วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ช่างตีเหล็กสงขลา อนุรักษ์ภูมิปัญญาตีมีด ขายออนไลน์

      ลวดลายสวยงามที่ปรากฏอยู่บนใบมีดเหล่านี้ ใครจะเชื่อว่าเป็นลายที่เกิดจาการผสมเหล็ก ผ่านการเผาและตีโดยช่างตีมีด จนเกิดลวดลายอย่างที่เห็นในซอยสะพานต้นทอน  หมู่ 6 บ้านคลองบ่วงตก ต.พิจิตร อ.นาหม่อม จ.สงขลา ซอยเล็ก ๆ แห่งนี้  เป็นที่ตั้งของโรงตีมีดของคุณครรชิต ดำคง ที่ผันตัวจากอาชีพกรีดยาง มาเป็นช่างตีมีด จากความชอบส่วนตัว มาสู่การศึกษาเรียนรู้และยึดเป็นอาชีพหลัก ที่นี่ยังคงยึดวิธีการตีมีดแบบดั้งเดิม อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็นำวัสดุที่มี   มาดัดแปลงให้ใช้งานได้   โดยบอกกับเราว่า เป้าหมายในการตีมีดนั้น คืออยากให้ลูกค้าที่ซื้อไป สามารถนำไปใช้งานได้จริง ไม่ใช่ซื้อไปเพื่อสะสมอย่างเดียว จึงใส่ใจในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะมีดเหล็กลาย  ที่ถือว่าทำยากเพราะเป็นการนำเหล็กหลายชนิดมาตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน ต้องอาศัยทั้งทักษะและความชำนาญอย่างมาก กว่าจะได้สักเล่มใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 วัน  


       หัวใจสำคัญของการตีมีดชนิดนี้อยู่ที่การเลือกและผสมเหล็ก ส่วนมากจะใช้เหล็กจากชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น เหล็กแหนบ ตลับลูกปืน แกนในลูกปืน  รวมถึงโซ่รถจักรยานยนต์ เพราะเป็นเหล็กแข็ง เมื่อทำออกมาแล้วจะได้ลายที่สวยงาม มีความคมและทน โดยจะไปหาซื้อจากอู่ซ่อมรถ หรือร้านขายของเก่าใกล้บ้าน  เหล็กต่างชนิดกันทำให้ได้ลวดลายที่แตกต่างกัน บางเล่มต้องตีแบบบังคับลาย เพื่อให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ นับเป็นความท้าทายของช่างตีอย่างมาก  


        ได้มีดสวยและคมแล้ว คงยังไม่พอ ต้องมีด้ามจับที่สวยงามน่าจับต้องอีกด้วย บางชิ้นมีการแกะสลัก   เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการของช่าง รวมไปถึงฝักมีด เหล่านี้ทำจากไม้ที่มีในท้องถิ่นมาประดิษฐ์ตกแต่ง ซึ่งจะช่วยเสริมให้มีดนั้นมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น


      ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันการตีมีดด้วยมือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยและอยู่คู่คนไทยมาช้านาน นับวันจะหาดูได้ยาก เพราะกว่าจะได้งานแต่ละชิ้นต้องอาศัยทั้งทักษะและความอดทนสูง ซึ่งคุณผู้ชมที่สนใจมีดที่เป็นงานแฮนเมดของคุณครรชิต ก็สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ที่เฟสบุ๊คโรงตีมีดครรชิต มีดนาหม่อม บ้านคลองบ่วงตก  หรือ จะสั่งซื้อ สั่งทำ มีดลวดลาย รูปทรงต่าง ๆ ก็โทรคุยกันได้ที่เบอร์  086-962- 9474 ..


วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ลำคลองธรรมชาติกับการเลี้ยงปลา สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

       จากคลองธรรมชาติที่ถูกปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เกษตรกรในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงได้ทดลองทำกระชังเลี้ยงปลาขึ้น โดยเริ่มจากจำนวนไม่มากนัก และเมื่อพบว่าการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังได้ผลดี ปลาตัวโต อัตราการตายน้อย จึงได้เพิ่มปริมาณกระชังพร้อมกับจำนวนปลามากขึ้น จนปัจจุบันเกษตรกรที่นี่สามารถยึดเป็นอาชีพได้


          นายจันทร์  เพชรสุริยา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังบอกว่า เมื่อก่อนมีอาชีพรับจ้างทั่วไปรายได้ไม่แน่นอน จนเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วเพื่อนได้ชวนมาทดลองเลี้ยงปลาในกระชังที่คลองตุยง ซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ทำให้ปลาโตไว อัตราการรอดสูง จึงเริ่มลงทุนเลี้ยงตั้งแต่มีไม่กี่กระชัง จนปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 15 กระชัง พร้อมกับเลี้ยงปลาสวายเพิ่มขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง โดยปัจจุบันปลาทับทิมจะมีราคากิโลกรัมละประมาณ 70 กว่าบาท ทำให้มีรายได้หลายหมื่นบาทในการเลี้ยงแต่ละรุ่น



         ส่วนเรื่องของการตลาดนั้น ขณะนี้ในพื้นที่ยังมีความต้องการปลาทับทิมอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสำหรับคุณผู้ชมท่านใดที่มีพื้นที่อาศัยติดแม่น้ำลำคลองอย่างนี้ การเลี้ยงปลาในกระชังอย่างเช่นเกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ก็นับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำได้

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ลานนกกระยาง สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวจังหวัดปัตตานี

         ลานนกกระยาง ตั้งอยู่ที่ บ้านแหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวจังหวัดปัตตานี ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา  โดยนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดภายในงานการจัดกิจกรรม โครงการ อบต.เคลื่อนที่ ประจำปีงบประมาณ 2564 ณ ลานนกกระยาง หมู่ 9 บ.แหลมนก ต.บานา  อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และเสริมสร้างรายได้เศรษฐกิจชุมชน โดย อบต.บานา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผ่านมาจากจังหวัด และ อบต.บานา เป็นผู้รับผิดชอบ งบประมาณก่อสร้าง ประมาณ 40 กว่าล้านบาท คลอบคลุมพื้นที่ ลานคอนกรีต พิมพ์ลาย ขนาด กว้าง425 ตารางเมตร × ยาว 20 ตารางเมตร นอกจากนี้ ในบริเวณ ยังประกอบด้วย ศาลานั่งพักผ่อน ม้าหิน ม้านั่ง และสะพาน 3 แห่ง ใช้เวลาในการก่อสร้าง ประมาณ 2 ปี จึงแล้วเสร็จ

        "ชื่อลานนกกระยาง เพราะพื้นที่บริเวณนี้ เมื่อก่อนมีนกกระยางจำนวนมาก มาอยู่ มาหากิน และพื้นที่แถบนี้เมื่อก่อนเป็นโรงงาน มักโดนร้องเรียนบ่อย เรื่องกลิ่น และผลกระทบจากโรงงาน หลังจากการประสานงานกับ อบจ.ปัตตานี ให้ย้ายโรงงานแถบนี้ไปอยู่ในแหล่งอุตสาหกรรม ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ เพื่อแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  จัดกิจกรรมนันทนาการ รวมทั้งเสริมสร้างรายได้เศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ อีกทางหนึ่ง"


          นายมะรอสดี เงาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบานา กล่าวว่า หลังจากเปิดลานนกกระยางอย่างเป็นทางการแล้ว ประชาชนสามารถมาท่องเที่ยว พักผ่อน หย่อนใจ เลือกซื้ออาหารรับประทาน ชมบรรยากาศธรรมชาติ ออกกำลังกาย โดย อบต.บานา เป็นผู้ดูแล ร่วมกับชุมชนท่องเที่ยวแหลมนก ในการบริหารจัดการ ดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกพื้นที่จอดรถ การจัดการขยะ โดยเปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเปิดขายอาหาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าจากชุมชน เพื่อเป็นเสริมรายได้ให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง
 นายราชิต  สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานีได้รับความสนใจเป็น อย่างมาก ทั้ง หาดวาสุกรี วัดช้างไห้  ลานนกกระยาง และในส่วนของการป้องกันโรคโควิด-19 จังหวัดปัตตานียังคงมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทั้งเรื่องของการคัดกรอง การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการสร้างความตระหนัก สร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน และยังได้กำชับไปยังท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีการดูแลแหล่งท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานี

          

          หากท่านใดมีโอกาสแวะเวียนมาที่จังหวัดปัตตานี สามารถมาแวะชม ถ่ายภาพ เช็คอิน กับสถานที่สวยๆ ที่เป็นแห่งพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของพี่น้องชาวจังหวัดปัตตานี ลานนกกระยางรวมถึงที่นี่ยังมีอาหารอร่อยๆ จากร้านค้าต่าง ๆ ที่นำมาจำหน่ายให้ได้เลือกรับประทานหลากหลายชนิด ปัตตานีมีดีกว่าที่คิด

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ตลาดนัดนายอำเภอ ความสำเร็จของโครงการ "คนละครึ่ง" ที่สุไหงโก-ลก

       ในห้วงของการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ มีกลุ่มลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยว และพ่อค้าแม่ค้าชาวมาเลเซียที่มักออกมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อ สินค้าในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก รายได้กว่า 60%หายไปจากระบบ ธุรกิจโรงแรม ร้านค้าและบริการทั้งระบบต้องปรับตัวแล้วหันมาพึ่งพาคนในพื้นที่และอำเภอข้างเคียง   แต่ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์เดียวกันทำให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีรายได้ลดลง กำลังการซื้อจึงลดลงตามไปด้วย ซึ่งบรรยากาศในพื้นที่คงจะซบเซาต่อเนื่องหากไม่มีโครงการ "คนละครึ่ง" เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายแบบก้าวกระโดด


          จนกระทั่งต่อยอดสู่การเปิดตลาดนัดนายอำเภอขึ้น ณ บริเวณลานจอดรถหน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก ทุกวันพุธ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ร่วมโครงการคนละครึ่ง จำนวน 90 ร้านค้า     มาพบกับลูกค้าทั้งกลุ่มผู้ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่ง และลูกค้าทั่วไป โดยไม่มีการเก็บค่าเช่าพื้นที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับโอกาสในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เป็นการเปิดตลาดนัดนายอำเภอรอบปฐมฤกษ์ มีประชาชนมาจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างหนาแน่นจนส่งผลให้มีเงินสะพัดสูงถึง 200,000 บาท


        นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนโยบาย โครงการ "คนละครึ่ง"ของรัฐบาล ด้วยการเปิดตลาดนัดนายอำเภอให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วม โครงการ ได้มาร่วมออกร้าน และประชาชนได้มาใช้จ่ายทั้งจากโครงการคนละครึ่งและใช้จ่ายเป็น เงินสดสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้ร้านค้า ไปพร้อมกับการสร้างจุดเช็คอินแห่งใหม่ให้กับพี่น้อง ชาวสุไหงโก-ลกและอำเภอข้างเคียง ด้านนายอีซา อรุณเกียรติ หนึ่งในคณะกรรมการตลาดนัดนายอำเภอ กล่าวว่า กิจกรรมตลาดนัดนายอำเภอเป็นการสนับสนุนช่องทางการจำหน่าย สินค้าให้ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล แต่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดนัดพบของประชาชนในพื้นที่      ซึ่งจากกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งแรกพบว่าประสบความสำเร็จเกิน ความคาดหมาย โดยร้านของตนได้มีประชาชนมาเลือกซื้อกระเป๋าผ่านโครงกา รคนละครึ่งจนทำให้ยอดจำหน่ายทะลุเป้า


        ส่วนนายวัฒนชัย วาเต๊ะ ร้าน ป.6 กล่าวขอบคุณนายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก ที่เปิดตลาดนัดให้ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ได้มาออกร้านเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ซึ่งยอดขายในการเปิดตลาดวันแรกเกินเป้าที่วางไว้ พร้อมกันนี้ได้ขอบคุณรัฐบาลที่ทำโครงการคนละครึ่ง ซึ่งตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างทั่วถึงจนเห็นผลใน เชิงประจักษ์ขณะที่นายฮัมดัน เจ๊ะโว๊ะ จากร้านอาดัมชาชัก กล่าวว่า ช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยอดจำหน่ายสินค้าลดลง ประกอบกับในพื้นที่ยังมีวันพุธที่เป็นวันว่างของร้านค้าในพื้นที่ซึ่งไม่ได้ออกร้านที่ไหน ตลาดนัดนายอำเภอจึงช่วยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก จึงขอขอบคุณนายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลกที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และขอบคุณรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนมีกำลังการซื้อผ่านโครงการคนละครึ่งมากยิ่งขึ้น


         ด้านนางสาวรอปีอ๊ะ อาแวกือจิ ประชาชนที่มาเที่ยวงาน กล่าวว่า ตลาดนัดนายอำเภอถือเป็นสีสันใหม่ของพื้นที่ สินค้าที่มาออกร้านก็มีความหลากหลายทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ สินค้าเกษตร และสินค้าโอทอป และรู้สึก  มีความสุขที่ได้มาเที่ยวชมและอุดหนุนร้านค้าต่างๆด้วยการใช้สิทธิในโครงการคนละครึ่ง เนื่องจาก  ได้ซื้อสินค้าหลายรายการโดยใช้จ่ายเงินของตนเองเพียงครึ่งเดียว:  -

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ส้มโอหอมควนลัง ผลไม้ขึ้นชื่อเมืองสงขลา

        นายสมบูรณ์ ปัญญาธนกร นายกเทศมนตรีเมืองควนลัง กล่าวว่า เทศบาลเมืองควนลังร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การปลูกส้มโอหอมควนลัง ประจำปี 2564 ในครั้งนี้ขึ้น ภายใต้กิจกรรมการส่งการตลาด บรรจุภัณฑ์ และสร้างแบรนด์ความประทับใจของผลผลิตส้มโอหอมควนลัง เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร และพี่น้องประชาชน  ของเทศบาลเมืองควนลังโดยจัดทำเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จนได้รับใบรับรองคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) ส้มโอหอมควนลังปี  2561



         สำหรับ ส้มโอหอมควนลังเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียง และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเขตตำบลควนลังมาช้านาน เป็นส้มโอที่มีรสชาติดี และจุดเด่นอยู่ที่เนื้อผลสีชมพูเข้มแดง นิ่ม ฉ่ำ รสชาติหวาน  อมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เนื้อล่อน แกะออกจากลีบได้ง่าย เมล็ดลีบ ส่วนใหญ่จะไม่มีเมล็ด และส้มโอหอมควนลังเป็นสินค้ารายแรกที่ได้รับ (GI) ของจังหวัดสงขลา เป็นสินค้าทางการเกษตรของดีตำบลควนลังออกสู่ตลาด  และเป็นการพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง อนุรักษ์วิถีท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ปลอดภัย และยั่งยืน



วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เกษตรกรทำสวนบ้านถ้ำทะลุ จ.ยะลา แปรรูปยางพาราขยายตลาด

         กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านถ้ำทะลุ ได้รวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในพื้นที่ ล่าสุดได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองระบบมาตราฐาน WCS ISO 9001:2015  ด้านคุณภาพกระบวนการผลิตแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากยางพารา (Manufacturinf of Rubber Granules for Synthetic Surface Latex Pillow , Smorked Sheet Rubber and Flexible Guide Post Rubber ) จากประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน  WCS ISO 9001:2015 ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี เป็นการพัฒนาปรับปรุงให้กลุ่มเกษตรมีความเข้มแข็ง และมีความน่าเชื่อถือ สามารถติดต่อการค้าเชื่อมโยงตลาดกับกลุ่มเป้าหมายในระดับนานาชาติ



               นางวรรณดี รัตนอนันต์ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านถ้ำทะลุ เปิดเผยว่า เกษตรกรทำสวนบ้านถ้ำทะลุ ปัจจุบัน ทางกลุ่มได้ยกระดับ เป็นสหกรณ์แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราบ้านถ้ำทะลุ จำกัด มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบภายใต้การดูแลของสหกรณ์จังหวัด ยะลา มีสมาชิิกเพิ่มขึ้น ในแต่ละวันโรงงานแห่งนี้ จะรับซื้อน้ำยางสด จากสมาชิกของกลุ่มในพื้นที่ และเกษตรกรชาวสวนยางที่นำน้ำยางมาขาย จากนั้น นำมาผ่านกระบวนการทำยางแผ่นรมควัน ผสมกับสารเคมี มาขึ้นรูปเป็นยางคอมปาวด์ (rubber compound) ตามสูตร มอก.เม็ดยางดำสังเคราะห์ แล้วนำมาตัดเป็นแผ่น ผ่านกระบวนการอบให้ยางสุก ด้วยเครื่องอัด 100 ตัน จากนั้นนำมาเข้าเครื่องบดย่อยเป็นเม็ดยางดำ ตามลูกค้าสั่งมา ขนาด 2-10 มิลลิเมตร แล้วนำบรรจุในถุง 25 กิโลกรัม เพื่อใช้สำหรับสนามกีฬาฟุตซอล ทั่วประเทศขณะที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ในการแปรรูปยางพาราของที่นี่ คือ ผลิตภัณฑ์แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB)  และการผลิตเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ  (Rubber Guide Post : RGP) โดยประสานร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย  ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เป็นการผลิตในช่วงเริ่มต้น สำหรับสินค้าตัวต่อไป ในอนาคตจะดำเนินการผลิตเม็ดยางสี เพื่อใช้สำหรับสนามกีฬาใหญ่ และลู่วิ่ง ส่งขาย  ทั่วประเทศ 



         สำหรับระบบมาตรฐาน  WCS ISO 9001:2015 ที่ได้รับ จะทำให้ตลาดกว้างขึ้น สามารถขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น การสั่งซื้อก็จะตามมา เมื่อมีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ปริมาณยางยางพาราที่จะซื้อในหมู่บ้านก็จะเพิ่มขึ้น ราคายางจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ โดยการรับซื้อที่สูงขึ้น กว่าท้องตลาด  2-5 บาท เมื่อไหร่ ที่ราคาน้ำยางตกลงมา กิโลกรัมละ 30 กว่าบาท ก็จะมีการซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด กิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ สำหรับยอดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา ของสหกรณ์ที่นี่ เฉลี่ย1.5 – 2 ล้านบาทต่อเดือน


วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

Healthy Family Day พาครอบครัวแช่ออนเซ็นบ่อน้ำร้อนเบตง จ.ยะลา

          บรรยากาศการท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่พาครอบครัวมาพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เนื่องจากวันอาทิตย์เป็นวันครอบครัวแข็งแรงของสังคมไทย  (Healthy Family Day) จึงเลือกพาครอบครัวมากันที่บ่อน้ำร้อนเบตง สถานที่ท่องเที่ยวสุดปังในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถแช่ออนเซ็นได้โดยไม่ต้องโกอินเตอร์ไกลถึงญี่ปุ่น ก็สามารถมาเที่ยวเพื่อสุขภาพได้ โดยนักท่องเที่ยวจะนิยมนำไข่ไก่ และไข่นกกระทาไปต้มในบ่อน้ำร้อน อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ 80 องศาเซลเซียส สามารถต้มไข่ไก่ได้จนสุกภายใน 10 นาที พร้อมทั้งอาบ หรือแช่เท้าเล่น บ่อแช่น้ำร้อนใหม่และอาคารธาราบำบัด โดยเชื่อกันว่าน้ำแร่แห่งนี้ สามารถบรรเทารักษาโรคภัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิ โรคปวดเมื่อยโรคเหน็บชา โรคผิวหนัง เป็นต้น



         สำหรับบ่อน้ำร้อนเบตง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจะเราะปะไร ตำบลตาเนาะแมเราะ จังหวัดยะลา เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ โดยจะมีน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน ประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ 80 องศาเซลเซียส ซึ่งตรงจุดที่มีน้ำเดือดนี้ สามารถต้มไข่ไก่ได้จนสุกภายใน 10 นาที ทางจังหวัดยะลาได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบ่อน้ำร้อน ให้มีความสวยงาม แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เหมาะสำหรับการมาพักผ่อนหย่อนใจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ภายในบ่อน้ำร้อนเบตง ยังมีสระน้ำขนาดใหญ่ สำหรับกักน้ำจากน้ำพุร้อนเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้อาบ หรือแช่เท้าเล่น ซึ่งแต่ละโซนออกแบบอย่างได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะทั้งบ่อน้ำร้อนบ่อใหญ่ บ่อแช่น้ำร้อนใหม่และอาคารธาราบำบัด โดยเชื่อกันว่าน้ำแร่แห่งนี้ สามารถบรรเทารักษาโรคภัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิ โรคปวดเมื่อยโรคเหน็บชา โรคผิวหนัง เป็นต้น ตลอดจนมีอาคารสำหรับพักค้างคืน ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอย่างครบครัน



วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เรือกอและ ราชินีแห่งน่านน้ำแหลมมลายู

          หากพูดถึงนราธิวาส ต้องนึกถึงเรือกอและ สัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนราธิวาส ถ้าอยากเห็นเรือกอและสวยๆ สามารถแวะมาที่ชุมชนชายทะเลได้ ซึ่งจะมีเรือกอและจอดเรียงรายสองฝั่งริมแม่น้ำบางนรา ด้วยลวดลายสวยงามสะดุดตา และบรรยากาศของวิถีประมงที่เรียบง่าย จึงเป็นเสน่ห์ของชุมชนในแบบวิถีชาวเลดั้งเดิม ที่ยังคงมีให้ได้เห็นกันอยู่ที่นี่


          งานศิลปะบนลำเรือเปรียบเสมือนวิจิตรศิลป์ ที่พลิ้วไหวบนเกลียวคลื่น เรือกอและจึงเปรียบดั่งราชินีแห่งน่านน้ำแหลมมลายูโดยเรือกอและนิยมทาสี แล้วแต่งแต้มด้วยสีสันสวยงาม พร้อมลวดลายที่ผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีน มลายู ลวดลายที่นิยมใช้เขียนนิยมเขียนเป็นรูปต่างๆ อาทิ ลายไทย ลายเครือเถา ลายดอกไม้ ลายพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ล้ำค่า


         เรือกอและเป็นเรือประมงพื้นบ้าน โดย กอและ เป็นภาษามลายู แปลว่า โคลงเคลง ล่องลอย คือภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดที่สร้างออกแบบให้เรือหาปลาสามารถต้านทานคลื่นชายฝั่งได้ดี โดยลำเรือทำจากไม้เนื้อแข็งที่มียางในเนื้อไม้ เช่น ตะเคียน ไม้พะยอม และไม้หลุมพอ เนื่องจากลักษณะท้องเรือมีลักษณะกลมแบนคล้ายก้นกระทะ ช่วยให้ต่อสู้กับคลื่นลมแรงในทะเลได้ เรือกอและจะมี 2 แบบ คือ เรือกอและแบบดั้งเดิม ที่มีลักษณะหัวและท้ายเรือเรียว และเรือท้ายตัด ที่หัวเรือคล้ายเรือกอและดั้งเดิมแต่ช่วงท้ายตัดเป็นเหลี่ยม เรือกอและจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ จาปิ้ง ซึ่งเป็นแผ่นไม้รูปสามเหลี่ยม ฉลุและวาดลวดลายด้วยสีน้ำมัน ใช้ปิดช่องระหว่างลำเรือและส่วนหัวและท้ายเรือโดยโผล่ขึ้นมาข้างบนเล็กน้อย จาปิ้ง ที่อยู่ทางหัวเรือเป็นส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ และยังมีส่วนที่เรียกว่า บางา  เป็นไม้โค้งงอนขึ้นข้างบน ทำเป็นรูปนกติดไว้ด้านขวาค่อนไปทางหัวเรือ ติดกับจาปิ้ง เพื่อไว้วางไม้ค้ำถ่อ


          เรือกอและเป็นเสมือนศิลปะเพื่อชีวิต เพราะมิได้มีเพียงลวดลายที่สวยงามเท่านั้น ทว่ายังเป็นเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำเลี้ยงชีพของชาวประมงด้วย นอกจากบทบาทใช้ในการออกหาสัตว์น้ำแล้ว เรือกอและยังมีหน้าที่และบทบาทในการแข่งขัน ประชันความงามและความเร็วของฝีพาย ช่างต่อเรือกอและได้พัฒนาขนาดเรือกอและให้เล็กลงและเร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อใช้สำหรับการแข่งขันประลองความเร็ว ในการแข่งเรือกอและหน้าพระที่นั่ง ณ บริเวณปากน้ำบางนรา อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งการแข่งขันเรือกอและเป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีระหว่างหมู่คณะ เป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และช่วยสืบทอดงานช่างท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป เรือกอและจึงเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของทะเลชายแดนใต้ ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในท้องถิ่น ซึ่งมาจากการถ่ายทอดภูมิปัญญาการประดิษฐ์เรือ การวาดลวดลายในลำเรือที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เรือกอและยังคงอยู่คู่น่านน้ำทะเลใต้จนถึงปัจจุบัน