“รายอแน”
เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวมลายูมุสลิมใน 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต
ซึ่งเป็นประเพณีที่ไม่มีระบุในศาสนา แต่เป็นวิถีที่มุสลิมในพื้นที่ถือปฏิบัติ
หลังจากที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเสร็จสิ้นแล้ว
ในศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ถือศีลอดต่ออีก 6 วัน
ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ 6 วันนี้แล้ว ชาวมลายูมุสลิม 3
จังหวัดก็ถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองอีกครั้งโดยการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่เสียชีวิต
โดยการอ่านอัลกุรอานและซิกรุลเลาะห์ (รำลึกถึงอัลลอฮฺ) โดยมักจะเลี้ยงอาหาร เยี่ยมเยียนกูโบร์(สุสาน) ของบรรพบุรุษที่สำคัญเพื่อรำลึกถึงความตาย
บางพื้นที่ยังมีการทำความสะอาดบริเวณกูโบร์ร่วมกัน โดยเรียกวันนี้ว่า วัน “รายอแน”
ทั้งนี้ “วันอีด”
หรือในพื้นที่รู้จักกันว่า “ฮารีรายอ” ในหลักศาสนาอิสลามนั้นมี 2 วันเท่านั้น
คือวัน “อีฎิ้ลฟิตรี”
ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล
เป็นเดือนถัดไปจากเดือนรอมฎอนตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม
ส่วนวันอีดอีกวันหนึ่งคือ “อีฎิ้ลอัฎฮา”
เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่มุสลิมส่วนหนึ่งจากทั่วทุกมุมโลกได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ
ประเทศซาอุดีอารเบีย
“รายอแน” เป็นวัฒนธรรมที่มีเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ส่วนมุสลิมในพื้นที่อื่น ๆ
ในประเทศหรือต่างประเทศ จะไม่มีวัฒนธรรม “รายอแน”
แต่ก็จะมีกิจกรรมซึ่งต่างกันออกไปแต่ยังสอดคล้องกับหลักศาสนา
ดังนั้นจึงน่าตั้งคำถามว่า เหตุใดที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงถือปฏิบัติประเพณีรายอแนเรื่อยมา
นางซากีนะ บอซู
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กล่าวถึงวันอีดผ่านรายการร่วมแรงร่วมใจชายแดนใต้ สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า
“ความจริงแล้ว วันรายออีดิ้ลฟิตรี กับรายออีดิ้ลอัฎฮา
เป็นวันฮารีรายอที่ศาสนาอิสลามได้บัญญัติไว้ แต่สำหรับวันรายอแนนั้น เป็นประเพณีของบรรพบุรุษกำหนดไว้ให้ลูกหลานได้ปฏิบัติ
คือความพิเศษสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ดังนั้นรายอแนจึงถือว่าประเพณีทางภูมิปัญญา
คือความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษ เพื่อกำหนดให้วันรายอแน
เป็นวันที่พี่น้องมุสลิมได้มีโอกาสไปพัฒนากูโบว์ หรือสุสาน
ถือเป็นประชามติของชาวบ้านที่ถือปฏิบัติกันมา หลังจากที่ถือศีลอดอีก 6 วันในเดือนเชาวาล ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดี
ในอิสลามไม่ได้ห้ามอะไร โดยมีกิจกรรมหลัก
ๆ คือ การเยี่ยมกูโบร์ (สุสาน) ทำความสะอาด ระลึกถึงการตาย การเยี่ยมกูโบร์นั้น
ก็เป็นซุนนะฮฺ หรือแบบอย่างการปฏิบัติคำสอนของนบีมูฮัมหมัดและสิ่งที่ท่านยอมรับ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ แล้ว
“อย่างประเทศแถบอาหารับ
เขามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความสะอาดที่กูโบร์
ซึ่งต่างกับประเทศของเราที่รัฐบาลมีงบประมาณเฉพาะทำรั้วกูโบร์เท่านั้น
ดังนั้นคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่มีการรวมตัวกันและร่วมกันทำกิจกรรม
และเป็นกิจกรรมที่ดีด้วย” นางซากีนะกล่าวและว่า
ประเพณีและคุณค่าของ “รายอแน”
ได้มี“หะดิษหนึ่งกล่าวความว่า ให้ถือศีลอดครบ 1 เดือนในเดือนรอมฎอน และถือศีลอดเพิ่มอีก 6
วันในเดือนเชาวาล เพราะจะได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอด 1 ปี
หลังจากนั้นให้มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ หรือ ในภาษาอาหรับเรียกว่า
ซีลาตุลเราะฮีม เพราะในหะดิษกล่าวถึงคุณค่าถึงการปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง
จะทำให้บุคคลนั้นได้รับปัจจัยยังชีพโดยง่าย และที่สำคัญจะได้พ้นจากภัยร้ายทั้งปวง
และยังมีหะดิษหนึ่งบอกความว่า ใครที่ต้องการปัจจัยยังชีพโดยง่าย คือ ให้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ”
สำหรับวันดังกล่าวนั้น
มีกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยการทำอาหารเลี้ยงกัน ซึ่งถือเป็นการบริจาคทาน
และมีกิจกรรมที่ต่างกับวันอีดปรกติคือ การเยี่ยมกูโบร์ เป็นกิจกรรมที่ดี
เพราะการเยี่ยมกูโบร์เป็นการระลึกถึงการตาย และทำให้ “อีมาน” หรือ “ความศรัทธา”
ของเราเข้มแข็งมากขึ้น
นอกจากนั้นแล้วในขณะที่เยี่ยมกูโบร์นั้น
ก็มีการอ่านอัลกุรอาน และรำลึกถึงอัลลอฮฺ และหะดิษหนึ่งได้บอกความว่า
“ความดีของผู้ที่ถอนหญ้าในกูโบร์แค่ 1
เส้น จะได้รับผลบุญเท่ากับ 10 เส้น
เพราะส่งผลทำให้คนที่เดินผ่านไปมา เห็นกุโบร์ที่สะอาดนั้นก็จะรู้สึกสบายใจ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น