วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ยลเสน่ห์ “น้ำตกปาโจ” แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ชมจารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.”



น้ำตกปาโจ ในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นประวัติศาสตร์อีกแห่หนึ่งที่ชาวบาเจาะ ภูมิใจจนถึงทุกวันนี้ ที่ครั้งหนึ่งในอดีตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ และฉายพระรูป หรือพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ค่อนข้างหายากในอดีตเอาไว้ และยังคงหลงเหลือให้ประชาชนได้ชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


ในขณะเสด็จมาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ พลับพลาที่ประทับน้ำตกปาโจ เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2502 หรือเมื่อประมาณ 57 ปีที่ผ่านมา ขณะเสด็จมาแปรพระราชฐานที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นครั้งแรก และทั้ง 2 พระองค์ทรงจารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยสิริกิติ์ สีทอง ประทับไว้บนก้อนหินใหญ่หน้าผาของน้ำตกปาโจ ซึ่งพบเห็นได้เด่นชัด



ซึ่งน้ำตกปาโจ ในปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันลือชื่อแห่งหนึ่งของ จ.นราธิวาส มีน้ำตลอดปี มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำรวม 9 ชั้น นับว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดใน จ.นราธิวาส โดยทั้ง 9 ชั้น มีความสวยงามแตกต่างกันไป ในแต่ละชั้นจะมีกระแสน้ำไหลลัดเลาะมาตามก้อนหินเล็กใหญ่ และมีแอ่งน้ำขังขนาดใหญ่ให้ประชาชนได้เลือกเล่นน้ำตามใจชอบ แถมน้ำที่ขังนั้นนอกจากจะมีความเยือกเย็นแล้ว ยังใสจนเห็นตัวปลาว่ายน้ำไปมา ซึ่งชั้นที่ 1 ของน้ำตกปาโจ จะได้รับความนิยม มีประชาชนมาเล่นน้ำในจุดนี้มากที่สุด เนื่องจากจะเห็นน้ำตกไหลลงจากผาหินสูงกว่า 60 เมตร จะถ่ายรูปตัวเองติดกับทิวทัศน์ในจุดนี้ ซึ่งมีการจารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยสิริกิติ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เก็บไว้เป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งเคยมาเที่ยวน้ำตกปาโจน้ำตกปาโจ


ตั้งอยู่ที่บ้านปาโจ ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสเป็นน้ำตกใหญ่ที่มีน้ำตลอดปี แต่ในหน้าแล้งน้ำค่อนข้างน้อย มีความสูงประมาณ 60 เมตร มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำเป็นชั้นๆ รวม 9 ชั้น นับว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดและสวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน แห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี มีพื้นที่คลอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแง อำเภอรือเสาะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี


จุดสนใจอีกอย่างหนึ่งของน้ำตกแห่งนี้คือการมี ใบไม้สีทองหรือ ย่านดาโอ๊ะ พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ใบไม้สีทองเป็นไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบชงโคหรือใบเสี้ยว แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก บางใบใหญ่กว่าฝ่ามือเสียอีก มีขอบหยักเว้าเข้าทั้งที่โคนใบ และปลายใบ ลักษณะคล้ายวงรีสองอันอยู่ติดกัน ทุกส่วนของใบจะปกคลุมด้วยขนกำมะหยี่เนียนนุ่ม มีสีทองหรือสีทองแดงเหลือบรุ้งเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล










วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561

“ตรุษอิดิลฟิตรี” ประกวดหนูน้อยรายอ สร้างสายใย ความสัมพันธ์ สืบสานประเพณี



    วันที่ 24 มิ.ย 61 ที่ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ยะลาTK Park Yala ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ได้มีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง เดินทางนำบุตรหลาน ไปร่วมการประกวด หนูน้อยรายอ ซึ่งอุทยานการเรียนรู้ยะลา จัดกิจกรรมเปิดเวที การประกวดหนูน้อยรายอ ประจำปี 2561 ขึ้น เพื่อสืบสานประเพณีในช่วงเทศกาลตรุษอิดิลฟิตรี หรือ วันฮารีรายอ ปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชนได้เรียนรู้ เข้าใจถึงกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับเทศกาลฮารีรายอ และเห็นถึงความสำคัญของวันสำคัญตามหลักศาสนา และการแต่งกายที่สวยงามในวันฮารีรายอ อีกทั้ง ยังฝึกให้เด็ก และ เยาวชนมีความกล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์


ขณะที่ บรรยากาศการประกวดเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเริ่มจากการแสดงเปิดตัวของหนูน้อยทั้ง 24 คน ที่เข้าร่วมการประกวด ซึ่งได้แต่งกายด้วยชุดที่สื่อถึงเทศกาลฮารีรายอ อย่างสวยงาม และน่ารัก จากนั้น ทั้ง 24 หนูน้อย ได้แนะนำตัว ชื่อ สกุล อายุ และโรงเรียน พร้อมทั้ง ได้หยิบสลาก เลือกคำถาม ตอบคำถามที่เกี่ยวกับความสำคัญของวันฮารีรายอ


ซึ่งทางคณะกรรมการจัดการประกวดได้จัดเตรียมไว้ โดยหนูน้อย แต่ละคน ได้แสดงออกถึงความสามารถ ในการตอบคำถามให้กับทางคณะกรรมการ ได้พิจารณาเกณฑ์การให้คะแนน จะพิจารณาจากบุคลิกภาพ (การเดิน การยืน กิริยามารยาท) รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และ ปฎิภาณไหวพริบ นอกจากนี้ ทางผู้จัด ยังได้สร้างการมีส่วนร่วม โดยเปิดให้ลงคะแนน รางวัลขวัญใจ TK Park Yala จากผลโหวด ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งต่างขนคนในครอบครัว และญาติพี่น้อง มาเป็นแรงเชียร์ แรงใจ ให้หนูน้อย กันจำนวนมาก
ส่วนผลการประกวดหนูน้อยรายอ ประจำปี 2561 หมายเลข 15 ด.ญ.ซีรีน สะแมลอง สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ไปครอง ได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท มงกุฎพร้อมสายสะพาย รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของ ด.ญ.ฮาวา เพชรพวง หมายเลข 22 ได้รับเงินรางวัล 1,500 บาท พร้อมสายสะพาย รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของหมายเลข 20 ด.ญ.นิซาฟีราห์ สะแลแม ได้รับเงินรางวัล 1,200 บาท พร้อมสายสะพาย ส่วนรางวัลขวัญใจ TK Park Yala ซึ่งได้รับคะแนนโหวดสูงสุด 26 คะแนน เป็นของหมายเลข 13 ด.ญ.นิเดียนา ยูโซ๊ะ ได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท พร้อมสายสะพาย


น.ส.วัชรี ถ้วนถวิล ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา กล่าวว่า การจัดประกวดหนูน้อยรายอ ทางTK Park Yala จัดให้มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ ได้เปิดรับสมัครหนูน้อยน่ารักอายุ 6-8 ปี เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เด็ก และเยาวชน มีความกล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ สร้างสายใย ความสัมพันธ์ ตลอดจนส่งเสริมให้ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว ฝึกทักษะชีวิตให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม รู้จักทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
อีกทั้ง ยังส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชน เห็นถึงความสำคัญของเทศกาลฮารีรายอ ตามหลักศาสนาอิสลามอีกด้วย










วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รู้จัก “รายอแน” ประเพณีเชื่อมสัมพันธ์มลายูมุสลิมชายแดนใต้



      “รายอแน”  เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นประเพณีที่ไม่มีระบุในศาสนา แต่เป็นวิถีที่มุสลิมในพื้นที่ถือปฏิบัติ หลังจากที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเสร็จสิ้นแล้ว ในศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ถือศีลอดต่ออีก 6 วัน ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ 6 วันนี้แล้ว ชาวมลายูมุสลิม 3 จังหวัดก็ถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองอีกครั้งโดยการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่เสียชีวิต โดยการอ่านอัลกุรอานและซิกรุลเลาะห์ (รำลึกถึงอัลลอฮฺ) โดยมักจะเลี้ยงอาหาร  เยี่ยมเยียนกูโบร์(สุสาน) ของบรรพบุรุษที่สำคัญเพื่อรำลึกถึงความตาย บางพื้นที่ยังมีการทำความสะอาดบริเวณกูโบร์ร่วมกัน โดยเรียกวันนี้ว่า วัน “รายอแน”
ทั้งนี้ “วันอีด” หรือในพื้นที่รู้จักกันว่า “ฮารีรายอ” ในหลักศาสนาอิสลามนั้นมี 2 วันเท่านั้น  คือวัน “อีฎิ้ลฟิตรี”  ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล เป็นเดือนถัดไปจากเดือนรอมฎอนตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม ส่วนวันอีดอีกวันหนึ่งคือ “อีฎิ้ลอัฎฮา”  เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่มุสลิมส่วนหนึ่งจากทั่วทุกมุมโลกได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอารเบีย
รายอแน” เป็นวัฒนธรรมที่มีเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ส่วนมุสลิมในพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศหรือต่างประเทศ จะไม่มีวัฒนธรรม “รายอแน” แต่ก็จะมีกิจกรรมซึ่งต่างกันออกไปแต่ยังสอดคล้องกับหลักศาสนา ดังนั้นจึงน่าตั้งคำถามว่า เหตุใดที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงถือปฏิบัติประเพณีรายอแนเรื่อยมา


        นางซากีนะ บอซู ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงวันอีดผ่านรายการร่วมแรงร่วมใจชายแดนใต้ สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า “ความจริงแล้ว วันรายออีดิ้ลฟิตรี กับรายออีดิ้ลอัฎฮา เป็นวันฮารีรายอที่ศาสนาอิสลามได้บัญญัติไว้ แต่สำหรับวันรายอแนนั้น เป็นประเพณีของบรรพบุรุษกำหนดไว้ให้ลูกหลานได้ปฏิบัติ คือความพิเศษสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ดังนั้นรายอแนจึงถือว่าประเพณีทางภูมิปัญญา คือความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษ เพื่อกำหนดให้วันรายอแน เป็นวันที่พี่น้องมุสลิมได้มีโอกาสไปพัฒนากูโบว์ หรือสุสาน ถือเป็นประชามติของชาวบ้านที่ถือปฏิบัติกันมา หลังจากที่ถือศีลอดอีก 6 วันในเดือนเชาวาล  ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดี ในอิสลามไม่ได้ห้ามอะไร  โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ คือ การเยี่ยมกูโบร์ (สุสาน) ทำความสะอาด ระลึกถึงการตาย การเยี่ยมกูโบร์นั้น ก็เป็นซุนนะฮฺ หรือแบบอย่างการปฏิบัติคำสอนของนบีมูฮัมหมัดและสิ่งที่ท่านยอมรับ  และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ แล้ว
อย่างประเทศแถบอาหารับ เขามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความสะอาดที่กูโบร์ ซึ่งต่างกับประเทศของเราที่รัฐบาลมีงบประมาณเฉพาะทำรั้วกูโบร์เท่านั้น ดังนั้นคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่มีการรวมตัวกันและร่วมกันทำกิจกรรม และเป็นกิจกรรมที่ดีด้วย” นางซากีนะกล่าวและว่า
ประเพณีและคุณค่าของ “รายอแน” ได้มี“หะดิษหนึ่งกล่าวความว่า ให้ถือศีลอดครบ 1 เดือนในเดือนรอมฎอน และถือศีลอดเพิ่มอีก 6 วันในเดือนเชาวาล เพราะจะได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอด 1 ปี หลังจากนั้นให้มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ หรือ ในภาษาอาหรับเรียกว่า ซีลาตุลเราะฮีม เพราะในหะดิษกล่าวถึงคุณค่าถึงการปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง จะทำให้บุคคลนั้นได้รับปัจจัยยังชีพโดยง่าย และที่สำคัญจะได้พ้นจากภัยร้ายทั้งปวง และยังมีหะดิษหนึ่งบอกความว่า ใครที่ต้องการปัจจัยยังชีพโดยง่าย คือ  ให้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ”


       สำหรับวันดังกล่าวนั้น มีกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยการทำอาหารเลี้ยงกัน ซึ่งถือเป็นการบริจาคทาน และมีกิจกรรมที่ต่างกับวันอีดปรกติคือ การเยี่ยมกูโบร์ เป็นกิจกรรมที่ดี เพราะการเยี่ยมกูโบร์เป็นการระลึกถึงการตาย และทำให้ “อีมาน” หรือ “ความศรัทธา” ของเราเข้มแข็งมากขึ้น
นอกจากนั้นแล้วในขณะที่เยี่ยมกูโบร์นั้น ก็มีการอ่านอัลกุรอาน และรำลึกถึงอัลลอฮฺ และหะดิษหนึ่งได้บอกความว่า “ความดีของผู้ที่ถอนหญ้าในกูโบร์แค่ 1 เส้น จะได้รับผลบุญเท่ากับ 10 เส้น เพราะส่งผลทำให้คนที่เดินผ่านไปมา เห็นกุโบร์ที่สะอาดนั้นก็จะรู้สึกสบายใจ”






วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561

มนต์เสน่ห์เมืองนราธิวาส!! ห้ามพลาด เกาะยาว สะพานคอย 100 ปี



      เกาะยาว นราธิวาส อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กม. จากสี่แยกตลาดตากใบเลยไปยังแม่น้ำตากใบ มีสะพานไม้ชื่อ ” สะพานคอย 100 ปี ” ยาว 345 เมตร ป็นสะพานไม้ที่ทอดตัวข้ามแม่น้ำตากใบไปยัง ” เกาะยาว ” ซึ่งทางด้านตะวันออกของ ” เกาะยาว ” จะติดกับทะเล มีหาดทรายละเอียดสีขาวสวยงาม สามารถเล่นน้ำได้ ซึ่ง ทางด้านตะวันออกของเกาะจะติดกับทะเล มีหาดทรายละเอียดสีน้ำตาล บรรยากาศสงบ  


     ทำไมถึงต้องเรียกว่า ” สะพานคอย 100 ปี “ เพราะสมัยก่อนเกาะยาวซึ่งอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอตากใบ ฝั่งด้านหนึ่งติดกับทะเลอ่าวไทย ส่วนอีกฝั่งด้านหนึ่งติดแม่น้ำตากใบ เป็นเกาะที่มีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร มีชายหาดทรายขาวสะอาด มีทิวมะพร้าวเรียงรายเป็นแนวยาวสวยงาม บรรยากาศร่มรื่นเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุด หรือเทศกาลต่าง ๆ    

 
 เกาะยาว หรือ บ้านเกาะยาว หมู่ที่ 8 ตำบลเจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บนเกาะยาวนับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพทำการประมงและสวนมะพร้าว เมื่อก่อนจะเดินทางมายังฝั่งที่ว่าการอำเภอต้องใช้เรือ กว่าจะมีการสร้างสะพานไม้ระหว่างเกาะยาวไปยังฝั่งที่ว่าการอำเภอต้องคอยถึง 100 ปี จึงเป็นสาเหตุให้ประชาชนเรียกสะพานดังกล่าวว่า ” สะพานคอย 100 ปี ”












วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ช่วงเทศกาลฮารีรายออีดิลฟิตรี มีนักท่องเที่ยวใน จชต.และนักท่องเทียวชาวมาเลฯ เดินทางไปบ่อน้ำร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่ ในพื้นที่ อ.เบตง อย่างคึกคัก



     บรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดของเทศกาลฮารีรายออีดิลฟิตรี เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนภาคใต้และนักท่องเทียวชาวมาเลเซีย ต่างพาครอบครัวมาพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของบ้านบ่อน้ำร้อน ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยเฉพาะที่บ่อน้ำร้อนเบตง บ่อน้ำร้อนที่เกิดจากธรรมชาติขนาดใหญ่ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ มีน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดินตลอดเวลา สามารถต้มไข่ไก่และไข่นกกระทาในอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ต้มไข่ไก่สุกเป็นยางมะตูม สามารถรับประทานได้ทันทีและมีรสชาติที่มันอร่อย ภายใน 7-10 นาที
นอกจากนี้ ยังมีบ่อที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลงอาบน้ำ แช่ตัว แช่เท้า ซึ่งทางชาวบ้านเชื่อว่ามีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเหน็บชา ไขข้ออักเสบ และโรคอัมพฤกษ์ ทำให้มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างแวะเวียนมาเข้ามาแช่น้ำร้อน อีกทั้ง ยังได้ชมความงดงามของธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี สำหรับนักท่องเที่ยวท่านใดที่สนใจสามารถมาใช้บริการน้ำพุร้อนบ้านปลายพู่ ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ


      ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบ่อน้ำร้อนให้มีความสวยงาม แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เหมาะสำหรับการมาพักผ่อนหย่อนใจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ที่สำคัญที่นี่ยังมีห้องพักไว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักค้างคืน ชมความงดงามของธรรมชาติ อีกด้วย









วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

“กูบาฆูลิง” ขนมหวานชาวมุสลิม สุดฮอต ส่งท้ายเดือนรอมฎอน สร้างรายได้วันละแสน



       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของร้าน เดอ แมงโก้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ทำขนม “กูบาฆูลิง” หรือ “ขนมควายกลิ้ง” ซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากของประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลา และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ที่มักจะซื้อไปรับประทานเป็นขนมหวาน หลังการละศีลอดก่อนที่จะรับประทานอาหารอย่างอื่น ทำให้ยอดขาย ขนม “กูบาฆูลิง” หรือ “ขนมควายกลิ้ง” ทั้งขายหน้าร้านและยอดสั่งจองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดผลิต วันละ 300 ถาด สร้างรายได้ 1 แสนบาทต่อวัน



ขณะที่ ลูกค้าซึ่งได้รับประทานขนม “กูบาฆูลิง” ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติอร่อย รับประทานแล้วละลายในปาก ส่วนบางคนที่ยังไม่เคยรับประทานก็อยากจะมาซื้อไปลิ้มชิมรสชาติ


      นางสาวนูไอนี เสมอภพ เจ้าของร้าน เดอ แมงโก้ บอกว่า เมื่อก่อนตนเองประกอบอาชีพธุรกิจไอที แต่ความที่เป็นคนชื่นชอบและรักในการทำอาหาร ก็ได้มาเปิดโรงงานทำขนมไทยและเบเกอรรี่ ต่อมาก็ได้เปิดเป็นร้าน เดอ แมงโก้ โดยในช่วงเดือนถือศีลอด ก็จะขายแกงและขนมหวาน ขนม “กูบาฆูลิง” หรือ “ขนมควายกลิ้ง” เป็นขนมสไตล์ขนมเปียกปูนในบ้านเรา ซึ่งปกติทางร้านก็ทำขายอยู่แล้ว เป็นขนมเปียกปูนกะทิสด แต่พอเดือนบวช กระแสโซเชียลเป็นเปียกปูนสีดำกำลังดังที่มาเลย์ หรือที่คนมาเลย์เรียกว่า “กูบาฆูลิง” ก็เลยนำมาลองทำขาย ปรากฏว่าลูกค้าติดใจก็มาซื้อเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายในเดือนรอมฎอน ก่อนหน้านี้ 3 – 4 วัน ที่มีคนแชร์ขนม “กูบาฆูลิง” ในโลกโซเชียลกันจำนวนมาก ยิ่งทำให้ขนมขายดี คนต้องเบียดเสียดมาซื้อ
ส่วนกำลังผลิตก็เพิ่มขึ้น มีออเดอร์สั่งทั้งทางโซเชียลและมารอรับขนม รวมทั้งมาซื้อกันที่หน้าร้าน ประมาณวันละกว่า 300 ถาด ๆ ละ 36 ชิ้น ชิ้นละ 10 บาท ส่วนยอดจองจากเดิม 3 – 4 วันแรก จาก 2,000 ชิ้น ก็เพิ่มเป็น 3,000 ชิ้น 4,000 ชิ้น และล่าสุดตอนนี้ ผลิตแล้ว 10,800 ชิ้นมีรายได้วันละกว่า 108,000 บาท ก็เลยคิดจะต่อยอด ขนม “กูบาฆูลิง”  เป็นของดีประจำร้าน เดอ แมงโก้ และต่อยอดเป็นของฝากจากจังหวัดยะลา เพื่อให้ประชาชนที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ แวะซื้อ กลับไปรับประทานด้วย








        

        

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ครอบครัวชาวยะลา“ปลูกผักพื้นบ้าน” ตามวิถีพอเพียง สร้างอาชีพ สร้างรายได้



        โครงการปลูกผักพื้นบ้าน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดยะลา มากว่า 5 ปี จนถึงปัจจุบัน ผักพื้นบ้านยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวให้วันละไม่ต่ำกว่า 1 พันบาท


ป้าสุดใจ หนูลาย หรือป้าเขียว ชาวบ้านจังหวัดยะลา บอกว่า ได้เข้าร่วมโครงการปลูกผักพื้นบ้านของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มากว่า 5 ปี ทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว จนถึงปัจจุบัน โดยจะใช้เนื้อที่บ้านของตนเองประมาณ 1 ไร่ ปลูกผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว ปลอดสารพิษขาย โดยนำพันธุ์พืช ผักพระราชทาน รวมทั้งที่ซื้อมาปลูกผสมผสานกัน มีประมาณ 20 ชนิด ทั้งเพกาพันธุ์เตี้ย มะกอก มะเขือเปาะ มะเขือพวง พริก ลูกฉิ่ง เสาวรส กล้วย มะพร้าวน้ำหอม กะท้อน ต้นไผ่ ฯลฯ นอกจากนี้ ก็ยังได้ต่อยอดจากการปลูกผักพื้นบ้านมาปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ผักสลัด เรดโอ๊ค กรีนโอ๊คมัลเบอร์รี่เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย


ในแต่ละวันก็จะเก็บผลผลิตจากพืชผักต่าง ๆ ซึ่งขายได้ทุกชนิด หมุนเวียนนำไปขายที่ตลาดเมืองใหม่ และหลังสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ขายดีมาก ตลาดมีความต้องการสูง จนผักผลิตไม่พอส่งตลาด มีรายได้ทุกวัน ไม่ต่ำกว่า 1 พันบาท พออยู่พอกินเลี้ยงครอบครัวได้


ในปัจจุบันผักพื้นบ้านไม่เพียงแต่จะได้รับความนิยมจากผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เท่านั้น กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน ก็ยังชื่นชอบมาหาซื้อไปรับประทานมากขึ้น เนื่องจากผักพื้นบ้านจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ทำให้กระแสความนิยมผักพื้นบ้านไม่ตก


ป้าเขียว ยังบอกอีกว่า สำหรับครอบครัวตนเองมีอยู่มีกินทุกวันนี้ ก็เพราะได้โครงการของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านมาก ชาวบ้านอย่างเรานอกจากจะได้มีอาชีพ มีรายได้ แล้ว ก็ยังได้มีส่วนช่วยอนุรักษ์ผักพื้นบ้านให้คงอยู่สืบต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน อีกด้วย



วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ชาวแม่ลาน เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการการผลิตทางการเกษตร



วันที่ 6 มิถุนายน 2561 ที่ทุ่งนา หมู่ที่ 1 ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี นายสมมาตร บารา นายอำเภอแม่ลาน เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการการผลิต (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2561 และในโอกาสครบรอบ 50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีแขกผู้มีเกียรติ วิทยากร และเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก


นายชาญณรงค์ วิรุณสาร เกษตรอำเภอแม่ลาน กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ลาน ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาการผลิตทางการเกษตรที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ มีการจัดฐานเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น การใช้เครื่องจักรกลปักดำ ทดแทนการใช้แรงงานคนที่ขาดแคลน การส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ เช่น อีเอ็มบอล ปุ๋ยพืชสด ในการปรับปรุงบำรุงดินแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต การป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูของต้นกล้าโดยนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมัก การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต่อไป