วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562

“Narathiwat Model” ส่งเสริมการเกษตรและพัฒนางานวิจัยในพื้นที่


        กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในการพัฒนาวิชาการด้านการวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำความรู้และผลงานวิจัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกร ให้มีความสามารถเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

         นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ ผศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ร่วมกันลงนามและบอกกับทีมงานของเราว่าการลงนามในครั้งนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงความร่วมมือ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยภาครัฐพยายามส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาคุณภาพ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และต้องให้เกษตรเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม นำไปสู่การลดต้นทุน และพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ

          ภายหลังจากเสร็จสิ้นการลงนามบันทึกคามเข้าใจแล้ว อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะ ได้เดินทางไปพบปะอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือ อกม. ในงานมหกรรม Learn & Share งานส่งเสริมการเกษตร ประจำปี 2562ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส จัดขึ้น โดยภายในงานนี้ได้นำเสนอผลความสำเร็จของการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ตามภารกิจของหน่วยงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรได้พัฒนาด้านการเกษตร โดยมีการนำเสนอ 5 ประเด็น 6 นิทรรศการ เป็นผลของการทำงานส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ 13 อำเภอ เริ่มกันที่นิทรรศการต้นแบบเกษตรผสมผสาน "ขอเดินตามพ่ออย่างพอเพียง" ของนายเจตน์ จิตรธรรม และนางปัทมาลักษณ์ ทองบุญ ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี สามารถสร้างรายได้กว่า 3 แสนบาท นิทรรศการด้านเกษตรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer นิทรรศการหัวใจเกินร้อย กับชันโรงตัวน้อย คุณประโยชน์เกินตัว ของนายมูหัมมัดซัมซูดิน เซ็นมาด ซึ่งเลี้ยงชันโรงควบคู่กับสวนลองกอง ปลูกแซมด้วยกาแฟ

นิทรรศการแปลงใหญ่มังคุด อำเภอสุคิริน ซึ่งมีการทำงานร่วมกับกับเอกชน บริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุท จำกัด ทั้งหมดนี้เกิดจาการทำงานทั้งในด้านนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภารกิจกรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งมีเป้าหมายภายใต้ “Narathiwat Model” รวมถึงสานพลังทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ไปสู่การบรรลุเป้าหมาย เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน

         สำหรับใครที่พลาดงานนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส เลขที่ 40 ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมืองนราธิวาส โทรศัพท์.073-532218 จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูล นำลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรค่ะ





-------------------------------

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เที่ยวผืนป่าสองแผ่นดินเบตง!! ไปกับชมรมออฟโรดยะลา



         วันนี้จะขอเชิญชวนทุกท่านไป #เที่ยวผืนป่าสองแผ่นดิน ร่วมกับ#ชมรมออฟโรดยะลา ครับ คุณรอซี นือเรง ประธานชมรมออฟโรดยะลา Red zone off road yala บอกกับทีมงานของเราว่า วันที่ 28-30 มิถุนายน 62 นี้ ชมรมออฟโรดยะลา จะมีการจัดทริปเที่ยวป่า 2 แผ่นดิน ไทย-มาเลเซีย เพื่อต้อนรับหน้าฝนสำหรับสายลุย พิชิตจุดชมทะเลหมอกไต๋ต๋ง ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน กับเส้นทางสายธรรมชาติ โดยรับจำนวนจำกัด เฉพาะรถที่มีความพร้อม ส่วนในกรณีรถ 4×4 ทั่วไป สามารถร่วมทริปได้ โดยใช้เส้นทางอีกสายพาครอบครัวมาร่วมสัมผัสธรรมชาติ ชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า พระอาทิตย์ตกยามเย็นและชมทะเลหมอก ณ จุดชมวิวไต๋ต๋ง แลนด์มารค์แห่งใหม่ของอำเภอเบตง ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ 360 องศาของ 2 ประเทศ สุดลูกตาอย่างสวยงาม

           คุณ รอซี นือเรง ยังกล่าวด้วยว่า ชมรมเรดโซนออฟโรดยะลา จัดรถบิ๊กฟุต ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากคุณพันธ์ศักดิ์ ยะลา นำไปโชว์ที่เบตงตามคำเรียกร้องของชาวเบตง ณ จุดพักค้างคืนชมทะเลหมอกไต๋ต๋ง ช่วงกลางคืน สามารถมองเห็นเมืองเบตง สนามบินเบตงที่จะเปิดบริการเร็วๆนี้ อีกด้วย และในคืนวันที่ 29 มิ.ย.62 จะมีการแข่งขันชกมวย Thai fight ที่สนามกีฬาอำเภอเบตง หากท่านใดต้องการชมมวยก็สามารถมาชมได้ ระยะทางจากจุดที่กางเต้นท์พักออกมาอำเภอเบตงเพียง 8 กม.เท่านั้น

         สำหรับกำหนดการ 28 มิถุนายน 2562 เวลา13.00 น.พบกันที่ยะลา ร้านซีซันแมกซ์ไทร์ เซนเตอร์ จัดขบวนเดินทางไปอำเภอเบตง พักกางเต้นท์สนามหน้าบ้านนายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ 29 มิ.ย. 08.00 น.เคลื่อนขบวนจากที่พักเข้าสู่เมืองเบตง ร่วมพิธีเปิดและปล่อยขบวนจากเทศบาลเมืองเบตง มุ่งหน้าสู่จุดชมวิวทะเลหมอกไต๋ต๋ง พักกางเต้นท์นอน สัมผัสบรรยากาศไออุ่นป่า 2 แผ่นดิน และในวันที่ 30 มิ.ย.62 เวลา 09.00 น. เคลื่อนขบวนจากที่พัก ขับรถเลียบชายแดนไทย-มาเลเซีย แวะถ่ายรูปหลักมุดแบ่งเขตระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย บางจุดจะมีกำแพงกั้น บางจุดแบ่งเขตด้วยรั้วลวดหนาม เมื่อถึงอำเภอเบตง ท่านใดจะข้ามไปมาเลเซีย แวะซื้อของ Duty Fee ก็สามารถข้ามไปได้ ขากลับเส้นทางจากเบตงเข้ายะลามีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น บ่อน้ำพุร้อน สวนดอกไม้เมืองหนาว เขื่อนบางลาง ฯลฯ ซึ่งทริปนี้มีนักออฟโรดเที่ยวป่าจากมาเลเซียมาร่วมทริปด้วย และที่สำคัญคือ การเดินทางทริปนี้มีการเยือนเด็กๆโรงเรียนในพื้นที่มอบอุปกรณ์การเรียนและอุปกรณ์กีฬาอีกด้วย

           จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่มีใจรักในการเดินทางด้วยรถออฟโรด มาร่วมกิจกรรมกับชมรมออฟโรดยะลา Red zone off road yala โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ชมรมออฟโรดยะลา โทร ️081-128-6404








-----------------------

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

จุดเช็คอินแห่งใหม่ ณ ริมเขื่อนท่าพระยาสายนราธิวาส



       ความภาคภูมิใจของพี่น้องนราธิวาสและพี่น้องชายแดนใต้ที่เรามีสถานที่เที่ยวแห่งใหม่ครับและที่สำคัญที่สุดเราร่วมกันดูแลสถานที่สาธารณะให้ดีที่สุดจุดเช็คอินที่เต็มไปด้วยนกเหงือก มาแล้วอุ่นใจแทนมีนกเงือกรอบตัว แวะมาถ่ายรูปกันได้จ้า แนะนำให้มาช่วงเย็นแสงสวย

        สดชื่น ฟิน ขอบอกเลยครับ ชาวนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงอย่ารอช้า มาแล้วยังอยากมาไหมถามใจคุณดู จริงๆแล้วเป็นแลนด์มาร์คเดิม ที่ไว้ชมแข่งเรือ ชมบรรยากาศ ริมแม่น้ำบางนรา ทำการปรับปรุงใหม่ แวะมาถ่ายรูป จะบอกว่าใกล้เสร็จแล้ว...รอการเปิดพิธีอย่างเป็นทางการ พื้นที่เขื่อน ความยาว 425.00 เมตร พื้นที่ร่วม 12,255 ตารางเมตร สร้างด้วยงบประมาณ (แปดสิบสามล้านห้าแสนบาท)

















----------------------------------

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

มารู้จัก!! ศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสุไหงปาดี



          นางเยื้อน  เภาประดิษฐ์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งกับศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านตำบลสุไหงปาดี เนื่องจากเป็นผู้ก่อตั้งคณะมโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ และเป็นหนึงในผู้ฝึกสอนเยาวชนของศูนย์ฯ นางเยื้อนเป็น ผู้มีบทบาทอย่างยิ่งกับศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านตำบลสุไหงปาดี เนื่องจากเป็นผู้ก่อตั้งคณะมโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ และเป็นหนึงในผู้ฝึกสอนเยาวชนของศูนย์ฯ นางเยื้อนเป็นชาวบ้านโคกใหญ่ หมู่ที่ ๓ ต.สุไหงปาดี ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี เริ่มฝึกหัดมโนราห์ครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๓ ปี หรือประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กับอาจารย์ถ่อง ชาวจังหวัดสงขลา ซึ่งย้ายถิ่นฐานมามีครอบครัวแล้วตั้งรกราก ณ บ้านโคกใหญ่  ในขณะนั้นร่วมฝึกกับสมัครพรรคพวก อีก ๑๑ คน เมื่อฝึกการรำและการขับร้องบทกลอนจนชำนาญพอสมควรแล้วก็ออกทำการแสดง ในสถานที่ต่างๆ ที่ทางเจ้าภาพติดต่อไปทำการแสดง นางเยื้อนแสดงมโนราห์ร่วมกับอาจารย์ถ่องและเพื่อนๆ ได้ประมาณ ๓ ปี ก็มีอันต้องหยุดไปช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยเป็นเพราะเหตุผลบางประการ

          ต่อมามีอาจารย์คนใหม่เข้ามาทำการฝึกสอนแทนอาจารย์คนเดิม คืออาจารย์มิตร ชาวจังหวัดพัทลุง แสดงมโนราห์ร่วมกับอาจารย์มิตรได้ประมาณ ๒ ปี ในขณะนั้นคณะมโนราห์มีชื่อเสียงพอสมควร ได้มีโอกาสไปทำการแสดงตามสถานที่ต่างๆ หลายอำเภอด้วยกัน โดยเฉพาะวัดในอำเภอตากใบ กล่าวได้ว่ามีโอกาสไปทำการแสดงในทุกๆ วัดในอำเภอตากใบ และอีกหลายอำเภอของจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดพัทลุง ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี แต่งงานมีครอบครัว แต่ก็มิได้เลิกการแสดงมโนราห์ หลังจากนั้นประมาณ ๓ ๔ ปี อาจารย์มิตรซึ่งเป็นผู้นำคณะมีเหตุจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิดคือจังหวัดพัทลุง ประกอบกับ นางเยื้อน เภาประดิษฐ์เองมีภาระหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบุตรจึงจำเป็นต้องหยุดแสดงมโนราห์อีกเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากหยุดไปประมาณ ๑๗ ปี ด้วยความรักในการแสดงมโนราห์  นางเยื้อน เภาประดิษฐ์ จึงทำการรื้อฟื้นการแสดงมโนราห์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในขณะนั้นในฐานะที่เป็นผู้นำในการรื้อฟื้น นางเยื้อน เภาประดิษฐ์ ก็ถูกคัดเลือกจากสมาชิกในคณะให้เป็นหัวหน้าคณะและได้ตั้งชื่อคณะใหม่ว่า มโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ นับตั้งแต่บัดนั้น ต่อมาภายหลังมีโอกาสได้พบและแสดงร่วมกับมโนราห์เซี่ยง เสียงหวาน ชาวจังหวัดปัตตานี นางเยื่อน เภาประดิษฐ์และเพื่อนๆ อีก ๔ คน  อันได้แก่ นางเลื่อน บุตรมาตา นางเติม แสงแก้ว นางเคลื่อน ประดิษฐ์ธรรม นางพวง บุตรมาตา ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะมโนราห์เซี่ยง เสียงหวาน  และแสดงการรำมโนราห์อยู่กับมโนราห์เซี่ยง ประมาณ ๒๐ ปี ในขณะที่แสดงมโนราห์ร่วมกับคณะมโนราห์เซี่ยงนั้น ก็มีโอกาสฝึกหัดศิษย์ซึ่งเป็นลูกหลานและเยาวชนละแวกใกล้บ้านไว้ด้วยประมาณ ๑๐ คน ปัจจุบันนางเยื้อน เภาประดิษฐ์และเพื่อนๆ หยุดไปทำการแสดงมโนราห์ร่วมกับมโนราห์เซี่ยง เนื่องจากความไม่สะดวกจากสถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็มิได้เลิกการแสดงมโนราห์ เมื่อมีโอกาสก็จะทำการฝึกหัดเยาวชนที่มีความสนใจในศิลปะพื้นบ้านมโนราห์อย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับเมื่อ พ.ศ.๒๕๖๐ ทางคณะมโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมให้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้และฝึกหัดการรำโนราแขกจากคณะมโนราห์แขกบ้านทุ่งคา อำเภอยี่งอ อันเป็นการสืบทอดการแสดงโนราที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ซึ่งปัจจุบันมีผู้สืบทอดน้อยลง จำนวนเยาวชนที่ผ่านการฝึกหัดมโนราห์จากนางเยื้อนและคณะ และยังคงออกแสดงรำมโนราห์ในปัจจุบันมีประมาณ ๒๐ คน
ประวัติโนรา
          โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา หรือ มโนราห์ ก็ได้) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบ ทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายใน ภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางโอกาสมีบางส่วน แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม

          โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่ คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้น เป็นคำที่เกิด ขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอา เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำเรียกว่า มโนราห์ ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการ ร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัย ที่มา จากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีตซึ่งประกอบโหม่งฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา อีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของ ทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อ ประมาณปี พุทธศักราชที่ ๑๘๒๐ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้นเชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันคือ ตำบล บางแก้ว จังหวัด พัทลุง แล้ว แพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆของภาคใต้ จน ไปถึงภาคกลาง และกลายเป็นละครชาตรี และจังหวะ ตะลุง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ โนรา เกิดขึ้นในราชสำนักของพัทลุงซึ่งมีตำนานเล่า กันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อ ศรีมาลา ซึ่ง มีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่า เป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดัง นั้นก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไป ลอยแพในทะเล ( คือ ทะเลสาปสงขลา) และ แพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลาก็ ได้ให้กำเนิดลูกชาย โดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหล ก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำ มีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึง หูพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้า ฟาดก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้ เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราคณะ นี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้ง แต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้น เทพสิงหลจึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำ ได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาดก็ ตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า เครื่อง แต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกาย ของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไปเทพสิงหลจึง บอกว่าแท้จริงแล้วเป็นหลานของพระยาสายฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ ในราชสำนักและให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุก ประการ

มโนราห์จิตวิญญาณของชาวใต้
          เอกลักษณ์ของชาวใต้ที่น่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งนั้นคือ มโนราห์ หรือโนราห์   ซึ่งเป็นศิลปะการร้องและการรำชั้นสูง ทั้งนี้มีคนกล่าวกันว่าต้นกำเนิดนั้น คือที่อินเดียกว่า สี่ร้อยที่ผ่านมา โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อบูชามหาเทพทั้งสามนั้นก็คือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ ซึ่งในบทร้องของมโนราห์ปัจจุบันก็ยังคงมีเนื้อหาดังกล่าวเจือปนอยู่ แม้จะมีการดัดแปลงแก้ไขใส่เนื้อหาทางด้านพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมคือการนับถือบรรพบุรุษ เติมไปบ้างตามอิทธิพลของศาสนาที่มีต่อท้องถิ่น   ความเป็นศิลปะชั้นสูงของมโนราห์นั้นสามารถดูได้จาก งานครอบครูโขนละครและดนดรีไทย ที่เป็นมรดกของชาติและเป็นที่ยอมรับว่างดงามและสูงส่ง บนปรัมพิธีจะมีเศียรเก้าเศียรซึ่งเศียรที่เก้านั้นก็คือ เทริด มโนราห์(คล้ายมงกุฎ) อีกทั้งมโนราห์ยังเป็นศาสตร์ที่รวบรวมเอาศิลป์แขนงอื่นมาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่น งานช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างปักเย็บ เป็นต้น บรมครูของมโนราห์สามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วนหลักๆคือ ราชครูมโนราห์ โดยเชื่อกันว่าครูเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เคยมีชีวิตในสมัยโบราณ ทั้งนี้จะเป็นเจ้าเมือง(เมืองพัทลุง)และบรมวงศานุวงศ์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเครื่องแต่งกายของมโนราห์จึง มีลักษณะคล้ายเครื่องทรงกษัตริย์ ซึ่งบรมครูเหล่านี้ได้แก่ ขุนศรัทธา เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา แม่นางคงคา แม่นางนวลทองสำลี ตาม่วงแก้ว ตาม่วงทอง ขุนแก้วขุนไกร  พ่อเทพสิงขร เป็นต้น     เหล่าตาพรานป่าและเหล่าเสนา เหล่านี้คือข้ารับใช้ในวัง และยังเป็นตัวตลกอีกด้วยเช่น พรานบุญ พรานเทพ  พรานหน้าทอง พรานเฒ่า เป็นต้น    ตายายมโนราห์ เหล่านี้ก็คือบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์แต่เมื่อสิ้นชีพไปแล้วด้วยแรงครูจึงยังคอยวนเวียนปกปักษ์รักษา ลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ ตลอดมา  ความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้เกิดความสามัคคีเป็นอย่างดีในชนชาวใต้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวใต้จึงหวงถิ่นรักพี่เอื้ออาทรพี่น้อง

วัตถุประสงค์ศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านตำบลสุไหงปาดี
        1.เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนรา
        2.เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านโนรา
        3.เป็นศูนย์รวบรวม ถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของตำบลสุไหงปาดีและพื้นที่ใกล้เคียง
-------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562

“ไต้ต๋งเบตง”เขาร้อยยอดดินแดนมิตรภาพ



        เบตงคือดินแดนเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา ตั้งอยู่ใต้สุดสยาม โดยล้อมรอบ ไปด้วยธรรมชาติ และเส้นทางที่แสนจะคดเคี้ยว เมืองแห่งนี้ปกคลุมภายใต้หมอก แต่แสนอบอุ่นไปด้วย มิตรไมตรี ที่ล้วนหลากชนหลายวัฒนธรรม ดูดีมีเสน่ห์  นี่คือเมืองงามติดชายเเดนที่รอคุณมาเยือน

        หลายคนอาจจะคุ้นๆ บ้างในชื่อนี้ ไต้ต๋งรวมถึงตัวฉันด้วยเเต่จะรู้ไหมว่าฉันเอง ยังไม่เคยได้สัมผัสสักครั้ง เพราะในตอนนั้นมันไม่มีเหตุผลที่ต้องไป เเต่เเล้ววันนี้ชื่อนี้กลับถูกเรียกขึ้นมาอีกครั้ง เเละมาพร้อมกับคำพูดของความสวยงาม บนยอดเขามันทำไห้ฉัน อยากลองอยากไปสัมผัสมัน ต่อจากนั้น ได้ชวนเพื่อนๆ ในเเก๊งรวมตัวกัน

          เมื่อตกลงกันเรียบร้อยก็พร้อมลุย (วันเดินทาง) เป็นเวลา 4.30 น. ฉันเเละผองเพื่อนได้รวมตัวกันครบ ก็ออกเดินทาง เเละมันเป็นอะไรที่ท้าทาย ในการขับรถมอเตอร์ไซค์ ณ เวลานั้น ทั้งอากาศหนาว มีหมอกขาวๆ ตลอดทาง ทางขึ้นไม่สะดวกอย่างที่คิดน่ะ (โคตรลำบากเลย) มีเด็ดกว่านั้น คือ รถฉันมาดับกลางทาง เอาไงล่ะทีนี้ (ก็รุนสิคะ.รอไร) เเต่ก็โชคดี คือ มีเพื่อนที่เสียสละมาด้วย รุนจนสุดทางขึ้นเลย เเละเเล้วเราก็จอดรถเดินเท้าอีกหน่อยพอมองไปข้างหน้า เห้ย! สวยมาก ถึงกับลืมเหนื่อยไปเลยทีเดียว เเลเห็นถึงหมอกขาวๆ เเละบรรยากาศวิวเมืองเบตงที่ซ้อนความสวยงามน่าหลงใหล มองผ่านทางหุบเขานู้นเเหน่ะ จากนั้นก็รอพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อเวลาที่รอคอยมาถึงฉัน เเละเพื่อนๆ พากันยิ้มเเละหายเหนื่อยไปเลย มันเป็นอารมณ์ที่อธิบายยาก เมื่ออยู่บนยอดเขาสูงๆ อากาศเย็นๆ ได้มองเห็นแสงที่สะท้อนสู่หมอกเมฆบนยอดเขาที่ละลานตา (คือโครตฟิน) มันคือความรู้สึกที่ยากจะอธิบายเป็นตัวอักษร เเละมันคุ้มมากกับการเดิน ทางในครั้งนี้ ทุกคนต่างเกิดภาพ ที่ระทึกไว้ (ไม่ใช่ๆ ที่ระลึก) ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาในที่เเห่งนี้ (ไต้ต๋งเขาร้อยยอดดินแดนมิตรภาพ) ตั้งอยู่ ม.4 จาเราะซูซู ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง

       เมื่อการเดินฝ่าหุบเขาครั้งนี้สิ้นสุดลง สิ่งที่ได้มากกว่า แค่ไปเที่ยว คือประสบการณ์ที่ดีและเป็นบนเรียนที่น่าจดจำต่ออุปสรรคกลางทางสอนให้เราอดทนกับ ปัญหาที่เราพบเจอ ต่างร่วมมือช่วยกันแก้ไข และเราก็ยิ้มไปพร้อมๆกันเมื่อถึงจุดหมาย ปลายทางที่ตั้งใจไว้ ความสุขของมิตรภาพคือการเดินทางที่น่าจดจำ” 410 สุดสาย แดนสยาม ณ เมืองงาม ซ่อนอยู่ กลางหุบเขา เส้นทางแสน คดเคี้ยว ในร่มเงา ใช่เขาว่า นั่นมัน คือเบตง
------------------------------------