที่ชายแดนใต้”

ต้นหยีเป็นเป็นพืชพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดใหญ่สูงใหญ่คล้ายต้นยางนา มีอายุยืนนับร้อยปีและสามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ในอดีตการปลูกต้นหยีมักปลูกเพื่อแสดงแนวเขตที่ดินหรือที่สวน ของตนเอง หรือนำไม้มาสร้างบ้าน ในอำเภอยะรังมีต้นหยีอายุเกินร้อยปีอยู่เกือบร้อยต้น มีต้นหยีรุ่นลูกรุ่นหลานรวม 3 พันกว่าต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีต้นที่ออกผลอยู่พันกว่าต้น ความพิเศษของต้นหยีก็คือ นับจากวันที่เริ่มปลูกจนถึงวันที่ออกผลนั้นต้องใช้เวลายาวนานราว 30 ปี ต้นหยีเกือบทั้งหมดที่ออกผลจึงเป็นรุกขมรดกที่บรรพบุรุษหลายรุ่นปลูกไว้ให้ การเก็บลูกหยีก็ต้องให้ผู้ชำนาญการปีนขึ้นไปถึงยอด แล้วตัดกิ่งที่มีผลลงมา ตัดกิ่งด้านไหน ปีหน้า ด้านนั้นก็จะไม่ออกผลอีก ต้องรอปีถัดไป เพราะต้นหยีจะออกผลตามกิ่งที่มีอายุเท่านั้น

จากบันทึกและเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาพบว่า เรื่องราวของลูกหยีปรากฏ ในเพลงกล่อมเด็กเป็นภาษามลายูท้องถิ่น ดังนี้ “โต๊ะแซยาแลยัยลีมอ ยาแงลูปอเวาะกายี” แปลว่า “ผู้เฒ่า ไปเที่ยวเมืองยะรัง ตอนกลับอย่าลืมลูกหยีนะ” จากบันทึกดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานได้ว่าลูกหยียะรังมีอยู่ใน พื้นที่มาแต่ดั้งเดิม และจากความชำนาญของคนในพื้นที่ในการปีนป่ายเก็บผลลูกหยีสุก ประกอบกับ ภูมิปัญญาของการเก็บรักษาผลลูกหยีและวิธีการแปรรูป พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ลูกหยียะรังในรูปแบบ ต่างๆ การแปรรูปลูกหยีคุณภาพดีที่สุดในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวคือ ลูกหยีเชื่อม จากนั้นก็จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำลูกหยี น้ำพริกลูกหยี เยลลี่ลูกหยี สบู่ลูกหยี และสินค้าที่คนคุ้นเคยกันดีอย่าง ลูกหยีกวน และลูกหยีฉาบ ปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสลูกหยีอีกด้วย

บ้านปูลาตะเยาะฆอ หมู่ที่ 5 ต.ระแว้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเรียกว่า ชุมชนดงต้นหยี แหล่งที่มีต้นหยีมากที่สุดในพื้นที่ อ.ยะรัง และชาวบ้านได้ทำการแปรรูปลูกหยีกันมาหลายชั่วอายุคน และเข้าร่วมโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ที่นี่มีต้นหยียักษ์โบราณอายุถึง 400 ปี ซึ่งน่าจะมีอายุมากที่สุดในประเทศไทย ความสูงก็ไล่เลี่ยกับตึก 10 ชั้น ความลับของความยาวนานของต้นหยีที่นี่นั่นก็คือการส่งต่อให้ลูกหลานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์ต้นหยี และกำหนดกฎในการดูแลรักษา โดยการเก็บลูกหยีนั้นที่นี่เขาจะเก็บปีเว้นปี

ทางด้านเศรษฐกิจที่นี่จะมีการทำในรูปแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บริหารการจัดการควบคุมตั้งแต่จุดเริ่มต้นการผลิตไปสู่การจำหน่าย โดยผลผลิตนั้นจะเก็บได้ในช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายนเท่านั้น ช่วงนี้ผลผลิตอยู่ในช่วงออกดอก แต่ในปีนี้มีการออกดอกน้อยมากทำให้ผลผลลิตมีจำนวนน้อย อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางด้านการส่งออกและจำหน่ายทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต่างประเทศ คือถ้าหากมีผลผลิตจำนวนน้อยเป็นที่ต้องต้องการทางตลาด ราคาก็จะสูงตามไปด้วย





----------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น