วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

ผักปลอดสารพิษโครงการพระราชดำริฯ จ.ยะลา


แปลงสวนผักปลอดสารพิษโครงการพระราชดำริฯ ยอดสั่งเพียบรับเทศกาลถือศีลกินเจ       แปลงสวนผักปลอดสารพิษ โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อ.เบตง จ.ยะลา กำลังเป็นที่สนใจของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักปีนี้ จนมีการสั่งจองสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่แปลงสวนผักปลอดสารพิษ ของโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เศษ กลุ่มชาวบ้าน จำนวน 18 ครัวเรือน จำนวน 30 คน ได้ร่วมกันทำแปลงเกษตร โดยมีการส่งเสริมอาชีพให้ผู้ที่ไม่มีอาชีพ และผู้ด้อยโอกาสด้านความพร้อมทางร่างกาย เข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารพิษโฮโดรโปนิกส์ เช่น ผักกาดขาวปลี ผักกวางตุ้ง คะน้า ผักกาดหอม ผักเรดโอ๊ค ซึ่งใช้เวลาในการเพาะปลูกประมาณ 35 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้แล้ว อีกทั้งการปลูกผักโฮโดรโปนิกส์ยังทำให้โรคภัยไม่มี ไม่ต้องใช้สารเคมี และปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์



นายโชคชัย สกุลชัยแก้ว ผู้จัดการฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ดีมาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เดือนหนึ่งเฉลี่ย 12,000 บาท แถมยังมีผักไว้บริโภคในครอบครัวโดยไม่ต้องไปซื้อหาอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก ประจำปี 2559 ล่าสุด มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาสั่งจองถึงที่แล้วหลายราย และตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.นี้ พร้อมที่จะนำสินค้าออกขายให้ได้ทันที พร้อมวางแผนปรับปรุงต่อเติมแปลงผักเพื่อสนองรับช่วงเทศกาลถือศีลกินผักนี้ให้ทันต่อความต้องการของตลาด และทำให้ชาวบ้านในโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย.

ขนมเจาะหู ลูกละบาท “สารทเดือนสิบ” สร้างรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านหน้าถ้ำ จ.ยะลา



 วันนี้ (28 ก.ย. 59) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหน้าถ้ำร่วมฤทัย ม.1 ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา นางนุช ชมจันทร์ ประธานกลุ่มฯ และสมาชิก เร่งมือกันทำขนมเจาะหู ซึ่งเป็นขนมหลักที่ใช้ในงานประเพณีวันสารทเดือนสิบ ก่อนที่จะมาถึงในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ โดยจะมีชาวบ้านไปร่วมทำบุญส่งตา-ยายกันที่วัดใกล้บ้านจำนวนมาก


สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรฯ กล่าวว่า ได้เริ่มทำขนมเจาะหูมาตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2559 เนื่องจากมีชาวบ้านมาสั่งไว้จำนวนมาก โดยแต่ละวันจะใช้แป้งทำขนมเจาะหูประมาณ 5 กิโลกรัม ขายในราคาลูกละ 1 บาท ทำเป็นถุงๆ ละ 50 บาท มีให้เลือกทั้ง ขนมเจาะหูธรรมดา และขนมเจาะหูผสมทุเรียนกวน โดยจะทำขายให้กับลูกค้าที่สั่งออเดอร์เข้ามา รวมทั้งขายให้กับชาวบ้านทั่วไปที่ชื่นชอบขนมเจาะหู และแวะเวียนมาซื้อ


สำหรับขนมเจาะหูนี้ จะทำกัน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกช่วงวันรับ-ตายาย เมื่อก่อนวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา และครั้งนี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันส่งตา-ยาย จะมีชาวบ้านมาสั่งและซื้อจำนวนมาก ครั้งแรกมีรายได้เข้ามาให้กับสมาชิกที่มาร่วมกันทำขนมเจาะหูจำนวน 4 คน กว่าเจ็ดพันบาท หลังหักต้นทุนที่ซื้อวัสดุในการทำ ทั้งแป้ง น้ำตาล น้ำมันต่างๆ สามพันกว่าบาทแล้ว ถ้ารวมๆ ทั้ง 2 ครั้ง คนหนึ่งจะมีรายได้ ช่วงเทศกาลเดือนสิบ ทั้งบุญแรกและบุญหลัง ประมาณ 2,000-3,000 บาท


สำหรับส่วนผสมหลักของขนมเจาะหู มีเพียงแป้งข้าวเจ้า กับน้ำตาล รวมทั้งเนื้อทุเรียนนำมานวด หมักไว้ก่อนหนึ่งคืนก่อนที่จะนำมาปั้น เจาะรู แล้วทอดในน้ำมันให้สุกและเหลือง ส่วนความอร่อยของขนมเจาะหู จะอยู่ที่กรอบนอกนุ่มใน เย็นแล้วไม่แข็ง สามารถไว้ได้นานกว่าหนึ่งอาทิตย์



----------------

แหล่งที่มา : สทท.ยะลา

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

อำเภอเบตง เตรียมจัดงาน 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง


วันนี้ (22 ก.ย. 59) ที่ห้องประชุมไกรลาศ ที่ว่าการอำเภอเบตง นายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงาน 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง โดยทางอำเภอเบตง ร่วมกับหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชนชาวอำเภอเบตงร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2559 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเมืองเบตง รำลึกถึงวิถีชีวิตของประชาชนในอำเภอเบตง และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองเบตง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของอำเภอเบตงให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น




สำหรับงาน 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง จะมีกิจกรรมต่างๆมากมาย อาทิ กิจกรรม Betong in smile การแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสม การแสดงคอนเสริต์จากศิลปินชั้นนำ กิจกรรม เฉลิมฉลอง 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง จัดทำหนังสือ 111 ปี จำนวน 2,000 เล่ม และจัดทำของที่ระลึก 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง การจัดนิทรรศการภาพถ่าย ข้างหลังภาพเล่าเรื่องรอบเมืองเบตง ณ บ้านจำลอง การก่อสร้างเมืองจำลอง ปรังปรุงภูมิทัศน์รอบเมืองเบตง การเดินขบวนพาเหรดมรดกทางวัฒนธรรมและของดี จำนวน 6 ขบวน และการจัดทำหนังสั้นงาน 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง






วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

“ไม่พูดคุยก็ไม่มีสันติภาพ” VS “การพูดคุยไม่ใช่คำตอบทั้งปวง”


พล.อ.อักษรา เกิดผล - มูฮำหมัดซุกรี ฮารี

พล.อ.อักษรา เผย นายกมาเลย์-ไทยต้องการให้หยุดความรุนแรงก่อน ชี้การพูดคุยไม่ใช่คำตอบทั้งปวงของการลดเหตุรุนแรง แต่เป็นความรับผิดชอบของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เปิดคำแถลงของมูฮำหมัดซุกรี ฮารี ยืนยันไม่มีการพูดคุย ไม่มีสันติภาพยกผลประชามติคือจุดยืนของประชาชนปาตานี

พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกหนังสือชี้แจงสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย และพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้พบปะหารือกันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9กันยายน 2559 ว่า ทั้งสองได้ยืนยันในความร่วมมือเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2560 ต่อไป


 “โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์อยากให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจ และต้องการหยุดความรุนแรงให้ได้ก่อน เพราะทุกครั้งที่มีการพูดคุยฯก่อนและหลังจะต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ฝ่ายไทยเรายอมรับไม่ได้ เพราะมักมีการสูญเสียที่เกิดกับพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

พล.อ.อักษรา ชี้แจงต่อไปว่า ดังนั้น รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงพร้อมที่จะสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข อันเป็นแนวทางสันติวิธีต่อไป เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้มองว่าผู้เห็นต่างฯเป็นผู้ก่อการร้าย แต่มองเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งมีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับอยู่แล้ว เช่น มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และโครงการพาคนกลับบ้านของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นต้น

ชี้การพูดคุยไม่ใช่คำตอบทั้งปวงของการลดเหตุรุนแรง

พล.อ.อักษรา ชี้แจงอีกว่า ทั้งนี้การพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้นไม่ใช่คำตอบทั้งปวงของการลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นความรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และทุกส่วนราชการในพื้นที่ต่างหาก ที่ต้องกำหนดให้มีมาตรการระวังป้องกันทั้งเชิงรุกเชิงรับ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ และทุกศาสนา ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและสามารถลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
พล.อ.อักษรา ชี้แจงด้วยว่า สำหรับการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เป็นเพียงแนวทางสันติวิธี ที่เป็นความพยายามในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม/ทุกพวก/ทุกฝ่ายเพื่อสร้างความไว้วางใจจนเกิดความร่วมมือในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยอาจเริ่มต้นให้เกิดความปลอดภัยขึ้นในพื้นที่ใดก่อนก็ได้ และให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการด้านความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว และขยายผลความปลอดภัยไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

คำแถลงของมูฮำหมัดซุกรี ฮารี ยืนยันไม่มีการพูดคุย ไม่มีสันติภาพ

ขณะที่ในคำแถลงของนายมูฮำหมัดซุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายมาราปาตานี (หัวหน้าคณะเจรจาสภาซูรอปาตานี) ที่มีต่อการพูดคุยกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เมือวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่มีพล.อ.อักษรา และดาโต๊ะซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฝ่ายมาเลเซียรวมอยู่ด้วย โดยสมาชิกมาราปาตานีถูกนำคำแถลงที่เป็นภาษามลายูมาเปิดเผย
โดยคำแถลงระบุเนื้อหาบางส่วนว่า เรามีความเชื่อและมีความมั่นใจว่าแท้จริงเรายึดมั่นในแนวทางที่ว่า ทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดินนี้ สามารถแก้ไขโดยการพูดคุย หากไม่มีการพูดคุยแล้ว ความขัดแย้งทุกอย่างย่อมยากที่จะแก้ไขหรือดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีการพูดคุย ไม่มีสันติภาพไม่ใช่ ไม่มีสันติภาพ ไม่มีการพูดคุย”(No talk, No peace, Bukan, No peace, No talk)

ยกผลประชามติคือจุดยืนของประชาชนปาตานี

มูฮำหมัดซุกรี แถลงอีกว่า ท่านทั้งหลาย ควรตระหนักว่าความขัดแย้งที่ปาตานีที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานมาแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขด้วยการใช้เวลาเพียงวันสองวัน แต่ด้วยความพยายามอย่างเข้มแข็งและจริงจังของทั้งสองฝ่าย และด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความสำคัญที่ดำเนินการโดยตรงและไม่ใช่โดยตรง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม เป็นธรรมและยั่งยืนจะประสบผลในท้ายที่สุด เพราะทุกการเริ่มต้น จะต้องมีจุดสิ้นสุด...  สอง + สอง = สี่ ไม่ใช่ สอง + สอง = ห้า

มูฮำหมัดซุกรี แถลงด้วยว่า กระผมอยากให้ทุกท่านให้ความสนใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ประชาชนปาตานีลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลไทยได้จัดให้มีการลงประชามติเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2016 เมื่อเร็วๆ นี้ สาเหตุเพราะเกิดสิ่งที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการนั้น ดังนั้น นี่คือจุดยืนของประชาชนปาตานี และเราเป็นตัวแทนของพวกเขาเหล่านั้นอย่างแท้จริง พวกเขาจะปฏิเสธหากว่าพวกเขาพบเห็นหรือรู้สึกว่ามีสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิต่างๆ ของพวกเขา

มูฮำหมัดซุกรี ปิดท้ายคำแถลงด้วยคำว่า บรรลุความสำเร็จ  บรรลุความสำเร็จ และจะบรรลุความสำเร็จ พระผู้เป็นเจ้าจะอยู่กับเรา และพระเจ้าจะทำลายล้างความเป็นธรรมที่ปาตานี อามีน” (Berjaya, berjaya, tetap berjaya. Allah bersama kita dan Allah akan menghancurkan kezaliman di Patani, Aamin.) อุสตาซ มูฮำหมัดซุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจาสภาซูรอปาตานี (มาราปาตานี) กัวลาลัมเปอร์ 2/9/2016


ที่มา:โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ | ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

ข่าวประชาสัมพันธ์ “งานของดีเมืองนรา” ประจำปี 2559


ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ขอเชิญร่วมชมกิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรม ในงานของดีเมืองนรา ประจำปี 2559

วันนี้ (19 ก.ย. 59) นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากการที่จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ กำหนดจัดงานของดีเมืองนรา ครั้งที่ 41 ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 17-25 กันยายน 2559 ที่บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวนราธิวาส และเป็นการสร้างบรรยากาศของการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย


ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งกิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรม มีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้รับผิดชอบ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ แบ่งออกเป็น การแสดงบนเวทีใหญ่ มีวงดนตรีสตริงเยาวชนและศิลปินในพื้นที่ จำนวน 9 วง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จำนวน 8 คณะ อาทิ การแสดงมโนราห์ การแสดงศิลปินดิเกฮูลูคณะปอเต๊ะและคณะบาบอดิง การแสดงเชิดมังกร การแสดงจากสถานศึกษา จำนวน 22 ชุด มีทั้งศิลปะการรำและวงดนตรีลูกทุ่งจากโรงเรียนนราธิวาส และดารานักร้อง วันนี้ (19 ก.ย.59) พบกับพิมดา อาร์สยาม วันที่ 21 กันยายน นักร้องวงกลม วันที่ 22 กันยายน จักจั่น อคัมย์สิริ วันที่ 23 กันยายน ตาโอ๋ วงเซอร์ ฟรีสไตส์ และวันที่ 24 กันยายน แอม อินทิรา อาร์สยาม



นอกจากนี้ ยังมีการประกวดขับร้องเพลง จำนวน 2 เพลง คือ เพลงนราพิมพ์ใจ และเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพลงรักชาติ รอบคัดเลือกรอบที่ 2 แข่งขันวันที่ 23 กันยายน และผู้เข้ารอบ 8 คน จะเข้าสู่การประกวดรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 24 กันยายนนี้





----------------------

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

สังคมชายแดนใต้ ณ มัสยิดกรือเซะ


สังคมไทยแต่ละภูมิภาคต่างดำรงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดมา มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพื้นที่ ที่แตกต่างจากสังคมไทยในภูมิภาคอื่นๆ หลายประการ    สังคมไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมาเราอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน ดำเนินวิถีชีวิตร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด ด้านศิลปวัฒนธรรมของสังคมสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันได้อย่างกลมกลืน


ชาวบ้านส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนใต้จะมีสายสัมพันธ์ที่เป็นเครือญาติกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิมมีความเป็นเพื่อน มีการไว้วางใจซึ่งกันและกัน ส่วนในความสัมพันธ์ด้านชุมชน คือมีการประชุมร่วมกันมีการไปมาหาสู่กัน ถึงแม้จะรู้สึกกลัวกับเหตุการณ์ปัจจุบันภายในหมู่บ้านแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม และชาวไทยพุทธมีจำนวนประชากรน้อยกว่า แต่ก็อาศัยอยู่ร่วมกันมาได้มาจนถึงปัจจุบัน บางหมู่บ้านที่ประชากรไทยพุทธมีจำนวนน้อย แต่กลับได้รับความเชื่อถือจากชาวไทยมุสลิมให้ได้รับเป็นผู้ใหญ่บ้านและจะดูแลลูกบ้าน จากความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่อยู่


อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในพื้นที่ ทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้แต่การสร้างสายสัมพันธ์ของชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังคงมีความรัก ความผูกพัน ความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแน่นแฟ้นต่อไป รวมถึงการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยหวังว่าจะนำความสงบสุขในพื้นที่กลับมาอีกครั้งเพื่อให้เป็นสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ดึงดุดความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายในสามจังหวัดชายแดนใต้

เพราะเหตุใด? เราจึงต้อง "รักและถนุถนอมกันและกัน" เหตุผลแจ้งชัดว่า เราอยู่คนเดียวในโลกนี้ไม่ได้ เรายังต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และเรายังต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน และที่สำคัญ เราต่างก็เป็นคนไทยเหมือนกัน

 ---------------


ภาพ ณ มัสยิดกรือเซะ ปัตตานี

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

จังหวัดปัตตานี กำหนดจัดกิจกรรม “ปั่นเพื่อแม่ พิชิตแหลมตาชี” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 16 กันยายน นี้


นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จังหวัดปัตตานี โดยภาคส่วนต่างๆ ได้กำหนดจัดกิจกรรม ปั่นเพื่อแม่ พิชิตแหลมตาชี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย และส่งเสริมการท่องเที่ยวแหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 


ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดที่มีความสวยงาม สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้ ณ จุดเดียวกัน ซึ่งถือเป็นอัญมณีแห่งท้องทะเลอ่าวไทย ภายหลังจากที่ได้เปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยว แสงแรกฟ้า..ที่แหลมตาชี ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2559 ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวรู้จักและเดินทางไปท่องเที่ยวกันเพิ่มมากขึ้น



โดยครั้งนี้ได้จัดกิจกรรม ปั่นเพื่อแม่ พิชิตแหลมตาชีในวันที่ 16 กันยายน 2559 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป โดยปล่อยขบวนรถจักรยานออกจากลานศิลปวัฒนธรรม หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ผ่านเส้นทางต่างๆ ไปยังแหลมตาชี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง ระยะทาง 45 กิโลเมตร


รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยอีกว่า ภายในงานบริเวณแหลมตาชี จัดมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ กิจกรรมบันเทิง และส่งเสริมการออกกำลังกาย อาทิ การแข่งขันฟุตบอล การแสดงดนตรี ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การแข่งขันเรือ และมวยทะเล เป็นต้น จึงขอเชิญชวนนักปั่นจักรยานและประชาชนสวมเสื้อสีฟ้าไปร่วมในวันที่ 16 กันยายน 2559 นี้ โดยทั่วกัน


--------------------

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

คำอธิบายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ พ.ศ. 2559 (ฉบับแปลภาษายาวี)





      การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้อย่างชัดเจนโดยมีเจตนารมณ์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้มีการปกครองที่เข้มแข็งโดยยึดถือแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย จัดให้มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้าและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดการเรียนให้สอดคล้องต่อสภาพสังคมในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคน ให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดีควบคู่กันไปตั้งแต่วัยเด็กจนถึงมัธยมตามมาตรการเรียนฟรี 12 ปี และให้เกียรติในการนับถือศาสนาและสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน


---------------------

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559

นราธิวาส-พื้นที่ปลอดภัยอยู่ไหน?เสียงจากครอบครัว'เว๊าะบ๊ะ'


กระเป๋านักเรียนเปื้อนเลือดที่เป็นของ ด.ญ.มิตรา เว๊าะบ๊ะ ในวัย 5 ขวบ หล่นอยู่ข้างรั้วโรงเรียนบ้านตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ณ ทำเลพื้นที่ซึ่งถูกสงวนไว้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียน วันนี้กลับเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

บึ้ม!!! เสียงดังสนั่นหวั่นไหวเกิดขึ้นด้านหน้าโรงเรียน ขณะที่นักเรียนกว่า 540 ชีวิต ยืนเข้าแถวอยู่หน้าเสาธง หลังจากเคารพธงชาติผ่านไปได้ไม่ถึง 10 นาที พลังสิ้นเสียงดังระคายหูเด็กนักเรียนกรีดร้องเสียงหลงแข่งกับเสียงผู้คนและสัญญาณจากรถฉุกเฉินที่ช่วยเหลือคนเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถจักรยานยนต์ หรือจักรยานยนต์บอมบ์ 
ขณะที่เหล่าคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 50 คน ที่อยู่ร่วมชะตากรรมกับเด็กๆ ต้องสวมบทบาทครูจอมเฮี้ยบ เพื่อตะเบ็งเสียงจัดการกับเหล่าเด็กที่อยู่ในอาการตื่นกลัวและตกใจสุดขีด ก่อนตัดสินใจนำเด็กๆทั้งหมดกลับเข้าห้องอย่างเร่งด่วน

เมื่อควันระเบิดจางทุกอย่างจึงชัดเจน เมื่อจุดเกิดเหตุพบกระเป๋านักเรียนสีเหลือง ระบุชื่อ ด.ญ.มิตรา เว๊าะบ๊ะหล่นอยู่ ขณะที่ผู้เป็นพ่อ มะเย็ง เว๊าะบ๊ะขี่รถจักรยานยนต์มาส่งหน้าโรงเรียน ก็ตกเป็นผู้เคราะห์ร้าย ถูกแรงอัดระเบิดเข้าอย่างจัง ทำให้เสียชีวิตทันทีทั้งสองคน นอกจากนี้ยังมีผู้โชคร้ายคือ ตัสมีซี มะดาโอะอายุ 22 ปี พ่อค้าขายขนมโตเกียวหน้าโรงเรียน ต้องมาสังเวยชีวิตเพิ่มอีกราย รวมเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้บริสุทธิ์ถึง 3 ราย

เหตุร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลอดภัยหน้าโรงเรียน ไม่เพียงแค่ทำให้ครอบครัว เว๊าะบ๊ะสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปพร้อมกันถึง 2 คนเท่านั้น แต่ชีวิตต่อไปจากนี้ของลูกชายคนโตที่ต้องสูญเสียพ่อและน้องสาวไปในคราวเดียวกันจะอยู่อย่างไร?

ด.ช.พงศภัค เว๊าะบ๊ะหรือ น้องอาซันวัย 6 ขวบ นั่งเล่นอยู่กับเพื่อนๆ ภายในบ้านเลขที่ 23/1 บ้านตาบา ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ ท่ามกลางเหล่าผู้ใหญ่มากหน้าหลายตาที่เข้ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียเบื้องต้น

ด้วยความไร้เดียงสาของเด็กน้อยเวลานี้ แม้จะรับรู้ว่าน้องสาวและพ่อได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ในบางช่วงเวลาก็ยังเอ่ยและถามถึงน้องสาวและพ่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความไร้เดียงสานี้ ทำให้ผู้พบเห็นสลดใจและเสียใจต่อสิ่งที่เด็กน้อยต้องเผชิญ

โตขึ้นใครอยากเป็นทหาร ยกมือขึ้น?... สิ้นคำถาม น้องอาซันรีบยกมือขึ้น แสดงตัวชัดเจนอยากเป็นทหารและตำรวจ พฤติกรรมของหนูน้อยสร้างรอยยิ้มปนคราบน้ำตาให้แก่สมาชิกครอบครัวและผู้มาเยือน


 โดยเฉพาะ แมะละ เว๊าะบ๊ะป้าแท้ๆ ของอาซัน ที่ต้องรับหน้าที่เป็นแม่บุญธรรมเพื่อให้เด็กน้อยได้รู้สึกว่ายังมีครอบครัวอยู่เหมือนเดิม ต้องตกอยู่ในสภาพร่างกายและจิตใจบอบช้ำอย่างหนัก ตาที่แดงก่ำบ่งบอกว่าน้ำตาไม่เคยเหือดแห้งตลอด 24 ชั่วโมง ที่ต้องพบกับความสูญเสีย

พี่สาวมะเย็ง เล่าเรื่องราวชีวิตของครอบครัวด้วยภาษายาวี หรือภาษามลายู ให้ฟังแบบช้าๆ ว่า ครอบครัวเราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่รวม 6 คน มีพี่ชาย พี่สาว พี่เขยของมะเย็ง รวมถึงน้องมิตราและน้องอาซัน ลูกสาวและลูกชายของมะเย็ง ที่ผ่านมามะเย็งเป็นเหมือนเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว ก่อนหน้านี้มะเย็งเพิ่งกลับจากไปทำงานเป็นยามที่กรุงเทพฯ และกลับมาอยู่บ้านได้ไม่ถึงปี เมื่อกลับมาก็ทำงานรับจ้างแบกข้าวสารมีรายได้วันละประมาณ 200 บาท 

แม้เงินจำนวนไม่มาก แต่สามารถเลี้ยงสมาชิกครอบครัวได้ไม่อดอยาก เมื่อสมาชิกครอบครัวขาดหายไป ทำให้ชีวิตของคนที่เหลืออยู่ต้องประคับประคองกันเพื่อก้าวข้ามความเจ็บปวดไปให้ได้ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ให้แก่หลานชายที่ช่วยเลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะ

เช่นเดียวกับ ไซตง เว๊าะบ๊ะป้าอีกคนของ น้องอาซันที่แม้ไม่ได้อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน แต่ก็ไปมาหาสู่กันทุกวัน ต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลักในการประสานงานติดต่อและจัดการธุระต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามาในช่วงนี้ แม้จะเสียใจอย่างหนักต่อการสูญเสียน้องชายและหลานสาวไปอย่างกะทันหัน

ไม่เคยคาดคิดว่า พื้นที่ปลอดภัยหน้าโรงเรียนจะกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนไปได้ เด็กคนหนึ่งไม่รู้เรื่องราวความขัดแย้งแต่ต้องได้รับผลกระทบ แม้กระทั่งน้องชายที่เป็นคนดี เลี้ยงดูลูกสองคน ไม่เคยเกี่ยงงาน ไม่บ่นแม้เจองานหนัก กระทั่งวินาทีที่จากไปยังทำหน้าที่พ่อไปส่งลูกชายคนโตเข้าเรียนอย่างปลอดภัยที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองตากใบ จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนบ้านตาบา ก่อนที่มีนัดไปแบกข้าวสารหาเลี้ยงชีพที่ร้านค้าข้าวสารใกล้บ้านไซตงปล่อยโฮเมื่อรับรู้ดีว่าภารกิจของน้องชายไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก

สิ่งสุดท้ายที่ "ครอบครัวเว๊าะบ๊ะเรียกร้องในฐานะผู้สูญเสียวันนี้ ไม่ใช่แค่การร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเยียวยาเท่านั้น 

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ขอพื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริงให้หลานชายตัวน้อยคนนี้ ได้มีพื้นที่การใช้ชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างปลอดภัย!

อย่าทำร้ายเด็ก-ผู้บริสุทธิ์

สราวุธ ยอดรักษ์ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาบา ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะเป็นเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ แต่ต้องมาเสียชีวิตด้วยเหตุที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

วิงวอนไปยังผู้ที่กระทำด้วยว่า อย่ากระทำต่อผู้บริสุทธิ์และไม่เกี่ยวข้อง อยากจะสื่อไปถึงกลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่า อย่ากระทำกับผู้บริสุทธิ์เลย ครู เพื่อนนักเรียน ผู้ปกครอง ทุกคนเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โรงเรียนไม่เคยประสบเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน



สราวุธเล่าถึงเหตุการณ์ว่า เป็นช่วงเวลาที่นักเรียนกำลังเข้าแถว และกำลังรอเดินเข้าห้อง ส่วน ด.ญ.มิตรา เว๊าะบ๊ะ เรียนอยู่ชั้นอนุบาล 1 เดินทางมาพร้อมกับพ่อคือ มะเย็ง เว๊าะบ๊ะ ได้แวะซื้อของที่ร้านตรงจุดที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ตรงข้ามประตูทางเข้าโรงเรียน หลังเกิดเหตุโรงเรียนยังเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ ขวัญและกำลังใจของครูยังดีอยู่ โดยประชุมกันว่าทุกคนยังพร้อมจะทำหน้าที่ต่อไป ส่วนผู้ปกครองก็มีบ้างที่หวั่นไหวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับมาตรการในพื้นที่ของโรงเรียนยังคงปฏิบัติตามแผนของโรงเรียน

ขณะที่ อุษณีย์ ประสิทธิชัยวุฒิ ครูประจำชั้นอนุบาล 1/2 กล่าวถึงน้องมิตราว่า เพิ่งเข้ามาเรียนได้ประมาณ 2 เดือน ย้ายมาจากกรุงเทพฯ เป็นคนพูดภาษาไทย พูดภาษากลาง เป็นคนน่ารัก เป็นคนช่างพูด สนุกสนาน ร่าเริง เป็นที่รักของพ่อ ซึ่งจะมาส่งและมารับทุกวัน

หลังมีเสียงระเบิดได้พาเด็กนักเรียนที่ยืนเข้าแถววิ่งเข้าไปอยู่ใต้อาคาร หลังจากนั้นก็มีคนมาบอกว่ามีเด็กอนุบาลของโรงเรียนถูกระเบิดและนำตัวส่งโรงพยาบาล ก็เลยตามไปดูที่โรงพยาบาล ไปถึงเห็นหน้าก็เลยรู้ว่าเป็นน้องมิตรา ตกใจทำอะไรไม่ถูก ไม่คิดว่าจะเป็นน้อง

เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1/2 มีจำนวนทั้งสิ้น 20 คน น้องมิตราเป็นน้องใหม่ในห้อง โรงเรียนเราไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาได้ครูประจำชั้นอนุบาล 1/2 กล่าว

อุษณีย์ฝากคำพูดไปถึงผู้กระทำความรุนแรงว่า คุณที่ทำ คุณต้องการอะไร เราไม่รู้ แต่ไม่ควรจะมาใช้ความรุนแรงกับเด็กและใกล้กับโรงเรียน ซึ่งเป้าหมายของคนทำจะเป็นตำรวจหรือทหาร แต่ก็ไม่ควรให้ผู้บริสุทธิ์ต้องมาเสียชีวิตกับการกระทำของคุณ จะทำไปเพื่ออะไร แล้วได้อะไร

--------------

ที่มา...คมชัดลึกออนไลน์


นราธิวาส-พื้นที่ปลอดภัยอยู่ไหน?เสียงเพรียกจากครอบครัว'เว๊าะบ๊ะ' :  สุพิชฌาย์ รัตนะ/ : สมชาย สามารถรายงาน

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

"ตาดีกา" ศูนย์ปลูกฝังเยาวชนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม รักสันติ


"ตาดีกา"..,เป็นสถาบันในชุมชนมุสลิม มีวัตถุประสงค์ปลูกฝังหลักการศาสนาเบื้องต้น ให้เด็กๆเป็นมุสลิมที่ดี... เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

ถ้าเด็ก...เยาวชนเป็นคนดี มีคุณธรรม มีจริยธรรม เมื่อเติบโต เป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นคนดี...ในชุมชนมีคนดี สังคมก็จะดี ปัญหาต่างๆก็แก้ไขได้ การพัฒนารูปแบบต่างๆก็จะตามมา บ้านเมืองเจริญ เศรษฐกิจดี... ทุกคนก็อยู่อย่างเป็นสุข!!

"ตาดีกา" (TADIKA) ศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเยาวชน มาจากภาษา RUMI หรือภาษามลายู TA=TAMAN แปลว่า : สวน ศูนย์ หรือสวนสาธารณะ, DI=DIDIKKAN แปลว่า : สอน แนะนำ อบรม ชี้แจง สั่งสอน, KA=KANAK KANAK แปลว่า : เด็กเล็กหรือเยาวชน


ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้...ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล...นับถือศาสนาอิสลาม มีความเคร่งครัด เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา มีการควบคุมเตือนใจอยู่เป็นนิจ ยึดหลักอัลกุรอานเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ศาสนาอิสลาม จึงกำหนดหน้าที่บิดามารดาอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้มีความรู้เรื่องของศาสนา ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้ก็ต้องหาคนที่มีความรู้ มาสอน

โรงเรียนตาดีกา จึงรับหน้าที่นี้ มีอยู่แทบทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่ ใช้พื้นที่มัสยิดเป็นศูนย์จัดตั้ง สร้างเป็นอาคารอเนกประสงค์ สมัยก่อน...โต๊ะอิหม่ามจะทำหน้าที่สอน หากเป็นหมู่บ้าน ก็จะเป็นหน้าที่ของหนุ่มสาวที่ไปเรียนศาสนามาจากโรงเรียนปอเนาะ

กระบวนการการเรียนการสอนเป็นเช่นนี้ ตาดีกาแต่ละแห่งจะเข้มแข็ง เลี้ยงตัวเองได้กี่มากน้อย จึงขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชน


ถ้าชุมชนมีโรงเรียนตาดีกาเข้มแข็ง แสดงถึงระเบียบวินัยของคนในชุมชน การมีส่วนร่วมของ คนในชุมชน และศักยภาพของผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา คณะกรรมการชุมชน ถ่ายทอดความรู้...วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ บรรทัดฐาน เกิดกลุ่มที่ทำหน้าที่ควบคุมทางสังคม มีผลให้สมาชิกปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม และหลักการของศาสนา

โรงเรียนตาดีกาเป็นโรงเรียนนอกระบบ ภาครัฐไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยคนในชุมชน เป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคม

เดิมทีแต่ละชุมชน ต่างฝ่ายต่างบริหาร ไม่มีการติดต่อประสานงาน หรือมีกิจกรรมร่วมกัน แต่ละชุมชนก็สอนกันไป ตามศักยภาพของแต่ละหมู่บ้าน คุณภาพการเรียนการสอนจึงต่างกัน


ปัจจุบัน...โรงเรียนตาดีกาพัฒนามากขึ้น รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นมูลนิธิศูนย์ตาดีกานราธิวาส มีชมรมตาดีกาในสังกัด 23 ชมรม รวมตาดีกาทั้งหมด 516 แห่ง จำนวนนักเรียนทั้งหมด 53,819 คน และมีครูผู้สอน 2,684 คน


มูลนิธิฯรวมตัวเป็นศูนย์ประสานงานชมรมตาดีกา 5 จังหวัดชาย แดนใต้...PERKASA ตั้งอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ทำงานให้เป็นระบบเครือข่าย ประสานงานในระดับต่างๆ รวมถึงประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน






-----------------