วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

โอกาสทองของชาวสวนทุเรียน จชต.หลังโควิด-19

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายท่านคงกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจจะทำให้ยอดขายลดลงและไม่ได้ราคา เพราะกำลังซื้อของชาวจีนลดน้อยลง แต่ปรากฏว่าตรงกันข้าม ยอดสั่งซื้อทุเรียนกลับสูงขึ้น จนทำให้อาจจะเป็นโอกาสทองของคนปลูกทุเรียนในปีนี้ ติดตามได้จากรายงานพิเศษ



       รสชาติกลมกล่อม หวานนุ่ม กลิ่นหอมหวาน อร่อยละมุนลิ้น บวกกับเนื้อที่มีสีทองสวยเรียบเนียน เนื้อแห้ง และเปลือกบาง คือเอกลักษณ์เฉพาะของทุเรียนหนามแดงจังหวัดชายแดนใต้ ทุเรียนจังหวัดชายแดนใต้ได้รับการส่งเสริมไปสู่ตลาดส่งออกจีน ซึ่งทาง ศอ.บต.ได้ดึงนักลงทุนจีนอย่าง บริษัท ม่านกู่หวางฟู๊ด จำกัดมาเปิดโรงงานรองรับ เพื่อที่จะลดภาระการขนส่งทุเรียนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชน ซึ่งเกิดการจ้างงานและหมุนเวียนรายได้เป็นห่วงโซ่

 

       คุณ เซียว เย่าเหิง ผู้จัดการใหญ่บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู๊ด จำกัด ได้ให้ข้อมูลกับทางทีมข่าวNBTสงขลาว่า การส่งออกทุเรียนตลาดหลักคือ ประเทศจีน ซึ่งขณะนี้มีผู้บริโภค เพียง 4-5%ของประชากรเท่านั้น ซึ่งมีโอกาสที่จะขยับและเติบโตไปได้อีกในอนาคต


       สำหรับเส้นทางการขนส่งทุเรียนจากไทยสู่จีน มีปลายทางคือตลาดคุนหมิงและตลาดกวางสีจ้วง โดยเฉพาะตลาดกวางสีจ้วง ซึ่งในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เจรจาขอเปิดเพิ่มอีก 2 ช่องทาง ดังนั้น การลำเลียงผลผลิตไปสู่ตลาดบริโภคหลักจะดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน การเปิดโรงงานจะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ กว่า 2,000 อัตรา โดยแบ่งเป็นที่โรงงาน 1,200 คน ซึ่งจะรับแรงงานฝีมือเพียง 20%เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็เป็นแรงงานในพื้นที่ และอีก 800 คน จะทำงาน ณ จุดรับซื้อภายนอก


          จะเห็นได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่จีนแต่อย่างใด จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมั่นใจได้ว่า จะมีตลาดรองรับอย่างแน่นอน แต่ที่สำคัญคือ ขอให้ดูแลคุณภาพทุเรียนของตัวเองให้ดีที่สุด 

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สุดยอดน้ำบูดูชายแดนใต้ บ้านบาเฆะ เมืองนราธิวาส

       วิถีชีวิตของชาวนราธิวาสที่อยู่ใกล้ริมฝั่งทะเล จะมีอาชีพทำการประมง ซึ่งสามารถนำปลาที่เหลือจากการจำหน่ายและการบริโภคไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ อาทิ น้ำบูดู ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม และใช้เป็นวิธีการแปรรูปอาหาร น้ำบูดูมีลักษณะคล้ายน้ำปลาแต่น้ำข้นกว่า



        โดยนายประภาณ จุลยานนท์ หรือเปาะนิ หนึ่งในเจ้าของธุรกิจน้ำบูดู กล่าวว่า ตนเองทำน้ำบูดูขายมากว่า 20 ปี มีลูกน้อง 4-5 คน ส่วนตัวมองว่าจุดเด่นของบูดูของตนที่ทำให้แตกต่างจากที่อื่น และเป็นที่นิยมบริโภคของลูกค้า เพราะอาศัยความได้เปรียบของสถานที่ตั้งที่จุดทะเลบาเฆะ (ปาตา) ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส
“...ทำแบบครัวเรือน มีบ้านอยู่ริมทะเล นำโอ่งที่ใส่น้ำบูดูวางบนพื้นดิน ประกอบกับอากาศร้อนตลอดวัน ทำให้ไม่มีหนอนไม่มีแมลงวัน และกลิ่นไอทะเลก็ทำให้น้ำบูดูมีกลิ่นหอม...



        ด้านนางเจ๊ะสือกะ ดอเล๊าะ ชาวบ้านหมู่ที่ 2 บ้านบาเฆะ ลูกจ้าง เล่าวว่า สมัยปู่ย่าตายายก็ทำน้ำบูดู ตนเองเป็นรุ่นที่ 3 การผลิตน้ำบูดูสามารถทำได้ ดังนี้ นำปลากะตัก ปลาหลังเขียวตัวเล็ก ๆ ซึ่งเป็นปลาทะเลน้ำลึกมาเทใส่กระบะ ไม่ต้องล้างน้ำเปล่า เพราะปลาทะเลน้ำลึกจะสะอาด จากนั้นผสมกับเกลือ อัตราส่วนปลา 100 กิโลกรัม เกลือ 30 กิโลกรัม และนำไปหมักในโอ่งทิ้งไว้ 6 เดือน ก็สามารถนำไปรับประทานได้
ขณะที่นางรีลา อูมาโมง ชาวบ้านหมู่ที่ 2 บ้านบาเฆะ ลูกจ้างอีกคน กล่าวเสริมว่า คิดว่ายิ่งหมักนานจะยิ่งอร่อยนะ แล้วแต่คนชอบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 8 เดือน-1 ปี

“...คนใต้ คนไทยมุสลิม ชื่นชอบการรับประทานน้ำบูดู แต่ปัจจุบันก็เป็นที่นิยมทั่วไป น้ำบูดูนำไปใส่ข้าวยำ หรือใช้ 1-2 ช้อนโต๊ะ หมักเนื้อหมักปลา ใส่แกงส้ม ก็อร่อยกว่าใส่เกลือ รสชาติจะกลมกล่อมกว่า บางคนก็ทำน้ำพริกทุเรียนใส่เนื้อบูดู ทำได้หลายเมนู...
นางสาวรุสมีนา เซะ ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส ที่มาซื้อน้ำบูดู บอกว่า น้ำบูดูของเปาะนิ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ไม่เค็มมาก ชอบทำเมนูน้ำบูดูใส่พริก บีบมะนาว กินกับข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยแล้ว พร้อมบอกอีกว่ามาซื้อหลายครั้งแล้ว จนกลายเป็นลูกค้าประจำ



          น้ำบูดูที่นี่ยังเน้นความสะอาดในขั้นตอนการผลิต ที่สำคัญต้องไปซื้อถึงที่ ณ ที่ตั้งจุดทะเลบ้านบาเฆะ (ปาตา) มีจำหน่ายแบบน้ำใส น้ำกลาง น้ำข้น ทั้งบรรจุถุง บรรจุขวด แต่ย้ำว่ายังไม่มีบริการส่ง หากใครสนใจคงต้องโทรไปสอบถามกับคุณประภาณ หรือเปาะนิ โทร.081-0978174 โดยตรง
สำหรับน้ำบูดู จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่าน้ำบูดูมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และวิตามิน รวมทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ประเพณีตักบาตรข้าวตอกช่วงเข้าพรรษา

       ร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรข้าวตอกช่วงเข้าพรรษา ย้อนรอยอดีตครั้งพุทธกาล ถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 ที่จังหวัดสงขลา


        โดยที่วัดแหลมทราย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทางวัดได้จัดให้มีพิธีทำบุญตักบาตรข้าวตอกช่วงเข้าพรรษา ย้อนรอยอดีตครั้งพุทธกาล หนึ่งเดียว และวัดเดียวในจังหวัดสงขลา มีการตั้งจุดคัดกรองพุทธศาสนิกชนผู้เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรข้าวตอก และนำภัตตาหารเพลมาถวายพระสงฆ์ทุกคนอย่างเข้มงวด ทั้งการวัดอุณหภูมิร่างกาย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือและเว้นระยะห่าง รวมทั้งผู้ที่มาร่วมพิธีจะต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกคน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID- 19


        โดยพุทธศาสนิกชน ได้เดินทางนำข้าวตอกมาร่วมตักบาตร และนำอาหารคาวหวานมาถวายเป็นภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วย รวมทั้งฟังพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในการนำข้าวตอกมาทำบุญตักบาตร เพื่อร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว🎀 รวมทั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 โดยมีการแสดงพระธรรมเทศนาย้อนรอยอดีตครั้งพุทธกาลที่ผ่านมา 2563 ปี



         สำหรับ ข้าวตอกหรือที่ภาษาบาลีว่า "ลาชา" หรือ "ลาช" (ลา-ชะ)เป็นเครื่องบูชาพระพุทธ ถือกันว่าเป็นของบริสุทธิ์ ด้วยคุณสมบัติที่เปรียบได้กับคุณของพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ ขณะที่คั่ว มีลักษณะแตกกระจายออกเป็นดอกเปรียบเสมือนความแตกฉานของพระปัญญาธิคุณ , มีสีขาวบริสุทธิ์ เปรียบดังพระวิสุทธิคุณ และมีลักษณะเบ่งบานดุจดั่งพระเมตตาที่เบ่งบานงดงามอยู่เต็มน้ำพระทัย เปรียบได้กับพระมหากรุณาธิคุณ


         “ข้าวตอกเป็นเครื่องบูชา 1 ใน 4 อย่างที่สำคัญของเครื่องบูชาทั้ง 4 ได้แก่ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป และเทียน การบูชาพระพุทธ ด้วยข้าวตอก เป็นที่นิยมมาแต่โบราณ

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

“แลนด์มาร์คแห่งใหม่ สุไหงโก-ลก” มาที่เดียวเหมือนได้เที่ยวจุดเช็คอินสำคัญทั้งจังหวัด



          ช่วงนี้มาตรการผ่อนคลายของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาเยือนสุไหงโก-ลก เพื่อพบกับบรรยากาศของเมืองสุไหงโก-ลกและมาเที่ยวชมศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาคารแสดงสินค้าและโอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก หน้าด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพราะที่นี่ได้ปรับโฉมใหม่โดยเปิดนิทรรศการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านภาพวาดสื่อถึง ชาติ ศาสนาและ พระมหากษัตริย์ และสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดนราธิวาส อาทิ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล อำเภอระแงะ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ เรือกอและจำลอง และที่ พลาดไม่ได้คือการเดินข้ามสะพานสาคูที่จำลองลักษณะเด่นของระบบนิเวศน์วิทยาที่สมบูรณ์ที่สุดของป่าพรุสิรินธรมาไว้ที่นี่ ทั้งนี้สามารถเข้าเที่ยวชมได้ฟรีทุกวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น.โดยมีบริการให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว, สอบถามเส้นทางการเดินทางในพื้นที่, เช็คอินถ่ายภาพ,ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว,ให้บริการห้องน้ำ/ห้องละหมาด และน้ำดื่ม การเข้ามาเยือนและถ่ายภาพคู่กับสถานที่สำคัญๆของจังหวัดนราธิวาสที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาคารแสดงสินค้าและโอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ถือเป็นความคุ้มค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะภาพ 1 ภาพสื่อถึงคุณค่าทางจิตใจล้านความรู้สึก


        นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบจึงเตรียมทำแพ็คเกจสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะแบบOne Day Trip ที่พานั่งรถรางเที่ยวชมเมืองสุไหงโก-ลก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาคารแสดงสินค้าและโอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก พร้อมอาหารท้องถิ่นในราคาสุดประหยัด ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการพาไปเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนและสินค้าโอทอปในพื้นที่ อาทิ โรงงานโรตีแช่แข็งอาสฮาโรตี ที่มีโรตีน้ำแกงรสเด็ด โรงงานน้ำพริกแห้งฮานาซามา ที่มีน้ำพริกแห้งตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ กับบ๋วยหลุมพีผลไม้ขึ้นชื่อของท้องถิ่น ผ้าปาเต๊ะพิมพ์มือหนึ่งเดียวที่ยังคงเอกลักษณ์การทำผ้าปาเต๊ะโบราณ เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอีกทางหนึ่ง หรือหากต้องการแพ็คเกจท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆก็สามารถแจ้งความประสงค์มาได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โทร.073-611006 ในวันและเวลาราชการ


         โดยห้วงนี้ขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เช็คอินแอปพลิเคชั่นไทยชนะ หรือลงทะเบียนในสมุด เว้นระยะห่างทางสังคมขณะอยู่ภายในอาคาร

ชีวิตดี๊ดีที่ชายแดนใต้











 





*****************************

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

"ชุมชน 2 วิถี เมืองยะรัง ชมสวนทุเรียนพวงมณี อัญมณีแห่งสายน้ำปัตตานี"

        สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดปัตตานี (สวท.ปัตตานี) จัดเวทีเสวนาใต้สันติสุขสัญจร "ชุมชน 2 วิถี เมืองยะรัง ชมสวนทุเรียนพวงมณี อัญมณีแห่งสายน้ำปัตตานี" ณ บ้านสวนใน หมู่ที่ 6 ตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและไว้วางใจภาครัฐ ด้วยศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ควบคู่แนวทางการพัฒนาของภาครัฐ ที่มุ่งหวังให้เกิดการสร้างงาน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่สังคมที่สันติสุขอย่างยั่งยืน โดยมีเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วม




         นางทัดทรวง บุญธรรม ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การเสวนาใต้สันติสุขสัญจรฯ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ตามโครงการสร้างความเข้าใจประชาชนทั้งในและนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2563 เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายแนวทางการปฏิบัติของรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจภาครัฐ รวมถึงสร้างการรับรู้ในเชิงบวกให้มากขึ้นต่อสังคมไทยในทุกระดับ เข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน ทั้งประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ สนับสนุนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติจากนายอับดุลการีม ยีดำ นายอำเภอยะรัง พร้อมทีมงานนักพัฒนาในพื้นที่ ที่มีทั้งเกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอยะรัง ร่วมวงเสวนา โดยมีนางอารีซะห์ วิชยานฤพล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 50 คน



          สวท.ปัตตานี กรมประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่นำข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐสู่ประชาชน ในทุกช่องทาง ที่ถูกต้อง รวดเร็ว เชื่อถือได้ ด้วยการผลิตข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ผ่านสื่อทุกช่องทางที่เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับสื่อในปัจจุบัน ทั้งนี้ สวท.ปัตตานี ยังได้ทำการถ่ายทอดเสียงทาง สวท.ปัตตานี FM101 MHz. และ Live ผ่านทางเพจ สวท.ปัตตานี กรมประชาสัมพันธ์ ควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวาง โดยมุ่งหวังให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาและการพัฒนากับภาครัฐ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่สังคมที่สันติสุขอย่างยั่งยืน