ผู้นำศาสนาแสดงความพอใจที่ กฟผ.
ชัดเจนเรื่องการพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ และไม่ย้ายกุโบร์ มัสยิด ด้าน กฟผ.
ยืนยันพร้อมจัดทำธรรมนูญร่วมกับชุมชนในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน
เพื่อสร้างความมั่นใจ ในการดำเนินงานตลอดระยะเวลาโครงการ
รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ตอนล่าง
วันนี้ (28 พฤษภาคม 2559) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) ชี้แจงข้อมูลการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา
ต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลาม 5
จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล กว่า 400 คน ในการจัดเสวนา หัวข้อ “ก้าวไปด้วยกันกับโรงไฟฟ้าเทพา
สู่การพัฒนาภาคใต้ที่มั่นคง” โดยมีนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี
รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. นายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ.
นายวีระชัย ยอดเพชร หัวหน้าโครงการเตรียมงานพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพา กฟผ. นายนฤมิต
คินิมาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. เป็นผู้ร่วมเสวนา
และนายอับบาส บิณอิบรอฮิม ประธานศูนย์ประสานงานญาลันนันบารู อ.เทพา จ.สงขลา
เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีนายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ พล.ต.ต.
สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ให้การต้อนรับและเป็นประธานเปิดการเสวนา ณ
ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
นายดลเดช พัฒนรัฐ
ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวเปิดการเสวนาว่า
นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านจะได้รับฟังข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าเทพา อ.เทพา จ.สงขลา
ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าใหม่อีกแห่งหนึ่งในภาคใต้ การเสวนาในวันนี้
จะเป็นช่องทางที่จะให้ทุกท่านสามารถนำเสนอข้อคิดเห็น และข้อห่วงกังวลต่างๆ
เพื่อให้เกิดการดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพาเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และมีการดูแลสังคม
และชุมชนในภาคใต้ของเราอย่างดีที่สุดต่อไป ทั้งนี้
พลังงานไฟฟ้ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสะดวกสบายของประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมแก่การพัฒนา
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี
กล่าวถึงความจำเป็นของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ว่า
ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 ทุกปี
โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าภาคอื่นถึงร้อยละ 5 ในขณะที่ภาคใต้ต้องรับไฟฟ้าจากภาคกลางมาช่วยเสริมส่วนหนึ่ง
จึงควรต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักในพื้นที่ ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าเทพาจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่ทันสมัย
ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นอกจากนี้
ชุมชนจะต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเต็มที่ และมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
โดยเห็นได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
ในปัจจุบันมีการติดตั้งเทคโนโลยีกำจัดมลสารที่ทันสมัย
จึงมีคุณภาพอากาศดีกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการดูแลชุมชน
ทั้งในเรื่องการสร้างงานและอาชีพอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น
ที่โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างกลมกลืน
นายพล คงเสือ กล่าวว่า
การพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
จะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา กฟผ.
จึงเดินหน้าสร้างความเข้าใจตั้งแต่เริ่มสำรวจโครงการ จนกระทั่งปัจจุบัน
และยึดถือโจทย์ของรัฐบาล ในการพัฒนาโรงไฟฟ้า 3 ข้อ คือ
ประเทศชาติจะต้องได้ประโยชน์ กฟผ. ต้องใช้เทคโนโลยีดีที่สุด
ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ กฟผ. จะรับคนในพื้นที่เข้าทำงานให้มากที่สุด โดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ
อีกทั้งโรงไฟฟ้าเทพา ได้ออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งสามารถรองรับเชื้อเพลิงชีวมวลได้
215 ตันต่อวัน
ซึ่งชุมชนจะได้รับประโยชน์จากรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง โดย กฟผ.
พร้อมพูดคุยกับชุมชนในการจัดทำธรรมนูญร่วมกันต่อไป
นายวีระชัย ยอดเพชร กล่าวว่า
โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวที่จะมีแหล่งท่องเที่ยว
เพื่อพักผ่อนหย่อนใจบนพื้นที่เกือบ 600 ไร่
ให้ชุมชนได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ผ่านมา กฟผ.
มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชน อ.เทพา และขอยืนยันว่า
กฟผ.ไม่มีการย้ายมัสยิดหรือกุโบร์อย่างแน่นอน
ด้านพลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่
เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเสวนารับฟังในครั้งนี้
ทำให้ผู้นำศาสนาหมดความกังวลใจ และเชื่อมั่นว่า กฟผ. จะไม่มีการย้ายกุโบร์ (สุสาน)
และมัสยิดในพื้นที่อย่างแน่นอน ส่วนในเรื่องอื่นๆ เช่น
การบริหารกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่ การจ้างงาน ขอฝากให้ กฟผ. ให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ที่จะต้องได้รับประโยชน์ก่อน
และควรจะต้องมีธรรมนูญร่วมกันเพื่อเป็นหลักประกันว่า กฟผ. จะดำเนินการ
ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อ
ในช่วงท้ายของการเสวนา นายสหรัฐ
บุญโพธิภักดี ได้กล่าวขอบคุณผู้นำศาสนาที่ให้โอกาส กฟผ. มาชี้แจง
ซึ่งความสุขของคนไทย ไม่ได้มาจากการมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคงเท่านั้น
ชุมชนหรือผู้ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าจะต้องมีความสุขด้วย
โรงไฟฟ้าและชุมชนจะต้องก้าวไปข้างหน้าและเติบโตไปด้วยกัน