คนในพื้นที่
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม
เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบและปลอดภัยมานานนับร้อยๆ ปี ยกตัวอย่างเช่น
คนเชื้อสายไทยพุทธใน ต.พิเทน อ.มายอ
ต.ปิยา อ.ยะหริ่ง ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ฯลฯ ไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับคนเชื้อสายมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามและเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่
การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันเป็นภาพประทับใจที่ไม่เพียงส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ดีเท่านั้น
ยังส่งผลดีต่อชีวิตทางเศรษฐกิจของส่วนรวมและชีวิตความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไปด้วย
“ศาสนา” ปัญหาหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นเรื่องอ่อนไหวซึ่งสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่ได้
คือการดูถูกกันในเรื่องความเชื่อ โดยเฉพาะการที่ชาวมุสลิมเชื่อหรือศรัทธาใน “อัลลอฮฺ” (Allah) เนื่องจากศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เชื่อและศรัทธาในพระเจ้า
ในขณะที่ศาสนาพุทธไม่เชื่อในพระเจ้า หลายคนจึงคิดว่าทั้งสองศาสนานี้ไม่มีวันจะเข้าใจกันได้
เมื่อไม่เข้าใจกันแล้ว
ก็เลยพาลดูถูกเหยียดหยามสิ่งที่อีกศาสนาหนึ่งนับถือและศรัทธา
ทำให้ความไม่เข้าใจกันยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก
แต่ในแง่ของสังคมมิได้ห้ามจะคบค้าสมาคมระหว่างกัน
ด้วยหลักการของอัลกุรอานที่กล่าวไว้ ความว่า “ไม่มีการบังคับใดๆ
(ให้นับถือ) ในศาสนาอิสลาม” (อัลบะเกาะเราะฮฺ /256)
ซึ่งแปลว่าอิสลามได้วางกติกาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา
แต่ได้มีการเพิ่มเติมตีความว่า คนต่างศาสานิกคือคนไม่ได้ไม่ต้องไปให้ความร่วมมือ
ล่าสุดได้มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องศาสนาในพื้นที่
ที่มีบุคคลพยายามสร้างความแตกแยกในพื้นที่กับข้อความที่ว่า “พระเจ้าทรงชอบผู้ที่ทำตามจะได้ขึ้นสวรรค์ และไม่ทรงชอบคนกาเฟร”(คนต่างศาสนิก)
ซึ่งได้มีการตีความไปเองว่าเราคนมุสลิมอย่าไปให้ความร่วมมือต่อคนต่างศาสนิก
เพราะไม่ใช่ความประสงค์ของอัลลอฮ เป็นการตีความที่ผิด
และอาจก่อให้ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ได้
ผู้รู้ท่านหนึ่งได้กล่าวว่า…แน่นอนพระเจ้าทรงรักผู้ที่ศรัทธาต่อพระองค์และทรงไม่ไม่ชอบผู้ที่ไม่ศรัทธาต่อพระองค์แต่ไม่ใช่ว่าพระองค์ให้รังเกียจผู้ที่ไม่ศรัทธาอิสลามให้มุสลิมมีความรักต่อมุสลิมด้วยกัน
แต่ในขณะเดียวกันให้เมตตาคนที่ไม่ศรัทธาต่อพระองค์ด้วย
ส่วนประเด็นการต่อสู้นั้นเว้นแต่ผู้นั้นมารุกรานอิสลามและมาทำร้ายมุสลิม
ซึ่งในประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถดำรงชีพได้ทุกประการไม่มีการกีดกั้นทางศาสนา
อิสลามไม่ส่งเสริมการรุกรานคนอื่น ดังปรากฏในบทบัญญัติในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ซึ่งแสดงถึงการเคารพในความแตกต่างกันในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น
ในพระมหาคัมภีร์กุรอานมีบทบัญญีติว่า “ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา”
(อัลกุรฺอาน 2:256) และ “สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน
และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน” (อัลกุรฺอาน 109:6)
อิสลามสอนให้มุสลิมยึดมั่นในการศรัทธาของตนเอง
ในขณะเดียวกันให้เกียรติกับศาสนาอื่นด้วย ความศรัทธาของศาสนาอื่น
การศรัทธาในศาสนาเราแตกต่างกันได้
แต่การร่วมมือในการทำความดีเราต้องส่งเสริมให้ทำถึงแม้กับคนที่ไม่ไม่ใช่มุสลิมด้วยกันก็ตาม
เคยมีคนสงสัยถามผมว่า
ชาวมุสลิมสามารถถวายของเช่นอาหารให้พระสงฆ์ได้หรือไม่? ก็ต้องมาดูบริบทว่า ณ ตอนนั้น คนมุสลิมให้ของพระสงฆ์ในฐานะอะไร? ถ้าผู้ให้มองว่าเป็นการทำบุญเพื่อเวลาที่ตนเองตายไปจะได้ไปอยู่บนสวรรค์
การให้ด้วยความเชื่อแบบนั้นมุสลิมย่อมทำไม่ได้ เพราะขัดกับความเชื่อในหลักเอกภาพของพระเป็นเจ้าของศาสนาอิสลาม
แต่ถ้าให้ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์
ให้อาหารท่านเพราะในชุมชนนั้นไม่มีชาวพุทธอยู่เลย แล้วพระท่านเดินผ่านมา บริบทนี้
เป็นหน้าที่ด้วยซ้ำที่ชาวมุสลิมจะต้องให้อาหารแก่ท่าน เพราะการปล่อยให้พระหิว
ไม่มีอะไรกินเลย ย่อมเป็นบาปด้วยซ้ำ
อิสลามสอนว่า
“นบีมูฮัมหมัดถูกส่งมายังโลกนี้ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากเพื่อความเมตตาของมนุษยชาติ”
ดังนั้น
อิสลามไม่ได้สอนให้มุสลิมแบ่งปันความเมตตาให้กับคนในศาสนาเดียวกันเท่านั้น
แต่ต้องเผื่อแผ่ถึงมนุษย์ทุกคน รวมถึงทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสรรค์สร้าง
ดังนั้น เราต้องนับถือ ให้เกียรติ
ช่วยเหลือกันและกันเพราะเราต่างเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะศาสนาอิสลามสอนอีกว่า
“การรับใช้ผู้อื่น ถือเป็นการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า”
บทความนี้เพื่อให้ผู้นับถือศาสนาทั้งสองได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับศาสนาของเพื่อน
รวมทั้งศาสนาที่ตนเองนับถืออย่างลึกซึ้งด้วย
เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน
อันจะเป็นการปิดหนทางที่อาจนำไปสู่การดูถูกเหยียดหยามความเชื่อทางศาสนาของอีกฝ่าย
หากมีความบกพร่องหรือข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยด้วย
โปรดมองเจตนาดีของผู้เขียนที่หวังให้พี่น้องต่างศาสนิกได้เข้าใจกัน
เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนผืนแผ่นดินที่ทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของผืนนี้…
-------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น