วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

มารู้จัก!! ศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสุไหงปาดี



          นางเยื้อน  เภาประดิษฐ์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งกับศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านตำบลสุไหงปาดี เนื่องจากเป็นผู้ก่อตั้งคณะมโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ และเป็นหนึงในผู้ฝึกสอนเยาวชนของศูนย์ฯ นางเยื้อนเป็น ผู้มีบทบาทอย่างยิ่งกับศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านตำบลสุไหงปาดี เนื่องจากเป็นผู้ก่อตั้งคณะมโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ และเป็นหนึงในผู้ฝึกสอนเยาวชนของศูนย์ฯ นางเยื้อนเป็นชาวบ้านโคกใหญ่ หมู่ที่ ๓ ต.สุไหงปาดี ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี เริ่มฝึกหัดมโนราห์ครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๓ ปี หรือประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กับอาจารย์ถ่อง ชาวจังหวัดสงขลา ซึ่งย้ายถิ่นฐานมามีครอบครัวแล้วตั้งรกราก ณ บ้านโคกใหญ่  ในขณะนั้นร่วมฝึกกับสมัครพรรคพวก อีก ๑๑ คน เมื่อฝึกการรำและการขับร้องบทกลอนจนชำนาญพอสมควรแล้วก็ออกทำการแสดง ในสถานที่ต่างๆ ที่ทางเจ้าภาพติดต่อไปทำการแสดง นางเยื้อนแสดงมโนราห์ร่วมกับอาจารย์ถ่องและเพื่อนๆ ได้ประมาณ ๓ ปี ก็มีอันต้องหยุดไปช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยเป็นเพราะเหตุผลบางประการ

          ต่อมามีอาจารย์คนใหม่เข้ามาทำการฝึกสอนแทนอาจารย์คนเดิม คืออาจารย์มิตร ชาวจังหวัดพัทลุง แสดงมโนราห์ร่วมกับอาจารย์มิตรได้ประมาณ ๒ ปี ในขณะนั้นคณะมโนราห์มีชื่อเสียงพอสมควร ได้มีโอกาสไปทำการแสดงตามสถานที่ต่างๆ หลายอำเภอด้วยกัน โดยเฉพาะวัดในอำเภอตากใบ กล่าวได้ว่ามีโอกาสไปทำการแสดงในทุกๆ วัดในอำเภอตากใบ และอีกหลายอำเภอของจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดพัทลุง ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี แต่งงานมีครอบครัว แต่ก็มิได้เลิกการแสดงมโนราห์ หลังจากนั้นประมาณ ๓ ๔ ปี อาจารย์มิตรซึ่งเป็นผู้นำคณะมีเหตุจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิดคือจังหวัดพัทลุง ประกอบกับ นางเยื้อน เภาประดิษฐ์เองมีภาระหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบุตรจึงจำเป็นต้องหยุดแสดงมโนราห์อีกเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากหยุดไปประมาณ ๑๗ ปี ด้วยความรักในการแสดงมโนราห์  นางเยื้อน เภาประดิษฐ์ จึงทำการรื้อฟื้นการแสดงมโนราห์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในขณะนั้นในฐานะที่เป็นผู้นำในการรื้อฟื้น นางเยื้อน เภาประดิษฐ์ ก็ถูกคัดเลือกจากสมาชิกในคณะให้เป็นหัวหน้าคณะและได้ตั้งชื่อคณะใหม่ว่า มโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ นับตั้งแต่บัดนั้น ต่อมาภายหลังมีโอกาสได้พบและแสดงร่วมกับมโนราห์เซี่ยง เสียงหวาน ชาวจังหวัดปัตตานี นางเยื่อน เภาประดิษฐ์และเพื่อนๆ อีก ๔ คน  อันได้แก่ นางเลื่อน บุตรมาตา นางเติม แสงแก้ว นางเคลื่อน ประดิษฐ์ธรรม นางพวง บุตรมาตา ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะมโนราห์เซี่ยง เสียงหวาน  และแสดงการรำมโนราห์อยู่กับมโนราห์เซี่ยง ประมาณ ๒๐ ปี ในขณะที่แสดงมโนราห์ร่วมกับคณะมโนราห์เซี่ยงนั้น ก็มีโอกาสฝึกหัดศิษย์ซึ่งเป็นลูกหลานและเยาวชนละแวกใกล้บ้านไว้ด้วยประมาณ ๑๐ คน ปัจจุบันนางเยื้อน เภาประดิษฐ์และเพื่อนๆ หยุดไปทำการแสดงมโนราห์ร่วมกับมโนราห์เซี่ยง เนื่องจากความไม่สะดวกจากสถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็มิได้เลิกการแสดงมโนราห์ เมื่อมีโอกาสก็จะทำการฝึกหัดเยาวชนที่มีความสนใจในศิลปะพื้นบ้านมโนราห์อย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับเมื่อ พ.ศ.๒๕๖๐ ทางคณะมโนราห์เยื้อนน้อย เจริญศิลป์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมให้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้และฝึกหัดการรำโนราแขกจากคณะมโนราห์แขกบ้านทุ่งคา อำเภอยี่งอ อันเป็นการสืบทอดการแสดงโนราที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ซึ่งปัจจุบันมีผู้สืบทอดน้อยลง จำนวนเยาวชนที่ผ่านการฝึกหัดมโนราห์จากนางเยื้อนและคณะ และยังคงออกแสดงรำมโนราห์ในปัจจุบันมีประมาณ ๒๐ คน
ประวัติโนรา
          โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา หรือ มโนราห์ ก็ได้) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบ ทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายใน ภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางโอกาสมีบางส่วน แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม

          โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่ คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้น เป็นคำที่เกิด ขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอา เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำเรียกว่า มโนราห์ ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการ ร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัย ที่มา จากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีตซึ่งประกอบโหม่งฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา อีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของ ทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อ ประมาณปี พุทธศักราชที่ ๑๘๒๐ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้นเชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันคือ ตำบล บางแก้ว จังหวัด พัทลุง แล้ว แพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆของภาคใต้ จน ไปถึงภาคกลาง และกลายเป็นละครชาตรี และจังหวะ ตะลุง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ โนรา เกิดขึ้นในราชสำนักของพัทลุงซึ่งมีตำนานเล่า กันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อ ศรีมาลา ซึ่ง มีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่า เป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดัง นั้นก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไป ลอยแพในทะเล ( คือ ทะเลสาปสงขลา) และ แพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลาก็ ได้ให้กำเนิดลูกชาย โดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหล ก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำ มีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึง หูพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้า ฟาดก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้ เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราคณะ นี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้ง แต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้น เทพสิงหลจึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำ ได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาดก็ ตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า เครื่อง แต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกาย ของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไปเทพสิงหลจึง บอกว่าแท้จริงแล้วเป็นหลานของพระยาสายฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ ในราชสำนักและให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุก ประการ

มโนราห์จิตวิญญาณของชาวใต้
          เอกลักษณ์ของชาวใต้ที่น่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งนั้นคือ มโนราห์ หรือโนราห์   ซึ่งเป็นศิลปะการร้องและการรำชั้นสูง ทั้งนี้มีคนกล่าวกันว่าต้นกำเนิดนั้น คือที่อินเดียกว่า สี่ร้อยที่ผ่านมา โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อบูชามหาเทพทั้งสามนั้นก็คือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ ซึ่งในบทร้องของมโนราห์ปัจจุบันก็ยังคงมีเนื้อหาดังกล่าวเจือปนอยู่ แม้จะมีการดัดแปลงแก้ไขใส่เนื้อหาทางด้านพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมคือการนับถือบรรพบุรุษ เติมไปบ้างตามอิทธิพลของศาสนาที่มีต่อท้องถิ่น   ความเป็นศิลปะชั้นสูงของมโนราห์นั้นสามารถดูได้จาก งานครอบครูโขนละครและดนดรีไทย ที่เป็นมรดกของชาติและเป็นที่ยอมรับว่างดงามและสูงส่ง บนปรัมพิธีจะมีเศียรเก้าเศียรซึ่งเศียรที่เก้านั้นก็คือ เทริด มโนราห์(คล้ายมงกุฎ) อีกทั้งมโนราห์ยังเป็นศาสตร์ที่รวบรวมเอาศิลป์แขนงอื่นมาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่น งานช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างปักเย็บ เป็นต้น บรมครูของมโนราห์สามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วนหลักๆคือ ราชครูมโนราห์ โดยเชื่อกันว่าครูเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เคยมีชีวิตในสมัยโบราณ ทั้งนี้จะเป็นเจ้าเมือง(เมืองพัทลุง)และบรมวงศานุวงศ์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเครื่องแต่งกายของมโนราห์จึง มีลักษณะคล้ายเครื่องทรงกษัตริย์ ซึ่งบรมครูเหล่านี้ได้แก่ ขุนศรัทธา เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา แม่นางคงคา แม่นางนวลทองสำลี ตาม่วงแก้ว ตาม่วงทอง ขุนแก้วขุนไกร  พ่อเทพสิงขร เป็นต้น     เหล่าตาพรานป่าและเหล่าเสนา เหล่านี้คือข้ารับใช้ในวัง และยังเป็นตัวตลกอีกด้วยเช่น พรานบุญ พรานเทพ  พรานหน้าทอง พรานเฒ่า เป็นต้น    ตายายมโนราห์ เหล่านี้ก็คือบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์แต่เมื่อสิ้นชีพไปแล้วด้วยแรงครูจึงยังคอยวนเวียนปกปักษ์รักษา ลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ ตลอดมา  ความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้เกิดความสามัคคีเป็นอย่างดีในชนชาวใต้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวใต้จึงหวงถิ่นรักพี่เอื้ออาทรพี่น้อง

วัตถุประสงค์ศูนย์เรียนรู้โนราและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านตำบลสุไหงปาดี
        1.เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนรา
        2.เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านโนรา
        3.เป็นศูนย์รวบรวม ถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของตำบลสุไหงปาดีและพื้นที่ใกล้เคียง
-------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น