วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

‘กริชรามันห์’ ศาสตราภรณ์แห่งวัฒนธรรมมลายู

        ในอดีตสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คืออาณาจักรปาตานีที่สืบทอดมาจากอาณาจักรลังกาสุกะ ประชากรส่วนใหญ่มีอัตลักษณ์และดำเนินชีวิตด้วยวัฒนธรรมมลายู นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ จึงมีขนบธรรมเนียมแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ทั้งภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเชื่อความศรัทธา 

        ‘กริชคือหนึ่งในความเชื่อ สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมุสลิมมลายู ในอดีตเคยเป็นที่นิยมแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ไม่เพียงเฉพาะชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม แต่ยังเลื่องลือไปถึงอีกหลายประเทศทางตอนใต้ เรื่องราวความเป็นมาของกริชรามันห์แม้จะยังไม่มีหลักฐานจารึกที่แน่ชัด แต่มีปรากฏทั้งในตำนาน เรื่องเล่า ศิลปะการต่อสู้และการแสดง บนความเชื่อทางศาสนาและภูมิปัญญาท้องถิ่น กริชเป็นทั้งอาวุธประจำตัว อาภรณ์ประดับกาย วัตถุมงคล ไปจนถึงเครื่องรางของขลัง ทั้งเจ้าเมือง ขุนนาง ตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถมีกริชไว้ในครอบครองได้ไม่ต่ำกว่า 1 เล่ม หรือบางครอบครัวอาจมีกริชประจำตระกูลที่สืบทอดส่งต่อกันมา

      ปี 2482 หลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดตั้งสภาวัฒนธรรม ออกนโยบายรัฐ 12 ประการ สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับชนชาวไทย เช่น ให้ประชาชนสวมหมวก แต่งกายแบบไทย กำหนดวัฒนธรรมไทย ห้ามพูดภาษามลายู และข้อห้ามอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นช่างทำกริชหรือบรรดาผู้ที่มีกริชไว้ในครอบครองต่างหวาดกลัวว่าจะถูกทางการไทยเพ่งเล็งด้วยข้อหาครอบครองอาวุธร้ายแรง ความนิยมการใช้กริชในฐานะอาวุธประจำกาย เครื่องประดับ และใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมตามวิถีมุสลิมจึงค่อยๆ หายไป ชาวบ้านเริ่มเก็บกริชประจำตระกูลไว้ในที่ลับ บ้างลืมเลือนกันไป บ้างขายต่อให้กับพ่อค้ารับซื้อของเก่า ช่างทำกริชจำนวนไม่น้อยต้องจำใจล้มเลิกอาชีพที่ตนรัก หรือหากยังฝืนทำต่อก็ต้องทำอย่างหลบซ่อน และนำออกมาใช้ต่อเมื่อมีงานบุญใหญ่

 

        ในช่วงปี 2532 ตีพะลี อะตะบู ครูภูมิปัญญา ยอดฝีมือช่างทำกริช และหัวหน้าคณะวิจัยชุด การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำกริชรามันห์ ตำบลตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาขณะนั้นเป็นครูสอนศาสนา ครูสอนวิชาชีพที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และทำงานรับจ้างทั่วไปโดยเฉพาะงานช่าง สมัยนั้นมีพ่อค้าชาวต่างชาติเข้ามากว้านซื้อกริชจากคนในพื้นที่จำนวนมาก นานวันเข้ากริชโบราณที่มีมาแต่เดิมก็ยิ่งหายากและร่อยหรอไป เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ วันหนึ่งกริชรามันห์อาจหลงเหลือเพียงแค่ตำนาน ครูตีพะลีจึงคิดทดลองทำกริชขึ้นใหม่ โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบและลวดลายโบราณของชาวมลายูมุสลิม

  

        ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายชั้นต้นจากตีพะลี ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยชาวบ้านที่ปลุกปั้นกริชรามันห์ให้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่เกือบทำให้กริชรามันห์สูญหายไปจากวัฒนธรรมมลายู กระทั่งมีการฟื้นฟูจนผู้คนมองเห็นคุณค่า และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้ทำวิจัยด้วยตัวเอง เพื่อฟื้นฟูองค์ความรู้ในฐานะจิตวิญญาณ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และอาชีพ ผลลัพธ์ที่ได้คือ กระบวนการวิจัยที่เกิดขึ้นจากการร่วมคิดร่วมทำของชาวบ้านในช่วงปี 2543-2545 และสามารถผลิตเป็นผลงานเชิงวิชาการในปี 2546 โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุน ทว่าสิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าความสำเร็จของการทำวิจัยครั้งนี้คือ การพลิกฟื้นศิลปวัฒนธรรมกริชรามันห์และอาชีพช่างทำกริชที่เกือบสูญสลายไปกับกาลเวลา ให้กลับมารุ่งโรจน์และเป็นที่นิยมแพร่หลาย สามารถสืบทอดมรดกภูมิปัญญาไว้ได้ถึงปัจจุบัน

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"มาแกปูโล๊ะ - มาแกแต" ประเพณีไทยดั้งเดิมของชาวมุสลิมท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนใต้


"มาแกปูโล๊ะ - มาแกแต"  ประเพณีไทยดั้งเดิมของชาวมุสลิมท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนใต้

ประเพณีมาแกปูโล๊ะเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมของชนชาวมลายูท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการสืบทอดกันมาช้านาน ตั้งแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อท้องถิ่นมลายูก่อนที่จะรับเอาศาสนาอิสลามในเวลาต่อมา ช่วงที่ยังนันถือศาสนาพราหมณ์นั้นในการจัดงานแต่ละครั้งจะมีวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่ไม่เหมือนกับปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วจะนับถือพวกผี เทวดา เจ้าที่ เจ้าทาง พิธีกรรมบางอย่างจะอยู่ในรูปของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ เมื่อศาสนาอิสลามเข้ามีบทบาทมากขึ้นมีการเผยแพร่ศาสนากระจายในวงกว้างขึ้น และมีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่มาก ซึ่งได้สอนถึงการนับถือพระจ้าองค์เดียว (อัลลอฮฺ) เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ประเพณีบางอย่างในอดีตค่อยๆหายไปเพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการของอิสลาม (ซิริก) แต่ไม่ใช่ว่าสูญหายไปแต่จะถูก ปรับ เปลียนอย่างไรจึงจะสามารถดำเนินอยู่ได้ในชุมชนมุสลิมบางชุมชนถึงทุกวันนี้ได้  และจากที่วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปทำให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคนนั้นอย่างไร



มาแกปูโล๊ะเป็นภาษามลายูท้องถิ่นของ 3 จังหวัดภาคใต้ ตรงกับภาษาไทยว่า "กินเหนียว" มาแกปูโละเป็นประเพณี "กินเลี้ยง" ของท้องถิ่น นิยมทำกันทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมภาคใต้ ในกลุ่มของชาวมุสลิมนั้น "มาแกปูโละ" หมายถึงงานกินเลี้ยงใน งานแต่งงาน งานเข้าสุหนัด หรือเพื่อหาเงินกิจกรรมอะไรสักอย่างก็ได้ แต่สำหรับชาวไทยพุทธหมายถึงงานเลี้ยงแต่งงานอย่างเดียว ความจริงเมื่อไปในงานนี้แล้ว ไม่ได้ไปกินข้าวเหนียว หากแต่ไปกินข้าวเจ้าเหมือนงานกินเลี้ยง ทั่วไป สันนิษฐานว่า เดิมคงกินข้าวเหนียวกันจริง ๆ แต่เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปจน กลายเป็นข้าวเจ้า แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกว่ากินเหนียวอยู่

ในท้องถิ่นมลายูในจังหวัดชายแดนใต้มีการเรียกงานมาแกปูโล๊ะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละงาน เช่น งานดุหรี งานมาแกแต  งานมาแกปูโล๊ะ งานแบะเวาะห์   หรือกินเหนียวและกินบุญของชาวไทยพุทธนั้นเอง และอีกความหมายหนึ่งนั้นหมายถึง เป็นการตั้งคำถามกับหนุ่มสาวว่าเมื่อไหรจะมาแกปูโล๊ะกับเขาบ้าง( เมื่อไหรจะมีงานแต่งงานเป็นของตนเอง ) 

คำว่า "กินเหนียว" ในกลุ่มชาวพุทธมักจะหมายถึงงาน "แต่งงาน" มากกว่างานอย่างอื่น เช่น บ้านใดมีลูกสาวหรือลูกชายควรแก่วัยจะมีเหย้ามีเรือนได้แล้ว ก็มะมีคนถามว่า "บ้านนี้เมื่อไร จะได้กินเหนียว" การกินเหนียวในกลุ่มชาวพุทธ แขกได้กินเหนียวจริง ๆ กล่าวคือ หลังจาก รับประทานอาหารคาวซึ่งจะมีอาหารชนิดต่างๆ เสร็จแล้ว เจ้าของงานจะถอนชามกลับ แล้วยกเอา "ข้าวเหนียว" มาเลี้ยงต่อ "ข้าวเหนียว" ที่ได้รับประทานกันในงานแต่งงาน มีหลายแบบ เช่น เหนียว สีขาวธรรมดาหรือสีเหลืองคู่กับสังขยา หรือมะพร้าวผัดกับน้ำตาลเรียกว่า "หัวเหนียว" บางแห่งก็ใช้ ข้าวเหนียวแก้ว บางแห่งใช้กะละแมเป็นหัว ถ้าเป็นสมัยก่อนลงไปอีกหน่อย แขกสตรีเมื่อไปช่วยงาน จะเอาข้าวสาร ขมิ้น พริกขี้หนู กระเทียม ตลอดจนเครื่องครัวอื่น ๆ ใส่ "หม้อเหนียว" ไปช่วยงานแทน เงิน กรณีนี้เจ้าของงานจะต้องห่อข้าวเหนียวใส่ "หม้อเหนียว" กลับไปให้เจ้าของหม้ออีกด้วย แต่ โดยทั่วไปแล้ว สำหรับแขกสตรีแม้ไม่มี "หม้อเหนียว"ไปก็จะได้รับห่อข้าวเหนียวกลับบ้านเสมอ


อาหารที่นิยมเลี้ยงในงานมา แกปูโล๊ะก็จะเป็นอาหารธรรมดา เช่น พะแนงเนื้อ มัสมั่น กอและ คั่วเนื้อ นาสิกราบู (ข้าวยำ)  ขนมจีนเป็นต้น ในชนบทจริง ๆ เครื่องเคียงอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะขาดไม่ได้ คือ "ษมา" พริกตำกับเกลือ ปรุงรสให้อร่อยมีสีแดงน่ารับประทาน) สำหรับในตัวเมืองอาหารก็พิสดารไปตามความนิยม ถ้า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้รับเชิญไปในงานกับข้าวที่ต้อนรับก็จะจัดกันพิเศษไปจากการต้อนรับแขกทั่วไป ถือว่าเป็นการให้เกียรติกันเป็นพิเศษ



ประเพณีมาแกแต เป็นภาษามลายูท้องถิ่น แปล่ว่า กินน้ำชา เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเพณีมาแกแต หรือกินน้ำชา ไม่ใช่วัฒนธรรมทางศาสนาอิสลาม แต่เป็นเรื่องที่สังคมในท้องถิ่นคิดจัดขึ้นมาเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการหาเงิน เนื่องในกรณีต่างๆ เช่น
1.หาเงินเพื่อสร้างโรงเรียน มัสยิด สุเหร่า ศาลา ฯลฯ ซึ่งเป็นศาสนสถานต่างๆ
2.หาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเมกกะฮฺ ซึ่งไม่ใช่บัญญัติของศาสนา
3.หาเงินไปใช้จ่ายในกรณีต่างๆ เช่น ขับรถยนต์ชนคน ชำระหนี้สิน ซื้อปืน หรือถูกจับในข้อหาต่างๆ


สำหรับชุมชนบางตาวานั้นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นยังมี มาแกแต กรณีลูกต้องไปเกณฑ์ทหารแต่ผู้ปกครองไม่อยากให้ไปอาจจะด้วยเหตุผลต่างๆ จึงต้องการจ่ายเพื่อให้ลูกพ้นจากที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร และยังมีกรณีเรือล้มด้วย

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"สุดยอดนำ้บูดูชายแดนใต้" บ้านบาแฆะ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส

 

วิถีชีวิตของชาวนราธิวาสที่อยู่ใกล้ริมฝั่งทะเล จะมีอาชีพทำการประมง ซึ่งสามารถนำปลาที่เหลือจากการจำหน่ายและการบริโภคไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ อาทิ น้ำบูดู ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม และใช้เป็นวิธีการแปรรูปอาหาร น้ำบูดูมีลักษณะคล้ายน้ำปลาแต่น้ำข้นกว่า


โดยนายประภาณ จุลยานนท์ หรือเปาะนิ หนึ่งในเจ้าของธุรกิจน้ำบูดู กล่าวว่า ตนเองทำน้ำบูดูขายมากว่า 20 ปี มีลูกน้อง 4-5 คน ส่วนตัวมองว่าจุดเด่นของบูดูของตนที่ทำให้แตกต่างจากที่อื่น และเป็นที่นิยมบริโภคของลูกค้า เพราะอาศัยความได้เปรียบของสถานที่ตั้งที่จุดทะเลบาเฆะ (ปาตา) ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส

“...ทำแบบครัวเรือน มีบ้านอยู่ริมทะเล นำโอ่งที่ใส่น้ำบูดูวางบนพื้นดิน ประกอบกับอากาศร้อนตลอดวัน ทำให้ไม่มีหนอนไม่มีแมลงวัน และกลิ่นไอทะเลก็ทำให้น้ำบูดูมีกลิ่นหอม...

ด้านนางเจ๊ะสือกะ ดอเล๊าะ ชาวบ้านหมู่ที่ 2 บ้านบาเฆะ ลูกจ้าง เล่าวว่า สมัยปู่ย่าตายายก็ทำน้ำบูดู ตนเองเป็นรุ่นที่ 3 การผลิตน้ำบูดูสามารถทำได้ ดังนี้ นำปลากะตัก ปลาหลังเขียวตัวเล็ก ๆ ซึ่งเป็นปลาทะเลน้ำลึกมาเทใส่กระบะ ไม่ต้องล้างน้ำเปล่า เพราะปลาทะเลน้ำลึกจะสะอาด จากนั้นผสมกับเกลือ อัตราส่วนปลา 100 กิโลกรัม เกลือ 30 กิโลกรัม และนำไปหมักในโอ่งทิ้งไว้ 6 เดือน ก็สามารถนำไปรับประทานได้

ขณะที่นางรีลา อูมาโมง ชาวบ้านหมู่ที่ 2 บ้านบาเฆะ ลูกจ้างอีกคน กล่าวเสริมว่า คิดว่ายิ่งหมักนานจะยิ่งอร่อยนะ แล้วแต่คนชอบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 8 เดือน-1 ปี

 

“...คนใต้ คนไทยมุสลิม ชื่นชอบการรับประทานน้ำบูดู แต่ปัจจุบันก็เป็นที่นิยมทั่วไป น้ำบูดูนำไปใส่ข้าวยำ หรือใช้ 1-2 ช้อนโต๊ะ หมักเนื้อหมักปลา ใส่แกงส้ม ก็อร่อยกว่าใส่เกลือ รสชาติจะกลมกล่อมกว่า บางคนก็ทำน้ำพริกทุเรียนใส่เนื้อบูดู ทำได้หลายเมนู...

 




นางสาวรุสมีนา เซะ ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส ที่มาซื้อน้ำบูดู บอกว่า น้ำบูดูของเปาะนิ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ไม่เค็มมาก ชอบทำเมนูน้ำบูดูใส่พริก บีบมะนาว กินกับข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยแล้ว พร้อมบอกอีกว่ามาซื้อหลายครั้งแล้ว จนกลายเป็นลูกค้าประจำ

 

น้ำบูดูที่นี่ยังเน้นความสะอาดในขั้นตอนการผลิต ที่สำคัญต้องไปซื้อถึงที่ ณ ที่ตั้งจุดทะเลบ้านบาเฆะ (ปาตา) มีจำหน่ายแบบน้ำใส น้ำกลาง น้ำข้น ทั้งบรรจุถุง บรรจุขวด แต่ย้ำว่ายังไม่มีบริการส่ง หากใครสนใจคงต้องโทรไปสอบถามกับคุณประภาณ หรือเปาะนิ โทร.081-0978174 โดยตรง

สำหรับน้ำบูดู จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่าน้ำบูดูมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และวิตามิน รวมทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

“ปูตูฮาลือบอ” ขนมพื้นบ้านภาคใต้

“ขนมปูตูฮาลือบอ”  เป็นขนมพื้นบ้านของคนมุสลิมในภาคใต้ที่มีมาตั้งแต่อดีตจากคําเล่าของคนเฒ่าคนแก่ได้เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ดั้งเดิม ขนมปูตูฮาลือบอนั้นมาจากรัฐตรังกานู 

ประเทศมาเลเซีย ขนมปูตูฮาลือบอเป็นคําที่มาจากประเทศมาเลเซีย ไม่มีประวัติที่ชัดเจนว่าใครเป็นคนคิดคน และใครเป็นผู้นําเข้ามาในประเทศไทยคนแรก แต่ได้ถูกถ่ายทอดต่อจากรุ่นสู่รุ่นอัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)ขนมปูตูฮาลือบอ เป็นขนมที่ชาวมุสลิมมลายูนิยมทําและรับประทานในช่วงฤดูฝน เนื่องจากชาวบ้านในท้องถิ่นภาคใต้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกรีดยาง ดังนั้นเมื่อเขาฤดูฝน ชาวบ้านในพื้นที่จะกรีดยางไม่ได้รายได้ขาดแคลน และประชาชนในท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงนิยมอยู่บ้านหาวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างมันสําปะหลังมาทําขนมปูตูฮาลือบอเพื่อใหสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ช่วงฤดูฝนความสําคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดําเนินชีวิตของชุมชนนั้นๆตือปงปูตูฮาลือบอเป็นขนมที่สําคัญและมีคุณค่าครอบครัวชุมชน และสังคม การทําตือปงปูตูฮาลือบอผู้เฒ่าผู้แก่จะนิยมทําในช่วงฤดูฝน เนื่องจากคนในชุมชนกรีดยางไม่ได้จึงหาวิธีหาวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างมันสําปะหลังมาทําเป็นขนมปูตูฮาลือบอ การเดินทางไปมาก็ลําบาก

การส่งเสริมให้ครอบครัวร่วมกันทําขนมและรับประทานตือปงปูตูฮาลือบอร่วมกัน และตือปงปูตูฮาลือบอสามารถนําไปจําหน่ายได้ ส่งเสริมการสร้างรายได้ในครอบครัวและชุมชนให้ครอบครัวมีรายได้จากการขายขนมในช่วงฤดูฝน ส่งเสริมให้ชุมชนเข็มแข็ง ดังนั้นขนมปูตูฮาลือบอเป็นขนมที่มีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และควรส่งเสริมและอนุรักษาภูมิปัญญาการทําขนมปูตูฮาลือบอให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบไป

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ลิเกฮูลู ศิลปะพื้นบ้านสร้างรักษ์ชุมชนท้องถิ่น


 

         การสร้างความสุขของผู้คนในชุมชนให้กลับคืนมาดังเช่นอดีตนั้น นับว่าเป็นความปรารถนาสูงสุดของ เจะปอ สะแม ศิลปินดิเกร์ ฮูลู ผู้เป็นปราชญ์ท้องถิ่นจากเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านดิเกร์ ฮูลู แห่งตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสืบสานงานศิลป์ รักษ์ถิ่นแดนใต้ จังหวัดปัตตานี” สนับสนุนโดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 


         เจะปอ สะแม ผู้ริเริ่มนำ ‘ดิเกร์ ฮูลู’ ศิลปะท้องถิ่นมาเป็นสื่อกลางให้ชาวบ้านสนใจและเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เล่าให้ฟังว่า ตนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมหนุ่มสาวในท้องถิ่นต่างหันหลังให้กับบ้านเกิด มุ่งหน้าหางานทำในเมืองใหญ่ เหลือแต่เพียงคนเฒ่าคนแก่ ตนจึงเก็บรวบรวมข้อมูลในท้องถิ่น และพบว่า ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตของชุมชน กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป

          “จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สาเหตุการลดลงอย่างต่อเนื่องของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล บริเวณอ่าวปัตตานีคือ การทำประมงโดยใช้ ‘อวนลาก อวนรุน’ เมื่อทรัพยากรลดน้อยลง การดำรงชีวิตก็เปลี่ยนแปลง การโยกย้ายที่ทำกินจึงเกิดขึ้น” เจะปอ สะแม บอก

          เจะปอ เล่าให้ฟังว่า ตนเป็นศิลปินพื้นบ้าน หากนำศิลปะท้องถิ่นอย่าง ‘ดิเกร์ ฮูลู’ เป็นตัวเชื่อมโยงกับเยาวชนและชาวบ้านในชุมชน สร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้จะเริ่มเปลี่ยนเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การรณรงค์ทิ้งขยะให้ถูกที่ ก็อาจจะสร้างความสนใจได้มากขึ้น



         เจะปอ เล่าต่ออีกว่า เมื่อรวมกลุ่มกับผองเพื่อนและลูกหลานได้ จึงเริ่มต้นการแสดงดิเกร์ ฮูลู แต่เปลี่ยนเพื่องานรื่นเริงเพียงอย่างเดียว เป็นการแสดงเพื่อเชิญชวน บอกเล่า ปลูกจิตสำนึก และสร้างกระแสอนุรักษ์ในท้องถิ่น โดยนำเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้าน มารวบรวมและเขียนเป็นเพลง แต่งเป็นกลอน เพื่อสะท้อนให้พวกเขารับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

          “ตนนำดิเกร์ ฮูลู ไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ บางสถานที่พวกเราสมัครใจไป ถึงแม้ไม่มีใครจ้าง แต่เพราะเราต้องการเผยแพร่ และปลูกจิตสำนึกให้หลายๆ คนรู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด และฟื้นฟูศิลปะการแสดงนี้ให้กลับคืนมาด้วย” ศิลปินดิเกร์ ฮูลู บอก

          หลังจากการออกแสดงดิเกร์ ฮูลู ตามพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตนได้พูดคุยกับชาวบ้าน พบว่า 24 ชุมชน เห็นด้วยเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง และสาเหตุสำคัญเกิดจากการใช้อวนลาก อวนรุน ทำประมงของชาวบ้านจริงๆ



        จากแต่ก่อนมีเรือใช้อวนลาก อวนรุนถึง 600 ลำ ในบริเวณอ่าวปัตตานี แต่เมื่อนำดิเกร์ ฮูลู ออกเผยแพร่ตามสถานที่ต่างๆ โดยใช้เนื้อหาที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลทั้ง สัตว์ทะเล ป่าชายเลน ปัญหาน้ำเสีย ปรากฏว่า เรือประมงของชาวบ้านยกเลิกการใช้อวนลาก อวนรุน มากกว่า 590 ลำ ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่ลำเท่านั้นที่ยังคงใช้อยู่

          เจะปอ เล่าต่อว่า ดิเกร์ ฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้าน สมัยก่อนจะแสดงตามงานรื่นเริงต่างๆ ทั้งงานสมรส พิธีเข้าสุหนัต หรือวันสำคัญทางประเพณีต่างๆ ของมุสลิม เป็นการละเล่นที่มีความสนุกสนาน ผู้เล่นยังได้ออกกำลังกายไปในตัว ทั้งท่าปรบมือ การตีรำมะนา แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสิ่งเหล่านี้ก็เริ่มสูญหาย และไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน         

          “ตนเริ่มแสดงดิเกร์ ฮูลู ตั้งแต่นั้นปี 2536 เพราะคิดว่า ควรสานต่อศิลปะแขนงนี้ เพื่อเป็นมรดกสืบทอดทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ และที่สำคัญคือ เด็กๆ และเยาวชนจะได้ไม่ลืมศิลปะท้องถิ่นของตน อีกทั้งได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สอดแทรกมากับบทเพลง รวมทั้งปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเอง และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชนให้กลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย” เจะปอบอกทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

 “โรตีน้าน นาน ไร้น้ำมัน” กรอบนอกนุ่มใน สายสุขภาพห้ามพลาด

ลุกซ์ใหม่ “โรตีน้าน นาน ไร้น้ำมัน” กรอบนอกนุ่มใน สายสุขภาพห้ามพลาดของอร่อย ที่ THE CHAPATI ยะลา

           ใครสายสุขภาพ ที่เคยได้ทานโรตีไร้น้ำมัน ที่ ร้าน THE CHAPATI อ.เมือง จ.ยะลา ไม่ควรพลาดลุกซ์ใหม่ จากโรตีแผ่นบางๆ ซึ่งทำมาจากแป้งโรตีโฮมวีค แป้งอัตตา นำมาทอด โดยไม่ใช้น้ำมันตอนนี้มีแบบเป็นขนมปัง ยาวๆ นำมาคลุกเคล้ากับเกล็ดแป้ง แล้วนำไปขึ้นเตาทอดไม่ใช้น้ำมัน นุ่มๆ เมื่อทานกับแกง แพะ แกงเนื้อ แกงถั่วดาน ถั่วลูกไก่ แกงสมองวัว แกงเป็ด หลายๆคนที่ได้ทานแล้วต่างบอกว่า รสชาติอร่อย จริงๆ เหมาะกับสายที่รักสุขภาพ โดยผู้ที่มาทาน ส่วนใหญ่ก็จะมาทานกันเป็นประจำเช้าๆ เกือบทุกวัน ไม่มีไขมันกรอบนอกนุ่มใน ส่วนแกงก็อร่อยทุกแกง

นายเจะอิสมาแอ เจ๊ะโมง บอกว่า ชอบทานโรตีจาปาตี ร้านนี้เปิดมานานแล้ว 4-5 ปีใน 3 จังหวัดมีชื่อเสียงมานาน เป็นจุดขายอย่างหนึ่งของ จ.ยะลา จะมาทานเป็นประจำโรตีไม่มีน้ำมันอาหารถูกปาก สดอร่อยด้วย ครึ่งวันก็หมดแล้ว สำหรับ รสชาติโรตี แกง เหมือนกับได้ทานอาหารอินเดีย ปากีสถาน ฝีมือดี ไม่ต้องไปไกลทานได้ที่นี่ ช่วงนี้โควิดประหยัดเยอะ ส่วนพนักงานของทางร้าน ก็พูดได้หลายภาษาคอยต้อนรับลูกค้า

ส่วนผู้สูงอายุที่มาทานเป็นประจำ นายยะยา มะโซะ บอกว่า ชอบทานหมดเลยร้านนี้เพื่อสุขภาพ ไม่มีผงชูรสปรุงแต่งมาทุกวัน คนแก่ๆ ทานได้ ลูกค้าก็เพิ่มมาเรื่อยๆ ขอบคุณแทนเจ้าของร้านที่เลือกสิ่งแปลกใหม่ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพน่าจะถูกปากของลูกค้า ปรุงมามีความหลากหลาย คนต่างประเทศก็มาทาน เป็นทางเลือกให้ชาวยะลา มารับบริการ ซึ่งเป็นของในพื้นที่ผสมผสานกับอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ

        นายฟัยยาฎ มะโซร์ เจ้าของร้าน เดอะจาปาตี บอกว่า สำหรับโรตีแบบใหม่รสชาติจะพิเศษ มีความเหนียวนุ่ม ที่เกิดจากการคิดสูตรไปเรื่อยๆ อยากให้มีโรตีหนานุ่มบ้าง ชาปาตี เป็นโฮมวีค แบบบางนุ่ม อันนี้ คือ หนานุ่ม กินได้ทั้งวัน โดยเริ่มจากนำแป้งมาหมักทิ้งไว้ 3 วัน แล้งลองนำมาทอด ตอนเช้าไปกินตอนเย็นก็อร่อย ใช้แป้งโรตี 1 ลูก เท่ากับ 2 แผ่น อยากให้ความหนานุ่ม ก็เลยเพิ่มไปเลย ลูกเดียวลูกค้ารู้เรื่องทั้งวัน เอามาย่างไร้น้ำมัน ก็เป็นโฮมวีคเหมือนกัน กลายเป็นสูตรใหม่ของทางร้าน เป็นโรตีนาน โรตีน้าน นานเพราะหมักแป้ง 3 วัน ซึ่งจะมีหลายแบบบางคนทำแบบกลมๆ แต่ทางร้าน อยากให้เป็นขนมปังยาวๆ ลุกซ์ใหม่ของทางร้านซึ่งที่นี่จะไม่มีน้ำมันที่เป็นความต่างกับร้านอื่น คนชื่นชอบมากเลยอารมณ์เหมือนขนมปังมีความนุ่มอยู่ในตัวสามารถกินได้กับทุกแกง

         วิธีทำก็นำแป้งมาคลุกกับเกล็ด แป้งโฮมวีคอีกแบบหนึ่งที่มีความหยาบ ต้องการให้มีการกินแบบรสชาติกริ๊บๆ ยืดให้ยาวแบบที่ต้องการง่ายมาก แล้วนำไปทอดบนกระทะร้อนๆ โดยไม่มีน้ำมันพลิกไปมา 2 ครั้ง เพียงให้ตัวโรตีโดนความร้อน ก็จะสุกนำขึ้นทานได้เลย กับแกง บางคนจะราดชีสไปข้างบน ด้วยจะเป็นชุดอาหารเช้า ไส้กรอก ไข่ดาว ทานคู่กับ ชานมสด สำหรับสายกาแฟ ก็สามารถเลือกทานได้ หลายอย่างตอนนี้ทางร้านก็ เพิ่มกาแฟสด บราซิล แอฟริกา มาด้วย รวมทั้งมีข้าวหมกบิรยานี เนื้อย่าง ปลาย่าง ไก่หมก แกะ แพะ ฯลฯ ให้เลือกรับประทาน

วันหนึ่งก็จะทำประมาณ 3-4 กก. เสาร์อาทิตย์ ลูกค้ามากหน่อย 5 กก. ขายลูกละ 20 บาท สายที่อยากกินขนมปังเช้าๆ ก็คือย่างสดๆ ชื่อออกเป็นอาหรับ โรตีนาน ที่นี่จะเป็นทรงที่ต่างกับที่อื่น ทรงกลมก็แวะมาทานได้ที่ ร้าน THE CHAPATI หัวสะพานสะเตง บ้านสะเตง ถนนสิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา