วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“ปลากุเลา” ของดีปัตตานี เพิ่มรายได้บนวิถีประมงพื้นบ้าน



      หนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจ ที่ชุบชีวิตชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี จากความยากจนสู่ความรุ่งเรือง ก็คือปลากุเลาเค็ม โอรังปันตัย สินค้านี้มีความหมายอย่างไรกับชาวประมงชาวแดนใต้บ้าง
ปลากุเลา เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ด้วยปลากุเลานั้นเป็นสัตว์น้ำที่ชอบหากินหน้าดินโคลน ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร พบมากบริเวณปากอ่าวปัตตานี และปากคลองต่างๆ ปลากุเลาเป็นสัตว์น้ำที่ชอบล่าเหยื่อโดยเฉพาะสัตว์น้ำตัวเล็กๆ เช่น ปลาหลังเขียว ปลากะตัก กุ้งเคย ฯลฯ ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีมักจะจับปลากุเลาในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี


นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มตันหยงเปาว์ จังหวัดปัตตานี เล่าให้ฟังว่ากลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี มีสมาชิกมากกว่า 76,000 คน มีเรือประมาณ 2,900 ลำ แต่เดิมเป็นกลุ่มประมงที่ขึ้นชื่อว่ายากจนที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอาชีพจับปลาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา หรือยางพารา เมื่อถึงฤดูมรสุมก็ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ต้องพึ่งพาแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ
เราพยายามทำเรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2535 ด้วยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ชาวบ้าน เครือข่ายประมงพื้นบ้านทั้ง 6 อำเภอ ของจังหวัดปัตตานี ตอนนี้เรากล้าประกาศได้ว่าเราสามารถฟื้นฟูทรัพยากรจนอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่เราพบคือชาวประมงพื้นบ้านยังยากจนอยู่เหมือนเดิม เป็นเพราะว่าการที่เราเป็นประมงพื้นบ้านเราต้องจับสัตว์น้ำในช่วงที่มันเยอะที่สุด ในขณะที่ความต้องการของตลาดโดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานีมีน้อย ราคาก็เลยตกต่ำ วัฏจักรนี้ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีต้องประสบเจอมาตลอด


นายมูหามะสุกรี เล่าต่อว่า ชาวประมงพื้นบ้านจึงคิดตั้งกลุ่มขึ้นมาในชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย” โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เริ่มจากการสืบค้นภูมิปัญหาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการวิจัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย พบว่าในชุมชนมีต้นทุนและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ท้องทะเลปัตตานี เป็นทะเลที่สะอาดปราศจากมลพิษ นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีความรู้ มีเครือข่าย จึงนำต้นทุนเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอด เป็นสินค้าแปรรูปทั้งปลากุเลาและปลาหมึกศอก
เดิมทีปลากุเลาในจังหวัดปัตตานีมีเยอะมาก และจับได้เยอะมาก ราคาที่รับซื้ออยู่ในหมู่บ้านกิโลกรัมละ 170 บาท หลังจากที่ตั้งกลุ่มขึ้นมา ณ ตอนนี้ทางกลุ่มรับซื้ออยู่ 230-250 บาท และเราสามารถที่จะสร้างมูลค่าหลังจากการแปรรูป ที่ขายอยู่ตตอนนี้ 1,300 บาท จากปลา 1 กิโลกรัมใช้เวลา 45 วัน เรานวดมันทุกวัน เราทำปลากุเลาโดยเอาใจของเราใส่เข้าไปในปลากุเลา เราถึงได้ปลากุเลาที่มีรสชาติอร่อย ไม่ใช่แค่ปลากุเลา เรายังมีปลาหมึกศอก ตอนนี้ขายกิโลกรัมละ 1,700 บาท กิโลกรัมหนึ่งได้ปลาหมึก 10-12 ตัว เรามีผลิตภัณฑ์ที่พรีเมียม
เอกลักษณ์ของปลากุเลา ที่จังหวัดปัตตานี ยังแตกต่างจากจังหวัดนราธิวาส ก็ด้วยรสชาติที่เค็มน้อยกว่า และอยู่ในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งจำหน่ายใหญ่ไปสู่จังหวัดนราธิวาสด้วย
โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี หนึ่งในโรงแรมที่สนับสนุนปลากุเลาเค็มจากบ้านตันหยงเปาว์ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หรือปลากุเลาเค็มตันหยงเปาว์ โอรังปันตัย ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีตามภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิธีกางมุ้ง ไม่ใช้สารเคมีเพื่อการรักษาสภาพปลา ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่เจือสี ไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ และใช้เกลือหวานปัตตานีเป็นส่วนผสมหลักในการทำเค็ม ได้ดึงเสน่ห์ปลากุเลาเค็ม ไปนำเสนอเป็นเมนูเลิศรสอย่างหลากหลาย เช่น ข้าวผัดปลากุเลาเค็ม ไก่สับทอดมันปลากุเลาเค็ม สปาเก็ตตี้ปลากุเลาเค็ม หลนปลากุเลาเค็มผักสด คะน้าปลากุเลาเค็ม ผัดผักบุ้งปลากุเลาเค็ม กุ้งสับผัดปลากุเลาเค็ม และยำปลากุเลาเค็มทอด ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถสั่งปลากุเลาไปลองทำอาหารต่างๆ หรือเลือกเดินทางไปลิ้มลองสินค้าเศรษฐกิจที่ผลิตขึ้นจากใจชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี















1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าจะซื้อโดยจะส่งเงินมาให้ทาง Western Union โดยเอามาหนึ่งตัวให้ห่อใส่ไปรษนีย์กล่องที่ซื้อได้ที่ทำการไปรษนีย์ราคาราว ๔๐ บาท ส่งมาที่ Narit Thapanadilok, 23190 Starry Way, California, MD 20619-7151 e-mail: naritthapanadilok@yahoo.com ทำได้หรือไม่

    ตอบลบ