วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ลิเกฮูลู ศิลปะพื้นบ้านสร้างรักษ์ชุมชนท้องถิ่น


 

         การสร้างความสุขของผู้คนในชุมชนให้กลับคืนมาดังเช่นอดีตนั้น นับว่าเป็นความปรารถนาสูงสุดของ เจะปอ สะแม ศิลปินดิเกร์ ฮูลู ผู้เป็นปราชญ์ท้องถิ่นจากเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านดิเกร์ ฮูลู แห่งตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสืบสานงานศิลป์ รักษ์ถิ่นแดนใต้ จังหวัดปัตตานี” สนับสนุนโดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 


         เจะปอ สะแม ผู้ริเริ่มนำ ‘ดิเกร์ ฮูลู’ ศิลปะท้องถิ่นมาเป็นสื่อกลางให้ชาวบ้านสนใจและเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เล่าให้ฟังว่า ตนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมหนุ่มสาวในท้องถิ่นต่างหันหลังให้กับบ้านเกิด มุ่งหน้าหางานทำในเมืองใหญ่ เหลือแต่เพียงคนเฒ่าคนแก่ ตนจึงเก็บรวบรวมข้อมูลในท้องถิ่น และพบว่า ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตของชุมชน กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป

          “จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สาเหตุการลดลงอย่างต่อเนื่องของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล บริเวณอ่าวปัตตานีคือ การทำประมงโดยใช้ ‘อวนลาก อวนรุน’ เมื่อทรัพยากรลดน้อยลง การดำรงชีวิตก็เปลี่ยนแปลง การโยกย้ายที่ทำกินจึงเกิดขึ้น” เจะปอ สะแม บอก

          เจะปอ เล่าให้ฟังว่า ตนเป็นศิลปินพื้นบ้าน หากนำศิลปะท้องถิ่นอย่าง ‘ดิเกร์ ฮูลู’ เป็นตัวเชื่อมโยงกับเยาวชนและชาวบ้านในชุมชน สร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้จะเริ่มเปลี่ยนเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การรณรงค์ทิ้งขยะให้ถูกที่ ก็อาจจะสร้างความสนใจได้มากขึ้น



         เจะปอ เล่าต่ออีกว่า เมื่อรวมกลุ่มกับผองเพื่อนและลูกหลานได้ จึงเริ่มต้นการแสดงดิเกร์ ฮูลู แต่เปลี่ยนเพื่องานรื่นเริงเพียงอย่างเดียว เป็นการแสดงเพื่อเชิญชวน บอกเล่า ปลูกจิตสำนึก และสร้างกระแสอนุรักษ์ในท้องถิ่น โดยนำเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้าน มารวบรวมและเขียนเป็นเพลง แต่งเป็นกลอน เพื่อสะท้อนให้พวกเขารับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

          “ตนนำดิเกร์ ฮูลู ไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ บางสถานที่พวกเราสมัครใจไป ถึงแม้ไม่มีใครจ้าง แต่เพราะเราต้องการเผยแพร่ และปลูกจิตสำนึกให้หลายๆ คนรู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด และฟื้นฟูศิลปะการแสดงนี้ให้กลับคืนมาด้วย” ศิลปินดิเกร์ ฮูลู บอก

          หลังจากการออกแสดงดิเกร์ ฮูลู ตามพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตนได้พูดคุยกับชาวบ้าน พบว่า 24 ชุมชน เห็นด้วยเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง และสาเหตุสำคัญเกิดจากการใช้อวนลาก อวนรุน ทำประมงของชาวบ้านจริงๆ



        จากแต่ก่อนมีเรือใช้อวนลาก อวนรุนถึง 600 ลำ ในบริเวณอ่าวปัตตานี แต่เมื่อนำดิเกร์ ฮูลู ออกเผยแพร่ตามสถานที่ต่างๆ โดยใช้เนื้อหาที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลทั้ง สัตว์ทะเล ป่าชายเลน ปัญหาน้ำเสีย ปรากฏว่า เรือประมงของชาวบ้านยกเลิกการใช้อวนลาก อวนรุน มากกว่า 590 ลำ ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่ลำเท่านั้นที่ยังคงใช้อยู่

          เจะปอ เล่าต่อว่า ดิเกร์ ฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้าน สมัยก่อนจะแสดงตามงานรื่นเริงต่างๆ ทั้งงานสมรส พิธีเข้าสุหนัต หรือวันสำคัญทางประเพณีต่างๆ ของมุสลิม เป็นการละเล่นที่มีความสนุกสนาน ผู้เล่นยังได้ออกกำลังกายไปในตัว ทั้งท่าปรบมือ การตีรำมะนา แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสิ่งเหล่านี้ก็เริ่มสูญหาย และไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน         

          “ตนเริ่มแสดงดิเกร์ ฮูลู ตั้งแต่นั้นปี 2536 เพราะคิดว่า ควรสานต่อศิลปะแขนงนี้ เพื่อเป็นมรดกสืบทอดทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ และที่สำคัญคือ เด็กๆ และเยาวชนจะได้ไม่ลืมศิลปะท้องถิ่นของตน อีกทั้งได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สอดแทรกมากับบทเพลง รวมทั้งปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเอง และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชนให้กลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย” เจะปอบอกทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น