ไปลองค้นประวัติแบบไม่ละเอียดมากไม่มีปรากฎว่าถูกสร้างขึ้นสมัยใด
แต่พอทราบว่าใช้งานสะพานนี้มา 50 ปีแล้วก็น่าจะสมัยปี 2500 ประมาณนั้น
แต่สังเกตจากโครงสร้างสะพานจะคล้ายๆสะพานดำตามจังหวัดต่างๆ
ทั้งสะพานดำที่กรุงเทพ อยุธยา(น่าจะปิดใช้ไปแล้ว) นครลำปาง
หรือที่ดังหน่อยก็สะพานข้ามแม่น้ำแคว
ด้วยโครงสร้างเหล็กเป็นโครงคร่อมรางประมาณ4-5
ช่วงทำให้สะพานนี้มีความโดดเด่นหนาแน่นดูแข็งแกร่งด้วยความหนาที่เรียงตัวกันของวัสดุ
ไปลองๆค้นอ่านดูมีบันทึกว่าสะพานแห่งนี้เคยปิดซ่อมเมื่อปี
2558 เพราะสะพานชำรุดมานานแล้วแต่ไม่มีใครซ่อมเสียที
ทั้งแผ่นเหล็กผุพังหลุดร่อนจนทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งทั้งที่ยังใช้งานปกติเพราะการคมนาคมทางรถไฟก็ยังเป็นเส้นทางที่จำเป็นอยู่มาก
วันที่ไปเห็นสะพานครั้งแรกก็เย็นย่ำโพล้เพล้เลยช่วงเวลาผีตากผ้าอ้อมมาไม่นานนัก
ความมืดเริ่มเข้าคลุมทั่วแผ่นฟ้าแต่ก็ยังเห็นแสงเรืองรองริมขอบฟ้าอยู่ไกลๆ
ด้วยสถานที่ตั้งของสะพานอยู่ไกลห่างชุมชนแถมยังเป็นพื้นที่สูงทำให้เวลาขึ้นไปบนสะพานสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ต้นไม้น้อยใหญ่ริมแม่น้ำได้รอบ
ช่วงสะพานเหล็กความยาว 210
เมตรแห่งนี้ถูกสร้างข้ามแม่น้ำปัตตานี
วันที่ไปขอให้รถจอดแล้วปีนผนังปูนเหยียบขึ้นไปดู แม่น้ำปัตตานีไหลเชี่ยวน้ำเยอะตลิ่งริมน้ำมีต้นไม้หนาแน่นดูอุดมสมบูรณ์มาก
ส่วนทางเดินขึ้นคอสะพานมีชุมชนบ้านเล็กๆมุงสังกะสีอยู่เป็นกระจุกใหญ่ๆ
ก่อนจะเดินขึ้นชมสะพานก็มีหน่วยรักษาความปลอดภัยดูแลความเรียบร้อยอยู่เพราะที่นี่ปชช.ชอบมาถ่ายรูปคู่สะพานกัน
ตอนไปเห็นด้วยตาด้วยเวลาน้อยนิดวันแรกก็ไม่คิดว่าสะพานดำจะเป็นสถานที่โด่งดังอะไรมาก
แต่พอกลับไปค้นข้อมูลดูปรากฎว่าสะพานดำนี่แหล่ะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่คนระแวกใกล้ๆชอบมาเดินเล่นถ่ายรูปกัน
ทำให้วันท้ายๆที่ได้อยู่ที่นี่ต้องขอกลับไปดูอีกครั้งนึง
สรุปว่าการไปอีกครั้งเราถึงเห็นสิ่งที่ไปครั้งแรกไม่เห็นคือบรรยากาศบนสะพานที่ถูกถมเป็นเนินสูงกว่าระดับบ้านเรือนนั้นอากาศดีมาก
มีลมโชยพักเย็น
แถมทางเดินริมสะพานยาวไปถึงกลางน้ำทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเค้าซ่อมมาให้ใช้เดินได้ดีแล้ว
เล่าเรื่องข้อมูลสะพานดำนี้มาพอประมาณแล้วขอเล่าเรื่องการวาดภาพนี้บ้าง
ใจจริงการมายะลานี่อยากจะไปนั่งวาดทุกสถานที่จริง
แต่ด้วยความที่มาเป็นหมู่คณะและยังมีโปรแกรมต่างๆ
ด้วยเวลาจึงไม่สามารถทำได้ตามใจหวัง
อีกทั้งหลายสถานที่ยังไม่ค่อยพร้อมที่จะให้หนุ่มบางนอกหน้าตาดีจากกรุงเทพให้ลุยเดี่ยวไปนั่งวาดทำท่าทางน่าสงสัยเท่าไหร่
การไปยืนร่างภาพโครงสร้างจากที่จริงแล้วถ่ายรูปตามมุมที่เรามองจึงเป็นเทคนิคที่เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับทริปนี้
ก่อนหยิบสมุดกระดาษสีน้ำมาร่างภาพ
ข้าพเจ้าต้องเดินสำรวจรอบๆสะพานดำเสียก่อนจากนั้นค่อยมาเล็งมุมที่อยากวาดด้วยการเดินๆย่อๆหรี่ตาเล็ง
ไม่ก็ทำท่าประหลาดๆในการหามุมมอง
เอาจริงๆถ้ามาคนเดียวแล้วทำท่าหามุมตามปกตินี่ยังไงก็ต้องโดนล็อคตัวแน่ๆเพราะท่าทางโคตรน่าสงสัยเหลือเกิน
หลังจากนั้นพอได้มุมที่ชอบๆแล้วจึงค่อยหยิบสมุดกระดาษสีน้ำมาร่างไว้อย่างรวดเร็วให้ทันแสงที่กำลังจะหมดไป
คือระหว่างการร่างภาพนั้นเราได้คิดสีและน้ำหนักภาพไว้ในหัวหลังจากที่จดๆจ้องๆเล็งๆไว้หมดแล้ว
พอถึงเวลาที่ต้องลงสีค่อยนำภาพที่เราถ่ายไว้มาดูสีดูน้ำหนักดูระยะให้ตรงตามที่จำได้
จากนั้นก็ใช้เวลาในการลงสีจากภาพที่ถ่ายมาบวกผสมกับความทรงจำบางอย่างจึงออกมาเป็นภาพนี้
จริงๆการเล่าภาพวันนี้อาจจะวกวนหรือดูเยิ่นเย้อไปบ้างก็อย่าว่ากัน
เพราะนี่เล่ามาจากความทรงจำย้อนหลังไปเดือนสองเดือนก่อนแล้วพิมพ์ร่ายรวดเดียวจบเลย ใจจริงอยากให้คนที่มีประสบการณ์ร่วมกับภาพที่เราวาดได้มาพูดคุยหรือเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ที่ข้าพเจ้าไปวาดบ้างเผื่อเล่าอะไรผิดไปจะได้แก้ไขทัน เพราะมั่นใจว่าคนที่ชมภาพนี้ต้องมีประสบการณ์ร่วมบางอย่างทางใดทางกนึ่งกับข้าพเจ้าแน่นอนภาพบางภาพจะไม่มีความหมายเลยถ้ามันไร้เรื่องราวระหว่างคนวาดกับคนชมภาพที่น่าจดจำมันไม่น่าใช่แค่ภาพที่เหมือนหรือภาพที่สวยภาพจำของเราต่างกันแต่สามารถแชร์ให้ร่วมรับรู้กันได้เนอะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น