วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

หลาดบ้านร่ม@yala จุดเช็คอินแลนด์มาร์คใหม่ของ จ.ยะลา

          ตลาดชุมชน หลาดบ้านร่มยะลา ซึ่งได้เปิดอย่างเป็นทางการ ในวันนี้(27 ก.ย 63) ที่บริเวณ ท่าน้ำชุมชนบ้านร่ม สามแยกท่าน้ำสะเตง ทางไปเรือนจำ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ได้กลายเป็นจุดเช็คอิน ถ่ายรูป เซลฟี่ ของประชาชน ที่มาเที่ยวตลาดแห่งใหม่ ในพื้นที่ อ.เมืองยะลา


          โดยก่อนที่จะเดินเข้าไปภายในตลาดเพื่อจับจ่ายซื้ออาหาร ประชาชน ก็จะแวะเวียนกันมา ถ่ายรูป เซลฟี่ กับร่มฝาชีหลากสีสัน ที่ได้นำมาตกแต่งไว้   พร้อมกับถือสติ๊กเกอร์ หลาดบ้านร่ม@yala เทศบาลนครยะลา กันอย่างคึกคัก บางคนก็จะมาเที่ยวแบบเดี่ยว ๆ    ก็ถ่ายรูปคนเดียว บางคนมากับเพื่อนฝูงก็จะเซลฟี่กันเป็นกลุ่ม ขณะที่ บางคนก็จะมากันเป็นครอบครัว ถ่ายรูปทั้งครอบครัวบ้างให้ลูกถ่ายรูป คนเดียวบ้าง  ซึ่งจุดเช็คอินแลนด์มาร์คใหม่ หลาดบ้านร่มได้สร้างความประทับใจ ความสุข และรอยยิ้ม ให้กับพี่น้องประชาชนที่มาเที่ยวชมบรรยากาศของตลาด และจับจ่ายซื้ออาหาร เป็นอย่างมาก


          เมื่อวันที่ 27 ก.ย 63 นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้เปิดตลาดชุมชนหลาดบ้านร่มอย่างเป็นทางการ  เพื่อกระตุ้น และพัฒนาเศรษฐกิจภายในชุมชนให้ประชาชนได้ออกมาท่องเที่ยวชุมชนและได้ลิ้มชิมรสชาติอาหารอร่อย ที่เป็นเอกลักษณ์ ดั้งเดิม ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน ออกมาเดินจับจ่าย ซื้ออาหารกันเป็นจำนวนมาก สำหรั การเปิดตลาดบ้านร่ม สามแยกสะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ การปรับปรุงภูมิทัศน์ และการออกแบบตลาดชุมชนบ้านร่ม โดยเทศบาลนครยะลา ได้ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านร่มให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  ซึ่งในวันนี้ เป็นการ "ทดลองเปิดหลาดบ้านร่ม" เพื่อทดสอบศักยภาพของตลาดในอนาคต เปิดโอกาสให้พี่น้องชาวบ้านร่มได้ขายอาหารทั้งคาวและหวาน อย่างเป็นทางการ ครั้งแรก หลังจากที่ได้จัดกิจกรรม ชิมอาหารบ้านร่มไปแล้วใน เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา


         นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา  กล่าวว่า การเปิดหลาดบ้านร่มเป็นความคิดริเริ่มจากชุมชนขึ้นมาเอง ที่อยากจะทำลักษณะกิจกรรมเชิงตลาด สร้างสรรค์ เทศบาลนครยะลา ก็เห็นด้วย และได้เข้ามาสนับสนุน  จะเห็นได้ว่า บ้านร่ม มีความเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร มีสังคมที่ผสมผสาน ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม อยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน เป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น รวมถึง มีประวัตศาสตร์ ซึ่งเป็นที่แรกที่เข้าสู่เขตเทศบาลฯ เริ่มต้นตั้งแต่ท่าสาป สะเตง อีกทั้ง ยังมีทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย และที่สำคัญคนบ้านร่มมีความสมัครสมานสามัคคี รักในชุมชนตนเอง ทำให้เป็นปัจจัยในการเปิด หลาดบ้านร่ม”   เชื่อว่าต่อไป การเปิดตลาด ก็จะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้กับคนบ้านร่มได้อย่างยั่งยืน ด้านประชาชนที่มาเที่ยวตลาดบ้านร่ม บอกว่า ของกินที่นี่อร่อยทุกอย่างมีมากมาย อาหาร ขนมโบราณพื้นบ้านถูกใจมาก บรรยากาศก็ดี ถึงแม้นว่าจะมีพื้นที่แคบไปหน่อยก็ตาม

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

โรงเรียนเทศบาล 2 อ.เบตง จ.ยะลา เข้ารับการประกวดที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น ระดับประเทศ

         นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่จากกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ให้การต้อนรับคณะกรรมการตัดสินการประกวดที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น ระดับประเทศ โดยมีนางจุไรลี่ สาและ ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มยุวเกษตรกร ของโรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพการเกษตร โดยการบ่มเพาะอย่างใกล้ชิดจากครูที่ปรึกษา ให้ยุวเกษตรกรมีทัศนคติที่ดีต่อการเกษตร มีใจรักอาชีพการเกษตร เรียนรู้จากการลงมือทำจริง เพื่อให้เด็กนักเรียนนำกลับไปปฏิบัติที่บ้านและเป็นความรู้ติดตัวไปใช้ในอนาคตเน้นสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้นักเรียนและเยาวชนเห็นความสำคัญ และมีใจรักในอาชีพการเกษตรมากขึ้น ส่งเสริมให้พัฒนาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และเป็นเกษตรกรผู้นำในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันการพัฒนาภาคเกษตรในชุมชนและท้องถิ่นได้


        โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรเน้นกิจกรรมพัฒนายุวเกษตรกร เรื่องการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านพืช สัตว์ และประมง อาทิ การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงไก่ การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงปลา การปลูกกาแฟ ผักปลอดสารพิษ การแปรรูป และกิจกรรมสหกรณ์ ซึ่งแต่ละกิจกรรมนำมาเป็นอาหารของนักเรียนและจำหน่ายในชุมชน สร้างรายได้ให้แก่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยึดเอาศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน สมาชิกทุกคนได้ฝึกปฏิบัติทั้งด้านการเกษตร การบริหารจัดการ การวางแผน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้กลุ่มยุวเกษตรกรยังมีกิจกรรมด้านการพัฒนาสาธารณประโยชน์ ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกด้วย




วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

เสน่ห์ท่องเที่ยวชุมชนบ้านบายอ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา

         ชุมชนบ้านบายอ ตั้งอยู่ที่ ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา  การอยู่ร่วมกันของชุมชนที่นี่  มีการสืบสานงานประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของชาวไทยมุสลิม การกวนอาซูรอ เสริมสร้างความรักความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

          การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ดีเกฮูลู เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นในพื้นที่ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จุดชมทะเลหมอก ที่เหมืองลาบู พื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ดีบุกของจังหวัดยะลาในอดีต ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร่องรอยการขุดอุโมงค์เหมืองแร่ดีบุก ใช้เป็นแหล่งศึกษา


         และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของที่นี่ เรือนรับรอง 100 ปี บ้านเลขที่ 100 เหมืองลาบู มีจุดชมตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดยะลา  แหล่งต้นน้ำทางธรรมชาติที่สวยงาม  น้ำตกนกน้อย สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า  ดงเสม็ดแดง  และการอยู่ร่วมของชาวบ้านในชุมชน   ที่แห่งนี้ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว


วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563

งานกระจกสีและพ่นทรายควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

        อำเภอโคกโพธิ์จังหวัดปัตตานี มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งสถานที่สำคัญทางศาสนา วัฒนธรรม และทางธรรมชาติที่สวยสดงดงาม เช่นวัดช้างให้ มัสยิดบาโงยลางา หรือน้ำตกทรายขาวที่ยังคงมีธรรมชาติสมบูรณ์ แต่วันนี้ทีมงานของเราจะพาไปติดตามเรื่องราวของผลิตภัณฑ์โอทอป ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์และหายาก นั่นคือ การทำกระจกสีและงานพ่นทราย ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีกันครับ คุณเพ็ญพิมล แก้วแกมเพชร ประธานกลุ่มงานกระจกสีและงานพ่นทรายควนโนรี เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนรับทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์อยู่กับบ้าน ก่อนที่จะได้จะสมัครเข้าไปเรียนวิชาชีพการทำกระจกสี ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


         หลังจากที่ทำงานอยู่ในศูนย์ศิลปาชีพบางไทรหลายปี พี่สาวของพี่เพ็ญซึ่งพิการอยู่แล้วเกิดพิการทางสายตาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก พี่เพ็ญ จึงขอลาออกมาเพื่อที่จะดูแลพี่สาว พร้อมกับมาเปิดรับงานกระจกสีที่บ้าน ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จนถึงปัจจุบัน


        สำหรับขั้นตอนการทำนั้นก็ค่อนข้างที่จะละเอียด เนื่องจากงานกระจกสีและพ่นทรายเป็นงานศิลปะที่ต้องอาศัยเวลา และความชำนาญซึ่งปัจจุบันพี่เพ็ญได้น้องชายที่มีความรู้เกี่ยวกับงานแกะรูปด้วยคอมพิวเตอร์มาช่วยงาน ทำให้สามารถผลิตงานตามออเดอร์ของลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น ส่วนรายได้ในแต่ละเดือนพี่เพ็ญบอกว่า ในกลุ่มงานกระจกสีและพ่นทรายนั้นจะมีรายได้ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหนึ่งแสนบาทต่อเดือน โดยงานบางชิ้นมีมูลค่าหลายหมื่นบาท แล้วแต่โอกาสและลูกค้าที่สั่งทำมาสำหรับใครที่ต้องการเครื่องประดับด้วยศิลปะกระจกสีและพ่นทราย ผลิตภัณฑ์ตกแต่งที่ทรงคุณค่า  ก็สามารถติดต่อได้ที่คุณเพ็ญพิมล แก้วแกมเพชร ประธานกลุ่มงานกระจกสีและพ่นทราย ตำบลควนโนรี หรือหากต้องการที่จะมาศึกษาดูงานศิลปะที่หายากสาขานี้ ก็โทรศัพท์มาสอบถามก่อนได้ที่ โทร.089 736 2543 ซึ่งทางกลุ่มก็ยินดีให้คำปรึกษาและต้อนรับทุกๆ ท่านครับ.



วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

"บอมอยะโก๊ะ" หมอหมวก คงศรี หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563

          มากว่าครึ่งชีวิตกับการรักษาคนเจ็บป่วยอยู่ในพื้นที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส จนมาถึงวันนี้ที่ได้รับรางวัล หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 "พ่อหมอหมวก คงศรี หรือ บอมอยะโก๊ะ" ที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ นายหมวก คงศรี วัย 84 ปี มีจุดเริ่มต้นการเป็นหมอแผนไทยจากการสืบทอดต่อจากคุณตา (หมอเสาร์) ที่มีทั้งด้านสมุนไพรบำบัด และพิธีกรรมบำบัด โดยมีวิชา3ตำรับ คือ ยารักษาโรคเริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง ยารักษาอาการไข้ ยารักษาโรคกระดูกแตก ต่อยอดมาสู่การใช้ตำรับยารักษากระดูกของหมอออน และตำรับยาจากบรรพบุรุษตาทวดหมอดำลีคม ที่มี6 ตำรับยา ได้แก่ ยารักษาเหงือกและฟัน ยารักษาสะเก็ดเงิน ยามะเร็ง ยาไต ยาริดสีดวงจมูก ยาแก้พยาธิในเด็ก และยาที่หมอหมวกคิดค้นเอง เช่น ยากระชับมดลูก และตำรับยาที่ได้จากหมอท่านอื่นและคัมภีร์แพทย์แผนไทย เช่นยาขับโลหิตเสียและยาขับน้ำคาวปลา ยารักษาเบาหวาน ยารักษาริดสีดวงทวาร ยารักษาเหงือกและฟัน ยารักษาโรคผิดหนัง

          เมื่อปี2529 หมอหมวกได้ย้ายครอบครัวจากตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มาตั้งรกรากที่ชุมชนมนังซีโป บ้านจะแนะ ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ในครั้งนั้นท่านได้รับความรู้จากตำรายาวัดโพธิ์ มาจากพระรูปหนึ่งที่มาจำพรรษา ณ สำนักสงฆ์ดุซงญอ ตำบลดุซงญอ หมอหมวกจึงนำมาศึกษาค้นคว้าจนได้ยาตำรับเล็กๆที่ใช้รักษาโรคที่พบมากในท้องถิ่น เช่น โรคริดสีดวงทวาร จนกลายเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างตำรับยาของหมอหมวกกับระบบการแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน ในอดีตที่อำเภอจะแนะ ยังไม่มีโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงอาศัยหมอบ้านช่วยรักษา เพราะหากจะต้องเดินทางไปยังตัวจังหวัดก็ไม่ได้รับความสะดวกและเสียค่าใช้จ่ายมาก หมอหมวกจึงเป็นผู้ทำการรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยในพื้นที่ โดยค่ารักษาก็แล้วแต่จะให้ ไม่ได้คิดเงินตายตัวว่าจะต้องจ่ายเท่านั้น เท่านี้ บางคนที่มีฐานะยากจน หมอหมวกก็รักษาให้ด้วยจิตอันเป็นกุศลที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งไทยพุทธและมุสลิมจนได้รับการเรียกขานว่า "บอมอยะโก๊ะ หรือ แบโก๊ะ" ด้วยความเคารพและยกย่อง


        
เมื่อปี2547 โรงพยาบาล จะแนะ ส่งไปอบรมการแพทย์แผนไทย เป็นครั้งแรกหลังจากนั้นได้ผ่านการอบรมหลายครั้งจนได้รับใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สาขาเวชกรรมไทยประเภท (ค) เลขที่ พท.ว.15813 เป็นรุ่นแรกๆ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2549 และปัจจุบันฝ่ายการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลจะแนะ มีการนำยาสมุนไพรตำรับพื้นบ้านของหมอหมวกมาใช้2ตำรับ คือ ยาริดสีดวงทวารในผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการ จะใช้ยาเดี่ยวคือเพชรสังฆาตแต่ถ้าเป็นคนไข้ที่มีอาการหนัก เช่นมีติ่งและติ่งริดสีดวงที่ไม่สามารถเข้าไปในในทวารได้เองหรือมีเลือดออกตลอดเวลา จะใช้ตำรับยาของหมอหมวก และยาแก้คัน รักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง สะเก็ดเงิน ถ้าเป็นสะเก็ดเงินจะใช้ร่วมกับยาต้มของหมอหมวก แต่ตำรับยาต้มจะให้ไปรับที่บ้านหมอไม่ได้จ่ายที่โรงพยาบาล


         
จากความเป็นหมอ ที่ทำด้วยหัวใจเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ด้วยความทุ่มเทและเสียสละ คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ โดยคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกหมอไทยดีเด่นแห่งชาติจึงคัดเลือก นายหมวก คงศรี เป็นหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนควรค่าแก่การเชิดชูเกียรติ "เมื่อเดินมาสายนี้ ก็จะเดินหน้าในการรักษาผู้ป่วยตามวิชาชีพที่ติดตัวมา คนป่วยทุกคนสำคัญ ทั้งไทยพุทธและมุสลิมถ้ามาหาก็จะทำการรักษาให้ ไม่ได้เรียกร้องอะไร ใครมีก็ให้ ใครไม่มีก็รักษากันไป ต้องขอบคุณบุคลากรทางแพทย์และทุกคนที่ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้ได้รับรางวัล ไม่เคยคิดเลยว่า เราที่อยู่ในป่าในเขาห่างไกลผู้คนจะได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่ได้รางวัลที่เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลอย่างนี้" นายหมวก คงศรี กล่าว

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

กิจกรรมกระทะเดือด อาซูรอสัมพันธ์ชุมชน ปี 63

        โรงเรียนบ้านนิบง ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์โรงเรียนกับชุมชน ปี 2563 ภายใต้กิจกรรมกระทะเดือด อาซูรอสัมพันธ์ชุมชน ณ บริเวณโรงเรียนบ้านนิบง โดยมีนายมาหะมะยากี หะยีมะ นายอำเภอ กาบัง เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียนและครูจากโรงเรียนบ้านนิบง เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน



         การจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่ม สาระการเรียนรู้การงานอาชีพให้มีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน ชุมชนมีความรู้ประวัติความเป็นมาของอาซูรอและวิธีการทำอาซูรอ และได้รับประทานอาซูรอที่มีคุณค่าทางอาหารสูง, เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดทักษะทางการกีฬา ปลูกฝัง เยาวชนให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และห่างไกลจากยาเสพติด, เพื่อสร้างความสมานฉันท์ และสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานราชการต่าง ๆ อีกทั้งยังเพื่อธำรงไว้เป็นวัฒนธรรม ประเพณีของโรงเรียนและชุมชนสืบต่อไป


         สำหรับการจัดกิจกรรมกระทะเดือด อาซูรอสัมพันธ์ชุมชนในครั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากมาย ซึ่งในการแข่งขันมีมากมาย ประกอบด้วย การแข่งขันอาซูรอสัมพันธ์ การแข่งขันขูดมะพร้าวลีลา กะลาสวย นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จะได้ประโยชน์ทางด้านร่างกาย และเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ยังความสนุกสนานรื่นเริง อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้า และความเครียดจากการทำงานอีกด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุด นั้นคือ การแข่งขันอาซูรอและกิจกรรมต่าง ๆ ยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียน กับ ชุมชน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ พื้นที่ อันจะนำไปสู่ความสมัครสมานสามัคคีและร่วมแรงร่วมใจกัน ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้การทำงานเป็นหมู่คณะ และการช่วยเหลือร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่จุดหมาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

นราธิวาสเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ “อิ่มท้อง สุขใจกับวิถีท้องถิ่นริมน้ำ”

        หลังจากมีการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงตลาดน้ำยะกัง 100 ปี(ชุมชนยะกัง1) โดย ททท.สำนักงานนราธิวาส สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนตลาดน้ำยะกังขนม 100 ปี ที่มีธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สามารถต่อยอดการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ ได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่เชื่อมโยงกับตลาดน้ำยะกัง อีกทั้งนำเสนอบรรจุลงในโปรแกรมท่องเที่ยวของบริษัททัวร์พันธมิตร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว ได้ใช้เวลาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสนานขึ้น ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงดำเนินการจัดกิจกรรมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงตลาดน้ำยะกัง 100 ปี



         
ซึ่งมีการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทางน้ำใหม่ของชุมชนยะกัง รวบรวมเอาของดีของเด่นทั้งอาหารและสินค้าชุมชน ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นถิ่นมาสอดแทรกเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ จึงเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวจำนวน 2 เส้นทางคือ เส้นทางที่ 1 เส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงตลาดน้ำยะกังขนม 100 ปี (ชุมชนยะกัง 1) ไปยังโรงงานขนมบ้านอาเก๊าะ บ้านบาโง เพื่อเรียนรู้การทำขนมอาเก๊าะสูตรโบราณ และร่วมทำกิจกรรม Workshop การเพ้นท์ผ้าบาติก ณ แวปาบาติก บ้านบาโง ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เส้นทางที่ 2 คือ เส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงตลาดน้ำยะกังขนม 100 ปี (ชุมชนยะกัง 1) ไปยังศูนย์บ่มเพาะเกษตรรุ่นใหม่จังหวัดนราธิวาส บ้านเปล ต.กะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียนรู้และท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร


         สำหรับการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงตลาดน้ำยะกัง 100 ปี (ชุมชนยะกัง 1) เพื่อนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ที่เชื่อมโยงกับตลาดน้ำยะกัง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนราธิวาส รวมถึงทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับชุมชนภายหลังสถานการณ์โควิด -19 ที่ได้เปิดตลาดน้ำให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมกับมีกิจกรรมการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ ที่สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนอีกด้วย


        ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้มีแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยให้คนนราธิวาสเที่ยวนราธิวาสเพื่อช่วยเหลือกันก่อนในช่วงสถานการณ์ COVID - 19 และจะมีแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป


วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

"นำ้ผึ้งชันโรง" อาชีพสร้างรายได้เสริมอย่างงาม ที่นราธิวาส

        ปัจจุบันพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่บ้านนิคมบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มีการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อย่างเช่นการเลี้ยงชันโรง โดยหนึ่งในนั้นคือ คุณมานพ จี๋คีรี อายุ 49 ปี ประธานเครือข่ายหัวหน้ากลุ่มลูกค้าระดับจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว หรือภาษาชาวบ้านแต่ละภาคเรียกไม่เหมือนกัน ภาคใต้เรียกแมงโลม ตัวอุง เป็นแมลงขนาดเล็กที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในประเทศไทยมีประมาณ 7-8 สายพันธุ์ ตอนนี้เลี้ยงอยู่ 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์อิตาม่า และพันธุ์หลังลาย โดยจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงชันโรงเกิดจากการเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดพัทลุง


        “ธ.ก.ส.พาไปดูงานที่จังหวัดพัทลุง ดูเรื่องทุเรียน มังคุด สละ และเรื่องชันโรง คือเกษตรกรไปเยอะประมาณ 100 กว่าคน แล้วแต่ว่าใครสนใจเรื่องอะไร ซึ่งส่วนตัวมีสวนปาล์ม และเป็นเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. วิทยากรบอกว่าชันโรงข้อดีคือการผสมเกสรได้ทุกชนิด ก็เกิดความสนใจเพราะมีสวนปาล์ม ผลพลอยได้ก็คือเรื่องน้ำผึ้ง มีมูลค่าสูง เลี้ยงง่าย...” ต่อมาได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เริ่มเลี้ยงและเรียนรู้ไปด้วยกว่า 2 ปี จนขยายเครือข่ายเลี้ยงชันโรง โดยตนเองทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทำให้มีเครือข่ายจากกลุ่มวิสาหกิจปาล์มแปลงใหญ่ 30 ราย แต่ที่เลี้ยงจริงจังอยู่ประมาณ 15 ราย เป็นการเลี้ยงเพื่อขายน้ำผึ้ง น้ำผึ้งชันโรงถือว่ามีสรรพคุณทางยา มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่าง ๆ เมื่อได้น้ำผึ้งเยอะขึ้นจึงคิดเรื่องของการทำอย่างไรให้มีการเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ ก็เริ่มจากการแปรรูปเป็นน้ำผึ้งบรรจุขวด หามาตรฐานที่ไปรองรับตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายตลาดและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค


        โดยนางสาวอโณชา จี๋คีรี อายุ 25 ปี ลูกสาวคุณมานพ ซึ่งเป็น Young Smart Farmer บอกว่า ตอนนี้มีน้ำผึ้งบรรจุขวด และสบู่ ส่วนน้ำผึ้งพร้อมดื่มจะขายเฉพาะช่วงที่มีการออกงานต่าง ๆ หรือมีลูกค้าพรีออเดอร์เข้ามา รายได้ประมาณ 20,000-30,000 บาท ต่อเดือน ช่องทางการขายหลักจะเป็นออนไลน์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ บ้านรักษ์ผึ้ง น้ำผึ้งชันโรงแท้ ช่องทางไลน์ @xwn7767o ช่องทาง Lazada Shopee พิมพ์คำค้นหา บ้านรักษ์ผึ้ง น้ำผึ้งชันโรงแท้ ที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนด้วย โดยแรกเริ่มคือสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนราธิวาส ต่อมาก็สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นต้น เริ่มแรกก็คือจะส่งเสริมในด้านของการให้ความรู้เรื่องของการเลี้ยง ต่อไปคือในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดแบรนด์ที่ติดตลาด และในเรื่องของแหล่งเงินทุน จะหาทุนได้จากที่ไหน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อย ๆ...

         ด้านนายจุมพล นาถประดิษฐ์ พนักงานบริหารสินเชื่อ 9 สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนราธิวาส กล่าวเสริมว่า คุณมานพ จี๋คีรี เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.จังหวัดนราธิวาส ตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ต่อมามีการรวมกลุ่มของเกษตรในชุมชนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนปาล์มแปลงใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาล และทางกลุ่มฯ ได้กู้เงินตามโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย หรือที่เรียกโครงการล้านละร้อย กล่าวคืออัตราดอกเบี้ย 0.01 ต่อปี ขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดโครงการ เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับการเลี้ยงผึ้งชันโรง ที่คุณมานพเล่าว่าได้ไปอบรมกับทางธนาคาร ธนาคารมีเรื่องของการฟื้นฟูอาชีพลูกค้าพักชำระหนี้ 3 จังหวัดชายแดภาคใต้ มีการฟื้นฟูอาชีพส่งเสริมรายได้ครัวเรือนให้กับเกษตร ธนาคารได้เป็นพี่เลี้ยงให้ มีการส่งเสริมสนับสนุนต่อเนื่อง คุณมานพยังเป็นวิทยากรให้ด้วยเพราะได้ศึกษาจากผู้ทำจริง ผู้ประสบความสำเร็จ...




           นายมานพ จี๋คีรี กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลี้ยงผึ้งชันโรงไม่ยาก หากมีความตั้งใจหรือสนใจจริง ๆ เพราะผึ้งชันโรงไม่ต้องซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หาได้เองตามธรรมชาติ อย่างพันธุ์หลังลายหรือขนเงิน มีอยู่ตามบ้านทั่วไป แค่หาวิธีให้สามารถนำมาเลี้ยงในกล่อง ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะ ซึ่งสามารถขยายได้ต่อไปเรื่อย ๆ ผลตอบแทนน้ำผึ้งชันโรงมีมูลค่าสูง ถ้าไม่อยากแปรรูปหรือหาตลาด ผลิตขายน้ำผึ้งอย่างเดียวก็ได้ ทางกลุ่มบ้านรักษ์ผึ้งก็รับซื้อ 
สำหรับผู้สนใจอยากไปศึกษาเรียนรู้หรือข้อคำแนะนำการเลี้ยง ติดต่อคุณมานพและคุณอโณชา ที่บ้านเลขที่ 127/10 หมู่ที่ 4 บ้านฮูแตทูวอ (บ้านนิคมบาเจาะ) ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส โทร.083-1837809 หรือ 099-3077462

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

สมุนไพรริมรั้วสู่น้ำพริกชุมชน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

         พริกขี้หนูสด ตะไคร้ ข่า ขมิ้น และใบมะกรูด เป็นพืชสมุนไพรที่รู้จักกันดี และนิยมมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารหลากหลายเมนู โดยเฉพาะเครื่องแกงต่างๆที่มีรสชาติจัดจ้าน อร่อย แบบเฉพาะคนใต้ จะมีสมุนไพรเป็นวัตถุดิบหลักเสมอ แถมยังมีคุณประโยชน์มากมาย อีกทั้งยังเป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกง่าย หาง่ายได้ริมรั้วของทุกบ้าน แต่ในส่วนของชาวบ้าน ต.ร่มไทร อ.สุคิริน จ.นราธิวาส สมุนไพรชนิดนี้ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ช่วยต่อยอดชีวิตที่ดีให้อีกหลายสิบครัวเรือนในชุมชน เพราะชาวบ้านได้มีการต่อยอดพืชสมุนไพร มาแปรรูปเป็นเครื่องแกงตำมือ สินค้าขายดิบขายดีของชุมชน


         สายขิม สิงห์พันธ์ ประธานกลุ่มเครื่องแกงตำมือแม่บ้านร่วมใจ บอกว่า พืชสมุนไพรของชุมชนบ้านร่วมใจ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ บริเวณริมรั้วบ้าน ที่หาง่าย ปลูกง่ายในชุมชน จึงเกิดไอเดียในการผลิตเครื่องแกงตำมือ ที่ทุกครัวเรือนนิยมบริโภค ประกอบกับชาวบ้านเองก็มีรายได้น้อย และมีเวลาว่าง จึงเล็งเห็นว่า เครื่องแกงตำมือแม่บ้านร่วมใจ น่าจะต่อยอดเป็นอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิก ด้วยสโลแกนสด สะอาด อร่อย โดยเครื่องแกงทุกชนิดจะตำด้วยครก แบบวิถีชีวิตดั้งเดิมในส่วนของวัตถุดิบที่ในเครื่องแกงฯ ก็จะรับซื้อจากชาวบ้านในชุมชนเป็นหลัก เพราะทุกครัวเรือนจะปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพรกินเอง และเพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอ ที่นี้ยังมีศูนย์ดินปุ๋ยชุมชน โดยมีเกษตรตำบลเข้ามาส่งเสริม สนับสนุนให้ความรู้การปลูกพืชผักสมุนไพรคุณภาพดี ไร้สารเคมี ให้ชาวบ้านไว้บริโภค และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม


        สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องแกงตำมือแม่บ้านร่วมใจ ก็จะมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ เครื่องแกงเผ็ด แกงกะทิ แกงส้ม โดยจำหน่ายในราคาถุงละ 20-30 บาท เท่านั้น จะวางจำหน่ายในตลาดพื้นที่ จ.นราธิวาส และส่งขายต่างจังหวัด ส่วนใครที่อยากลิ้มลองรสชาติความอร่อยของเครื่องแกง สามารถสอบถามทางเฟสบุ๊ค สายขิม สิงห์พันธ์ ประธานกลุ่มเครื่องแกงตำมือแม่บ้านร่วมใจ และนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในดำเนินชีวิตแบบวิถีพอเพียงของกลุ่มเครื่องแกงตำมือแม่บ้านร่วมใจ ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ริมรั้วบ้าน สู่ครัวในบ้าน และต่อยอดไปสู่อาชีพเสริมรายได้ให้กับคนชุมชน