วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

โรงเรียนต้นแบบสืบสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา สนองแนวพระราชดำริ

        
       ย่านลิเภาเป็นพืชตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง ภาษาทางภาคใต้เรียกเถาวัลย์ว่าย่าน ขณะที่ชาวพื้นเมืองนราธิวาสเรียกว่าลิบู เป็นภาษามลายูแปลว่าตีนจิ้กจง จากลักษณะใบของย่านลิเภาที่หยัก ๆ คล้ายตีนจิ้งจก มีคุณสมบัติที่ดี คือ ลำต้นเหนียว ชาวบ้านจึงนำมาจักสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ หัตถกรรมย่านลิเภามีแพร่หลายแทบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงจังหวัดนราธิวาส โดยว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ทรงทราบว่าย่านลิเภาเป็นเถาวัลย์ที่หาได้ง่ายและขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์และพัฒนางานจักสานย่านลิเภาให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎรในเขตภาคใต้
 

       ด้านนางนลิณี สาและ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านคลอแระ อำเภอบาเจาะ กล่าวว่า อย่างในพื้นที่ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในโครงการศิลปาชีพ ประกอบกับย่านลิเภามีอยู่มากในพื้นที่ หาได้ทั่วไป ทางโรงเรียนบ้านคลอแระ จึงมีแนวคิดดำเนินโครงงานอาชีพหัตถกรรมการจักสานย่านลิเภา โดยนำครูศิลปาชีพมาเป็นวิทยากรสอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 เรียนทุกวันศุกร์ ครั้งละ 2 ชั่วโมง โครงงานจักสานย่านลิเภา เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เมื่อได้สอนนักเรียนผลที่ได้ทำให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะต้องใช้ความคิดในการออกแบบลวดลาย แต่ละคนจะมีลวดลายไม่เหมือนกัน ที่สำคัญเป็นการสืบสานงานตามแนวพระราชดำริ อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป...

        ว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ กล่าวเสริมว่า การจัดการเรียนการสอนยังสามารถสอดแทรกองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ประสบการณ์จากการเฝ้าฯ รับเสด็จ จากพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นสมาชิกในโครงการศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นการปลูกจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กับเด็ก เยาวชน ด้วยเรื่องใกล้ตัว สำหรับที่บ้านคลอแระ ยังเป็นที่ตั้งของศาลาทรงงาน ซึ่งสมเด็จฯ จะเสด็จทรงงานทุกปี ชาวบ้านได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิด นำผลิตภัณฑ์ถวาย ส่วนใครเจ็บป่วยก็ได้พบหมอหลวง และบ้านคลอแระ ยังมีครูสอนลิเภาและสมาชิกมากที่สุดของจังหวัดนราธิวาสด้วย

         “...โรงเรียนบ้านคลอแระ จัดการเรียนการสอนหัตถกรรมย่านลิเภามากว่า 10 ปีแล้ว และได้ขยายผลไปยัง 4 โรงเรียน ในปัจจุบันทางอำเภอบาเจาะได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาวัตถุดิบอุปกรณ์ และค่าวิทยากร ทั้ง 5 โรงเรียน สิ่งที่พัฒนาต่อไปเป็นเรื่องของการออกแบบที่จะให้ลวดลายหรือเส้นลิเภาไปปรากฎอยู่บนวัตถุสิ่งของอื่น ๆ ได้บ้าง ที่สามารถจะจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ไม่จำเป็นว่าสิ่งของนั้นต้องทำด้วยลิเภา 100%...” นอกจากนี้เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ได้จัดทำแปลงอนุรักษ์ย่านลิเภาบนพื้นที่สาธารณะบ้านคลอแระ จำนวน 30 ไร่ ซึ่งเป็นแห่งเดียวของจังหวัดนราธิวาส ส่วนในปี 2564 ทางอำเภอบาเจาะ ได้รับงบประมาณจากจังหวัดนราธิวาส เพื่อจัดทำแปลงอนุรักษ์ย่านลิเภาในพื้นที่พรุสาธารณะ ประมาณ 20 ไร่ เพื่อให้มีวัตถุดิบทั้งในเรื่องการเรียนการสอน และให้กับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในโครงการศิลปาชีพผลิตภัณฑ์ของนักเรียน มีกำไล จานรองแก้ว พวงกุญแจ เข็มกลัด ของตกแต่ง ได้นำไปจัดแสดงในงานศิลปหัตกรรมนักเรียน ระดับประเทศ อีกทั้งจำหน่าย และโรงเรียนบ้านคลอแระ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมการจักสานย่านลิเภา ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและสร้างความมีชื่อเสียงให้เกิดแก่จังหวัดนราธิวาส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น