วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

ทะเลหมอก “ฆูนุงซิลิปัต” 1 ใน 15 แห่งสถานที่ท่องเที่ยว ที่คุณห้ามพลาด!!



      “ทะเลหมอกฆุนุงซิลิปัต” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างบ้าน กม.28 และบ้าน กม.22 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชมทะเลหมอก ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาเที่ยวชม อย่างไม่ขาดสาย หลังจากที่ “ทะเลหมอกฆูนุงซิลิปัต” ติดอันดับ 1 ใน 15 สถานที่ท่องเที่ยว ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดอันดับ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวภูเขาชมทะเลหมอก อันซีนไทยแลนด์ โดยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 22 กย.61 ) มีนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย รวมกลุ่มกันประมาณ 70 คน ได้เดินทางเข้ามาเที่ยวที่ ยอดเขาฆูนุงซิลิปัต



        โดยการเดินทางไปท่องเที่ยว เพื่อชมทะเลหมอกที่ยอดเขาฆูนุงซิลิปัต ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา นั้น นักท่องเที่ยวต้องจับจองสถานที่ และนัดแนะวันเวลา กับทีมงานสต๊าฟ ซึ่งเป็นคนพื้นที่และจัดตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมา โดยภายหลังจากการติดต่อ เพื่อจับจองสถานที่แล้ว เมื่อถึงวันเดินทาง นักท่องเที่ยวต้องมาพร้อมกันที่จุดนัดพบ บริเวณทางขึ้นเขาฆูนุงซิลิปัต ที่บ้าน กม.28 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา และเตรียมความพร้อม ในการเดินทางขึ้นเขา โดยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ทางทีมสต๊าฟจัดไว้ให้ โดยจะใช้เวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 30 -50 นาที แล้วแต่สภาพภูมิอากาศ หลังจากนั้น จะต้องเดินเท้าอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ลัดเลาะไปตามเส้นทางธรรมชาติ สวนยางพารา และสวนผลไม้ เพื่อขึ้นไปยังจุดพักค้างคืนชั่วคราว ซึ่งทางทีมสต๊าฟที่ดูแล จะมีที่พักเป็นเต็นท์พักแรมไว้ให้ ตามจำนวนนักท่องเที่ยว มีอาหารค่ำให้ 1 มื้อ มีน้ำดื่มไว้บริการ มีห้องน้ำสำหรับขับถ่าย แต่ไม่มีสถานที่ให้อาบน้ำ และไม่มีไฟฟ้า ส่วนนักท่องเที่ยวที่เตรียมอาหารมารับประทาน เช่นการปิ้งย่าง ก็จะมีสถานที่และอุปกรณ์ไว้ให้ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะต้องเตรียมมาก็คือ ยาเวชภัณฑ์แก้ปวด แก้ไข ยา หรือ สเปรย์ฉีดกันยุง ซึ่งบรรยากาศในช่วงค่ำคืนนั้น จะมีอากาศเย็นสบาย ในช่วงฤดูผลก็จะมีผลตกโปรยปราย ตามสภาพภูมิอากาศในช่วงนั้น



      ในช่วงเช้ามืดเวลา 05.00 น.นักท่องเที่ยวทุกคนต้องเตรียมเดินเท้าขึ้นไปยอดเขาฆูนุงซิลิปัต ซึ่งอยู่ห่างจากจุดพักค้างแรมประมาณ 300 เมตร เส้นทางเดินตามสันเขาที่เป็นชะงอนหิน ขึ้นไปยังบนยอดเขา ซึ่งมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลที่ประมาณ 600 เมตร และหากเดินทางขึ้นไปถึงก่อนแสงแรกของวัน ก็จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้า โดยบนยอดเขาฆูนุงซิลิปัต ถือเป็นสเน่ห์และความอัศจรรย์ของสถานที่ชมทะเลหมอกแห่งนี้ เนื่องจาก ยอดเขาจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 70-80 คน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นไปแล้ว จะสามารถมองเห็นทะเลหมอกแบบ 360 องศา ในทุกทิศทาง ท่ามกลางบรรยากาศสุดฟินนี้ จะยังมีอาหารเช้า เป็นกาแฟ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ พร้อมด้วย ขนมปัง ไว้บริหารนักท่องเที่ยว ในช่วงที่รอชมทะเลหมอก อีกทั้ง มีจุดถ่ายภาพ สำหรับเช็คอิน หรือเซลฟี่ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพิชิตยอดเขาฆูนุงซิลิปัตแห่งนี้อีกด้วย



        จากการสอบถามนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย รายหนึ่งก็ทราบว่า ได้รับทราบข่าวสารทางเฟสบุ๊ค จึงได้ชักชวนเพื่อน ๆ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เพื่อชมบรรยากาศ ณ ยอดเขาฆุนุงซิลิปัต แห่งนี้ ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้กับตนเองและเพื่อนๆ ที่เดินทางมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์ของการเดินทางขึ้นมายังยอดเขา และบรรยากาศการพักค้างแรม พร้อมทั้งบรรยากาศบนยอดเขาฆุนุงซิลปัตในยามเช้า
         ทั้งนี้ ทะเลหมอกฆูนุงซิลิปัต แห่ง ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวเอเชีย หรือ ทางฝั่งตะวันตก ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ เกือบ 1 แสนคน ตามสถิติที่ได้มีนักท่องเที่ยวลงชื่อไว้กับทีมงานสต๊าฟ อีกทั้ง ในการเดินทางขึ้นเขา เพื่อชมทะเลหมอก ที่มีความยากลำบาก ทั้งการเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านเส้นทางที่แสนลำบาก และการเดินเท้า ผ่านสวนยางพารา สวนผลไม้ และแนวป่าธรรมชาติ ถือเป็นมนต์เสน่ห์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบแนวผจญภัย ศึกษาธรรมชาติ ซึ่งทางทีมงานสต๊าฟที่ดูแล ก็บอกว่า นักท่องเที่ยวหลายคนชื่นชอบ และไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถานที่ให้คงเป็นความธรรมชาติที่สวยงามไว้ และเพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ ให้เป็นเอกลักษณ์ของทะเลหมอกฆูนุงซิลิปัต แห่งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจ อยากจะเดินทางมาพิชิตยอดเขาฆูนุงซิลิปัต และชมทะเลหมอกแบบ 360 องศา สามารถหาข้อมูลรายละเอียด และติดต่อผ่านทีมงานสต๊าฟได้ที่ เพจ ฆูนุงซีลีปัต - ฆูนุงซาลี Gunungsilipat/.













วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

ชาวยะลาออกจับจ่ายซื้อของ เตรียมทำบุญแรก ประเพณี“สารทเดือนสิบ”



        บรรยากาศที่ตลาดสดยะลา ตั้งแต่ช่วงเช้า มีประชาชนชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดยะลา ได้ทยอยเดินทางออกมาเลือกซื้อขนมเดือนสิบกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับเตรียมไว้นำไปทำบุญที่วัด อุทิศ ส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ในช่วงประเพณีเดือนสิบ สำหรับบุญแรก ที่จะมาถึงในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย. 61)
ซึ่งปีนี้ราคาขนมที่ใช้ในประเพณีงานเดือนสิบ เช่น ขนมเทียน ขนมต้ม ขนมลา ขนมกง ขนมพอง ขนมดีซำ ขนมบ้า ยังคงเดิมไม่ปรับขึ้นแต่อย่างใด โดย ขนมลา กิโลกรัมละ 220 บาท แบ่งขายเป็นพับ ๆ ละ 60-100 บาท ขนมเจาะหูราคา 100 ลูก 100 บาท ขนมต้ม ลูกละ 4 บาท ส่วนขนมพอง ขนมกง ฯลฯ ก็จะจัดแบ่งถุงขาย ถุงละ 20-60 บาท เพื่อให้ประชาชนได้เลือกซื้อตามความต้องการ

      สำหรับประเพณีวันสารทไทย หรือวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันบุญแรก หรือ วันรับตายาย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 ก.ย. 61 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นบุญหลัง หรือวันส่งตายาย ซึ่งตรงกับวันที่ 9 ต.ค. 61

ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ถือว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองช่วง ขณะที่ ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมทำบุญกัน ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

“ข้าวหลามทุเรียน” ไอเดียเจ๋ง อ.เบตง



      ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านพักนายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อมาสอบถามถึงเมนู “ข้าวหลามทุเรียน” ที่ให้ อส. ทำออกมาแจกจ่ายให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชน หลังเกิดไอเดียทำข้าวหลามทุเรียน จนเป็นที่ถูกปากติดใจของผู้ที่ได้ลิ้มลองรสชาด ในช่วงพบปะกาแฟยามเช้าที่บ้านพักนายอำเภอเบตง


นายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง ยังได้พามาชมขั้นตอนการทำข้าวหลาม บริเวณข้างบ้านพักที่ อส. ได้มีการจัดเตรียมวัตถุดิบ อุปกรณ์ ไว้พร้อม ทั้งทุเรียนพันธุ์พวงมณี และหมอนทองที่สุกงอม ถูก แกะ และแพ็คไว้อย่างดี เพื่อสำหรับเป็นหัวใจหลักในการผสมผสานกับข้าวเหนียวที่ใช้ทำข้าวหลาม พร้อมทั้งโชว์ข้าวหลามที่เผาสุกแล้ว มาแกะออกให้สื่อมวลชนและชาวบ้านได้ชิม
พบว่าเนื้อข้าวหลามห่อหุ้มด้วยเยื่อไผ่รัดไว้อย่างสวยงาม หลังจากที่ผ่านการเผาด้วยถ่านไม้จนสุกได้ที่ พร้อมกับโชว์ผสมข้าวเหนียว และเนื้อทุเรียนที่คลุกเคล้าลงในกระบอก ส่วนประกอบการทำข้าวหลามไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนผสมก็มีเพียงข้าวเหนียวขาว หรือข้าวเหนียวดำ กะทิสด เกลือ น้ำตาลทราย ถั่วดำเพียงแค่นี้ ก็สามารถนำมาทำข้าวหลามได้แล้ว แต่ที่สำคัญ คือ กระบอกไม้ไผ่ ต้องเป็นไผ่ข้าวหลาม หรือไผ่สีสุก เนื่องจากมีเยื่อไผ่ที่หนา และใบตองสดสำหรับจุกอุดปากกระบอกและนำเครื่องปรุงทุกอย่างมาผสมให้เข้ากัน กะเกณฑ์ความหวานหรือเค็ม มากน้อยแล้วแต่ความชอบหรือตามสูตรสำเร็จของแต่ละคน อย่างวันนี้ (21 ก.ย. 61)เป็นการทำข้าวหลามทุเรียนพวงมณี เมื่อทำการกรอกส่วนผสมลงไปในกระบอกไม้ไผ่ จนน้ำกะทิเริ่มเอ่อปากกระบอก จากนั้นนำไปวางและใช้ใบตองปิดปากกระบอกไม้ไผ่ไว้ เพื่อป้องกันเศษผงจากถ่านไฟตกลงไปในกระบอก การย่างข้าวหลามใช้ไม้ยางมาทำฟืนเผาข้าวหลามควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้สม่ำเสมอคงที่ วิธีแบบนี้ทำให้เนื้อข้าวหลามสุกเสมอกันทั้งกระบอก และที่สำคัญ คือ ประหยัดเชื้อเพลิง วัสดุเชื้อเพลิงหาได้ทั่วไปไม่ต้องซื้อ โดยเฉพาะช่วงนี้ผลไม้ที่กำลังเป็นกระแส จนราคาฉุดไว้ไม่อยู่ ทั้งไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะทุเรียน ช่วงนี้กลายเป็นผลไม้ยอดนิยม ในโลกออนไลน์เรียกว่าใครไม่ได้ทานคงไม่ได้แล้ว ซึ่งอำเภอเบตง เป็นเมืองผลไม้ เมื่อจะทำข้าวหลามทั้งที ต้องไม่ธรรมดา ทุเรียนต้องเป็นทุเรียนพวงมณี คงเป็นเครื่องการันตีว่านี่คือเมืองเบตง


นายอำเภอเบตง กล่าวอีกว่า ทุเรียนพันธุ์พวงมณีเบตง เดิมชื่อทุเรียนมณี เวลาติดผลจะเป็นพวง 3 – 7 ผล เลยถูกตั้งชื่อว่า ทุเรียนพวงมณี มีขนาดเล็ก น้ำหนักผลเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ยระหว่าง 1.3 – 1.8 กิโลกรัม ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวมาเลเซีย ทุเรียนพวงมณีเบตง จะปลูกตามภูเขาของชาวสวนในพื้นที่มีจำนวนจำกัด เนื่องจากเป็นทุเรียนหลงฤดูฟ้าฝน จะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม จึงกลายเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรสชาติของทุเรียนพวงมณี เนื่องจากเนื้อจะสุกละเอียด เหนียว และนุ่ม รสชาติหวาน มัน มีกลิ่นหอม รับประทานอร่อยมาก











วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

รัฐบาลร่วมส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ สู่ “โครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้” สร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน



       ที่โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ท อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เยาวชนจากพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การใช้นามสกุลเดียวกัน คือ “เยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้” ประจำปี 2561 ได้เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการครูพี่เลี้ยง และเตรียมความพร้อมเยาวชน ภายใต้โครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” รุ่นที่ 34 จำนวน 320 คน


      โดยครั้งนี้ สำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสำนักงานโครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” (ส่วนหน้า) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2561 เพื่อเตรียมพร้อม และทำความเข้าใจแก่เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก รวมทั้งเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่เยาวชน ก่อนที่จะเดินทางไปพักอาศัยกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงในวันที่ 29 กันยายน 2561 นี้
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ทางโครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” ได้ให้ความสำคัญถึงเนื้อหา และสาระสำคัญถึงการจัดกิจกรรม โดยนำวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มาบรรยายในหัวข้อ พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อพสกนิกรชาวไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราต่างก็เป็นพี่น้องกัน สานพลังเยาวชนชายแดนใต้ และกิจกรรมฐานพัฒนาบุคลิกภาพ “ฉันท์พี่น้องร่วมอุดมการณ์” ทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น เป็นพลังเสริมเกราะป้องกันเยาวชนให้มีพลังในการใช้ชีวิตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงอย่างมีความสุข
ทั้งนี้ โครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากดำริของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการของมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทัพทุกเหล่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน นำเยาวชนมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้ดำเนินการ รุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 15 ปี ดำเนินการไปแล้ว 33 รุ่น และปี 2561 นี้ เป็นรุ่นที่ 34 มีผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 320 คน และมีสมาชิกที่ใช้นามสกุลเดียวกัน คือ “สานใจไทย สู่ใจใต้” กว่า 9 พันคน มีผลดำเนินงานเป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่องตลอดมา









เชิญชวน เที่ยวงาน ของดีเมืองนราฯ ประจำปี 2561



       นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 กล่าวว่า ตามที่จังหวัดนราธิวาส กำหนดจัดงานของดีเมืองนรา ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 17-26 กันยายน 2561 ที่บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา หรือ สวน ร.5 ถนนศูนย์ราชการ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส ในส่วนของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้จัดบูธแสดงนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “ทศมราช สืบสานศาสตร์พระราชา” เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชาวไทยทั้งหลายว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงยึดมั่นในพระปฏิญญา ทรงพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อความมั่นคงสถาพรของประเทศชาติ และความอยู่ดีกินดีของประชาวไทย ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความเป็นอยู่และการสร้างโอกาสในการประกอบสัมมาชีพให้กับราษฎร ด้วยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุด คือ น้ำ


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งแรกของจังหวัดนราธิวาส ในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านเจ๊ะเก พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 2 ตำบลบาโงสะโต อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะสามารถส่งน้ำในพื้นที่การเกษตรของราษฎร 1,700 ไร่ พื้นที่นาข้าว 987 ไร่ สนับสนุนน้ำเพื่อการปศุสัตว์ สร้างโอกาสให้ราษฎรมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จำนวน 5 หมู่บ้าน 1,396 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ภายในบูธนิทรรศการยังมีห้องเรียนยุวชลกร ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้เกี่ยวกับกำเนิดชลประทาน ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 3,000 โครงการ ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า คือ โครงการแรก อีกทั้งกิจกรรมเรียนรู้ น้ำ ฝน ลม ฟ้า ใคร ๆ ก็รู้ได้จากแอปพลิเคชัน ที่สำคัญปีนี้ (2561) เป็นปีแรกที่มีอาคารชลประทานน่ารู้ ซึ่งคือการจำลองอาคารชลประทาน มีฝายและประตูระบายน้ำจำลองจัดแสดงภายในนิทรรศการ


       ทั้งนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมชมนิทรรศการ “ทศมราช สืบสานศาสตร์พระราชา” ในงานของดีเมืองนราฯ ได้ ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 26 กันยายน 2561 เวลา 09.00-18.30. น. ที่สวน ร.5 พร้อมรับแจกหนังสือทศมราชสืบสานศาสตร์พระราชา และของรางวัลอีกมากมายเมื่อร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบูธกรมชลประทาน




















วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ยะลา สนับสนุนโรงเรียนต้นแบบนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



      วันที่ 17 ก.ย. 61 ที่ห้องประชุมศรียะลา ศาลากลางจังหวัดยะลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานมอบโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท ให้กับ 15 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่มีผลการดำเนินงานเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ด้านการน้องนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจเพียง ในปี 2561 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติโรงเรียนที่น้อมนำแนวพระราชดำริ โดยมีนายนิมะ มะกาเจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ คณะครู อาจารย์ และนักเรียนเข้าร่วม
นายนิมะ มะกาเจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลา ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มาดำเนินการขยายผลในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของนักเรียน และปัญหาด้านสังคมจิตวิทยาในพื้นที่ โดยการใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตขึ้นในโรงเรียนมาประกอบอาหาร เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงประโยชน์ ในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ครอบครัว และชุมชนได้ รวมถึงจัดกิจกรรมประกวดโรงเรียนต้นแบบ ด้านการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านมลายูบางกอก) อยู่ในเขตอำเภอเมือง โรงเรียนอุดมศาสตร์วิทยา อยู่ในเขตอำเภอเมือง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงพระเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา อยู่ในเขตอำเภอเมือง โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) อยู่ในเขตอำเภอเบตง โรงเรียนบ้านบูเกะจือฆา อำเภอรามัน โรงเรียนบ้านโกตาบารู อยู่ในเขตอำเภอรามัน โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ อยู่ในเขตอำเภอรามัน โรงเรียนบ้านกาดืแป อยู่ในเขตอำเภอรามัน โรงเรียนบ้านสันติ อยู่ในเขตอำเภอบันนังสตา โรงเรียนบ้านเจาะปันตัง อยู่ในเขตอำเภอบันนังสตา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสังวาลย์วิท 4 อยู่ในเขตอำเภอธารโต โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนโรงงานยาสูบ 2 อยู่ในเขตอำเภอยะหา โรงเรียนบ้านปะแต อยู่ในเขตอำเภอยะหา โรงเรียนบ้านนิบง อยู่ในเขตอำเภอกาบัง โรงเรียนสันติวิทยา อยู่ในเขตอำเภอกรงปินัง
ทั้งนี้ โรงเรียนที่ได้รับรางวัล มีการจัดบูธสาธิตการทำขนม นำผลผลิตทางการเกษตร ที่ผลิตภายในโรงเรียน และป้ายนิทรรศการมาแสดง ที่บริเวณหน้าห้องประชุม อีกด้วย