วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้

       การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลบาเจาะ จากที่มีหนี้ค้างชำระกองทุนสูงเป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัด แต่อาศัยการทำงานแบบครอบครัวสามารถแก้ไขปัญหา ได้รับรางวัลดีเด่น ระดับจังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2563 รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้และส่งเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ จึงได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นมา นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีมีการจัดสรรเงินให้ 2 ประเภท คือ เงินอุดหนุน และเงินหมุนเวียน คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ต่อมาในปี 2559 ถ่ายโอนกองทุนฯ ให้กรมการพัฒนาชุมชนเข้ามาดูแล

      ในส่วนของจังหวัดนราธิวาส ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนฯ ครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ โดยนางยินดี บุญเตชพิทักษ์ พัฒนาการอำเภอบาเจาะ กล่าวว่า อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้ขับเคลื่อนกองทุนโดยเริ่มปล่อยให้เงินกู้ให้กับกลุ่มสตรีในปี 2556 จำนวน 49 โครงการ งบประมาณกว่า 9 ล้านบาท อยู่ในตำบลบาเจาะ จำนวน 32 โครงการ นำเงินทุนไปประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ค้าขาย แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น แต่เกิดปัญหามีหนี้ค้างชำระสูง ว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ สะท้อนความคิดเห็นว่า อำเภอบาเจาะมีจุดเริ่มต้นที่ยากกว่าอำเภออื่น ๆ เพราะมีหนี้ค้างชำระเป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัด ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาต้องทำงานแบบครอบครัว เน้นการช่วยเหลือ

         “...กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ไม่ใช่แค่เม็ดเงินที่มาให้กลุ่มสตรี ต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูลโดยคณะอนุกรรมการที่มีความรู้อย่างเรื่องปศุสัตว์ เกษตร ประมง การทำงานเน้นการช่วยเหลือมากกว่าการบังคับชำระหนี้ ที่สำคัญคือการใช้กลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน บรรยากาศของสภาพแวดล้อมมีส่วนในการทำให้คนที่กู้ยืมไปแล้ว ต้องทำงานให้สำเร็จ มาชำระเงินได้ เพื่อให้คนอื่นได้ใช้เงินกองทุนต่อไป...”การใช้แนวทางดังกล่าว ส่งผลให้คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลบาเจาะ ได้รับรางวัลตามโครงการเชิดชูเกียรติคนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดีเด่นระดับจังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2563 นางวิลาวัลย์ ลามะทา หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล บาเจาะ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยของความสำเร็จเกิดจากการทำงานแบบครอบครัวพัฒนาชุมชน เน้นการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ต่อยอดความสำเร็จ ทำให้มีการชำระเงินคืน จากหนี้คงค้างเดิมกว่า 6 ล้านบาท คงเหลือประมาณ 3 ล้านบาท ปัจจุบันในพื้นที่ตำบลบาเจาะ มีสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 12,000 คน


       อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเพื่อป้องกันปัญหาการมีหนี้ค้างชำระเกิดขึ้นอีก ต้องมีระบบการกลั่นกรองในระดับตำบล ระดับอำเภอ ตลอดจนมีคณะกรรมการติดตามประเมินผล โดยเชิญคนนอกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญอำเภอบาเจาะมีศักยภาพในเรื่องการคมนาคมขนส่ง จะร่วมกับภาคเอกชนอย่างบริษัท ปตท. โดยนำสินค้าของกลุ่มสตรีไปจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท และใช้ทุนทางเศรษฐกิจ มาพัฒนากลุ่มสตรีที่ใช้เงินจากกองทุนฯ ให้เกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น