วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

"นำ้ผึ้งชันโรง" อาชีพสร้างรายได้เสริมอย่างงาม ที่นราธิวาส

        ปัจจุบันพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่บ้านนิคมบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มีการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อย่างเช่นการเลี้ยงชันโรง โดยหนึ่งในนั้นคือ คุณมานพ จี๋คีรี อายุ 49 ปี ประธานเครือข่ายหัวหน้ากลุ่มลูกค้าระดับจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว หรือภาษาชาวบ้านแต่ละภาคเรียกไม่เหมือนกัน ภาคใต้เรียกแมงโลม ตัวอุง เป็นแมลงขนาดเล็กที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในประเทศไทยมีประมาณ 7-8 สายพันธุ์ ตอนนี้เลี้ยงอยู่ 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์อิตาม่า และพันธุ์หลังลาย โดยจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงชันโรงเกิดจากการเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดพัทลุง


        “ธ.ก.ส.พาไปดูงานที่จังหวัดพัทลุง ดูเรื่องทุเรียน มังคุด สละ และเรื่องชันโรง คือเกษตรกรไปเยอะประมาณ 100 กว่าคน แล้วแต่ว่าใครสนใจเรื่องอะไร ซึ่งส่วนตัวมีสวนปาล์ม และเป็นเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. วิทยากรบอกว่าชันโรงข้อดีคือการผสมเกสรได้ทุกชนิด ก็เกิดความสนใจเพราะมีสวนปาล์ม ผลพลอยได้ก็คือเรื่องน้ำผึ้ง มีมูลค่าสูง เลี้ยงง่าย...” ต่อมาได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เริ่มเลี้ยงและเรียนรู้ไปด้วยกว่า 2 ปี จนขยายเครือข่ายเลี้ยงชันโรง โดยตนเองทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทำให้มีเครือข่ายจากกลุ่มวิสาหกิจปาล์มแปลงใหญ่ 30 ราย แต่ที่เลี้ยงจริงจังอยู่ประมาณ 15 ราย เป็นการเลี้ยงเพื่อขายน้ำผึ้ง น้ำผึ้งชันโรงถือว่ามีสรรพคุณทางยา มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่าง ๆ เมื่อได้น้ำผึ้งเยอะขึ้นจึงคิดเรื่องของการทำอย่างไรให้มีการเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ ก็เริ่มจากการแปรรูปเป็นน้ำผึ้งบรรจุขวด หามาตรฐานที่ไปรองรับตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายตลาดและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค


        โดยนางสาวอโณชา จี๋คีรี อายุ 25 ปี ลูกสาวคุณมานพ ซึ่งเป็น Young Smart Farmer บอกว่า ตอนนี้มีน้ำผึ้งบรรจุขวด และสบู่ ส่วนน้ำผึ้งพร้อมดื่มจะขายเฉพาะช่วงที่มีการออกงานต่าง ๆ หรือมีลูกค้าพรีออเดอร์เข้ามา รายได้ประมาณ 20,000-30,000 บาท ต่อเดือน ช่องทางการขายหลักจะเป็นออนไลน์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ บ้านรักษ์ผึ้ง น้ำผึ้งชันโรงแท้ ช่องทางไลน์ @xwn7767o ช่องทาง Lazada Shopee พิมพ์คำค้นหา บ้านรักษ์ผึ้ง น้ำผึ้งชันโรงแท้ ที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนด้วย โดยแรกเริ่มคือสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนราธิวาส ต่อมาก็สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นต้น เริ่มแรกก็คือจะส่งเสริมในด้านของการให้ความรู้เรื่องของการเลี้ยง ต่อไปคือในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดแบรนด์ที่ติดตลาด และในเรื่องของแหล่งเงินทุน จะหาทุนได้จากที่ไหน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อย ๆ...

         ด้านนายจุมพล นาถประดิษฐ์ พนักงานบริหารสินเชื่อ 9 สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนราธิวาส กล่าวเสริมว่า คุณมานพ จี๋คีรี เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.จังหวัดนราธิวาส ตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ต่อมามีการรวมกลุ่มของเกษตรในชุมชนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนปาล์มแปลงใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาล และทางกลุ่มฯ ได้กู้เงินตามโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย หรือที่เรียกโครงการล้านละร้อย กล่าวคืออัตราดอกเบี้ย 0.01 ต่อปี ขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดโครงการ เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับการเลี้ยงผึ้งชันโรง ที่คุณมานพเล่าว่าได้ไปอบรมกับทางธนาคาร ธนาคารมีเรื่องของการฟื้นฟูอาชีพลูกค้าพักชำระหนี้ 3 จังหวัดชายแดภาคใต้ มีการฟื้นฟูอาชีพส่งเสริมรายได้ครัวเรือนให้กับเกษตร ธนาคารได้เป็นพี่เลี้ยงให้ มีการส่งเสริมสนับสนุนต่อเนื่อง คุณมานพยังเป็นวิทยากรให้ด้วยเพราะได้ศึกษาจากผู้ทำจริง ผู้ประสบความสำเร็จ...




           นายมานพ จี๋คีรี กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลี้ยงผึ้งชันโรงไม่ยาก หากมีความตั้งใจหรือสนใจจริง ๆ เพราะผึ้งชันโรงไม่ต้องซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หาได้เองตามธรรมชาติ อย่างพันธุ์หลังลายหรือขนเงิน มีอยู่ตามบ้านทั่วไป แค่หาวิธีให้สามารถนำมาเลี้ยงในกล่อง ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะ ซึ่งสามารถขยายได้ต่อไปเรื่อย ๆ ผลตอบแทนน้ำผึ้งชันโรงมีมูลค่าสูง ถ้าไม่อยากแปรรูปหรือหาตลาด ผลิตขายน้ำผึ้งอย่างเดียวก็ได้ ทางกลุ่มบ้านรักษ์ผึ้งก็รับซื้อ 
สำหรับผู้สนใจอยากไปศึกษาเรียนรู้หรือข้อคำแนะนำการเลี้ยง ติดต่อคุณมานพและคุณอโณชา ที่บ้านเลขที่ 127/10 หมู่ที่ 4 บ้านฮูแตทูวอ (บ้านนิคมบาเจาะ) ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส โทร.083-1837809 หรือ 099-3077462

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น