วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ยลเสน่ห์ “น้ำตกปาโจ” แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ชมจารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.”



น้ำตกปาโจ ในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นประวัติศาสตร์อีกแห่หนึ่งที่ชาวบาเจาะ ภูมิใจจนถึงทุกวันนี้ ที่ครั้งหนึ่งในอดีตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ และฉายพระรูป หรือพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ค่อนข้างหายากในอดีตเอาไว้ และยังคงหลงเหลือให้ประชาชนได้ชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


ในขณะเสด็จมาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ พลับพลาที่ประทับน้ำตกปาโจ เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2502 หรือเมื่อประมาณ 57 ปีที่ผ่านมา ขณะเสด็จมาแปรพระราชฐานที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นครั้งแรก และทั้ง 2 พระองค์ทรงจารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยสิริกิติ์ สีทอง ประทับไว้บนก้อนหินใหญ่หน้าผาของน้ำตกปาโจ ซึ่งพบเห็นได้เด่นชัด



ซึ่งน้ำตกปาโจ ในปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันลือชื่อแห่งหนึ่งของ จ.นราธิวาส มีน้ำตลอดปี มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำรวม 9 ชั้น นับว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดใน จ.นราธิวาส โดยทั้ง 9 ชั้น มีความสวยงามแตกต่างกันไป ในแต่ละชั้นจะมีกระแสน้ำไหลลัดเลาะมาตามก้อนหินเล็กใหญ่ และมีแอ่งน้ำขังขนาดใหญ่ให้ประชาชนได้เลือกเล่นน้ำตามใจชอบ แถมน้ำที่ขังนั้นนอกจากจะมีความเยือกเย็นแล้ว ยังใสจนเห็นตัวปลาว่ายน้ำไปมา ซึ่งชั้นที่ 1 ของน้ำตกปาโจ จะได้รับความนิยม มีประชาชนมาเล่นน้ำในจุดนี้มากที่สุด เนื่องจากจะเห็นน้ำตกไหลลงจากผาหินสูงกว่า 60 เมตร จะถ่ายรูปตัวเองติดกับทิวทัศน์ในจุดนี้ ซึ่งมีการจารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยสิริกิติ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เก็บไว้เป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งเคยมาเที่ยวน้ำตกปาโจน้ำตกปาโจ


ตั้งอยู่ที่บ้านปาโจ ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสเป็นน้ำตกใหญ่ที่มีน้ำตลอดปี แต่ในหน้าแล้งน้ำค่อนข้างน้อย มีความสูงประมาณ 60 เมตร มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำเป็นชั้นๆ รวม 9 ชั้น นับว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดและสวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน แห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี มีพื้นที่คลอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแง อำเภอรือเสาะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี


จุดสนใจอีกอย่างหนึ่งของน้ำตกแห่งนี้คือการมี ใบไม้สีทองหรือ ย่านดาโอ๊ะ พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ใบไม้สีทองเป็นไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบชงโคหรือใบเสี้ยว แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก บางใบใหญ่กว่าฝ่ามือเสียอีก มีขอบหยักเว้าเข้าทั้งที่โคนใบ และปลายใบ ลักษณะคล้ายวงรีสองอันอยู่ติดกัน ทุกส่วนของใบจะปกคลุมด้วยขนกำมะหยี่เนียนนุ่ม มีสีทองหรือสีทองแดงเหลือบรุ้งเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น