วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ชาวบาโงย จ.ยะลา ร่วมสืบสาน ดำนา ประเพณีดั้งเดิมตามรอยพ่อ วิถีพอเพียง

        จากการที่คนในพื้นที่ตำบลบาโงย อ.รามัน จ.ยะลา มีอาชีพดั้งเดิมเป็นเกษตรกร ทำนา ทำสวน และมีชีวิตที่เรียบง่าย องค์การบริหารส่วนตำบลบาโงย จึงได้จัดโครงการดำนาตามรอยพ่อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ชื่อ คนบาโงยไม่ทอดทิ้งกัน "ลงแขกเกี่ยวข้าว อนุรักษ์วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน เสริมสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ในชุมชนขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนในพื้นที่ตำบลบาโงย ทำนาด้วยตนเอง ลดพื้นที่นาร้างให้น้อยลง และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวกับการเกี่ยวข้าว ให้ดำรงอยู่ รักษา ศิลปวัฒนธรรมภูปัญญาอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ถูกกลืนไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยปราศจากดุลยภาพ ทางปัญญาและความรู้ที่จะอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ รวมถึง ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนและความปรองดองสมานฉันท์ในชุมชน สืบทอดวิถีชุมชนตั้งเดิมที่มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลร่วมมือกันในการทำกิจกรรมต่างๆของเพื่อนบ้านและของชุมชน


        ซึ่งในวันนี้ (15 ต.ค 63) ได้มีพิธีเปิดโครงการขึ้น ที่บริเวณแปลงนาข้าว ม.4 บ้านบาโงย ต.บาโงย อ.รามัน จ.ยะลา โดยมี นายสุกิจ พัฒนพงศ์ นายอำเภอรามัน จ.ยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมนำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร สมาชิก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานส่วนตำบล ทหารในพื้นที่ และชาวบ้านบาโงย ร่วมกิจกรรมดำนาในแปลงข้าว ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ได้สร้างความสนุกสนาน ให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยนอกจากการดำนาแล้ว ยังมีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องพันธุ์ข้าว และวิธีการดำนา รวมไปถึงการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ การดูแลต้นข้าว และกิจกรรมการแข่งขัน ถอนต้นกล้า แข่งการไถนา และอื่นๆ อีกหลายกิจกรรม

        นายยาการียา ซิมะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงย กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรม ที่ อบต.บาโงย จัดขึ้น อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำนา ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีทำนา ซึ่งชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรทำนาอยู่แล้วเป็นนาปี มีเนื้อที่นารวมกว่า 400 ไร่ ทั้ง 4 หมู่บ้านของตำบลบาโงย


        ในอดีตที่นี่จะเป็นที่ทำนาที่สมบูรณ์ ต่อมาความเจริญเข้ามา การทำนาลดลงรวมทั้งเกษตรกรบางคน ยังไม่กลับมาสู่สภาพวิถีการปลูกข้าวดั้งเดิม อันเนื่องจากภาวะค่าใช้จ่าย ต้นทุน เรื่องปุ๋ย และอื่นๆ ซึ่งทาง อบต.ได้หาวิธีการแนวคิดที่จะส่งเสริม และดึงชาวบ้านให้กลับมาทำนาปลูกข้าวตามวิถีดั้งเดิม เพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง อยู่ในวิถีพอเพียง เมื่อทำขึ้นมา ชาวบ้านก็ได้นำความรู้ จากการจัดการนา ไปพัฒนาปลูกข้าวของตนเอง ทำให้เกิดผลผลิต ดีขึ้นกว่าเดิม 

        สำหรับแนวคิดนี้จะดำเนินการไปตลอด หมุนเวียนไปทั้ง 4 หมู่บ้าน เพื่อรณรงค์ให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนหันมาปลูกข้าวตามวิถีดั้งเดิม อย่างน้อยก็มีข้าวไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น